รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี: ส่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ยุค Post COVID-19

ตั้งหลักมั่นได้อย่างน่าชื่นชมสำหรับประชาชนไทยในการเผชิญหน้ากับโรคระบาด COVID-19 ที่แม้จะคลอนแคลนอยู่บ้างในช่วงแรก แต่การก้าวผ่านมาถึงเพียงนี้โดยที่คนเจ็บตายไม่มากล้นเหมือนเช่นอีกหลายประเทศ จึงไม่เกินเลยนักหาก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ถึงกับเอ่ยยกย่องว่า ต้องขอบคุณหัวใจประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันหยุดโรคระบาดแม้ขณะที่ตนเองกำลังตกที่นั่งลำบากเพียงใดก็ตาม

“ต้องขอบคุณหัวใจประชาชนทุกคน วันนี้ถ้าประชาชนไม่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ตกอยู่ในวิบากกรรม ว่าจะมีงานทำหรือเปล่า จะอยู่รอดไหม จะมีกินหรือเปล่า”

หยุดโรคระบาดได้ แต่โจทย์ใหญ่อีกด้านคือการศึกษาไทยที่กระทบเข้าอย่างจัง เพราะแม้จะเปิดเทอมมาได้ผ่าน 2 สัปดาห์แล้ว หากแต่การที่เด็กหลายล้านคนทั่วประเทศต้องปิดเทอมยาวไม่ต่ำกว่า 3 เดือนนั้นส่งผลต่อสังคมเป็นโดมิโน่ ทั้งด้านพัฒนาการร่างกาย สติปัญญา เศรษฐกิจ สภาพจิตใจ และความรุนแรงของปัญหานี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละครอบครัว แน่นอนกลุ่มคนที่หนักหนาสาหัสก็คือ กลุ่มเปราะบางที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานแบบวันต่อวัน ท่ามกลางผู้คนเหล่านั้น มีเด็กอยู่ด้วย

นอกจากนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ยังเสริมว่า แม้เราจะยับยั้งการระบาดของโรคได้ แต่การจัดการทั้งระบบไม่ดีพอทำให้เรา “ชวดโอกาสหลายเรื่อง” โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทัศนะถัดจากนี้จึงชวนครุ่นคิดหลายประเด็น ตั้งแต่การสื่อสารภายในครอบครัวของเด็กและผู้ปกครองในสถานการณ์กักตัว ผู้หลักผู้ใหญ่จนถึงรัฐบาลจะเปิดทางอย่างไรให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงักไปพร้อมกับโรค รวมไปถึงข้อเสนอเป็นรูปธรรมจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นท่านนี้

สภาพสับสนอลหม่านจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อคนแต่ละช่วงวัยอย่างไร

สำหรับผู้ใหญ่กระทบแน่นอน เพราะว่า COVID-19 เกิดขึ้นทั้งโลก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสังคมใดสังคมหนึ่ง มันเป็นเหตุการณ์ที่ใช้คำว่าต้องหยุดการทำงานทั้งหมด รายได้ที่เดิมมีอยู่ การอยู่ร่วมกันก็ต้องรักษาระยะห่าง ต้องเปลี่ยนพฤตินิสัยของตนเอง ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ต้องกักตัวด้วยตัวของเราเอง แม้กระทั่งอยู่ในบ้านเองก็ต้องล้างมือ ต้องรักษาระยะห่าง ความกังวล ความเครียดก็ตามมา

ในบางสังคม บางประเทศ เชื้ออยู่ในอัตราวิกฤติและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แม้กระทั่งประเทศไทย ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ทีมแพทย์ส่วนใหญ่พยายามร้องขอให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อกดกราฟให้ลง อย่าไปเส้นทางที่จะทำให้อุบัติการณ์เพิ่มขึ้น เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนหมดเลย ผลกระทบโดยตรงคือ ไม่สามารถไปทำมาหากินหรือไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ขณะที่อีกมุมหนึ่งกำลังทำงานหนัก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข แล้วอยู่ในภาวะหวาดวิตกเพราะเป็นด่านหน้าที่จะต้องไปเผชิญเชื้อโรค ซึ่งต้องใช้คำว่า โลกเรียนรู้ไปกับเชื้อโรคนี้ เพราะตอนที่มันเกิดเป็นโรคอุบัติใหม่ วัคซีนไม่มี ยารักษาโรคก็ไม่มีชัดเจน

อีกสองกลุ่มที่ต้องกลับมานั่งดู คือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเดิมอยู่กับบ้านอยู่แล้ว กลายเป็นจุดที่อ่อนไหวมาก เพราะบังเอิญโรคนี้ไปเล่นงานผู้สูงอายุ แล้วทุนเดิมผู้สูงอายุคือร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งถ้าไปเล่นงานที่ปอด ทางเดินหายใจส่วนล่าง แน่นอนว่าอาจจะมีอัตราอุบัติการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิตเกิดขึ้นได้

