ถ้าการเมืองดี ประเทศเปลี่ยนได้: กรณีศึกษา ‘นิวซีแลนด์’ จากเครือจักรภพสู่ฝั่งฝันแห่งสาธารณรัฐ

นิวซีแลนด์ ประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกค่อนไปทางซีกโลกใต้ ห่างไกลจากประเทศอื่นที่ดูธรรมดา น่าเบื่อ ไร้ความเร้าใจ แต่หากท่านผู้อ่านลองเข้าไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ต อาจประหลาดใจกับการจัดอันดับของประเทศนี้

เช่น เว็บไซต์หางานสำหรับคนต่างชาติจะพาดพิงถึงรายงานสำรวจของ ‘Expat Explorer’ ของกลุ่มธนาคาร HSBC ปี 2017 ที่ระบุว่า นิวซีแลนด์ถูกจัดอันดับสูงเป็นที่ 6 ของโลกในเรื่องความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในอาชีพการงานสูง และเป็นถูกจัดให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด (The Best Country to Live) ติดต่อกันนานถึง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2017 

ในปีเดียวกันนี้เองก็ได้รับการจัดอันดับจาก UN ในรายงาน ‘2017 Human Development Index’ อยู่ในอันดับที่ 13 จากจำนวนทั้งหมด 187 ประเทศ โดยเป็นประเทศที่มีความกดดันในชีวิตน้อย ปราศจากมลภาวะทางอากาศและการจราจรติดขัดที่บั่นทอนชีวิตและสุขภาพ อีกทั้งยังรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และจำนวนประชากรที่ไม่แออัด นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในชีวิตสูง คดีอาชญากรรมต่ำ มีระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี มีสวัสดิการต่างๆ จากรัฐที่ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยส่วนตัว ผมชอบประเทศนี้ เคยอาศัยอยู่ที่นั่นหลายปี ทั้งเรียนหนังสือและทำงาน จึงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม วิถีชีวิต ขนบ ความคิดความเชื่อ และชีวิตผู้คนพอสมควร และได้เขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตของผมเกี่ยวกับนิวซีแลนด์ลงใน waymagazine.org ไปแล้วหลายตอน ท่านผู้อ่านบางคนอาจเคยอ่านและคุ้นเคยกับเรื่องเล่าเหล่านี้บ้าง ตัวผมเองพยายามติดตามข่าวคราว ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้เสมอมา ด้วยความสนใจและความชอบส่วนตัว

นอกจากนี้ ผมคิดว่าเราอาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาไปสู่สังคมที่มีความผาสุกและสงบสุขมากขึ้น

กล้าเปลี่ยนแปลง

ในความเห็นของผม แม้คนคีวีจะดูเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในสังคมชุมชนเล็กๆ แวดล้อมด้วยครอบครัวและมิตรสหาย ไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องราวในโลกกว้างที่ไกลออกไป แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้คนเหล่านี้ (อย่างน้อยเท่าที่ผมรู้จักมักคุ้น) จะเป็นคนใจแคบหรือหัวเก่า ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม กลับเป็นคนใจกว้างทีเดียว

ผมยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่า เหตุใดผู้คนในประเทศเล็กๆ แห่งนี้จึงมีจิตใจที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ยอมรับและรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่บางครั้งอาจเห็นตรงข้ามกับตน แต่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะคนคีวีส่วนใหญ่เชื่อในเรื่อง ‘เสรีภาพของปัจเจกบุคคล’ ที่รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงสามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะต่างๆ ได้อย่างเสรีภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้

เสรีภาพที่ว่านี้มาคู่กับ ‘สิทธิ’ ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนมีอย่างเสมอภาคกัน ได้รับการรับรองและปกป้องคุ้มครองด้วยกฎหมายเช่นกัน และสิทธิจำนวนหนึ่ง เช่น สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ ก็เป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลมีร่วมกัน สามารถเข้าถึงและใช้ได้อย่างเท่าเทียม (ผมจะกล่าวถึงอีกครั้งข้างหน้า)

ดังนั้น เสรีภาพจึงมิใช่สิ่งว่างเปล่าหรือเป็นเรื่องนามธรรม แต่มีนัยที่พาดพิงถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของปัจเจกบุคคล เป็นผลประโยชน์ที่ทุกคนต้องแสดงสิทธิของตนและใช้ประโยชน์เมื่อได้มา ในแง่หนึ่ง เสรีภาพในการแสดงออกของแต่ละบุคคลจึงเป็นเสมือนการเรียกร้อง ต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ของตนที่ปรากฏตามตัวบทกฎหมาย

เปลี่ยนชื่อประเทศ

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งพาดพิงถึงพรรคการเมืองของคนเมารีในนิวซีแลนด์ที่เรียกตัวเองว่า ‘เต พาติ มาวรี’ (Te Pāti Māori) ได้รวบรวมรายชื่อของประชาชนประมาณ 70,000 คน เพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐสภา ขอให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากชื่อ ‘นิวซีแลนด์’ ที่ใช้ในอยู่ปัจจุบันไปเป็น ‘อาวเตอารัว’ (Aotearoa) คำในภาษาเมารีที่มีความหมายว่า ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ ที่เชื่อกันว่าเป็นคำแรกเริ่ม/ดั้งเดิมที่ชนพื้นเมืองใช้เรียกขานดินแดนแห่งนี้ ในคำร้องชี้แจงว่า การเปลี่ยนไปใช้ชื่อนี้จะเป็นการให้อัตลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศ อันเป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองเมารีมาแต่เดิม และยังระบุให้เปลี่ยนชื่อเมืองและสถานที่ต่างๆ ในประเทศเป็นภาษาเมารีอีกด้วย

