วัคซีน 80% ของโลกอยู่ในมือประเทศร่ำรวย ส่วนวัคซีนอีก 1% ประเทศยากจนต้องแบ่งกันฉีด

ในยามที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ละประเทศก็มีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ แม้ปัจจุบันจะมีการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศและทุกคนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว บางประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศร่ำรวยที่มีกำลังจัดซื้อวัคซีนหลายล้านโดส และนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชากรในประเทศของตน แต่ในขณะเดียวกัน หลายประเทศที่มีสถานะยากจนกว่า กลับมีวัคซีนแจกจ่ายให้แก่ประชากรตนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤติโควิด-19 ได้ตอกย้ำและขยายความรุนแรงของปัญหา ‘ความไม่เท่าเทียม’ หรือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังให้เป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้นในทุกๆ มิติ 

อัปเดตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data

ความเหลื่อมล้ำที่รุกคืบเข้ามาพร้อมกับเชื้อไวรัสโควิด-19 

หากดูสถิติของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างแคนาดา และสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่ามีตัวเลขค่อนข้างสูง เนื่องจากประชากรที่อยู่อาศัยในประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย 

อย่างในสหรัฐ ประชาชนสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของร้านขายยา เช่น Walgreens 

เครือร้านขายยาขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศ โดยในปี 2021 Walgreens มีสาขาทั่วประเทศมากถึง 8,981 สาขา ตั้งอยู่ประปรายใน 3,228 เมือง ซึ่งบริษัท Walgreens เป็นหนึ่งใน 21 ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการพาร์ทเนอร์ร้านขายยาเอกชน (Federal Retail Pharmacy Program) ที่เข้าร่วมกับภาครัฐในการให้บริการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบร้านขายยาสาขาใกล้บ้าน และเลือกยี่ห้อวัคซีนที่ต้องการจะฉีด เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ได้ตามวันและเวลาที่สะดวกผ่านเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ 

อัปเดตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data

อีกทั้ง ช่วงนี้ยังเป็นเวลาที่ทั้งภาครัฐและเอกชนในสหรัฐ ต่างพยายามสร้างแรงจูงใจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีการออกแคมเปญต่างๆ เพื่อผลักดันและรณรงค์ให้ผู้คนในประเทศตัดสินใจไปฉีดวัคซีน เช่น การแจกโดนัท เบียร์ บัตรขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนลดคอนเสิร์ต ลอตเตอรี่ รวมถึงมีการสุ่มให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนแก่ผู้ได้รับวัคซีน และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย เพียงแค่ประชาชนต้องแสดงหลักฐานว่าตนได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในประเทศยากจนกลับไม่เป็นเช่นนั้น นักวิจัยกล่าวว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศที่ยากจนจะต้องรอคอยไปอีก 2 ปีกว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19”

เราต้องการวัคซีนประมาณ 11,000 ล้านโดสเพื่อที่จะฉีดให้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด โดย ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วประมาณ 3,200 ล้านโดส หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน คาดการณ์ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ รูเชอร์ อการ์วาล (Ruchir Agarwal) และ กีตา โกปินาธ (Gita Gopinath) นักวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ระบุ

แต่จากตัวเลขดังกล่าว วัคซีนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นั้นถูกแจกจ่ายไปยังประเทศที่ร่ำรวย (high-income) และประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนไปถึงสูง (upper-middle-income) เช่น จีน สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ (low-income) มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ครั้ง 

ยกตัวอย่าง สหรัฐได้รับวัคซีนถึง 331.65 ล้านโดส สหราชอาณาจักรที่มีจำนวนประชากรประมาณ 68 ล้านคน ก็ได้รับวัคซีนมากถึง 79.54 ล้านโดส โดยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ของโลก มีอินเดียประเทศเดียวที่มีรายได้ต่ำไปถึงกลาง (lower-middle income) ซึ่งกำลังต่อสู้อย่างหนักกับผู้ติดเชื้อกว่า 30 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 400,000 ราย และต้องไม่ลืมด้วยว่าอินเดียมีประชากรราว 1,300 ล้านคน ในขณะที่ประเทศยากจนในแอฟริกาซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงมาก เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) ที่มีประชากรกว่า 92 ล้านคน กลับได้รับวัคซีนเพียง 65,567 โดสเท่านั้น 

ในขณะนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโควิดสายพันธุ์เดลตา (Delta) ประเทศอื่นๆ เช่น ยูกันดา นามิเบีย แซมเบีย รวันดา และตูนิเซียก็กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นเดียวกัน

“สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุมาจากความเหนื่อยล้าของภาคประชาชน ความแตกต่างกันในเรื่องของรายได้ ตำแหน่ง และชนชั้นทางสังคม มาตรการด้านสาธารณสุขและสังคมที่ด้อยประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว

อัปเดตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data
อัปเดตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data
อัปเดตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data
อัปเดตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วทวีปแอฟริกา สำนักงานองค์การอนามัยโลกในทวีปแอฟริกา ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบราซซาวิล (Brazzaville) สาธารณรัฐคองโก ( Republic of Congo) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 39 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 20 มิถุนายน 2564 และเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ในสุดสัปดาห์ (วันที่ 27 มิถุนายน 2564)

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa Centres for Disease Control and Prevention หรือ Africa CDC) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ประเทศอย่างน้อย 20 ประเทศ รวมไปถึงประเทศแซมเบีย ยูกันดา แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 เป็นระลอกที่สาม ทำให้สถานบริการสุขภาพในประเทศเหล่านี้ต้องรองรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

อัปเดตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
ที่มา: Our World in Data

“ผมขอพูดตามตรงนะ พวกเราไม่ได้ชนะในการต่อสู้ในสมรภูมิเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแอฟริกา ดังนั้น มันไม่ได้สำคัญกับผมเลยว่าแหล่งที่มาของวัคซีนจะมาจาก COVAX หรือที่ไหนก็ตาม ทั้งหมดที่เราต้องการในเวลานี้คือ การเข้าถึงวัคซีนในระยะเวลาอันรวดเร็ว” จอห์น นเคนกาซอง (John Nkengasong) ผู้อำนวยการ Africa CDC กล่าวบรรยายสรุปในที่ประชุมเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

เรียกร้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง

“การแจกจ่ายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันทำให้ไวรัสแพร่กระจายต่อไปได้” แพทย์หญิงซอมญา สวามินาธาน (Dr.Soumya Swaminathan) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย (Chief Scientist) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าว

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ โพลลาร์ด (Professor Andrew Pollard) หัวหน้ากลุ่มวัคซีนมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม แต่เขาต้องการให้มีการบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศยากจนที่ยังคงมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันต่ำอย่างน่าเป็นกังวล

“เรามีช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์ที่เรามาถึงจุดที่เราสามารถแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านโดสไปทั่วโลก” เขากล่าวกับรายการ Radio 4 Today ของ BBC 

“ถ้าเราย้อนกลับไปดูการคาดการณ์เมื่อหนึ่งปีก่อน ตัวเลขดังกล่าวก็เพียงพอแล้วที่จะฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโควิด…แต่ถึงกระนั้น ก็มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 55,000 คนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าหากคุณอยู่ในประเทศที่ยากจน คุณก็มีแนวโน้มว่าจะยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน”

องค์การอนามัยโลก ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ กับทุกประเทศภายในเดือนกันยายน และคาดหวังว่าตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนในแต่ละประเทศจะมีอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่ง แพทย์หญิงซอมญ่า ก็ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประเทศต่างๆ แบ่งปันวัคซีนให้กับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งจัดสรรไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก นำโดยองค์การอนามัยโลก อีกทั้ง ผู้ผลิตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของประเทศที่จะได้รับวัคซีนจากโครงการ COVAX

ประชากรที่ยังไม่มีโอกาสได้รับวัคซีน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากโควิดสายพันธ์ุเดลตา (Delta) ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ จีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ 

สำหรับในประเทศไทยพบการระบาดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจากแคมป์คนงานหลักสี่ ด้วยความสามารถในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว จึงเป็นที่จับตามองและต้องเฝ้าระวังในระดับสูง เนื่องจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ราว 60 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าอัลฟาจะมีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

อาจสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมากให้ผู้คนเพียงไม่กี่ประเทศ ยังคงทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดต่อไปในประเทศอื่นๆ อีกทั้ง การกระทำเช่นนี้ก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์อันเลวร้าย อาทิ วัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่สามารถต้านทานไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตน และคำนึงถึงชีวิตของพลเมืองโลกเป็นอันดับแรก โดยการร่วมมือกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับวัคซีน เพราะโควิด-19 ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป และตามหลักการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 25 ระบุว่า

“ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการ” 

ทุกประเทศจึงควรได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้าและทั่วถึง เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด และเพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดสิทธิและความเท่าเทียมที่เราต่างก็มุ่งปรารถนาให้ผลิบานบนโลกใบนี้

อ้างอิง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า