What is: ทวงคืนทางเท้า?

‘ทางเท้า’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ‘ทางข้างถนนที่มักยกสูงขึ้น สำหรับให้คนเดิน บาทวิถีก็ว่า’ ทางเท้า ทางเดิน บาทวิถี หรือฟุตบาธ ดาดผิวด้วยวัสดุหลากหลาย แผ่นหิน แกรนิต อิฐ แต่เพื่อความเป็นระเบียบ มีระดับสม่ำเสมอ มีมาตรฐาน วัสดุที่ใช้มักเป็นแผ่นคอนกรีตเรียงต่อกัน ทั้งสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม พื้นผิวทนทาน และไม่ทำให้เกิดการลื่นไถลในวันฝนตก

ในบริบทของเมือง ทางเท้าจัดเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่มีไว้สำหรับ ‘เดิน’ การใช้ทางเท้าผิดประเภท หรือใช้เพื่อผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์จึงเป็นที่ถกเถียงและเป็นกรณีพิพาทหลายครั้งหลายครา เช่น เป็นพื้นที่ขายของ เป็นตลาดนัด เป็นแผงลอย เลนจักรยาน หรือกระทั่งเป็นทางสำหรับรถจักรยานยนต์ในชั่วโมงเร่งด่วน

หลายปีที่ผ่านมาจึงมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในการ ‘ทวงคืนทางเท้า’ และ ‘ทวงสิทธิการเดิน’ ทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ เกิดเป็นแฮชแท็ก #ทวงคืนทางเท้า มีเฟซบุ๊คแฟนเพจที่ชูประเด็นไม่เห็นด้วยกับการมีหาบเร่แผงลอย เช่น ‘กลุ่มคนไทยขอทวงคืนทางเท้า’ ‘ทวงคืนทางเท้า’ และมี ‘เฮ้ย นี่มันฟุตบาธไทยแลนด์’ ที่แสดงให้เห็นภาพความพิลึกพิลั่นของบาทวิถีสาธารณะ ที่บางครั้งถูกขวางด้วยป้อมตำรวจ เสาไฟ ต้นไม้ หรือกระทั่งถูกเบียดเบียนด้วยบันไดสะพานลอย ชวนตั้งข้อสงสัยว่าทางเท้านั้นแท้จริงแล้วอาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ได้ ยกเว้น ใช้เป็นทางเดิน

การกดดันทางสื่อสังคมออนไลน์นั้นได้ผลเป็นอย่างมาก ทางฝ่ายกรุงเทพมหานครเองก็ออกมาตรการ ‘5 ไม่’ เพื่อขอคืนบาทวิถีให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เดินได้อย่างปลอดภัยสบายเท้า โดยเป็นมาตรการของทั้ง 50 เขต คือ

  1. ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย หรือการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาป้ายประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. ไม่มีการตั้งวางสิ่งของใดๆ กีดขวางทางเท้า
  3. ไม่มีขยะสิ่งปฏิกูลใดๆ บนทางเท้า
  4. ไม่มีแผงค้าผิดกฎหมายหรือลักลอบตั้งวางโดยไม่ได้รับอนุญาต
  5. ไม่มีการจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า

จากหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อ มีการบังคับใช้ที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า สำนักเทศกิจได้ออกแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด โดยกรอกวันที่ วัน เวลา รายละเอียดสถานที่ เขต พร้อมกับอัพโหลดแนบรูปถ่ายเหตุการณ์ โดยถ่ายให้เห็นป้ายทะเบียน เมื่อแจ้งแล้วหากมีการปรับผู้กระทำผิด ทางผู้แจ้งจะได้รับเงินส่วนแบ่งด้วย

นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของประชนชนคนเดินเท้า ในการ ‘ทวงคืน’ สิทธิของตน

แต่กับกรณีทางเท้าสาธารณะล่าสุด มีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์ว่า “ฟุตบาธที่สนามหลวงแย่กว่าเดิมอีกอะ ปกติก็เดินยากอยู่แล้ว นี่เอาต้นไม้มาลงเพิ่ม พอรดน้ำก็คือแฉะไปหมด ล่าสุดต้องลงไปเดินบนถนน”

เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นวิวาทะในสังคม ประชาชนที่คาดถึงการทวงคืนสิทธิอาจผิดหวัง เมื่อ สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการเขตพระนคร เฉลยข้อข้องใจของสังคมเกี่ยวกับบาทวิถีสาธารณะว่า “ทางเท้ารอบสนามหลวงนั้นไม่ได้เปิดให้ผู้คนสัญจร และมีการวางแผงกั้นมานานแล้ว”

เพราะฉะนั้น การที่ประชาชนมองว่าทางเท้ารอบสนามหลวงเป็น ‘ทางสาธารณะ’ ที่ทุกคนสามารถใช้สัญจร เดินเล่นพักผ่อน หรือเป็นจุดรอรถประจำทาง จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด

การ ‘ทวงคืน’ ที่ปรากฏ จึงเป็นการทวงทางเท้ารอบสนามหลวงคืนจากประชาชน เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่สำคัญกว่า และหากประชาชนประสงค์จะเดิน “…เพื่อชมความงามโดยรอบของสนามหลวงนั้น แนะนำให้เดินบริเวณทางเท้าที่อยู่ฝั่งรอบนอก เช่น ฝั่งทางด้านศาลฎีกา เป็นต้น…” ผู้อำนวยการเขตพระนครแนะนำ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า