คาร์ซีต การกระจายอำนาจ และปัจจัยทางสังคม

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เรื่องคาร์ซีตมีประเด็นทางสังคมด้วย พบในงานวิจัยว่าการใช้แรงจูงใจทางสังคมได้ผลมากกว่าแรงจูงใจทางกฎหมาย การสร้างทัศนคติเชิงบวกได้ผลมากกว่าการขู่จะจับ การชี้ให้เห็นข้อดีมีผลมากกว่าการชี้ให้เห็นรูปอุบัติเหตุที่เกิดแก่เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปที่น่ากลัว

เมื่อได้ข่าวเรื่องคาร์ซีต ผมขับรถออกไปบนถนนหลวงครึ่งวันด้วยความมั่นใจว่าจะได้ภาพสนุกๆ มาฝากอย่างแน่นอน แล้วก็ได้มาหลายภาพตามความคาดหมาย คัดมาเฉพาะที่ไม่เห็นใบหน้าหรือสามารถปล่อยเบลอใบหน้าได้

ภาพแรกเป็นรูปเด็กนั่งที่นั่งข้างคนขับกางแขนรับลมด้วยความชื่นมื่นสุดๆ ชวนให้คิดวิเคราะห์ว่าจะวางคาร์ซีตอย่างไรดี หันไปข้างหน้าหรือหันไปข้างหลัง แล้วจะมัดแขนอย่างไรดี เราอยากเห็นภาพแบบนี้ไม่ยากเลย ให้ขับรถออกที่ตลาดใหญ่ๆ สักแห่งเป็นได้พบอย่างแน่นอน ควรไปก่อนตลาดเปิดหรือไม่ก็ไปตอนตลาดใกล้วาย

ผู้ปกครองขนของไปขายหรือไปเก็บของกลับ มี ‘ความรับผิดชอบ’ ไม่สามารถปล่อยเด็กอยู่บ้านคนเดียวได้จึงต้องพ่วงเอาไปด้วย

ภาพที่สองคล้ายๆ กัน แต่เหตุเกิดบนถนนเส้นเล็ก ความเร็วไม่มากและระยะทางไม่ไกลไม่ต้องใช้คาร์ซีตก็ได้มั้ง เด็กตัวโตหน่อยสามารถเอาไปช่วยงานพ่อแม่ที่แผงได้ เห็นเพจเลี้ยงลูกบอกว่าสร้าง EF Executive Function ได้มาก

ที่ผู้ปกครองมักจะลืมไปคือ เรื่องคาร์ซีตหรือซีตเบลต์ไม่เกี่ยวกับความเร็วของเราเท่านั้น แต่เพื่อป้องกันเหตุร้ายเวลาถูกตีนผีพุ่งเข้าใส่หรือเฉี่ยวแฉลบ เป็นที่รู้กันว่าตีนผีไปได้ทุกที่ด้วยความเร็วเหลือเชื่อเสมอว่าทำไปได้อย่างไรทั้งที่เป็นถนนเส้นเล็กและแคบ

ภาพที่สามมิใช่ซีตเบลต์แต่เป็นหมวกนิรภัย ก่อนจะถามว่าทำไมเอาเด็กตัวกะเปี๊ยกออกมาท้องถนนในลักษณะนี้ ควรระลึกไว้ก่อนว่าไม่เอาออกมาแล้วจะให้ใครเลี้ยง เงินที่มีจำกัดต้องเลือกว่าจะซื้อหมวกหรือจ่ายค่าพี่เลี้ยงเด็ก

เล่าเรื่องรูปภาพให้ฟังสนุกๆ เพื่อบอกว่ามีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่อยู่รายรอบคาร์ซีต ชีวิตของคนไทยไม่เท่ากัน รวยจนไม่เท่ากัน สำนึกความรับผิดชอบไม่เท่ากัน และราคา (ของชีวิต) ไม่เท่ากัน หากเราสามารถขยายเรื่องราวของผู้คนจริงๆ ในภาพเหล่านี้จะพบว่ามีปัจจัยมากมายที่ขวางเขากับเรื่องความปลอดภัยของลูก ซึ่งเป็นที่รักดังแก้วตาดวงใจ

ที่ว่ารักดังแก้วตาดวงใจนั่นแหละ บางครั้งก็ปล่อยเด็กข้ามถนนหรือจูงเดินริมนอกถูกรถชนกระเด็นไปมานักต่อนัก

