SKY Castle: เมื่อการศึกษากลายเป็นจุดติดลบความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่

แม้จะผ่านไป 2 ปีแล้ว แต่ซีรีส์เรื่อง Sky Castle ยังคงเป็นซีรีส์ในความทรงจำ ด้วยเรื่องราวตีแผ่เส้นทางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียนเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางสังคมหลักที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งสถาบันการศึกษา (โรงเรียนมัธยมต่างๆ และโรงเรียนกวดวิชา) สถาบันครอบครัว หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ช่วยกันสร้างฐานทางสังคมที่ดีให้กับนักเรียน 

เหตุผลที่ Sky Castle ยังคงเป็นซีรีส์ในดวงใจของหลายๆ คน อาจเป็นเพราะซีรีส์จำลองช่วงเวลาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย SKY (มหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลี – ความฝันของครอบครัวและนักเรียนขอแค่ได้เรียนก็พอใจ) ผ่านความรู้สึกและเหตุการณ์ของตัวละครที่เติบโตมาจากสภาพแวดล้อมและครอบครัวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของศาสตราจารย์แพทย์ระดับประเทศ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชื่อดัง รวมถึงเบื้องหลังการทำงานของครูสอนกวดวิชาชื่อดังระดับประเทศที่การันตีความสำเร็จในการสอบเข้า 100 เปอร์เซ็นต์

เรื่องการศึกษาในเกาหลีใต้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งเป็นครอบครัวชนชั้นสูงที่มีความพร้อมทุกอย่าง พ่อแม่จะไม่ยอมให้ใครเห็นความอ่อนแอของพวกเขาและลูกๆ ที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังและความกดดัน

ห้องอ่านหนังสือคาบเรียนที่ 0 และคาบสุดท้าย

ภายใต้ความคาดหวัง บรรยากาศการแข่งขัน และแรงกดดันจากการศึกษาที่ลูกหลานในหมู่บ้าน SKY ต้องเจอ ไม่ต่างจากนักเรียนเกาหลีใต้ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนเกาหลีใต้อยู่ที่โรงเรียนกับสถาบันกวดวิชามากกว่าอยู่บ้านเสียอีก เพราะคาบอ่านหนังสือจะแทรกอยู่ในช่วงก่อนและหลังเลิกเรียน ในช่วงก่อนเรียนหรือเรียกว่าคาบที่ 0 นักเรียนจะใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงทบทวนบทเรียน ส่วนหลังเลิกเรียนจนถึงกลางดึกนักเรียนจะอ่านหนังสือด้วยตัวเองโดยไม่มีครูเข้ามาสอน เรียกว่า ยาจาไทม์ (야자타임)  

ทั้งสองช่วงเวลา นักเรียนจะใช้เวลามากกว่า 3-4 ชั่วโมงที่ ‘ห้องอ่านหนังสือ’ ในโรงเรียน พื้นที่แสนเงียบสงบ ทำเลดีสำหรับการอ่านหนังสือที่เปิดก่อนคาบแรกและปิดก่อนที่จะเริ่มวันใหม่ รวมถึงยังแสดงให้เห็นว่า ชีวิตในรั้วโรงเรียนไม่ใช่แค่การมาเรียนหรือสนุกไปกับเพื่อนๆ แต่รวมถึงการทบทวนและเตรียมตัวสอบด้วย

แม้ว่าจะต้องนอนดึก ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือ แต่นักเรียนเกาหลีใต้ชั้น ม.6 ก็ยอม เพราะพวกเขาเชื่อว่าการอ่านหนังสือและการเรียนอย่างหนักเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขามั่นใจในการสอบประเมินของโรงเรียนในแต่ละครั้งและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะใช้ชีวิตแบบ routine แบบนี้ได้นาน 

เพราะการเรียนอย่างหนัก คือสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนบางคนเลือกที่จะจากโลกนี้ไป เพราะไม่สามารถแบกรับความเครียดในทุกนาทีได้อีกต่อไป 