ในขณะเดียวกัน ความหวาดวิตกก็เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กด้วย เมื่อมาดูในกลุ่มเด็กเอง กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเยาวชน อาจจะสามารถบริโภคข่าวแล้วเข้าใจสถานการณ์ได้ แต่อย่าลืมว่ากลุ่มที่เป็นเยาวชนเขาคิดได้ และคิดได้ล่วงหน้าว่าถ้าติดเชื้อแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในกลุ่มวัยรุ่น หมอใช้คำว่าฮอร์โมนที่หลั่งออกมา มีความท้าทาย หรืออยากรู้อยากลอง อยากเป็นเป้าสายตา และอาจมีประเด็นต่อต้าน ขึ้นกับทุนชีวิตเดิมของวัยรุ่น ที่จะเชื่อฟังหรือแหกกฎ เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นนักเรียนประถม ในช่วงแรกๆ อาจจะอยู่ในข่ายที่สงสัยแล้วก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องหยุดงาน แล้วอย่าลืมนะว่าข่าวที่ออกมาของ COVID-19 มีข่าว 2-3 เรื่องที่กระแทกจิตใจได้ชัดเจนมาก คือ ทันทีที่มีอุบัติการณ์ของโรคเกิดขึ้น มันตีคู่มากับอัตราการเสียชีวิต ที่สำคัญคือ COVID-19 ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ต่อให้ร่ำรวย ยากจน หรืออยู่ในสถานะไหน ถึงขนาดจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้บริหารสูงสุดของบางประเทศ ก็ยังได้รับผลกระทบทั้งหมดเลย ข่าวลักษณะนี้มันคืนมาถึงคนที่กำลังดูอยู่ด้วยนะ ว่าอันนี้ไม่ใช่เรื่องลวงแล้ว ไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัวที่เราจะไม่ต้องไปใส่ใจ ไม่จริง

แล้วที่สำคัญอย่างยิ่งคือความตระหนัก ถ้าจัดการไม่ดีจะกลายเป็นความตระหนกตกใจ เพราะมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มเป็นดอกเห็ด เหลืออีกกลุ่มที่ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายในการอธิบาย คือกลุ่มเด็กอนุบาลที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ไม่ค่อยเข้าใจว่าเชื้อโรคนี้มันวายร้ายยังไง ทำไมเราต้องรู้จัก พ่อแม่ทำไมเครียด พ่อแม่ทำไมติดตามข่าว เราดูทีวีไม่ได้แล้ว ทำไมพ่อไม่ออกไปทำงาน คำถามต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในใจของเด็กเล็กๆ ถ้าบ้านไหนมีวิธีสื่อสารที่ดี เด็กเหล่านี้ก็จะเข้าใจได้บ้าง บางครอบครัวอาจจะใช้เล่านิทานร้อยเรื่องให้เห็นถึงความร้ายกาจของ COVID-19

หากมองสองส่วนนี้ ส่วนแรกคือการจัดการข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนมีส่วนเร้ามากแค่ไหน ส่วนที่สองคือข้อความที่สื่อสารมาจากภาครัฐเอง ช่วยคลี่คลายหรือซ้ำเติมสถานการณ์อย่างไร

ประเด็นแรกคือการนำเสนอข่าว ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันควรเสนอด้วยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีทางออกอย่างไร แต่เราต้องยอมรับว่าสื่อบ้านเรามีจุดอ่อนไหวมากคือมี fake news ค่อนข้างเยอะ แล้วเราก็แชร์กันสนั่นมาก แทบจะทุกบ้านก็มีอินเทอร์เน็ตหรือไม่ก็โทรศัพท์ และข้อมูลที่ได้มานั้นลืมกรองไว้ก่อนว่า มันคือข้อมูลจริงหรือไม่จริง ได้มาจากแหล่งข่าวไหนบ้าง

เพราะฉะนั้นเมื่อช่วงแรกๆ ภาครัฐรวน ไม่มีการรวมศูนย์การสื่อสาร ก็เลยอาจจะทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ และความหวั่นไหวกำลังจะพัฒนาจากความตระหนัก ก้าวล่วงไปเป็นความตระหนก ยิ่งสื่อที่เป็นข่าวลวงไม่ได้ถูกกรองไว้ก่อน คือคนล้มตาย เสียชีวิต แบบหาเหตุผลไม่ได้ เดินอยู่กลางที่สาธารณะอยู่ดีๆ ก็ล้มลง ภาพข่าวลักษณะนี้ไม่ได้สร้างความตระหนัก มันไปไกลกว่าความตระหนัก

ผมจำได้ว่าผู้ใหญ่ในช่วงนั้นก็กลับมากระตุกกันด้วยว่าช่วยหยุดข่าวลวงที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งหมอเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจำเป็นต้องตัดวงจรของข่าวลวง แม้กระทั่งสมาชิกในบ้านเอง ตอนสื่อสารกันเองอาจจะต้องสื่อสารกันแบบมีทางออก มีความหวัง สำหรับสมาชิกในบ้านของเรา คือบ้านเราด้วย รวมไปถึงบ้านที่เราอยู่ทั้งประเทศ เพราะถ้าสภาวะทางจิตใจคนมันจิตตกในลักษณะนั้นอาจเกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้

จุดแข็งของประเทศอย่างหนึ่งคือ มีการรวมศูนย์การกระจายข่าว และมีกระบวนการให้ข่าวในลักษณะข้อเท็จจริง เป็นไปตามสถิติระบาดวิทยา มีความน่าเชื่อถือ พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลแต่ละอันมีที่มาที่ไปอย่างไร

