ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไข้การเมือง ไม่ใช่โควิด

22 พฤษภาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ความน่าสนใจของการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ คือ การยกเรื่อง ‘ความมีประสิทธิภาพ ความเป็นเอกภาพ และมาตรฐานในการทำงาน’ มาเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ กล่าวคือ เป็นการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรักษาอาการ ‘ไข้การเมือง’ ที่เกิดจากรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ จนการทำงานของรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลพวงสำคัญจากการออกแบบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2560

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า การพยายามรวมศูนย์อำนาจเพื่อใช้มาตรการที่รุนแรงจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม ทางออกที่ดีสุด คือ การใช้มาตรการให้พอเหมาะกับสถานการณ์โดยคำนึงถึงความต่างในแต่ละพื้นที่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีเครื่องมือและกลไกอื่นๆ ในการควบคุมและป้องกันโรคได้

ทบทวนความจำ ความล้มเหลวของรัฐบาล

ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายแรก การรับมือปัญหาของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า ไล่ตั้งแต่การออกมาตรการป้องกันโรคระบาดที่ไม่ยอมจำกัดการเดินทางเข้ามาของชาวต่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูง แต่เลือกใช้การคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอให้จำกัดนักท่องเที่ยว แต่ก็ถูกตีตกโดยพรรครัฐบาล ซึ่งสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในรัฐบาล

ในด้านการกำกับดูแลสินค้าจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ก็ค่อนข้างจะล้มเหลว ภายใต้การดูแลของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล เพราะเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด มีการกักตุนสินค้าและการจำหน่ายสินค้าในราคาสูงกว่าปกติ การส่งออกหน้ากากไปยังต่างประเทศอย่างเป็นปริศนา ซึ่งสะท้อนปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการจัดแข่งขันชกมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีจนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ทั้งที่มีคำสั่งจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ให้หน่วยงานของรัฐหลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก แต่สนามมวยภายใต้การดูแลของกองทัพ ที่มี พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานสนามมวย กลับฝ่าฝืนคำสั่งอีกด้วย

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยิ่งนานยิ่งส่งผลเสีย

เพื่อรับมือความล้มเหลวจากความไม่เป็นเอกภาพและความไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นมาตรการสำคัญในการรับมือปัญหา เพราะนอกจากจะมีมาตรการรุนแรง เช่น การประกาศห้ามคนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่ การจำกัดการเดินทาง หรือการรวมกลุ่มชุมนุมกันแล้ว ยังรวมศูนย์อำนาจและการสั่งการต่างๆ มาไว้ที่นายกฯ หรือ ‘กระชับอำนาจ’ จากพรรคร่วมรัฐบาล มาไว้ที่นายกฯ

แต่ทว่า การรวมศูนย์อำนาจและการใช้มาตรการที่รุนแรงก็มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล เพราะการออกมาตรการอย่างการรวมศูนย์อำนาจ กลับยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างไปด้วย เพราะเมื่อมีการบังคับปิดสถานที่หรือกิจการอย่างถ้วนหน้า ทำให้บรรดาผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องขาดรายได้ทั้งที่รายจ่ายเท่าเดิมหรืออาจจะมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐก็เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง จนประชาชนต้องยืนต่อแถวรับบริจาคอาหาร หรือรับของบริจาคในตู้ปันสุขเพื่อเอาชีวิตรอด

แม้ว่าในระยะหลังรัฐบาลจะมีการผ่อนปรนให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดได้มากขึ้น เช่น ห้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม แต่ทว่าก็ต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้นจากการจัดให้มีมาตรการป้องกันตามคำสั่งของรัฐ ส่วนกิจการหรือกิจกรรมที่ยังกลับมาเปิดไม่ได้ โดยต้องรอให้ ศบค. ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจเป็นคนตัดสินใจ ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนต้องแบกรับต้นทุนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

ถึงเวลาเริ่มต้นการรักษาให้ถูกต้อง

ที่ผ่านมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นจริง จากข้อมูลสถิติเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 พบว่า ในรอบ 20 วันที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เพียงแค่ 10 จังหวัด และยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้เปลี่ยนจากหลักร้อยเหลือเพียงหลักหน่วย และยอดผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่เกินหลักร้อย แต่ทว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดเปลี่ยน การคงมาตรการรุนแรงแบบเดียวกันไว้ทั่วประเทศจึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สมเหตุสมผล

ดังนั้น เฉพาะพื้นที่ที่ยังคงเสี่ยงต่อการระบาด รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะมีอำนาจใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ อำนาจสั่งให้คนกักตัวได้ ฯลฯ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ การใช้อำนาจดังกล่าวจะไม่รวมศูนย์ และศูนย์อำนาจกระจุกตัวในจังหวัดไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งประเทศ หรือในการแก้ปัญหาเรื่องการกักตุนสินค้า รัฐบาลก็มีเครื่องมืออย่าง พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ ถ้าดูจากมาตรการสำคัญที่ทำให้การป้องกันโรคและควบคุมโรคประสบความสำเร็จในต่างประเทศ คือ การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อให้ประชาชน รวมถึงการมีระบบตรวจหาผู้ติดเชื้อที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาแรงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สุดท้ายนี้ สิ่งเดียวที่อาจไม่ได้คืนมาจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ความเป็นเอกภาพของรัฐบาล แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นทั้งปัญหาเชิงบุคคลและโครงสร้าง ปัญหาเชิงบุคคลเป็นไปเพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีภาวะผู้นำที่ดีพอและไม่สามารถต่อรองอำนาจกับพรรคร่วมรัฐบาลได้

อีกทั้ง ในระยะยาวหากไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ออกแบบระบบเลือกตั้งมาให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอ เพื่อเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร ความไม่เป็นเอกภาพและความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐจะกลายเป็นเรื่องถาวร และรัฐต้องเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยง ‘รัฐล้มเหลว’ ในทุกวิกฤตการณ์

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า