Public City ทำเมืองให้สาธารณะ

 ภาพ: สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย

 

‘พื้นที่สาธารณะ’ คืออะไร มีเพียงแค่สวนสาธารณะอย่างเดียวเท่านั้นหรือ? แล้วห้างสรรพสินค้า ทางเท้า ลานหน้าออฟฟิศ พื้นที่ใต้ทางด่วน ท่าเรือ เป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนและธรรมชาติได้ไหม

สมมุติฐานอันหนึ่งที่เชื่อว่าถูกต้องคือ “เมืองที่ดี นำไปสู่สุขภาวะที่ดี แล้วถ้าเมืองป่วยเราก็ป่วย” แล้วทุกวันนี้เมืองเราป่วยจริงๆ คนกรุงเทพมหานครอยู่ในท้องถนน 60 นาทีต่อวัน น้ำปนเปื้อนสารพิษ ปัญหามลภาวะต่างๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้คนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ หรือที่เรียกกันว่า NCD (Non-communicable disease) เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จึงเห็นได้ว่าสุขภาพและโรคภัยเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และนำไปสู่สุขภาวะของผู้อยู่อาศัย

เพราะเมืองคือความหนาแน่น คือความอึดอัด คนในเมืองใหญ่ต่างแสวงหา ‘ที่ว่าง’ ที่ว่างนี้ต้องเป็นของทุกคน ตีความทางกายภาพมันคือ ‘พื้นที่สาธารณะของเมือง’ ที่ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง คำถามคือแล้วพื้นที่สาธารณะคืออะไร? เป็นแค่สวนสาธารณะเท่านั้นหรือไม่

สหประชาชาติได้แบ่งพื้นที่สาธารณะไว้สามประเภทคือ

1. เป็นพื้นที่ทางเดิน
2. พื้นที่เปิดโล่ง
3. พื้นที่สาธารณะก็คือสาธารณูปโภคได้เช่นกัน

จากนิยามทั้งสามประเภท พบว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว อยู่ที่ 6.4 ตารางเมตรต่อคน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ระบุค่าค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในเมืองควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน หรือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่สีเขียว 44 ตารางเมตรต่อคน ฉะนั้นสุขภาพของประชากรในประเทศทั้งสองจึงค่อนข้างแตกต่างกับประเทศไทยพอสมควร

วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทยและเครือข่ายสถาปนิกได้จัดงานสัมมนา ‘Public City มาทำเมืองให้สาธารณะ’ ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยงานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ ASA Seminar ในงาน สถาปนิก ’61 ภายในงานมีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะไว้หลายประเด็นดังนี้

กว่าจะเป็นสวนสาธารณะ

วิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคมได้เล่าตัวอย่างการสร้างสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ เทศบาลเมืองพนัสนิคมไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เทศบาลพนัสนิคมห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร เป็นเทศบาลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางเทศบาลมีความคิดที่อยากจะสร้างสวนสาธารณะเนื่องจาก พนัสนิคมมีผู้สูงอายุกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าสังคมของเราเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นทางเทศบาลต้องเตรียมสถานที่ออกกำลังกายพวกสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ออกกำลังกายกัน ถ้ามีสถานที่ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ก็จะทำให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรงมีชีวิตที่ยืนยาว”

สวนสาธารณะเทศบาลพนัสนิคม

สวนสาธารณะขนาด 14 ไร่นี้เป็นที่ดินที่สถาบันการเงินยึดมาจากโรงงานไม้ขีดเก่า เดิมทีทางเทศบาลจะขอซื้อ แต่ราคาที่ธนาคารตั้งไว้สูงถึง 45 ล้านบาท หลังเจรจาต่อรองจนได้ราคาที่เหมาะสม เทศบาลพนัสนิคมจึงตัดสินใจกู้เงินมาสมทบกับงบประมาณที่มีอยู่เพื่อนำมาสร้างสวนสาธารณะให้ประชาชนในเทศบาล

