ยุกติ มุกดาวิจิตร: เมื่อมหา’ลัยไทยกลายเป็นโรงงานขายวิชา ค้าวิจัย รีดไถแรงงานอาจารย์

“เสน่ห์ของอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังลดน้อยถอยลง”

ยุกติ มุกดาวิจิตร รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชา กลับบ่ายหน้าไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เมื่อถูกผลักออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจะต้องหารายได้ด้วยตนเองมากขึ้น คณะต่างๆ จึงเปิดหลักสูตรพิเศษเพื่อหารายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าลงทะเบียนของนักศึกษา

แม้ระบบเช่นนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ก้อนโต และทำให้รายได้ของอาจารย์โดยรวมสูงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดการขูดรีดแรงงานของอาจารย์ขนานใหญ่ เช่น ต้องเพิ่มชั่วโมงการสอนมากขึ้น ต้องผลิตงานวิจัยมากขึ้น และยังต้องเร่งขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างเร็วที่สุด เพื่อช่วยเก็บแต้มให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดสามารถไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลก (world university rankings)

มหาวิทยาลัยบางแห่งตั้งเงื่อนไขให้อาจารย์ต้องตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารวิชาการนานาชาติที่เรียกว่า วารสารเกรดสกอปัส (Scopus) มิฉะนั้นจะไม่อนุมัติเงินให้ทำวิจัย ซ้ำร้ายกว่านั้น จากที่เคยมีทุนส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังตัดลดขั้นตอนนี้ด้วยการรับบุคลากรที่จบปริญญาเอกเท่านั้น แล้วโยกงบไปจ้างนักวิชาการต่างชาติให้มาทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงานในนามมหาวิทยาลัยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภายใต้สัญญา ‘fellowship’ 

“ขณะเดียวกันการลงทุนกับบุคลากรของตนก็จะน้อยลง ทั้งๆ ที่อยากจะได้ผลงานไปขยับ ranking นี่คือความ toxic ของมหาวิทยาลัยไทย”

กระบวนการปั่น ranking ของมหาวิทยาลัยแทบจะเป็นกระบวนการขูดรีดแรงงานจากอาจารย์และนักศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก วิทยานิพนธ์และผลงานที่พัฒนาจากวิทยานิพนธ์จะไม่ถูกนับเป็นงานวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่งหรือประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งๆ ที่หนังสือวิชาการระดับโลกดีๆ หลายชิ้นก็พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ มิหนำซ้ำ งานเหล่านี้ยังกลายเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดไปเสียดื้อๆ

“หนังสือดีๆ อย่าง Siam Mapped ของธงชัย วินิจจะกูล จะไม่มีค่าเลย หากมันอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยไทย ผมกล้าบอกเลยว่า ถ้าอาจารย์ธงชัยสอนหนังสือในประเทศไทย ต่อให้สอนจนเกษียณ อาจารย์ก็จะไม่มีวันได้เป็นศาสตราจารย์ เพราะไม่มีผลงานชิ้นไหนที่เข้าเกณฑ์ขอตำแหน่งได้เลย 

“แต่ถามว่า ประเทศเรายังมีศาสตราจารย์ที่เก่งกว่าอาจารย์ธงชัยอีกเหรอ คุณไปหาคำตอบเองแล้วกัน”

ไม่เพียงถูกบีบจากอำนาจของตลาดที่ต้องแข่งขันกับเจ้าอื่นๆ มหาวิทยาลัยไทยยังถูกบีบจากอำนาจรัฐในหลายทาง ตัวอย่างล่าสุดคือ การออกประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2565

“เมื่อถูกกดขี่จนถึงที่สุดแบบนี้ คนจำนวนมากจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ย้ายมหาวิทยาลัย เขาก็ต้องออกจากระบบมหาวิทยาลัยไปเลย”

กว่า 30 ปี ของชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ถ้าถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง โห มันเยอะเลย ถ้าตอบให้กระชับ ผมคิดว่าง่ายๆ เลยก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานเยอะขึ้น ทั้งงานสอน งานวิจัย งานบริหาร และงานบริการวิชาการเพื่อสังคม ซึ่งเป็น 4 ข้อหลักๆ ของอาชีพเราอยู่แล้ว เพียงแต่ปริมาณของงานมันเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องหารายได้ด้วยตนเองมากขึ้น พอมีการเพิ่มหลักสูตร อาจารย์ก็ต้องสอนมากขึ้น และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องการไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลก (world university rankings) โดยไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อย ผลก็คือ อาจารย์ถูกขูดรีดมากขึ้น

อีกอย่างคือ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยมีความมั่นคงน้อยลงจากระบบการจ้างงานแบบใหม่ เช่น พอเขารับคุณมาเป็นอาจารย์ ก็จะต้องมีการทดลองงาน 2 รอบ รอบละ 6 เดือน หมายความว่าใน 1 ปี คุณจะถูกประเมิน 2 ครั้ง หากผ่านไปได้ก็ยังจะต้องมีการประเมินเพื่อต่อสัญญาทุกๆ 3-5 ปี ระหว่างนั้นคุณจะถูกบังคับให้ต้องทำงานมหาศาล และต้องขอตำแหน่งทางวิชาการในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำไม่ได้ก็อาจถูกประเมินไม่ให้ผ่าน 

เงื่อนไขต่างๆ ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญ ตั้งแต่การถูกขูดรีดเพื่อพัฒนาภาพรวมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนความมั่นคงที่น้อยลง มันส่งผลกระทบต่อการทำงานสอนหนังสืออย่างไรบ้าง

