อานันท์ นาคคง: เสียงของการต่อสู้และผู้ชุมนุม ในมุมมองมานุษยวิทยาดนตรี

ฟังสิฟังมวลชนร่ำร้อง เป็นทำนองทุกข์ทนโกรธา
นี่คือบทเพลงแห่งเสรี ที่เรามีสิทธิ์และอิสรา
เสียงจังหวะหัวใจฮึกหาญ สะท้านเสียงกลองรบก้องวิญญาน์
ชีวิตเริ่มเพิ่มพูนพลัง ความหวังจักมา!!

(สำนวนแปล: อานันท์ นาคคง)

เนื้อเพลงพากย์ไทยของมิวสิคัลจากวรรณกรรม เหยื่ออธรรม หรือ Les Misérables ถูกแปลไว้หลายสำนวน และมีการนำมาขับร้องนอกหน้ากระดาษและบนท้องถนนที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มต้นการประท้วงเพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่ง ไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่มีทั้งเสียงเพลง เสียงตะโกนก่นด่า การตีเกราะเคาะไม้ และการส่งเสียงอีกหลายรูปแบบมาใช้ในการขับเคลื่อนขบวนการอยู่เสมอ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจถึงสัญญะ ความหมาย จากวิธีการใช้เสียงเหล่านั้น

WAY ร่วมพูดคุยถึงปรากฏการณ์ของเสียงที่ก้องกังวานอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองกับ อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร และอาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) ที่ทำการศึกษาภาคสนาม (fieldwork) เฝ้าติดตามพัฒนาการของการใช้เสียงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามสีเสื้อ มาตั้งแต่ปี 2535 พฤษภาทมิฬ จนถึงสมัยแห่งการขับไล่เผด็จการ คสช. และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันในปัจจุบัน พร้อมผลงานการศึกษาอย่าง เพราะอํานาจเปลี่ยนแปลงบ่อย Power Change “พัฒนาการของสื่อเพลงการเมืองในสังคมไทย” การศึกษาเชิงประวัติ-พัฒนาการและผลกระทบของสื่อเพลงเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อร่วมตามหาคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ของเสียงที่ทั้งดังกึกก้อง และในบางครั้งก็ช่างเงียบเชียบบนถนนสายการเมืองของไทย

นักมานุษยวิทยามองความสำคัญของผัสสะทางเสียง แตกต่างไปจากผัสสะด้านอื่นอย่างการใช้สายตาอย่างไร

มันขึ้นอยู่กับเราสนใจคำว่า ผัสสะ หรือ sensory ในด้านใดเป็นพิเศษ อย่าง visual มันมีผลอย่างมากอยู่แล้วต่อการมอง คิด ไปจนถึงการทำให้ถูกมอง แต่ในทางมานุษยวิทยาแล้ว การมองไม่ใช่ทุกอย่างของความเป็นจริง ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับเสียงที่เป็นอีกหนึ่ง sensory และ experience ที่เราสนใจ

เสียง คือ sonic ที่กินความหมายมากกว่าแค่ music หรือเพลง มีทั้งซาวด์ (sound) ที่เป็นการพูดคุยกันเหมือนที่เรากำลังทำในตอนนี้ และอีกรูปแบบหนึ่งคือนอยส์ (noise) อย่างเช่นเสียงการใช้อาวุธ การใช้มือตบ ตีนตบ นกหวีด หรือสิ่งอื่นๆ ในการชุมนุม ซึ่งก็มีการใช้ noise เหล่านี้ทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เป็น sonic sensory บางอย่างที่มีผลในการระงับหรือสร้างความกดดันได้ เช่น การใช้เสียงอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงอาวุธคลื่นเสียงที่มีผลรุนแรง

ความน่าจับตามองของเสียงยังรวมไปถึงการใช้ mobile sonic หรือการเล่นกับเสียงติดล้อ (car mob) ที่สามารถเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ รอบเมือง ซึ่งมันก็วิ่งควบคู่ไปกับเสียงที่ live สด ไปจนถึงเสียงของผู้คนที่ใช้ Clubhouse สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิบัติการที่ซับซ้อนมากๆ ในแง่ของการใช้เสียง และเสียงพวกนี้ก็จะถูกแปรออกมาเป็นตัวอักษรเพิ่มเติมอีก ทั้งการมีส่วนร่วมจากคนที่ชมผ่านหน้าจอ การคอมเมนต์ การแชร์ ไปจนถึงการใช้ภาษาแบบ IO (Information Operation) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

แต่เสียงเองก็มีความเป็นสายตารวมอยู่ด้วย เพราะเสียงบางเสียงไม่สามารถไปแทรกอำนาจของเสียงที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ อยู่ตรงหน้าได้ เช่น

เวลาเราอ่านคำที่เขาพิมพ์กันว่า ‘ไอ้เหี้ย’ ซึ่งมันไม่ได้อ่านแบบภาษาไทยทั่วไป แต่มันเป็นการแสดงอารมณ์เกรี้ยวโกรธด้วยคำว่า ‘ไอ้เหี้ย’ ที่มีตัว ย. เยอะๆ เป็น ‘ไอ้เหี้ยยย’ แบบนี้ คำเหล่านี้หากอ่านออกเสียงคนละช่วงเวลากับวินาทีที่มันเกิดขึ้น มันก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างมาก มันต้องอ่านสดๆ ไปในขณะที่กำลังดูไลฟ์อยู่ จึงจะรู้ว่า ‘ไอ้เหี้ยยย’ มันมีพลังขนาดไหน

ผมคิดว่านั่นก็เป็นเซนส์ของการพยายามจะเปล่งเสียงของคนที่มันไม่ได้เขียนอย่างเดียว แต่มันตะโกนอย่างสุดแรงเกิด แต่ด้วยพลังของตัวหนังสือจึงอาจจะทำไม่ได้ 

เครื่องมือหรือวิธีการในการส่งเสียงที่ว่าซับซ้อนนั้น มันซับซ้อนขึ้นอย่างไรบ้าง

ความจริงมันซับซ้อนมาตลอดอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันมันชัดขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกเสียง (record) เอาไว้แล้วไปเปิดใหม่อีกทีได้ พอเสียงไม่ได้เกิดอยู่ ตั้งแล้วดับไป เหมือนสมัยก่อนแล้ว มันยังสามารถที่จะนำไปผลิตซ้ำ ปลอมแปลง แก้ไข หรือล้อเลียนได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น มีม (meme) ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ ณ วินาทีที่เกิดขึ้นครั้งแรกถือว่ารวดเร็วมาก น่าจะแค่ประมาณ 10 วินาทีเท่านั้น แต่ภายหลังก็ได้ถูกนำไปทำใหม่ (reproduction) ด้วยกรรมวิธีอื่นๆ ซึ่งผมถือว่ามีความพิเศษมากนะ เพราะมันเป็นเสียงโต้กลับกับเสียงของม็อบมวลชนเสื้อเหลือง และถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนไปในเรื่องของเสียงก็คงเป็นการที่เสียงมันโดน transform และตีเข้าไปในมิติของการยั่วล้อ ไปจนถึงการทำให้ด้อยค่าของผู้ที่เอ่ยคำนี้อย่างจริงจัง 