อีก 2 เดือนต่อมา ข่าวนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แม้แต่สื่อใหญ่ๆ อย่าง The Guardian ของอังกฤษ NPR และ The Wall Street Journal ของอเมริกา ยังนำไปรายงานด้วย

ทว่า มีคำถามตามมาคือ คำว่า ‘อาวเตอารัว’ มาจากไหน? นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยไวกาโตได้ระบุไว้ว่า ไม่มีความชัดเจนว่าคำนี้ที่มักแปลกันว่า ‘เมฆขาวเป็นแนวยาว’ หรือ ‘โลกอันสว่างไสวเป็นแนวยาว’ มีที่มาจากไหน หรือเริ่มใช้เมื่อไร แต่มีหลักฐานว่า เซอร์จอร์จ เกรย์ (Sir George Grey) อดีตผู้สำเร็จราชการของนิวซีแลนด์ ผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ใช้คำนี้ในงานเขียนของตนในระหว่าง ค.ศ. 1855-1857 เพื่อใช้อ้างอิงในหนังสือพิมพ์ภาษาเมารีในสมัยนั้น นอกจากนี้ ใน ‘The Māori Legal Corpus’ อันเป็นการรวบรวมเอกสารด้วยระบบดิจิทัล ได้ระบุว่าตั้งแต่ ค.ศ. 1829-2009 คำว่า ‘อาวเตอารัว’ ถูกใช้บ่อยถึง 2,748 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีคำทักท้วงจากเผ่างายทาฮู (Ngāi Tahu) ชนเมารีกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บนเกาะใต้ ว่ามีชื่อเรียกเกาะใต้ คือคำว่า ‘เต วาอิพูนามู’ (Te Waipounamu) ที่หมายถึงดินแดนในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ (ของประเทศ) ส่วนคำว่า ‘อาวเตอารัว’ นั้นเป็นคำเรียกเกาะเหนือ ดังนั้น หากจะใช้คำเรียกที่ถูกต้องก็ควรเป็น ‘อาวเตอารัว เม เต วาอิพูนามู’ (Aotearoa me Te Waipounamu) อันเป็นการเรียกรวมทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้

การเปลี่ยนชื่อประเทศดูมีอุปสรรคอยู่มาก ดังนั้นคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรืออย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ดูยังไม่พร้อม เช่น โพลหนึ่งที่ทำขึ้นในปี 2021 ระบุผลสำรวจว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มประชากรตัวอย่าง หรือราว 58 เปอร์เซ็นต์ ยังคงต้องการใช้ชื่อประเทศในปัจจุบัน มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อใหม่ ในขณะที่ราว 31 เปอร์เซ็นต์ เสนอให้ใช้ทั้งสองชื่อ นั่นคือ ‘Aotearoa New Zealand’ ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวอย่างสงวนท่าทีต่อข้อเสนอนี้

ที่ไม่น่าประหลาดใจคือเสียงคัดค้านจากนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม ที่บางคนถึงกับโจมตีว่านี่เป็นความคิดของพวกฝ่ายซ้ายสุดขั้ว หรือสื่อมวลชนฝ่ายขวาอย่าง Sky News ซึ่งเป็นบริษัทสื่อใหญ่ของออสเตรเลียที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมก็ได้แสดงความเห็นต่อต้านในเรื่องนี้ และได้กล่าวเตือนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียอย่าดำเนินรอยตามนายกฯ ของนิวซีแลนด์

แน่นอนว่า การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศคงต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกนานัปการ รวมถึงคำทัดทานจากคนเมารีด้วยกันเอง ในขณะที่มีผู้เสนอความเห็นในแง่ดีว่าการเปลี่ยนชื่อประเทศคงเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อหรือไม่ก็ตาม ประเทศเล็กๆ อย่างนิวซีแลนด์ก็ได้แสดงให้โลกประจักษ์ถึงความสำคัญของชนพื้นเมือง การให้เกียรติและเคารพต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า นิวซีแลนด์เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมในการถกเถียง/โต้แย้งด้วยการใช้เหตุผล หากเหตุผลนั้นๆ ฟังขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ช่วยให้สังคมโดยรวมมีความผาสุกและสงบสุขมากขึ้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุน รวมถึงการเสนอเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านรัฐสภา อันเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อเป็นหลักประกันถึงสิทธิอันเท่าเทียมกันของทุกคน และการให้ความคุ้มครอง/ปกป้องตาม ‘หลักนิติธรรม’ (Rule of Law) ซึ่งในกรณีของชนพื้นเมืองเมารี กฎหมายนิวซีแลนด์ได้ล้ำหน้าไปไกลมาก และไกลกว่าประเทศอื่นๆ

สู่ ‘สาธารณรัฐ’

การเปลี่ยนชื่อประเทศคงไม่ใช่เรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไม่แพ้กันก็อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือการเปลี่ยนเป็นประเทศสาธารณรัฐ ที่หลายฝ่ายเห็นด้วยและยอมรับว่าเป็นไปได้

นิวซีแลนด์มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทุก 3 ปี แต่เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ จึงมีกษัตริย์หรือราชินีของอังกฤษเป็นประมุขแห่งรัฐ (Head of State) โดยมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ (Governor General) ขึ้นเป็นตัวแทนของกษัตริย์/ราชินี และปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ แทนพระองค์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ อย่างไรก็ตาม ความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไปเป็นสาธารณรัฐเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว

ในปี 1966 มีการก่อตั้ง ‘สมาคมสาธารณรัฐแห่งนิวซีแลนด์’ (Republic Association of New Zealand) ขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น ‘พรรคการเมืองสาธารณรัฐ’ (Republic Party) ในปี 1967 แต่เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจึงต้องยกเลิกพรรคไปใน ค.ศ. 1974 กระทั่ง 20 ปีต่อมา คือในปี 1994 ได้มีการรวมตัวกันขึ้นเป็น ‘พันธมิตรสาธารณรัฐแห่งนิวซีแลนด์’ (Republic Coalition of New Zealand) ทว่าก็ยังมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย 1 ปีต่อมาจึงมีการก่อตั้ง ‘สันนิบาตราชาธิปไตยแห่งนิวซีแลนด์’ (Monarchist League of New Zealand ที่ในปัจจุบันรู้จักกันในนาม ‘ราชาธิปไตยแห่งนิวซีแลนด์’ (Monarchy New Zealand) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์

ที่ดูน่าสนใจอย่างยิ่งคือ แม้แต่จิม บอลเจอร์ (Jim Bolger) อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1990-1997 เคยเป็นหัวหน้าของ National Party พรรคการเมืองที่มีทัศนะในเชิงอนุรักษนิยม ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเคยกล่าวแถลงต่อรัฐสภาใน ค.ศ. 1994 ถึงอนาคตทางการเมืองของนิวซีแลนด์ที่จะเปลี่ยนเป็น ‘สาธารณรัฐ’ และมีการเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดี’ เป็นประมุขแห่งรัฐ โดยกล่าวยอมรับว่า “กระแสของประวัติศาสตร์มุ่งหน้าไปทางเดียว” นั่นคือการเป็นสาธารณรัฐ

นอกจากนี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเมื่อครั้งที่ยังเป็นนายกฯ ของประเทศ เขาเคยสนทนากับสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 มากกว่า 1 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องที่นิวซีแลนด์จะเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐด้วยตนเอง สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงไม่แปลกใจกับเรื่องนี้ ตรงกันข้าม ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาในประเด็นต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว และเขายังกล่าวติดตลกอีกว่า “และพระองค์ก็มิได้ทรงตรัสให้ตัดศีรษะของผม”

จาซินดา อาร์เดิร์น

ในปี 2021 จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แสดงความเห็นว่า แม้เธอจะไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรีบด่วน แต่ภายในช่วงชีวิตของเธอคงได้เห็นนิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ

ในความคิดของผม การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในขณะนี้ จะมีนัยสำคัญต่อการที่นิวซีแลนด์กลายเป็นสาธารณรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในด้านหนึ่งฝ่ายที่นิยมสถาบันกษัตริย์ในนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เคารพรักและเทิดทูนสมเด็จพระราชินีนาถฯ แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าพวกเขาเคารพรักหรือมีความนิยมในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ หรือไม่ มากน้อยเพียงใด? แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่น หนุ่มสาว คนเมารีและชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ก็มิได้มีความผูกพันกับราชวงศ์อังกฤษ (ความนิยมชมชอบต่อควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นของคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมากกว่า) ดังนั้น การที่นายกฯ อาร์เดิร์นกล่าวว่า นิวซีแลนด์อาจกลายเป็นสาธารณรัฐในช่วงชีวิตของเธอจึงดูมีความเป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ตาม เช่นที่นายกฯ อาร์เดิร์นได้กล่าวไว้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรีบด่วน ทั้งนี้เพราะนิวซีแลนด์ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอีกมากมาย เช่น ค่าครองชีพสูง ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ฯลฯ ซึ่งต้องการการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะนี่มิใช่เป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจ-สังคมเท่านั้น หากยังเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองที่มีนัยของการอยู่รอดของรัฐบาลและพรรคแรงงานอีกด้วย – จะกล่าวถึงเรื่องนี้ข้างหน้า

(ออสเตรเลียก็เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอีกประเทศหนึ่งที่มีการถกเถียง/โต้แย้งในเรื่องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และดูจริงจังยิ่งกว่านิวซีแลนด์เสียอีก เนื่องจากฝ่ายที่สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐมีเป็นจำนวนมาก)

สิทธิเชิง ‘จิตวิญญาณ’

ท่านผู้อ่านอาจงงกับคำพาดหัวในหัวข้อย่อยนี้ สงสัยว่าอะไรคือสิทธิเชิง ‘จิตวิญญาณ’? และทำไมจึงสำคัญ? เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับ “สิทธิในแง่ ‘จิตวิญญาณ’ ชนพื้นเมืองเมารี” และสะท้อนถึงกฎหมายของนิวซีแลนด์ที่วางอยู่บนหลักนิติธรรม สร้างความชอบธรรมด้วยการให้สิทธิที่เท่าเทียมกันแก่ผู้คนทุกกลุ่ม (ในกรณีนี้คือชนพื้นเมือง) ยอมรับความคิดความเชื่อของทุกฝ่าย กล้าที่จะเสนอเรื่องที่ไม่เคยมีหรือเคยปฏิบัติมาก่อน และกล้าที่จะลองทำในสิ่งใหม่ – ที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นเรื่องที่ผู้อื่นลอกเลียนแบบเพื่อนำไปใช้