ในสภาวะทางจิตใจ นี่คือบันไดขั้นแรกที่จะดับอารมณ์ความตระหนกตกใจกลัวของคนลงได้ บันไดขั้นแรกคือให้กลับมามองมุมบวกว่า พี่น้องร่วมชะตากรรมไม่ได้มีแต่ตัวเรา ผลกระทบของ COVID-19 ไม่ได้เกิดแค่ตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนเรา จังหวัดเรา และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั้งโลก ถ้าคิดแบบนี้จะทำให้ใจเราเย็นลง และยิ่งพอเห็นสถิติ ข้อเท็จจริง การเปรียบเทียบ เห็นการรับมือ แล้วสถานการณ์เราดีกว่าอีกหลายประเทศ ประชากรทั้งประเทศที่อาศัยอยู่ในบ้านจะเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น อันนี้ถือเป็นกุศโลบายที่ถูกต้อง และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง sense of secure คือความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยขึ้นมา อันนี้เป็นระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ

แต่ในช่วงกลางๆ ที่ข้อมูลนิ่งแล้ว ผู้คนเริ่มให้ความร่วมมือ แม้ว่ามีความจำเป็นที่ต้องออกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีมาตรการเคอร์ฟิวตอนช่วงเที่ยงคืน ซึ่งเชื้อโรคไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรม แต่พฤติกรรมที่จำเป็นต้องเปลี่ยนคือพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง ถ้าย้อนกลับไป จะมีบางช่วงวัยที่ยังมีความเป็นวัยรุ่นที่กล้าได้ไม่กลัวเสีย แต่กฎพวกนี้ออกมาเพียงเพื่อกำกับแล้วให้เห็นตัวอย่างว่าเราจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ใส่ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ล้างมือ รักษาระยะห่าง แล้วจะต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วย

สถานการณ์นี้ทำให้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จนนำมาสู่พฤตินิสัย เราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ที่ประเทศไทยทุกคนใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก เราไม่เคยเห็นเลยว่า แม้แต่พี่น้อง อสม. เป็นล้านกว่าชีวิต อยู่ทุกหัวระแหงของประเทศ ออกมากำกับชาวบ้านชาวดอย อยู่ที่ไหนก็ตาม ว่าต้องรักษาระยะห่าง ต้องใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก ถ้าหาน้ำประปาล้างมือไม่ได้อย่างน้อยก็ต้องมีเจลแอลกอฮอล์ จะเห็นเลยว่ากระแสช่วงนั้นมันเกิดขึ้นในช่วงระยะที่ผู้คนสามารถตั้งสติได้ระดับหนึ่ง

ดูเหมือนว่ารัฐเรียนรู้ค่อนข้างเร็ว เพราะในช่วงแรกข้อมูลข่าวสารออกจากรัฐมนตรีต่างๆ ดูจะไม่ไปทิศทางเดียวกัน

แม้แต่หมอเองก็สับสนไปช่วงหนึ่ง ตอนที่ยังไม่รวมศูนย์ไปอยู่ที่ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นความแข็งแรงของระบบสาธารณสุขประเทศไทย ถ้าวันนั้นเราไม่มีข้อมูลที่แม่นยำ ก็ไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ความเป็นจริงมาวิเคราะห์แล้วหาแนวทางร่วมได้

แต่สิ่งหนึ่งที่หมอไม่ลืมคือ แม้เราจะบอกอยู่ว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่สบายใจไทยแลนด์ เรารักความสบาย หากเปรียบเทียบกับบางประเทศ เราอาจจะรู้สึกว่าวินัยเราอ่อนกว่า แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อที่ลดลง อุบัติการณ์ต่ำ 10 หรือต่ำ 5 ต้องขอบคุณหัวใจประชาชนทุกคน วันนี้ถ้าประชาชนไม่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ตกอยู่ในวิบากกรรม ว่าจะมีงานทำหรือเปล่า จะอยู่รอดไหม จะมีกินหรือเปล่า งานบางส่วนถูกเลย์ออฟ ตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่รู้อนาคต แทบจะเรียกว่าถ้ารู้ว่าบ้านไหนในชุมชนกำลังตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็มีพี่น้องพร้อมแบ่งปันโดยไม่ต้องรอแบมือจากภาครัฐเลย ส่วนของภาครัฐก็ทำไป แต่ส่วนที่ประชาชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง คนที่มีอันจะกินก็พร้อมจะให้ งานนี้ไม่มีใครไม่บาดเจ็บ งานนี้บาดเจ็บทุกคน แต่บนความบาดเจ็บมากน้อยแตกต่างกันนั้น คนที่บาดเจ็บน้อยเอื้ออาทรไปสู่คนที่บาดเจ็บมาก อันนี้ถือเป็นความดีของประชาชน นี่คือคุณภาพอย่างหนึ่ง

ในนามของศูนย์คุณธรรม นี่คือหัวใจแห่งคุณธรรมในใจของประชาชนทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพอเพียง ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ครอบครัวของเรา สังคมของเรา ความมีวินัยและความรับผิดชอบ วันนี้ตัวเลขต่ำ 10 ไม่ใช่แค่ฝีมือระบบสาธารณสุขแน่นอน ฝีมือระบบสาธารณสุขไปวัดกันที่เวลาคนไข้ปรากฏขึ้นมา แล้วเข้ากระบวนการแอดมิท แต่ไม่มีเคสที่เข้าไปสู่โรงพยาบาลที่หมอและพยาบาลหลายคนก็กังวลอยู่ อันนั้นต้องขอบคุณประชาชน