การออกแบบสวน ทางเทศบาลได้เข้าร่วมโครงการ 60 สวนสร้างถวายสมเด็จพระเทพฯ กับกลุ่ม Big Tree และมีบริษัท Red-Landscape เป็นผู้ออกแบบ โดยคอนเซ็ปต์ที่ต้องการคือ สร้างสวนเพื่อคนในชุมชนสามารถใช้ออกกำลังกายได้ ส่วนเรื่องของงบประมาณที่ใช้สำหรับการก่อสร้างได้จากการร่วมมือกันของชุมชน ภาคประชาสังคมหลายๆ กลุ่ม บริษัทห้างร้าน มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมบริจาคทั้งเงินและต้นไม้ที่ใช้ปลูกภายในสวนสาธารณะ

ผู้ออกแบบให้กับสวน 60 ปีของเทศบาลพนัสนิคมคือบริษัท Red-landscape โดยกรรมการผู้จัดการ ปสงค์จิต แก้วแดง กล่าวถึงการทำงานว่า

“โครงการประเภทนี้สามารถทำให้ประเทศเราสามารถประหยัดงบประมาณดูแลสุขภาพได้อีกเยอะมาก

“จากการพูดคุยกับคนใช้สวน กระแสตอบรับที่ได้ค่อนข้างดี ทุกคนที่เข้าไปใช้จะไปกับครอบครัว ไปออกกำลังกายแทบจะทุกวัน เส้นทางสัญจรที่ผู้ออกแบบใส่เข้าไปนั้นใหญ่พอที่คนเข้าไปวิ่ง เข้าไปเดินเล่น หรือเข้าไปปั่นจักรยานได้”

อนาคตของสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ

ด้านสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร อารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ ก็ได้เล่าถึงความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับคนกรุงเทพมหานครเช่นกัน โดยล่าสุดมีโครงการก่อสร้างทางเชื่อมสวนวชิรเบญจทัศ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสวนจตุจักร เข้าด้วยกัน จะทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นสวนระดับเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ประมาณ 700 กว่าไร่

จากที่กล่าวข้างต้นว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 6.4 ตาราเมตรต่อคน อารมย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า

ตอนนี้เราอยู่ที่ 6.4 กว่าๆ เป้าหมายของปี 2561 คือ 6.5 กรุงเทพมหานครทำได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าจะไปให้ไกลถึง 9 ไหม จริงๆ แล้วหน่วยงานของรัฐอย่างเดียวก็จะต้องมีการตั้งคำถามตลอดว่าจะไปถึงไหม ถ้าให้กรุงเทพมหานครจัดการเพียงอย่างเดียวโอกาสที่เราไปถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ตามที่องค์กรอนามัยโลกได้แนะนำไว้ก็ค่อนข้างจะไปยาก แต่เมื่อไหร่ที่เรามีพื้นที่ส่วนกลางที่เราร่วมมือกัน พื้นที่ที่เราทุกคนต้องช่วยกัน เราก็อาจจะไปถึง 9 เปอร์เซ็นต์

ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครมีโครงการ ‘เที่ยวสวนรถไฟทั้งปี มีดีให้ดูทุกสามเดือน’ โดยจะสลับหมุนเวียนปลูกพันธุ์ไม้ตามฤดูกาล หรือทุกสามเดือน เพื่อดึงดูดให้คนเข้าไปใช้บริการสวนสาธารณะมากขึ้น

ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างทางเชื่อมสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ทั้งสามสวน นำชัย แสนสุภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Shma SoEn จำกัด และอุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มีความเห็นว่า

“พอเราพูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะเรื่องของการที่เราจะไปใช้งาน หมายถึงว่าเราจะเข้าไปช่วยออกแบบให้มันเหมาะแก่การใช้งาน เหมาะสมกับงบประมาณ ทำให้มันสามารถรักษาสภาพแวดล้อมได้ด้วย ผมหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับทุกคน”

