คำถามร้อยล้านกับการศึกษาฟินแลนด์

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ ได้รับโอกาสอันดีในการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการศึกษาฟินแลนด์มากมายกับหลายภาคส่วน รวมถึงการจัดห้องเรียนจำลองแบบฟินแลนด์ที่พาครูผู้เชี่ยวชาญอย่างครู Tiina Malste ผู้ฝึกสอนครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจาก Educluster, Finland มาสอนหนังสือให้ได้ดูได้ชมกันอย่างจุใจกว่าหนึ่งชั่วโมง ตามมาด้วยวงเสวนาจากทั้งครู Tiina และคุณ Elise Tarvainen ผู้ดูแลการให้คำปรึกษาด้านการศึกษามาแล้วทั่วโลก ในช่วงกิจกรรมและการเสวนาดังกล่าว มีคำถามมากมายจากผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและผู้ปกครอง วันนี้ขอเก็บตกคำถามคาใจทุกคนที่เฝ้าถามหลายต่อหลายครั้งระหว่างการจัดงานมาให้ได้อ่านกัน

ภาพ: นันทพร อาศิรพจนกุล

Q: ส่งลูกไปเรียนที่ฟินแลนด์ได้ไหม?

A: ได้ค่ะ แต่ต้องเตรียมพร้อมทั้งกายใจดังต่อไปนี้นะคะ

  • ฝึกฝนภาษาฟินแลนด์หรือสวีเดนอย่างหนักหน่วง เพราะโรงเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับของฟินแลนด์นั้นจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาราชการของประเทศ คือ ภาษาฟินแลนด์และสวีเดนเท่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาฟินแลนด์
  • ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ฟินแลนด์ หลักปรัชญาการศึกษาฟินแลนด์นั้นประกอบไปด้วยส่วนสำคัญสามส่วน ได้แก่ โรงเรียน นักเรียน และบ้าน นั่นจึงหมายความว่าเด็กๆ จะต้องอยู่กับพ่อแม่ยามที่ต้องไปโรงเรียน เพราะครอบครัวจะต้องทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วยเหตุนี้จึงแทบจะไม่มีโรงเรียนประจำที่ฟินแลนด์เลย และหมายความว่า หากต้องการเรียนในโรงเรียนฟินแลนด์แล้ว คุณจะต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่ฟินแลนด์ทั้งครอบครัวโดยไม่ต้องสงสัย
  • ประเมินตนเอง เด็กๆ ที่ฟินแลนด์จะถูกสอนให้ประเมินความรู้สึกของตนเองที่มีต่อกระบวนการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในเด็กเล็กอาจใช้วิธีง่ายๆ อย่างการเลือกรูปหน้ายิ้มหรือรูปหน้าไม่ยิ้ม ส่วนเด็กที่โตขึ้นอาจใช้กระบวนการประเมินที่ละเอียดขึ้น เช่น ในระดับประถมศึกษาตอนปลายอาจให้เด็กๆ เลือกสติกเกอร์มาใช้ตอบว่า ชอบมาก สนุกสุดๆ เฉยๆ ใช้ไม่ได้ หรือไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ การประเมินเหล่านี้ถือว่าเป็นค่านิยมสำคัญในการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ เนื่องจากผู้เรียนเองควรเป็นผู้สะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองได้ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับนักเรียนแต่ละคนได้ สำคัญที่สุดคือ ทุกฝ่ายต้องยอมรับเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับนักเรียน พยายามร่วมกันหาหนทางแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่กลบ เลี่ยง ผลัก หรือตัดปัญหาออกจากตัว
ภาพ: นันทพร อาศิรพจนกุล

และหากเกิดปัญหาดังกล่าว เด็กๆ กับครูจะพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาได้ สิ่งแรกที่ครูฟินแลนด์จะกระทำยามมองเห็นปัญหาในห้องเรียน คือ การถามไถ่นักเรียนถึงสาเหตุของปัญหานั้นๆ เช่น หากนักเรียนไม่ทำการบ้านมา (ใช่ค่ะ! ฟินแลนด์ยังคงมีการบ้านอยู่ แต่ไม่ได้มีมาก และมีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น เพราะคุณค่าของชีวิตเด็กแต่ละคนมีมากมายเกินกว่าจะใช้เวลาทุ่มเทกับการทำการบ้านเพียงอย่างเดียว และกิจกรรมอื่นๆ ก็ทำให้เรียนรู้ทักษะชีวิตอื่นๆ ได้เช่นกัน) ครูต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน เช่น นักเรียนอาจลืมหนังสือไว้ที่โรงเรียน นักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน นักเรียนมีปัญหาที่บ้าน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ครูฟินแลนด์จะมีหน้าที่สร้างและตระเตรียม ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ทั้งเชิงกายภาพและความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้นักเรียนได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และช่วยกันพัฒนาการเรียนรู้ไปด้วยกัน ดังนั้น เด็กๆ ต้องเตรียมพร้อมเปิดใจ กล้าเล่าเรื่องราวปัญหาต่างๆ ให้คุณครูฟังด้วย

  • ประเมินสามฝ่าย ผู้ปกครองนักเรียนจะต้องไปโรงเรียนของลูกปีละหนึ่งครั้ง เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินด้านต่างๆ ของลูก ซึ่งครูจะเล่าให้ฟังว่า ครูมองเห็นลูกของคุณอย่างไร คุณมองเห็นลูกของคุณอย่างไร และลูกของคุณมองเห็นการเรียนรู้ของตัวเองอย่างไร ทั้งสามฝ่ายต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในการประชุมครั้งนี้ และแน่นอน ความเห็นและการประเมินของลูกนั้นสำคัญที่สุด
ภาพ: นันทพร อาศิรพจนกุล
  • เข้าใจความหลากหลายของผู้เรียนและการเรียนรู้ ผู้เรียนฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งเหมือนกันหมด หรือเรียนรู้ได้ด้วยความเร็วเท่ากันหมด เนื่องจากแต่ละคนใช้วิธีการและระยะเวลาในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน การเปรียบเทียบคุณภาพหรือศักยภาพของผู้เรียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในการศึกษาฟินแลนด์ เมื่อไม่มีใครเหมือนกัน จะนำผู้เรียนมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไรเล่า? อันดับผลสอบจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องใส่ใจ และผลการเรียน (เกรด) เป็นเพียงตัวชี้วัดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น นอกจากนี้ หากประเมินแล้วพบว่าผู้เรียนมีผลไม่ผ่านตามเกณฑ์ แต่เมื่อพิจารณาพัฒนาการของผู้เรียนแล้วพบว่ากระบวนการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จแล้ว เกณฑ์ดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ปรับลดลงได้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนคนนั้นๆ

ที่สุดแล้ว การศึกษาฟินแลนด์ไม่เคยแยกออกจากวิถีชีวิตคนของฟินแลนด์ ทุกภาคส่วนทุ่มเททำงานเพื่อให้ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์จากการศึกษาสูงสุด ตอนต่อไปมาติดตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ที่ฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้นะคะ

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า