เปลวไฟจากมุมมืดของ ‘เบรนตัน ทาร์แรนท์’ มือปืนผู้กราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์

มือสังหารและพวกสุดโต่ง

ชายหนุ่มชาวออสเตรเลียผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าลงมือสังหารหมู่ศาสนิกมุสลิมขณะกำลังสวดภาวนาประจำวันศุกร์ในมัสยิดที่เมืองไครสต์เชิร์ช ในนิวซีแลนด์ เป็นผู้นิยมแนวทางขวาสุดโต่ง เชิดชูชาติพันธุ์ผิวขาว นาซีใหม่ เกลียดมุสลิมอย่างฝังใจ และไม่เคยเป็นที่รู้จักของหน่วยงานความมั่นคงของประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์มาก่อน

เป็นที่เข้าใจกันว่า เบรนตัน ทาร์แรนท์ วัย 28 ปี หรือ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ตามการเรียกขานของทางการนิวซีแลนด์ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ ผู้ที่ส่งคำแถลงถึงหน่วยทางการหลายแห่งก่อนเกิดเหตุและถ่ายทอดสดภาพเคลื่อนไหวของตนเองขึ้นสู่หน้าสถานะของ Facebook ขณะตัวเองลงมือยิงกราดสังหารหมู่ชาวมุสลิมชาย หญิง และเด็ก ในมัสยิดสองแห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชได้สั่งสมความความรุนแรงในจิตใจมากขึ้นหลังจากการเดินทางไปเยือนหลายประเทศในยุโรป เกาหลีเหนือ ตุรกี และปากีสถาน

เมื่อเช้าวันเสาร์ ขณะทั้งประเทศนิวซีแลนด์ตกอยู่ในห้วงโศกสลดและไว้ทุกข์ ผู้ต้องหาทาร์แรนท์ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาปรากฏในศาลแขวงด้วยข้อหาฆาตกรรมโจมตีมัสยิดสองแห่งในไครสต์เชิร์ชเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คนรวมทั้งเด็กเล็ก และมีคนบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

รายงานข่าวหลายแหล่งอ้างตรงกันว่าชายหนุ่มในชุดผู้ต้องหาสีขาวในเครื่องพันธนาการมากับเจ้าหน้าที่คุมตัว ไม่มีท่าทีรู้สึกผิดแต่อย่างใด เขาแสดงใบหน้าแสยะยิ้มให้แก่ผู้สื่อข่าว พร้อมทำมือเป็นสัญลักษณ์พลังคนขาว ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายรูปเขาได้แต่กำชับว่าในการแสดงภาพจะต้องปิดบังใบหน้าเขาด้วยการเบลอหรือทำร่องรอยอย่างอื่นทับ “เพื่อป้องกันไม่ให้ความยุติธรรมถูกเบี่ยงเบน” ซึ่งหมายถึงการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน

เมื่อวันจันทร์ จำเลยคดีฆาตกรรมหมู่ทาร์แรนท์ประกาศเฉดหัวไล่ทนายความ ริชาร์ด ปีเตอร์ส (Richard Peters) ซึ่งทางการรีบแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำเลยตามกฎหมาย ออกจากสารบบการพิจารณาคดีที่ส่งฟ้องตนต่อศาล ทนายความปีเตอร์สแถลงว่า “จำเลยประสงค์จะเป็นตัวแทนของตนเองในคดีที่เขาถูกฟ้อง”

ทนายกล่าวว่า “การพูดจาเบิกความของเขาแสดงถึงความมีเหตุผล เขาไม่ได้พูดจาเลอะเลือนแบบคนสภาพจิตบกพร่อง เขาแสดงท่าทีเข้าใจถ่องแท้ถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น”