มันส่งผลกระทบถึงกันหมด ในภาพใหญ่ก็คือมหาวิทยาลัยมีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 (พ.ศ. 2540) 

ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แม้จะเป็นช่วงที่ผมไม่ได้อยู่เมืองไทย เพราะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐในปี 1998 กลับมาอีกทีก็ปี 2007 แต่ผมก็รับรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากเพื่อนร่วมงาน ในระยะแรก สิ่งที่ดูเหมือนจะดีก็คือ มีการปรับขึ้นเงินเดือนอาจารย์ สมัยที่ผมจบปริญญาโทแล้วเข้าเป็นอาจารย์ (ปี 1996) เงินเดือนสตาร์ตประมาณ 7,000 กว่าบาท พอจบปริญญาเอกกลับมาก็ประมาณ 19,500 บาท โดยยังไม่นับค่าตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งก็ค่อยๆ ปรับขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1997 จนกระทั่งในปัจจุบัน เงินเดือนอาจารย์จบปริญญาเอกสตาร์ตที่ 40,000 กว่าบาท อันนี้แล้วแต่มหาวิทยาลัย บางแห่งก็ยังให้แค่ 20,000-30,000 กว่าๆ เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ค่าตำแหน่งทางวิชาการ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) ก็มีอัตราจ่ายที่สูงขึ้นมากจริงๆ เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้ว อาจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำอาจมีรายได้ตกประมาณ 60,000 บาท ถ้าเป็น ผศ. 70,000-80,000 บาท หรือถ้าเป็น รศ. แล้วบวกค่าอื่นๆ เช่น สอนเพิ่ม ก็อาจพูดได้ว่า รายได้แต่ละเดือนอาจจะเป็นแสน แต่ผมคิดว่าอาจารย์ที่จะมีรายได้มากขนาดนี้น่าจะไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของอาจารย์ทั้งหมดในประเทศหรอก 

นั่นคือรายได้โดยรวมที่อาจดูดีขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดการขูดรีดแรงงานจากกลุ่มคนที่เรียกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ เช่น จำนวนชั่วโมงการสอน ผมเทียบเฉพาะสิ่งที่เคยเป็นกับสถานการณ์ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยของผมนะ ข้อเรียกร้องพื้นฐาน (minimum requirement) คือ อาจารย์คนหนึ่งต้องสอนปีละ 4 วิชา คุณจะทำยังไงก็ได้ สอนเทอมแรก 2 วิชา เทอมหลัง 2 วิชา หรือเทอมแรก 3 วิชา เทอมหลัง 1 วิชา ก็ได้ แต่ถ้าลองสำรวจดูจริงๆ ก็จะรู้ว่าอาจารย์ที่สอนจำนวนเท่านี้มีน้อยมาก ทุกคนจะถูกขอให้สอนเพิ่ม เพราะแต่ละคณะเปิดหลักสูตรพิเศษขึ้นมาจำนวนมากเพื่อหารายได้

ผมบอกได้เลยว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาเป็นรายได้หลักของแต่ละคณะ เพราะหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง มหาวิทยาลัยถูกผลักออกนอกระบบซึ่งจะต้องหารายได้ด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้น หลักสูตรใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหลักสูตรพิเศษ โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี พูดอีกแบบก็คือหลักสูตรหารายได้นั่นเอง ยิ่งคุณมีหลักสูตรเยอะ คุณยิ่งมีรายได้เยอะ

ยกตัวอย่างคณะผมซึ่งมีหลักสูตรพิเศษอยู่แค่หลักสูตรเดียว ในแต่ละปีก็จะมีรายได้จากหลักสูตรนี้เข้ามาอยู่ในงบประมาณของคณะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วลองคิดดูว่าคณะที่มีหลักสูตรพิเศษ 5-6 หลักสูตร เขาจะมีรายได้มหาศาลแค่ไหน

ระบบแบบนี้ทำให้แต่ละคณะมีรายได้สูงมาก แล้วรายได้เหล่านั้นก็เอามาบริหารจัดการตัวหลักสูตรเองนั่นแหละ อาทิ ให้บริการและจัดสวัสดิการแก่นักศึกษา เช่น จัดทริปพานักศึกษาไปออกภาคสนามต่างจังหวัด ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพอย่างอาคารต่างๆ จะเห็นว่าเมื่อเดินเข้าธรรมศาสตร์ในรอบ 10 ปีให้หลัง คุณจะเจอตึกหน้าตาใหม่ๆ ห้องน้ำที่ดูดีขึ้น หรือ facility อื่นๆ เพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกัน เงินอีกส่วนจะนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างอาจารย์ หลักสูตรพิเศษที่ผมเคยสอนในระดับปริญญาตรีจ่ายค่าชั่วโมงให้แพงที่สุดชั่วโมงละ 2,750 บาท สอน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาคการศึกษาหนึ่งมี 15 สัปดาห์ คุณก็ลองคิดดูว่าจะมีรายได้เท่าไร นี่คือสอนวิชาเดียวนะครับ ผมว่าสำหรับบางคนนี่เป็นรายได้ที่สูงกว่าเงินเดือนเสียอีก ดังนั้นจะบอกว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่มีรายได้น้อยก็ไม่ถูก เพียงแต่คุณต้องทำงานเยอะมากๆ ถ้าไม่ทำงาน คณะก็ไม่มีรายได้มาจ้างคุณ 

