เรวัตร ชอบธรรม: ชีวิตหลังแผงลอย กับความจนบนทางเท้า

“สิทธิเสรีภาพถูกปราบเรียบ สงบเงียบงกงัน, ปีผันผ่าน

ห้าปี มันสนุกสุขสำราญ เสมือนปานโลกันตร์กัปสำหรับเรา

เปลี่ยนเมืองเคยเห็นเป็นป่าช้า พลเมืองเปลี่ยนมาเป็นแมงเม่า

คนทุกข์คนยากมากลำเนา ล้วนบินเข้ากองไฟ, มันไม่แล”

บางส่วนจากบทกวี ‘อคน-ผ่านประเทศในความหมาย-ไร้อนาคต’

ชนะเลิศบทกวีประชาชน Free Write Award
โดย เมฆครึ่งฟ้า นามปากกาของ ‘ดานุชัช บุญอรัญ’

ดานุชัชเกิดริมฝั่งแม่น้ำชีในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันกวีหนุ่มใช้ชีวิตที่จังหวัดมหาสารคาม หลังได้รางวัลแรกในชีวิต เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า รางวัลนี้เป็นเหมือนรูเล็กๆ เท่าเส้นผมรูหนึ่งบนพื้นผิวของภาชนะที่กักน้ำทั้งมหาสมุทรเอาไว้

ความหมายเดียวกับภาวะคุคั่งและอึดอึด จากการถูกกดทับและบีฑาด้วยบางสิ่งที่กำลังเอารัดเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมมาเนิ่นนาน

และแน่นอน, หากเรามาดหมายให้บทกวีเป็นปากเสียงแก่คนทุกข์ยาก กวีหนุ่มทำหน้าที่ของเขาแล้ว ผ่านสายตาที่เฉียบคมเสียด้วย หากจะมีใครผิดในสายตากวี อนุมานได้ว่ามันคือระบบ คือโครงสร้าง และคือรากของปัญหา คือนัยระหว่างบรรทัดของความจน

 

1

จากดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมหาสารคาม-จังหวัดอาศัยของกวี สู่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยวัดระยะได้ราว 470 กิโลเมตร เป็นช่วงกลางเดือนธันวาคม อากาศคืนนั้นไม่หนาว ทว่าเริ่มมีฝนปรอยลงมา เรวัตร ชอบธรรม คงต้องเร่งมือหน่อยหากไม่อยากให้สินค้าของตนเปียก บรรยากาศหัวค่ำบริเวณย่านซอยนานายังไม่พลุกพล่านเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวต่างชาติบางตา ชีวิตของคนกลางคืนยังงัวเงีย ราตรีนี้ยังอีกยาว

นอกจากเป็นพ่อค้าของที่ระลึก เรวัตร-ชายกลางคนร่างสันทัดยังสวมหมวกอีกใบในฐานะ ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาพล่าสุดของเขาที่ปรากฏสู่สาธารณะ คือการแสดงอารยะขัดขืน ประกาศขายของบนทางเท้าร่วมกับกลุ่มผู้ค้าตลาดโพธิ์สามต้น ย่านถนนอิสรภาพ จำนวน 82 ราย พร้อมเรียกร้องให้มีมาตรการเยียวยาตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย

โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ระบุว่า เขตนี้มีจุดผ่อนผันสองจุด ซึ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการผ่อนผันทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ไม่พบผู้ค้าฝ่าฝืน กระทั่งวันนี้พบผู้ค้าฝ่าฝืนรวม 21 แผงค้า ยืนยันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกรุงเทพมหานคร จะใช้มาตรการทำความเข้าใจก่อนผลักดัน

เราไม่มีที่ไป ทางออกไม่มี กลุ่มจึงอารยะขัดขืน เพื่อขอประทังความอยู่รอด – คือเสียงยืนยันเหมือนกัน แต่มาจากฝั่งคนทำมาหากิน

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 4 กันยายน 2561 สมาชิกเครือข่ายแผงลอยไทยฯ นำโดยเรวัตร ได้รวมตัวกันที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ก่อนเคลื่อนไปยังบริเวณด้านหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนนโยบายจัดระเบียบทางเท้า คืนพื้นที่ขายให้แก่หาบเร่แผงลอย