เพราะฉะนั้น ณ วันนี้เสียงมีโอกาสที่จะทำงานได้ซับซ้อนมากกว่าเสียงที่ถูกปล่อยออกมาตรงๆ และถ้าย้อนกลับไปในอดีต บางทีเสียงที่มีผลต่อการชุมนุมหลายครั้งในการเมืองไทยก็อาจจะโดนแปลงมาตั้งแต่ไหนต่อไหนแล้ว อันนี้อาจจะรวมไปถึงม็อบคนดีทั้งหลายที่ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า คิดว่าพระพุทธเจ้าสวดมนต์บทนี้บทนั้นในคืนอาสาฬหบูชา คืนวิสาขบูชา ซึ่งจริงๆ มันอาจจะโกหกทั้งหมดก็ได้ เราถูกคัดกรองจนเหลือแต่โรแมนติก ว่าคืนมาฆบูชา ทรงแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ พระจันทร์ส่องสวย ไอ้ห่า…มึงไม่มีโทรโข่งอะ 1,250 พระอรหันต์ที่มานั่งฟังเทศนาธรรมร่วมกันโดยมิได้นัดหมายเนี่ย เอาแค่ 30-40 คน จะได้ยินชัดถึงขนาดนั้นหรือเปล่า เป็นต้น ฉะนั้นผมเลยคิดว่ามันอาจจะโดนสะกดจิตกันทางประวัติศาสตร์มาเยอะ 

การใช้เสียงเพื่อต่อสู้ทางการเมือง คนทั่วไปมักจะนึกถึงเสียงปราศรัย เสียงตีกระทะหรือเคาะขวดน้ำ แต่นอกเหนือจากนี้อาจารย์ได้พูดถึงเสียงที่โดน transform มาก่อนแล้ว ตรงนี้มีเสียงอะไรบ้างที่น่าสนใจ

‘เสียงนายสั่งมา’ มันอาจจะเป็นชุดคำสั่งจริงๆ ที่กำหนดให้สมองและหูของคนที่รับคำสั่งตัดสินใจเหนี่ยวไกปืน กดปุ่มฉีดน้ำ ที่จะกดสัญญาณว่าเมื่อไหร่ที่จะปฏิบัติการ เมื่อไหร่ที่จะกดปุ่มนี้ และจะกดในโมเมนต์ไหน 

ตลอดเวลาของเสียงเหล่านี้ น่าสนใจว่าเขามอนิเตอร์เหตุการณ์ไปด้วยไหม โดยเฉพาะคนที่บอกว่า ‘นายสั่งมา’ ด้วยเนี่ย เสียงเหล่านี้มันอาจจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนหรือคนที่มาชุมนุมเข้าใจ มันอาจจะถูกออกแบบมาก่อนว่า ถึงวันนี้ มันต้องมีโอกาสแน่ๆ ที่ต้องสลายการชุมนุมด้วยเสียงสั่นสะเทือนแบบนี้ และมันอาจจะถูกซักซ้อมมาก่อน มันถูกกำหนดโดยการกดปุ่มมาก่อนแล้ว มันรู้ว่าพอกดปุ่มตอนนี้แล้วมันจะสลายการชุมนุมได้จริงไหม การซักซ้อมและคาดการณ์ผลมาก่อนเป็นประจำแบบนี้ ถ้าภาษาดนตรีเราจะเรียกว่า rehearsal

เสียงที่มองไม่เห็นเหล่านี้อาจจะดำเนินควบคู่ไปกับเสียงที่เราสัมผัสได้ อย่างเสียงของการทะเลาะเบาะแว้งทั้งใน Twitter และการ live สดต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เสียงของคชโยธี (คชโยธี เฉียบแหลม แกนนำกลุ่มเยาวชนช่วยชาติ) ที่เขาหมกมุ่นอยู่กับแค่หน้า mobile phone ของตนเอง แต่เสียงของเขากลับถูกเอาไปปั้นต่อโดยโลกภายนอกจนมันถูกต่อต้าน ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกันกับเสียงของ อุ๊ หฤทัย หรือเสียงของ ม้า อรนภา เช่นกัน

การคัดกรองหรือแปรรูปเสียงเหล่านั้น ทั้งในฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งตรงข้ามมีกระบวนการอย่างไร

ผมว่ามันมีทั้งที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ (organic) และที่ plot มาแล้ว ในระดับของแกนนำมืออาชีพก็อาจจะพอรู้ได้ว่า ช่วงเวลานี้คาดการณ์ได้ว่าจะมีเสียงแนวไหนออกมา ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงปราศรัยที่ยาวมาก อาจเป็นเพียงแค่เสียง 2-3 นาที ก็มีคุณค่า

อย่างเสียงของ เต้น ณัฐวุฒิ หลังออกจากคุกผมก็ติดตามเขาเกือบทุกคลิป และผมรู้สึกว่าเขามีโมเมนต์ที่คลี่คลายในการคุยกับคน แถมขาที่เขาโดนใส่เครื่องติดตาม (กำไลอีเอ็ม) ไว้ มันก็คู่ขนานไปกับสิ่งที่เขาพยายามส่งเสียงกับชาวบ้าน จนวันหนึ่งเขาได้ไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และรวมพลคนเสื้อแดง จังหวะนั้นมันคือพัฒนาการในการออกเสียงของเขาและเสียงของคนที่รอคอยเขาอยู่

คุณเต้นเขาพูดด้วยอารมณ์หน้ากล้องแบบปกติ แต่พอไปถึงสนามที่เขาคุ้นเคยมันก็เป็นเสียงที่มีละครขึ้นมา มีจังหวะในการพูด ตรงนี้มันน่าทึ่ง เพราะมีแอคติ้งประกอบ ไม่ใช่แค่การปล่อยเสียงออกมาเฉยๆ แต่มีเรื่องของการเล่นภาพเข้ามาด้วย เขาคุ้นเคยกับสนามแบบนี้มาก่อน เขารู้ว่าจะพูดให้ใครฟัง พูดอย่างไรให้มีจังหวะจะโคน มีช่วงหยุดให้คนฟังปรบมือ มีช่วงบี้ ช่วงขยี้ ให้คนปรบมือซ้ำ และยกระดับประเด็นที่พูดไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของเสียงปราศรัย 

แต่ถ้าหากไม่มีการขึ้นเวทีปราศรัย ฟังเสียงปราศรัย เพลงหรือดนตรีที่เอามาใช้ในการชุมนุมก็คงไม่มีบทบาทมากนัก คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นเขาฟังทั้งสองอย่าง และสิ่งที่ปราศรัยก็เป็นเรื่องที่เขารู้อยู่แล้วด้วย แต่มาเพื่อแสดงพลังอะไรบางอย่าง มาให้กำลังใจ หรืออาจจะมาซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งกับเสื้อยืดช่วยเศรษฐกิจ 

อีกเสียงหนึ่งที่น่าสนใจคือ การส่งเสียงของเด็กๆ มัธยมที่หน้าเสาธง พวกเขาต่างร้องเพลงชาติกันตามปกติ แต่ที่เปลี่ยนไปคือชูสามนิ้วไปด้วย ดังนั้นเสียงใหม่ๆ จึงไม่ใช่แค่การออกมาส่งเสียงก่นด่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ประเพณีของฝ่ายรัฐนี่แหละในการเอามันมาต่อต้านอำนาจรัฐเสียเอง

กระแสการชูสามนิ้วจากหนังเรื่อง The Hunger Games, เหยื่ออธรรม ที่ถูกนำมาร้องในม็อบ ไปจนถึงเพลงแฮมทาโร่ สิ่งเหล่านี้เขยื้อนออกมาสู่ถนนจริงได้อย่างไร

