ฉากชีวิตอาสาสมัครโควิด ในเมืองหลวงที่ล้มเหลว

โควิด-19 ในมุมหนึ่งก็เหมือนการถ่ายทำหนังชีวิตฟอร์มยักษ์ ลงทุนด้วยชีวิตจริง ตัวละครจริง ไม่มีสลิง ไม่มีสตันท์ ไม่มีเตียง ไม่มีวัคซีน (คุณภาพ) ไม่รับประกันว่าจะจบแบบไหน ยิ่งมาถ่ายทำในเมืองไทยแล้วยิ่งเป็นหนังชีวิตที่สุดจะดราม่า 

ตั้งต้นมาตั้งแต่ฉากที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขบอกว่ามันเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาๆ ซึ่งยังพอจะทำให้คนดูได้โมโหปนเสียงหัวเราะในความเขลาของผู้พูดได้อยู่บ้าง จนมาถึงวันที่อารมณ์ของผู้คนเหลือแค่ความเศร้า สิ้นหวัง และขุ่นเคือง ประกอบกับฉากผู้คนนอนตายข้างถนนที่มีให้เห็นถี่ขึ้นทุกวัน ตัวละครที่ดำเนินเรื่องมีมากขึ้นตามลำดับความรุนแรงของสถานการณ์ นอกจากผู้บริหารของรัฐ แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย กองเชียร์ และมวลชนผู้โกรธแค้น ยังมี ‘อาสาสมัคร’ ตัวละครที่ถ้าหากตัวละครหลักอย่างรัฐสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมามีบทบาท แต่ในวันนี้บทบาทของอาสามัครนั้นมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ดูเหมือนว่า พวกเขายังคงถูกทำให้เป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น 

เรื่องราวของโควิด อิน ไทยแลนด์ ไม่อาจถูกบอกเล่าอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของอาสาสมัครถูกละเลย 

ในเวลาที่สังคมต้องการความจริงและกำลังใจ และดูเหมือนว่ามันจะหาได้ยากหากมองในภาพกว้าง แต่หากบอกเล่าความจริงจากส่วนเล็กๆ บางทีอาจสัมผัสได้ถึงกำลังใจเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในนั้น 

WAY พูดคุยกับ เต้ง-อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดจากกลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’ เพื่อให้เต้งได้เล่าถึงบรรยากาศการทำงาน สิ่งที่เขาได้พบเจอ ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวที่จะมอบมุมมองและกำลังใจให้พวกเราทุกคนที่ผ่านมาอ่าน 

อาสาสมัครคนหนึ่ง

อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย หรือ ‘เต้ง’ เป็นอาสาสมัครกลุ่มคลองเตยดีจัง กว่า 3 เดือนแล้วที่เต้งได้เข้ามาร่วมทีมช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในชุมชนคลองเตย เต้งทำตั้งแต่การส่งมอบถุงยังชีพ ปฐมพยาบาล ส่งตัวผู้ป่วยไปยังแหล่งพักคอยจนถึงเตียงในโรงพยาบาล งานอาสาสมัครของเต้งหนักเบาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในทุกวันที่หน้าจอโทรศัพท์ของคนทั่วไปขึ้นแจ้งเตือนยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไลน์กลุ่มในโทรศัพท์ของเต้งก็แจ้งเตือนเคสใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

พื้นเพของเต้งคุ้นชินกับการทำงานเพื่อสังคม เมื่อมีการระบาดหนักในคลองเตยช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เต้งจึงได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ให้เข้ามาร่วมทีมกับกลุ่มคลองเตยดีจัง เต้งเข้ามาทำงานโดยไม่รับเงินตอบแทนใดๆ เพราะเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้มีเงื่อนไขผูกมัดอย่างเป็นทางการเหมือนทีมงานประจำในกลุ่ม แม้นี่จะไม่ใช่งานประจำ แต่มันก็ได้เปลี่ยนชีวิตของเต้งจากคนหนุ่มธรรมดาที่มีธุรกิจส่วนตัว ทำขนมส่งร้านค้า ให้กลายเป็นผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือชีวิตคนนับร้อยจากจำนวนนับล้านที่กำลังเผชิญความตายอยู่ในเมืองหลวง 

