การหวนคืนของโควิด-19 กลางฝุ่นควันของฤดูหนาวที่ร้อนระอุ

“พี่ ผมติดโควิด”

“น้อง พี่ก็ติดโควิด”

“แก ฉันก็ติดโควิดเหมือนกัน”

ช่วงเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานของผมหลายคนกลับมาติดโควิด-19 กันอีกรอบ สิ่งที่น่าสังเกตคือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุณหภูมิของอากาศที่ลดลงและปริมาณฝุ่นควันที่มากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว สาเหตุเหล่านี้ทำให้ท้องฟ้าของบางวันและบางช่วงเวลาขมุกขมัวคล้ายกับถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกสีเทา

ฝุ่นละอองที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เวลา 06.00 น. วันที่ 11 ธันวาคม 2566
ดัชนีคุณภาพอากาศที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ | photo: www.iqair.com/th/

ความสัมพันธ์ของลมฟ้าอากาศ เชื้อโรค และมนุษย์

ตามหลักการทางระบาดวิทยา (epidemiology) ปัจจัยการระบาดของโรคสามารถอธิบายด้วย ‘สามเหลี่ยมแห่งการระบาด’ (epidemiological triangle) ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์ของ 3 ปัจจัย คือ สิ่งก่อโรค (agent) สิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นโรค (host) และสิ่งแวดล้อม (environment)

สามเหลี่ยมแห่งการระบาด | photo: Centers for Disease Control and Prevention

เราอาจเทียบเคียงสามเหลี่ยมแห่งการระบาดกับ ‘กระดานหก’ (seesaw) ที่สามารถเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อน้ำหนักของวัตถุที่อยู่บนปลายกระดานหกมีค่าไม่เท่ากัน หรือแผ่นของกระดานหกไม่ได้อยู่ที่จุดกึ่งกลาง โดยสามารถแบ่งความไม่สมดุลของสามเหลี่ยมแห่งการระบาดออกเป็น 4 กรณี ได้แก่

1. ปัจจัยด้านสิ่งก่อโรคมีน้ำหนักมากขึ้น ตัวอย่างคือ เชื้อโรคอาจเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) จนมีความรุนแรงมากขึ้นและแพร่กระจายง่ายขึ้น

2. ปัจจัยด้านสิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นโรคมีน้ำหนักมากขึ้น ตัวอย่างคือ กลุ่มคนที่นิยมการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยมีจำนวนมากขึ้น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเพิ่มขึ้น

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสิ่งก่อโรค ตัวอย่างคือ ฝนที่ตกมากขึ้นทำให้เกิดแอ่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง

4. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นโรค ตัวอย่างคือ สังคมที่ยากจนและมีความเหลื่อมล้ำสูง คนในชุมชนเบียดเสียดแออัด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคบางชนิดมากกว่าชุมชนที่ปลอดโปร่ง

การวิเคราะห์ความสมดุลของสิ่งก่อโรค สิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นโรค และสิ่งแวดล้อม บนสามเหลี่ยมแห่งการระบาดจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อการควบคุมโรคได้ เช่น การทำลายแหล่งเพาะเชื้อโรค การป้องกันโรค การกักกันโรค การสร้างเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม

เราอาจนำแนวคิดสามเหลี่ยมแห่งการระบาดมาอธิบายสถานการณ์ในตอนนี้ได้ว่า จากความรู้วิชาอุตุนิยมวิทยา (meteorology) อากาศเย็นจะมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศร้อน อากาศเย็นที่กดทับอยู่บนพื้นผิวโลกจึงทำให้อากาศมีการไหลเวียนน้อยกว่าปกติ เมื่ออากาศค่อนข้างนิ่งและลมไม่ค่อยพัด ฝุ่นควันจึงสะสมเพิ่มพูนบริเวณพื้นผิวโลก สาเหตุดังกล่าวทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index) และปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าค่อนข้างสูงในเวลากลางคืนและรุ่งเช้า แต่เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ความร้อนแรงของแสงตะวันจะทำหน้าที่เป็น ‘แหล่งพลังงาน’ ที่ทำให้เกิดสายลมและช่วยปัดเป่าฝุ่นควันบางส่วนให้ปลิวหายไป

นอกจากนี้ ผลการวิจัยด้านไวรัสวิทยา (virology) ยังพบว่า อุณหภูมิอากาศและปริมาณฝุ่นก็ส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรคด้วยเช่นกัน โดยอากาศที่หนาวเย็นและถูกเจือปนด้วยฝุ่นละอองจะทำให้เชื้อโรคมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันจะด้อยลง และอาจทำให้เชื้อโรคเกาะติดมากับฝุ่นละอองมากขึ้น เราจึงมีโอกาสป่วยมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น และการจราจรคับคั่ง จะกลายเป็นศูนย์รวมของมลภาวะทางอากาศ (air pollution) และคนป่วย

