‘ครูขอสอน’ ชวนฟังเสียงจากปากครูให้ถึงหูกระทรวง

‘ครู’ คือผู้ให้ความรู้ ชี้นำทางถูกที่ควร

‘ครู’ คือผู้มีพระคุณ เกื้อกูลลูกศิษย์ด้วยใจบริสุทธิ์

‘ครู’ คือผู้สร้าง บ่มเพาะผลผลิตอันสมบูรณ์ออกสู่สังคม

คติที่ประกอบรวมกันให้บุคคลที่ประกอบวิชาชีพครูได้รับการยกย่องเชิดชู จนเกิดเป็นค่านิยม ความเลื่อมใส ไปจนถึงการกำเนิดพิธีกรรมเพื่อเทิดทูนพระคุณของครู

วันครูของประเทศไทย ถูกบัญญัติขึ้นในสมัยการปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่า วันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ”

ประโยคข้างต้นระบุถึง ‘ความเสียสละ’ ของผู้เป็นครู ซึ่งอาจเกิดจากความยากลำบากในการเคี่ยวเข็ญสั่งสอนให้ลูกศิษย์เกิดความเข้าใจ ความเหน็ดเหนื่อยจากการใช้ชีวิตในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบทั้งชีวิตตัวเองและชีวิตของลูกศิษย์ หรืออาจมาจากปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่ครูจำเป็นต้องเจอ และต้องแก้ไขปัญหานั้นให้ผ่านไปได้ในฐานะของครู

ความเสียสละ มานะ อดทน คือคุณธรรมประจำใจของคนเป็นครูแทบทุกยุคสมัย หากแต่ครูจำเป็นต้องแบกรับภาระทางกายและใจทั้งหลายนั้นไว้ภายใต้ความเป็นครูจริงหรือ?

คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างการศึกษาและปัญหาของครู ถูกพูดถึงและถกเถียงโดยตัวแทนมนุษย์ครูจากเพจเฟซบุ๊ค ครูขอสอน, อะไรอะไรก็ครู, วันนั้นเมื่อฉันสอน และ นิสิตฝึกสอน ในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘#คืนปากให้ครูคืนหูให้กระทรวง’ จัดโดยกลุ่มครูขอสอน เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสียงของครูและความคาดหวังของครูออกสู่สังคม

คุณครู อาชีพสารพัดประโยชน์

ในหลักสูตรการผลิตครูของแต่ละมหาวิทยาลัย แม้จะมีความแตกต่างกันในลักษณะจำเพาะของกลุ่มสาระวิชา ระดับของผู้เรียน หรือวิธีการที่ใช้ในการถ่ายทอดสู่นักเรียน แต่ใจความสำคัญยังคงมุ่งไปที่การผลิตคนเข้าสู่ระบบการศึกษาในฐานะผู้สอน 

หน้าที่หลักของครูคือการสอน ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาของผู้เรียน นั่นคือสิ่งที่นิสิตครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์เพียรพยายามเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อการเป็นครูที่มีคุณภาพ กระทั่งก้าวเท้าเข้าสู่รั้วโรงเรียนในฐานะครูวิชาชีพ จนได้พบว่าครูไม่ใช่แค่ผู้สอนหนังสือ บางครั้งครูอาจต้องเป็นทั้งแม่ครัว ผู้รักษาความปลอดภัย ช่างไฟ หรือแม้กระทั่งเด็กเสิร์ฟ

ครูอิฐ (สงวนชื่อและนามสกุล) เจ้าของเพจ วันนั้นเมื่อฉันสอน กล่าวว่า แม้ภาระบางอย่างจะอยู่นอกเหนือจากหน้าที่ในการสอนหนังสือ แต่สำหรับการเป็นครูประถมของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ก็ทำให้ตนไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ส่วนเกินเหล่านั้นได้

หากมองถึงองค์ประกอบของระบบสถานศึกษาแล้ว จะพบว่าการเป็นครูนั้นพ่วงมาด้วยภาระหน้าที่นอกเหนือจากการสอนอยู่หลายอย่าง ทั้งงานในด้านเอกสาร งานด้านนโยบายองค์กร งานบำรุงสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน รวมไปถึงภาระยิบย่อยที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน ซึ่งบางอย่างต้องใช้ทักษะเฉพาะทางอันไม่อาจจะสัมฤทธิ์ผลได้ในเวลาอันสั้น แต่ถึงอย่างนั้นครูก็ต้องทำให้สำเร็จอยู่ดี