ประเด็นของผมคือ ในปัจจุบันถ้าไม่นับรวมค่าจ้างบุคลากรอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาจารย์ ซึ่งยังคงพึ่ง ‘งบคลัง’ หรือเงินภาษีประชาชน รายจ่ายของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังมาจากรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับกระบวนการออกนอกระบบ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมว่าการบริหารงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยกลับยังรวมศูนย์อยู่มากผ่านระเบียบการบริหารและ พ.ร.บ.ต่างๆ แม้ว่ารัฐบอกให้เขาออกนอกระบบ แต่จริงๆ แล้วยังดึงอำนาจเข้าส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นการออกประมวลจริยธรรม นี่คือตัวอย่างอันดีเลย

อีกตัวอย่างเช่น ‘ระเบียบการบริหารหลักสูตร’ ที่ต้องได้รับการอนุมัติโดย สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ซึ่งเดิมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ แล้วตอนนี้แยกออกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พูดง่ายๆ หลักสูตรต่างๆ ของเรายังอยู่ในการควบคุมของกระทรวงหรือก็คือรัฐบาลนั่นแหละ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากหลักสูตรไม่ได้รับการอนุมัติ หลักสูตรของคุณก็จะกลายเป็นหลักสูตรไม่มีคุณภาพ และเขาพยายามจะเข้ามาควบคุม แต่ผมบอกเลยว่า วิธีการควบคุมคุณภาพหลักสูตร เขาไม่ได้ดูจาก ‘คุณภาพ’ แต่กลับไปดูที่ ‘ปริมาณ’ แทน ซึ่งก็คือตัวชี้วัดหรือตัวเลขต่างๆ ในแบบฟอร์ม และเป็นวิธีคิดแบบอุตสาหกรรมไม่ต่างจากคำว่า ‘ISO’ เลย

หลักเกณฑ์ควบคุมเหล่านี้ยังเปลี่ยนเสมอทุกๆ 3-5 ปี ถามว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องเปลี่ยนตลอดเหรอ ตอบได้ว่า เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนกำหนดสิ่งเหล่านี้ กระบวนการคัดเลือกพวกเขามาคืออะไร มาได้ยังไง เราไม่มีทางรู้ โอเค ต่อให้รู้แล้วเราจะทำยังไงกับเขาต่อล่ะ ผมว่า คนที่คอยกำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นพันๆ แห่งทั่วประเทศ มีไม่ถึง 10 คนหรอก นี่คือการรวมศูนย์อำนาจผ่านการควบคุมหลักสูตร

ยังมีการรวมศูนย์ในด้านอื่นๆ อีก เช่น มี ‘ระเบียบกลาง’ ควบคุมคุณภาพของวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งไอ้ระเบียบนี้ก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตลอด 20 กว่าปีของชีวิตในมหาวิทยาลัย ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงเกือบ 10 ครั้ง และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมันยากขึ้น โหดขึ้น และเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนที่จบปริญญาโท-ปริญญาเอกในประเทศนี้แทบจะเก่งกว่าคนที่จบจากสหรัฐอีก ตัวอย่างล่าสุด เช่น บางมหาวิทยาลัยไปสุดทางเลย บังคับให้นักศึกษาที่จะจบปริญญาเอกต้องตีพิมพ์บทความในวารสารชั้นนำระดับโลก 2 ชิ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเขียนวิทยานิพนธ์ด้วย คือต้องทำมากกว่าอธิการบดีหรือศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ คุณถึงจะได้ปริญญาเอก 

ผมถึงได้พูดว่า คนที่จบปริญญาเอกในเมืองไทยภายใต้ระเบียบเหล่านี้ ถือว่าเก่งที่สุดในโลกแล้ว นี่ผมพูดประชดนะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้จริงๆ หรอก แล้วที่เห็นคนเรียนจบปริญญาเอกกันเยอะ เขาทำได้อย่างไรเหรอ เขาก็จ้างน่ะสิครับ บางมหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น นักศึกษาจะไปเขียนเองได้ยังไง คุณไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกภาษาอังกฤษ ขนาดพวกที่ไปใช้ชีวิตในโลกภาษาอังกฤษก็ยังแทบตาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณเขียนภาษาไทย แล้วไปจ้างคนแปลเป็นอังกฤษ มหาวิทยาลัยไม่ว่าอะไรหรอก เพราะเขาแค่อยากได้ผลงานภาษาอังกฤษเพื่อมาทำให้ ranking สูงขึ้น โดยไม่สนใจเนื้อหา นี่คือความเหลวแหลกของระบบมหาวิทยาลัยไทย

ไอ้ระเบียบเหล่านี้มันรวมศูนย์ ถามว่าทำแบบนี้แล้วคุณภาพการเรียนการสอนจะดีขึ้นไหม ผมว่ามันก็ดีเท่าที่จะดีได้ เพราะอาจารย์แต่ละคนต้องแบกภาระงานหนัก คุณต้องเป็นคนที่ไม่ใส่ใจเพื่อนร่วมงานจริงๆ ต้องเป็นคนพิเศษจริงๆ หรือเป็นคนไม่แคร์สังคมจริงๆ จึงจะอยู่ได้ด้วยการสอนแบบ minimum เท่านั้น