การเอาตัวรอดท่ามกลางฝุ่นควันและโรคระบาด

ช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐและภาคเอกชนรับมือกับไวรัสตัวร้ายด้วยการปิดเมือง การทำงานจากที่บ้าน การกักตัว และการฉีดวัคซีน แต่ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันทุเลาเบาบางลงค่อนข้างมาก มาตรการรับมือต่างๆ จึงถูกผ่อนคลายตามความเหมาะสม แม้ความจริงแล้วไวรัสจะไม่เคยจากเราไปไหนและยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวันก็ตาม

สำหรับเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะทำงานในห้องแอร์มากกว่าทำงานกลางที่โล่งแจ้ง คำถามมีอยู่ว่า ถ้าคนที่ติดเชื้อเข้ามาอยู่ในห้องที่ปิดทึบ คนอื่นๆ ภายในห้องจะมีโอกาสติดเชื้อมากหรือน้อยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร

การตอบคำถามนี้ เราต้องทำความรู้จักแบบจำลองเวลส์-ไรลีย์ (Wells–Riley model) ซึ่งเป็นแบบจำลองอย่างง่ายสำหรับอธิบายการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศ (airborne transmission) ที่เคยถูกนำมาอธิบายการแพร่ระบาดของวัณโรค (tuberculosis) และโรคหัด (measles) แบบจำลองดังกล่าวถูกพัฒนาโดย วิลเลียม เอฟ. เวลส์ (William F. Wells) ในปี 1955 และถูกต่อยอดโดย ริชาร์ด แอล. ไรลีย์ (Richard L. Riley) ในปี 1978

แบบจำลองเวลส์-ไรลีย์ อธิบายว่า ความน่าจะเป็นของการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จะขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่ จำนวนของผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อัตราการปล่อยเชื้อโรคของผู้ติดเชื้อ อัตราการหายใจเฉลี่ยของแต่ละบุคคล ระยะเวลาที่แต่ละบุคคลอยู่ในพื้นที่ และการระบายอากาศของพื้นที่ โดยเรียกปริมาณเชื้อที่ทำให้ติดโรคว่า ‘ควอนตัม’ (quantum) เช่น ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค A ต้องได้รับเชื้อจำนวน 50 ตัวถึงจะติดโรค จำนวนเชื้อโรคดังกล่าวจะมีค่าเท่ากับ 1 ควอนตัม แต่คำว่า ‘ควอนตัม’ ในที่นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์นะครับ เพราะเป็นเพียงการเลือกใช้คำที่เหมือนกันเฉยๆ

พูดง่ายๆ คือ หากมีผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่และพื้นที่นั้นระบายอากาศได้แย่ เมื่อเชื้อโรคผสมปนเปกับอากาศอย่างทั่วถึง ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะยิ่งสูงขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง | photo: CBE ENERGY CONSORTIUM

จากเหตุผลที่กล่าวมา ช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นและมีฝุ่นละอองมากกว่าปกติ คนที่ทำงานในอาคารควรตรวจหาเชื้อโรคเบื้องต้นเพื่อคัดกรองคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประสิทธิภาพสูงเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองกับเชื้อโรคที่ปะปนเข้ามา และอาจติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอาคาร เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลผลิตจากการหายใจของมนุษย์และแปรผันตามจำนวนคนในพื้นที่ หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงก็หมายความว่าพื้นที่นั้นมีคนอยู่มาก แต่มีการระบายอากาศน้อย

ประชาชนคนไทยต้องทนดมฝุ่นไปอีกกี่ปี คำตอบอาจพร่าเลือนพอๆ กับทิวทัศน์ที่ถูกหมอกควันบดบัง เพราะตราบใดที่ภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย ไม่ควบคุมปริมาณฝุ่นควันจากการทำอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การกำจัดขยะ และการเผาไร่นา รวมถึงลดทอนอำนาจของเหล่านายทุนที่กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง การมีอากาศสะอาดให้ทุกคนหายใจก็จะไม่มีวันมาถึง และพวกเราจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยกับเครื่องฟอกอากาศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลคาดการณ์จากแบบจำลองลมฟ้าอากาศพยากรณ์ว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจทำให้อากาศเย็นอยู่กับเราไม่นานนัก โดยตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และช่วยพัดพาฝุ่นควันให้เบาบางลง

พูดก็พูดเถอะ แสงแดดและสายลมยังพึ่งพาได้มากกว่ามาตรการบรรเทาปัญหาฝุ่นควันของรัฐบาลและหน่วยงานราชการเสียอีก

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า