ความทุกข์ที่ไม่ได้เลือก แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวไก่ในวิกฤติโรคระบาด

“ถ้าจะให้เราไปขายอาหารเองข้างนอก ทำไม่ได้หรอก เราไม่มีเงินแล้ว เงินที่ใช้ทุกวันนี้ก็หมดไปกับการดูแลตัวเองและซื้อข้าวกิน”

แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวไก่ในโรงเรียนย่านปทุมธานี, 50 ปี

นาฬิกาปลุกจะดังขึ้นในช่วงเวลาตี 1 ของทุกคืน นี่คือเวลาที่ แม่ชา (นามสมมุติ) ตื่นขึ้นมาเป็นประจำเพื่อลุกขึ้นอาบน้ำ เตรียมตัว จัดแจงข้าวของให้พร้อมก่อนเดินทางไปจับจ่ายวัตถุดิบในตลาดเช้าที่อยู่ห่างจากบ้านระยะทางกิโลเมตรกว่าๆ

แม่ชาคือแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวไก่ในโรงเรียนย่านปทุมธานี เธอดำรงชีพด้วยการขายอาหารในโรงเรียนมาเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี 

ทว่าตั้งแต่การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นในปี 2563 ยาวต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ก็ทำให้ตารางชีวิตของเธอเปลี่ยนไป

มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐออกมาเพื่อควบคุมโรคคือ งดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมต่างๆ ปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรวมตัว ผลกระทบจากนโยบายการปิดสถาบันการศึกษาครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่นักเรียน ครู หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้นที่ต้องปรับตัว เพราะพื้นที่ภายในรั้วโรงเรียนยังซ่อนอีกหลายชีวิต หลายอาชีพ หลายครอบครัว โดยที่พวกเขาต้องแบกรับความเดือดร้อนครั้งนี้อย่างไม่มีทางเลือก

หากสถานการณ์เป็นปกติ เธอจะตื่นตี 1  ออกจากบ้านไปตลาดตี 2  ตี 3 นิดๆ ก็เดินเข้าโรงเรียนแล้ว เพื่อเตรียมอุปกรณ์ เริ่มตั้งหม้อต้มน้ำซุป รอจนน้ำเดือดประมาณตี 4 ครึ่งก็นำไก่ลงหม้อเพื่อต้มให้ซุปเข้าเนื้อ 

“ถึง 6 โมงเอาไก่ขึ้นมาพักไว้ให้เย็น เตรียมหั่นให้เป็นชิ้น จากนั้นก็เริ่มเตรียมเส้น หั่นผัก ลวกลูกชิ้น จัดแจงหน้าร้าน จานชาม ให้พร้อมขาย”

ก๋วยเตี๋ยวไก่ชามแรกของแม่ชาจะถูกขายในเวลา 6 โมงเช้าซึ่งเป็นเวลาที่เด็กๆ ทยอยมาถึงโรงเรียน และขายได้ดีอีกทีในช่วงนักเรียนพักกลางวัน

“วันหนึ่งแม่จะขายได้ทั้งหมด 2 รอบ เช้า กลางวัน ก๋วยเตี๋ยวถ้วยละ 20 บาท พิเศษ 25 ขายได้เฉลี่ยวันละ 150 ถ้วย กำไรวันละ 1,000 (ยังไม่หักค่าแก๊ส) แต่มีต้นทุนจ่ายตลาดวันละ 2,500 บาทนะ”

แม่ชาแจกแจงรายละเอียดในแต่ละวันให้ฟังว่ากว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่ 1 ชาม ต้นทุนหมดไปกับการซื้ออกไก่วันละ 10 กิโล ไก่บด 4 กิโล โครงไก่ 6 ตัว ลูกชิ้น ผัก เครื่องปรุงต่างๆ ที่เธอตั้งใจคัดเลือกแต่ของคุณภาพดี เพื่อให้ได้ก๋วยเตี๋ยวที่รสชาติอร่อยที่สุด

แม่ชาเล่าให้ฟังว่า การเป็นแม่ค้าที่ขายของอยู่ในโรงเรียน ไม่ได้การันตีว่าจะมีรายได้ดีกว่าการขายที่อื่น

“ปกติวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันที่เด็กไปทัศนศึกษา เราก็จะไม่มีรายรับอยู่แล้ว ยิ่งพอมีโควิด โรงเรียนปิด พอไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยวทุกอย่างก็ค่อยๆ แย่ลง

“ยิ่งการระบาดรอบสอง โรงเรียนปิดตั้งแต่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว จนกระทั่งวันนี้ยังไม่เปิด สำหรับแม่มันนานมากเลย เราไม่มีรายรับ มีแต่ค่าใช้จ่าย เดี๋ยวค่าน้ำ-ค่าไฟก็จะมาแล้ว ไหนจะค่าผ่อนบ้านอีก”

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้สัก 3-4 ปี แม่ชาบอกว่าอาจจะพอหารายรับจากทางอื่นและนำมาจุนเจือครอบครัวได้บ้าง