“เขาชวนเราไปทำ พอได้เข้าไปทำแล้ว เราก็เห็นว่ายังมีความต้องการอีกมาก อะไรที่เราช่วยเหลือได้ เราก็เข้าไปทำตรงนั้น ในมุมมองของผม มันอาจเป็นคุณค่าหนึ่งที่เราสามารถตอบแทนสังคมได้” 

นี่คือคำตอบของเต้งเมื่อถูกถามว่า ทำไมเลือกมาเป็นอาสาสมัคร หากอ่านแล้ว คิดว่ามันเป็นคำตอบธรรมดาๆ ก็เพราะว่ามันธรรมดานั่นแหละ ธรรมดาเหมือนกับชะตาชีวิตที่เลวร้ายอยู่ร่ำไปของผู้คนในชุมชนคลองเตย ซึ่งเต้งจะได้ย้ำถึงมันอีกที 

คลองเตยดีจัง 

กลุ่มคลองเตยดีจัง ในภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดมีทีมงานประจำอยู่ราวๆ 20 คน พวกเขาแบ่งงานกันเป็นทีมย่อย เช่น ทีม case manager ทีมถุงยังชีพ ทีมปฐมพยาบาล ทีมสวัสดิการ ทีมประสานกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น แม้จะมีการแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน แต่จำนวนทีมงานประจำและอาสาสมัครของกลุ่มคลองเตยดีจังก็ยังมีไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ แต่ละคนต้องทำงานหนักมากเพื่อให้ตามทันกับสถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

เต้งเล่าว่า ทุกวันนี้ยังมีอาสาสมัครหมุนเวียนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ บางคนลงพื้นที่ไม่ได้ก็ทำงานแบบออนไลน์ในการประสานงานหรือทำข้อมูล แต่ก็ยังหนักหน่วงอยู่มาก สายพานการทำงานของคลองเตยดีจัง เริ่มจากการสื่อสารกันระหว่างทีมงานกับคนในชุมชนที่คอยแจ้งเคสในแต่ละวัน โดย case manager จะเป็นคนรายงานมายังกลุ่มว่ามีผู้ติดเชื้อกี่ราย แต่ละรายมีอาการอยู่ในระดับไหน และมีความต้องการอะไรบ้าง ในเบื้องต้นผู้ติดเชื้อจะถูกแยกออกจากครอบครัวเพื่อกักตัว ส่วนคนที่อาการหนักกว่าจะถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่พอมาในระยะหลัง โรงพยาบาลไม่สามารถจัดหาเตียงได้เพียงพอ ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องนอนรักษาตัวอยู่บ้าน แต่เพราะคลองเตยเป็นชุมชนแออัด การเว้นระยะห่างจึงเป็นไปได้ยาก หากมีผู้ติดเชื้อในบ้านสักคน แนวโน้มที่คนทั้งบ้านจะติดไปด้วยก็สูงมาก 

งานที่ต้องทำในปัจจุบันเต้งเล่าให้ฟังว่า “เนื่องจากทุกวันนี้สถานการณ์ค่อนข้างลุกลามบานปลาย จากที่ทำแค่ส่งตัวคนป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา หรือนำผู้ที่มีแนวโน้มว่าเสี่ยงจะติดเชื้อเข้าสู่ระบบการตรวจ RT-PCR Test ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเราต้องวิ่งแบกถังออกซิเจนไปให้ถึงแต่ละบ้านแล้ว” 

สำหรับผู้ป่วยที่รัฐเรียกว่าอยู่ในระดับสีเขียว คือ ไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่จะต้องทำการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) อาสาสมัครจากคลองเตยดีจังก็รับหน้าที่นำถุงยังชีพ ยา จนไปถึงเครื่องวัดค่าออกซิเจนไปส่งถึงบ้าน ทำให้หน้างานของคลองเตยดีจังขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นกว่าแค่ชุมชนคลองเตย 