เว็บไซต์เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ประเทศไทย เล่าถึงการฆ่าตัวตายของนักเรียนเกาหลีว่า ความเครียดจากการสอบทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะช่วงสอบแอดมิชชั่น ซึ่งในวันนั้นจะมีตำรวจหรือยามคอยดูแลในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น บริเวณรถไฟใต้ดิน บริเวณสะพานนาโป หรือที่อื่นๆ เพราะมีรายงานว่า มีนักเรียนอายุ 20 ปี ผูกคอตายในอพาร์ตเมนต์ เมืองแทกู ก่อนสอบหนึ่งวัน และเขียนจดหมายทิ้งไว้ว่า 

“การอดหลับอดนอนและการไอเป็นเลือด คงจะนำไปสู่การตายในไม่ช้านี้”

แต่สำหรับชนชั้นสูงในหมู่บ้าน SKY ตัวละครคังเยซอที่มีพ่อเป็นศาสตราจารย์แพทย์ระดับประเทศรู้สึกสนุกไปกับตารางอ่านหนังสือที่อัดแน่นตลอดวันของลูก ถึงกับมีห้องอ่านหนังสือในห้องนอน หรือศาสตราจารย์กฎหมายก็มองเห็นความท้าทายจากการจำลองการสอบให้กับลูกชายทั้งสองเพื่อให้ลูกพร้อมที่สุดในวันสอบจริง ถึงแม้ว่าลูกๆ ทั้งสองจะไม่ค่อยชอบความคิดของพ่อเท่าไหร่นัก 

นอกจากห้องอ่านหนังสือจะมีประโยชน์ในการทบทวนบทเรียนแล้ว ยังเป็นสนามสอบจำลองขนาดเล็กที่จะฝึกให้พวกเขาลองเผชิญกับการสอบจริงด้วย ทั้งเรื่องความรู้ ความพร้อมทางจิตใจ และความกดดันเรื่องเวลา ห้องอ่านหนังสือที่ซีรีส์หยิบมาเล่า ยิ่งตอกย้ำภาพจำเรื่องการเรียนหนักในสังคมเกาหลีใต้ว่า ทุกนาทีมีค่า เมื่อไรที่พวกเขาหยุดพัก หมายความว่า คนอื่นเดินนำเขาไป 1 ก้าว ขณะที่พวกเขายังคงยืนอยู่ที่เดิมและอาจพลาดโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต

พ่อแม่ที่ดีคือการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

คนที่ทุ่มเทไม่แพ้กับนักเรียนเรื่องการศึกษา คือเหล่าอปป้าและออมม่า เพราะพ่อแม่เองก็อยากจะเป็นพ่อแม่ที่ดีและสมบูรณ์แบบในสายตาของสังคม โดยมีการศึกษาของลูกเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะเรื่องการเรียนของลูกคือเรื่องหลักในวงสนทนา “ลูกของเธอเรียนที่ไหน” หรือ “ลูกของเธอทำงานอะไร” ดังนั้นหน้าที่การงานและการศึกษาของลูกก็คือภาพลักษณ์ของคนในครอบครัวไปโดยปริยาย

พ่อแม่ของนักเรียนเกาหลีใต้จึงหวังว่าลูกๆ ของพวกเขาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี มีหน้าที่การงานที่มั่นคง เสาหลักของครอบครัวทั้งสองคนจึงต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อนำเงินมาเป็นทุนการศึกษาในโรงเรียนและโรงเรียนกวดวิชา พร้อมกับมองหาช่องทางที่จะทำให้ลูกๆ ของพวกเขาสอบเข้าสถาบันการศึกษาที่หวังได้

SKY Castle ก็บอกเล่าเรื่องราวของการเป็นพ่อแม่ที่ดีผ่านความคิดของตัวละคร โดยเฉพาะครอบครัวศาสตราจารย์แพทย์ระดับประเทศที่มี ‘เยซอออมม่า’ รับหน้าที่เป็นคนดูแลเรื่องเรียนและชีวิตของลูกสาวทั้ง 2 คน ไม่ว่าจะเตรียมอาหารหรือหาติวเตอร์ส่วนตัวชื่อดังมาติวให้ลูกสาวคนโต เรียกได้ว่า เธอทำหน้าที่แม่ได้ดีไร้ข้อบกพร่อง 

