หาดทราย สายลม ผองเรา: พินิจความเหลื่อมล้ำผ่านกรณีโครงการสร้างมารีน่าที่ภูเก็ต

  • บ้านอ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ตฝั่งตะวันออก เป็น 1 ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการท่าเทียบเรือสำราญอ่าวกุ้งมารีน่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • ช่วงต้นปี 2559 รัฐบาลได้ประกาศที่จะสร้างให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจเรือสำราญในอาเซียน (Marina Hub of ASEAN) เพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสในการลงทุนให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่
  • รัฐบาลเตรียมมาตรการที่จะออกใบอนุญาตทำการค้าพาณิชย์ของต่างชาติในน่านน้ำไทย / ยกเว้นภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม / เพิ่มเวลาในการจอดเรือให้นานขึ้นเป็น 1 ปี
  • บริษัทซีวิว แลนด์ มอบหมายให้บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมา 2 ครั้ง
  • ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านอ่าวกุ้ง และพื้นที่ใกล้เคียง กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า โดยเฉพาะในประเด็นการขุดลอกร่องน้ำที่จะใช้เป็นทางเข้าออกของเรือไปยังโครงการที่คาดว่าจะต้องขุดลึกไม่น้อยกว่า 8 เมตร เพื่อรองรับเรือยอชต์ขนาดใหญ่ 40 เมตร จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังในพื้นที่รอบๆ อ่าวกุ้ง รวมทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน
  • ชาวบ้านออกสำรวจจนพบทุ่งปะการังเขากวางโผล่พ้นน้ำบริเวณเกาะเฮ และใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างแนวร่วมในการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร
  • ทางโครงการฯ ได้ขอถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561

กระบวนการต่อสู้และต่อรองของชาวบ้านอ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต จนสามารถสร้างกระแสสังคม สร้างแนวร่วมกดดัน กระทั่งเจ้าของโครงการฯ ขอถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียในฐานะพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลโต้แย้งรายงาน EIA ของฝ่ายผู้ลงทุน ในกรณีนี้ชาวบ้านอ่าวกุ้งได้สำรวจพบทุ่งปะการังเขากวางบริเวณเกาะเฮ ซึ่งหากมีการสร้างมารีน่าก็อาจจะสร้างผลกระทบให้แก่ทุ่งปะการังที่โผล่พ้นน้ำ

แนวปะการังเขากวางที่โผล่พ้นน้ำบริเวณเกาะเฮ คือหลักฐานยืนยันของความอุดมสมบูรณ์และเปราะบางของพื้นที่ หากมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือสามารถแล่นเข้ามาจอดเทียบท่า

ปี 2562 ชาวอ่าวกุ้งยังคงเฝ้าระวัง พวกเขากังวลว่ากระบวนการทำ EIA ครั้งใหม่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การสร้างแนวร่วมเพื่อศึกษาหาองค์ความรู้จึงยังเป็นสิ่งต้องดำเนินไป การสนทนาเพื่อสรุปบทเรียน ทบทวนถึงแนวทางนโยบายของรัฐบาล หาทิศทางการพัฒนาที่เอื้อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม เป็นโจทย์สำคัญในระหว่างที่พวกเขาเฝ้าระวังหน้าบ้านของตนเอง

ความย้อนแย้งของนโยบาย
กับข้อตกลงของรัฐบาลกับสากล

ปัจจุบัน ท่าเรือยอชต์หรือท่าเรือมารีน่าในภูเก็ต มีทั้งหมด 5 แห่ง เป็นท่าเทียบเรือเอกชน 4 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือยอชต์ ฮาเวน มารีน่า, ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า, ท่าเทียบเรือภูเก็ตโบ๊ทลากูน, ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า และท่าเทียบเรือรัฐบาล 1 แห่ง คือ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง รัฐบาลในยุค คสช. มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 เห็นชอบผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการจอดเทียบท่าเรือยอชต์

ปี 2559 รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจเรือสำราญในอาเซียน (Marina Hub of ASEAN) มีการพูดคุยถึงแผนการเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสในการลงทุนให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตทำการค้าพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ซึ่งแต่เดิมเคยสงวนไว้เฉพาะเรือไทยเท่านั้น การยกเว้นภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม การเพิ่มเวลาในการจอดเรือให้นานขึ้นเป็น 1 ปี และการเพิ่มระยะเวลาในการทำงานของคนประจำเรือให้นานกว่าเดิม

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ความพยายามเสริมศักยภาพให้ประเทศเป็นมารีน่าฮับไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลภายใต้การบริหารของคณะ คสช. แต่เริ่มตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