นำชัยมองว่าทั้งสามสวนมีดีอยู่แล้ว แต่เรื่องของการใช้งานยังไม่ทั่วถึง ฉะนั้นการเข้าไปทำงานของภูมิสถาปนิกไม่ได้เข้าไปเพิ่มพื้นที่ แต่เป็นการเพิ่มการใช้งานให้มีมิติมากขึ้น

สันติ โอภาสปกรณ์กิจ

พื้นที่สาธารณะนอกสวนสาธารณะ

‘พื้นที่ทางเดิน’ เป็นประเภทหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ มีคนหลากหลายกลุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องทางเท้า เช่น สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ตัวแทนจากมูลนิธิเกียรตินาคินและกลุ่ม Big Tree ผู้ริเริ่มทำทางเท้าให้กับผู้พิการ

สันติให้ความสำคัญกับ ‘ทางเท้า’ เพราะมองว่าถ้าเรื่องพื้นฐานอย่างทางเท้าไม่ดี จะทำตึกและทำเมืองให้ดีได้อย่างไร จึงเป็นสาเหตุให้ สันติทำทางเท้าสำหรับคนพิการเส้นแรกเมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้วคือ ถนนราชดำริ โดยสันติเล่าว่า

“พอดีเรารู้จัก ผอ.เขต เราก็ไปเล่าให้ ผอ.เขตฟัง เราอยากทำทางเท้าตรงถนนราชดำริ รับรองว่าจะไม่ใช้งบประมาณของ กทม. เลย ทาง ผอ.เขตก็ยินดีมาก เพราะว่าประเทศไทยทุกวันนี้ไม่มีถนนเส้นไหนเลย ยกเว้นถนนราชดำริที่คนพิการใช้ได้จริง

หนึ่งในกระบวนการทำงานคือ จะต้องประชุมหน่วยงานที่ดูแลเรื่องทางเท้าทั้งหมดที่มี เดือนกว่าๆ ทุกอย่างย้ายออกหมด ทั้งตู้ไปรษณีย์ ตู้โทรศัพท์ ท่อประปา ทางกรุงเทพมหานครตกใจมาก ปกติเวลาขอย้าย แจ้งไปประมาณสองปีกว่าจะย้าย แต่ให้คนพิการขอ สองวันก็ย้ายได้ ท้ายที่สุดท้ายก็ทำสำเร็จ

หลังโครงการทางเท้าบริเวณถนนราชดำริประสบความสำเร็จ เป้าหมายต่อไปคือสยามสแควร์ สันติจึงร่วมมือกับภาควิชาผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีทีมสถาปนิกเข้ามาร่วมมากมาย แต่ที่สุดแล้วก็ทำไม่สำเร็จ เพราะติดปัญหาหาบเร่แผงลอย แม้ทาง กทม. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมทางเท้าหน้าสยามสแควร์ แต่ก็ไม่เป็นผล โครงการนี้จึงต้องยกเลิกไป

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์

นอกจากทางเท้า พื้นที่ในลักษณะอื่นก็สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะได้เช่นกัน เช่น ในกรณีของโรงพยบาลศิริราช รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่ของโรงพยาบาลศิริราชมีอยู่ประมาณ 70 ไร่ มีตึก 70 ตึก แต่ละตึกล้วนถูกทุบและสร้างใหม่หลายครั้ง มีแต่เพียงพื้นที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับผู้ใช้บริการโรงพยาบาลได้นั่งพักผ่อน และยังเป็นพื้นที่ที่ให้คนไข้ใช้ฟื้นฟูและเยียวยาจากอาการป่วย ดังที่ นพ.นริศ กล่าวว่า