มันอาจจะเป็นประสบการณ์ร่วมที่มีการบ่มเพาะมาตั้งแต่ The Hunger Games ซีซั่น 2 ที่มีเด็กไปร่วมชุมนุมกันที่สกาล่าแล้วถูกตำรวจเข้าทำการจับกุม จึงกลายเป็นประเด็นว่า ชูสามนิ้วคือสัญลักษณ์ของการต้านเผด็จการ หรือหากไม่อ้างอิงกับ The Hunger Games ก็ไปอ้างอิงกับคำขวัญการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ได้ แต่ขณะเดียวกันจะอ้างอย่าง ส.ส. บางคนก็ได้ว่าหมายถึง ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ สามนิ้วจึงแปลความหมายได้หลายขบวน ได้ตั้งแต่การด่าทอ การแสดงความเป็นพรรคพวก การให้กำลังใจ ไปจนถึงการขานรับระหว่างกัน อย่างเวลาผมไปสอนหนังสือออนไลน์ นักศึกษาก็จะชูสามนิ้วผ่านหน้าจอให้ผมเรื่อยๆ เหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่า ‘เฮ้ย เราคุยด้วยกันรู้เรื่องนะเว้ย’

ขอพูดต่อไปอีกเล็กน้อยประเด็นเรื่องการชูสามนิ้วเพื่อส่งเสียง ลักษณะเช่นนี้มันไม่ใช่แค่ภาษาที่เกิดขึ้นในประเทศเราอย่างเดียว แต่ทางฝั่งเมียนมาก็ใช้ในการต่อต้านรัฐประหารที่ผ่านมาเหมือนกัน ทุกวันนี้การผลิตซ้ำวาทกรรมเรื่องการชูสามนิ้วว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ของภาคประชาชนไปจนถึงการต่อสู้ของคนกลุ่มที่เป็นชนเผ่า ในประเทศไทยเราอาจไม่ค่อยเห็นชนเผ่าที่มีส่วนร่วมกับเรื่องของการชูสามนิ้วมากนัก แต่ในเมียนมามันกลายเป็นภาษาสัญลักษณ์สากลทั่วไปหมด ตั้งแต่คนฉาน คนมอญ คนกะเหรี่ยง ก็ชูสามนิ้วเป็นเรื่องเดียวกัน มีการเคาะอะไรต่างๆ เช่นเดียวกัน

หมายความว่าการชูสามนิ้วหรือสัญลักษณ์ในการแสดงออกต่างๆ ที่เราเห็นในไทยตอนนี้ก็เป็นสิ่งสากลที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคด้วย?

a three-finger salute ต้องมองให้กว้างกว่ามิติในประเทศไทยนะ เราอาจจะถูกล้อเลียนว่าเป็นพวก ‘สามกีบ’ พวกที่ชังชาติ โง่เง่า ถูกปั่นจากพวกนักการเมืองล้มล้างสถาบัน แต่ต้องศึกษาให้ดีว่านี่เป็นภาษาที่ทรงพลังมากเกินกว่าจะเอาแผนที่ประเทศไทยมาครอบ  

ที่จริงการชูสามนิ้วที่มีความยิ่งใหญ่มากก่อนไทยคือที่ฮ่องกงและที่ฟิลิปปินส์ กรณีของฮ่องกงนั้นคือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนท้องถิ่นและคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ไม่สยบยอมมหาอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ ฟิลิปปินส์ก็ชูสามนิ้วกันบนท้องถนน เคลื่อนขบวนต่อต้านประธานาธิบดีเผด็จการที่สั่งฆ่าล้างชีวิตคนตายเป็นเบือด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แล้วหลังจากปีที่ไทยเราชูสามนิ้วกันก็มีปรากฏการณ์ยึดอำนาจรัฐประหารของ นายพลมิน อ่อง หล่าย ในเมียนมา คนเมียนมาทุกเผ่าพันธุ์ออกมาเดินประท้วงกันบนท้องถนนทุกเมือง ทุกชุมชน แล้วมันก็กระจายไปถึงแรงงานเมียนมาที่ไปทำมาหากินอยู่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย พวกนี้มีกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกันในพื้นที่สาธารณะก็ใช้การชูสามนิ้วกันทั้งนั้น มีการเคลื่อนไหวที่อาจจะมีคนเข้าใจมากกว่าสถานการณ์ของไทยด้วยซ้ำ และภาษาของสามนิ้วมันก็กลายเป็นภาษาสากลที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ดิกชันนารีแปลภาษาอีกต่อไป

หรืออย่างเพลงที่ร้องกันบนท้องถนนที่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้สากลเหมือนกัน ก็คือ ‘Do You Hear the People Sing?’ มันก็มีหลายภาษา เราต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ทางฝั่งของฮ่องกงเองก็มีการประท้วงในลักษณะนี้ต่อ สี จิ้นผิง เหมือนกัน ซึ่งก็กลายเป็น anthem ร้องต่อกันอีกเป็นเดือนๆ เลย รวมไปถึงยังเอาเพลงของ เถียน ฮั่น-เนี้ย เอ่อร์ (เพลงชาติจีน) ที่จีนพยายามยัดเยียดให้คนฮ่องกงร้องมาโยนเนื้อทิ้งน้ำไปแล้วแต่งเนื้อใหม่ขึ้นมาอีก ล่าสุดผมเพิ่งได้จัดรายการ podcast รายการหนึ่งของ Thai PBS หัวข้อ ‘เพลงแสลงหูของรัฐอาเซียน’ ก็พบว่ามีเพลง ‘Do You Hear the People Sing’ ขับร้องโดยชาวฟิลิปปินส์เป็นภาษาตากาล็อก พวกเขาขับร้องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อประท้วงไปตามท้องถนน และผมก็ได้มีโอกาสลองแปลเป็นภาษาไทยด้วย อยากให้ได้ลองฟังกันดู 

ได้ยินเสียงผู้คนบ้างไหม ร้องจากใจเกรี้ยวโกรธทั้งสิ้น 
นี่คือเสียงคนฟิลิปปินส์ ไม่ยอมทุกข์ยอมทนต่อไป 
แม้อำนาจชั่วช้ามืดดำ จะเหยียบจะย่ำเผาผลาญทำลาย 
หัวใจเรา ก็ยังเฝ้าฝันถึงวันแห่งชัย
ถึงจะขู่จะข่มคุกคาม จะคาดจะคั้นบั่นคอชีวี 
ถึงจะบิดจะกัด จะคุมจะขังคำสั่งมากมี 
แต่ไม่อาจปิดกั้นหัวใจประชาธิปไตย และสิทธิเสรี

เพลงนี้มีพลังมากทั้งในฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย กับเมียนมา โดยของฟิลิปปินส์เขาทำผลงานออกมาในช่วงการประท้วง ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) บรรดาศิลปินที่ร่วมร้องกันผ่านระบบออนไลน์ เวทีประท้วงปราศรัยบนถนน ไปจนถึงการที่ ส.ส. ของเขาเอาเข้าไปกล่าวถึงในรัฐสภาเลยทีเดียว ขณะเดียวกันทางฝั่งเมียนมาประชาชนก็ขับร้องเพื่อส่งไปถึง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทั้งสองประเทศมีการสื่อสารไปยังผู้นำเผด็จการที่ชัดเจนมาก คำถามสำคัญคือเนื้อเพลงที่ขับร้องเป็นภาษาไทยนี้เรากำลังพยายามส่งไปให้ถึงใครกันแน่

เขายังมีวิธีการเคลื่อนไหวอะไรกันอีกมากซึ่งเราไม่เห็น เพราะตอนนี้เราติดการระบาดของ COVID-19 แล้วไม่ได้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านเลยว่าระหว่างนี้ฮ่องกงหรือเมียนมาเขากำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง ตอนนี้เหมือนเราไปกลัวตายเพราะโรค เอาเรื่องสิทธิวัคซีนที่ดีมาก่อน จนทำให้วัฒนธรรมทางเสียงมันหล่นหายไป ซึ่งก็น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์การเคาะถ้วยถังไปจนถึงเพลงแบบนี้มันค่อยๆ หายไปแล้ว

ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ทำไมผู้ชุมนุมจึงต้องส่งเสียงให้ดังด้วยการเคาะกระทะ มือตบ ตีนตบ หรือนกหวีด 

เป็นเสียงที่โชว์พลังศรัทธาอันยั่งยืน (sustainable power) ของการชุมนุมยืดเยื้อในสมัยก่อนที่จะเป็นวัฒนธรรมชุมนุมชั่วคราว (flash mob) มันต้องปักหลักค้างแรมกันนาน อย่างช่วง กปปส. ก็ปาเข้าไป 7 เดือน นับตั้งแต่เริ่มชุมนุมกันในเดือนพฤศจิกายน 2556 ไปจนถูกทหารยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 หรือกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติเสื้อเหลือง ก็ชุมนุมกันข้ามปีหลายช่วง พวก นปช. เสื้อแดงเองก็มีการชุมนุมยืดเยื้อเหมือนกัน 

ผมอยากยกตัวอย่างชัดๆ คือนกหวีดของ กปปส. ช่วงนั้นนกหวีดขายดิบขายดีมากในหลายรูปแบบ ผมเองได้ไปลงภาคสนามบันทึกเอาไว้อยู่บ้าง ซึ่งก็พบว่าเสียงนกหวีดในการชุมนุมรอบนั้นแค่ ‘ปรี๊ด’ เดียวก็สามารถตีความออกมาได้หลายความหมาย เช่น เมื่อแกนนำปราศรัยว่า “พี่น้องครับ (ปรี๊ด) เราจะสู้ไหมครับ (ปรี๊ด) เราจะยอมมันไหมครับ (ปรี๊ด)” ซึ่งปรี๊ดแรกและปรี๊ดที่สองจะหมายถึงการขานรับ ‘yes’ แต่ปรี๊ดสุดท้ายมันกลับกลายเป็น ‘no’ ไปเสีย และยิ่งไปกว่าการขานรับ ผมพบว่าช่วง 6 โมงเย็น ตอนนั้นผมจะไปเดินบันทึกเสียงนกหวีดตามสถานที่ต่างๆ แล้วเจอการร้องเพลงชาติด้วยนกหวีด ซึ่งเขาก็เป่าเป็นทำนองเพลงชาติแทนการร้องด้วยปาก จนผมเคยตั้งข้อสังเกตเล่นๆ ด้วยซ้ำว่า เวลาที่ปากคาบนกหวีดแล้วเป่าเป็นเวลานานๆ ร่วมเดือน มันอาจส่งผลต่อประสาทการรับรู้ในเบื้องลึกได้เนื่องจากมีคลื่นความถี่ที่สูง เป่าไปนานวันเข้า หูก็ไม่รับรู้อะไรเลย

พอพูดย้อนกลับไปถึงยุคของมือตบและตีนตบ สิ่งนั้นจะทำงานในแง่ของการแทนค่าการปรบมือ เพราะว่าปรบมือตามปกติแล้วมันเหนื่อยเกินไป มันจึงทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ called and response หรือพูดแบบบ้านๆ คือ ‘เมื่อกูพูดแล้ว มึงจงขานรับ’ แต่แทนที่จะขานรับด้วยมือด้วยปาก ก็ใช้เสียงที่เป็น noise เหล่านี้แทน จากนั้นก็เกิดพลังบางอย่างที่เราตบร่วมกันแล้วมันจะกลายเป็นพวกเดียวกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนไป

ในช่วงยุคพันธมิตรฯ หรือยุค นปช. ก็มีการผลิตซ้ำทางความคิดและสร้างชุดวัฒนธรรมของมันขึ้นมาด้วยมือตบและตีนตบเหล่านี้ เช่น มาร์ชเพลงมือตบ หรือเพลงนักรบตีนตบ ซึ่งก็ทำงานในลักษณะเป็น code เหมือน ‘1 2 3 4 5’ ตามด้วย ‘I hear too’ ของแอมมี่ในปัจจุบันนั่นแหละ จะพูดว่าประวัติศาสตร์มันวนเป็นวงกลมก็ได้ จนยุคนี้เราคิดไม่ออกแล้วว่าจะใช้อะไรมาตบก็กลับมาตะโกนขานรับกันเสียงแหบเสียงแห้งกันตามเดิม แต่ที่น่าสนใจบ้างก็อาจจะมีช่วงหลังมานี้ที่เริ่มมีการบีบแตรรถแทนแล้ว

อันที่จริงกรณี car mob ของ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ออกแบบขึ้นมาใหม่ในยุคโควิดก็น่าสนใจ คือเขารู้อยู่แล้วว่าประยุทธ์คงไม่ลาออกเพราะการบีบแตรรถหรอก แต่มันเป็นการสร้างเสียงก่อกวนที่ได้ผลเหมือนกับในยุคที่นกหวีดเคยทำได้ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนโดนจำกัดพื้นที่ด้วย พ.ร.บ. ต่างๆ ที่ควบคุมแบบศักดิ์สิทธิ์บ้าง ไม่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สิ่งที่คุณสมบัติออกแบบมันจึง match กับความกดดันของผู้คน ทีนี้ก็ออกมาบีบกันใหญ่เลย

ตอนนี้การส่งเสียงด่าก็ไม่รู้ว่าจะด่าเรื่องอะไรกันต่อแล้ว เลยด่าเรื่องผลกระทบจากการจัดการโรคระบาด COVID-19 กันไปก่อน ซึ่งน่าเสียดายว่ามันน่าจะมีจุดในการด่าเรื่องความเป็นเผด็จการ การยึดอำนาจ ความเป็นประชาธิปไตย พวกนี้เสียมากกว่าการเบี่ยงประเด็นไปที่เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่อมิอะไร ซึ่งประเด็นนี้ก็บอกไม่ถูกว่า ในที่สุดแล้วมันจะชนะกันได้ไหม หรือชนะได้อย่างไร ทั้งที่ปมปัญหาจริงๆ มันคืออำนาจการเมือง อำนาจประชาธิปไตย หรือเรื่องของการใช้พระราชอำนาจและพระราชกำหนดว่าด้วยเรื่องต่างๆ ในตัวระบบโครงสร้างที่ไม่คลี่คลายสักที

ทางฝ่ายรัฐเองมีการใช้เสียงตอบโต้กับผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง 

มีหลายลักษณะ ถ้าหากไม่นับสื่อที่รัฐควบคุมเอาไว้คือสถานีกรมประชาสัมพันธ์ที่มีการล้างสมองประชาชนด้วยเพลงปลุกใจและรายการจิตวิทยาการเมืองการปกครองที่รัฐเป็นผู้ส่งเสียงทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว เสียงที่รัฐออกสนามเพื่อปฏิบัติการทำลายฝูงชนก็น่าจับตามองว่าเขามีเสียงแบบไหนกันบ้าง 