“ในสมัยทักษิณ ชินวัตร มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการลดภาษีสำหรับผู้สนใจลงทุนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ”

พิเชษฐ์ ปานดำ แห่งโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารอ่าวพังงา ในฐานะผู้ศึกษาและติดตามการท่องเที่ยวเรือสำราญมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เล่าให้เห็นถึงพัฒนาการของนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ กระทั่งเกิดเป็นการปฏิบัติในยุค คสช. มีบริษัทเข้ามาลงทุนดำเนินการที่บ้านอ่าวกุ้ง และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งถอดถอนไปแล้วในปี 2561

“แต่ปัจจัยทางการเมืองอาจไม่ได้เกี่ยวมากนัก การเมืองผันผวนไปตามกาลเวลา แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทนี้ก็ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลไหน จนถึงปัจจุบัน กิจกรรมประเภทนี้ก็คลี่คลายนำมาสู่ในเรื่องของภาคปฏิบัติในสมัยรัฐบาล คสช. ก็คือมีการปรับเพดานภาษี ลดเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ผู้ที่จะเข้ามาประกอบการธุรกิจประเภทนี้ ก็จะเป็นเสมือนกับคนไทยทุกประการ”

นอกจากมาตรการทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจในรัฐบาล คสช. ปี 2559 ยังมีการตั้งกลไกขึ้นมาที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยมี “คณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างคมนาคมเป็นแม่งานหลัก มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการ แล้วก็วางแผนบูรณาการกับกระทรวงทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อที่จะเอื้ออำนวยสิ่งที่ติดข้องทางด้านกฎหมาย ก็มีการขับเคลื่อน ตั้งกลไกขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ อันนี้คือตัวกลไก ในแง่กฎหมาย หรือว่าในแง่เอื้ออำนวย” พิเชษฐ์เล่า

พิเชษฐ์ตั้งคำถามถึงนโยบายและปฏิบัติการที่สวนทางกัน เนื่องจากรัฐบาลไทยโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ที่จะขับเคลื่อนนโยบาย Sustainable Development Goals หรือว่า SDGs หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่พิเชษฐ์มองว่า โครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้งจะทำให้เกิดผลกระทบกับฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์มานานกว่า 30 ปี

“รัฐบาลได้ลงนามกับสหประชาชาติไว้ นั่นคือทิศทางการพัฒนาที่ไทยประกาศไว้กับโลก ในส่วนขององค์กรของรัฐที่ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กรมทรัพยากรชายฝั่งก็ทำงานล่วงหน้าไปเยอะแยะมากมาย ชุมชนเองก็ร่วมกับกรมทรัพยากรชายฝั่ง ผลที่เกิดขึ้นก็คือทรัพยากรฟื้นฟูเยอะมาก ตามแนว SDGs แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ก็มีการปฏิบัติในพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งที่เป็นปัญหาคือมันไปด้วยกันไม่ได้ เพราะว่าโครงการท่าเรือยอชต์ จะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อเปิดเส้นทางให้เรือยอชต์ขนาดใหญ่เข้ามา ทีนี้ก็จะผ่านป่าชายเลน ปะการัง ผ่านอะไรหลายๆ อย่าง ผ่านพื้นที่ที่กรมทรัพยากรชายฝั่งทำงานร่วมกับชุมชนมานานก่อนที่จะลงนาม SDGs ร่วม 30 ปี ตรงนี้ที่มันย้อนแย้งกัน พื้นที่เดียวกันแต่ว่าการขับเคลื่อนกิจกรรมมันทับซ้อนกัน อันนี้ที่เป็นปัญหาจนมาถึงปัจจุบัน”

มารีน่า: โอกาสของคนทั้งประเทศ

มีมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ พิสิทธิ์ ตันติพิสิฐกุล อาจารย์ประจำคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผู้หลงใหลการแล่นเรือและเฝ้าสำรวจทรัพยากรชายฝั่งและใต้ทะเล มองว่า การผลักดันให้ประเทศเป็นมารีน่าฮับ คือโอกาสของการสร้างองค์ความรู้ให้คนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“ทำไมผมจึงไม่แอนตี้หรือต่อต้านการสร้างมารีน่าฮับ เพราะผมมองว่านี่คือโอกาสทางสังคมที่ต้องลงทุนและเสริมศักยภาพของคนทั้งประเทศ แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้มาจากนักลงทุนภาคเอกชน แต่เป็นปัญหาการจัดการของภาครัฐ เพราะเราไม่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะวางระบบยังไง เราวางแผนแบบ passive รอให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วค่อยแก้ตามสถานการณ์”

