ผลกระทบโควิด-19 พัฒนาการเด็กประถมเท่าอนุบาล พูดไม่เป็นประโยค อ่าน-เขียนไม่ได้ และเครียด

จริงอยู่ที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มระบาดในปี 2562 แต่ผลกระทบที่รุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างนั้นอยู่ในช่วงปี 2563-2565 ระยะเวลาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบกับสาธารณสุข เศรษฐกิจ เท่านั้น แต่ส่งผลรุนแรงต่อการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย

กลับไปทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสักหน่อย หากนับช่วงปี 2562 ที่เด็กคนหนึ่งเข้าเรียนอนุบาล 1 นับถึงปัจจุบันคือปี 2565 เด็กเหล่านี้ขึ้นมาอยู่ชั้นอนุบาล 3 แล้ว การเลื่อนชั้นตามช่วงวัยเช่นนี้คือเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ผิดออกไปจากช่วงก่อนโรคระบาดก็คือ การขยับจากอนุบาล 1-3 หรือชั้นอนุบาลสู่ประถมต้นนั้น เกิดขึ้นโดยโรงเรียนแทบทั้งประเทศปิดการเรียนการสอน นั่นหมายความว่าเด็กๆ ต้องอยู่บ้าน แน่นอนว่าเงื่อนไขแต่ละครอบครัวที่จะย้ายโรงเรียนมาไว้ที่บ้านนั้นไม่เหมือนกัน จึงไม่มีอะไรรับประกันว่าเด็กปฐมวัยเกือบ 2 ล้านคนทั่วประเทศจะมีพัฒนาการสมวัยหรือไม่

เพื่อให้ได้คำตอบของคำถาม จึงนำมาสู่การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาด้วยวิธีวัดทักษะพื้นฐานด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ผลของการสำรวจนี้ได้คำตอบออกมาทั้งไม่เข้าท่าและน่าเป็นห่วง

เด็กประถมต้นมีพัฒนาการเท่าเด็กอนุบาล

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) อธิบายว่า การปิดเรียนตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่าร้อยละ 90 ของระดับการเรียนรู้ที่ควรจะได้ เกิดสภาวะการเรียนรู้ถดถอยในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะช่วงประถมต้นที่พบว่าเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการเท่ากับเด็กอนุบาลเท่านั้น

“ประถมตอนต้นคือพื้นฐานสําคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคตสูง ด้วยพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทําให้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้”

สถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 พบว่าเด็กกว่า 167 ล้านคนทั่วโลก สูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาก่อนปฐมวัย เด็กอายุ 10 ปีจากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 70 ขณะที่ร้อยละ 34 ของเด็กทั่วโลก มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเพิ่มขึ้น

“นักการศึกษาทั่วโลกต่างเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้ และพยายามกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ลงทุนในการแก้ปัญหาและมีแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจสูญเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generation”

มีปัญหากล้ามเนื้อ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และเครียด

ข้อค้นพบของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดย กสศ. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งศึกษาเชิงพื้นที่ใน 74 โรงเรียน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยใช้วิธีการวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน พบว่าร้อยละ 98 มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เด็กวัยเดียวกัน ร้อยละ 50 จับดินสอผิดวิธี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย

นอกจากนี้ยังพบสัญญาณเตือนที่แสดงถึงภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง อาทิ พูดเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค เล่าเรื่องไม่ได้ ท่าทางจับดินสอผิด เกร็งเมื่อยล้า เขียนได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ ตอบคำถามเป็นคำๆ หรือประโยคสั้นๆ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้แม้คําพื้นฐาน กระโดดขาเดียว และกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้ เด็กบางคนมีอาการทางจิตใจ เช่น เครียด ไม่โต้ตอบ ไม่สื่อสาร แยกตัวจากเพื่อน งอแง ขาดเรียนบ่อย ไปห้องน้ำบ่อยและไปครั้งละนานๆ บางคนขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดหัว ปวดท้องบ่อยจนผิดสังเกต

ฝึกจริงจัง 14 วัน กระตุ้นพัฒนาการสู่ภาวะปกติ

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ ครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่โรงเรียนและครอบครัวสามารถสังเกตเพื่อช่วยกันฟื้นฟูได้ โดยใช้เวลาเพียง 14 วัน ในการฝึกอย่างจริงจัง เด็กส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อดีขึ้นอย่างชัดเจน จากค่าแรงบีบมือ 7.6 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 9.8 กิโลกรัม

“การแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดร่วมกับครูและโรงเรียน โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย ทําอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เวลา ให้กําลังใจ ให้โอกาสเด็ก และขยายผลไปยัง ป.1 และ ป.3 ด้วย การฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป การทําเช่นนี้คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเด็กรุ่นนี้ในระยะยาวได้”

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โค้ชโครงงานฐานวิจัย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. เสริมว่า การฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เด็กมั่นใจในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวแบบต่างๆ มีการทรงตัวที่มั่นคง จนเด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง 1 สัปดาห์พบว่า เด็กมั่นใจขึ้น ร่าเริงสื่อสารดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อในการฟังมากขึ้นทานอาหารมากขึ้น เริ่มเล่นกับเพื่อนและคิดวิธีเล่นต่อยอดจากกิจกรรมที่ฝึก จดจำ ได้เร็วขึ้น มากขึ้น จำได้นานขึ้น ไม่ขาดเรียน ตื่นตัวรอคอยที่จะได้เล่นกิจกรรม สนุกและมุ่งมั่นกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบท้าทาย กำกับตัวเองได้ดีขึ้น ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความพร้อมในการเรียนรู้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่คุ้มค่ามาก

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้น รายงานห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้สรุปแนวทางการฟื้นฟูเพื่อให้โรงเรียนและครอบครัวนำไปปรับใช้ดังนี้

1) สังเกต วิเคราะห์พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เคยทำได้ แต่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม

2) สํารวจสุขภาพจิตใจของเด็กๆ ว่ามีความสุขในการเรียนหรือไม่

3) หยุดการเร่งสอนเร่งเรียน ชะลอ 8 สาระวิชาเมื่อพัฒนาการและสมองยังไม่พร้อมเรียนรู้ยังทํางานได้ไม่เต็มที่ เพราะจะส่งผลเสียให้การเรียนเป็นความทุกข์และทำให้เด็กหันหลังให้กับห้องเรียน

4) ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อแขน ขา ลำ ตัว และระบบประสาทสัมพันธ์ ทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องในช่วงชั้นประถมต้น

5) ฟื้นฟูได้เร็ว ครอบครัวกับโรงเรียนต้องทํางานประสานกัน จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า