ถ้าเรายึดกราฟเป็นตัวอธิบาย ตอนนี้สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย ทีนี้เงื่อนไขทางสังคมอย่างหนึ่งคือเมื่อโรงเรียนเปิดเทอม เด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้เรียนมาพักใหญ่ๆ นี่คือการปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เราจำได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น

เป็นจุดหนึ่งที่หมอเสียดาย บนวิกฤติยังมีโอกาส หลายเรื่องหมอชื่นชมว่าตั้งหลักได้ดี แต่เราก็ชวดโอกาสไปหลายเรื่องด้วย ตัวอย่างเช่น อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติทั้งประเทศ และไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั้งโลก มันไม่มีโอกาสแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ที่จะทำให้ทุกคนได้อยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน แม้แต่พ่อบ้าน แม่บ้าน ปู่ย่าตายาย ลูกๆ ทุกวัย ยากครับ จะให้หยุดงานทุกคนแล้วมาอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่อยากให้มีคือการสื่อสารในบ้านอย่างไรอย่างสันติวิธี ยกระดับคุณภาพพลเมืองผ่านสื่อเลย เป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิต

ไม่ต้องรอให้เปิดเทอม การปิดเทอมก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้บน lesson and learn บน How to คุณไม่ต้องเข้าคอร์สจิตวิทยา ไม่ต้องเป็นจิตแพทย์ ไม่ต้องเข้าค่ายฝึกอบรม

ใช้แค่สามคำถามคุยกับลูก “รู้สึกอย่างไร” “เรียนรู้อะไร” และ “จะทำไงต่อ” แล้วทำได้ทุกวัยด้วย แม้แต่วัยอนุบาล ถามว่าลูกรู้สึกยังไงบ้าง คิดว่าจะแก้ปัญหายังไง

แต่กระบวนการแบบนี้ยังไม่ปรากฏ เราอยู่บ้าน ก็มีคนออกมารณรงค์ให้ดูหนังกันไปบ้าง ฆ่าเวลากันไปบ้าง ออกกำลังกายในบ้านเท่าที่ทำได้บ้าง หรือทำกิจกรรมจิตอาสา เราจะแปลงความตระหนัก เราอยู่กับบ้าน ลูกอยู่ใกล้ๆ เราจะสื่อสารกับเขายังไง เราชวดโอกาสตรงนี้ไปเลย

การเปิดให้มีการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร

การเรียนออนไลน์ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี การเรียนออนไลน์เป็นสิ่งที่ดี แต่การเรียนออนไลน์อย่างไรให้ชาญฉลาดและรู้เท่าทันดีกว่า คือต้องรู้จิตวิทยาพัฒนาการ คนเป็นครูเมื่อปิดเทอมน่าจะได้รู้จักเด็กทั้งตัวและหัวใจ ว่าพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เด็กประถม เป็นยังไง แล้วกลุ่มก้อนวัยรุ่นเป็นยังไง เขาจะได้ไปออกแบบแล้วนำมาตอบโจทย์

บอกเลยว่าถึง COVID-19 จะอยู่ต่อไป แต่กระบวนการพัฒนาคุณภาพพลเมืองผ่านกระบวนการศึกษาใน New Normal ต้องไม่หยุดครับ การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียน การเรียนรู้ไม่ได้เพียงแค่ว่าต้องปรากฏตัวมาเช็คชื่อ แล้วเรียกว่านั่นคือระบบการศึกษา แต่ระบบการเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้จะใช้กลไกความเป็นธรรมชาติ

ถ้าเป็นวัยรุ่น ถ้าเราเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการ เราจะเข้าใจและออกแบบได้ เช่น เป็นวัยบ้าพลัง ท้าทาย อยากจะคิดอะไรแหกไปอีกทิศทางหนึ่ง แล้วมาประลองกำลังว่าใครเจ๋งกว่ากัน ถ้าสมมุติเขาทำในลักษณะอย่างนี้ โผล่หัวมาตอนสายๆ หน่อย อย่าเช้ามาก เพราะวัยรุ่นตื่นสาย สมมุติสิบโมงถึงเที่ยง ส่งโจทย์เข้าไปให้วัยรุ่นเลย แล้วมาดูตอนค่ำๆ ว่าผลงานของใครส่งมาถึงไหน หรือจะติดตามในวันถัดไป ท่านสามารถส่งเข้ามาที่สถานีได้เลย ของใครที่มีนวัตกรรมดีๆ เราจะเผยแพร่ ต้องคิดในลักษณะนี้เลยว่าเราจะฉวยโอกาสนี้สร้างการเรียนรู้แล้วเกิดนวัตกรรมได้อย่างไร ฝีมือของเด็กวัยรุ่นแทนที่จะนั่งเล่นเน็ตเล่นเกมฆ่าเวลาไปวันๆ ก็จะเกิดการประลองกำลัง

ในชั้นเรียนอนุบาล แทนที่จะเอาสื่อออนไลน์มาสอนเด็กเปล่าๆ แต่เราสอนทักษะพ่อแม่ในการคุยกับเด็ก สอนพ่อแม่ให้ใส่กิจกรรมเข้าไปว่า ถึงแม้อยู่บ้าน คุณอาจจะเล่านิทาน พ่อคนหนึ่งอาจจะไม่เคยมีโอกาสเล่านิทานเลย เพราะเขาไม่ว่าง ต้องทำงาน แต่วันนี้ว่างเพราะต้องอยู่บ้าน งั้นลองคุยกับลูกหน่อยดีไหม สร้างสัมพันธภาพที่ดี