ส่วนในวันที่ 26 พฤศจิกายน มีคำตอบจาก สมภาคย์ สุขอนันต์ รองปลัด กทม. ดูแลด้านสำนักเทศกิจและจัดระเบียบเมือง โดยได้ส่งหนังสือไปยังมหาดไทย ยังคงยืนยัน ‘ไม่อนุโลม’ ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกลับมาขายยังพื้นที่เดิม ซึ่งได้จัดระเบียบไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ไม่เช่นนั้น นโยบายคืนทางเท้าประชาชนที่ดำเนินการมาจะสูญเปล่า พร้อมเดินหน้านโยบายจัดระเบียบต่อไป

 

2

“เร็วๆ นี้เพิ่งเสียชีวิตไปหนึ่งคน” เรวัตรเล่าให้ฟังเสียงเรียบๆ พลางเปิดรูปในโทรศัพท์มือถือให้ดู

“คนนี้ไง คนใส่เสื้อสีเหลือง ไตวายเฉียบพลัน ด้วยความที่เครียดมาก แกเคยขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด ถูกยกเลิกไปเมื่อ 19 กันยา 59 ทางเขตสุ่มหาตลาดให้ เข้าไปแล้วขายไม่ได้ แล้วอะไรตามมา ค่าใช้จ่ายยังคงเดิม ค่าเช่าบ้านไม่มีจ่าย อยู่ตัวคนเดียว

“ก็ต้องขายรถก๋วยเตี๋ยวทิ้ง ของในบ้านเอาออกมาทยอยขายเพื่อจ่ายหนี้ บางวันไม่มีเงินกินข้าว ก็ต้องอาศัยกินกับเพื่อนๆ ที่ยังพอขายได้อยู่ ชิ้นสุดท้ายที่ขายกินคืออะไรรู้ไหม หิ้งพระจีน ผมได้ฟังเรื่องราวของแกมาสองปีแล้ว เพราะต่อสู้กับเราด้วย แกบอกเสมอว่า อย่ายอมแพ้นะ ให้สู้ต่อ เพราะอาชีพนี้อยู่คู่กับคนไทยมานาน นี่คือคำพูดสุดท้ายที่ผมได้ยิน”

สู้อย่างนั้นหรือ? ในบางคืนแห่งความเหนื่อยท้อ เรวัตรเฝ้าถามในใจซ้ำๆ ว่าตนกำลังสู้อยู่กับสิ่งใดกันแน่ ระบบที่เอื้ออำนวยแต่ทุนใหญ่? อำนาจนิยมที่ไม่เคยฟังเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย? ความเหลื่อมล้ำ? มายาคติ? หรือกำแพงความเข้าใจของผู้คน?

และหากเป็นไปได้ เขาคงอยากให้เกิดการจัดระบบแผนผังความคิดกันใหม่ ว่าทางเท้าไม่ใช่แค่เพียงสถานที่ แต่หมายรวมถึงชีวิต โอกาส และวัฒนธรรมอันหลากหลาย

แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้หรือไม่

ท่ามกลางความเดือดดาลในกระแสเสียงระหว่าง ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ หาบเร่แผงลอย ในฐานะสื่อสารมวลชนตัวเล็กๆ มีองค์ประกอบใดที่จะสามารถผลักความนึกคิดและการพิพากษาให้เขยิบออกไปอีกหน่อย หากยืมสำนวนของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ จากนิยายบางเล่มของเธอก็ต้องว่า สิ่งที่ประกอบกันขึ้นอย่างลี้ลับที่เราเรียกว่าสังคมนี้ มิใช่สิ่งที่ดีหรือเลวโดยสมบูรณ์ด้วยตัวมันเอง

อย่างถึงที่สุด ในเมื่อ ‘ความจน’ มิใช่อาภรณ์ที่น่าพิสมัยสำหรับใช้มาห่มคลุมเพื่ออวดอ้าง บนบรรทัดตรงกลางระหว่างรักและเกลียด บรรจุด้วยเรื่องราวที่มองไม่เห็นใดอยู่

3

หลอดไฟดวงเล็กๆ ที่ติดพราวอยู่ตามต้นไม้หน้าโรงแรมหรูริมถนนสุขุมวิท ระยิบระยับพาให้เคลิ้มฝัน ป้ายโฆษณาข้างทางส่องแสงเรืองรอง รถไฟฟ้าแล่นพาดอยู่เหนือหัว ชวนใครบางคนต้องหลับตาประพันธ์บทกวีบางวรรค แล้วใครหนอสมควรเป็นตัวละครของกวีในเมืองใหญ่อันแสนศิวิไลซ์

