คนทำอิฐ  ชื่อ อนุทิน วงศ์สรรคกร

หากนักเขียนคือสถาปนิกผู้ใช้ภาษาในการสร้างข้อความ กราฟิกดีไซเนอร์ก็เป็นดั่งคนสร้างบ้านให้แก่ข้อความปรากฏอย่างสวยงามบนหน้ากระดาษ และวัสดุอุปกรณ์ของกราฟิกดีไซเนอร์ก็คือ แบบตัวอักษร (typeface)

อนุทิน วงศ์สรรคกร เป็นนักออกแบบตัวอักษร และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘คัดสรร ดีมาก’ บริษัทออกแบบตัวอักษร และออกแบบเรขศิลป์เพื่อวางแผนการสื่อสารองค์กร ไม่ว่าเราจะคุ้นชินกับการใช้ฟอนต์ฟรีแค่ไหนก็ตาม มากกว่าหนึ่งครั้งที่ ‘type designer’ อย่างเขาบอกว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” 

คัดสรร ดีมาก ออกแบบตัวหนังสือสำหรับองค์กรที่มองเห็นรายละเอียดของการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พูดง่ายๆ ว่าหากคุณมองเห็นคุณค่าว่าแบบตัวอักษรสามารถเป็นภาพแทนสุ้มเสียง อัตลักษณ์ หรือแม้กระทั่งตัวตนขององค์กร ความพิถีพิถันในการเลือกสำเนียงเสียงผ่านแบบตัวอักษรจึงจำเป็น

“คนชอบคิดว่าเราไม่ได้ทำงานออกแบบตัวอักษรแบบเต็มเวลา เราทำงานออกแบบตัวอักษรเต็มเวลาครับ ซึ่งอยู่ได้ครับ” อนุทินบอก “ส่วนทางฝั่งออกแบบการสื่อสารและกลยุทธ์การสื่อสารที่ คุณพงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ ดูแลอยู่ ก็จะเป็นอีกส่วน ซึ่งเป็นอีกลักษณะของกลุ่มงาน ก็สามารถดำเนินอยู่ได้โดยมีอิสรภาพซึ่งกันและกัน รายได้ที่แต่ละดีพาร์ทเมนท์ได้มาก็ทำให้ดีพาร์ทเมนท์นั้นๆ อยู่ได้ ส่วนเรื่องกิจกรรมเป็นเรื่องที่เราชอบและรักที่จะทำอยู่แล้ว ก็เลยจำเป็นต้องบริหารจัดการให้มันเป็นไปได้เกิดขึ้นได้ในทางเศรษฐศาสตร์”

กิจกรรมด้านวิชาการและการศึกษาจึงเกิดขึ้นและเป็นไป เขาเชื่อในการกระจายองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งในแบบความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เช่น งานภาวะผู้นำทางการออกแบบ (Design Leaderships Thailand) ปี 2553 และ งานสัมมนาวิชาการอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ (BITS) 

อย่างที่บอก อนุทินไม่เชื่อว่าของฟรีมีในโลก กิจกรรมความรู้ด้าน type design ที่จัดขึ้นจึงมีค่าใช้จ่าย แต่เขาเชื่อในระบบเปิดของความรู้ แม้จะมองว่ามีข้อจำกัดอยู่มากในระบบการศึกษาไทย และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่ขอดูทรานสคริปต์หรือพอร์ตโฟลิโอของพนักงาน แต่เลือกที่จะถามผู้เข้ามาสมัครงานที่ คัดสรร ดีมาก ว่า “ทำแซนด์วิชกินเองไหม” 

มากกว่าหนึ่งครั้งเช่นกัน อนุทินนิยามว่างานของเขาคือการทำอิฐให้กราฟิกดีไซเนอร์เลือกใช้สอยไปสร้างบ้านให้ข้อความ “เพราะครึ่งหนึ่งของงานกราฟิกดีไซน์คือตัวหนังสือ ถ้าตัวหนังสือไม่ดี งานออกแบบจะดีได้อย่างไร”

นี่คือเหตุผลว่าทำไม กราฟิกดีไซเนอร์ทั้งสองคนของ WAY จึงเข้ามามีบทบาทในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพราะเนื้องานหนึ่งของพวกเขาคือการเลือกใช้สอยอิฐที่เหมาะสม นำมาเรียงร้อยและส่งเสริมให้ข้อความของนักเขียนสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ 

พวกเรา - สถาปนิกและคนสร้างบ้าน จึงเดินทางไปพบคนทำอิฐ

พวกเราเดินทางจากลาดพร้าวซอย 101 มาพบคุณที่ทองหล่อซอย 4 ระหว่างเดินทาง ร้านรวงสองข้างทางทำให้เกิดคำถามว่าเพราะอะไรแบบตัวอักษรบนป้ายการค้าหรือการออกแบบร้านรวงย่านถนนลาดพร้าว จึงสร้างอารมณ์หรือให้ความรู้สึกที่แตกต่างเหลือเกินเมื่อเทียบกับทองหล่อ

ถ้ามองกรุงเทพฯเป็นหน่วยๆ ที่มาประกอบกัน และทุกย่านในกรุงเทพฯก็คือส่วนประกอบต่างๆ ที่รวมเป็นหน่วยเดียวนี้ ในแต่ละย่านของกรุงเทพฯต่างมีวิธีการสื่อสารไม่เหมือนกัน ลาดพร้าวก็มีคาแรคเตอร์ของกิจการหรือพื้นที่อยู่อาศัยอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นคาแรคเตอร์ของพื้นที่ก็เหนี่ยวนำการดีไซน์อีกแบบ ผมพูดถึงดีไซน์โดยทั่วไป ไม่ได้พูดถึงการออกแบบตัวอักษร (type) เพียงอย่างเดียว การออกแบบก็ล้วนเป็นไปตามมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ผู้คนในแต่ละพื้นที่มีแนวโน้มที่จะเลือกตัวหนังสือมาใช้อย่างแตกต่างกัน 

ผมคิดว่าทั้งสถาปัตยกรรม ผังเมือง ล้วนเกี่ยวโยงและส่งผลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่

นอกเหนือจากนี้ยังมีมิติประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พื้นที่นี้เคยเป็นอย่างไรมาก่อน บางพื้นที่เป็นย่านการค้า บางพื้นที่เป็นเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ บางพื้นที่เป็นย่านเก่าแก่ แต่ละพื้นที่มีฟังก์ชั่นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพื้นที่ก็ดึงดูดผู้คนไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมเจาะจงลงมาในเรื่องของแบบตัวอักษร ผมคิดว่ารูปแบบกิจการกับลักษณะความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละย่านก็เรียกร้องแบบตัวหนังสือที่ต่างกัน ผมคิดว่าลาดพร้าวกับทองหล่อไม่ได้แตกต่างกันมากแบบคนละขั้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบทองหล่อกับสำโรง พระโขนง หรืออ่อนนุช อาจจะเห็นได้ชัดกว่าด้วยซ้ำไปทั้งๆ ที่กายภาพอยู่ถัดกันมา เราอาจจะเจอภาษาพม่า หน้าจอตู้เอทีเอ็มมีสามภาษา ไทย จีน พม่า ภาษาก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงว่าใครอยู่ในพื้นที่ รวมถึงรูปแบบของกิจการ 

ถ้าตัวหนังสือเป็นภาพแทน เป็นการแสดงคาแรคเตอร์ ขออนุญาตถามคำถามแนวๆ นะครับ ว่าหากให้คุณเลือก typeface สักตัวหนึ่งที่เป็นตัวแทนของย่านทองหล่อ คุณจะเลือก typeface ตัวไหน

เปรียบเทียบย่านทองหล่อเป็น typeface เหรอ ตอบไม่ได้หรอก ผมยังไม่รู้เลยนะว่า identity ของทองหล่อจริงๆ แล้วคืออะไร ผมรู้สึกว่าทองหล่อเป็นย่านชั่วคราว…ก็ตลกดีนะ บ้านผมจะอยู่ตรงแถวๆ ร้านนั่งเล่น เวลานั่งแท็กซี่ก็จะบอกว่าไปตรงนั่งเล่น ไม่น่าเชื่อ แท็กซี่ทุกคันจะรู้จักนั่งเล่นทั้งนั้นเลย ผมก็ถามว่าทำไมรู้จักร้านนั่งเล่น พวกเขาไปส่งคนที่นั่นบ่อย บางครั้งรับคนจากรังสิตคลอง 5 หรือบางปู ผมคิดในใจว่าคุณถ่อมานั่งเล่นนี่นะ ตี 3 ก็ตะกายกลับบ้านเหรอ ชีวิตทำด้วยอะไรวะ ผมมองว่าบุคลิกของทองหล่อที่คุณเห็น เกิดจากคนที่อยู่ทองหล่อชั่วคราว ร้อยละ 95 ที่มาดื่มกินกิ๊บเก๋ ไม่ใช่คนในพื้นที่จริง แต่พวกเขาก็เป็นผู้ทำให้ทองหล่อมีค่าและคาแรคเตอร์แบบนี้ คนที่ผ่านไปผ่านมาก็เข้าใจว่านี่คือคาแรคเตอร์ของทองหล่อ 

แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่คาแรคเตอร์ของทองหล่อ คาแรคเตอร์ของทองหล่อคือคนที่อยู่ในพื้นที่จริง อันนั้นเป็นเหมือนแค่มะขามคลุกบ๊วย คือได้อีกกลิ่นหนึ่งขึ้นมาเคลือบไว้ ผมคิดว่าต้องมาดู identity ของทองหล่อว่าคืออะไร ร้านอาหารย่านนี้ก็รองรับคนนอกพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่ก็ไม่ได้กินแบบนั้นทุกวันหรอก ใครจะไปนั่งกินร้านแบบว่าเก๋ๆ ทุกวัน ก็คงไม่สมจริงกับชีวิตใช่ไหมครับ ผมก็สงสัยว่า identity ของทองหล่อคืออะไร คือย่านสุขุมวิทเก่าเหรอ เป็นชายขอบของย่านสุขุวิทเก่าที่มีคนขายบ้านทิ้ง เพราะอยากได้เงินก้อนแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น แล้วปล่อยให้ที่กลายเป็นคอนโด หรือยังไง มองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นทองหล่อที่สวมทับกับทองหล่อที่คุณเห็น 

ทองหล่อเดิ้นเหรอ ผมว่าก็ไม่ได้เดิ้นหรอกนะ ทองหล่อดูเดิ้นเพราะถูกทำให้รองรับคนที่รู้สึกว่าอยากจะเดิ้นแล้วมาตรงนี้ ดั้นด้นเอาความเดิ้นยัดใส่กระเป๋าหลุยส์ มาถึงแล้วก็เททิ้งไว้กับขวดเหล้าที่ทองหล่อ ผมว่าโคตรเชยเฉิ่มเบ๊อะเลย จริงๆ เชยจะตาย เป็นวัฒนธรรมฉาบฉวยมากเลย คุณคิดว่าคนขับรถเฟอร์รารีต้องการเคลื่อนย้ายตัวเองจากจุด A ไปยังจุด B เหรอ ก็ใช่นะ แต่ถ้าวิเคราะห์ดูดีๆ เขาขับมาอวดคนที่มาจากต่างถิ่นที่ คาดหวังว่าเข้ามาในทองหล่อจะได้มาเจอสิ่งนี้ แล้วได้รับความรู้สึกนี้กลับไป มันชั่วคราวมาก ถ้าให้เลือกอาจจะต้องฟอนต์อะไรที่ฉาบฉวยนะ แต่นึกไม่ออก เพราะไม่ค่อยได้สนใจฟอนต์กลุ่มนี้ พอเราทำงานมานานเราจะไม่ค่อยมีมุมที่ดีนักในการมองฟอนต์ฉาบฉวย

คุณมองเห็นความจำเป็นไหมที่ร้านค้าประเภทรับปะยางต้องใช้แบบอักษรที่มีความสร้างสรรค์

ผมคิดว่ายากถ้าจะต้องตอบคำถามนี้ในเวลานี้ เพราะทุกคนต่างใช้เมนูฟอนต์ในคอมพิวเตอร์ในการเลือก จึงทำให้ความเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีขอบเขต หรือความจริงใจของเจ้าของร้านรับปะยางถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ฟอนต์ ซึ่งถูกเลือกเพื่อแทนเสียงของเขา ฟอนต์ที่เลือกมานั้นอาจไม่ได้เป็นสุ้มเสียงของเขาจริงๆ คุณเคยเห็นร้านปะยางที่แม่งโคตรจริงใจหรือวินมอเตอร์ไซค์ที่โคตรจริงใจเพราะเขียนด้วยลายมือไหม การเขียนด้วยลายมือก็จะให้อีกความรู้สึกหนึ่งนะ แต่ทุกวันนี้ผมว่ากิจการหรือร้านรวงทุกอย่างกลายเป็นคอมพิวเตอร์ฟอนต์หมด ฉะนั้นจึงไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่เจ้าของร้านอยากจะสื่อสารได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก…ถึงได้ ก็แค่ใกล้เคียง เขาอาจจะรู้สึกว่าเลือกฟอนต์ตัวนี้แล้วสามารถอธิบายตัวตนของเขาได้ดีหรืออะไรก็แล้วแต่  

นอกจากนี้ ตัวหนังสือก็เป็นตัวบ่งบอกเหมือนกันว่าร้านนี้น่าจะแพง ร้านนี้น่าจะถูก ร้านนี้เถื่อนๆ บ้านๆ นึกออกไหมร้านที่ใช้ฟอนต์อย่างดี พรินท์อิงค์เจ็ท ใช้ตัวหนังสือขนาดโอเวอร์ไซส์ใหญ่คับหน้ากว้างตึกแถว รู้สึกไฮเทครู้สึกหรูหรา มีความเป็นสมัยใหม่ ก็มีแนวโน้มที่จะได้มาตรฐาน ในวิธีการมองและตีความแบบคนทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งก็อาจจะสามารถชาร์จเงินได้มากกว่าร้านที่ใช้สีเหลือมาเขียนบนป้ายสังกะสีแล้วตั้งอยู่กับยางรถยนต์ใช้แล้วใหญ่ๆ นึกออกไหม ทั้งสองร้านนี้คือกิจการเดียวกัน แต่สื่อสารคนละแบบ มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน ถ้าคุณขับรถหรูคุณคงไม่ไว้ใจในการเข้าร้านที่ใช้สีเขียนบนป้ายสังกะสี เว้นแต่ว่าคุณไม่มีทางเลือก ณ จุดนั้น

แบบตัวอักษรเกี่ยวโยงกับชนชั้นของคนไหม

อย่าถามว่าเกี่ยวไหมดีกว่า เพราะผมคิดว่าเกี่ยวทั้งนั้นเลย เกี่ยวแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวหนังสือหรือฟอนต์เข้ามาทำหน้าที่แทนลายมือ แต่ก่อนนี้เราไม่มีเครื่องพิมพ์ดีด เราไม่มีสิ่งอื่นที่จะช่วยให้เราเขียนได้เร็วขึ้น หรือตีพิมพ์หรือทำซ้ำสิ่งที่เราคิดแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เราก็ต้องเขียนอย่างเดียว การเขียนก็มีข้อเสียในตัวเองด้วยเหมือนกัน ข้อเสียของการเขียนคือเป็นการทำซ้ำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดที่สุด มีปัจจัยผกผันเยอะ เพราะขึ้นอยู่กับคนเขียนมากเกินไป เมื่อการเขียนทำซ้ำได้ยาก การเขียนก็ไม่สามารถกระโจนไปพร้อมกับความคาดหวังของสังคมที่เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ทุกภาคส่วนของสังคมก็ต้องการบางสิ่งที่ทำให้มีอัตราการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกัน การพิมพ์จึงต้องเข้ามาแทนที่การเขียน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์แบบพิมพ์ดีด หรือการพิมพ์ที่เป็นการผลิตซ้ำจำนวนมาก หรืออะไรก็ตาม 

ก่อนหน้าเทคโนโลยีการพิมพ์ ถ้าเราต้องการหนังสือเล่มหนึ่ง เราก็ต้องคัดลอกหรือเขียน การเขียนก็มีลักษณะเฉพาะอยู่ในลายมือ วันไหนอารมณ์ดีลายมืออาจจะสวย วันไหนรีบลายมือก็ขยุกขยุย ความสอดคล้องต่อเนื่องก็จะมีน้อย ข้อดีของการพิมพ์มันมีค่าคงที่ตลอด แต่จะขาดอารมณ์ขาดเอกลักษณ์ 

ทีนี้เมื่อถึงวันที่เรามีฟอนต์และระบบเรียงพิมพ์ นักออกแบบออกแบบสิ่งพิมพ์ก็เข้ามาทำหน้าที่ในการเลือกฟอนต์ให้เราใช้อ่าน แต่ในคอมพิวเตอร์ อำนาจนี้ได้ถูกจัดสรรไปให้ปัจเจกอย่างคุณๆ เป็นผู้เลือก โดยคุณไม่ต้องพึ่งทักษะของนักออกแบบอีกต่อไป เราก็เลือกฟอนต์เมนู เราก็ไล่หาว่าฟอนต์ตัวไหนที่พอจะแทนเสียงของเราได้ ผมใช้คำว่า “พอที่จะแทนเสียงของเราได้” เพราะไม่มีฟอนต์ตัวไหนสามารถแทนเสียงของเราได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่เชื่อว่าการที่คุณเลือก Angsana New ในการพิมพ์ต้นฉบับ เพราะคิดว่าสามารถแทนเสียงคุณได้ แต่เพราะ Angsana New อาจจะถูกมองว่าเป็นเสียงกลางๆ ต่างหาก  หรือปลายทางน่าจะมีฟอนต์เดียวกันจะได้แสดงผลถูกต้องถ้าระหว่างการที่ผมเขียนจดหมายฉบับหนึ่งขอบคุณ WAY ที่มาพูดคุย กับพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ คุณก็ได้ความรู้สึกคนละแบบถูกไหม ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าคุณก็ไม่ค่อยได้เขียนหรอก แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเลิกเขียนไปเลยในชีวิตนี้ 