คนทั่วไปอาจรับรู้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ ผ่านรายงานยอดผู้ติดเชื้อของรัฐในทุกๆ เช้า และภาพข่าวผู้คนนอนตายข้างถนนที่มีออกมาเป็นระยะๆ ขณะที่เต้งรับรู้ความรุนแรงของมันผ่านไลน์กลุ่มงานที่ไม่เคยเงียบทั้งกลางวันและกลางคืน กลิ่นชุด PPE ที่ติดจมูก ภาพของตัวเองที่วิ่งเข้าไปให้ออกซิเจนผู้ป่วย และภาพของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนอีกต่อไป 

“พอเริ่มเข้าสู่การระบาดระลอก 4 ประมาณปลายๆ มิถุนายน สถานการณ์ก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์เราต้องวิ่งเข้าไปให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยนับไม่ถ้วนเลย มีเคสที่นำไปส่งโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลก็มี ตอนนี้สถานการณ์ที่เป็นอยู่มันหนักเกินการควบคุมแล้ว” 

หนึ่งวันอันยาวนาน

แม้จะมีงานประจำ แต่เต้งก็ใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครเกือบทั้งวัน แม้จะเหนื่อยล้าแค่ไหน แต่บางค่ำคืนก็ไม่อาจข่มตาหลับ ภารกิจในแต่ละวันเต้งรับหน้าที่อยู่ในทีมปฐมพยาบาล ทุกเช้าเต้งกับทีมงานจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ตั้งแต่ชุด PPE ถังออกซิเจน ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ กรณีผู้ป่วยที่มีอาการเป็นไข้ หายใจไม่ออก มีเสมหะ ท้องเสีย ก็จะได้รับยา เช่น ฟ้าทะลายโจร พาราเซตามอล ยาขับเสมหะ เกลือแร่ ทีมของเต้งมีกันอยู่กันแค่ 2 คน เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง คนหนึ่งขับรถ

อีกคนหนึ่งจะคอยสอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์ในระหว่างเดินทางไปในพื้นที่ 

เมื่อเต้งและคู่หูประเมินผู้ป่วยและช่วยเหลือขั้นพื้นฐานเสร็จแล้ว ก็จะถอนกำลังออกมารอรับเคสต่อไป แต่หากมีเคสที่รุนแรง ผู้ป่วยจะได้รับการให้ออกซิเจน หากค่าออกซิเจนตกไปเรื่อยๆ ก็ต้องประสานกลับไปยังทีม case manager เพื่อหาโรงพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วย

“เราต้องอยู่หน้างานจนกระทั่งจบทุกกระบวนการ เป้าหมายของเราคือต้องส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลให้ได้ ระยะเวลาในแต่ละเคสไม่เท่ากัน ในแต่ละวันเราก็จะเจอเรื่องราวที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรามีหน้าที่เตรียมใจให้พร้อมที่จะรับมือ ทั้งสุขภาพของผู้ป่วยและสุขภาพจิตใจของเขาและเรา” 

ณ ชุมชนคลองเตย เต้งเจอกับกลุ่มที่เปราะบางหลากหลาย ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทางจิต ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งล้วนเป็นคนกลุ่มที่ต้องการที่จะเข้าถึงการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้นมันช้ากว่าจำเป็นมาก ยิ่งช้าเท่าไหร่ เส้นด้ายที่ชีวิตของคนเหล่านี้ถูกแขวนอยู่ก็บางลงเท่านั้น 

อยากได้เตียง

พอเจอผู้ป่วย เต้งจะถามถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของเขา เพื่อจะประเมินได้ว่าหากมีอาการหนักขึ้นจะต้องส่งตัวไปที่ไหน สิ่งสำคัญในการพูดคุยกับผู้ป่วย เต้งเล่าว่า 