อาจเป็นแม่ค้าวัยกลางคนที่กำลังนำตุ๊กตาตัวเล็กๆ น่ารักขึ้นแขวนเรียงรายบนโครงพลาสติก ก่อนนำมาวางบนทางเท้า เช่นเดียวกับพ่อค้าขายเข็มขัด คุณป้าขายกางเกงขาสั้น กระทั่งน้าสาวคนนั้นกับชุดผู้หญิงวัยรุ่นและผ้าพันคอ

แผงลอยของเรวัตรอยู่ลึกเข้ามาจากหน้าปากซอยไม่กี่เมตร เท่าที่สังเกตด้วยสายตา เขาและภรรยากำลังช่วยกันลำเลียงของหลากหลายประเภทขึ้นอวดโฉม ทั้งเสื้อผ้าสตรีในรสนิยมของชาวต่างชาติ กระเป๋าผ้าใบจิ๋วลวดลายเก๋ เครื่องประดับทำมือ รวมไปถึงของที่ระลึกกระจุกกระจิกอย่างที่เขี่ยบุหรี่หรือช้างแกะสลักในกล่องดีไซน์เรียบ แต่ที่สังเกตไม่ออกจริงๆ คือที่เกาะอยู่บนหน้านั่นคือหยดฝนหรือหยาดเหงื่อ

เราเองแค่มายืนได้ชั่วโมงสองชั่วโมง ก็เริ่มอึดอัดและร้อนจนเปียกชุ่มแผ่นหลังแล้ว บรรยากาศฟ้าอั้นฝน จะตกก็ไม่ตกนี่สร้างความขมุกขมัวขึ้นในใจชอบกล เหมือนอย่างที่เคยได้ยิน อาชีพหาเช้ากินค่ำ (จริงๆ สำหรับเรวัตรควรใช้หาค่ำกินเช้า) เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้หรอก

“จริงๆ ขายไม่ได้หรอกนะ เดี๋ยวเขาก็มาไล่” เรวัตรหมายถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ยังดึงดันออกไปทู่ซี้อยู่บนทางเท้าริมถนน

“คนที่มาขายหาบเร่ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการลงทุนในชีวิต พื้นฐานของมันมาคู่กับกรุงเทพมหานคร ดั้งเดิมคนจีนที่เข้ามาเมืองไทย เป็นลูกจ้าง เป็นกุลี เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็ซื้อของมาขาย รถเข็นบ้างอะไรบ้าง นี่คือที่มา แต่ด้วยว่าสมัยก่อนการแย่งตลาดยังน้อย จึงมีโอกาสเติบโตเป็นเจ้าสัว ต่อมาเริ่มเป็นคนไทยที่มีทุนรอนน้อย จากต่างจังหวัดบ้าง พอเห็นพื้นที่ตรงไหนโล่ง พอตั้งวางได้ คนเดินผ่านไม่เกะกะ ก็เริ่มวางขาย”

เป็นคนด้อยโอกาส – เรวัตรว่า

หนึ่ง – ด้อยโอกาสเรื่องเงินทุน สอง – ด้อยโอกาสเรื่องการศึกษา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานที่สูงกว่านี้ได้

ถูกของเขา บางครั้งความจนก็มาในหลายรูปแบบ จนเงิน จนโอกาส จนความรู้ จนสิทธิ จนเสรีภาพ จนปากเสียง ความจนมีหลายมิติเกินจินตนาการและตัดสิน แต่เหนืออื่นใด ทุกความจนเกิดขึ้นกับพี่น้องคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จะตราหน้าและเกลียดชังกันไปทำไม

“มีหาบเร่แผงลอยเยอะจริงๆ คือปี 2540 หลังภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปีนั้นรัฐบาลส่งเสริมให้คนเปิดท้ายขายถูกด้วยซ้ำ คนระดับกลางจึงเริ่มลงมาขายในตลาดแผงลอย พอปี 2548 การหมุนเวียนของเงินเริ่มดีขึ้น รัฐบาลจัดการนโยบายให้ กทม. ออกเป็น ‘จุดผ่อนผัน’ เสีย ตรงไหนขายได้ไม่เกะกะ ให้ผู้ค้าไปลงชื่อที่เขตไว้ ทดลองขาย พอได้ระยะหนึ่งจึงมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย”