รวมถึงสามีภรรยาจะคุยกันอย่างไรไม่ให้วงแตก เช่น แม่เดินมาเห็นลูกตัวเองนั่งเล่นเกมตอนหกโมงเย็น แม่พูดว่า “ลูกไปกินข้าวได้แล้ว” กลับมาอีกทีก็อยู่ในห้อง สองทุ่มแล้วก็ยังไม่กินข้าว ถ้าไม่ได้พัฒนามาเลยแม่ก็จะพูดว่า “วันๆ ฉันเห็นแกเอาแต่เล่นเกม สั่งให้ไปกินข้าวก็ไม่ยอมไปกิน”

หมอเคยตั้งคำถามว่า ทำไมแม่ต้องพูดแบบนั้น คิดอะไรกับลูก แม่ตอบว่าเป็นห่วงลูก รักลูก หมอก็บอกว่าทำไมไม่เอาคำเหล่านั้นใส่เป็นคำสมาส แล้วสนธิเข้าไปในประโยคที่เราพูด แล้วเปลี่ยนใหม่ แล้วเอาภาพที่ตาเราเห็นว่า “แม่เห็นลูกเล่นเกมตั้งแต่หกโมง ตอนนี้สองทุ่มแล้ว แม่เป็นห่วงลูก แม่รักลูก แม่ว่าลูกไปกินข้าวดีไหม” สองประโยคนี้เป้าหมายเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ต่างกันเลย เขาอาจจะไปกินหรือไม่กินก็ได้ แต่มันมีสมาสสนธิความรู้สึก และพูดตามข้อเท็จจริง เพราะตอนที่พูดว่า “วันๆ ฉันเห็นแกเล่นเกมอย่างเดียว” ลูกอาจจะเถียงว่าแม่รู้ได้ไง แต่แม่พูดตามสถานการณ์จริงที่เห็น เขาไม่มีสิทธิเถียง

เราเคยได้ข่าวว่าบางสังคมบางประเทศที่ล็อคดาวน์ อัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้น การทะเลาะในครอบครัวมากขึ้น เราชวดโอกาสพวกนี้ทั้งหมด ระบบการศึกษาชวดโอกาสอีกอย่างคือการวางแผนตั้งระบบก่อนที่จะเปิดเทอม

เราต้องไม่ตกอยู่ในความประมาท คณะกรรมการศึกษาบนดอย ผู้อำนวยการโรงเรียน ชมรมผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน อาจจะวางแผนโดยไม่เจอกันได้ วางแผนกันเลยว่า เราขอผู้ปกครองอาสาหน่อยได้ไหม ทำให้เกิดสหกรณ์พ่อแม่คือ พ่อแม่ที่มีบ้าน 10 หลัง อยู่ใกล้กัน แล้วใช้โครงงาน ใส่กระบวนการสร้างการเรียนรู้โดยใช้วัตถุดิบในบ้าน ละแวกบ้าน ให้ใครคนหนึ่งมาชวนเด็กโดยไม่ต้องแยกชั้น เพราะนี่ไม่ใช่โรงเรียน แต่เป็นวิถีการเรียนรู้ เวลาที่เด็กคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกของตนเองว่าฉันภูมิใจมากกับผลงานนี้ แล้วได้พูดให้คนอื่นฟัง สร้างความตื่นตัวขึ้นในใจของเขาขึ้นมา แล้วเวลาที่เขาฟังความรู้สึกของคนอื่นบ้าง ความเอื้ออาทรจะเกิดตรงนี้ รู้จักฟังความรู้สึกของคนอื่น เป็นเทคนิคหนึ่งที่ในทางการแพทย์ ในทางทักษะชีวิต ใช้คำว่า metacognition reflection หรือเทคนิคสะท้อนความรู้สึกและทำให้เข้าใจคนอื่นเหมือนไปนั่งในหัวใจเขา

คำถามที่สองคือ “โครงงานนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ถ้าเป็นคนที่คัดลอกจากคนอื่นคงเล่าอะไรไม่ได้ เราก็ไม่ได้ตำหนิ งานนี้ไม่มีการตำหนิ ฟังอย่างเดียว ถามต่อว่าแล้วลูกคิดว่า “ผลงานนี้จะทำยังไง” ถ้าเป็นวัยรุ่น อาจจะมีนวัตกรรมบางอย่างเกิดขึ้น พ่อบ้านสามารถทำหน้าที่เป็นกระบวนกรได้ คุณลักษณะนี้เมื่อพ้นวิกฤติ COVID-19 โรงเรียนเปิดจริง ระบบการศึกษาจะได้พ่อแม่ที่มีคุณภาพขึ้นมาเป็นกองกำลังดอกเห็ดเลย