ในปี 2017 รัฐสภาของนิวซีแลนด์ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า ‘เต อะวา ตูพูอา’ (Te Awa Tupua) อันหมายถึง ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ (Whanganui River Claims Settlement) เพื่อรับรองสถานภาพการเป็นบุคคลทางกฎหมายของแม่น้ำสายนี้ ให้มีสิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังมีนัยของการยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับชาวเมารีเผ่าวังกานูอิ ผู้ดำรงชีวิตอยู่ตามลำน้ำ ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและมีความเฉพาะ เพราะสำหรับชนเผ่าวังกานูอิ ลำน้ำสายนี้มิได้เป็นเพียงเป็นแหล่งอาหารเท่านั้น หากยังเป็น ‘แม่น้ำแห่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์’ จึงมีความผูกพันเชิง ‘จิตวิญญาณที่ลึกล้ำ’ ระหว่างผู้คนกับลำน้ำสายนี้

แม่น้ำวังกานูอิ

กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นการรับรองและคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของชาวเมารีเผ่าวังกานูอิ ไม่เพียงแต่ที่อยู่ในแม่น้ำและตลอดลำน้ำเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงเทือกเขาที่ล้อมรอบไปจนจดชายฝั่งทะเล ตลอดจนองค์ประกอบทางกายภาพและเมตาฟิสิกส์ ซึ่งมีความหมายด้านจิตวิญญาณนั่นเอง สภาวะทั้งหมดนี้ถือรวมว่า ลำน้ำ ธรรมชาติแวดล้อม และผู้คน ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มิอาจแยกออกจากกันได้ โดยมี ‘ผู้พิทักษ์คุ้มครอง’ สองคนปฏิบัติหน้าที่แทนและปกป้องผลประโยชน์ของแม่น้ำสายนี้

‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ อีกทั้งยังมีความแหวกแนวในการเสนอวิธีคิดใหม่ มุมมองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นหลักที่ระบุว่าแม่น้ำวังกานูอิมีฐานะเทียบเท่าสิ่งมีชีวิต และสถานภาพของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย โดยภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของกฎหมายประเภทนี้ และมีประเทศอื่นนำไปประยุกต์ ปรับเปลี่ยนเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้ในสังคมของตน

จากกรณีเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศและกฎหมายฉบับ ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่านิวซีแลนด์เคารพสถานภาพของชนพื้นเมือง ยินยอมและพร้อมที่จะรับรองข้อโต้แย้ง คำทัดทานและความคิดเห็นที่แตกต่างของชนพื้นเมืองเท่านั้น หากยังสะท้อนว่าประเทศนี้มีกลไกและระบบกฎหมาย-การเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ ทั้งหลายเรียกร้องสิทธิและอำนาจทางการเมืองได้ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาล ‘เอาคนเป็นตัวตั้ง’ เน้นความผาสุกของประชากร ลดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อสร้างสมานฉันท์ในสังคม การให้อำนาจชาวเมารีและชนกลุ่มอื่นๆ ในการเรียกร้อง มีส่วนในการตัดสินใจ และการเข้ามีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ รวมถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและจากพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ เหล่านี้นอกจากจะเป็นการรับรองสิทธิที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว แต่ยอมรับ รับฟัง และรับรองอำนาจของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่เสมอ

ชนพื้นเมืองเมารี

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือกฎหมายฉบับ ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ ไม่เพียงแต่ได้เปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และมุมมองของคนนิวซีแลนด์ต่อ ‘คนอื่น’ ที่แตกต่างจากเราเท่านั้น หากยังทำให้เราต้องตรวจสอบตัวเองในประเด็นเรื่องสิทธิและอำนาจของคนอื่น และเรื่องการอยู่ร่วมกันกับชนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราอย่างเข้าอกเข้าใจกัน อย่างเท่าเทียมกัน มีการแบ่งปันกัน และมีความสงบสันติ (ผมอภิปรายถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว ใน “แม่น้ำคือบุคคล การคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง”)

สิทธิเท่าเทียมกัน

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้คำนึงและตระหนักถึงสิทธิอันเท่าเทียมกันของประชาชน และได้พยายามที่จะสนับสนุนให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริงและดำรงไว้ด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ สิทธิในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว เช่น หาดทรายริมทะเล ตลิ่งริมแม่น้ำ ป่าไม้ ทางเดินตามป่าเขาที่เป็นอุทยานธรรมชาติ ฯลฯ ล้วนเป็นบริเวณที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปเดินเล่น ปิกนิก ชมวิว หรือแม้แต่เข้าไปตกปลา หาและเก็บพืชพรรณธัญญาหารที่ขึ้นตามฤดูกาลได้ เป็นสิทธิที่พึงมีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (ที่ผมได้เขียนถึงอย่างละเอียดไว้แล้วใน “โต๋เต๋แบบจนๆ: ‘อาวเตอารัว’ สิทธิในธรรมชาติเป็นของทุกผองชน”)

สิทธิในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เป็นเพียงหนึ่งในสิทธิอีกมากมายที่คนคีวีทั้งหลายมี ด้วยเหตุนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศจึงคำนึงถึงเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตนพึงมีพึงได้ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

‘ศาล’ ที่ปกป้องเด็กและเยาวชน

ในความเห็นของผม ระบบกฎหมายและหลักความยุติธรรมของประเทศนี้ให้ความสำคัญต่อผู้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชน ดังจะเห็นได้จากกรณีข้างล่างนี้

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีข่าวใหญ่ชิ้นหนึ่งในนิวซีแลนด์ – และภายหลังในสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่นำไปสู่การออกกฎหมายฉบับใหม่ – เกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ นาม ฮิลารี ฟอร์ทิช (Hilary Foretich) ที่ตายายของเธอพาตัวหลบหนีออกจากสหรัฐฯ แล้วไปซ่อนตัวอาศัยอยู่ในเมืองไครสต์เชิร์ชนานถึง 2 ปีครึ่ง ก่อนที่ทั้งสามคนจะถูกค้นพบ และตามมาด้วยข่าวใหญ่