ทาร์แรนท์ มีที่อยู่อาศัยในเมืองขนาดเล็ก บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ เป็นอดีตผู้จัดการโรงยิมในออสเตรเลีย เขาเคยประกาศตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ยึดมั่นอุดมการณ์เชิดชูคนขาวแบบสุดโต่ง (white supremacist) เป็นส่วนหนึ่งของพวก ‘นาซียุคใหม่’ (Neo-Nazi) ที่เชื่อว่าคนผิวขาวยิ่งใหญ่เหนือกว่าคนชาติพันธุ์หรือสีผิวอื่น ต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นของคนชาติพันธุ์อื่นเข้ามาตั้งรกรากในประเทศ และเกลียดชังชาวมุสลิมโดยเฉพาะ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยในรายงานว่า ทาร์แรนท์ ผู้ต้องหารายนี้ ถือใบอนุญาตครอบครองและพกพาปืนประเภท A ทำให้เขาสามารถพกอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติได้โดยถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตัวเขาไม่ได้อยู่ในรายชื่อบุคคลต้องเฝ้าระวังของหน่วยความมั่นคงแห่งใด เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สก็อตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) กล่าวถึงผู้ต้องหาทาร์แรนท์ว่าเป็น “ผู้คลั่งไคล้สุดโต่ง นิยมฝ่ายขวา ผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง” เป็นผู้เคยแสดงความชื่นชมต่อนักชาตินิยมผิวขาวหัวรุนแรงคนอื่น และเขาตั้งใจที่จะ “สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว” ต่อต้านคนมุสลิม

บ็อบ พาร์เคอร์ (Bob Parker) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองไครสต์เชิร์ช กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดก่อนหน้านี้หน่วยงานความมั่นคงจึงไม่ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามที่ปรากฏอยู่กับการกระทำของทาร์แรนท์ “ผมคิดว่ามีประเด็นที่ต้องถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่ ดูเหมือนว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ถูกส่งขึ้นออนไลน์ก่อนการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้น และดูเหมือนไม่ได้มีสัญญาณเตือนภัยส่งเสียงดังขึ้นในที่อันเหมาะสมเลย” พาร์เคอร์บอกกับสำนักข่าว Al Jazeera

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ชื่อของ ทาร์แรนท์ ไม่ได้เข้าอยู่ในรายการ ‘ว่าที่ผู้ก่อการร้าย’ ที่ต้องเฝ้าระวังของทางการนิวซีแลนด์

“บุคคลนี้ไม่ได้อยู่ในรายการเฝ้าระวังใดๆ ทั้งของนิวซีแลนด์หรือออสเตรเลีย” เธอกล่าว “สิ่งที่ดิฉันต้องการจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยตอนนี้คือการทำงานเสาะหาความจริงมาให้ได้เพื่อยืนยันว่าเมื่อก่อนนี้เขาควรต้องมีชื่ออยู่ในนั้นหรือไม่”

ประวัติปกติ ไม่เป็นที่จับตา

โฆษกของทบวงตำรวจแห่งรัฐบาลกลางออสเตรเลีย (Australian Federal Police — AFP) ยืนยันต่อสำนักข่าว Al Jazeera ว่า “ชายผู้ต้องหาไม่เป็นที่รู้จักของตำรวจออสเตรเลียในด้านของความคลั่งไคล้หัวรุนแรง หรือพฤติกรรมอาชญากรรมร้ายแรงอย่างอื่น” ผู้ต้องสงสัยอีกสามคนถูกควบคุมตัวพร้อมกับทาร์แรนท์ในวันศุกร์ แต่ในที่สุดตำรวจบอกว่าเขาลงมือทำเพียงคนเดียว

“ทีมต่อต้านการก่อการร้ายร่วมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้เริ่มการสอบสวนอยู่ที่ฟากของออสเตรเลียเพื่อช่วยสนับสนุนตำรวจนิวซีแลนด์” โฆษกของหน่วยตำรวจกลาง กล่าว

ระหว่างช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทาร์แรนท์ใช้เวลาไม่มากนักในออสเตรเลีย มีประวัติการละเมิดกฎจราจรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เขาเคยทำงานเป็นเทรนเนอร์ส่วนบุคคลที่ Big River Gym ในกราฟตัน เมืองขนาดเล็ก ห่างจากซิดนีย์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 500 กิโลเมตร

หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตในปี 2554 ทาร์แรนท์ใช้เงินมรดกที่ได้รับเพื่อเดินทางไปต่างประเทศรวมถึงประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเขาอ้างในแถลงการณ์ว่าเขาเคยเห็น ‘การบุกรุก’ ของพวกผู้อพยพเข้าเมือง