แต่ถ้าถอยออกมาจากโลกของซีรีส์ จะเห็นเบื้องหลังของ ‘แม่แสนดี’ คนนี้ คือลูกสาวเจ้าของร้านเขียงหมูที่จับพลัดจับผลูมาแต่งงานกับลูกชายของคนรวย ทำให้เธอกลายมาเป็นหนึ่งในคุณผู้หญิงของหมู่บ้าน SKY พร้อมกับความรู้สึกที่อยากจะให้ลูกมีชีวิตที่ดีไม่เหมือนกับอดีตของเธอ

สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ culturalatlas ของประเทศออสเตรเลีย บอกว่า พ่อแม่เกาหลีใต้หวังให้ลูกได้รับการศึกษาและความมั่นคงมากกว่าตัวเอง พวกเขาจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จของลูกๆ กลายเป็นใส่ความคาดหวังไปกับลูกๆ ส่งผลให้เยาวชนเกาหลีจำนวนมากถูกกดดันอย่างมากในด้านการศึกษาและอาชีพการงาน

ฮักวอน One Stop Service เรื่องการศึกษา

นอกจากครอบครัวและสายตาของเพื่อนบ้านที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินชะตาชีวิตของเด็กคนหนึ่งในการสอบแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสถาบันทางสังคมก็คือ ฮักวอน หรือโรงเรียนกวดวิชา ที่ไม่ได้เป็นแค่ตัวช่วยในการทำข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่ช่วยเตรียมความพร้อมของนักเรียนทุกด้านสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งเทคนิคการทำข้อสอบ จำลองการสอบจริง การควบคุมจิตใจ และการประเมินลำดับมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในเกาหลีเติบโตและมีคุณค่าทางสังคมมากขึ้น เพราะย่านคังนัมในกรุงโซลมีฮักวอนอยู่ 25,000-30,000 แห่ง และอาจมีฮักวอนมากถึง 70,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งความนิยมของโรงเรียนกวดวิชาส่งผลให้โรงเรียนมัธยมถูกลดทอนคุณค่าไป

ผลสำรวจบางโรงเรียนในเกาหลีใต้ พบว่า หนึ่งในสามของนักเรียนแอบหลับระหว่างครูสอน อีกทั้งร้านกิฟท์ช็อปหลายแห่งมีการจำหน่ายหมอนที่ทำขึ้นพิเศษ เพื่อให้ผู้ใช้สวมบริเวณแขนและนอนหลับบนโต๊ะเรียนได้สบายขึ้น เท่ากับว่า เด็กสามารถหลับในชั้นเรียนได้มากขึ้น และต้องใช้เวลาเรียนพิเศษจนดึกมากขึ้น

เพราะความจริงแล้วในสังคมเกาหลีใต้ การเรียนพิเศษเป็นราคาที่ตัวนักเรียนและครอบครัวยอมจ่าย รายงานของ สถาบันการศึกษาและการดูแลเด็กของเกาหลี (Korea Institute of Child Care and Education) ได้สำรวจครอบครัวที่มีลูกอายุ 2-5 ปี จำนวน 1,241 ครอบครัว พบว่า พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 5 ปี พวกเขาให้ลูกๆ เรียนพิเศษแบบส่วนตัว 5.2 ครั้ง ครั้งละ 50 นาทีต่อสัปดาห์ นอกจากนี้เด็กอายุเพียง 2 ขวบ เรียน 4.7 ครั้ง ครั้งละ 47.6 นาทีต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะเรียนภาษาเกาหลี กีฬา ศิลปะ และภาษาอังกฤษ 