พิสิทธิ์ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างเรือยอชต์กับเรือ World Cruise ซึ่งการสร้างท่าเทียบเรือที่บ้านอ่าวกุ้งรองรับเรือยอชต์ ไม่ใช่เรือขนาดใหญ่

ข้อถกเถียงหนึ่งของการสร้างมารีน่า คือ พื้นที่สาธารณะจะถูกเอกชนปิดกั้นไปโดยปริยาย

“ทำมารีน่าอย่างไรให้ชุมชนเข้าถึงพื้นที่ได้…ทำได้” พิสิทธิ์ยืนยันโดยยกตัวอย่างมารีน่าในต่างประเทศ

“ชุมชน เอกชน และภาครัฐ มาตกลงร่วมกัน ยกตัวอย่างที่ต่างประเทศทำกัน หากคุณทำมารีน่า คุณต้องทำที่จอดเรือให้ชาวประมงสามารถใช้ร่วมในมารีน่าด้วย แค่คุยกัน คุณต้องการพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็คือให้เลย ให้โควตา ประเด็นการเข้าถึงพื้นที่ก็แก้ไขได้ แล้วมารีน่าก็จะทำให้อย่างดี ในต่างประเทศทำแบบนี้

“เรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม มารีน่าจะถูกควบคุมอยู่แล้วในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีอ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า คุณจะเห็นเลยว่าคุณภาพน้ำเขาดีมาก จะเห็นว่าจะมีกัลปังหาขึ้นอยู่บริเวณที่จอดเรือ ฝูงปลาว่ายกันเต็มไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะกฎระเบียบของการทำมารีน่าเคร่งครัด ห้ามปล่อยสารเคมี ห้ามล้างเรือตรงไหน เขาจะกำหนดบังคับไว้เลย ถ้าฝ่าฝืนก็จะมีการปรับมีบทลงโทษ”

อย่างไรก็ตาม พิสิทธิ์กล่าวถึงความกังวลประเด็นที่กำลังพิพาทกันก็คือ ทรัพยากรในบ้านอ่าวกุ้งอย่างปะการังเขากวางจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างท่าเรือยอชต์

“ตรงนี้เป็นพื้นที่ร่องน้ำที่เรือจะวิ่งเข้ามาสู่มารีน่า ประเด็นนี้ผมคิดว่าต้องนำผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาดูว่า มีวิธีอย่างไรบ้างไหม ถ้าดูแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ก็ไม่ต้องทำ ดูแล้วมันควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้ามีวิธีที่สามารถจัดการได้ สามารถลดผลกระทบได้ แบบที่ทุกฝ่ายรับได้ ชุมชนรับได้ เอกชนโอเค ภาครัฐโอเค ประชาชนที่เข้าประชาพิจารณ์โอเค แบบนี้ทุกฝ่ายจะสามารถพูดคุยเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั่วกันทุกฝ่าย”

 

ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

“ภูเก็ตจะมีชายฝั่งด้านตะวันตกกับด้านตะวันออก ด้านตะวันตกก็คือหาดที่คนนิยมท่องเที่ยว ป่าตอง ราไวย์ อีกฝั่งคือตะวันออกจะเป็นพื้นที่ที่มีป่าชายเลนอยู่เยอะ ท่าฉัตรชัย อ่าวกุ้ง สะปำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนมดลูกของทะเล”

ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ฉายภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของภูเก็ต โดยเฉพาะภูเก็ตฝั่งตะวันออกซึ่งมีระบบนิเวศแบบป่าชายเลน

“ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจะกระทบระบบนิเวศ 2 ส่วน คือระบบนิเวศปะการังกับระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะมีแนวโน้มว่าโครงการก่อสร้างจะทับพื้นที่ป่าชายเลน เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ไว้

“ขณะที่ระบบนิเวศปะการังเป็นระบบนิเวศพิเศษที่ทั่วโลกกำลังเสาะหาอยู่ ในแง่ที่ว่ามันเป็นแนวปะการังที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในสภาวะภูมิอากาศโลกที่วิกฤติ มันสามารถเจริญเติบโตได้ดีมาก ซึ่งนักปะการังทั่วโลกกำลังหาปะการังแบบนี้เพื่อเพาะพันธุ์ไว้ เพราะปะการังทั่วโลกเจอสภาพฟอกขาวแล้วตายหมด ซึ่งการเข้ามาของเรือขนาดใหญ่ การขุดลอกร่องน้ำจะทำลายปะการัง

“ถ้าเรามองภาพรวมของโลก ปะการังกำลังถูกคุกคามจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดปะการังฟอกขาวเยอะ ซึ่งนักชีววิทยาทางทะเลเคยลงมาดูพื้นที่นี้ และเขาสันนิษฐานว่ามันเป็นปะการังที่สามารถปรับตัวได้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มันมีความสำคัญเชิงนิเวศวิทยาสูงมาก”