 

4

WAY: ใครคือลูกค้าประจำของหาบเร่แผงลอย

เรวัตร: คนทำงานอย่างคุณนี่แหละ พนักงานออฟฟิศ หรือกระทั่งแม่บ้าน ยกตัวอย่างแหล่งขายอาหารแถวอ่อนนุช พระโขนง บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ พระราม 2 และบางขุนเทียน พอคนเลิกงานระหว่างกลับบ้าน เวลาจำกัด จะให้เดินเข้าตลาดก็ลำบาก รถเมล์ก็มาไม่แน่นอน อาหารแผงลอยคือปัจจัยสำคัญในชีวิต บ้านเราระบบคมนาคมไม่ดี ไม่มีอะไรพร้อม แต่อยากได้เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว

WAY: อยากได้ความงดงาม?

เรวัตร: ใช่ จริงๆ ประเทศเจริญแล้วอย่างปารีสก็มีแผงลอยนะ แต่ที่นั่นมีการวางผังเมือง ทางเท้าขนาดใหญ่ หรือหาบเร่แผงลอยที่นิวยอร์คซึ่งเราเป็นพันธมิตรกันอยู่ เขามาเยี่ยมเรา บอกวิธีการจัดระเบียบ วิธีการต่อรองกับรัฐ เขามีทนายความเพื่อสู้คดีเลย แพ้บ้าง ชนะบ้าง บอกให้เราคิดระเบียบของเราให้ได้ ต้องรวมกลุ่มกัน จริงๆ ผมรวมกลุ่มกันมานานแล้วนะ เพียงสมัยก่อนยังไม่ได้ทำเป็นเครือข่ายจริงจัง

WAY: ติดตามข่าวความเหลื่อมล้ำในบ้านเราบ้างไหม รู้สึกอย่างไร

เรวัตร: เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสังคมว่าให้โอกาสคนตัวเล็กตัวน้อยหรือไม่ หาบเร่แผงลอยเป็นชีวิตที่ไม่มีเสียง ร้องไปก็ถูกอ้างกลับว่าผิดกฎหมาย มีการจัดตั้งกลุ่มไม่เอาหาบเร่แผงลอยขึ้นมา ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้ง แต่คือการสร้างความแตกแยกให้สังคม เคยมีการวิจัยว่า หาบเร่แผงลอยสามารถจัดระเบียบให้อยู่ร่วมกันได้ เป็นการพึ่งพาอาศัยของหลายชีวิต

WAY: ทำไมไม่ไปเช่าที่ขาย

เรวัตร: ถามว่าทุกคนมีศักยภาพพอไปเช่าที่ได้ไหม ผมเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง ตอนมีตลาดนีออนเกิดขึ้นตรงประตูน้ำ ค่าเช่าเริ่มแรกวันละ 300 บาท ค่าจอดรถ 80 บาท ค่าไฟดวงละ 20 บาท เป็น 400 บาท แถมถ้าอยากเช่าช่วงก็เป็น 500 บาท ในกรณีต้องการทำเลด้านหน้าดีๆ คือถ้าคุณเข้าไปอยู่ใหม่ ต้องไปขายด้านหลังซึ่งไม่มีคนเดินถึง

พวกเราไปลองขายกันมาหมดแล้ว ขาดทุนกันมา เสียค่าใช้จ่ายทุกวันๆ ไหนจะค่าฝากของ ค่ายาม ค่าอะไรต่อมิอะไร จตุจักรผมก็ไปมา ค่าเช่าเดือนละ 23,000 บาท ขายได้แปดวันต่อเดือน ขายได้นะครับ แต่พอดีค่าเช่าเลย เราเหนื่อย ไม่ได้อะไร ค่ากิน ค่าน้ำมันรถก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องเลิก งานอีเวนต์ต่างๆ ผมก็ไป ตามห้างสรรพสินค้าที่มีคนมาบอกเรา ค่างานวันละ 2,000 บาท เหมือนกัน พอดีแค่ค่าเช่า