ทีนี้ปัญหาเรื่องการไต่ ranking คือความไม่สอดคล้องกันทั้งระบบ ทั้งภาระงานของอาจารย์และการบริหารจัดการของแต่ละมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น บางมหาวิทยาลัยน้ำท่วมทุกปี มีวัวเดินไปเดินมาในวิทยาเขตตลอด เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมไม่น่าทำงานเอาเสียเลย แต่กลับบังคับให้อาจารย์ต้องทำงานในระดับมหาวิทยาลัย world class หรือเหนือกว่านั้นด้วยซ้ำ ในสภาพแวดล้อมที่จะหาบะหมี่กินดีๆ สักชามยังไม่ได้ แต่อาจารย์กลับต้องทำงานเหนือกว่ามหาวิทยาลัยระดับโลก คุณอาจไม่เชื่อ แต่ผมระบุได้ มาถามผม จะบอกให้ว่าที่ไหน อธิการบดีชื่ออะไร แล้วเขาเขียนงานวิชาการมากแค่ไหน แต่กลับบังคับให้อาจารย์ทำงานเยี่ยงวัวควาย ผมว่าวัวที่เดินอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะมีความสุขมากกว่าอาจารย์เสียอีก

มหาวิทยาลัยจำนวนมากอยากจะยกระดับ ranking ของตัวเองด้วยการขูดรีดผลงานของอาจารย์ บางแห่งตั้งเงื่อนไขว่า ต้องมีผลงานตีพิมพ์ลงวารสารนานาชาติที่เรียกว่า วารสารเกรดสกอปัส (Scopus) ซึ่งมีหลายเกรด แต่พวกเขาจะเรียกร้องเกรดที่ดีที่สุด ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่อนุมัติเงินให้ทำวิจัยต่อ เมื่อถูกกดขี่จนถึงที่สุดแบบนี้ คนจำนวนมากก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ย้ายมหาวิทยาลัย เขาก็ต้องออกจากระบบมหาวิทยาลัยไปเลย ผมได้ยินเสียงสะท้อนจากเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ตลกกว่านั้น เดิมทีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีเงินส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตอนนั้นเขาก็เลยรับคนจบปริญญาโทมาเป็นอาจารย์ ผมก็คือหนึ่งในนั้น แต่ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยรับคนจบปริญญาโทน้อยลงๆ จนกระทั่งไม่รับเลย หลายแห่งประกาศว่าต้องจบปริญญาเอก หรือมีหลักประกันว่าจะจบปริญญาเอกเร็วๆ นี้เท่านั้น 

แล้วเงินก้อนนั้นเอาไปทำอะไรน่ะเหรอ เอาไปซื้อผลงานครับ ตัวอย่างคือการให้ ‘fellowship’ หรือก็คือการเอานักวิชาการต่างชาติเข้าสังกัดช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้มาทำวิจัย และตีพิมพ์ผลงานในนามของมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยได้ผลงานมากขึ้น รวมถึงการบังคับให้นักศึกษาปริญญาเอกและอาจารย์ตีพิมพ์ผลงานนานาชาติ กระบวนการทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อปั่น ranking ให้สูงขึ้น

จากประสบการณ์ที่ผมเคยได้รับ fellowship เขาให้ผมเดินไปเดินมาในมหาวิทยาลัยหรือนั่งอยู่ในห้องทำงานไปวันๆ แล้วจะมีอาจารย์หรือนักศึกษาปริญญาเอกเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ อย่างมากก็ให้สอนหนังสือเทอมละ 1 วิชา นานๆ ทีจึงจะได้นำเสนอเปเปอร์ ซึ่งเขาไม่บังคับว่าจะต้องตีพิมพ์ แต่ถ้าคุณได้ fellowship จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เขาจะจับคุณเซ็นสัญญาให้ต้องตีพิมพ์ผลงานในนามมหาวิทยาลัย แล้วอาจต้องใส่ชื่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยนั้นพ่วงเป็นผู้เขียนร่วมด้วยอีกต่างหาก บางสัญญายังบอกว่า ผลงานเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย ผมว่าไม่มีที่มหาวิทยาลัยระดับโลกที่ไหนเขาทำกันแบบนี้

ขณะเดียวกัน การลงทุนกับบุคลากรของตนก็จะน้อยลง ทั้งๆ ที่อยากจะได้ผลงานไปขยับ ranking นี่คือความ toxic ของมหาวิทยาลัยไทย มีคนถามว่าอาจารย์ได้ตีพิมพ์ผลงานไม่ใช่เรื่องดีเหรอ จะได้เอาไปขอตำแหน่งวิชาการหรืออะไรต่อมิอะไร พูดถูกนะครับ แต่มันมากเกินไป ปริมาณงานที่มหาวิทยาลัยเรียกร้อง มันโหดร้ายเกินกว่าจำนวนงานที่จะใช้ขอตำแหน่งมาก ทำให้ภาระงานของอาจารย์หนักเกินความจำเป็น กระทั่งอาจขัดขวางการเติบโตในอาชีพการงาน (career path) นี่คือการขูดรีดชัดๆ

ระบบ ranking ส่งผลต่อการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมากขนาดไหน

มีอิทธิพลมาก เขาเรียก ‘ตัวชี้วัด’ หรือ ‘KPI’ (Key Performance Indicator) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการชี้ว่า สถาบันใดควรจะได้งบประมาณสนับสนุนเท่าไร พูดง่ายๆ สมัยนี้ถ้าใครจะให้เงินมหาวิทยาลัย เขาจะถามก่อนว่า ผู้ให้ทุนจะได้ผลงานหรือ output อะไร เขากำหนดคุณภาพของงานตามระดับวารสารที่ตีพิมพ์ด้วยซ้ำ

ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การไต่ ranking ทำให้ภาระงานของอาจารย์ทั้ง 4 ด้านไม่สอดคล้องกัน ทั้งๆ ที่มันควรจะไปด้วยกัน เช่น งานวิจัยกับงานสอน เรามักคาดหวังให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องผลิตตำราออกมา โดยเฉพาะตำราภาษาไทย เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยไทยไม่นับว่าตำราเป็นผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งวิชาการระดับสูงหรือใช้ในการประกันคุณภาพต่างๆ เช่น การเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท-เอก แต่นับเฉพาะงานวิจัยเท่านั้น ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลย ตำราไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยมันตอบโจทย์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งให้ความรู้ใหม่ๆ แต่ตำราคือการประมวลความรู้ที่มีอยู่แล้ว

ประเด็นของผมคือ คุณอยากได้ตำรา แต่ไม่ส่งเสริม ต่อให้ส่งเสริมก็ให้เงินน้อยมาก แรงจูงใจไม่มากเท่าการกระตุ้นให้อาจารย์ทำวิจัย ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะถูกนำไปซุกใต้หีบใต้บันได ไม่มีใครได้อ่านจริงๆ หรอก นอกจากกลุ่มแคบๆ ผมไม่ได้ต่อต้านงานวิจัย มันก็เพิ่มความรู้ให้แวดวงวิชาการแหละ แต่ไม่ช่วยทำให้ความรู้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และไม่ให้อะไรกับสังคมหรือนักศึกษาของตนเลย โดยเฉพาะงานวิจัยที่มุ่งทำตามหลักเกณฑ์ขอตำแหน่งวิชาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งงานเหล่านั้นไม่ต้องตอบโจทย์สังคม ไม่ต้องทะเลาะกับใคร ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เลยทั้งสิ้น โอเค เราอาจมีงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของประเทศชาติ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เศรษฐกิจพอเพียง หรืออะไรทำนองนี้ แต่งานวิจัยอื่นๆ นอกจากนั้นไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีพอ อย่างผมที่ทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ผมต้องอธิบายยังไงให้เข้าข่ายเหรอ ประเทศไทยจะได้อะไรจากการวิจัยนี้ จะเห็นว่ากรอบมันแคบลงเรื่อยๆ 

ปัญหาใหญ่คือ มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้ทำวิจัยแล้วตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทำให้งานกระจัดกระจาย แต่ผลงานตีพิมพ์แบบรวมเล่มแทบไม่มีเลย งานของคุณก็จะถูกอ่านในชุมชนวิชาการที่แคบลงเรื่อยๆ หากย้อนไปสัก 20 ปี ครูบาอาจารย์ของเราได้ตำแหน่งวิชาการสูงๆ จากการผลิตตำราเรียน แต่ปัจจุบันและในอนาคตมันจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สร้างและไม่ส่งเสริมสำนักพิมพ์ของตน พูดง่ายๆ คือมหาวิทยาลัยไม่ลงทุนกับการพิมพ์หนังสือให้อาจารย์ 

ทุกวันนี้หนังสือวิชาการที่ปรับปรุงจากงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ส่วนมากมาจากสำนักพิมพ์เอกชนที่มีความมุ่งมั่นหรือสถาบันวิจัยบางแห่งที่มีทุนเท่านั้น สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไทยไม่ลงทุนตรงนี้ เขาอยากจะผลิตแต่ตำราเป็นหลัก ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางอาชีพของอาจารย์แล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่คุณอยากจะไปแข่ง ranking กับเขา ตีพิมพ์หนังสือจากงานวิจัยเป็นว่าเล่น หนังสือเหล่านั้นแหละที่สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งมหาวิทยาลัยและเจ้าของผลงาน และยังช่วยพัฒนาวงการวิชาการไปข้างหน้า 

ถ้าใครเรียนปริญญาเอก เขาจะพูดกันว่า วิธีง่ายๆ ในการเลือกหนังสืออ่านก็คือ ให้เลือกหนังสือที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย (University Press) เพราะมันผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาแล้ว หนังสือดีๆ ส่วนใหญ่มักมาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คือไม่ใช่ว่าคุณจบแล้วจะเอางานไปพิมพ์ได้เลย คุณจะต้องเขียนต้นฉบับใหม่ ปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาให้รัดกุมขึ้น แล้วยังมีการประเมินผลโดยให้ reviewer อ่านอีก กว่าวิทยานิพนธ์จะเป็นหนังสือเล่มบางทีใช้เวลา 3-4 ปี

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยไทยไม่นับผลงานที่พัฒนาจากวิทยานิพนธ์เป็นผลงานวิชาการ เพราะถือว่าเป็นผลงานที่คุณต้องทำเพื่อเรียนจบอยู่แล้ว แย่กว่านั้น เขายังกล้าบอกว่าวิทยานิพนธ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย ขอโทษนะครับ กฎหมายลิขสิทธิ์ข้อไหนที่บอกอย่างนั้นเหรอ เขาจะอ้างว่าระหว่างที่คุณเขียนวิทยานิพนธ์ คุณก็ใช้ facility ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย แต่ผมว่าไม่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ไหนในโลกเขาคิดอย่างนั้นหรอก

วิทยานิพนธ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่แรกไหม

มหาวิทยาลัยไทยเชื่อแบบนั้นมาตลอด 

แต่เมื่อเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา เช่น กรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง มหาวิทยาลัยกลับไม่ออกตัวเป็นเจ้าของวิทยานิพนธ์นั้น?