“ที่ผมคิดว่าจำเป็นคือ การพูดคุย ทำความเข้าใจ รับรู้ทุกข์สุขของเขา คนป่วยจะมีความวิตกกังวล ความหวาดกลัว เพราะทุกวันนี้เข้าถึงระบบการรักษาในโรงพยาบาลไม่ได้ บ้างก็กลัวว่าเชื้อจะลงปอด บ้างก็กลัวว่าจะไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ RT-PCR Test ซึ่งจะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้ เราก็ต้องพยายามให้กำลังใจเขา” 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เต้งเจอล้วนต้องการเตียง อยากเข้าโรงพยาบาลให้ได้ ซึ่งเต้งต้องมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการได้เตียงในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงจริงๆ เป็นเรื่องยาก จะต้องรักษาตัวที่บ้านไปก่อน ในขณะที่เต้งก็จะต้องคอยแนะนำคนอื่นๆ ในบ้านว่าจะอยู่กันอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อเพิ่ม ในเชิงทฤษฎีนั้นแน่นอนว่าจะต้องเว้นระยะห่าง แต่เต้งก็เล่าตามความจริงว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย 

“ทุกวันนี้ระบบการรักษาก็ไม่ค่อยเคลื่อนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ต้องรออยู่ที่บ้าน ยังมีคนป่วยติดค้างอยู่ในชุมชนเยอะมาก และความรุนแรงของอาการก็เพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่มีคนป่วยเยอะมากที่มีอาการแบบชี้ตัวได้เลยว่าติดแน่ๆ แค่ยังไม่ได้ตรวจเท่านั้นเอง” เต้งเล่า 

หมดเวลา แต่ภารกิจไม่เคยสิ้นสุด

“ทุกๆ วัน หลังเลิกงานกลับมาถึงบ้านเล้ว ไลน์กลุ่มก็ยังเด้งอยู่เรื่อยๆ ทั้งตอนนี้ที่เราคุยกันอยู่ (3 ทุ่ม) ทีมงานบางส่วนก็ยังต้องลงไปอยู่หน้างาน ยิ่งเป็นช่วง 3 ทุ่ม – ตี 4 อาการของผู้ป่วยก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ทีมงานจะต้องวิ่งเข้าวิ่งออกช่วงนี้เยอะมาก ต้องไปทำเรื่องขออนุญาตเดินทางช่วงเคอร์ฟิวด้วย 

“เราเองเป็นอาสาสมัคร พอกลับมาถึงบ้าน เราก็มีครอบครัว มีลูก ทุกวันนี้ต้องแยกห้องนอนกับลูก แยกกันมาเกือบเดือนแล้ว ก็ต้องดูแลตัวเอง แม้ว่าเราจะไม่ติด แต่ก็ไม่รู้ว่าเชื้อมันฟักตัวอยู่ในร่างกายเราหรือเปล่า เราก็ต้องป้องกันตัวเองกับลูกไว้ก่อน”

คืนก่อนวันสัมภาษณ์ เต้งไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องช่วยงานตั้งแต่ช่วง 5 ทุ่ม – ตี 4 เป็นคืนที่หนักหน่วงอีกวัน มีเคสหนึ่งที่เต้งไม่ได้ไปด้วยตัวเอง แต่รับรู้จากทีมงานว่า มีเด็กอายุ 17 คนหนึ่งอาศัยอยู่นอกพื้นที่คลองเตย ติดเชื้อโควิดและยังมีภาวะซึมเศร้า โดยพ่อแม่ของเธอถูกส่งไปโรงพยาบาลก่อนหน้านี้แล้ว ที่บ้านมีเครื่องออกซิเจน แต่เธอไม่ได้ใช้ และเริ่มขาดการติดต่อกับพ่อแม่ ทำให้ทุกคนกังวลมาก “กลัวว่าจะเกิดเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด” 