กลับไปที่คำถามว่าผู้ค้าหาบเร่ทุกคนสามารถไปเช่าแบบนี้ได้ไหม ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ที่อยู่กันได้ เพราะเงินกู้นอกระบบ สมมุติกู้มา 10,000 บาท ทำสัญญากัน ให้เงินมาใช้ 8,000 บาท 2,000 นี่โดนหักก่อนเลย แล้วคุณต้องส่งทุกวันนะ ถ้าวันไหนขาด เพิ่มเป็นดอกเบี้ย พอมีทุนก็ค้าขาย พร้อมๆ กับจ่ายค่าโน่นนี่ ค่าเช่าบ้าน ค่ารถ ค่ากิน จิปาถะไปหมด พอถึงเวลาก็กู้ใหม่ นี่คือชีวิตของหาบเร่แผงลอย

ไม่ใช่ทุกคนจะมีความสามารถในการไปเช่าที่ มีสัก 10 เปอร์เซ็นต์ที่พอเอาตัวรอดได้ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่รอด

WAY: เครือข่ายแผงลอยไทยฯ รวมตัวกันได้อย่างไร

เรวัตร: รวมมาสองปีแล้ว เมื่อก่อนแต่ละเขตมีคล้ายๆ เป็นชมรมของตนเอง พอมาทำเครือข่ายจึงมีการเก็บสถิติที่แน่นอนของคนที่เสียหาย ตั้งจริงๆ เป็นทางการเมื่อ 14 มีนาคมปีนี้ ยอดที่เข้ามาประมาณ 7,500 คน 25 จุด เวลานี้เพิ่มมาเป็น 30 จุด ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่เข้าร่วม คือยังขายได้อยู่ ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจจะไปบอกเลยว่า อย่าไปรวมกับเครือข่ายนะ ไม่อย่างนั้นถูกยกเลิก อย่างตรงวัดหัวลำโพง ก็โดนขู่แบบนี้ ปัจจุบันไม่ได้ขายแล้ว สุขุมวิทปากซอย 18 ก็แบบเดียวกัน

WAY: สถานการณ์ล่าสุดของนโยบายคืนทางเท้าเป็นอย่างไร

เรวัตร: ยังไม่อนุโลม ส่วนที่เป็นจุดผ่อนผันยังมีที่ขายได้อยู่ โดย กทม. อ้างว่าจัดระเบียบไม่ทัน ซึ่งการจัดระเบียบในมุมมองของรัฐบาลกับประชาชนมันต่างกัน ถ้าไปถามพ่อค้า หรือผู้ประกอบการต่างๆ มันคือการจัดให้เป็นล็อค ให้สะอาด แผงอยู่ตรงไหน ก็อยู่ในเส้นที่ขีดไว้ให้ แต่ในมุมของรัฐ จัดระเบียบคือยกเลิกเลย ไล่รื้อออกไป

การไล่รื้อจริงๆ เราไม่ว่า แต่ต้องมีแผนการรองรับ จะให้คนค้าขายไปอยู่ที่ไหน หาตลาดให้ก่อน และตลาดที่จะไป ต้องขายได้เท่าที่ปัจจุบันเคยขายหรือดีกว่า อันนี้คือหลักธรรมาภิบาล แต่การไล่ของเขาคือไล่แบบสะเปะสะปะ จะไปอยู่ตรงไหนก็ช่าง บางทีก็ไปสุ่มเอาตลาดร้าง แล้วเอาชื่อมาส่งให้ผู้ค้า ผมถามกลับว่า สินค้าที่ขายมันเหมาะสมหรือไม่

อย่างแถวซอยนานาที่ผมขาย อยู่ในเขตวัฒนา สินค้าเป็นของที่ระลึก ของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนไทยไม่มีมาซื้อ แล้วตลาดที่หาให้ตอนเรียกผู้ค้าไปประชุม เอาตลาดแถวพระโขนง หรือตลาดแถวอโศก ซึ่งเป็นที่สำหรับขายอาหาร แล้วเรามีความชำนาญด้านการขายของที่ระลึก สื่อภาษากับต่างชาติเมื่อมาถามเส้นทางได้

 

5

ระหว่างเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ข่าวสารมากมายในมหาสมุทรออนไลน์สาดกระทบชายฝั่งการรับรู้ครืนโครม ทั้งดราม่าชุดนางงาม บัตรเลือกตั้ง การกินโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐโต๊ะละ 3 ล้านบาท พะเยาว์ อัคฮาด เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บุตรสาวจากเหตุการณ์หกศพ วัดปทุมฯ ปี 53 รวมไปถึงข่าวเล็กๆ อย่างแม่ค้าขายเสื้อผ้าย่านพระราม 2 พยายามกระโดดจากทางเชื่อมสกายวอล์ค หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะติดหนี้นอกระบบ

