ตัวท็อปของสายเดิน: เขตไหนใน กทม. ที่เหมาะกับเท้าและดีต่อใจ

GoodWalk.org โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) มีข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ GoodWalk Score หรือคะแนนการเดินได้ ซึ่งหมายถึงคะแนนที่บ่งบอกศักยภาพ ‘การเดิน’ ของพื้นที่ โดยคำนวณจาก ‘สถานที่ดึงดูดการเดิน’ ในระยะเดินเท้า หากสถานที่ประเภทนั้นๆ อยู่ในระยะเยื้องย่างได้โดยง่ายคะแนนก็สูง หากไม่ก็ไม่เช่นกัน

สำหรับสถานที่ดึงดูดการเดินนั้นมี 6 ประเภท ประกอบด้วย แหล่งงาน สถานศึกษา แหล่งจับจ่ายใช้สอย พื้นที่นันทนาการ สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม และสถานที่ขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นแหล่งที่เราๆ ท่านๆ ใช้เป็นเป้าหมายในชีวิตประจำวัน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาแปรผลเป็นคะแนน จัด ranking เพื่อเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพรวมของเมืองว่าเป็นอย่างไร ก่อนเผยแพร่บนเว็บไซต์ GoodWalk.org

แน่ละว่าข้อมูลจาก GoodWalk ไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ แต่ยังมีคะแนนการเดินในเมืองใหญ่อื่นๆ อีกทั่วประเทศที่ทยอยเผยแพร่ กระนั้นในฐานะเมืองหลวงที่บีบอัดชีวิตผู้คนนับสิบล้านหายใจร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ เราจึงสนใจเป็นพิเศษว่า ศูนย์กลางของประเทศเอื้อต่อการเดินมากน้อยแค่ไหน

ถามว่าทำไมต้องสนใจเรื่องการเดินเท้าขนาดนั้น ก็เพราะเมืองที่ดีต้องเอื้อต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์นั่นก็คือการเดิน ทุกคนควรสามารถไปไหนมาไหนด้วยสองเท้าได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ หากเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ทำได้ดี ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเมืองอื่นๆ ได้ลอกเลียนแบบ แต่หากมหานครแห่งนี้ไม่เอาไหน ก็จะได้เป็นบทเรียนให้เมืองอื่นอย่าได้เอาเยี่ยงให้ปวดหัวเล่น

เดินหางาน – เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ป้อมปราบศัตรูพ่ายเป็นเขตที่มีย่านการค้ารวมอยู่ด้วยหลายแห่ง ทั้งเยาวราช นางเลิ้ง สวนมะลิ โบ๊เบ๊ คลองถม นอกจากนั้นยังมีสถานที่สำคัญ อาทิ ภูเขาทอง วัดเล่งเน่ยยี่ เวทีมวยราชดำเนิน และสถานศึกษาอีกหลายแห่งซึ่งรวมกันอยู่ในย่านเมืองเก่า มีแหล่งกิน เที่ยว จึงดึงดูดผู้คนรวมทั้งนักท่องเที่ยวให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปสัมผัสและจับจ่ายใช้สอยมากมาย แน่นอนด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจึงส่งผลให้ป้อมปราบศัตรูพ่ายเป็นเขตที่มีงานให้ทำสารพัดกระทั่งได้อันดับ 1 ของ GoodWalk Score โดยมีคะแนนถึง 72 แต้ม ในประเภท ‘แหล่งงาน’

อย่างไรก็ตามที่นี่ไม่ได้มีคะแนนสูงเฉพาะแหล่งงานเท่านั้น แต่ที่มีสูงกว่าคือ ‘แหล่งจับจ่ายใช้สอย’ ที่ได้คะแนนถึง 85 แต้ม และ ‘สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม’ ที่ได้ไปไม่น้อยเหมือนกันคือ 61 แต้ม เพียงแต่ว่าหากวัดกันในประเภทเหล่านี้ยังมีเขตอื่นที่ได้คะแนนสูงกว่าเท่านั้นเอง