พอมาถึงเรื่องงานออกแบบ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการในการเลือก ก็กลายเป็นหน้าที่ของ type designer หรือกราฟิกดีไซเนอร์ แต่จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของกราฟิกดีไซเนอร์ในการเลือกตัวอักษรมาเป็นตัวแทนเสียงนั้นๆ ก็เหมือนอาเฮียที่ร้านปะยางอาจจะลองไล่ดูฟอนต์เมนูด้วยตนเอง แล้วก็เลือกเสียง (ฟอนต์) ที่คิดว่าแทนเสียงเขาได้ ซึ่งเขาอาจไม่ได้คิดมากก็ได้ บางคนก็อาจอยากได้ตัวหนาๆ อาจจะไม่ได้มีกระบวนการอะไรมากมาย เลือกเท่าที่มี ใช้เท่าที่มี แต่ไม่ว่าจะเป็นอาเฮียร้านปะยางหรือเลขาฯหน้าห้องก็ต้องใช้คอมมอนเซนส์ในการเลือก ผมว่าคอมมอนเซนส์ตรงนี้มีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว 

เลขาฯหน้าห้องหรือครูประจำชั้นโรงเรียนอนุบาลจะทำพรีเซนเตชั่นหรือจัดบอร์ดที่โรงเรียน ก็คงจะไม่ใช่ฟอนต์ที่แบบว่า… (ฟอนต์สุขุมวิท – หนึ่งในวงสนทนากล่าวแทรก) ใช่ไหม มันก็คงจะไม่เมคเซนส์ ผมว่าเรามีความเชื่อมโยงตรงนี้อยู่นะ มันเป็นเนื้องอกหรือพัฒนาการที่เรามีร่วมกัน เหมือนมีคอมมอนเซนส์ว่ามันน่าจะประมาณนี้ 

อะไรทำให้ตัวอักษรเกี่ยวโยงกับช่วงชั้นของคนในสังคม

สมมุติคุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีหนังสือแบบ WAY ให้เขาอ่าน สมมุติว่าเป็นสิ่งแวดล้อมแบบต้องอ่านจากใบลานเท่านั้น มันไม่ได้มีการเผชิญหน้ากับตัวหนังสือแบบเดียวกับตัวหนังสือที่ WAY ปะทะ พอเขามาเจอตัวหนังสือแบบนี้ เขาก็จะรู้สึกแปลกแยก อาจจะอ่านได้ แต่เขาจะรู้สึกแปลกแยก 

ผมคิดว่าแต่ละวัฒนธรรมย่อยหรือแต่ละชั้นของคนในสังคมต่างมีความชอบไม่เหมือนกัน มีลักษณะการเลือกไม่เหมือนกัน คนที่อยู่ชั้นบนเขาก็อาจจะมีโอกาสได้พบเจอกับตัวหนังสือที่หลากหลายมากกว่า ความยืดหยุ่นในการรับรู้ก็มีแนวโน้มจะมีมากกว่า ฟอนต์ที่ตกขอบมากๆ ถึงฟอนต์ที่โคตรจะ สามัญสุดๆ เขาก็อาจจะรับได้หมด แต่ในขณะที่คนที่อยู่ห่างไกล ในหมู่บ้านมีห้องสมุดแห่งเดียว ไม่เคยเจอ ความหลากหลายของสิ่งพิมพ์ เขาไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบบตัวหนังสืออื่นที่ไม่คุ้นตา ก็จะเกิดความรู้สึกว่าอ่านยาก 

ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ ผมเชื่อว่าคุณมีปฏิสัมพันธ์กับแบบตัวหนังสือต่างๆ ที่หลากหลายมากกว่า…แน่นอน เมื่อไปต่างจังหวัดคุณก็จะเจอกับการใช้แบบตัวอักษรอีกแบบ แต่ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้คนต่างจังหวัดรู้ว่าคนกรุงเทพฯอยู่กับอะไรบ้าง คนนิวยอร์คอยู่กับอะไรบ้าง ผมคิดว่าระดับความแตกต่างในการรับรู้ตรงนี้มันเริ่มหลอมรวมกัน คนอยู่ลำปางก็ใช้แมคอินทอช เปิดฟอนต์เมนูมาก็มีให้เลือกใช้เหมือนกัน คุณจะใช้ Helvetica ที่ลำปาง หรือจะใช้ Helvetica ที่เอธิโอเปีย หรือจะใช้ Helvetica ที่นิวยอร์ค ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณสามารถที่จะมีเสียงเดียวกันได้ ช่องว่างตรงนี้ก็น้อยลง 

คุณคิดอย่างไรกับลักษณะเฉพาะของตัวอักษรบนป้ายหรือการออกแบบป้ายต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย

ผมคิดว่าเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน โลกเหมือนจะเป็นโลกใบเดียวกันเพราะเทคโนโลยี การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ได้ทำลายความเป็นพื้นถิ่นหรือลักษณะเฉพาะถิ่น แต่ผมไม่ได้มองในแง่ลบนะ มันอาจจะทำลายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้ หรือทำลายให้เสียหาย แต่ที่แน่ๆ เทคโนโลยีทำให้เกิดการสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่ได้ผ่านระบบการเรียนรู้การออกแบบอุดมศึกษาหรือเทคโนโลยีมีจำนวนน้อยลง ผมว่าผู้คนก็คงไม่มีเวลามากด้วยมั้ง ถ้าจะเขียนป้ายด้วยลายมือ แล้วต้นทุนก็น่าจะสูงกว่าด้วย คอมพิวเตอร์ทำให้ต้นทุนต่ำลง งานผลิตเนี้ยบขึ้น จะเอากี่ก็อปปี้ก็ได้ เอกลักษณ์ของความเป็นพื้นถิ่นก็น้อยลงไปเพราะแลกกับสิ่งเหล่านั้น ผมว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองไทยหรอก อย่าคิดว่าเป็นสถานการณ์เฉพาะ แบบที่เราชอบคิดกับประเทศเราว่าเป็นเคสพิเศษไปหมดทุกอย่าง

แต่เวลาเราพูดถึงร้านทอง ฟอนต์ร้านทองลอยมาเลย ทั้งๆ ที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ คือจะใช้ฟอนต์แบบอื่นก็ได้ ทำไมร้านทองยังใช้ฟอนต์หน้าตาประมาณเดิมอยู่

เพราะว่าเขาต้องการยืนยันสปิริตเดิม ประกอบกับว่าเขาอาจจะหาคนทำตัวอักษรไม้แบบขึ้นรูปได้ยากขึ้น หรือหาไม่ได้เลย เมื่อก่อนนี้ป้ายร้านทองจะเขียนตัวหัวนกหรือเขียนตัวจีน ซึ่งก็บอกอะไรเราหลายอย่างนะ คือเรื่องการซื้อขายทองอยู่ในมือคนจีนไง มันมีปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ยึดโยงอยู่ แต่ก่อนอาจจะต้องใช้วิธีการแกะไม้ขึ้นรูป แต่ทุกวันนี้ใช้วิธีพรินท์อิงค์เจ็ทบ้าง ตัดสติกเกอร์บ้าง ใช้เลเซอร์ตัดอะคริลิคบ้าง วัตถุดิบเปลี่ยนไป แต่เขายังต้องการสปิริตเดิมอยู่ เพราะอะไร เพราะว่าเวลาคนจดจำร้านทอง เขาไม่ได้จดจำว่าเป็นร้านทองร้านนี้หรอก เขาจำที่สี จำลักษณะตัวหนังสือที่ใช้ ถามว่าคุณทำร้านทองแล้วจะใช้ฟอนต์แบบกิตติธาดาได้ไหม ผมคิดว่าได้นะ แต่คุณต้องสื่อสารเยอะกว่าร้านทองที่ใช้ตัวหัวนก เพราะตัวหัวนกคือความหมายแทนร้านทองมานานแล้ว มันผ่านเวลาและเกณฑ์ความชอบธรรม

สำนักงานกฎหมายล่ะครับ ถ้าใช้ตัวเอน จะมีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจไหม

ถ้าให้ผมตอบแบบอุดมศึกษา ถ้าคุณจะทำป้ายชื่อธนาคารคุณคงไม่ใช้ตัวอักษรที่มันล้มๆ สาเหตุเพราะคุณอยากให้ธนาคารดูน่าเชื่อถือ คำตอบแบบนี้ก็มีความจริงอยู่นะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้เลย ผมคิดว่าตัวเอน (Italic) ไม่ได้หมายความว่ามันอ่อนแอ…เสมอไป ต้องวรรคนะ ไม่ได้หมายความว่ามันอ่อนแอ วรรค เสมอไป หรือวงเล็บ เสมอไป ในฐานะที่เราเป็น type designer เราสามารถทำตัวเอียงให้ดูเสถียรให้ดูมั่นคงได้ เพียงแต่ว่าตัวเอนที่สื่อถึงความอ่อนแอเป็นคอมมอนเซนส์ทั่วไป เหมือนคุณเรียน typography 101 เขาต้องสอนคุณแบบนั้นเพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นคำตอบแบบสำเร็จรูป คล้ายๆ กับว่าสีแดงหมายถึงเร่าร้อน มันเป็นคำตอบพื้นฐานของการเรียนทฤษฎีสีใช่ไหม แต่ไม่ได้หมายความว่าสีแดงมีความหมายเท่ากับเร่าร้อน

พูดถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าไม่เฉพาะการเรียนออกแบบนะ แต่การเรียนทั่วไปเลยแม่งติดกับดักภาษา ไม่ฟังเอาใจความ พอตอบแบบไหนก็ยึดเอาแบบนั้น สีแดงหมายถึงเร่าร้อนก็ท่องไปจนเกษียณอายุ ทุกวันนี้บางคนยังขายงานแบบนั้นอยู่เลย เขาแค่ยกตัวอย่างให้ฟังว่าสีแดงเป็นสีโทนร้อน นี่คือข้อเท็จจริง แต่มันไม่ได้หมายความว่าเร่าร้อนเสมอ สีแดงเป็นสีโทนร้อนเมื่อเทียบกับสีฟ้า สีแดงซึ่งเป็นสีโทนร้อนมีความน่าจะเป็นในการเร้าความรู้สึกตื่นเต้นได้มากกว่าเมื่อเทียบกับสีโทนเย็น อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้เร่าร้อนในความหมายของสีแดงที่เป็นคำตอบตายตัว 

คุณประชา สุวีรานนท์ (นักออกแบบ – อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 44 ) เคยบอกว่า หน้าที่ของนักออกแบบคือเล่นกับภาพอุดมคติที่เป็นชุดความคิดสำเร็จรูป ในการออกแบบตัวอักษร มีชุดความคิดสำเร็จรูปไหนบ้างที่คุณคันไม้คันมืออยากจะเล่นกับมัน

ผมว่าสังคมนี้แม่งมีความคิดตายตัวหมดแหละ ความดีแม่งก็มีชุดเดียว ไม่ค่อยยอมรับความหลากหลายทางพันธุกรรม มีคนคิดว่าตัวอักษรไทยต้องมีหัวกลม ถ้าไม่มีหัวกลมไม่ใช่ภาษาไทย แต่คุณกำลังหมายถึงตัวหนังสือไทยช่วงไหน ตัวหนังสือไทยช่วงต้นอยุธยาก็ไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้นะ ตอนสุโขทัยก็ยิ่งไม่ได้เป็นแบบนี้นะ ถ้าคิดว่าสุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ เป็นประเทศเดียวกันกูว่ามึงก็บ้าแล้ว…ใช่ป่ะ 

โอเค กูบ้าไปกับมึงก็ได้ว่าสามอาณาจักรนี้เป็นประเทศเดียวกัน ถ้านั่งไทม์แมชีนกลับไปยุคสุโขทัยคุณคิดว่าจะอ่านตัวหนังสือไทยออกไหม…ไม่ออกหรอก มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทุกอย่างมีการเดินทางของมัน แล้วถามว่าคาแรคเตอร์ที่คุณเห็นในศิลาจารึกหรืออะไรก็ตาม ศิลาจารึกนั้นจะจริงหรือไม่จริงก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ไปดูศิลาจารึกคุณอ่านออกไหม อ่านไม่ออกไง คุณต้องมีการปริวัตรภาษามาเป็นภาษาปัจจุบันจึงจะอ่านออก แล้วคุณจะมาพูดทำไมว่าตัวหนังสือไทยต้องมีหัวกลม เพราะสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือไทยมีหัวหรือไม่มีหัว แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของตัวหนังสืออันนี้สัจจะ ตัวหนังสือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนตลอดเวลา คุณรู้ไหมว่าสระไอเคยเป็นสองชิ้น มันคือสระเอแล้วมีหยักข้างบน ก็ไม่มีใครสนใจไง ก็คิดว่าที่เห็นอยู่ที่เป็นอยู่นี้มันคือ original เรารู้จักสิ่งที่ตัวเองใช้น้อยมาก ผมว่าแม่งโคตรเศร้า

คนชอบคิดว่าตัวอักษรเป็นเรื่องที่หยุดนิ่ง ความจริงแล้วคุณเป็นแค่น้ำหยดเดียวในกระแสน้ำของประวัติศาสตร์ คุณเป็นแค่หยดเดียวในไทม์ไลน์ คุณเห็นพัฒนาการของตัวอักษรไทยแค่จุดเล็กๆ ของจำนวนเวลา 750 ปี คุณไม่รู้หรอกว่าตัวหนังสือเคลื่อนตัวทุกวัน คุณไม่รู้หรอกว่าตัวหนังสือไทยเปลี่ยนวิธีการเขียนทุกวัน เพียงแต่ช่วงชีวิตที่คุณเกิด ก.ไก่ เป็นแบบนี้แล้ว ตัวหนังสือเป็นข้อตกลงในสังคม ถ้าทุกวันนี้ผมบอกว่า โอเค จะเขียน ก.ไก่ แบบกลับไปมีขมวดแทนปากหยัก ทุกคนกรุณาอ่านอันนี้เป็น ก.ไก่ ให้เหมือนกัน…แล้วผมเป็นใคร การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นแบบนี้ได้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันแบบนั้น นอกเสียจากว่ามีอำนาจที่มาจากนอกระบบธรรมชาติของระบบวิวัฒนาการที่ดำเนินอย่างปกติ

คุณมองว่าพ่อขุนรามฯเป็นนักออกแบบตัวหนังสือไหม

ตอบไม่ได้ เพราะผมไม่รู้ เราไม่มีทางที่จะรู้เลย คนที่จะออกแบบภาษาหรือตัดสินใจที่จะทำอะไรได้ในยุคแบบนั้นต้องเป็นคนที่มีอำนาจ สมมุติคุณเป็นปราญช์โนเนม มีภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่คุณไม่สามารถทำให้คนทั้งอาณาจักรเขียนและพูดเป็นภาษาเดียว เพราะคุณไม่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นการที่คุณจะสถาปนาภาษาเขียนของชาติโดยไม่มีอำนาจจึงเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นความรับผิดชอบของคนที่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าการเป็นผู้นำประเทศย่อมมีอำนาจในการทำเช่นนั้น แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ได้บอกว่า ไม่นะ…ท่านไม่ได้เป็นคนออกแบบ แต่เราไม่รู้ว่าเรามีข้อพิสูจน์อะไร โอเคเราเข้าใจว่าตัวอักษรไทยเกิดในช่วงนั้น แล้วคนที่มีอำนาจที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือสั่งให้มีภาษาเขียนแทนภาษาพูดในวันนั้นต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติประมาณนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อตามนี้ 

แต่ถามว่าเป็นผู้ออกแบบหรือเปล่า…แน่ะ ก็ไม่ใช่อีก ผมว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าบอกว่าเราลอกเขมร เรารับมาจากพม่าจากมอญ แล้วถามว่าเขมร พม่า มอญ รับมาจากไหน รวมถึงลาวด้วย…ก็นู้น บาลีสันสกฤต มาจากอินเดียตอนใต้ นั่นคือรากจริงๆ คุณจะเอาแบบใครลอกใครล่ะ ถ้าคุณบอกว่าไทยลอกเขมร เขมรก็บอกว่ากูก็ลอกเขามาอีกทีหนึ่ง มันจุติที่ตรงนู้น ที่อินเดีย มันไม่มีอะไร original หรอกในโลกนี้ ผมก็ไม่ใช่ ที่คุณคุยกับผม ผมก็ไม่ original หรอกนะ ไม่มีอะไร original หรอก แต่ก็อย่าติดกับดักทางภาษาอีก เดี๋ยวก็ไปจับใจความว่าไม่มีอะไร original ในโลกนี้ อย่างไรก็ตามผมเล่าเรื่องให้มันบ้าๆ บอๆ หรือเสียดสีอะไรก็ตามแต่ เพื่อจะทำให้คุณเห็นว่าภาษาไทยไม่ได้ original แต่ไม่ได้เพื่อให้ตีความว่าผมไม่มีความรักในภาษาไทย

เหตุที่ตัวเขียนภาษาไทยมีหัวกลมเพราะถูกปรับแต่งให้มีความ original ปรับแต่งให้ตัวหนังสือไทยมีความแตกต่างจากภาษาเขียนอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะแต่ก่อนเราลอกเขามาปรับบ้างนิดๆ หน่อยๆ เปลี่ยนวิธีเขียนบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่มันก็ยังเป็นเทือกเดียวกันอยู่ 

ภาษาไทยเริ่มมีคาแรคเตอร์ช่วงอยุธยาตอนปลาย ในยุคนั้นภาษาไทยมีหัวกลมแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิด พระนารายณ์มหาราช เป็นคนปรับตัวหนังสือไทยให้มีคาแรคเตอร์ใกล้เคียงกับที่เราคุ้นชินทุกวันนี้ ใช้คำว่าใกล้เคียง ผมไม่ได้บอกว่าเหมือนเป๊ะเลยนะ ไม้ตรี ไม้จัตวา นี่ยังมาทีหลังเลย มาในรัตนโกสินทร์ ถ้าคุณนั่งไทม์แมชีนกลับไปในช่วงอยุธยาตอนปลาย คุณจะยังพออ่านได้ ผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงคราวนั้นแสดงผลช่วงปลายอยุธยา ซึ่งทำให้คนที่มีชีวิตในยุครัตนโกสินทร์พอที่จะแกะอ่านได้บ้าง พอจะเห็นความสัมพันธ์พอจะเดาได้ว่าตัวนี้คืออะไร อารมณ์ละม้ายกับคุณไปเที่ยวลาวแล้วพอจะแกะได้ว่าเขาเขียนอะไร 