 

6

เพื่อนช่างภาพยกกล้องเพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของเรวัตรขณะเตรียมแผงสินค้า ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยฯ เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงกระฉับกระเฉง ไม่ต่างจากภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ทั้งสองขับรถมาจากมีนบุรีถึงย่านซอยนานาอันเป็นแหล่งทำมาหากินราว 1 ทุ่ม ตั้งร้านได้ราวๆ 2 ทุ่ม ขายยาวไปถึงตี 1 จากนั้นจึงเก็บข้าวของ ถึงบ้านประมาณตี 3 หัวแตะหมอนจริงๆ ก็ปาเข้าไปตี 5

ขายทุกวันไม่มีหยุด นี่อาจเป็นความเคยชินที่คนในอาชีพนี้จำต้องมี เข้าทำนอง ทำมันให้เคยชินซะ จะได้ไม่เหนื่อย ดูๆ ไปแล้วก็ไม่เห็นเหมือนดังคำกล่าวที่ว่า พวกหาบเร่แผงลอยเอาเปรียบคนทำงานในระบบ

“เมื่อ 4 โมงกว่าๆ ของวันนี้” เรวัตรเล่า “มีผู้ค้าอีกคนเพิ่งโทรมาหาผม เขาขายอยู่สุขุมวิท 77 ถูกยกเลิกไปเมื่อมกราคม 2560 ตอนยกเลิกใหม่ๆ มาหาผม บอกว่าได้ที่ขายแล้ว อยู่หลังตลาดแถวๆ ที่เขาอยู่ ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท พอไปอยู่ในนั้น ค่าใช้จ่ายไม่พอ สุดท้ายเลิกขาย ต้องเปลี่ยนมาขับรถสองแถว”

ตอนโทรศัพท์แนบอยู่กับหู เรวัตรได้ยินเสียงร้องไห้

“ถามผมว่าควรทำอย่างไรกับชีวิตดี ไม่ไหวแล้ว เขาขายเป็ดพะโล้ เราต้องมองย้อนกลับไปว่า คนที่ขายเป็ดสดให้เขาอีกที คนงานเลี้ยงเป็ด คนขายอาหารเป็ดอีก ผลกระทบต่อกันเป็นช่วงๆ โรงงานอาหารเป็ดขนาดใหญ่คงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่คนตัวเล็กๆ นี่สิ ตลาดคนกลางอย่างคลองเตยคุณลองไปดู เงียบเหงามาก

“ภาครัฐยกเลิกผ่อนผันไปแล้วประมาณ 24,000 คน นี่เฉพาะที่มีบัตรซึ่งทางเขตออกให้ ว่าอยู่ในจุดผ่อนผัน อนุโลมให้ขายได้ ยังไม่รวมผู้ค้าที่อยู่นอกจุด เป็นจุดทบทวนพิเศษ ซึ่งจริงๆ ผู้ค้าใน กทม. มีมากกว่า 300,000 คน ผู้ว่าฯ เองเคยประกาศว่าประมาณ 240,000 ราย แล้วตัวเลขความเสียหาย ซึ่งทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยคิดตัวเลขแค่ 200,000”

ผลออกมาว่าเงินหมุนเวียนใน ‘แต่ละวัน’ นั้น หากคิดแค่รายละ 1,000 บาท ตกเป็นเงินราว 200 ล้านบาทที่จะหายไป แน่นอนว่า เศรษฐกิจย่อมซบเซาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อาจารย์สมชัย จิตสุชน (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI) ลงมาคุยกับผม บอกว่า กทม. เป็นลักษณะเศรษฐกิจหัวโต ตัวลีบ ฐานล่างคลอนแคลนมาก อย่างพวกผม ถ้าไม่ได้ขายของ หากมีลูก ก็ไม่สามารถนำเงินไปให้ลูกใช้จ่ายได้ ไม่สามารถให้เรียนได้ บางคนต้องให้ลูกออกจากมหาวิทยาลัยก่อน