จุดที่น่าสนใจคือช่วงที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงของเจ้าหน้าที่ครั้งแรก เขาจะต้องมาอ่านประกาศ ถือโทรโข่ง ถ้าหากคุณไปอยู่ในช่วงเวลาชุมนุม คุณก็จะเห็นตำรวจทำหน้าที่ noise ขับรถไปรอบๆ แล้วก็พูด “ระวังสุขภาพนะครับๆ ช่วยกันรักษาความปลอดภัยตามมาตรการนะครับ” พร้อมอ้างประกาศคำสั่งต่างๆ ซึ่ง noise ตรงนี้มันก็แทบไม่มีความหมายเพราะมันเป็นเสียงที่ไม่เคยเอาชนะผู้ชุมนุมได้เลย ทว่ามันกลับขาดไม่ได้เสมือนเป็นรูปแบบที่ต้องเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเขาจะถือว่าได้ประกาศไปแล้ว หากกระทำเกินกว่านี้เขาก็จะเอามาอ้างเพื่อใช้ในการจับกุมต่อไป ผมว่าสิ่งนี้เป็น noise จากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่ตลกมาก

เสียงโต้กลับในเชิงดนตรีของศิลปินที่เทิดทูนสถาบันกลับเงียบนะ อันที่จริงผมก็อยากศึกษาบ้างว่า ทางฝั่งมวลชนขั้วตรงข้ามกับขบวนการเคลื่อนไหวสามนิ้วมีใครออกมาแต่งเพลงโต้กลับบ้าง ไม่มีใครออกมาทำหน้าที่ชัดเจนเลย ดี้ นิติพงษ์ ก็ไม่ทำเพลง เบิร์ดก็ไม่ร้อง แม้แต่อุ๊ก็ไม่ร้อง อันนี้ผมไม่นับเพลงที่ร้องตามงานพิธีต่างๆ นะ เพราะอันนั้นผมว่าไม่มีค่า มันไม่ใช่เพลงเพื่อการต่อสู้โต้ตอบกับฝั่งตรงกันข้าม แต่มันคือเพลงประจบ เป็นแค่เพลงประเพณีที่สมัยก่อนต้องทำ สมัยนี้ก็ต้องทำต่อ ผมกำลังพูดถึงเพลงที่ทำให้คนตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวลุงตู่เอง ซึ่งถ้าไม่ใช่เพลงที่เขาแต่งเองก็ไม่มีใครมาร้องให้แล้วนะ

ปีที่แล้ว ช่วงหนึ่งผมเคยข้ามฝั่งไปสังเกตการณ์การชุมนุมรวมพลังของคนกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งยังเกาะกลุ่มกันอยู่ เขาก็เริ่มด้วยการร้องเพลงประเพณีอย่างที่ผมบอกไปพร้อมชูรูป ซึ่งมันก็ไม่ได้มีเพลงโต้ตอบอะไรออกมาอย่างชัดเจนเหมือนที่ สามัญชน หรือ RAD ในฝั่งนี้ทำออกมาเรื่อยๆ แม้แต่กลุ่มแร็ปเปอร์รุ่นเก่าๆ ที่ยังคลุมเครืออยู่ว่าเขาจะยืนข้างใดกันแน่ ปัจจุบันนี้เหมือนติดอยู่ในช่วงเวลามนุษย์ต่างดาวอะไรสักอย่าง หนีไปไถสเก็ตเฉยเลย

การที่ดนตรีเข้ามามีบทบาทในการชุมนุมมากขึ้น จะนำไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ของการเคลื่อนไหวบ้างไหม

ผมคิดว่าเขาใช้ดนตรีเป็นวิถีทางหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำหน้าที่ต่อสู้ การต่อสู้ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาผนึกกำลังกัน ดนตรีหรือเสียงเพลงเป็นด้านของการขับเคลื่อนให้คนรวมตัวกันได้ มันเป็น air หรืออากาศอย่างหนึ่งที่อยู่ในการรวมตัวของผู้คน ทำให้ช่วงเวลาตรงนั้นเป็นโลกจำลอง นอกจากเพลงที่ถูกนำมาใช้เพื่อการชุมนุมแล้ว มันก็ถูกนำไปใช้ในช่วงเวลาต่อเนื่องหรือพฤติกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ได้อีกนาน อย่างเพลง ‘ไม่รักระวังติดคุกนะ’ ของเสื้อแดงสมัยก่อน ปัจจุบันก็กลับมาได้ยินเสมอทั้งก่อนการชุมนุมหรือหลังจากชุมนุมเสร็จสิ้น ซึ่งที่จริงเพลงนี้เราก็ได้ยินมาจะสิบกว่าปีแล้ว และถ้ามองบทบาทเพลงเพื่อชีวิตเก่าๆ อย่าง คาราวาน คาราบาว มันกลับหายไป เหมือนไม่มีตัวตน ไม่เคยถูกใช้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของคนหนุ่มสาวมาก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ silence หรือเสียงแห่งความเงียบ ถ้าเราจดจำได้ช่วงที่มีการจัดกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 นาที เมื่อต้นปีถึงกลางปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องอย่างสันติวิธีต่อระบบศาลที่ไม่มีความยุติธรรมตามหลักสากล ไม่อนุญาตในการประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ที่กำลังจะตายเพราะอดอาหารอยู่ในเรือนจำ ผมก็ไปฟังเสียงการยืนหยุดขัง ช่วงเวลานั้นมันเงียบแบบได้เรื่องเลย ทำให้เราได้รู้ว่ามันไม่จำเป็นต้องมีเพลงก็ได้ แต่เสียงแห่งความเงียบที่ใหญ่มากก็สร้างแรงสะเทือนได้แล้ว ผมคิดว่าความเงียบแบบนี้มันสร้างบทสนทนาให้คนได้อีกเยอะ ในความเงียบนั้นมันคือความดังกึกก้องในใจ ทุกคนมีเสียงในใจและเขาเลือกที่จะไปยืนตรงนั้น มันต้องมีบทสนทนาอะไรบางอย่างของตัวเขาที่ตัดสินใจไปพูดโดยที่ไม่ได้พูด ตะโกนโดยที่ไม่ตะโกนอยู่ที่นั่นด้วย

การแสดงออกโดยไม่ต้องส่งเสียงอะไรเลย ก็อาจสร้างพลังให้กับมวลชนได้?

บางทีเราอาจไปตื่นเต้นอยู่กับการบีบแตร ซึ่งมันเป็นเสียงก้าวร้าว อย่าง car mob บีบแตรตรงแยกดินแดงที่จบลงด้วยการยิงกันบ้าๆ บอๆ แล้วมันก็กลายเป็น reality show นานมากเลย ซึ่งผมก็นั่งดูนะว่าตกลงมันจะไปได้ไกลถึงขนาดไหนไอ้ตรงแยกดินแดงตรงนั้นเนี่ย เสียงพวกนี้มันเป็นเสียงที่วนลูปคุ้นเคย มันไม่ได้จบด้วยคำตอบอะไรจริงจัง แต่มันมาทดแทนความขาดหายไปของคนที่เคยชุมนุมกันมา และฝั่งนิยมความรุนแรงตัดสินใจทำอะไรก็ได้ ณ เวลานั้น เพราะไม่มีการจัดการที่ดี ความเป็นแกนนำมันไม่ชัดเจนเหมือนกับ movement ของปีที่แล้ว 

คิดเห็นอย่างไรกับกระแสเรียกร้องให้ดารา-ศิลปินออกมา ‘call out’ 

คำถามนี้อยู่ที่ว่าใครจะตอบ ถ้าไปถามพวกศิลปิน เขาก็คงจะตอบว่าเขาลำบาก เขาไม่มีงานทำ เขาต้องเจอปัญหาตามมามากมายถ้าจะออกมา Call Out แต่ถ้าเราเป็นชาวบ้านธรรมดาเราก็อาจจะสับสนว่า เมื่อวานมึงก็ร้องเพลงรักกันอยู่ เมื่อวานมึงก็ยังร้องเพลงอยากจะมีชู้กันอยู่ ดูชีวิตมึงมีความสุขสบายกว่าใคร แล้ววันนี้ทำท่าเป็นตัวแทนประชาชน ผมก็ไม่สนุกในการรู้สึกว่า ‘โอ้… เราจะต้องมีคนเหล่านี้เป็นวีรบุรุษของเรา’ เท่าไหร่นัก