“เหมือนรบกับปีศาจด้วยมือเปล่า” ครูอิฐกล่าว

‘ครูเป็นยอดมนุษย์ ครูต้องทำให้ได้’ คือสิ่งที่สังคมตั้งความหวังกับอาชีพครู และครูที่ทำได้ทุกอย่างก็มักจะถูกมองว่าเป็นครูที่มีศักยภาพ แต่ครูอิฐกลับมองต่างออกไปถึงความด้อยประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทยที่บีบบังคับให้ครูคนหนึ่งต้องทำได้ทุกอย่าง จนหลายครั้งที่ภาระส่วนต่างนั้นเบียดเบียนเวลาในการสอนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของครู

“เราต้องการระบบการศึกษาที่ดี ที่ทำให้ครูดี”

ครูอิฐเสริมว่า คุณภาพชีวิตครูก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การศึกษาเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งควรเริ่มจากการแก้ไขระบบการศึกษาให้มุ่งความสำคัญไปที่ผู้เรียนและผู้สอน มากกว่างานพัฒนาองค์กร หรืองานอื่นๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียน เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่จริงๆ ของครูเสียที

ปลาใหญ่กินปลาเล็กในน้ำวนแห่งการศึกษา

‘อาชีพครูก็มีชนชั้น’ คือเสียงจาก ครูเติ้น (สงวนชื่อและนามสกุล) ผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบราชการเต็มตัว แต่มีอาชีพเป็นครูอัตราจ้าง ซึ่งหากถามว่าแตกต่างจากข้าราชการครูอย่างไรนั้น คงตอบได้ว่าต่างกันที่สิทธิและอำนาจบางประการที่ไม่อาจเข้าถึงได้เหมือนชนชั้นข้าราชการ ทั้งเงินเดือนเริ่มต้น โอกาสในการพิจารณารับรางวัล หรือค่าใช้จ่ายยิบย่อยเพื่องานราชการที่ไม่สามารถขอเบิกงบกลางมาใช้ได้ ทั้งที่มีภาระในการสอนเทียบเท่ากับข้าราชการครู

เช่นเดียวกันกับตำแหน่งนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูอย่าง ครูฟิลด์ (สงวนชื่อและนามสกุล) ซึ่งขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘จุดต่ำสุดในวงจรครู’ เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินเดือนตอบแทนจากการทำงานแล้ว ยังไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเรียกร้องหรือมีส่วนร่วมในนโยบายที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับนิสิตฝึกสอน

“หากเปรียบครูอัตราจ้างคือพลเมืองชั้นสอง นิสิตฝึกสอนก็คือพลเมืองชั้นล่างสุด”

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นครูเหมือนกัน แต่ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สิ่งหนึ่งที่ทั้งครูเติ้นและครูฟิลด์ต้องประสบเช่นเดียวกันคือ การถูกกดทับจากอำนาจของผู้ที่อยู่ในลำดับเหนือกว่า โดยอำนาจนั้นปรากฏอยู่ในรูปแบบของเงื่อนไขและนโยบายของโครงสร้างการศึกษา บังคับให้ต้องยอมรับแม้จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในขณะเดียวกัน หากมองถึงจุดเริ่มต้นของการถูกกดทับด้วยฐานะลำดับขั้นของชนชั้นครู จะพบว่าในชนชั้นที่สูงขึ้นไปต่างก็ต้องรับแรงกดดันจากอิทธิพลที่เหนือกว่าในระบบการศึกษา ต่างต้องดิ้นรนและปรับตัวตาม ‘หน้าที่’ และ ‘ความอยู่รอด’ โดยไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะใช้กำลังในมือนั้นกับผู้ที่มีกำลังน้อยกว่าหรือไม่

“กระทรวงต้องช่วยโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนช่วยกระทรวง”