ปัญหาหนึ่งที่ ดร.อาภา กังวลหากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน คือปัญหาเรื่องพื้นที่

“ซึ่งเป็นปัญหาสากลของเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่ชายฝั่งถูกพัฒนาเป็นมารีน่า เป็นของเอกชน พื้นที่บริเวณนั้นจะกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว ทั้งๆ ที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย นี่คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ เพราะเมื่อใดที่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ไปคร่อมชายหาด ชาวบ้านชาวประมงที่สามารถเข้าออกพื้นที่นั้นได้ก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้เลย มันกลายเป็นที่ส่วนตัว”

เปลี่ยนความเหลื่อมล้ำเป็นความยั่งยืน

“ทำยังไงให้คนได้มีโอกาสเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน” คือคำถามของ อาจารย์พิสิทธิ์

พิสิทธิ์มองว่า พื้นที่สาธารณะเป็นอะไรที่มากไปกว่าพื้นที่ที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“บางคนไปปลดเปลื้องเรื่องโศกเศร้า บางคนไปหาแรงบันดาลใจ ไปนอนดูดาวริมหาด ไปทำกิจกรรมกับเพื่อน มันร้อยแปดพันเก้า เราพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องพ่วงคำว่า ‘ยั่งยืน’ เข้าไปด้วย แล้วความหมายของคำว่า ยั่งยืน ที่เขาให้ก็คือ ทำยังไงที่เราจะให้คนรุ่นต่อไปสามารถที่จะมีโอกาสใช้ทรัพยากร ชื่นชม สัมผัส แบบเดียวกับที่เรามี เหมือนเราไปอ่าวพังงา เขาก็ควรที่จะมีโอกาสได้ดูเต่า ไม่ใช่ดูแต่ในหนังสือการ์ตูน”

ขณะที่ พิเชษฐ์มองว่า โครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าที่บ้านอ่าวกุ้ง ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เอาหรือไม่เอามารีน่า แต่เป็นปัญหาร่วมของคนทั้งโลก

“ความเข้าใจคนส่วนใหญ่ คิดว่ากรณีเรื่องท่าเรือยอชต์อ่าวกุ้ง เป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มเพียงอย่างเดียว คือกลุ่มคนที่มาทำท่าเรือยอชต์ กับกลุ่มคนที่หากินอยู่บริเวณนั้น ซึ่งผมคิดว่ามันแคบเกินไป ผมเห็นว่า ชุมชนหรือกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ทั้งป่าชายเลนและชายฝั่ง และทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและอื่นๆ มาร่วม 30 ปี จนทรัพยากรสมบูรณ์ เขาไม่เคยบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของชุมชนเขา หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา

“เพียงแต่เขา – ในฐานะกลุ่มหรือชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับฐานทรัพยากร มีโอกาสใช้ฐานทรัพยากร ในรูปแบบการจับทรัพยากรเหล่านั้น เขาดูแลปกปักรักษาแลกกับการที่เขามีโอกาสใช้สอยทรัพยากรนั้น เขาจึงใช้เครื่องมือจับปลาที่ยั่งยืน โดยเฝ้าระวังทรัพยากรเป็นการแลกเปลี่ยน แต่เขาไม่ได้ถืออ้างสิทธิว่า ทรัพยากรตรงนี้เป็นของเขา เพราะทรัพยากรตรงนี้เป็นของทุกคน แต่กรณีท่าเรือยอชต์ที่จะเข้ามาสร้าง ถ้าจะต้องขุดทำลายพื้นที่ของทุกคน กรณีปะการังที่มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ที่มันสู้ภัยฟอกขาวได้ ผมคิดว่านี่เป็นทางออกของโลกด้วย มันเป็นของคนทุกคนที่จะนำพาการแก้วิกฤติของโลก ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในทะเลหรือป่าชายเลนมันเป็นของทุกคน สิ่งที่พี่น้องต้องการจะบอกคือบอกตรงนี้” พิเชษฐ์เล่า

“เมื่อเราทำการพัฒนาโดยไม่ได้คิดถึงคนรุ่นหลัง เราคิดแต่พัฒนาเพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิต ซึ่งการพัฒนานี้นำไปสู่ปัญหามากมาย ปัญหามันเกิดขึ้นวันนี้เลย หนึ่งในนั้นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ เมื่อพัฒนาแล้วไม่มีการวางกฎเกณฑ์ที่ดีในการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำก็มา โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร” อาจารย์พิสิทธิ์กล่าวปิดท้าย

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า