เราชวดโอกาสอีกเรื่องคือระบบการศึกษา ระบบการศึกษามีต้นสังกัดคือท้องถิ่น มีคณะกรรมการสถานศึกษา แต่ความรับผิดชอบในการกำกับบ้านตัวเอง คือบ้านหลังที่สอง หรือโรงเรียน ควรให้ชุมชนเข้ามาช่วยจัดการเรียนรู้ หมอขอใช้คำว่า learning organization คนที่ตกงานก็เกิดการเรียนรู้อาชีพ อาจจะได้อาชีพแนวใหม่ วัยรุ่น อาจจะมาช่วยเติมการใช้ออนไลน์ขายสินค้า การจัดส่ง สุดท้ายทุกคนได้ประโยชน์แม้แต่เด็กก็ได้มีส่วนร่วม ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้ร่วม และอาชีพแบบบูรณาการแบบ New Normal

เราชวดโอกาส คือแทนที่จะใช้ชุมชนให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้คนตกงานอีกเพียบ หมอเคยเจอแม้กระทั่งวิชาส้มตำ วิชาขนมจาก แล้วใช้ตามหลักการตามสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ใช้ทรัพยากรพื้นที่โรงเรียน พื้นที่ที่มีนิดเดียว แต่สามารถทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งตำบลและมีการเรียนรู้ข้ามชั้นกันได้

ช่วยขยายความ ‘วิชาขนมจาก’ หน่อยครับ ใครได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เป็นวิชาในชั้นประถมศึกษา โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อำนวยการออกแบบโครงงานขึ้นมา โดยให้เด็กไปสำรวจทั้งตำบลว่า พื้นที่ล้อมรอบรั้วโรงเรียน ชาวบ้านอยู่กันยังไง ชุมชนมีลักษณะอย่างไรบ้าง เมื่อเด็กๆ ไปเจอต้นตาล ต้นมะพร้าวเยอะ ครูก็ถามต่อว่าแล้วเขาจะแปรรูปให้เป็นมูลค่ายังไง เด็กๆ ก็ไปเจอว่ามีการทำขนมจากขึ้นมา ครูก็ถามต่อว่าเจ้าไหนทำแล้วอร่อยที่สุด ได้รับความนิยมที่สุด เด็กๆ ก็ไปเชิญแม่ค้าท่านนั้นให้มาเป็นปราชญ์ผู้ช่วยครู ครูที่โรงเรียนนั้นก็ติดเข็มยกย่องให้

เมื่อชาวบ้านมาช่วยสอนก็จะเริ่มว่าวันนี้กำลังจะมาถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ สไตล์บ้านๆ เมื่อเด็กๆ ถอดบทเรียนเสร็จ คนที่เก่งเลข เก่งศิลปะ หรือบางคนเป็นนักพูด แต่ละคนจะถูกกำหนดหน้าที่ตามความเก่งของตัวเอง เพราะเด็กเก่งไม่เหมือนกัน ให้ไปปรึกษากันว่าจะทำให้ขนมจากของโรงเรียนนี้สามารถเปิดท้ายขายได้อย่างไร แล้วใครจะเป็นคนการันตีว่ามันอร่อย ก็ต้องเป็นแม่ค้าคนที่มาเป็นปราชญ์ที่ขายดีที่สุด และใช้นอกเวลาในการเรียนด้วย ไม่ไปรบกวนเวลาแม่ค้าท่านนั้น ตอนที่เด็กทำขนมจากสำเร็จจนแม่ค้าชม เด็กก็ไม่ไปขายในพื้นที่ทับซ้อนกับแม่ค้า แต่เป็นเหมือนแฟรนไชส์ไปขายในพื้นที่อื่น

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวขนมจาก แต่เป็นวิธีคิด วิธีวางระบบ วิธีการชื่นชม และวิธีการเชื่อมโยงกับของที่มีอยู่จริงในพื้นที่ มาแปรรูปพัฒนาให้กลายเป็นมูลค่าเพิ่ม ทรัพย์สมบัติทางปัญญานี้ที่กำลังติดอาวุธให้เด็กจะอยู่จีรังยั่งยืน ต่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ตรงนี้ที่หมอเรียกทั้งหมดว่า ‘skill for your life’ ทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทัน

คุณหมอบอกว่าเราชวดโอกาส ตอนนี้เรายังหันหัวเรือทันไหม

เราชวดโอกาสตรงที่ว่าขณะนี้ไม่ได้อยู่บ้านแล้ว ทุกคนเริ่มกลับเข้าสู่การทำงานตามหน้าที่ แต่หมอก็คิดว่าน่าจะต้องกลับมานั่งคิดว่ายังมีจุดบวกอยู่ หมอให้ความหวังกับระบบการศึกษา เรายังสามารถทบทวนและทำให้เป็นระบบการศึกษาแนวใหม่ที่จะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยไม่ต้องอยู่ในรั้วโรงเรียน ใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย โปรยหัวเลยว่าวันนี้มีโจทย์ที่เราอยากได้คำตอบ ส่งประกวดประชันกัน โรงเรียนอาจเป็นตัวนำร่อง วันนี้อาจมีวัตถุดิบการเรียนรู้อย่างนี้ แล้วเราจะแปรรูปได้อย่างไร บนโครงงาน เกิดการให้กำลังใจ คำชื่นชม พลังบวก สร้างการเรียนรู้ของแต่ละชุมชน หมอคิดว่ายังทันอยู่ ตรงจุดนี้เรายังตั้งลำได้ดีกว่าหลายประเทศ

ข้อจำกัดในการทำงานของครูหรือในสถานศึกษามีเงื่อนไขล็อคดาวน์ที่ยังเข้มข้นอยู่ ถ้าเปิดเทอมแล้วต้องทำอย่างไร