“ส่วนตัวผมเป็นหมอตา เมื่อมีคนไข้ตาบอด บริเวณลานอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระบิดาจะใช้เป็นพื้นที่ที่คนไข้สายตาเลือนราง ใช้ฝึกใช้ไม้ ฝึกเดิน เพื่อทำให้เขามีความมั่นใจอยู่ในสังคมได้”

พื้นที่สาธารณะของคนยุคใหม่

“รัฐมีอาคารเก่า พื้นที่รกร้าง ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อความต้องการใหม่ๆ ในสังคมที่มีมากขึ้น”

โจทย์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้ประโยชน์ดังที่ตั้งเป้าหมาย ศูนย์การเรียนรู้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สามารถดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมี ประภากร วรรณกนก ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมถอดบทเรียนการสร้างและเป้าหมายของพื้นที่สาธารณะในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้

ประภากร วรรณกนก

ประภากรกล่าวว่า “บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยคือ พยายามทำให้คนรู้จักว่าบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางของประเทศคืออะไร และต้องการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy”

จากการสำรวจพบว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงระบบ ทำให้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมีศักยภาพน้อยลง ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าเยาวชนของประเทศยังไม่มีวินัยทางการเงิน ยังไม่เข้าใจในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง และเห็นความสำคัญของการออม นี่คือภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องให้ความรู้แก่เยาวชนผ่านพื้นที่สาธารณะ

มนตรี ถนัดค้า

นอกจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน บริษัทห้างร้านก็พยายามสร้างพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ดึงดูดลูกค้าอย่างในกรณีของห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา โดย มนตรี ถนัดค้า ตัวแทนจาก SF Development Co., Ltd. (Mega Bangna) ร่วมแลกเปลี่ยน

เมกาบางนาตั้งอยู่ที่ถนนบางนากลาง จังหวัดสมุทรปราการ เพิ่งเปิดโครงการใหม่ชื่อ Mega Food Walk เป็นส่วนขยายของ Food Walk เดิมของเมกาบางนา การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณะจะเป็นตัวดึงดูดที่ดีสำหรับศูนย์การค้าในอีกห้าปีข้างหน้า

“ถ้าจัดการดีๆ มีการวางแผนในระยะยาว มันจะเป็นการดึงดูดที่มันจะเพิ่มมูลค่าในระยะยาวต่อไปเรื่อยๆ ตามขนาดต้นไม้ที่โตขึ้น ตอนนี้เราปลูกต้นไม้ใหญ่ ที่มันมีอายุยาวๆ จะสร้างจุดขายในระยะยาวที่ยั่งยืน และสร้างความแตกต่างแก่พื้นที่ได้

“นอกจากพื้นที่สีเขียว สิ่งที่เมกาบางนาอยากจะทำคือการเข้าถึงง่าย คนไปง่าย รถเข็นเข้าง่าย สร้างความแตกต่างให้กับพื้นที่ได้ เป็นจุดขายให้กับเมกาบางนาได้เพราะห้างอื่นยังไม่ได้ทำ เราอยากให้เกิดคือมาตรฐาน เรื่องดีๆ อย่างนี้ก็อยากจะให้เป็นมาตรฐานใหม่ของการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ”

สมเกียรติ โชควิจิตรกุล

ในด้านของผู้ออกแบบพื้นที่ของเมกาบางนา สมเกียรติ โชควิจิตรกุล กรรมการ บริษัท LANDSCAPE COLLABORATION ได้พูดถึงเรื่องการออกแบบในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ของเอกชนว่า

“เรื่องของความท้าทายในการออกแบบมีแน่นอน ว่าคนจะเข้าไปใช้งานได้อย่างไร ในพื้นที่ที่เราจะเปิดให้กับสาธารณะ ผมคิดว่าคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้กับพื้นที่สาธารณะสามารถใช้งานได้ดีขึ้นคือ พื้นที่สาธารณะควรที่จะเข้าถึงได้ง่าย เป็นมิตรกับผู้คน เป็นพื้นที่ที่ใช้สอย และจับต้องได้”

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า