ข้อดีของการปรับแต่งตัวหนังสือคือการสร้างชาติ ทำให้เรามีอัตลักษณ์ร่วมกัน คุณพูดภาษาเดียวกับฉัน เขียนตัวหนังสือแบบเดียวกับฉัน รู้สึกมีขอบเขตของความเป็นชาติขึ้นมา…อ่ะ คนนั้นพูดมอญเขียนไม่เหมือนฉัน เขาไม่ใช่คนชาติเดียวกับฉัน คือการแบ่งแยกแบบนี้ในยุคนั้นมันอาจจะมีความสำคัญมาก แต่ทุกวันนี้ความคิดเรื่องชาติในแบบนี้มันก็ดูจะไม่เข้าท่าสักเท่าใดนัก

ถ้าให้พูดในฐานะ type designer ผมมองว่าตัวหนังสือไทยแบบมีหัวเป็นการตกแต่งนะ ไม่ได้มีฟังก์ชั่น ถ้าคุณไปดูตัวหนังสือละติน ตัวที่มี serif กับตัวที่ไม่มี serif ก็คือ serif กับ san serif อย่างตัว serif มีที่มา ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะ decorate ทุกตัว โปรดใส่ serif ลงไป…ไม่ใช่ มันมาจากอุปกรณ์การเขียน มาจากวัฒนธรรมการเขียนมันจึงมี serif ถึงวันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามา ก็ต้องมี type design ใช่ไหม ซากหรือร่องรอยของการเขียนที่แอบอิงกับอุปกรณ์จึงกลับเข้าไปอยู่ในการออกแบบ แต่หัวกลมของตัวหนังสือไทยถูกใส่เข้าไปเพื่อจะ distance จากอารยธรรมรอบๆ บ้าน ที่มาของอัตลักษณ์นี้เป็นการเติมเสริมแต่ง ไม่ได้มาจากฟังก์ชั่นของวัสดุประกอบการเขียน หากแต่เป็นฟังก์ชั่นทางสังคม 

สังเกตเห็นได้ว่าช่วงนี้มีงานเสวนาหรือเวิร์คช็อปเกี่ยวกับ type design บ่อยมาก ทั้งที่สมัยก่อนจะไม่ค่อยมีงานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ type design อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ type design ได้รับความสนใจมาก

ผมมองเป็นเรื่องดีมากนะครับ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นหลักฐานว่ามหาวิทยาลัยไม่ฟังก์ชั่น ก็เหมือนกับการเกิดขึ้นของโรงเรียนกวดวิชา แสดงว่าโรงเรียนไม่ฟังก์ชั่น แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าในความพยายามของการจัดอบรมหรือให้ความรู้นั้นมีบางส่วนทำกิ๊บเก๋บ้าง ปฏิเสธไม่ได้ แต่รวมๆ ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยไม่เวิร์ค แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่อยากเข้าไปทำเวิร์คช็อปในมหาวิทยาลัย เพราะความยุ่งยากของกฎระเบียบ การต้องรู้จักคนนู้นคนนี้ มันวุ่นวายน่ะ ทำเองดีกว่า 

แล้วก็เป็นภาพสะท้อนของระบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นราชการ กึ่งราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัยที่มีโครงสร้างแบบโบราณ ระบบที่มีการเมืองภายใน ขุมอำนาจขั้วอำนาจ ก็เป็นเหตุทำให้คนต้องหาหนทางที่จะทำอะไรที่มันอิสระ ประเทศเราก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด คือต้องพึ่งพาเอกชนในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งก็ไม่ผิดนะ ประเทศที่เจริญแล้วเขาก็พึ่งเอกชนในการขับเคลื่อน แต่ภาครัฐของเขาก็ช่วยสนับสนุนให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเติบโต แต่บ้านเราขอแค่เรื่องพื้นๆ ยังให้กันไม่ได้เลย แต่บ้านเราจะมุ่งแต่สนับสนุนพืชผลการเกษตร คือยังคิดและติดอยู่ในกรอบนั้น ทั้งที่จำนวนเกษตรกรก็น้อยลง แล้วก็สนับสนุนแบบไร้ทิศทาง แต่ก็ยังจะทำแบรนดิ้งแบบเบลอๆ ว่าเรายังเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่

ผมคิดว่าประเทศเรามีปัญหาในเรื่องการวางตำแหน่งตัวเองผิดด้วยนะ ผมไม่เคยเห็นด้วยกับวาทกรรมประเภทชาติไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เราต้องดูตัวเองว่าเราสำคัญตัวผิดหรือเปล่า ตำแหน่งที่เรายืนอยู่ตรงไหน ทำไมเราถึงจะต้องคิดว่าเราเป็น center of the world ทั้งๆ ที่บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็บอกคุณอยู่ว่ามึงไม่ใช่ คุณรู้ไหมว่าคีย์บอร์ดมันบอกคุณแบบนั้น 

คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้อยู่ทุกวันนี้ เราเรียกว่า ‘latin-1’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันรองรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผมกำลังจะบอกว่าคีย์บอร์ดที่เป็นฮาร์ดแวร์ที่เป็นตัวภาษาอังกฤษ แล้วตัว latin-1 ก็ซ่อนอยู่ในคีย์บอร์ดนี้อีกที ตัวภาษาไทยก็ซ่อนอยู่ในคีย์บอร์ดนี้อีกที 

คุณดูด้วยตาเปล่าคุณเห็นอะไรบ้างครับ คุณเห็นสัญลักษณ์ดอลลาร์ ชั้นแรกคือภาษาอังกฤษถูกต้องไหมครับ เพราะว่าฮาร์ดแวร์มันเกิดที่อเมริกา คีย์บอร์ดจึงต้องมีสัญลักษณ์ดอลลาร์อยู่ข้างบนไงครับ เป็นหลักฐานเห็นอยู่ตำตาอยู่แล้วทุกวัน ในเลเยอร์ที่สองก็มี ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และมีเครื่องหมายเงินเยน มีเครื่องหมายปอนด์สเตอร์ลิง คุณจะเห็นว่ามันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งนี้เกิดขึ้นในยุค 80 เขาต้องยอมรับเงินเยน เพราะนั่นคือช่วงรุ่งเรืองของญี่ปุ่น แล้วที่เขาต้องยอมรับปอนด์สเตอร์ลิงเพราะว่าก่อนที่ดอลลาร์จะเป็นเงินสกุลหลักของโลก ปอนด์สเตอร์ลิงเคยเป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลักฐานแม่งเต็มตาอยู่แล้ว มึงยังเกรียนคีย์บอร์ดกันทุกวันประหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลก 

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก เราอยากจะมีนักเทนนิสเก่งๆ อยู่ดีๆ เราก็มีขึ้นมาคนหนึ่ง เขาอาจจะดีไซน์ตัวของเขาเอง แต่สังคมไม่ได้ดีไซน์ให้เกิดคนที่สองสามสี่ตามมา เราไม่มีระบบที่จะทำให้มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ มีสภาพอากาศที่พอเหมาะ ที่สามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นตลอดเวลา แต่เขาเผอิญเกิดออกมาจากท้องคนไทยแล้วมีความสามารถขึ้นมา เราจะรอให้จุติแบบนี้ในทุกๆ ห้าปีสิบปี อย่างนั้นเหรอ ทำไมเราทำให้มันเกิดขึ้นทุกวันไม่ได้ มันออกแบบได้ แต่ก็กลับไปที่โรงเรียนเหมือนเดิมแหละ ก็ไม่ตั้งใจออกแบบให้เป็นแบบนั้นไง เราก็เลยไม่มี เราก็เลยต้องรอให้เขาจุติ

อะไรคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่มี นักออกแบบหรือนักศึกษาจึงต้องเสียเงินเข้าไปเวิร์คช็อป

ผมคิดว่าคนโหยหาแรงบันดาลใจ แล้วอยากจะฟังจะดูประเด็นที่เขาสนใจ อินเทอร์เน็ตทำให้คนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกันรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนกันมากขึ้น ก็มีคอมมูนนิตี มีกลุ่มทางสังคม สามารถเจอกันได้ง่ายขึ้น คนที่ไปเวิร์คช็อปเขาต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการอะไรที่รู้สึกว่า เมื่อออกจากเวิร์คช็อปแล้วเขาได้แรงในการทำงานต่อ เหมือนกับการไปเติมไฟ เวิร์คช็อปก็เป็นในลักษณะนั้น ได้เรียนรู้จากคนที่เราชื่นชมในผลงานเขา มันก็ปลิ้นออกมาเป็นปรากฏการณ์เวิร์คช็อป การสัมมนา การพูดให้แรงบันดาลใจคน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นผลของเหตุดังกล่าว

องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้เกิดในมหาวิทยาลัย แล้วมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับองค์ความรู้เหล่านี้ จึงต้องเกิดเป็นเวิร์คช็อป เพราะมหาวิทยาลัยไทยไม่ได้ออกแบบตัวเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเร็วมาก มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยให้แรงบันดาลใจคน ปกติแล้วหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้ให้โครงสร้างทางความคิด ประเทศของเราควรเดินไปทางไหน เป็นศูนย์กลางที่ขับเคลื่อนชุมชนขับเคลื่อนสังคม แต่มหาวิทยาลัยบ้านเราไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เหมือนธรรมศาสตร์เคยเป็น แต่ตอนนี้ก็เหมือนไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นที่อยู่ของปัญญาชนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของอักษรศาสตร์ ในด้านวรรณกรรม มันไม่ได้เป็นแบบนั้น คือเป็นการสอนแบบ routine 

มหาวิทยาลัยก็ควรตั้งคำถามนี้นะ ว่าคุณเป็นผู้นำทางหรือเปล่า เป็นเบ้าหลอมให้สังคมขึ้นรูปความคิดอย่างไร เวลาไปดูงานจบของนักศึกษาเราควรได้เห็นมุมมองบางอย่างว่าสังคมข้างหน้าจะเป็นยังไง ดีไซน์ไทยจะเป็นยังไง แต่ในงานของนักศึกษา เราจะเห็นสิ่งที่เป็นปัจจุบันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นไปแล้วทั้งนั้นเลย หรือสิ่งที่เป็นเทรนด์ในขณะนั้น เราไม่ได้เห็นอนาคต เราไม่เคยผลิตนักศึกษาที่จะสร้างอนาคต แต่เราผลิตนักศึกษาที่พยายามจะสวมลงปัจจุบัน ถ้าเราผลิตนักศึกษาที่พร้อมจะสร้างอนาคต นักศึกษาจะต้องมีภาษาทางการออกแบบเป็นของตัวเอง มีวิธีคิดของตัวเอง ไม่ใช่ลอกเปลือกงานคนอื่น มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ในเมื่อคุณกำลังทำ final project จากเปลือก 

คุณไปดูเขาสิว่าเวลาเขาทำ thesis หรือ degree project  เขาคิดจากอะไร เขาคิดอยากจะทำโปสเตอร์ อยากจะทำมิวสิควิดีโอ คิดอยากจะทำหนังสั้น เขาไม่ได้คิดว่าเขามีข้อศึกษาอะไรที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่เขาประมวลและสังเคราะห์ได้จากสี่ปีที่เรียนมา เป็นแค่เพียงงานโชว์ฝีมือว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้มีอะไรงอกใหม่ 

ฉะนั้นผมมองว่ามันเหมือนๆ กันทุกๆ ที่ มหาวิทยาลัยไม่ได้นำสังคม ซึ่งน่าเสียดายเราจะไม่มีโรงเรียนที่สร้างคนที่พร้อมจะเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะคณะศิลปะด้วยนะ ที่ต้องการมากๆ อย่างตอนนี้คือคณะมนุษยศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คือเราไม่มีคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

คุณเคยเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลาเหล่านั้นคุณเห็นอะไรในระบบการศึกษา

เอาแบบนี้ อาจารย์มีหลายประเภทนะ ผมเองไม่ใช่อาจารย์ประจำ แต่ทางเทคนิคแล้วเคยมีสถานะเป็นอาจารย์ประจำนะ ส่วนใหญ่คนไม่ทราบ ผมบอกได้ว่าอาจารย์ที่เราขาดมากไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มคณะที่เป็นดีไซน์ด้วยนะ เรามีอาจารย์ที่สอน แต่ไม่มีอาจารย์ที่สามารถจุดประกายเด็ก ถ้าอาจารย์ไม่สามารถที่จะสามารถให้แรงบันดาลใจ ที่เด็กได้มันก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนสอนให้มันจบหน้าที่ ถ้าคุณไม่สามารถที่จะทำให้เด็กสามารถรับรู้ได้ถึงแรงส่งตรงนั้น ไม่สามารถทำให้รับรู้ได้ว่า เราอยากจะเป็นคนที่เก่ง  แล้วพอมองภาพรวม เราจะรู้เลยว่ามีจำนวนอาจารย์ที่สามารถให้แรงบันดาลใจคนได้เท่าไหร่ นั่นคือคุณภาพของอาจารย์ที่เรามี ผมเชื่อว่าถ้าเรานึกกลับไปสมัยที่เรียนหนังสือเพื่อหาว่ามีอาจารย์กี่คนที่จุดประกายคุณได้ ผมไม่เชื่อน่ะเรื่องพอร์ตโฟลิโออะไรเนี่ย แล้วเวลา คัดสรร ดีมาก รับคนเข้าทำงาน ผมไม่เคยขอดูเลยนะทรานสคริปต์ ไม่มี ไม่มี ไม่ดูพอร์ต ไม่ดูประวัติ ไม่ชอบดูพอร์ต พอร์ตแม่งเฟค

คัดสรร ดีมาก คัดคนอย่างไร เพราะงานดีไซน์ต้องดูทักษะ

ผมไม่ค่อยแคร์หรอก เพราะคนพัฒนาทักษะได้ คนมาทำงานที่นี่ก็เรียนใหม่หมดครับ type designer ที่นี่กว่าจะถูกเรียกว่า type designer ต้องมีอย่างน้อยๆ หนึ่งปีกว่าๆ บางคนสองปีด้วยซ้ำ 

พูดคุยเพื่อค้นหาคุณสมบัติที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเดียวเลยหรือ

ใช่ครับ ดูว่าเป็นคนใฝ่รู้ ดูแล้วเขาอยากจะเป็นคนเก่ง มีเป้าหมายที่จะไป มีศักยภาพที่จะพัฒนา มีจิตวิทยาที่ดี ผมว่าพวกนี้เป็นพื้นฐานที่ดี ก็อย่างที่ผมบอกถ้าเรียน typography มาก็ใช้ไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะไปดูพอร์ตทำไม ก็ไม่ดู เพราะไม่เชื่อหน้าไหนเลย

เวลาเวิร์คช็อป คุณขึ้นบรรยายด้วยไหม

ผมไม่ค่อยได้บรรยายแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ ใน คัดสรร ดีมาก เป็นผู้บรรยาย ผมเชื่อในเรื่องของการกระจายความรู้ เชื่อในเรื่องพัฒนาการของคนที่ผมทำงานด้วย ให้เขาพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาในที่นี้หมายความว่าเขาสามารถที่จะเติบโตขึ้นมาและสามารถทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำได้ เราไม่ได้มีความคิดตายตัวว่าดีไซเนอร์ของเราต้องเป็นแบบไหน แต่เรามีความต้องการพื้นฐานว่าคุณจะต้องพูดได้ พรีเซ็นต์ได้ สอนเป็น เขียนหนังสือได้ ผมว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อคุณเขียนได้ หมายความว่าคุณเรียบเรียงได้ แต่คุณจะส่งต่อความรู้ของคุณได้หรือเปล่า ก็ต้องมีทักษะในการพูด ในขณะที่คุณเรียนรู้ที่จะพูด คุณต้องเรียนรู้หลักจิตวิทยา ทำอย่างไรให้ข้อความของคุณเข้าถึงคนที่คุณกำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย 

ผมว่าทักษะเหล่านี้ไม่มีในดีไซเนอร์ แล้วไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่สอนการออกแบบแล้วสนใจเรื่องพวกนี้เลย เราจึงไม่มีนักออกแบบที่มีคาแรคเตอร์ เรามีแต่นักออกแบบที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ แล้วก็ปิดอาร์ตเวิร์ค ไม่มีนักออกแบบที่ชี้นำสังคม มีแต่ผลิตนักออกแบบที่ไม่หืออือกับเหี้ยอะไรเลย

ในมหาวิทยาลัยก็มีวิชา presentation สิ่งเหล่านี้คุณมองว่าไม่มีผลต่อนักออกแบบเลยหรือ

แล้ววิชาเหล่านี้ใครสอน คุณจะตั้งชื่อวิชาอีก 5-6 วิชาที่ฟังดูดีมากๆ เลยก็ได้ ‘จิตวิทยาการออกแบบ’ หรือ ‘ศิลปะการออกแบบและสังคม’ เอาให้สวยหรูขนาดไหนก็ได้ แต่ใครสอน มันไม่ยอมรับไงว่าไม่มีคนสอน ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนแบะอกออกมารับว่าไม่มีคนสอน ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก บางทีจะเปิดเทอมอยู่อาทิตย์หน้า ยังไม่มีคนสอน สุดท้ายก็คือใครก็ได้ นักศึกษาไม่รู้เบื้องหลังเหล่านี้ไง รู้แล้วก็เลิกแปลกใจได้แล้วว่าทำไมอาจารย์คนนี้คนนั้นมาสอนได้ไง คุณรู้ไหมว่าบางมหาวิทยาลัยมีอยู่สี่เซค บางที่แม่งหกเซค แล้วเซคหนึ่งมีกี่คน 40-50 คน คิดง่ายๆ ว่ามหาวิทยาลัยที่สอนการออกแบบมีกี่แห่ง ผมไม่พูดถึงวิชาอื่นนะ เอาเฉพาะ typography นี่แหละ ไม่ใช่ type design ด้วยนะ เอาเฉพาะ typography คุณคิดว่ามีคนสอน typo­graphy เยอะพอกับจำนวนนักศึกษาไหม นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวิชาที่สวยหรู conceptual thinking อะไรแบบนั้น…ใครสอน ผมถามแค่นี้ว่าใครสอน ถ้าเรามีคนสอนได้จำนวนเยอะขนาดนี้จริงๆ นะ หมายความว่าเราต้องมีคนทำ typography ได้ดีมากเป็นร้อยๆ คน จริงไหม 