แต่มีข้อดีก็มีข้อด้อย เพราะการอยู่ในเขตเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยตรอกซอกซอย อีกทั้งระบบขนส่งมวลชนทางรางเข้าไม่ถึง จึงทำให้คะแนนด้าน ‘สถานที่ขนส่งสาธารณะ’ มีคะแนนน้อยเพียง 25 แต้มเท่านั้น

GoodWalk Score: เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

  1. แหล่งงาน: 72 คะแนน
  2. สถานศึกษา: 50 คะแนน
  3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย: 85 คะแนน
  4. พื้นที่นันทนาการ: 36 คะแนน
  5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม: 61 คะแนน
  6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ: 25 คะแนน

Top 5 ของสายเดิน: ประเภทแหล่งงาน

  1. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย: 72 คะแนน
  2. เขตสัมพันธวงศ์: 70 คะแนน
  3. เขตบางรัก: 69 คะแนน
  4. เขตพระนคร: 64 คะแนน
  5. เขตสาทร: 62 คะแนน

เดินเรียน – เขตดุสิต

เอาเฉพาะมหาวิทยาลัยในเขตดุสิตก็มีทั้งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ไหนจะโรงเรียนอีกก็มีทั้งโรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวิชราวุธวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนวัดราชาธิวาส โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนโยธินบูรณะ และอีกหลายต่อหลายโรงเรียนที่รวมอยู่ในระยะเดินเท้าไปมาหาสู่กันได้ เราจึงไม่แปลกใจที่หากวัดด้าน ‘สถานศึกษา’ แล้ว เขตดุสิตถึงมาเป็นอันดับ 1 โดยมีคะแนนอยู่ที่ 52 แต้ม

ไม่เพียงแต่สถานศึกษาเท่านั้นที่นี่ยังมีสถานที่สำคัญของประเทศ อาทิ พระราชวังดุสิต วังศุโขทัย วังสวนกุหลาบ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงศึกษาธิการ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชาธิวาส และอีกมากมาย

อย่างไรก็ตามการมีสถานที่ราชการเป็นส่วนใหญ่ก็ทำให้ร้านรวงย่านการค้าที่ดึงดูดการจับจ่ายใช้สอยนั้นมีคะแนนต่ำตามไปด้วย ฉะนั้นการเดินในเขตดุสิตอาจต้องตั้งเป้าหมายสักนิดว่าอยากเดินเพื่ออะไร หากเป้าหมายเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้คุณก็มาถูกทางแล้ว แต่หากต้องการจับจ่ายใช้สอยคุณก็เพียงเดินออกจากเขตดุสิตไปพื้นที่ใกล้เคียงสักนิดจะใกล้เคียงทั้งเขตราชเทวี เขตพระนคร เขตปทุมวัน และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นเขตที่มีคะแนนจับจ่ายใช้สอยสูงลิบ

GoodWalk Score: เขตดุสิต

  1. แหล่งงาน: 51 คะแนน
  2. สถานศึกษา: 52 คะแนน
  3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย: 66 คะแนน
  4. พื้นที่นันทนาการ: 33 คะแนน
  5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม: 51 คะแนน
  6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ: 19 คะแนน

Top 5 ของสายเดิน: ประเภทสถานศึกษา

  1. เขตดุสิต: 52 คะแนน
  2. เขตปทุมวัน: 52 คะแนน
  3. เขตบางรัก: 51 คะแนน
  4. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย: 50 คะแนน
  5. เขตสาทร: 50 คะแนน

เดินช็อป – เขตสัมพันธวงศ์

น่าจะเป็นเมืองที่ออกแบบมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยโดยแท้ เพราะมีมากถึง 41 เขตที่มีคะแนนระดับ Walkable คือ 50 แต้มขึ้นไป โดยเขตที่มีคะแนนอันดับ 1 คือเขตสัมพันธวงศ์ซึ่งได้ GoodWalk Score ถึง 94 คะแนน