เจ้าของโรงยิม เทรซีย์ เกรย์ (Tracey Gray) บอกกับสื่อออสเตรเลียว่า “ฉันคิดว่าบางสิ่งบางอย่างในตัวเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตลอดช่วงหลายปีผ่านมาที่เขาใช้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ … อาจเป็นตรงไหนสักแห่งก็ได้ซึ่งอาจมีแนวทางจากประสบการณ์ หรือกลุ่มพวกบางอย่างที่เข้าครอบงำตัวตนเขาไว้”

มารี ฟิตซ์เจอรัลด์ (Marie Fitzgerald) คุณยายของผู้ต้องสงสัยเห็นด้วยกับข้อความนี้ พร้อมกล่าวว่า “สื่อบอกว่าเขาวางแผนไว้เป็นเวลานานแล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องของจิตใจเขาที่ไม่ค่อยปกติ ฉันไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่นี่เป็นเพราะว่าเขาได้เดินทางไปต่างประเทศ แล้วเด็กหนุ่มคนนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเด็กหนุ่มที่เรารู้จักอย่างสิ้นเชิง” เธอบอกกับทีวี Channel Nine

ประสาทหลอน เต็มด้วยอันตราย

“ต้นกำเนิดของภาษาของผมคือยุโรป วัฒนธรรมของผมคือยุโรป ความเชื่อทางการเมืองของผมคือยุโรป ความเชื่อทางปรัชญาของผมคือยุโรป เอกลักษณ์ของผมคือยุโรป และที่สำคัญที่สุดคือเลือดของผมก็คือยุโรป” คือส่วนหนึ่งของ ‘คำประกาศ’ ของทาร์แรนท์ ซึ่งมีจำนวนถึง 74 หน้า ซึ่งเขาเรียกมันว่า manifesto ที่เขาได้โพสต์ออนไลน์และส่งถึงหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งเพียงไม่กี่นาทีก่อนเริ่มการโจมตีมัสยิด

‘คำประกาศ’ นั้นแสดงรายละเอียดถึงความมุ่งมั่นต่อต้านการอพยพเข้าตั้งถิ่นฐาน และอุดมการณ์ใหม่ของลัทธิฟาสซิสต์ที่คร่ำครวญถึงความเสื่อมถดถอยของอารยธรรมในยุโรป ขณะที่อธิบายว่าตนเองเป็นเพียง ‘คนขาวธรรมดา’ ทาร์แรนท์ยังอุตส่าห์คาดการณ์ไว้ด้วยว่าเขาอาจได้รับโทษจำคุก 27 ปี เหมือนกับ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela – รัฐบุรุษแห่งอแอฟริกาใต้ผู้ล่วงลับเคยถูกจองจำมาก่อนในอดีต) และเขาบอกความคิดไปถึงขั้นว่าเขาน่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

บางส่วนเป็นการตอบคำถามที่เขาตั้งขึ้นเอง “มีใครบางคนโดยเฉพาะเจาะจงที่ทำให้คุณเป็นคนหัวรุนแรงอย่างที่สุด?” ทาร์แรนท์ เขียน: “มีสิ คนที่มีอิทธิพลต่อผมเหนือกว่าคนอื่นใดคือ แคนเดซ โอเวนส์ (Candace Owens — นักกิจกรรมและผู้จัดรายการสนทนาฝ่ายจารีตนิยมในสหรัฐ) … ทุกครั้งที่เธอพูด ข้อมูลเชิงลึกและมุมมองของเธอเอง ช่วยส่งแรงผลักดันผมให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น…ไกลขึ้น…ไปสู่ความเชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงที่ทับถมอยู่เหนือความอ่อนโยน”

ศาสตราจารย์ เกร็ก บาร์ตัน (Greg Barton) ประธานกลุ่มการเมืองอิสลามโลกที่สถาบัน อัลเฟรด ดีคิน เพื่อโลกาภิวัตน์และความเป็นพลเมือง (Alfred Deakin Institute for Globalisation and Citizenship แห่งออสเตรเลีย) วิเคราะห์ว่ามือปืนทาร์แรนท์ “หลงตัวเองแบบอ่อนด้อยมาก” ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในหมู่ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ทั่วโลก