ใช่ พอวิทยานิพนธ์เรื่องไหนมีปัญหา มหาวิทยาลัยจะถือว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ได้เป็นผู้เขียน อ้าว งั้นคุณยังจะใช้คำว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เหรอ ที่แย่กว่านั้นก็คือ มหาวิทยาลัยไทยแทบทุกแห่งคิดแบบนี้ จะเรียกว่าหน้าด้านก็ได้ รับชอบอย่างเดียว แต่ไม่ยอมรับผิด

สำหรับผมนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเรื่องของลิขสิทธิ์และการไม่ให้คุณค่ากับวิทยานิพนธ์มากพอ ยกตัวอย่างหนังสือดีๆ อย่าง Siam Mapped ของธงชัย วินิจจะกูล ก็พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ แต่หนังสือเล่มนี้จะไม่มีค่าเลย หากมันอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยไทย ผมกล้าบอกเลยว่า ถ้าอาจารย์ธงชัยสอนหนังสือในประเทศไทย ต่อให้สอนจนเกษียณ อาจารย์ก็จะไม่มีวันได้เป็นศาสตราจารย์ เพราะไม่มีผลงานชิ้นไหนของอาจารย์ที่เข้าเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยไทยเลย นักวิชาการดังๆ อีกมากมายในโลกนี้ก็ไม่มีทางได้เป็นศาสตราจารย์หากต้องทำตามหลักเกณฑ์นี้ 

แต่ถ้าถามว่า ประเทศเรายังมีศาสตราจารย์ที่เก่งกว่าอาจารย์ธงชัยอีกเหรอ คุณไปหาคำตอบเองแล้วกัน จะได้รู้ว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวบุคคลหรือที่ระบบกันแน่

นอกจากงานสอนและการให้บริการทางวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยยังต้องทำงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดที่มีประกาศหลักประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฯ ออกมา อยากทราบว่าประมวลจริยธรรมดังกล่าวคืออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร และส่งผลต่อการทำงานของอาจารย์อย่างไร

ประมวลจริยธรรมฉบับนี้ไม่เพียงสะท้อนความเสื่อมของมหาวิทยาลัยไทย แต่ยังสะท้อนภาพรวมของประเทศในปัจจุบัน ผมพยายามอธิบายไปแล้วว่า ในขณะที่ถีบให้อาจารย์ต้องหารายได้และดูแลตัวเองจนแทบจะลอยแพอยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่งเขาก็พยายามชักใยควบคุมคุณอยู่ตลอด และพยายามรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ 

ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่า ประมวลจริยธรรมฉบับนี้ถูกกำหนดใช้โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แต่ถามว่าที่ผ่านมาก่อนจะมีกระทรวง มหาวิทยาลัยเขาอยู่กันแบบบ้านป่าเมืองเถื่อนและไม่มีหลักจริยธรรมอะไรเลยเหรอ ไม่ใช่นะครับ เรามีระเบียบคอยควบคุมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงมันเข้มงวดกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ 

เข้มงวดกว่าหมายความว่า คุณอาจทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งเดียวกันนั้นอาจผิดหลักจริยธรรมของการเป็นอาจารย์ หรือต่อให้ผิดกฎหมาย เขาอาจไม่เอาโทษคุณขนาดนั้น แต่ในฐานะอาจารย์ คุณอาจถูกให้ออกจากงานได้ เช่น คุณมีสิทธิ์จะดื่มแอลกอฮอล์กับใครก็ได้ที่อายุถึงเกณฑ์ แต่ถ้าคุณเป็นอาจารย์แล้วดื่มแอลกอฮอล์กับนักศึกษา คุณก็ทำผิดจริยธรรม มันเข้มงวดขนาดนั้นเลย บางคนบอกว่า code of conduct ของอาจารย์ในบางมหาวิทยาลัยเข้มงวดเสียยิ่งกว่าของประมุขบางประเทศ 

ประเด็นคือ หลักจริยธรรมเหล่านั้นเป็นการดูแลกันเองในชุมชนวิชาการมาโดยตลอด แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีกลุ่มงานวินัยไว้ตรวจสอบอาจารย์ สมมุติถ้ามีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษา ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ คนที่ตัดสินคือกองวินัยของมหาวิทยาลัย ทีนี้ ประมวลจริยธรรมฉบับใหม่นี้ทำอะไรครับ ถ้าถึงเวลาที่ต้องตัดสินความผิด ใครจะเป็นคนรับหน้าที่ ใครเป็นคนจัดการ แล้วกระบวนการลงโทษต่างๆ จะทำยังไง สุดท้ายมันจะวกกลับไปที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ เห็นได้ชัดจากการที่มันรวมผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้อยู่ใต้ประมวลจริยธรรมฉบับนี้ ส่วนกลางควบคุมคุณตั้งแต่ยอดพีระมิดลงมาเลย แล้วคุณจะปฏิเสธอำนาจเขายังไง

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมหาวิทยาลัยทั้งหลายจึงนิ่งเฉย ไม่โต้ตอบอะไรเลยต่อการออกประมวลจริยธรรมฉบับนี้ หรือมิฉะนั้น เขาอาจมองว่ามันเป็นเรื่องตลก และไม่มีอำนาจมากพอจะยุ่มย่ามอะไรกับมหาวิทยาลัยได้ เพราะมันไม่ได้ถูกกำหนดลงไปใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ผมไม่รู้หรอกว่าเป็นเพราะอะไร แต่เราเห็นความพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจน

หลักประมวลจริยธรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบอะไรต่อเสรีภาพทางวิชาการในพื้นที่มหาวิทยาลัยบ้าง

ในระยะสั้นๆ คงยังไม่เกิดผลกระทบอะไรมาก ผมมองว่าประมวลจริยธรรมฉบับนี้มันสร้างความสบายใจให้กับผู้มีอำนาจ ผมไม่รู้ว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ยังไง แต่มันคงใช้กันง่ายๆ ไม่ได้แน่ 