“อย่างผมขายกระเป๋า ไปสั่งช่างคนพิการเย็บที่สมุทรสาคร หากผมไม่มีตลาดขาย ก็ต้องสั่งน้อยลงไปโดยปริยาย มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจต่อเนื่อง พวกเราขายเป็นที่ ก็ต้องมีแหล่งฝากของ คนเหล่านี้ก็หายไป คนเก็บค่าไฟก็ไม่มีรายได้ รถสามล้อ มอเตอร์ไซค์ ก็ขาดหายไป วัตถุดิบในตลาดอีก”

นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ ของหาบเร่แผงลอยเท่านั้น – เขาย้ำ

7

‘สนับสนุนการจัดระเบียบแผงลอยแบบมีส่วนร่วม’

คือตัวหนังสือที่พาดอยู่บนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊คของเรวัตร

“ให้ตัวแทนของผู้ค้ามีส่วนร่วมในการคิด การออกแบบ มิใช่ทางภาครัฐเป็นฝ่ายกำหนดให้เราอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นเรื่องการใช้ผ้าใบคลุมร้าน การใช้พื้นที่แผงค้าทำอย่างไร ผมมีแบบที่จัดใหม่เลย ไม่ใช่ติดกันเป็นพรืดเหมือน กทม. เคยจัดให้ มันไม่มีระเบียบ ต้องมีเว้นช่วงเข้าออก สิ่งที่เราคิดอยู่ ทางภาครัฐไม่สนใจ นายสั่งมาอย่างไรก็ตามนั้น

“ส่วนเรื่องทำให้ทางเท้าสกปรก การเทของเสียลงท่อ มันเป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานานมาก เราอย่าพูดถึงแค่แผงลอยเลย ไปดูตามร้านค้า ตามอาคารต่างๆ สิ การโทษหาบเร่มันโทษได้ เพราะทุกคนมองเห็นชัด แต่เราไม่ว่าหรอก เพราะที่ผมคิดไว้คือ ทุกตลาดทุกชุมชนที่มีการขายอาหาร ต้องทำระบบดักน้ำมัน เวลาเอาจานไปล้าง ต้องไปที่เดียวกันซึ่งมีการดักไขมัน ดักเศษอาหาร แบบนี้ทุกตลาด ซึ่งภาครัฐต้องช่วยเหลือนะครับ จะให้ทำกันเองทั้งหมดคงไม่ได้”

เรวัตรบอกว่า เขาเคยปรึกษานักวิชาการ กระทั่งข้าราชการ ผลออกมาว่า หาบเร่แผงลอยสามารถพัฒนาให้อยู่ร่วมกับเมืองได้

“แม้แต่ผู้อำนวยการเขตก็มีความเห็นเช่นนี้ บอกว่าเราต้องเข้มแข็ง คุมคนของเราให้ได้ เคยมีทหารมาดู ยังบอกเลยว่าทำได้ ทางภาครัฐต้องจริงจัง จริงใจ ผมคุยกับผู้ค้าที่ถูกยกเลิก พวกเขายอมทั้งนั้น ยอมหมด บอกมาเถอะ จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ พร้อมพัฒนาไปด้วยกัน จะออกระบบ ออกแบบอะไรมา พร้อมทำอยู่แล้ว ส่วนถ้าจะจัดที่ขายให้ใหม่ ต้องคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าของพวกเขาก่อน ไม่ให้ไกลกว่าที่จะจับจ่ายใช้สอยได้ อย่างคุณสร้างห้างสรรพสินค้าสักที่หนึ่ง ทำไมถึงต้องสร้างใจกลางเมืองล่ะ”

ไม่ใช่แค่ใจกลางเมือง แต่ ICONSIAM ยังมีรถไฟฟ้าสายใหม่สั้นๆ ผ่านเสียด้วย – ตรงนี้เราคิด แต่ไม่ได้พูดออกไป

“ส่วนในระยะยาว อยากให้มีกฎหมายออกมาคุ้มครองคนที่ทำอาชีพหาบเร่แผงลอย ไม่อยากให้นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วแต่อารมณ์ผู้บริหาร ซึ่งเป็นแบบนี้มาตลอด อย่าลืมว่า หาบเร่แผงลอยคือเรื่องของอาชีพ เรื่องของรายได้ คนหนึ่งวันนี้ขายแบบนี้ วันหน้าอาจพัฒนาไปเป็นอย่างอื่น คนอื่นอยากขาย ให้ไปขึ้นทะเบียนไว้ ไม่มีใครอยากขายแผงลอยตลอดไปหรอก”