มันอาจจะมีนิดหน่อยที่ศิลปินบางกลุ่มเขาค่อนข้างที่จะมีบทบาทในการชี้นำกับสังคม แต่อย่าลืมว่าเขาเล่นกับ media มากกว่าออกมาเล่นกับประชาชนจริงๆ ที่หน้าฝูงชน แล้วบรรดา media ก็เลือกหยิบเสียงของพวกเขามาขยายต่อ เพราะมันเป็นหนทางสื่อสารที่สามารถขายได้ มันเปิดโอกาสให้มียอด follow หรือมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับศิลปินคนนั้นต่อยอดไปอีก โดยเฉพาะเสียงที่ศิลปินส่งเสียง บางครั้งมันก็พัวพันกับค่ายเพลงกับสัญญาอะไรต่างๆ เต็มไปหมด ผมว่าเราควรไปหามาตรการช่วยเหลือชาวบ้าน กรรมกร หรือชาวนาที่พวกเขาไม่ได้มีโอกาสจะออกมาส่งเสียงได้แบบเดียวกับศิลปินพวกนี้จะดีกว่าไหม

จริงอยู่ที่ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทั่วโลกจะต้องมีผู้ประกอบศิลปะมาทำหน้าที่ call out ตรงนี้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่จะให้ดนตรีหรือวรรณกรรมยืนชนอย่างเดียวจนเกิดกรณีที่น่าสะเทือนใจอย่างการถอดถอน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี จากศิลปินแห่งชาติ สายละครเองก็ต้องทำงานที่ไม่ใช่เป็นแค่ musical สนุกสนาน แต่ต้องมีสัจจะของการสื่อสารออกมา ซึ่งหลายคนที่ทำงานนี้อย่างชัดเจนถึงขนาดยอมไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงเพื่อที่จะทำให้การเคลื่อนไหว การเล่นละคร การเต้น มี movement ที่มีผลให้คนเอาไปคิดต่อได้ อย่างเช่น คาเงะ กลุ่มละคร b-floor กลุ่มลานยิ้ม งานเต้นของ พิเชษฐ กลั่นชื่น ที่สะเทือนโลกออนไลน์มาก นี่อาจจะรวมไปถึงศิลปินที่เป็นทัศนศิลป์ visual art เองก็มีหลายเจ้าเหมือนกันที่ได้ส่งพลังออกมา อย่างกรณีกลุ่มนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกถึง และการออกมาพูดว่า “ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร” ของ อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี (อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) หรืออย่าง พี่ถนอม ชาภักดี (ศิลปินและนักวิจารณ์) ก็น่าสนใจเช่นกัน

พอเรามองกลับมาที่ดนตรี เราก็ยังหาไม่ได้ว่าใครที่จะออกมาบอกได้ว่าดนตรีเป็น ‘ขี้ข้า’ เป็น ‘ยาสะกดจิต’ หรือเป็น ‘เครื่องมือต่อสู้อย่างจริงจัง’ อาจจะเป็น วงไฟเย็น วงสามัญชน ดาวดิน แอมมี่ หรือว่าอาจจะเป็นกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) อันนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่อย่างกรณีที่วงสามัญชนออกมาพูด มันดันไปลดบทบาทของศิลปินรุ่นอื่นไปด้วย เช่น การที่เขาประกาศว่าจะไม่ร้องเพลงของ คาราวานอีกต่อไปเพราะเป็นเสื้อเหลือง น่าคิดว่าในยุคสมัยนี้นอกจากแบ่งแยกคนกันแล้ว มันยังลามไปถึงการแบ่งแยกเพลงอีกหรือ

ถ้าเช่นนั้นประเด็นเรื่องการส่งเสียงของศิลปิน ในแง่ผลงานกับตัวตนของศิลปินเอง เราควรมองแยกออกจากกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน

มันเป็นทั้งสิ่งเดียวกันและเป็นทั้งสิ่งที่ไม่ควรจะเอามาปะปนกันก็ได้ เพราะในมิติของน้าหงาและเพื่อนๆ น้าหมู ลุงหว่อง ลุงป่องต้นกล้า ลุงเศก ลุงวัฒน์ วรรลยางกูร ลุงวิสา คัญทัพ เมื่อเขาเป็นคนหนุ่มเขาก็คงไม่ต่างจาก สามัญชน ไม่ต่างจาก RAD ไม่ต่างจาก แอมมี่ The Bottom Blues ที่จริงเขาลำบากมากกว่าด้วยซ้ำกับการที่มันไม่มีตัวช่วย แล้วก็เจอการปราบปรามจนกระทั่งต้องหนีตายเข้าป่าไปพึ่งพาพรรคคอมมิวนิสต์ ลำบากยากเข็ญกว่าจะกลับเข้ามาในเมืองอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่ สร้างงานดนตรีที่เป็นทั้งศิลปะและแรงบันดาลใจให้ใครต่อใคร ชีวิตมันเจออะไรมามาก

การที่ต้องออกแบบและตามหาเสียงกับภาษาของตัวเองให้เจอในช่วงเวลาอดีตของ คาราวาน จนกระทั่งเกิดเป็นเพลงคลาสสิกของน้าหงาขึ้นมา มันไม่ใช่ง่ายๆ แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าไปลบประวัติศาสตร์ไปเลย ว่าถ้าหากใครฟังเพลงพวกนั้นคือขั้วตรงข้าม แบบนี้ก็ฉิบหายนะ… คือมันจะกลายเป็นเผด็จการอีกแนวหนึ่งเลยที่เอามาใช้สมอ้างประเพณีประชาธิปไตยเพื่อประชาชน กลายเป็นว่าพยายามจะ monopoly ในการฟังหรือการเสพรับว่าจะต้องเป็นเพลงของ สามัญชน เพลงของแอมมี่ หรือเพลงของ RAD เท่านั้น

ผมไม่แน่ใจว่า ในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ของเพลงการเมืองหรือเพลงต่อต้าน (ผมไม่ขอเรียกว่าเพื่อชีวิตนะ เพราะมันกลายเป็นแบรนด์ที่แค่ทำให้ขายได้) จะเป็นยังไงต่อ แต่เพลงประท้วงและเพลงต่อต้านมันต้องถูกให้ความเคารพมากพอที่จะรู้สึกได้ว่ามันมีพลังในเวลาต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งเราก็ควรที่จะถอดกระบวนคิดของเพลงเหล่านั้นนับตั้งแต่ยุคของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อยมาจนถึงการเข้าป่า และใจกว้างมากพอที่จะหยิบยกมาพูดคุยกัน การเอาพฤติกรรมส่วนตัวของน้าหงามาทาบทับงานศิลปะของแก ผมว่ามันใจแคบเกินไปหน่อย 

ในแง่ของดนตรีไทย ถ้าเอามาใช้ในการต่อสู้ จะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีแบบจารีตไหมเมื่อเทียบกับดนตรีสมัยใหม่

คำว่าไทยที่ว่านี้มันต้องดูด้วยว่าไทยตระกูลไหน ถ้าหากเรานับระนาดเป็นไทยอย่างเดียว แล้วลืมพิณ ลืมแคน ลืมหมอลำ ผมคิดว่าเราจะใจแคบไปหน่อยนะ หมอลำทำหน้าที่ต่อต้าน ต่อสู้ เปิดเผยความจริงมาตลอดเวลา