คือเราไม่ค่อยปลดพื้นที่อิสระทางความคิด จุดเปลี่ยนมี จุดเปลี่ยนอยู่ที่ต้นสังกัดท้องถิ่น ไม่ใช่ต้นสังกัดกลาง ไม่ใช่กระทรวง แต่เป็นต้นสังกัดที่อยู่กับพื้นที่ หน้างาน ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดโรงเรียน นี่คือตัวเปลี่ยน ส่วนกลางต้องเลิกเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนเพียงเพื่อสั่งการ แต่เข้าไปเพื่อไปเป็นเพื่อนคู่คิด ไปคลุกวงใน ไปดูให้เกิดระบบที่มันไม่มี ก็ไปทำให้เกิด ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน ไม่มีก็ทำให้มี เขาเรียกว่าความรับผิดรับชอบพอๆ กัน ต้นสังกัดท้องถิ่นทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคณะกรรมการการศึกษาที่วันนี้ต้องไม่เป็นแค่ตรายางตามกฎหมาย

อันที่จริงผู้อำนวยการคือตัวเปลี่ยนแต่เนื่องจาก ผอ. ในบ้านเรามีการโยกย้าย ความจีรังจึงไม่มี แต่ต้นสังกัดในท้องถิ่น โดยเฉพาะคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีทั้งผู้แทนครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นักบวช ทั้งหลายนี้คือกลไกที่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้เปิดพื้นที่อิสระที่อาจจะเกิดโครงงานตั้งแต่ ป.1-6 เพื่อเรียนด้วยกันได้ กระทรวงฯ อาจจะส่งสัญญาณให้มีพื้นที่อิสระทางความคิดและบูรณาการวิชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำให้เด็กทุกคนเกิดการเรียนรู้ จากการปฏิบัติ และวิถีชีวิต ฉะนั้นสัดส่วนเดิม 70%:30% ที่เรียกว่าพื้นที่อิสระ อาจจะขยายได้ แทนที่อิสระทางความคิดการจัดการขยายออกเป็น 50:50 หรือดีไม่ดี 30:70 ตรงข้ามเลยขึ้นกับคุณภาพของระบบการศึกษา ที่ตอบโจทย์ได้จริง

แล้วระดับบนจะทำอย่างไรให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น

อย่างที่หนึ่ง ระดับบนมีหน้าที่ส่งสัญญาณชัดๆ เช่น การส่งสัญญาณให้ชัดเลยได้ไหมว่าเราจะไม่เอาระบบแพ้คัดออกในเด็กเล็ก เราจะมากลัวเพียงว่าเพราะมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ กำหนดล็อคไว้ในลักษณะนี้ ทำอะไรไม่ได้เลย อาจจะไม่ได้ แล้วทำให้เป็นเอกภาพเดียวกัน ส่งสัญญาณเลยว่าระบบแพ้คัดออกในชั้นเด็กเล็กไม่ควรมี

สอง กล้าที่จะทำให้เกิด learning organization โดยโรงเรียนเป็นฐาน ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนกรซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูเท่านั้น เป็นปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ กล้าที่จะประกาศให้อิสระกับท้องถิ่น แต่ก็ต้องมีประสิทธิผลด้วย

อีกเรื่องที่หมอคิดว่าจำเป็นต้องประกาศ และส่งต่อไปที่กระทรวงอุดมศึกษา วันนี้เราต้องการคนดีมาเป็นพลเมือง COVID-19 สะท้อนสามเรื่อง ระบบบริหารจัดการต้องดี ระบบสาธารณสุข สุขนิสัยที่ดีไม่ได้มีไว้ท่องจำ แต่มีไว้ปฏิบัติ

แนวทางที่คุณหมอเสนอมาดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ต้นทุนเดิมของแต่ละพื้นที่จะทำให้การศึกษามีปัญหาไหม

ตอบโจทย์ได้แน่นอน

อย่างเช่นถ้าระบบแพ้คัดออกหมดไป ความเหลื่อมล้ำจะหายไปด้วย อย่างน้อยต้องลดลง วันนี้พอระบบแพ้คัดออกมันยังอยู่ สถาบันกวดวิชาเพียบ คนมีสตางค์ก็ส่งลูกไปเรียนได้ ข้อสอบออกให้ยากขึ้นเท่าไหร่ก็กลายเป็นงูกินหาง ถ้าเราหยุดวงจรนี้ให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ นั่นคือวิธีการสลายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

และพอเด็กโตขึ้นมาจะกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพราะเป็นเด็กหัวใจแกร่งที่เจอกับปัญหาอุปสรรค เจอโจทย์ที่ยาก คุณธรรมที่เกิดบนการร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ได้เกิดขึ้นบนการเสวยสุข วันนี้มีพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบสำลักความรักเพียบ ซึ่งสวนทางกับคุณธรรม ถ้าเด็กอนุบาล 3 ต้องสอบเข้า ป.1 พ่อแม่ก็ต้องติวลูกตัวเอง ไม่งั้นลูกจะไม่ชนะ สวนทางกับคุณธรรมเลย