ฮิลารีเป็นลูกสาวของอีริค ฟอร์ทิช (Eric Foretich) และเอลิซาเบธ มอร์แกน (Elizabeth Morgan) ทั้งคู่เป็นหมอ แต่ฝ่ายภรรยาได้ฟ้องขอหย่าร้างจากสามี โดยกล่าวหาเขาว่าได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกสาวของทั้งสอง อีริค ฟอร์ทิช ผู้เป็นสามี ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เอลิซาเบธจึงขอให้พ่อแม่ของตนพาฮิลารีหลบหนีออกจากประเทศ สามคนตายายและหลานสาวหายตัวไปอย่างลึกลับจนกระทั่งถูกค้นพบในปี 1989 และทำให้เอลิซาเบธถูกศาลตัดสินจำคุกด้วยข้อหาละเมิดศาล เพราะเธอปฏิเสธที่จะให้การว่าลูกสาวของตนอยู่ที่ใด เธอถูกคุมขังอยู่ในคุกนานถึง 25 เดือน เมื่อข่าวการค้นพบตัวฮิลารีผู้เป็นลูกสาวปรากฏขึ้น

ผมสนใจข่าวนี้ไม่ใช่เพราะเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อต่างๆ ทั้งในนิวซีแลนด์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาพากันประโคมข่าว และกลายเป็นคดีความในศาลเยาวชนและครอบครัวของนิวซีแลนด์ แต่เพราะเหตุที่ศาลเยาวชนฯ คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเหนือสิ่งอื่นใด และเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองฮิลารี จึงได้ออกคำสั่งห้ามพ่อแม่ของเธอเข้ามาเกี่ยวข้องกับเธอ แม้ว่าอีริค ผู้เป็นพ่อจะพยายามยื่นคำขอพบตัวเธอโดยอ้างถึงคำสั่งของศาลสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้เขาพบเธอก็ตาม แต่ศาลนิวซีแลนด์กลับไม่สนใจรับคำร้อง เอลิซาเบธ ผู้เป็นแม่ก็มิได้รับอนุญาตเช่นกัน โดยศาลได้พิจารณาให้ฮิลารีอยู่ภายใต้การดูแลของตายายที่อยู่กับเธอมาโดยตลอดในนิวซีแลนด์

ที่อาจจะน่าสนใจยิ่งกว่า คือศาลฯ มีคำสั่งห้ามสื่อทั้งหลายทำข่าวเกี่ยวกับฮิลารีโดยเด็ดขาด หากสื่อใดหรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกจับกุมและคุมขังด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งศาล

ถ้าความทรงจำไม่ทรยศผม ตอนนั้นมีสื่ออเมริกันจำนวนมากเดินทางเข้าไปในเมืองไครสต์เชิร์ชเพื่อทำข่าว พ่อแม่ของฮิลารีก็บินจากสหรัฐฯ ไปเมืองนี้เช่นกัน – แม่ของเธอเพิ่งถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ – แต่พอมีคำสั่งศาลห้ามสื่อทำข่าว สื่ออเมริกันบางแห่งก็เริ่มส่งเสียงแสดงความไม่พอใจ อ้างถึงอิสรภาพในการทำข่าว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสื่อและตำรวจนิวซีแลนด์ยืนยันถึงคำสั่งศาลที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และให้เหตุผลว่าสื่อและวิธีการทำข่าวในนิวซีแลนด์แตกต่างจากในอเมริกา จารีตและธรรมเนียมปฏิบัติก็ต่างกัน ทำให้สื่ออเมริกาทั้งหลายต้องถอยหลังเพราะกลัวติดคุก พากันบินกลับประเทศ แม้แต่พ่อและแม่ของฮิลารี ซึ่งพยายามใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ก็ไม่กล้าให้สัมภาษณ์สื่อ หรือพูด/แสดงความคิดเห็นแก่สาธารณชน เพราะเกรงว่าจะเป็นการละเมิดคำสั่งศาล

ภายหลังฮิลารีบินกลับไปอยู่กับแม่ของเธอในสหรัฐฯ และได้ขอคำสั่งศาลห้ามพ่อของเธอติดต่อกับเธอ ส่วนพ่อของเธอก็ถูกภรรยาอีกคนฟ้องร้องว่าได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกสาวของเธอเช่นกัน แต่อีริคได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในชั้นศาล ปัจจุบันฮิลารีมีอายุราวปลา 30 ถึงต้น 40 ปี มีอาชีพนักร้อง ผู้เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘Elena Mitrano’

กล้ายืนข้างกฎหมาย

หนึ่งในประสบการณ์ชีวิตในนิวซีแลนด์ที่ผมไม่เคยลืม เกิดขึ้นในช่วงที่ผมทำงานในกรุงเวลลิงตัน เป็นคืนวันศุกร์ที่ผู้คนพากันเตร็ดเตร่ในเมืองหลังเลิกงาน – คนจำนวนมากเข้าผับดื่มเบียร์ บางคนเข้าร้านอาหาร บ้างก็ช็อปปิง หรือเดินเล่นชมร้านรวง แสงสี – และผมกำลังนั่งรถเมล์กลับที่พัก ซึ่งเป็นบ้านเช่าอยู่ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน

หลังจากดื่มกับเพื่อนร่วมงานในผับอยู่พักใหญ่ก็ถึงเวลากลับที่พัก ตอนนั้นน่าจะราว 3 ทุ่มกว่า หรือ 4 ทุ่ม พอรถเมล์สายที่ผ่านบ้านเช่ามาถึงผมก็ขึ้นรถ บนรถเมล์มีผู้โดยสารมากพอควร แต่ก็ยังพอมีที่ว่างให้รู้สึกว่าไม่แน่น ไม่อึดอัด ผมยืนอยู่ด้านหน้าของรถ ชายคนขับรถน่าจะเป็นชาวโพลินีเซีย ไม่ใช่คนเมารี ข้างหลังคนขับเป็นที่นั่งผู้โดยสาร มีชายโพลินีเซียคนหนึ่งนั่งอยู่ คงเป็นเพื่อนของคนขับรถเพราะชวนกันคุยอย่างสนุกสนาน ที่นั่งด้านซ้ายมือ ตรงข้ามกับชายโพลินีเซีย เป็นผู้โดยสารชายผิวขาว อายุน่าจะราว 50 กว่า ผมยาวเป็นกระเซิง เสื้อผ้าดูเก่ามาก และคงดื่มเบียร์มากพอควรแต่ยังดูมีสติ นั่งเงียบๆ ไม่ยุ่งกับใคร

หนุ่มโพลินีเซียดูท่าจะคุยออกรส – แกพูดมากกว่าคนขับ ผู้ตั้งสมาธิอยู่กับการขับรถ ยวดยานบนถนนและผู้โดยสารในรถเมล์ – แล้วแกก็ล้วงบุหรี่ออกมาจุดสูบ แต่ยังไม่ทันที่คนขับรถจะออกปากทัก ชายผิวขาวผมกระเซิงที่นั่งอยู่ตรงข้ามก็มองหน้าแก แล้วพูดขึ้นว่า

“Mate, you can’t smoke here” (ไอ้เกลอ สูบบุหรี่ไม่ได้) แล้วชี้นิ้วไปที่ป้ายห้ามสูบบุหรี่ที่ติดอยู่เหนือหน้าต่างรถด้านหลังของหนุ่มโพลินีเซีย ผู้ซึ่งชะงักไปชั่วขณะ มองหน้าชายผิวขาวผมกระเซิงแล้วยิ้มเขินๆ ให้ด้วยความรู้สึกผิด กล่าวคำขอโทษก่อนที่จะรีบดับบุหรี่

ผมรับรู้เหตุการณ์นี้ด้วยความรู้สึกผสมระหว่างความทึ่งและความแปลกใจในความกล้าของชายผิวขาวผมกระเซิง พร้อมกับคำถามในใจว่า เหตุใดแกจึงกล้าบอกให้หนุ่มโพลินีเซียดับบุหรี่?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า แกกำลังปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บน ‘หลักนิติธรรม’ ที่นอกจากจะเน้นถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนแล้ว ยังย้ำถึงความสำคัญของความยุติธรรม ของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน ไร้อคติหรือลำเอียง ไร้การเลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นพิเศษ และการลงโทษก็กระทำแบบเดียวกัน คือเป็นไปตามตัวบทกฎหมายด้วยความยุติธรรมและเสมอภาคกัน

หลักนิติธรรมของกฎหมายนิวซีแลนด์จึงทำให้ทุกคนยอมรับบทบัญญัติและข้อห้ามของกฎหมาย เพราะคิดว่า/เชื่อว่าจะได้รับการปกป้อง/คุ้มครองอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านร่างกาย ชีวิตและสิทธิ ในแง่นี้กฎหมายจึงเป็นเสมือนแรงผลักที่สนับสนุนให้แต่ละคน ‘กล้า’ ที่จะยืนหยัดและพูดในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือจะพูดว่ากฎหมายที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน มีความชอบธรรมที่ผู้คนยอมรับ ไร้ความกลัวในการปกป้องสิทธิของตนเอง และพิทักษ์รักษาอำนาจอันชอบธรรมของกฎหมายไว้

กล้าประท้วง ท้าทาย

อีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองดันนิดิน ต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเปิดเทอมแรก และเป็นปีแรกที่ผมเริ่มเรียน ป.โท

วันนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิที่ท้องฟ้าสดใส มีลมพัดเบาๆ อากาศเย็นทีเดียว แต่แสงแดดทำให้รู้สึกอบอุ่น ชาวเมืองออกมาเดินรับแดดชมใบไม้สารพัดสี บริเวณสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์โอทาโก ตรงข้ามห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยโอทาโก มีทหารชายหญิง 4-5 นาย – น่าจะเป็นทหารบกเพราะใส่เครื่องแบบสีเขียว – มาตั้งโต๊ะรับสมัครผู้ที่อยากเป็นทหาร ข้างหน้าโต๊ะติดแผ่นป้ายไวนิลที่มีข้อความว่า ‘เข้าร่วมกับกองทัพ ตระเวนสำรวจโลกกว้าง’ (Join the Army, Explore the World) มีเด็กหนุ่มบางคนแวะเวียนเข้าไปสนทนาด้วย

สนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์โอทาโก

ผมกำลังเดินผ่านสนามหญ้าเพื่อไปทำธุระในเมืองจึงมิได้ใส่ใจกับทหารกลุ่มนี้ ทันใดนั้นเองก็ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกมาจากอีกด้านหนึ่งของสนามหญ้า หันไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นก็เห็นหญิงสาว 2 คน ใส่กางเกงและเสื้อผ้าสีดำแบบที่เด็กมหาวิทยาลัยชอบใส่ กำลังเดินไปเดินมาตามทางเดินของสนามหญ้า มือทั้งสองข้างชูแผ่นกระดาษขึ้นเหนือศีรษะ พร้อมกับตะโกนร้องถ้อยคำที่เขียนบนแผ่นกระดาษว่า ‘เข้าร่วมกับกองทัพ (เพื่อ) ฆ่าผู้คน’ (Join the Army, Kill the People) ทั้งสองทำด้วยท่าทางที่ดูจริงจังมาก มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ บางคนก็ตบมือร้องสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้หญิง

ด้วยความอยากรู้ ผมจึงหยุดเดิน รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายก็มิได้ปะทะกัน ไม่มีการร้องด่าหรือตะโกนโต้เถียงกัน ไม่มีการวิวาท ไม่เกิดเหตุรุนแรง กลุ่มทหารยังชักชวนผู้ที่สนใจให้สมัครเข้ากองทัพ ฝ่ายสองสาวก็ประท้วง/โจมตีด้วยเสียงร้องตะโกนจากอีกด้านของสนาม ผมจึงเดินต่อ เข้าไปทำธุระในเมือง ขากลับตอนเดินผ่านสนามหญ้า กลุ่มทหารและสองสาวหายไปแล้ว ผู้คนยังเดินเล่นไปมา ชื่นชมกับอากาศดีของฤดูใบไม้ผลิ บรรยากาศที่สนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์สงบเงียบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ค่าครองชีพสูงและช่องว่างความร่ำรวย

เรื่องที่เล่าเหล่านี้เป็นความประทับใจของผมต่อนิวซีแลนด์ แต่ผมไม่อยากให้ท่านผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่าประเทศนี้ไม่มีปัญหา หรืออะไรๆ ก็ดีไปหมด ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เพราะทุกวันนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้การอดออมเป็นไปได้ยาก ประชาชนไม่มีเงินเหลือเก็บ ราคาบ้านก็แพงจนไม่อาจเป็นเจ้าของได้ และความยากลำบากอื่นๆ

ข่าวร้ายในรอบปี เริ่มจากข้อมูลที่บ่งว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 7.3 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 อันมีนัยว่าวิกฤตค่าครองชีพกำลังปรากฏขึ้น เพราะราคาสินค้าทั้งหลายที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมีราคาแพงจนอาจซื้อไม่ไหว กลายเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านใช้โจมตีรัฐบาลว่าไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

ในทางตรงกันข้าม มีรายงานระบุว่าบรรษัทใหญ่ๆ กลับทำกำไรมหาศาลและสูงถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากคิดในแง่มูลค่าเงินตรา ก็มีมูลค่าเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ทำให้นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่านี่เป็นกำไรที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา สูงกว่ามูลค่าค่าจ้างทั้งหมด (total wage bill) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้นักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่า กำไรที่ขึ้นสูงกว่าค่าจ้างนั้น ใครเป็นผู้แบกภาระ บริษัทหรือลูกจ้าง?

รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่พรรคแรงงานมักเลือกใช้ เช่น ปีที่แล้วรัฐบาลเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้แก่คนงาน ในปีนี้ก็ได้อนุมัติความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง และพยายามเสนอข้อตกลงกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและด้านการรักษาความปลอดภัย ในการเพิ่มค่าจ้างแรงงานเพื่อให้สมดุลกับค่าครองชีพ

แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามมากเพียงใด ปัญหาค่าครองชีพสูงก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (นิวซีแลนด์นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มิได้ผลิตเอง จึงเป็นปัญหาที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล) จนนักวิเคราะห์การเมืองบางคนระบุว่า คนในพรรคแรงงานเคยกล่าวกับเขาว่าหากราคาน้ำมันขึ้นสูงถึง 3 ดอลลาร์ต่อลิตร เราต้องแพ้การเลือกตั้งสมัยหน้าอย่างแน่นอน คำกล่าวนี้ดูสมเหตุสมผลทีเดียว เพราะผลการสำรวจหลายชิ้นระบุว่า National Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน มีคะแนนนิยมนำหน้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้

ราคาบ้านที่น่าตกใจ!

หากท่านผู้อ่านลองเข้าไปในอินเทอร์เน็ต ค้นหาสถิติ/ข้อมูลราคาบ้านโดยเฉลี่ยในนิวซีแลนด์ อาจพบว่าบางเว็บไซต์ระบุว่า ราคาบ้านในปี 2022 แยกตามภาค (region) ต่างๆ เช่น ออคแลนด์ เมืองที่ราคาบ้านแพงที่สุด มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 1.1 ล้านดอลลาร์ กรุงเวลลิงตัน ราว 895,000 ดอลลาร์ โอทาโก 720,000 ดอลลาร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก จนอาจพูดได้ว่าแพงจนไม่มีปัญญาจะซื้อ!