เมื่ออำนาจจัดสรรทรัพยากรเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ ครูเติ้นมีความเห็นว่า ทางกระทรวงเองก็ควรมีนโยบายในการจัดการบุคลากรในระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะครูจ้างหรือแม้แต่ครูฝึกสอนเองก็มีภาระรับผิดชอบไม่ต่างจากข้าราชการครูทั่วไป ที่ต้องมีเงินเพื่อความอยู่รอด และต้องมีสังคมที่เอื้อต่อการทำงาน แม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเล็กๆ ก็ถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเติมเต็มสถาบันการศึกษาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

คายคุณค่าความเป็นครู คืนคุณค่าความเป็นคน

ในสังคมที่เทิดทูนครูบาอาจารย์ไว้เหนือเกล้าด้วยพระคุณอันเปี่ยมล้นไม่ต่างจากบิดามารดร กลับไม่ใช่ครูทุกคนที่จะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการเป็นครูได้อย่างที่สังคมเข้าใจ หนึ่งในนั้นคือ ครูสมส่วน (สงวนชื่อและนามสกุล) คุณครูเอกชีววิทยาที่จับพลัดจับผลูมาเป็นครูประถม ต้องสอนในรายวิชาที่ไม่ตรงสาย จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า แท้จริงแล้วคุณค่าของครูอยู่ที่อะไร

ตอนเลือกเรียนครู ความตั้งใจในการเป็นครูของครูสมส่วนนั้นเต็มเปี่ยมไม่ต่างจากคนอื่น แต่ทุกอย่างเริ่มผิดเพี้ยนไปในตอนที่ถูกส่งไปเป็นครูในระดับชั้นประถมศึกษา ครูสมส่วนพบว่านั่นไม่ใช่ความตั้งใจของตัวเอง และเริ่มรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองลดลงในตอนที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างที่ครูควรจะทำ

“ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงทำให้เขาอ่านหนังสือออกไม่ได้ รู้สึกว่านักเรียนโชคร้ายที่มีเราเป็นครู”

เมื่อได้มีโอกาสเอ่ยถามกับผู้อำนวยการถึงเหตุผลที่เลือกตัวเองมาสอนในโรงเรียนประถม ครูสมส่วนได้รับคำตอบว่า ครูเอกชีววิทยาน่าจะสอนได้หลากหลาย ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ทำให้ความอดทนในการสอนต่อดับมอดลงพร้อมกับไฟในการเป็นครู ซึ่งแม้ว่าท้ายที่สุดครูสมส่วนจะลาออกจากโรงเรียนแห่งนั้น แต่ความรู้สึกผิดหวังในตัวเองก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลับติดอยู่ในใจเสมอว่า ตัวเองเป็นครูที่แย่หรือไม่ที่ทอดทิ้งนักเรียนไปเสียดื้อๆ

ครูสมส่วนกล่าวว่า คุณค่าในความเป็นครูสำหรับตนคือ การที่ได้ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ได้ทำหน้าที่อย่างที่ครูควรจะทำ เช่นเดียวกันกับคุณค่าความเป็นคนที่ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของตนเองผ่านการตอบรับของสังคม แต่ระบบการศึกษากลับทำให้คุณค่าและความภูมิใจของคนที่อยากเป็นครูเลือนหายไปอย่างไม่น่าให้อภัย

ครูสมส่วนยังทิ้งท้ายว่า มีครูมากมายที่มีความตั้งใจที่จะสอน มีความพร้อมในการเป็นครูทั้งกายและใจ แต่กลับถูกบีบจนอยู่ไม่ได้เพราะระบบการศึกษา ทั้งที่อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้ครูที่ดีได้มีที่ยืน ได้มีความภาคภูมิใจในตัวเองในฐานะครู

“ระบบการศึกษาต้องคืนคุณค่าความเป็นครูจริงๆ ให้กับครู เลิกบอกว่าครูต้องอดทน เสียสละ ก่อนจะไม่มีใครเลือกเป็นครูอีก”

ฟังเสวนาออนไลน์ย้อนหลัง #คืนปากให้ครูคืนหูให้กระทรวง: https://www.clubhouse.com/room/maWLBbrq

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า