ในเพลงพื้นบ้าน พวกสะล้อ ซอ ซึง มันก็มีเสียงความทุกข์ร้อนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเสียงที่ประจบสอพลอมากมาย แม้แต่ระนาดเองถ้าเราถอดเรื่องมายาคติว่าด้วยความเป็นดนตรีรับใช้ศาสนาศักดิ์สิทธิ์หรือรับใช้ราชสำนักอะไรแล้วเนี่ย ระนาดตามงานวัดก็โคตรจะอินดี้เลย แทบจะไม่ต่างจากพวกแร็ปเปอร์ที่ออกมาสู้กันประชันกันทำนองนั้น

ถ้าถอยหลังไปไกลกว่านั้นคือยุค 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ มันก็มีวงดนตรีไทยที่ส่งเสียงคู่ขนานไปกับ คาราวาน หรือ กรรมาชน ซึ่งก็เป็นเพลงที่มีพลังมากๆ เช่นกัน เรากำลังพูดถึงวง ‘ต้นกล้า’ ที่พวกนี้ในที่สุดก็ถูกล้อมปราบเหมือนกับ คาราวาน และ กรรมาชน จนต้องไปอยู่ในป่ากัน เขาผลิตเพลงต่อต้านอเมริกันที่มารุกราน และพูดถึงว่าบ้านเมืองนี้มันฉิบหายวายป่วงเพราะรัฐบาลมันโกงกิน สภาพกฎหมายที่มีปัญหา แล้วร้องเป็นทำนองไทยเดิม

อย่างเช่น

“กฎหมายที่หมายกด กดขี่ขู่อยู่ตาปี 
จักเป็นเช่นคัมภีร์แห่งปีศาจอำนาจร้าย 
มวลชนคือต้นบทผู้กำหนดแห่งกฎหมาย
มวลชนไม่เคยตาย กฎหมายตายทุกมาตรา”

หรืออย่างท่อน “เจ้าหนุ่มเจ้าสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง เจ้าตายเพื่อสร้างสิทธิเสรี” ก็พูดถึงช่างกลและกรรมกรที่ตายไป ผมว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือบทบาทการใช้ดนตรีไทย ใช้พลังดนตรี ใช้เพลงร้อง และวิธีการขับเคลื่อนแบบดนตรีไทย แต่จัดวางใหม่ด้วยคอนเทนต์ ปัญหาคือมันไม่มีการสืบต่อหรือถูกปฏิเสธด้วยจริตอะไรก็ไม่รู้ ทำให้เพลงเหล่านี้ถูกหลงลืม และทำให้ดนตรีไทยกลายเป็นดนตรีขึ้นหิ้ง 

โดยความรู้จากที่ผมเห็นอยู่ มีนักดนตรีที่ถูกเรียกว่านักดนตรีไทยไม่น้อยเลยทีเดียวที่ขบถ พยายามจะต่อสู้หรือส่งเสียงของเขา เพียงแต่ไม่ได้ถูกโปรโมท หรือสื่อมวลชนไม่สนใจมากเท่าการพูดถึงคอนเทนต์อย่าง คาราบาว คาราวาน อย่างคนรุ่นใหม่ แต่ถ้านึกถึงกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้เพลงไทยเดิมและเพลงพื้นบ้านมาสร้างคอนเทนต์ในการต่อสู้มันก็มีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี อย่าง หมอลำแบงค์-ปฏิวัตน์ สาหร่ายแย้ม ที่ถูกอำนาจอยุติธรรมรังแก ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากอดีตหมอลำที่ถูกเรียกว่าผีบุญ พวกหมอลำโสภา พลตรี หมอลำชาดา ที่เคยใช้เพลงร้องกลอนลำ ใช้พิธีกรรม ใช้เสียงดนตรีท้องถิ่นปะทะกับอำนาจนิยมจากส่วนกลาง แล้วในที่สุดหมอลำพวกนี้ก็ถูกปราบปรามจนถึงทำให้สูญหายเช่นกับพวกที่ถูกอุ้มอีกหลายคนในเวลาต่อมา

นักสื่อสารด้วยเสียง อย่างนักดนตรีหรือผู้ชุมนุมทางการเมือง มีวิธีสื่อสารที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และเอาเข้าจริงมันเวิร์คไหมที่สองสิ่งนี้จะวิ่งไปด้วยกัน

ยังไงก็ต้องวิ่งไปด้วยกัน เพราะถ้ามีดนตรีอยู่อย่างเดียวโดยที่ไม่มีฝั่งคนพูดเป็นแกนนำ ดนตรีก็อยู่ลอยๆ ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่คนหรอกที่สามารถเชื่อมสิ่งที่เขาจะต้องร้องเพลง หรือต้องบรรเลงกับผู้ชมทั่วไปได้ ถ้าขาดซึ่งเสียงของแกนนำที่พูดถึงความเป็นไปของสังคม ปัญหา หรือสิ่งที่เป็นจุดเสื่อมให้เราได้ยิน เราก็คงไม่ได้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของตัวเพลงมากนัก 

บางคนแต่งเพลงที่ใช้สัญญะเต็มไปหมด เหมือนพูดตรงๆ ไม่เป็น จนคนไม่เข้าใจ หรือถ้าพูดออกมาตรงๆ แต่มันหยาบอย่าง RAD ก็จะมีคนออกมาบอกว่า อย่าหยาบมากนัก เพราะเราควรเป็นโมเดลที่ดีให้กับสังคมต่างๆ นานา แต่สำหรับผมมองว่ามันหมดเวลาที่จะมานั่งประนีประนอมกันแล้ว ถ้ามันต้องหยาบก็ต้องหยาบเพราะศิลปะเองก็คือการสะท้อนอารมณ์ของมนุษย์ ความรุนแรงที่จะเอามาโต้เถียงกับอำนาจเผด็จการได้ผลนั้น มันเหมือนกันทั้งคนทำงานศิลปะ มันประนีประนอมไม่ได้ มันต้องแรงและชัดเจนพอที่จะทำให้เผด็จการหวั่นไหว แล้วในทางกลับกัน เผด็จการเองนั่นแหละที่พยายามยัดเยียดความรุนแรงเชิงโครงสร้างใส่งานดนตรีอีกขั้นหนึ่ง คือการขู่จะเอาผิดทางกฎหมายหรือการเซ็นเซอร์เพลงออกไปจากพื้นที่สาธารณะเสียงเลย พวกที่ยังอาลัยอาวรณ์กับการทำงานศิลปะอยู่ก็ต้อง ‘สู้ไป กราบไป’ ทำเพลงให้เพราะไว้ก่อน ฟังละมุนละม่อมไว้ก่อน จะได้มีเวลาร้องเล่นกันนานๆ 

หรืออย่างบางคนก็ยังต้องละเมอหรือฝันอยู่กับเพลงยุคของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยุคของ คาราวาน ยุคของ กรรมาชน ฝันอยู่แต่กับสังคมอุดมการณ์สวยงามน้ำตาไหลพรากอะไรแบบนี้อยู่เลย บางทีเวลามันเคลื่อนที่ไป คุณก็อาจจะต้องยอมใจให้กับแฮมทาโร่ กับอะไรอีกมาก เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครจะมาเป็นศิลปินเดี่ยว ทุกคนสามารถ join แฮมทาโร่ได้หมด ทุกคนสามารถเปล่งเสียงร้องกันได้หมดที่ว่า “อาหารที่อร่อยที่สุดคือ ภาษีของประชาชน” ได้เหมือนกัน