ผมว่าประเทศเรากราฟิกดีไซน์ต้องเจ๋งมาก ดีที่สุดในโลกเลย นี่ไงความจริง พูดกันสิความจริง ใช่ไหม ก็แม่งทุเรศไง เลยไม่พูดกัน แล้วคุณก็รู้ว่ารุ่นคุณจบมาทำงานมันฟังก์ชั่นไหม ฟังก์ชั่นกี่คน ถ้ารุ่นหนึ่งมี 40 คน ฟังก์ชั่นสามคน หมายความว่าที่เหลืออีก 37 คนมันคืออะไร

พูดแบบตรงไปตรงมา เรามี ผศ. เรามีศาสตราจารย์ เรามี ดร. กี่คน แทบจะเดินชนกันตายแล้ว ผศ. โดนบังคับไง ต้องมี ผศ. ไม่งั้นคณะไม่ผ่านประเมิน ผศ. ต้องทำไร แปลหนังสือ? ต้องมีวิจัย? ถ้ามีวิจัยที่มันเวิร์คเยอะขนาดนั้นประเทศเราไปไหนแล้ว คิดสิครับ ตรรกะง่ายๆ

ที่ถูกที่ควรต้องเป็นอย่างไร

ผมว่าที่ถูกที่ควรอย่างแรกมหาวิทยาลัยไหนที่ไม่พร้อมจะเปิดวิชาเหล่านี้ควรยุบ ยุบภาควิชา ไม่ได้หมายความว่าทุกมหาวิทยาลัยต้องมีทุกคณะเหมือนๆ กัน ไม่จำเป็นนะ ไม่ได้มีกฎข้อไหนเขียนไว้เลย ไม่ใช่ อุ๊ย มหาวิทยาลัยของเรายังไม่มีศิลปกรรมเลย แล้วไม่ดูว่าตัวเองมีบุคลากรที่จะเปิดหรือเปล่า เปิดแล้วเราผลิตคนอย่างไหน แบบที่สร้างภาษาทางการออกแบบ แบบที่เพื่อสร้างอนาคต หรือแค่แบบใช้เดี๋ยวนี้ 

นักออกแบบที่เก่งและดีต้องเป็นอย่างไร

นักออกแบบที่จะลุกขึ้นมากล้าออกมาบอกว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรหรือวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดเห็นกับสิ่งที่เขาทำ หรืองานของเขาโดดเด่นมีความเฉพาะมากๆ ที่ผ่านมาและทุกวันนี้ และน่าจะต่อไปเรากลับต้องดูงานที่เจ๋งๆ จากประเทศอื่น เราไม่เห็นงานที่มีเอกลักษณ์หรือสำเนียงเฉพาะในประเทศเรา เพราะเราไม่สร้างภาษาทางการออกแบบของเราเอง

แสดงว่าคุณไม่เชื่อในเทรนด์

ไม่เชื่อ แต่รู้ไว้ก็ดีว่าตอนนี้มันเป็นยังไง แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงกับสิ่งนั้น ถ้า คัดสรร ดีมาก ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงกับสิ่งนั้น คัดสรร ดีมาก จบไปนานแล้ว ผมมองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่อยู่ได้นานทั้งหมด ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราทำมันเก๋ดี ยังไม่มีใครทำ type foundry ที่มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสากล ไม่ได้มองแค่นั้นน่ะ เรามองว่าเราอยู่ยาว ถ้าเรามองว่าเราอยู่ยาว เราทำตัวที่เป็นแฟชั่นมากไม่ได้ ตรรกะเป็นแบบนั้น เรามีวิณญาณของความเป็นสถาบัน ไม่ได้เป็นแฟชั่น สิ่งที่เราทำคือการสร้างภาษาของงานออกแบบ คุณจะเห็นเลยว่าฟอนต์ของ คัดสรร ดีมาก มันพิเศษ ผมพูดได้เต็มปากว่ามันต่าง มันมีลักษณะเฉพาะตัวกว่าค่ายอื่นๆ ที่คุณรู้จักและคุ้นชินก่อนหน้านี้ นี่คือภาษาที่ผมพูดถึง ผมอยากให้สร้าง language เพราะมันคือหัวใจของทุกสิ่ง งานกราฟิกดีไซน์ไทยที่เล่น typography มากไม่ได้ ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากไม่มีตัวหนังสือที่เหมาะกับการที่จะทำ type play เฉกเช่นกับคุณใช้ Helvetica Condensed แต่คุณไม่มีตัวหนังสือภาษาไทย ที่จะจับความรู้สึกแบบนั้นตรงนั้นในการเรียงร้อยตัวหนังสือได้ นี่ก็มีปัญหาใช่ไหม นี่ไม่นับความหยาบของนักออกแบบที่ไม่ได้สนใจเรื่องอักษรศาสตร์ก่อนฝึกฝน typography ทำให้การสื่อความหมายและการเลือกคำมีผลอย่างมากต่อการออกแบบ

 คุณเห็นตัวทองหล่อ6ไหม เรามองทั้งภูมิทัศน์ เลยว่า iconic ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง มี ฝรั่งเศส โมโนไทป์ ทอมไลท์ ชวนพิมพ์ สี่ฟอนต์นี้ เป็นสี่ฟอนต์ที่ทุกคนก็อปกันไปกันมา มีเวอร์ชั่นของค่ายนู้นค่ายนี้ หน้าตาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แล้วทุกวันนี้เราก็ยังใช้บนแพลตฟอร์มจากรากสี่อันนี้อยู่ แต่เราไม่สร้างอนาคตให้ลูกหลานเลย เราไม่มีอะไรที่เป็นตัวแทนของวันนี้เลย นี่คือวิธีคิดว่าทำไมเราต้องทำฟอนต์ทองหล่อ เราต้องการสิ่งที่เป็นตัวแทนของวันนี้ นั่นคือวิธีคิดว่าทำไมเราจึงต้องทำทองหล่อ ไม่ได้คิดจากความต้องการทำฟอนต์เก๋ๆ ออกมาสักชุดหนึ่ง เราคิดว่ามันต้องมีอีก category หนึ่งที่สะท้อนตัวหนังสือไทยทุกวันนี้ ใช่ เรายังทิ้งตัวมีหัวไม่ได้ เพราะคนส่วนมากที่ยังล็อคความคิดในลักษณะนี้อยู่ แต่ทำยังไงให้ตัวมีหัวดูโมเดิร์นร่วมสมัย สะท้อนความเป็นปัจจุบันที่ทอดไปในอนาคต แล้วเข้ากับบริบทของภาษาไทยที่เราใช้ทุกวันนี้ 

สิ่งใดที่ type designer ยังไม่เคยได้ทำมาก่อนกับตัวหนังสือแบบมีหัว คุณจะเห็นว่าภาษาไทยมีหัวกลมมักจะมีแค่ตัวบางกับตัวหนา คุณจะเห็นว่าตัวหนังสือปกติของภาษาไทยจะเป็นตัว light ส่วนใหญ่เราจะนิยมใช้ตัว light แล้ว regular จะดูหนาไป ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิธีคิดที่เป็น family  ถามว่าเสือกจะมาไทยอะไรตอนนี้ ก็ได้ จะยืนกระต่ายขาเดียวว่า light คือ regular ก็ได้ แต่คุณตามเขามาแล้วทั้ง platform วิธีการจัดระเบียบ family ก็ควรให้เหมือนกันไปด้วย สิ่งที่พูดคือ ผมฉีกซองทองหล่อแล้วเทออกมาให้ดูว่าเรามีกระบวนการสร้างตัวหนังสือขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของยุคสมัย ไม่อยากให้แบบว่าอีก 10 ปีจากนี้เด็กมาถามว่าทำไมทุกอย่างมันจบที่ชวนพิมพ์ ไม่มีใครที่ represent ภาษาไทยในช่วงเวลานี้เลยเหรอ   

ฟังดูทะเยอทะยานมาก

ครับ…ใช่ ก็ต้องเป็นแบบนั้น ผมก็ถามว่าคุณเห็นตัวหัวกลมที่เป็นเนื้อความแล้วมัน capture spirit ของวันนี้ไหม คุณก็ยังใช้ UPCC ซึ่งก็คือ ทอมไลท์ นั่นแหละ ทำไมมันถึงไม่มีล่ะ เหมือนกรุงเทพฯไม่มีแลนด์มาร์ค หรือไม่ก็มีแลนด์มาร์คอันเดิมๆ ไม่มีแลนด์มาร์คที่ represent กรุงเทพฯทุกวันนี้ จะว่าทะเยอทะยานก็ใช่ ผมว่าคนชอบใส่ด้านลบให้คำว่าทะเยอทะยาน ซึ่งสังคมไทยเป็นแบบนี้ แต่คุณอย่าลืมว่าความทะเยอทะยานมีข้อดี เพราะมันทำให้คุณมีเป้าหมาย คุณจะทำอะไรแล้วไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มันจะไม่เกิดกระบวนการ ผมเชื่อหมดใจว่าคุณต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าปลายทางมันคืออะไร ไม่เห็นต้องอายเรื่องการมีความทะเยอทะยาน มึงไม่มีความทะเยอทะยานสิน่าอาย คนห่าอะไรไม่มีเป้าหมาย มึงใช้ชีวิตอยู่ได้ไงวะ ใช่ไหม