อะไรทำให้ที่นี่เหมาะสำหรับรบกวนกระเป๋าตังค์ขนาดนั้น โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่า สัมพันธวงศ์เป็นเขตที่มีขนาดเล็กที่สุดของมหานครแห่งนี้ คำตอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยหากพิจารณาว่าที่นี่คือทำเลทองฝังเพชรของแท้ เอาแค่ถนนเยาวราชนี่ก็เดินจับจ่ายได้ตั้งแต่เช้ายันดึกดื่น ไหนจะมีสำเพ็ง คลองถม สะพานเหล็ก ซึ่งแต่ละแห่งที่ว่ามามีสินค้านานาประเภททั้งของกิน ของใช้ ของเล่น ของฝาก เข้าตรอกนั้นออกตรอกนี้ทั้งวันไม่มีเบื่อ

กระนั้นการเดินในสัมพันธวงศ์ให้สนุกนั้นต้องทบทวนตัวเองสองประการคือ กำลังขา และกำลังทรัพย์ เพราะในเขตนี้มีแรงดึงดูดบางประการที่ทำให้เราไม่อาจถนอมทั้งเรี่ยวแรงและเก็บออมเงินตรา

GoodWalk Score: เขตดุสิต

  1. แหล่งงาน: 70 คะแนน
  2. สถานศึกษา: 42 คะแนน
  3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย: 94 คะแนน
  4. พื้นที่นันทนาการ: 40 คะแนน
  5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม: 54 คะแนน
  6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ: 28 คะแนน

Top 5 ของสายเดิน: ประเภทแหล่งจับจ่ายใช้สอย

  1. เขตสัมพันธวงศ์: 94 คะแนน
  2. เขตบางรัก: 93 คะแนน
  3. เขตวัฒนา: 88 คะแนน
  4. เขตปทุมวัน: 88 คะแนน
  5. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย: 85 คะแนน

เดินลั้ลลา – เขตพระนคร

พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีย่านพระบรมมหาราชวัง บางลำพู ข้าวสาร ราชดำเนินกลาง ท่าพระจันทร์ ท่าพระอาทิตย์ ท่าเตียน ปากคลองตลาด เสาชิงช้า ศาลหลักเมือง มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่คือสนามหลวง สวนรมณีนาถ พระราชอุทยานสราญรมย์ พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ ป้อมพระสุเมรุ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ฯลฯ เขตพระนครจึงมีคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ในประเภทพื้นที่นันทนาการ กระนั้นก็ไม่รู้ว่าควรดีใจหรือเสียใจดี เพราะแม้แต่เขตที่ได้คะแนนสูงสุดก็ยังมีแค่ 50 แต้ม ซึ่งอยู่ในระดับ Walkable เท่านั้น ตรงข้ามกับคะแนนด้านการจับจ่ายใช้สอยลิบลับ ตัวเลขนี้คือภาพสะท้อนการออกแบบเมืองที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่นันทนาการเพียงน้อยนิด

GoodWalk Score: เขตพระนคร

  1. แหล่งงาน: 64 คะแนน
  2. สถานศึกษา: 45 คะแนน
  3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย: 81 คะแนน
  4. พื้นที่นันทนาการ: 50 คะแนน
  5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม: 61 คะแนน
  6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ: 22 คะแนน

Top 5 ของสายเดิน: ประเภทพื้นที่นันทนาการ

  1. เขตพระนคร: 50 คะแนน
  2. เขตบางรัก: 44 คะแนน
  3. เขตสัมพันธวงศ์: 40 คะแนน
  4. เขตปทุมวัน: 40 คะแนน
  5. เขตราชเทวี: 37 คะแนน