พูดอีกก็ถูกอีก ไหนจะฝุ่น ร้อน ฝน เผลอๆ ถูกคนดูหมิ่นอีกต่างหาก

“ทำให้เป็นระบบ ไม่ให้กีดขวางการสัญจร ดูแลความสะอาด จัดระเบียบขึ้นทะเบียน แล้วเก็บภาษีตามความเหมาะสม เอารายได้เข้าเขตเข้ารัฐ เป็นเงินใช้พัฒนาประเทศ ทุกวันนี้รัฐบาลจะมาแจกเงิน 500 บาท เราไม่อยากได้ เราอยากได้อาชีพ ครอบครัวหนึ่ง ใช้พอเหรอ 500 บาท เมื่อก่อนตอนปี 48 ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเสียภาษีทุกคน ผมเสียปีละสองครั้ง รวมแล้ว 1,600 บาท”

ครั้นในสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน มีการประเมินใหม่ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ไม่ต้องเก็บ ให้เว้นภาษีเสีย

“นี่คือการเมือง มาถึงวันนี้ ไม่ใช่การเมืองจากการเลือกตั้ง ทหารก็ยกเลิกหาบเร่หมด”

8

ตอนหนึ่งในบทความ ‘แผงลอย’ ต้องจัดการในเชิงยุทธศาสตร์  โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการค้าข้างทางมานาน และ ดร.สมชัย จิตสุชน ระบุว่า มุมมองของรัฐบาลและกรุงเทพมหานครที่หายไปคือ

(ก) ขาดการมองว่าแผงลอยเป็นทั้งปัญหาและ ‘โอกาส’ หรือ ‘ทางออก’ ของปัญหาอื่นที่มีความสำคัญ เช่น การขาดโอกาสมีงานทำ ‘ในระบบ’ โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาไม่สูง หรือเป็นโอกาสให้ประชาชนมีแหล่งซื้อสินค้าและอาหารราคาถูก ลดภาระการใช้จ่าย มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยังไม่นับบทบาทของวัฒนธรรมแผงลอยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่ระวัง อาจกลายเป็นอดีตและถูกประเทศอื่น ‘ขโมยซีน’ ไป ดังตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่พยายามจดทะเบียนแผงลอยเป็นมรดกโลก

(ข) ขาดการใช้หลักวิชาการในการวางผังเมืองที่คำนึงถึงความต้องการของคนหลากหลายกลุ่มในชุมชน

(ค) ขาดการมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ปัจจุบันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนระดับบน

และการกวาดล้างแผงลอยจะยิ่งซ้ำเติมลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย ของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

“อาชีพนี้ให้ชีวิตเรา” เรวัตรพูด “รู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากกว่าการขายของ นักท่องเที่ยวมาคุยกับผมประจำ บางทีกลับไปปีหนึ่ง กลับมาก็ถามหา อย่างเมื่อวานคนอเมริกันมา บอกคนไทยเป็นกันเอง เฟรนด์ลี่ ยิ้มแย้มแจ่มใส ผมอยากจะบอก ตอนนี้คนไทยเครียดมาก ไม่ยิ้มแล้ว อย่างผมนี่อยากจะร้องไห้ (หัวเราะ)”

ภรรยาของเรวัตรเสริมว่า ยิ่งเป็นคนขายอาหารที่วัตถุดิบเน่าเสียง่าย ยิ่งยิ้มไม่ออก ก่อนจากกันเธอบอกให้เลือกของบนเเผงที่ชอบไปใช้สิ ไม่คิดเงินหรอก หญิงสาวคนข้างๆ ยิ้ม พลางจ่ายเงินซื้อกระโปรงสวยๆ ยาวกรอมเท้าในราคาไม่เเพง

ขากลับบนรถไฟฟ้านั้นเเน่นขนัด พนักงานออฟฟิศหนุ่มสาวท่าทางเหนื่อยล้า คงเพ่งจ้องคอมพิวเตอร์มาทั้งวันกระมัง กวีบางบทเปล่งก้องในหู มันพรรณนาถึงเมืองใจร้าย ที่ไม่เคยมอบโอกาสมีชีวิตอยู่อย่างสง่างามให้เเก่คนธรรมดาๆ

เเล้วคุณล่ะ คิดไว้บ้างไหม เมื่อไหร่ที่ชีวิตจะอยู่ในช่วงขาลง

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า