มีครั้งหนึ่ง แม่พาลูกข้ามถนนไปซื้อของ เป็นซูเปอร์ไฮเวย์ที่มีเกาะกลาง เกาะกลางมีต้นเฟื่องฟ้าสวยงามบดบังทัศนียภาพ ไม่มีทางม้าลายและไม่มีสะพานลอยให้ใช้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เป็นความผิดของทางหลวงที่ตัดถนนผ่าหมู่บ้านของเขา วันนั้นแม่ลื่นต้นหญ้าเปียกชื้นที่ขึ้นบนเกาะกลางที่ค่อนข้างชัน เธอไถลลงมาบนถนนที่รถผ่านมาด้วยความเร็วสูง ถึงตายทั้งสองคน เป็นความผิดของต้นเฟื่องฟ้าด้วย

“ใครๆ ก็ทำผิดกฎหมายทั้งนั้นเพียงแต่ไม่ถูกจับได้” เรื่องราวมักจะวนมาจบที่ประโยคนี้เสมอ มีคนทำผิดกฎหมายการจราจรมากมายบนถนนหลวงที่ไม่มีใครมีเวลาจะไปทำอะไร คนเหล่านี้รอดมือกฎหมายทุกวัน เรื่องนี้จะนำไปสู่คำถามว่า “แล้วเราจะเสียเงินซื้อคาร์ซีตทำไม”  

ถนนหลวงตัดผ่านหมู่บ้านของเรา แรงงานตัดต้นไม้เกาะกลางทำงานไม่ทัน ใบขับขี่เป็นของหาง่ายเกินไป ตำรวจไม่มีทั้งกำลังและเวลาไล่จับและปรับคนทำผิดกฎหมาย เรื่องเหล่านี้แก้ไขไม่ได้ถ้าทุกเรื่องรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ถ้ากระจายอำนาจทุกๆ เรื่องมาที่ส่วนท้องถิ่น เราจึงจะพอมีโอกาสเริ่มต้นกันใหม่ได้บ้าง ทราบว่าที่เราทำมิได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดทาง 

แต่คนท้องถิ่นยังเห็นภาพไม่ชัดด้วยว่ากระจายอำนาจแล้วดีอย่างไร นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ยังต้องทำการบ้านอีกมากในการวาดภาพให้ผู้คนนอกเมืองหลวงเห็นว่า หน้าตาของการกระจายอำนาจ การตัดถนน การซ่อมถนน การดูแลต้นไม้ การดูแลขยะของบ้านเมือง การออกใบขับขี่ การเข้มงวดคุณภาพของรถ หรือแม้กระทั่งโครงสร้างตำรวจ เงินเดือนของตำรวจ จะมีหน้าตาอย่างไร เหล่านี้เป็นเรื่องทำได้  

ไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านเมืองนอกเมืองนาแล้วจะดูออก ที่ไปดูงานกันโครมๆ ก็ไม่ใส่ใจจะดู

กลับมาที่ปัจจัยทางสังคม 

พบว่าคนเราจะใช้คาร์ซีตเมื่อรู้ว่าใช้ไปแล้วจะเป็นบุคคลที่น่านับถือ พูดเช่นนี้ก็มิใช่ให้ขึ้นคัตเอาต์คนดีศรีสังคมเพราะใช้คาร์ซีตที่สี่แยกกลางเมือง การเป็นบุคคลที่น่านับถือนั้นเกิดขึ้นในใจมากกว่าการแสดงออก พูดง่ายๆ ว่าเจ้าตัวนั้นเองที่รู้สึกว่า ‘เราเป็นคนใช้ได้’

พบต่อไปว่าสมาชิกของสังคมหรือหมู่บ้านใดๆ จะใช้คาร์ซีตเมื่อพบว่า ใช้ไปแล้วสังคมหรือหมู่บ้านของเราจะมีหน้ามีตา มีอารยธรรม – ว่างั้น เช่นเดียวกันพูดเช่นนี้มิได้ให้ทำสารคดีหมู่บ้านตัวอย่างแบบที่ชอบทำกัน ‘ความภูมิใจในสังคมของตัวเอง’ หรือหมู่บ้านของตัวเองเป็นเรื่องที่อยู่ในใจตนเองอีกเช่นกัน

สองประการนี้เป็นจิตวิทยาเชิงบวกเรื่องคาร์ซีต

ปิดท้ายข้อเขียนนี้ด้วยการชวนระลึกถึงกฎหมายห้ามขึ้นหลังรถกระบะเกินห้าคน ไม่ทราบว่ากฎหมายบังคับใช้หรือยัง หรือว่าผ่อนผันกันอยู่ เหตุเพราะถนนที่แล่นไปตามท้องนามักจะแคบและขอบคมกริบ เราเทกระจาดลงคูกันทีละสิบกว่าคนเรื่อยๆ 

และนี่ใกล้ถึงฤดูเทกระจาดกันอีกแล้ว

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า