“แม่กับพ่อ (สามี) เคยขายอะไหล่ในโรงสีมาก่อน เราใช้วิธีการขับรถไปเสนอขายตามโรงสีในจังหวัดต่างๆ ช่วงที่เศรษฐกิจดีมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ เราก็ได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ขายดีมากนะ กำไรครั้งละ 20,000 บาท แต่ยุคหลังๆ เศรษฐกิจไม่ดี ราคาข้าวก็ไม่ดี ไม่มีออร์เดอร์เลย จนตอนนี้ต้องเลิกทำไปแล้ว

“โควิดมันดี๊ดีนะ (ทำเสียงประชด) มันเข้ามาทำให้คนตายและคนเครียด เวลาจะออกไปทำมาหากินก็ระแวงไปหมด บรรยากาศก็แย่ คนก็ไม่กล้าออกมาจากบ้าน แม่ค้าก็ขายของไม่ได้ ยิ่งจะให้เราเปลี่ยนไปขายออนไลน์ก็ทำไม่เป็น ถ้าจะให้เราไปขายอาหารเองข้างนอก ทำไม่ได้หรอก เราไม่มีเงินแล้ว เงินที่ใช้ทุกวันนี้ก็หมดไปกับการดูแลตัวเอง ซื้อข้าวกิน และเก็บไว้พาคุณพ่อ (สามี) ไปหาหมอ”

การถูก (บังคับ) ให้หยุดโดยไม่มีทางเลือกครั้งนี้ไม่ใช่แค่ร้านก๋วยเตี๋ยวแม่ชาที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเพื่อนแม่ค้าในโรงเรียนต่างต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน

“ไม่มีค่ะ ไม่มีการเยียวยาหรอก ปกติการจะเข้าไปขายอาหารในโรงเรียน เราก็ต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายเทอมละ 5,000 บาท 1 ปีมี 2 เทอมก็เฉลี่ยปีละ 10,000 และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น การทำความสะอาด โดยทุกร้านค้าในโรงอาหารต้องจ่ายส่วนนี้เฉลี่ยวันละ 50 บาท โชคดีหน่อยที่ตอนโควิดรอบแรก โรงเรียนลดค่าเช่าให้เหลือเทอมละ 3,000 แต่รอบสองที่หยุดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แม่ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเลย

“อาชีพเราเหมือนถูกลอยแพ ต่างคนต่างไป ครูยังมีเงินเดือน ภารโรงยังมีเงินเดือน แต่เราไม่มีอะไรเลย หาเช้ากินค่ำไปวันๆ” แม่ชาบอก

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนหวาดกลัวไปกับมัน แม่ชาก็เช่นกัน เธอมีความกลัวไม่ต่างจากทุกคน แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าไวรัสแม่ชาบอกว่าคือการอดตาย

“ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนไป เครียด เครียดกว่าเดิมอีก คุณพ่อก็ไม่มีงาน แม่ก็ต้องหยุดบ่อยเพราะโรงเรียนหยุด ตอนนี้เราติดหนี้ค่าบ้านมา 5 เดือนแล้ว เฉพาะดอกเบี้ยก็ปาไป 60,000 กว่าบาท

“ก่อนที่เราซื้อบ้านหลังนี้ แม่กับพ่อช่วยกันหาเงินได้เยอะและเราก็ไม่คิดว่าเศรษฐกิจมันจะไม่ดี กำลังคิดอยู่ว่าจะไปคุยกับธนาคารเพื่อขอชะลอหนี้ เพราะตอนที่ได้บ้านหลังนี้มา พ่อคือกำลังหลักในการจ่าย ตอนนี้คุณพ่อเขาเริ่มไม่ค่อยสบาย เขาอายุ 67 แล้ว ไอติดต่อกันมา 2-3 เดือน แม่ก็ต้องคอยดูแลเขา

 “พอไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยวแม่อยู่แต่ในบ้าน แม่ไม่ได้ไปไหนหรอก ตื่นเช้ามาก็ทำกับข้าว กินข้าว กินยา พอ 6 โมงเย็นก็เตรียมเข้านอนเพราะแม่เป็นความดันเลยต้องเข้านอนเร็ว ได้แต่ให้กำลังใจกัน บอกกันว่าสู้ๆ ทำตัวให้แข็งแรง อย่าเพิ่งเป็นอะไร เพราะถ้าเป็นอะไรขึ้นมา มันลำบากคนที่เขาอยู่ข้างหลัง”

สำหรับแม่ชา การไม่ได้ทำงานนานๆ ไม่ใช่เรื่องสนุก แม่ชายังคงสะดุ้งตื่นในเวลาเดิมแทบทุกคืน ยังคงเฝ้ารอการกลับไปเดินตลาดเพื่อเลือกซื้อวัตถุดิบต่างๆ และได้กลับไปขายก๋วยเตี๋ยวอีกครั้ง

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า