นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับ การศึกษาทางเลือก

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เช้ามืดวันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2543 ผมขับรถจากเชียงรายข้ามดอยนางแก้วไปเชียงใหม่ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เวลานั้นเชียงใหม่มีสิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการด้านสังคมหลากหลายสาขา ตอนนั้นตนเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งไปเผยแพร่ 2-3 ชิ้น จำได้ว่าการพูดคุยในแชตรูมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีทั้งการด่าทอและวิวาทะมากมาย เป็นช่วงแรกๆ ที่โลกมีสิ่งที่เรียกว่า ‘แชตรูม’

ตอนที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนปิดตัว ได้ซื้อแผ่นซีดีรอมรวบรวมบทความทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าวันนี้จะยังเปิดได้หรือเปล่า แต่ไม่เป็นไรเพราะตนเองได้พรินต์เก็บไว้ใช้งานจำนวนมากพอสมควรแล้ว สำหรับนายแพทย์คนหนึ่งซึ่งเรียนมาสายวิทยาศาสตร์และคิดอะไรแยกส่วนเป็นนิสัยมาโดยตลอด บทความเหล่านี้และชุมชนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนช่วยเปิดกะโหลกได้มาก

สำหรับการเสวนาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเช้าวันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2543 ก็เช่นกัน หัวข้อคือเรื่อง ‘การศึกษาทางเลือก’ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้การต้อนรับทุกท่านที่ไปร่วมพูดคุยอย่างดียิ่ง และเป็นผู้กล่าวนำการเสวนา ท่านให้เวลาคนละ 15 นาที เป็นไปอย่างที่อาจารย์เคยเขียนไว้ทำนองว่า “หน้าที่ของเรามิได้ให้คนอ่านหรือคนฟังเชื่อ แค่เพียงช่วยให้คิดไกลออกไปก็ถือว่าใช้ได้แล้ว” ตนเองน้อมรับคำนี้มาใช้เวลาเขียนหนังสือเสมอ “มิได้ให้เชื่อหรือให้ท่องจำ เพียงเกิดความคิดคำนึงก็พอ”

การเสวนามีการแจกชีท หนึ่งในชีทที่แจกคือบทความ 24 หน้าเอ 4 ของอาจารย์นิธิพร้อมเอกสารอ้างอิง 6 รายการ ก็ไม่น่าเชื่อว่าผมยังเก็บไว้และหาพบอีกต่างหาก เหมือนกับที่เก็บเอกสารมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจำนวนมากไว้ ขอยกตัวอย่างบางตอนจากชีทชุดนี้ให้อ่าน

“คุณภาพที่แท้จริงของคนในโลกยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ที่ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้รับการฝึกปรือมาอย่างตายตัว แต่เป็นความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดตลอดชีวิตของเขาต่างหาก”

“ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิดเองเป็น ก็เป็นความสามารถที่ระบบการศึกษาของไทยละเลยไม่ค่อยให้ความสำคัญในทางปฏิบัติ หรือไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริงในสังคมไทยก็ไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการศึกษาไทยเช่นเดียวกัน”

“เราแทบจะไม่มีหนังสือเด็กที่ดีอยู่สักกี่เล่ม มีแต่หนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ให้รางวัลแต่เด็กไม่อ่านจำนวนมาก”

อาจารย์เคยพูดทำนองว่า หน้าที่ของคนแก่คือบอกกล่าวคนรุ่นใหม่ เท่านี้เองจริงๆ ปรากฏว่าท่านทำหน้าที่ของท่านอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นที่มั่นใจได้ว่า มีคนรุ่นใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะข้อเขียนของท่านมากกว่ามาก โดยที่ผมเป็นคนหนึ่งในนั้นซึ่งเปลี่ยนมานานจนแก่แล้วแต่ประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะอะไรจึงว่าไม่เปลี่ยนแปลง ตอนที่ทราบข่าวการจากไปของท่าน ผมนั่งรออยู่ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นั่งรอมาแล้ว 3 ชั่วโมง จำได้ว่าตอนที่จังหวัดได้โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งใหม่นี้ ว่ากันว่าประชาชนจะเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างสะดวกสบายเสียที แต่เมื่อเวลาผ่านมา 10 ปีเราพบว่าทุกโรงพยาบาลไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ใหญ่หรือเล็ก แออัดเท่าๆ กันทุกโรงพยาบาล ชวนให้คิดถึง 2 เรื่อง

หนึ่ง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ว่าใกล้บ้านใกล้ใจ ที่ผมเชียร์นักหนาในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ไปถึงไหนเลย เหตุเพราะหลายปีที่ผ่านมาการเมืองการปกครองและระบบบริหารราชการแผ่นดินของเราเหมือนเดิม เราคืนอำนาจการจัดการสู่ส่วนท้องถิ่นและชุมชนมิได้เลย 

ข้อเขียนของอาจารย์นิธิสร้างคนรุ่นใหม่จำนวนมากกว่ามากขึ้นมาก็จริง แต่ยังคงไม่พอ ผู้ได้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบเดิมเป็นตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแน่นอนซึ่งก็เป็นที่ทำนายได้ และอาจารย์เองก็เขียนไว้ในข้อเขียนชิ้นท้ายๆ ของชีวิตด้วย

สอง พูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษา พูดกันอย่างไม่ละอายอะไรที่ผมเขียนถึงด้วยคำศัพท์สมัยใหม่ เช่น ทักษะศตวรรษที่ 21 หรือ Executive Function (EF) ที่แท้แล้วอาจารย์นิธิเขียนถึงก่อนแล้วด้วยภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ หรือ ‘ความคิดเชิงวิพากษ์’ การศึกษาไทยย่ำที่เดิมมานานแสนนาน เราจะเสวนาแบบนี้อีกกี่ร้อยรอบ แม้จนถึงทุกวันนี้องค์กรต่างๆ นานาก็ยังเสวนาทำนองนี้ซ้ำๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรถ้าไม่เปลี่ยนการเมือง

ไม่ทราบเหมือนกันว่า ข้อเขียนของอาจารย์ 24 หน้าเอ 4 ชิ้นนี้ไปรวมอยู่ในหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งหรือเปล่า แม้ว่าผมจะมีหนังสือของอาจารย์แทบจะทุกเล่ม แต่สารภาพว่าจำไม่ได้

มันเยอะมาก

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า