“ผมคิดว่าเขาวาดจินตนาการขึ้นจากแรงถึงดูดอันมืดมนนี้ นับจากความไม่มีตัวตนไปจนถึงความเป็นฮีโร่ เช่น เบรวิค (Anders Behring Breivik ผู้สังหารหมู่เด็กวัยรุ่น 69 รายในนอร์เวย์เมื่อปี 2011) และผู้ที่ก่อการยิงสังหารหมู่ที่มัสยิดในเมืองควิเบกซิตี้ เมื่อ มกราคม 2017” บาร์ตันกล่าว

“เป็นไปได้ว่าแนวคิดเช่นนี้ถูกนำเข้าจากออสเตรเลีย” เขากล่าวเสริมโดยอ้างถึงอุดมการณ์ความเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) ที่กระตุ้นให้เกิดการโจมตีชาวศาสนิก “สอดคล้องกับความสามารถเข้าถึงและใช้อาวุธร้ายแรงที่นิวซีแลนด์เพื่อใช้ในการโจมตี”

เป็นที่รู้กันดีว่าขณะที่เรื่องการต่อสู้ด้วยแนวคิดทางการเมืองของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง นิวซีแลนด์มีกฎหมายปืนที่ค่อนข้างหย่อนยานเมื่อเปรียบเทียบกับออสเตรเลียเพื่อนบ้านขนาดใหญ่กว่า ที่มีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับการซื้อขายและครอบครองอาวุธปืน

สำหรับคำถามที่ว่าทำไมผู้กระทำผิดจึงไม่อยู่ใน ‘รายการเฝ้าระวังการก่อการร้าย’ ศ.บาร์ตันกล่าวว่า “คนจำนวนมากมายโพสต์ข้อความและเรื่องราวแบบที่ เบรนตัน ทาร์แรนต์ ได้โพสต์เอาไว้ เสมือนเป็นเมฆหมอกกลุ่มใหญ่ของพวกขวาสุดโต่งออนไลน์”

นิวซีแลนด์กับกฎหมายอาวุธปืน

นายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์นแห่งนิวซีแลนด์กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า คณะรัฐมนตรีของเธอได้ตัดสินใจรับหลักการเพื่อเพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้นสำหรับการขออนุญาตเป็นเจ้าของปืนหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ไครสต์เชิร์ช

“ในฐานะคณะรัฐมนตรีเราได้ทำการตัดสินใจอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน” อาร์เดิร์นกล่าวกับผู้สื่อข่าวและคาดว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาวุธปืนของประเทศน่าจะมีการประกาศของทางการอย่างเต็มรูปแบบภายใน 10 วัน มาตรการใหม่เหล่านี้อาจรวมถึงการห้ามครอบครองอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติเช่นแบบ AR-15 โดยเฉพาะ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งโครงการของรัฐเพื่อรับซื้อคืนปืนในรายการต้องห้ามอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังประกาศตั้งคณะกรรมการไต่สวนของรัฐสำหรับคดียิงกราดที่มัสยิดสองแห่งในไครสต์เชิร์ชเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย

ทั้งประเทศนิวซีแลนด์มีอาวุธปืนจำนวน 1.5 ล้านกระบอกอยู่ภายใต้การครอบครองส่วนบุคคลโดยถูกกฎหมาย หลังจากเกิดเหตุมีเสียงเรียกร้องดังขึ้นในสังคมอีกครั้งเพื่อให้ทางการห้ามบุคคลครอบครองปืนกึ่งอัตโนมัติ ก่อนหน้านี้ความพยายามเรียกร้องให้จัดระเบียบกฎหมายอาวุธปืนอย่างเข้มงวดมากขึ้นประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นของฝ่ายผู้สนับสนุนอาวุธรวมทั้งวัฒนธรรมแห่งการล่าสัตว์

ร้านขายปืนแห่งหนึ่งในเมืองไครสต์เชิร์ชเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมายอมรับว่าได้ขายปืนทางออนไลน์ให้กับผู้ต้องหาผิวขาวที่สังหารศาสนิกไป 50 รายในการยิงที่มัสยิด