เต้งเล่าว่า ค่าออกซิเจนของเธอลดเหลือ 82 ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ นี่คือเคสระดับสีแดง เต้งกับทีมจึงต้องส่งทีมพยาบาลวิ่งจากคลองเตยไปถึงพระราม 2 และวิ่งข้ามจากพระราม 2 มาส่งที่ปากเกร็ด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาอยู่ที่นั่น โดยระหว่างทาง ทีมงานก็ต้องโทรคุยกับทางโรงพยาบาลเพื่อแจ้งให้เตรียมรับตัวผู้ป่วย 

เหตุการณ์ที่เต้งพบเจอเสมอก็คือ โรงพยาบาลปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วย 

“เมื่อโรงพยาบาลปฏิเสธ เราก็ต้องหาช่องทางอื่น เราต้องคุยกับเขาว่า มันจำเป็นมาก คุณไม่รับไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องความเป็นความตาย บางเคสคุยไม่สำเร็จก็ต้องหาช่องทางอื่นๆ ต่อไป ส่วนมากเคสสีแดงแบบนี้มักเกิดขึ้นตอนกลางคืน” 

สำหรับเคสของเด็กสาวคนนี้จบลงด้วยการที่ทีมงานต้องต่อล้อต่อเถียงกับโรงพยาบาลจนยอมที่จะรับเธอเข้ารักษา เต้งเล่าว่า แม้เด็กๆ จะมีความแข็งแรงทางกายภาพมากกว่าผู้สูงอายุ แต่สภาวะทางจิตใจก็มีผลอย่างมากในการกำหนดอาการของผู้ป่วย 

ส่วนตัวเต้งยังไม่เคยได้รับเคสที่ต้องนำตัวผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ แต่ ณ วันที่ให้สัมภาษณ์อยู่นี้ เต้งบอกว่า “วันนี้ก็ใกล้เคียงมากๆ” เมื่อตอน 11 โมง เต้งได้รับแจ้งเคสจากทีมงานว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งยังไม่มีผลยืนยันการตรวจ RT-PCR Test แต่ทำ Antigen Rapid Test แล้ว ผลเป็นบวก อายุเยอะ ค่าออกซิเจนเหลือ 60 เริ่มหายใจไม่ได้ เต้งพบกับผู้ป่วยในสภาพที่เขาเริ่มอ่อนแรงลง หายใจหอบถี่ สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อไม่มีรถพยาบาลคันไหนพร้อมเข้ามารับผู้ป่วยภายในระยะเวลาอันสั้น เต้งจึงต้องใช้รถกระบะของตัวเองรับผู้ป่วยไปแทน เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็มีวิวาทะกันอีกเช่นเคย กว่าที่โรงพยาบาลจะยอมรับตัวผู้ป่วย

“ด้วยความที่ผู้ป่วยอายุเยอะแล้ว ฟังจากหมอทราบว่า เชื้อน่าจะลงปอดแล้ว หมอก็เรียกญาติไปคุยว่าจะพาผู้ป่วยไปเอกซเรย์ปอด เข้าห้อง ICU ต่อท่อช่วยหายใจ แล้วก็บอกญาติว่าอาจจะเป็นการเจอแม่ครั้งสุดท้าย” เต้งเล่า 

สภาวะจิตใจ 

“ถ้าเราจมไปกับความรู้สึก เราจะหนักอึ้งมากๆ ในใจของเรา มันก็จะทำงานยาก เราเห็นระบบที่มันเฮงซวยมาก เห็นความไม่เท่าเทียม เห็นหลายมาตรฐานในสังคมเรา โรคระบาดมันมาเปิดเผยแผลเน่าเฟะของสังคมบ้านเรา เห็นว่าชีวิตแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากันจริงๆ พอเห็นชะตากรรมของคนที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีอำนาจในการต่อรอง หรือคนที่เขาไม่สามารถจะต่อรองได้ แล้วก็ต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเองเนี่ย แม่งก็ยิ่งเศร้าหดหู่” 

เต้งเล่าด้วยน้ำเสียงที่ปรับเข้ากับอารมณ์ที่หมองมัว พร้อมทวนคำถามด้วยตัวเองว่า “แต่ถามว่าเราอยู่กับตรงนั้นยังไง” 