ปีที่ผ่านมา เพลงที่ผมชื่นชมมากที่สุดนอกจากเพลง ‘ปฏิรูป’ ของ RAD คือ ‘สีดาลุยไฟ’ ที่น้องๆ เฟมินิสต์ปลดแอกพัฒนามาจาก ‘A Rapist in Your Path’ ของแอคทิวิสต์อเมริกาใต้ เขาปรับวิธีการสื่อสารเรื่องชะตากรรมของผู้หญิงโดยสมมุติบทบาทของนางสีดามาเป็นการเต้นไปร้องไปของผู้หญิงหลายคน มีจังหวะกลองหนุนหลัง 

“เราเกิดมาก็ถูกตัดสิน ถูกกัดกินจากชายเป็นใหญ่ นี่คือระบอบที่ย่ำยีเรา นี่คือความรุนแรงที่มึงไม่มอง เราเกิดมาก็ถูกกดหัว ต้องเจียมตัวให้ชายเป็นใหญ่ นี่คือความเชื่อที่ย่ำยีเรา คือความอัปรีย์ที่มึงต้องมอง มึงนั่นแหละที่ข่มขืนเรา มึงนั่นแหละฆาตกร ทำเป็นสอนให้กูหมอบกราบ มึงนั่นแหละที่ข่มขืนกู ตำรวจ ทหาร ศาลยุติธรรม ทั้งประเทศ ทั้งสถาบัน รัฐที่เพิกเฉยต่อเสียงของเรา ก็คือรัฐที่ข่มขืนเรา” 

งานเพลงคมคายมาก แต่โชคร้ายมากที่สีดาลุยไฟในช่วงปีที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจ movement ของสิทธิสตรีและสิทธิกะเทยจริงนัก สีดาลุยไฟที่มันอยู่ในโลกของการต่อสู้ในอเมริกาใต้หรือในสเปนมันใหญ่มาก เป็นม็อบที่โคตรจะรุนแรงของฝั่งผู้หญิง แต่เราดันเอาสีดาลุยไฟมาเล่นกระจอก เล่นกันอยู่ไม่กี่คน นี่คือข้อหนึ่ง ข้อสองคือมัวแต่สนใจเรื่องของพระรามที่มีเมียเยอะๆ แต่ไม่ได้พูดถึงว่าสิ่งที่ทำให้คุณค่ามนุษย์เสียหายไปมันมีเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย ความผิดที่มันอยู่กับกฎหมาย อยู่กับอำนาจรัฐ 

แล้วชาวสีดาลุยไฟก็เหมือนกับเกิดโชคร้ายในตัวของเขาเอง คือพอจะมาเล่นอยู่ในงานนี้ก็มีข่าวอื่นๆ มาเล่นกลบ หรืออย่างวันที่สีดาลุยไฟหลังจากวันที่ไปสีลม เขาไปร้องตรงสนามหลวง แต่ม็อบจะไปส่งจดหมายให้รัฐบาล คนก็ไปเล่นข่าวพวกนั้นแทน แม้แต่สีดาลุยไฟในยุคหลังที่มันหมดช่วงเวลาม็อบใหญ่ๆ ไปแล้ว เขาไปร้องที่สหประชาชาติกันแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ทั้งที่หากเสียงผู้หญิงถูกขยับขยายไปในพื้นที่โลก มันจะมีพลังไม่แพ้ ‘Do You Hear the People Sing’ เลยด้วยซ้ำ

กรณีเพลงสีดาลุยไฟ ถ้าย้อนไปดูรากของมัน มันคือผู้หญิงทั้งโลก อินเดีย ฝรั่งเศส อเมริกา อังกฤษ นี่มันคือการใช้งานไม่เป็นของผู้ออกแบบม็อบและผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหว เสียงที่จะเชื่อมกับชาวบ้านได้ควรต้องได้รับการสนใจ อย่างสีดาลุยไฟ หรือ ‘Do You Hear the People Sing’ ว่าทำอย่างไรจะให้คนเห็น ทำอย่างไรให้มันกลายเป็นเพลงที่พอดังขึ้นมา เรารู้เลยว่ามันคือสัญลักษณ์การทำงานร่วมกันของคนทุกคน

อย่างหลายเพลงของเมียนมาที่เขาร้องกันมาตั้งแต่ยุคเหตุการณ์ 8888 พอข้ามมาถึงเหตุการณ์ปัจจุบันก็ยังคงร้องกันอยู่ ผมสนใจตรงที่ว่ามันเป็นอาวุธที่เหลืออยู่ในโลกของการต่อต้านที่มีคุณค่ามากๆ ในขณะที่ทหารพยายามจะปราบปรามประชาชนตอนกลางคืน นอกจากประชาชนจะทำการเคาะหม้อเคาะกระทะ พวกเขายังแต่งเพลงด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ศิลปินหรือเพื่อชีวิตอย่างเดียว แม้แต่ชนเผ่าก็แต่งเพลง ซึ่งจุดที่กล้าหาญที่สุดคือการนำเพลงเหล่านั้นขึ้นไปไว้บน YouTube ถึงแม้จะรู้ว่าวันต่อไปพวกเขาจะถูกอุ้มหายหรือถูกสังหารก็ตาม

ที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นนี้คือจะหมายความว่า คุณจะไปรอแต่ม็อบอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคุณสามารถผลิตซ้ำด้วยการเปลี่ยนคอนเทนต์ได้ เปลี่ยน ‘ประเทศกูมี’ เป็นรูปแบบอื่นๆ ได้ ก็ขอให้มัน share ขอให้มันผลิตต่อไปได้เองก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มีพลังไม่แพ้ที่ชาวเมียนมาทำ

ช่วงเวลาการรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย ผมติดตามฟังเพลงของเพื่อนเมียนมาทุกสัปดาห์เพื่อจะเอามาทำรายการ podcast ผมลิสต์เพลงได้เป็นร้อยเลยนะในการเคลื่อนไหวของศิลปินเมียนมา และเขาก็มีทุก genre ทุกเพลงเลยทั้ง pop, rap, rock หรือแม้แต่เพลงศาสนาเขาก็เล่น ศาสนาบ้านเรานี่ตุ๋มติ๋มต้วมเตี้ยม ในขณะที่นักบวชเมียนมาร้องเพลงดีดกีตาร์ขับเคลื่อนสังคมไปได้ด้วย ฝั่งกะเหรี่ยงก็มีการขับเคลื่อนของเขามากมาย ขณะที่บ้านเราเหมือนโดนรวบรัดตัดตอนไปอยู่แค่ปัญหาบางกลอยเท่านั้น แต่ถ้ากะเหรี่ยงกล้าพูดว่า “เฮ้ย…อุทยานแห่งชาติของมึงเนี่ย ทำให้กูลำบาก” แล้วปัญหาความลำบากมันส่งผลตั้งแต่เรื่องของสังคมไม่เท่าเทียมไปจนถึงสิทธิทำกินอย่างไร กะเหรี่ยงน่าจะเป็นหมัดที่แรงมากเลยนะ 

ปรากฏว่ามาอยู่หมู่บ้านทะลุฟ้าได้แป๊บเดียวก็โดนสลาย หรืออย่างทุกวันนี้ที่เขาจะฟ้องกลุ่มบางกลอยยกแผง สื่อมวลชนก็เงียบกัน เสียงต่างๆ เหล่านี้ ผมคิดว่ามีส่วนร่วมในการทำให้เสียงภาคประชาชนโดยมวลรวมต้องแบ่งปันกัน ไม่ใช่หวังแค่เสียงที่อยู่ในม็อบอย่างเดียว เสียงนอกม็อบก็สำคัญเช่นกัน 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า