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในเรื่องนี้ ผมจะยกกรณีตัวผมเองเป็นตัวอย่าง

ระหว่างปี 1987-1989 ผมทำงานในเวลลิงตัน นครหลวงของประเทศ ในตำแหน่งนักวิจัยของหน่วยงานรัฐบาล เป็นครั้งแรกที่ผมได้งานประจำ ไม่รู้ว่าตัวเองมีเงินเดือนดีจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ผมมีบัญชีอยู่ถามผมว่าจะกู้เงินซื้อบ้านหรือไม่ แล้วก็คำนวณจำนวนเงินที่ผมต้องผ่อนเป็นรายเดือนให้ธนาคาร ผมจึงรู้ว่าราคาบ้านทั่วไปในตอนนั้น – ชั้นเดียว 3 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น/รับแขก 1 ครัว 1 ห้องน้ำ มีพื้นที่รอบบ้านเล็กน้อย พอปลูกไม้ดอกและพืชผักสวนครัวได้ – คือราว 120,000 ดอลลาร์ ผ่อนแบบสบายๆ ราว 20 ปีก็ใช้หนี้ธนาคารหมด บ้านหลังขนาดนี้ถ้าซื้อสมัยนี้ต้องจ่ายมากถึงเกือบ 900,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 7 เท่าตัวของราคาสมัยนั้น

หรือหากพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับราคาบ้าน จะพบว่าระหว่างปี 2011-2021 ราคาบ้านโดยเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นถึง 130 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนคีวีจำนวนมากไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้

รัฐบาลนิวซีแลนด์พยายามอย่างหนักในการจัดการกับปัญหานี้ โดยเสนอนโยบายที่จะช่วยให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง เช่น ในปี 2019 ได้อนุมัติเงินจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้การก่อสร้างบ้านเรือนจำนวน 100,000 หลังคา ให้เสร็จภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า

หรือมีโครงการที่องค์การไม่หวังกำไรบางแห่งได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ธนาคารของพ่อแม่’ (bank of mum and dad) โดยผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเองขอให้พ่อแม่ของตนซื้อบ้านในนามของพ่อแม่ ซึ่งจะได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารได้อย่างรวดเร็ว (เพราะพ่อแม่มีบ้านของตนเองที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน) ผู้เป็นลูกจ่ายเงินก้อนหนึ่งเป็นเงินดาวน์ให้พ่อแม่ในการซื้อบ้าน (เพราะไม่สามารถจ่ายเงินดาวน์ทั้งหมดได้) แล้วย้ายเข้าอยู่ในบ้านหลังนั้น และจ่ายเงินผ่อนรายเดือนให้ธนาคารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมด จนกระทั่งตนเก็บหอมรอมริบได้มากพอที่จะขอกู้เงินจากธนาคารได้ด้วยตนเอง ก็ขอกู้เงินจากธนาคารมาซื้อบ้านที่อยู่ในนามของพ่อแม่ ซึ่งก็คือจ่ายเงินที่ยังติดค้างพ่อแม่อยู่ ว่ากันว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จมากทีเดียว จึงเป็นที่นิยมใช้กัน โดยเฉพาะผู้ที่พ่อแม่มีบ้านเป็นของตนอยู่แล้ว และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือลูกๆ ในการซื้อบ้าน

(ออสเตรเลีย ประเทศที่มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับนิวซีแลนด์ ก็กำลังประสบกับปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาบ้านที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จนมีการคาดการณ์ว่าชนชั้นกลางออสเตรเลียอาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ทศวรรษในการสะสมเงินเพื่อเป็นเงินมัดจำในการซื้อบ้าน ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับค่าเช่าบ้านที่แพงมาก ตรงกันข้าม คุณภาพชีวิตกลับลดต่ำลง – ผมเคยเขียนถึงปัญหานี้ และสันนิษฐานว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนออสซี่หันไปเทคะแนนเสียงให้พรรคแรงงานในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ดู “เลือกตั้ง ‘ดาวน์อันเดอร์’ กับความหวังของการเปลี่ยนแปลง”)

ชีวิตไม่เหมือนเดิม แต่มีหลักประกัน

อันที่จริง ผมไม่ค่อยแปลกใจเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะเคยเจอกับตนเองแล้ว ในปี 2003 ผมไปร่วมการประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยออคแลนด์ ประชุมเสร็จผมก็เตร็ดเตร่เที่ยวเล่นตามประสา แล้วเจอว่าฟิชแอนด์ชิปส์ ในร้านเทคคะเวย์แบบที่เคยกินในราคา 2 ดอลลาร์ที่ดันนิดิน ต้องจ่ายถึง 6 ดอลลาร์ สั่งชาร้อนก็ไม่มีนมสดมาให้ (ธรรมเนียมดื่มชาแบบคนคีวีก็เหมือนคนอังกฤษ คือใส่นมสด) พอถามหานมสด หนุ่มหน้าตี๋ที่ขายชาบอกว่าต้องจ่ายอีก 50 เซ็นต์สำหรับนมสด – เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับผมมาก่อน!

แน่นอน ราคาสินค้าต่างๆ รวมถึงราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น และแน่นอน ย่อมกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองที่สะท้อนถึงความอยู่รอดของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทว่า นี่คือประเด็นสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและเลือกรัฐบาล หากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมาไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวในการทำงาน แก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ ก็จะถูกเขี่ยออกจากตำแหน่งด้วยอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการใช้ชีวิตกว่า 6 ปีในนิวซีแลนด์ แต่มีเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่ผมเรียนรู้ด้วย เช่น การให้โอกาสแก่ประชาชนทุกคน ด้วยการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ บนพื้นฐานความคิดความเชื่อในเรื่องความเสมอภาคและความยุติธรรม ด้วยการใช้กฎหมายที่มีความชอบธรรมในการปกป้อง/คุ้มครองปัจเจกบุคคลและสิทธิที่มีเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ บุคคลแต่ละคนจึงมีความมั่นใจและความกล้าในการพูดและการแสดงออก เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง และเพื่อรักษากฎหมายที่ตนเห็นว่ามีความถูกต้องและชอบธรรม เป็นกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อสร้างความผาสุก สงบสุข ความปลอดภัย และความเท่าเทียมให้แก่ทุกคน

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า