เดินเอกสารทางราชการ – เขตพระนคร

ต่อไปนี้คือหน่วยงานสำคัญๆ ที่อยู่ในเขตพระนคร ได้แก่ ทำเนียบองคมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมข่าวทหารบก กรมศิลปากร กรมแผนที่ทหาร กรมสวัสดิการทหารเรือ กรมพระธรรมนูญ กองบัญชาการกองทัพบก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ศาลฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งเป็นพื้นที่เมืองเก่าที่มีความสำคัญทางด้านการเมืองการปกครอง จึงไม่แปลกใจที่เขตพระนครจะได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ในด้าน ‘สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม’ โดยมี GoodWalk Score ที่ 61 คะแนน เท่ากับเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายพอดี

แต่ถึงแม้จะมีคะแนนด้านสถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรมเป็นอันดับหนึ่งจากทุกเขตของกรุงเทพฯ แต่จุดเด่นที่แท้จริงของเขตพระนครกลับเป็นเขตจับจ่ายใช้สอย เพราะมีคะแนนถึง 81 แต้ม อันเนื่องมาจากมีศูนย์การค้าและตลาดตั้งแต่คลองถม ตลาดบางลำพู ดิโอลด์สยาม ห้างไนติงเกล เมก้าพลาซ่า ปากคลองตลาด รวมถึงพาหุรัด

ซึ่งก็อย่างที่บอกมาแล้วข้างต้นนั่นแหละ ว่าคะแนนด้านจับจ่ายใช้สอยนี่สูงลิบแทบทุกเขต

*หมายเหตุ: เนื่องจากเขตพระนครติดอันดับ 1 มาสองประเภท คะแนน GoodWalk Score ของเขตพระนครจึงสามารถดูได้ที่ประเภทก่อนหน้าได้

Top 5 ของสายเดิน: สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม

  1. เขตพระนคร: 61 คะแนน
  2. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย: 61 คะแนน
  3. เขตบางรัก: 60 คะแนน
  4. เขตปทุมวัน: 57 คะแนน
  5. เขตราชเทวี: 55 คะแนน

เดินดีกว่า – ปทุมวัน

หากคุณคิดว่าคะแนนด้านพื้นที่นันทนาการในกรุงเทพมหานครนั้นน้อยนิดแล้ว มาเจอคะแนนประเภทสุดท้ายคือ ‘สถานที่ขนส่งสาธารณะ’ อาจจะต้องกุมขมับ เพราะเขตที่ได้คะแนนอันดับ 1 อย่างเขตปทุมวันยังได้ไปแค่ 39 แต้ม อยู่ในระดับ Little Walkable เท่านั้น ยิ่งพิจารณาว่านี่คือพื้นที่ใจกลางเมืองที่แสนศิวิไลซ์ ประกอบด้วยห้างน้อยใหญ่ทั้งสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีรถไฟฟ้าผ่านตรงนั้นทั้งบนดินและใต้ดินแท้ๆ ยังมีคะแนนต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างที่เห็น ฉะนั้นไม่ต้องนึกถึงเขตอื่นที่ศิวิไลซ์น้อยกว่าเลยว่าต้องเจอสภาพบริการขนส่งสาธารณะเช่นไร การบอกว่า “เดินดีกว่า” จึงไม่ได้เป็นการประชดประชันเกินเลยแต่อย่างใด

GoodWalk Score: เขตปทุมวัน

  1. แหล่งงาน: 61 คะแนน
  2. สถานศึกษา: 52 คะแนน
  3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย: 88 คะแนน
  4. พื้นที่นันทนาการ: 40 คะแนน
  5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม: 57 คะแนน
  6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ: 39 คะแนน

Top 5 ของสายเดิน: ประเภทสถานที่ขนส่งสาธารณะ

  1. เขตปทุมวัน: 39 คะแนน
  2. เขตบางรัก: 36 คะแนน
  3. เขตราชเทวี: 31 คะแนน
  4. เขตวัฒนา: 30 คะแนน
  5. เขตดินแดง: 30 คะแนน

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า