ส่วนประเด็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ผมว่ามันใหญ่กว่าแค่เสรีภาพในการแสดงออก มันรวมถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยด้วย ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไทยมีบทบาทในการตรวจสอบ ทัดทาน วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการทำงานของรัฐบาลน้อยลงเรื่อยๆ ยกเว้นตอนที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเคลื่อนไหว ก็เห็นอาจารย์หลายท่านเข้าร่วม แต่ที่บอกว่าถดถอย เพราะผมนึกถึงสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ผมรู้สึกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นกระบอกเสียงในสังคมได้ เราเห็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์หรือคณะเศรษฐศาสตร์คอยวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล วิจารณ์นโยบายสังคม รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงคนสอนหนังสือหรือคนทำวิจัย แต่คือปัญญาชน ผมว่าบทบาทการเป็นสติปัญญาของสังคมนี่แหละที่น้อยลง

ผมเชื่อว่าปัญหานี้เกิดจากการแปลงมหาวิทยาลัยให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม และการแข่งกันไต่อันดับมหาวิทยาลัย สองสิ่งนี้ทำให้ทั้งสติปัญญาและพลังงานของอาจารย์ถดถอยลง

สิ่งหนึ่งที่ต่อสู้กันจนสำเร็จในคณะของผมคือ เราปฏิเสธการทำประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินแรงงานของผู้คนในระบบมหาวิทยาลัยอย่างมาก คุณสอนหนังสือหลายวิชา แล้วยังต้องมานั่งกรอกเอกสารเพื่อประเมินตนเองอีก สิ่งนี้กินแรงของอาจารย์ในแต่ละเทอมมาก 

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารกับการให้บริการทางวิชาการกำลังมีปัญหา นั่นคือ เมื่อฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเข้ามาบีบจนอาจารย์ไม่กล้าที่จะคิดหรือทำอะไร การจัดเสวนาในประเด็นทางการเมืองและทางสังคมก็ลดลง เพราะถ้าจัดก็จะถูกเพ่งเล็งจากผู้บริหาร ซึ่งเขาอาจถูกบีบจากข้างบนอีกที ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ อำนาจคุกคามจากรัฐก็ยิ่งสูงขึ้น 

การรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ยิ่งกดความเป็นปากเสียงและสติปัญญาของสังคมที่มหาวิทยาลัยควรจะมีค่อยๆ ลดน้อยลง จนมหาวิทยาลัยไทยแทบจะกลายเป็นแหล่งเสียสติไปในที่สุด เพราะหมกมุ่นแต่งานของตัวเอง ผมเห็นใจเพื่อนร่วมอาชีพทั้งประเทศที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบแบบนี้ ทุกวันนี้เสน่ห์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยค่อยๆ หมดลง

สามารถพูดได้ไหมว่า หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้น

แน่นอน เอาง่ายๆ กว่าจะถึงการเลือกตั้งปี 2562 เราตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 4 ปี เช่น ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติครั้งหนึ่ง มีการลงชื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปรากฏว่านักวิชาการที่ลงชื่อทั้งไทยและต่างประเทศถูกตามคุกคามหมด ทุกวันนี้นักวิชาการต่างประเทศที่อยู่ในรายชื่อครั้งนั้นยังไม่กล้าเข้าประเทศไทยเลย หลายคนไม่อยากกลับมาไทยอีกแล้ว เพราะทุกครั้งที่เข้ามาก็จะถูกตำรวจสอบสวนอย่างหนัก

ทุกวันนี้ในประเทศไทยมีอาจารย์ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงออกทางการเมืองเต็มไปหมด สืบเนื่องจากการรัฐประหารครั้งนั้น เรายังไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ยังไง เราทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเรื่องร้องเรียน 

ข้อกำหนดบางข้อในหลักประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง เช่น ด้านหนึ่งต้องพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องกล้าแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามอิทธิพลใดๆ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

นี่เป็นตัวอย่างของการเขียนกฎระเบียบที่เปิดให้ผู้มีอำนาจตีความยังไงก็ได้ ผมคิดว่า จริงๆ มันมีปัญหาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแม้จะเขียนถึง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ แต่ก็มีข้อความต่อท้ายว่า “การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” 

ในแง่หนึ่งประมวลจริยธรรมฉบับนี้ ชี้ให้เห็นความกระหายอยากจะมีอำนาจ แต่อีกแง่ก็เผยให้เห็นความกระจอกของมัน เพราะพูดซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือเสรีภาพที่ตัวรัฐธรรมนูญมอบให้เรามีขอบเขตเขตและถูกควบคุมไว้อยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 จะเห็นว่า เขารับรองเสรีภาพทางวิชาการโดยไม่ได้เพิ่มวรรคท้ายแบบนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 รับรองเสรีภาพทางวิชาการอยู่แล้ว แต่เสรีภาพนั้นต้องมีขอบเขต ทีนี้ถามว่าผมต้องทำอะไรเหรอจึงจะนับว่าผมละเมิดข้อนี้ ในเมื่อกฎหมายมันพร้อมจะเล่นงานผมอยู่แล้ว ปัญหาคือผู้มีอำนาจในประเทศนี้อยากจะเขียนข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อควบคุมคน แต่กลับไม่ออกข้อกำหนดที่รองรับเสรีภาพอย่างชัดเจนบ้าง นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

หลายครั้งการแสดงออกของนักวิชาการในฐานะพลเมืองกลับถูกจำกัดด้วยระเบียบและจริยธรรมของข้าราชการพลเรือน แม้จะเป็นความคิดเห็นที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมคิดว่าระเบียบจริยธรรมที่เข้มขึ้นถูกออกแบบมาเพื่อดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น การกระทำบางอย่างที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา เพราะมันเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เขาอยากจะควบคุมไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ

ยกตัวอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและธรรมศาสตร์ ผู้บริหารของสองมหาวิทยาลัยนี้แทบไม่ยุ่งเรื่องเสรีภาพทางวิชาการของเหล่าอาจารย์ในสังกัด ต่อให้อยากทำแค่ไหนเขาก็ไม่ทำ มันมีเส้นมีเพดานว่าผู้บริหารจะไม่แตะต้องเรื่องนี้ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดกับทุกมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในไทยออกไปในทางตรงข้ามด้วยซ้ำ 

เพราะฉะนั้น หากจะวัดว่ามหาวิทยาลัยไทยมีเสรีภาพทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน มันก็วัดจริงๆ จังๆ ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่ามีความขัดกันระหว่างการเป็นพลเมืองกับการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไหม ผมกลับคิดว่า ตั้งแต่อดีตสังคมไทยให้อภิสิทธิ์แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้คอยตักเตือนสังคมมากกว่าหลายๆ ประเทศ อาจารย์ในไทยจึงมีบทบาททางสังคมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ถ้าใครบอกว่าบรรดาอาจารย์ควรไปสนใจสังคมบ้าง ผมจะถือว่าคนคนนั้นไม่รู้จักสังคมไทยเลย แต่ปัจจุบันบทบาทของอาจารย์ก็ถดถอยลง และแตกต่างกันในแต่ละมหาวิทยาลัย

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

สิ่งที่ผมอยากเห็นจริงๆ คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ มหาวิทยาลัยควรถูกบริหารจัดการโดยผู้บริหารที่เป็นนักวิชาการ ซึ่งทั้งโลกเขาทำกันแบบนี้ มันทำให้อาจารย์สบายใจ เพราะอยู่ใต้การบริหารของคนที่เข้าใจธรรมชาติของงานวิชาการ เข้าใจความเป็นนักวิชาการ และเข้าใจการเรียนการสอน

แต่ผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีน้อยลง คือความรักในความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ และความกล้าหาญทางวิชาการในการเป็นสติปัญญาของสังคม คำเหล่านี้อาจฟังดูอุดมคติไปหน่อย แต่ปัจจุบันผู้บริหารแบบนี้มีน้อยลงจริงๆ แต่สิ่งที่มีมากขึ้นกลับเป็นผู้บริหารที่สยบยอมต่ออำนาจ คนเหล่านี้ฉลาดมาก แต่ก็ขี้ขลาดมากเช่นกัน เขาอาจไม่ใช่คนขี้ขลาดจริงๆ หรอก แต่อาจคิดว่าการคล้อยตามระบอบที่เป็นอยู่ คือสิ่งที่ดีที่สุดต่อตนเองและประเทศชาติ หรือจริงๆ แล้วเขาอาจดวงตามืดบอดก็ได้ อันนี้เราก็พิสูจน์ไม่ได้

สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไทยจะข้ามพ้นวิกฤตเหล่านี้ได้อย่างไร

มันต้องแก้โครงสร้างทั้งหมด ชุดความคิดสำคัญคืออะไร การศึกษาควรมีทิศทางแบบไหน จะนำพาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าวันนี้หรือพรุ่งนี้ใครมาบอกให้ผมเป็นอธิการบดี ผมไม่เป็น แต่ถ้าให้เป็นรัฐมนตรี ผมเอา แล้วรอดูได้เลยว่าผมจะเปลี่ยนอะไรบ้าง

คุณไม่ต้องไปดวงจันทร์หรอก คุณเคยคิดบ้างไหมว่าทำไมคนไทยจะได้รับรางวัลโนเบลบ้างไม่ได้ ผมไม่เคยได้ยินรัฐมนตรีคนไหนพูดเลย คุณจัดกระบวนการให้มันเกิดขึ้นได้นะ มันทำได้ แต่ต้องลงทุน คุณไปดูประเทศอื่นๆ สิว่าเขาทำงานกันยังไง ให้ทุนนักวิจัยยังไง

ทุกวันนี้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ สนใจไหมว่า ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ถ้าคุณไปหาคนฟิลิปปินส์ที่รู้เรื่องเมืองไทย คุณจะหาได้ไม่เยอะเท่าคนไทยที่รู้เรื่องฟิลิปปินส์ หรือคุณอาจจะเจอคนเวียดนามที่รู้เรื่องไทยพอๆ กับคนไทยที่รู้เรื่องเวียดนาม แต่คนเวียดนามที่สนใจประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็ยังมีไม่เท่าแวดวงวิชาการไทยหรอก หรือกระทั่งความรู้วิทยาศาสตร์ งานวิจัยดีๆ ในไทยก็มีเยอะมาก ลองคิดสิว่าจะทำยังไงให้ความรู้เหล่านั้นเชื่อมโยงกับคนทั่วไปและยกระดับฐานความรู้แก่คนไทยได้บ้าง

ประเทศนี้ไม่ได้ขาดแคลนความรู้ คำถามคือคุณเคยคิดจะทำอะไรกับมันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไหม เวลาตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยไม่ก้าวกระโดดในแง่การผลิตผลงานวิชาการสักที แล้วสิ่งที่คุณทำคืออะไรล่ะ ไม่ใช่เพราะการออกประมวลจริยธรรมฯ แบบนี้เหรอ นี่คือความกระจอกของผู้มีอำนาจในขณะนี้

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า