เราบอกว่าให้มีระบบเอนทรานซ์ไว้ ก็วันนี้ไหมที่มันมีโรงเรียน…ดัง Top 5 ระดับประเทศ พอครูให้การบ้าน ไม่ใช่เด็กทำ แต่พ่อแม่เอาไปรวมตัวกันทำ และครูก็พอใจกับผลของงานเพราะอลังการมาก แต่ขอโทษนะ เกิดขึ้นจากฝีมือพ่อแม่ เวลาที่เหลือเอาไว้ทำอะไร ส่งลูกไปสถาบันกวดวิชา อันนี้ใช่ไหมคือความเหลื่อมล้ำ วิธีเดียวที่ทำได้คือ ยกเลิกระบบแพ้คัดออก ถ้ายกเลิกแล้วมาวัดกันที่ portfolio มาวัดกันที่วิสัยทัศน์ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง และเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นชุมชนการเรียนรู้ ต่อให้ไม่มีโรงเรียนเลย ดอยนี้ไม่มีโรงเรียน มีแต่ครู ก็สร้างการเรียนรู้ได้ มันเกิดขึ้นได้

เราช่วยทำให้ชีวิตคือการเรียนรู้ ทุกคนสวมจิตวิญญาณการเรียนรู้ ที่รู้เป้าหมายเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้แบบทันตาเห็น ต่อให้ไม่มีพื้นที่โรงเรียน ทุกพื้นที่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ต่อให้มีครูน้อย ก็สามารถเกิดผู้ช่วยครูอีกเป็นร้อย ชุมชนกลายเป็นขุมทรัพย์การเรียนรู้โดยโรงเรียนเป็นศูนย์กลางเชื่อมประสาน ทุกเจเนอเรชั่นทุกวัยทุกเพศ

สิ่งที่ต้องกังวลอีกข้อก็คือว่าอาจจะมีการระบาดครั้งใหม่ ทีนี้เราไม่สามารถกันเด็ก โดยเฉพาะเด็กอนุบาลไม่ให้เล่นกับเพื่อนได้ หรือแม้แต่ห้องสี่เหลี่ยม ขนาดของมันไม่พอจะทำให้เด็กอยู่ห่างกัน 2 เมตรได้ เงื่อนไขต่างๆ ในทางการแพทย์และการศึกษาจะปรับใช้อย่างไร

สองกลไกต้องทำหน้าที่ ที่หมอบอกไปก่อนหน้านี้ว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นกับคณะกรรมการสถานศึกษาย่อมรู้พื้นที่ของตนดีพอ ต้องวางแผน เช่น ในพื้นที่ที่นักเรียนเยอะ แล้วต้องการรักษาระยะห่าง เมื่อรักษาระยะห่าง เด็กปริมาณขนาดนี้มันทำไม่ได้ งั้นก็ทำให้จางลง สามารถแบ่งเช้าบ่ายได้ไหม ถ้าวันนี้เราไม่ได้เป็นระบบแพ้คัดออก หมอถึงบอกว่าชั้นเรียนอนุบาลไม่สามารถไปกำกับเด็กได้หรอก แต่ถ้ายกเลิกระบบแพ้คัดออก ไม่ยัดเนื้อหาวิชา ไม่ไปใส่แรงกดดันให้ครู ไม่ต้องมานั่งไล่เก็บตัวชี้วัดเต็มไปหมด แล้วให้เป็นการเรียนรู้ที่โครงงาน การเรียนรู้บางส่วนอยู่ที่บ้าน บางส่วนอยู่ที่โรงเรียน บางส่วนสลับกัน แล้วเกิดกระบวนการเรียนรู้

ต่อมาอย่างที่สอง เราใช้นิทานร้อยเรื่องที่ทำให้เด็กรู้จักใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก ถ้าเราฝึกสุขนิสัยแบบภาคปฏิบัติเลย ดีไม่ดีเด็กๆ ไปสอนพ่อแม่ด้วย

ตอนหมอทำศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สมัยที่อยู่มหาวิทยาลัยมหิดล เรามีเพลงทุกเช้า ทุกสัปดาห์ เราจะซ้อมเพลงอพยพหนีไฟ แล้วมันเป็นการใช้เพลง พอเพลงนี้ขึ้นเมื่อไหร่ เด็กเตาะแตะขวบครึ่งสองขวบ จะยืนขึ้นทันที มองหาเส้นสีเหลือง แล้วเดินเข้าแถว ภายใน 15 นาที เด็กเกือบร้อยคนเข้าที่จุดรวมพลได้ ไม่ง่ายนะ แล้วเรื่องแบบนี้ต้องซ้อมตอนที่ไม่ต้องรอเผชิญเหตุ แต่ให้ซ้อมทุกอาทิตย์ ถ้าซ้อมทุกอาทิตย์ วันที่เกิดเหตุจริงเด็กจะไม่ตกใจ แล้วสามารถดึงเด็กทั้งหมดนั้นออกสู่เส้นเหลือง เข้าทางออก ไปสู่ที่ปลอดภัยได้ แต่ต้องซ้อมบ่อย บางประเทศก็ทำแบบนี้ ไม่ต้องรอแผ่นดินไหว ก็ซ้อมเรื่อยๆ เรียกว่าซ้อมแผนชีวิต

หากเราซ้อมสุขนิสัยนี้ให้เป็นกิจวัตร ในที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยที่ทำทุกบ้าน ทุกชุมชน ทุกโรงเรียน แล้วเราจะหยุด super spreader ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่แหกกฎ ชุมชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาต่อเนื่อง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า