เต้งยอมรับว่าข้อนี้ยังเป็นโจทย์ที่เขาจำต้องทำให้ดีขึ้น พร้อมอธิบายว่า “ผมไม่อยากต้องมาจมกับมันมากจนเกินไปถึงขนาดที่จะไม่สามารถทำงานต่อได้ เรายังคงต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่ แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันไม่ได้อยู่ในมือเราทั้งหมด แล้วก็ต้องบอกกับตัวเองว่าเราทำเต็มที่ของเรา สุดท้ายแล้วผลจะออกมายังไง เราก็ต้องปล่อยวางและยอมรับมัน แม้มันจะเป็นเรื่องที่เศร้าก็ตามที” 

เต้งยอมรับว่าตัวเองนั้นโชคดีที่ “ภรรยาผมเป็นคนใจกว้าง” แม้รับรู้ได้ว่าเป็นห่วง แต่ภรรยาก็เข้าใจเป็นอย่างดี เธอเคารพในสิ่งที่เต้งทำ สิ่งนี้ก็คงเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญ เพราะมันคอยเติมไฟให้เต้งได้ไปต่อ 

บทเรียนจากเต้ง 

สำหรับเต้ง โควิด-19 เป็นการแค่รูดม่านขึ้นเท่านั้น ปัญหาที่เต้งเจอไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่หมักหมมมานานแล้ว สังคมที่มีหลายมาตรฐาน ผู้คนมีค่าไม่เท่ากัน ผู้คนเอาชีวิตรอดได้ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ในสายตาเต้งได้ถูกเปิดโปงให้ชัดขึ้น และเต้งพบข้อสรุปว่า

“มันก็เห็นว่า สุดท้ายชีวิตคนเรามันเปราะบางจริงๆ สามารถตายได้แบบนี้โดยที่รัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้เลย” 

เมื่อถามเต้งว่ามีบทเรียนอะไรอยากจะแบ่งปันไหม เต้งตอบว่า “ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่หรือเปล่านะ แต่รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเราเชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์มากขึ้น การออกมาเจอผู้คน ออกมาเจอกับโลก ยิ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญความยากลำบาก ความทุกข์ยาก เราเห็นว่าการร่วมทุกข์ร่วมสุขที่เกิดขึ้น ก็เป็นพลังอย่างหนึ่งท่ามกลางความสูญเสีย”

ความหวัง

ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ เต้งถูกถามว่า เมื่อได้มองสายตาของผู้คนที่เขาได้ช่วยเหลือ เขารับรู้ถึงความหวังของคนเหล่านั้นไหม คำตอบที่ได้มากลับเป็นอะไรที่เหมาะสำหรับการปิดท้ายบทสัมภาษณ์นี้กว่าที่คิด

“คนในชุมชนแออัดเขาเข้มแข็งกว่าเราเยอะ เพราะเขาอยู่ในสังคมที่ถูกกดทับมานาน เขารู้สึกว่าเขาตัวเล็ก เขายอมรับชะตากรรมของเขา พอเราเข้าไปเห็นสภาพความเป็นจริง เราอาจจะอ่อนไหวกว่าเขาก็ได้ โควิดอาจเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งในชีวิตของเขา แล้วสุดท้ายมันก็จะผ่านไป ชีวิตของเขาทุกข์ตั้งแต่ที่เขาลืมตาขึ้นมาในชุมชนแออัด สิ่งที่เขาเจอมาตลอดทั้งชีวิตหนักไม่แพ้โควิดหรอก เพียงแต่ว่ามันไม่เป็นข่าวแค่นั้นเอง”

เต้งนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “กลับเป็นเราที่ไปเห็นความเป็นจริง แล้วเห็นว่าสุดท้ายแล้วสังคมเรามันต้องการการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง กลับเป็นเราที่ได้ความหวังจากเขา”

และนี่คือ เต้ง-อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย อาสาสมัครที่ได้รับความหวังจากผู้ป่วยที่เขาช่วยชีวิตไว้ 

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า