ในการแถลงข่าว เดวิด ทิพเพิล (David Tipple) เจ้าของร้านปืน ‘Gun City’ กล่าวว่าทางร้านได้ขายปืนสี่กระบอกรวมกับกระสุนให้แก่ผู้ต้องหาทาร์แรนท์ โดย “กระบวนการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ออนไลน์ที่ผ่านการตรวจสอบจากตำรวจเรียบร้อยแล้ว”

นายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์นแถลงว่าผู้โจมตีใช้ปืนรวมห้ากระบอก เป็นปืนกึ่งอัตโนมัติสองกระบอกซึ่งซื้อด้วยใบอนุญาตปืนธรรมดา และปืนได้ถูกปรับแต่งแก้ไขให้ยิงต่อเนื่อง

แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทาร์แรนท์ได้ใช้ปืนกระบอกใดๆ ที่ซื้อจากร้าน Gun City ในการยิงสังหารเมื่อวันศุกร์หรือไม่

“เราตรวจพบว่าไม่มีอะไรผิดปกติสำหรับผู้ถือใบอนุญาตคนนี้” เจ้าของร้านกล่าวหมายถึงมือปืนผู้ต้องหา

หลังเกิดเหตุกราดยิง ร้าน Gun City ถูกชาวเมืองวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตั้งแสดงป้ายโฆษณาของร้านริมถนนที่แสดงภาพให้เห็นว่าผู้ปกครองกำลังช่วยเหลือเด็กๆ ในการฝึกยิงเป้าหมายด้วยปืนไรเฟิลว่าเป็นภาพที่ไม่สมควร


  • กฎหมายอาวุธปืนของนิวซีแลนด์ปัจจุบันกำหนดว่าบุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไปก็ครอบครองปืนได้แล้ว และต้องอายุถึง 18 จึงจะสามารถครอบครองปืนกึ่งอัตโนมัติแบบของทหารได้ และทุกคนเมื่ออายุเลยจากนั้นไปที่ตำรวจรับรองว่า ‘เหมาะสมและถูกควร’ ก็จะสามารถเป็นเจ้าของอาวุธปืนได้
  • ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของปืนต้องมีใบอนุญาต แต่ตัวปืนของเอกชนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องถูกนำไปขึ้นทะเบียน มีเพียงนิวซีแลนด์กับอีกไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกฎเกณฑ์ลักษณะนี้
  • บุคคลผู้ขอใบอนุญาตเพื่อเป็นเจ้าของปืนต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและบันทึกด้านสุขภาพ
  • เมื่อบุคคลได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว เขาอยากจะซื้อหาและครอบครองอาวุธปืนอีกสักกี่กระบอกก็สามารถทำได้โดยไม่มีกฎหมายห้าม

พวกขวาจัด

ในออสเตรเลีย ประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ของนิวซีแลนด์ เมื่อวันเสาร์ วุฒิสมาชิกฝ่ายขวาจัด เฟรเซอร์ แอนนิง (Fraser Anning) ถูกนักการเมืองและชาวออสเตรเลียก่นประณามอย่างหนัก หลังจากเขาออกมาตำหนิถึงการยิงกราดที่ไครสต์เชิร์ช ว่าต้นเหตุเกิดมาจาก “ความกลัวถึงการมีจำนวนผู้อพยพมุสลิมที่เพิ่มขึ้นมากเกิน” ขณะที่กล่าวแถลงเช่นนั้นเขาโดนเด็กหนุ่มอายุ 17 เอาไข่สดใบหนึ่งโขกเข้าใส่ศีรษะจนเปรอะเปื้อนไปหมด วุฒิสมาชิกตอบโต้ด้วยการชกเด็กหนุ่มไปสองหมัด จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นลุกลาม

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ออกมาประกาศว่าควรจะใช้ “มาตรการทางกฎหมายเต็มรูปแบบ” กับ สว.แอนนิง แห่งรัฐควีนส์แลนด์ หลังจากเขาลงมือใช้กำลังต่อหน้าต่อตาสาธารณชนและขณะมีการถ่ายทอดสด

รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกแถลงการณ์ยินดีต่อมาตรการประณามวุฒิสามาชิกผู้ไม่ได้สังกัดพรรครายนี้ ขณะที่ทั้งสมาชิกพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเตรียมการขึงพืดแอนนิงกลางสภาด้วยแถลงการณ์ประณามอย่างไม่ไว้หน้าเนื่องจากถ้อยคำของเขาที่กล่าวเบี่ยงเบนต้นเหตุของการสังหารหมู่ที่ไครสต์เชิร์ช

ญัตติดังกล่าวซึ่งไม่ได้แบ่งฝักฝ่ายพรรคใดจะถูกยื่นต่อสภาเมื่อถึงวาระเปิดรัฐสภาในเดือนหน้า มีใจความสำคัญประณามแอนนิงในการ “ให้ความคิดเห็นที่มีผลร้ายและแบ่งแยก โดยพยายามกล่าวโทษผู้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่น่ากลัว และให้ร้ายผู้คนบนพื้นฐานของศาสนา” และบอกว่าความเห็นแบบนั้นไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับรัฐสภาและประชาชนออสเตรเลีย

ประเด็นการรับผู้อพยพเข้าเมืองของนิวซีแลนด์และออสเตรเลียกลายเป็นสิ่งอ่อนไหวและเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยกของหลายฝักฝ่ายในวงการเมืองและสังคมของทั้งสองประเทศมานาน บางครั้งก็ปะทุขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ให้ถกเถียงกันได้ทั้งประเทศ

แต่ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับฝ่ายคู่อาฆาตของวุฒิสมาชิกแอนนิงหัวหอกของพลังฝ่ายขวาแห่งออสเตรเลียเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม

‘มือไข่’ วิลเลียม คอนนอลลี (William Connolly) อายุ 17 ปี ได้รับสมญา ‘Egg Boy’ จากสื่อมวลชนและชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คในทันทีหลังจากคลิปแสดงภาพที่เขาโจมตีศีรษะของวุฒิสมาชิกชาวนีโอนาซีด้วยไข่ไก่จนแหลกกระจายเผยแพร่ออกไปยังไม่ทันจะข้ามคืน

ข้อความสนับสนุน Egg Boy พรั่งพรูเป็นคลื่นกระเพื่อมขนาดใหญ่เพื่อให้กำลังใจแก่เขาหลังจากโดนหมัดของวุฒิสมาชิกสวนเข้าใส่ใบหน้า แล้วโดนพวกบอดี้การ์ดรุมขย้ำ ภายใน 24 ชั่วโมง มีคนตั้งกองทุนไว้ให้เขาใช้สู้คดีและได้รับบริจาคผ่านยอด 12,000 ดอลลาร์ไปแล้ว

เพียงคืนเดียวยอดผู้ติดตามคอนนอลลีในอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นจากสองสามร้อยไปสู่ 197,000 รายและยังคงไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ทุกคนเขียนให้กำลังใจเขา วงดนตรีหลายวง เช่น Violent Soho, Hilltop Hoods และ The Living End เสนอตั๋วคอนเสิร์ตฟรีให้เขาจนตลอดชีวิต ข่าวการ ‘ตีไข่’ ของเขาได้รับการส่งต่อและกล่าวขวัญในทางว่าเป็น ‘วีรกรรมดี’ ไปทั่วโลก ทั้งสำนักข่าวและนิตยสาร เช่น Rolling Stone US, UK’s ITV, Al Jeezera และ The New York Times

มีหลายเสียงเรียกร้องให้เลือกหนุ่มน้อยคอนนอลลีขึ้นเป็น ‘ชาวออสเตรเลียนแห่งปี’ (Australian of The Year)

แต่หลังจากเหตุการณ์หนุ่มน้อยก็เพิ่งออกปรากฏตัวทางคลิปวิดีโอเพียงหนเดียว ซึ่งเขาส่งเสียงพูดเตือนผู้คนว่ากรุณาอย่าทำอะไรลงไปแบบเดียวกับที่เขาทำเลย “นอกเสียจากว่าท่านเจอกะไอ้งั่งเข้าถึง 30 คน”

อ้างอิง

  • AFP
  • BBC
  • Al Jazeera
  • abc.net.au
  • sbs.com.au

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า