ความนิยมในการเรียนกวดวิชาในเกาหลีใต้ไม่ต่างจากชีวิตหลังเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ของนักเรียนไทยที่เลือกจะเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม เพื่อมองหาเทคนิคการทำข้อสอบนอกเหนือห้องเรียน (มีสูตรลัดช่วยทำข้อสอบไวขึ้น) และพ่อแม่เองก็ยอมลงทุน เพราะกลัวว่าลูกหลานจะเสียเปรียบเพื่อนคนอื่นตอนทำข้อสอบ

เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาในไทยก็เป็น one stop service เหมือนกับเกาหลีใต้ กล่าวคือ ในสถาบันกวดวิชา 1 แห่งครอบคลุมเนื้อหาในรายวิชาต่างๆ ทั้งยังมีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งยังมีที่พักรองรับนักเรียนต่างจังหวัดที่ต้องการเรียนสดกับติวเตอร์คนนั้นๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงปรับลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบการสอบแต่ละปี และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอนเพื่อดึงดูดนักเรียนและข้อได้เปรียบทางธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา 

แม้ว่าโรงเรียนกวดวิชาจะมีคุณค่าทางสังคมไทยหรือเกาหลี เพราะเป็นทั้งแหล่งความรู้ที่ครอบคลุมทุกด้าน เป็นที่พบเพื่อนใหม่ และเป็นสนามจำลองการสอบของนักเรียนบางคน แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนคนหนึ่งสอบติดหรือไม่ติด คือ ความตั้งใจและกำลังใจของพวกเขาในวันสอบจริง

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและมีความสัมพันธ์

แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่การแข่งขันและแรงกดดันจากการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่เคยลดลงเลย ค่านิยมแบบเอเชียที่คิดกันว่าพวกเขาจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่อาชีพที่พวกเขาฝันไว้ ทำให้ตอนนี้นักเรียนก็ยังคงก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือกันต่อไป 

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือเกาหลี การศึกษาคือพื้นฐานชีวิตที่สำคัญ เพราะไม่ได้หมายถึงแค่หน้าตาของผู้เรียนอย่างเดียว แต่เป็นหน้าตาของครอบครัวและสังคมรอบข้าง เพราะการศึกษาอาจเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตได้ ดังนั้นนักเรียนจึงอ่านหนังสือและเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ ส่วนพ่อแม่ก็ทำงานเต็มที่เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก

SKY Castle ไม่ใช่แค่เรื่องของการเชือดเฉือนกันเรื่องภาพลักษณ์การศึกษาของลูกๆ เพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้เรื่องราวสุดเข้มข้นและบทที่แฝงค่านิยมทางสังคมของเกาหลีใต้ไว้อย่างแนบเนียน ยังถ่ายทอดความสัมพันธ์ของสถาบันหลักทางสังคมที่คนเกาหลีให้คุณค่า เข้ามาช่วยปูเส้นทางและอนาคตของเด็กคนหนึ่งผ่านคำว่า ‘การศึกษา’ ได้อย่างดี

หลังจากนี้คงจะพูดได้ว่า ไม่ใช่แค่นักเรียนที่ทุ่มเทแรงกายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี แต่ครอบครัวก็ทุ่มเทเวลาแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน เพื่ออนาคตที่ดีของลูกด้วยเช่นกัน รวมถึงโรงเรียนกวดวิชาที่เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมกำหนดเส้นทางชีวิตของเด็กคนหนึ่ง เพราะโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้เป็นเหมือนที่พึ่งทางใจของนักเรียนเกาหลีในปัจจุบัน สิ่งที่ครูสอนพิเศษบอกก็ไม่ต่างจากคำปลอบโยนของพ่อแม่

อ้างอิง
  • koreanteenlife
  • culturalatlas
  • thestandard
  • sanook
  • งานวิจัย เพราะการศึกษาไทยคือการสอบ คำตอบคือ “กวดวิชา?” โรงเรียนกวดวิชากับสังคมจังหวัดลำปาง*

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
นักศึกษาจบใหม่ที่ชอบดูซีรีส์เกาหลีเเละสนใจ soft power ทุกรูปเเบบ เชื่อว่างานบันเทิงคือเเรงขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า