ทุกวันนี้ลูกค้าหรือคนทั่วๆ ไปให้ค่าและมูลค่านักออกแบบแค่ไหน

ผมตอบแบบนี้ดีกว่า นักออกแบบเองให้ค่าตัวเอง ให้ค่าสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน เราต้องชัดเจนตรงนี้ก่อนนะว่าเราให้ค่าตัวเองแค่ไหนก่อนที่จะขอลูกค้าให้ค่ากับนักออกแบบ ผมว่านักออกแบบบ้านเราไม่ค่อยให้ค่าตัวเอง แล้วการที่นักออกแบบไม่ให้ค่าตัวเองก็มาจากทัศนคติที่ผิดจากโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่านักออกแบบหรือนักศึกษาต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นเทพ การที่จะรู้สึกแบบนั้นได้จากเนื้อแท้ข้างใน มันเรียกร้องประสบการณ์เรียกร้องอะไรหลายอย่าง เราต้องรู้และประเมินตัวเองให้ได้ก่อนว่าเรามีค่ามากแค่ไหน  

ประเทศนี้มีข้อเสียอีกอย่างคือ มันค่อนข้างเบลอมากในการที่เราจะคำนวณและให้มูลค่ากับตัวเอง เราประเมินอะไรได้ยากมากในประเทศนี้ ค่าเล่าเรียนของคุณก็ถูก subsidies เรียนก็ไม่เห็นค่าใช้จ่ายจริง จ่ายค่าไฟฟ้าก็ไม่เห็นค่าใช้จ่ายจริง คุณลองคิดดูว่า คนที่เกิดขึ้นมาในแวดล้อมที่ไม่เคยพบเจอกับความเป็นจริงเลย วันหนึ่งคุณเกิดมีไอเดียที่ดีมาก อยากจัด conference ที่ดีมากเลย อยากเชิญคนที่เก่งๆ แล้วคุณไม่ได้รับการสนับสนุนทุนจากใคร คุณพยายามทำให้เกิดขึ้น เป็นกึ่งธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณได้พบกับตัวเลขจริงในการดำเนินการ คุณจะเริ่มรู้สึกเหมือนผมว่า เออว่ะ…ชีวิตเราไม่เคยเจอกับตัวเลขจริงมาก่อนเลย ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมด ในเมื่อคุณไม่เคยดีลกับเลขจริงเลย มันจะส่งผลกระทบกับคุณนะ เวลาคุณโควทราคางาน คุณไม่ได้โควทอยู่บนเลขจริง 

ผมไม่เชื่อเลยว่าความรู้จะต้องฟรี ผมเชื่อในระบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ แต่ทุกอย่างมีค่างวด ไม่ใช่ว่าผมหน้าเงิน แต่ว่าคุณควรที่จะรู้ว่าค่าใช้จ่ายจริงมีเท่าไร เพราะเวลาที่คุณออกไปใช้ชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบหรืออะไรก็ตาม คุณจะรู้เลยว่า เฮ้ย กูเรียนมาเท่านี้ กูเสียเงินไปอบรมมาเท่านี้ กูซื้อหนังสืออ่านมาเท่านี้ กูถึงรู้ กูถึงเป็นกู ที่จะทำงานให้มึงได้อย่างวันนี้ กูมีต้นทุนประมาณเท่านี้ ค่าใช้จ่ายจริงที่กูควรจะชาร์จมึงจึงควรเป็นเท่านี้ 

มันทำให้เราไม่อยู่บนพื้นความเป็นจริง พอเราไม่อยู่บนความเป็นจริง ดีไซเนอร์ไม่สามารถประเมินตัวเองได้ว่าถูกหรือแพง บางคนอาจจะหลงกับเปลือกนอกตัวเอง แพงหน่อย เทพจริงไม่จริงไม่รู้ ทุกอย่างเป็นการ guesstimate เป็นการเดา estimate คือการประเมิน guesstimate แม่งเดาล้วนๆ คนทำธุรกิจอื่นเขาอยู่บนความเป็นจริงมากกว่าเรา บริษัทใหญ่เขาอยู่บนความเป็นจริงมากกว่าเรา เขาจะรู้ว่า ราคานี้มันเหมาะสมหรือเปล่า คำนวณจากอะไร  

ผมว่าเราต้องรู้ที่อยู่ที่ยืนหรือตำแหน่งของตัวเองก่อน เราต้องให้ค่าตัวเองก่อน แล้วคุณต้องซื่อสัตย์กับการให้ค่าของตัวเองด้วยว่าบริการของเรามันควรเท่าไร ไม่ใช่เฉพาะเม็ดเงินหรอกนะ ความเชื่อมั่นหรือทัศนคติของเราที่มีให้ลูกค้าก็ด้วย เรื่องพวกนี้ยึดโยงกันหมดนะ ทัศนคติก็ส่งผลต่อลูกค้า เป็นความมั่นใจให้ลูกค้า เขาได้แรงส่งจากทัศนคติเรา แล้วเขาเชื่อใจ ก็กลับมาว่าเราต้องประเมินตัวเองให้ได้ก่อนก่อนที่เราจะมานั่งแคร์ว่าลูกค้าจะประเมินเรายังไง 

เมื่อเช้าผมเพิ่งทวีตไปว่า ของแพงไม่มีหรอกในโลก มันมีแต่ของที่เขามองว่าไม่สมราคา มันไม่ได้เติมเต็มความรู้สึก มันไม่ได้เติมเต็มเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เขาเลยรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่า มันก็เลยถูกแปลงจากความไม่คุ้มค่าเป็นแพง ผมบอกเลยนะว่าถูกและดีไม่มีในโลกจริงๆ ไม่ว่าจะทำอะไรมีต้นทุนทั้งนั้นแหละ ของดีมันมีกระบวนการที่มากกว่าอยู่แล้ว นอกจากคุณไปตั้งราคาเว่อร์ๆ แต่สุดท้ายในวันที่งานมันออกมา มันก็บอกตัวมันเอง 

ทำไมฟอนต์ของ คัดสรร ดีมาก และรวมถึงภาพรวมของราคาฟอนต์ภาษาไทยมีราคาสูงมาก

ปัญหานี้แก้ได้ง่ายมาก ถ้าคุณเข้าใจเศรษฐศาสตร์คุณจะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วฟอนต์ภาษาไทยถ้าจะขายในราคาเท่ากับฟอนต์ภาษาอังกฤษหรือละตินทั่วไปนั้น เป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะให้มีราคาเท่ากันผมฟันธงเลยว่าเป็นไปไม่ได้ คุณลองคิดตามนะ ประการแรกคนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ฟอนต์ ถ้าทุกคนเป็นลูกค้าระบบจะไม่ใช่แบบนี้ ทีนี้ละตินมีการใช้ 3 ใน 4 ของโลก แต่จริงๆ แล้วเราใช้กันทั่วโลก ประเทศที่ non-latin ก็ใช้ตัวละตินด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นตลาดของเขาคือทั่วโลก นั่นหมายความว่าราคาของเขาสามารถที่จะขายได้กว้าง ถึงแม้จะมีคนก็อปฟอนต์ก็ตาม แต่ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมดคือคนที่ซื้อจริง ตลาดมันจะใหญ่มากพอ 

แต่ในขณะที่ประเทศเรา 67 ล้านคนมีคนที่ซื้อฟอนต์ภาษาไทยใช้จริงนั้นเท่าไร ถ้าจะทำให้ฟอนต์มีราคาถูกลง…แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้มองว่าราคาแพงเกินไปนะ ราคาที่เป็นอยู่นี้สมเหตุสมผลพอสมควร ผมเชื่ออย่างนั้นนะ เพราะว่าเราทำธุรกิจเราบอกได้เลยว่าเราไม่อยากขายของแพงหรอก อยากจะขายให้ได้เยอะ เราไม่ต้องการขายน้อยแล้วขายแพง ในระบบเศรษฐศาสตร์น่ะครับ ถ้าทุกคนซื้อเยอะมันจะถูกลง แต่นี่คนที่ควรจะซื้อแต่ไม่ซื้อไง ถ้าทุกคนที่เป็นคนควรที่จะซื้อแล้วซื้อ นั่นหมายความว่าเราจะหน้าด้านขายในราคาที่เราขายอยู่ปัจจุบันไม่ได้ ราคามันก็ต้องถูกลง ซึ่งนี่ก็คือกลไกปกติ 

ความจริงอีกข้อที่ทุกคนเข้าใจผิดมาตลอดเลยก็คือ คิดเอาเองว่าฟอนต์ คัดสรร ดีมาก แพงที่สุด ผมบอกเลยว่าไปทำสำรวจดีๆ นะครับ อ่านเงื่อนไขของค่ายอื่นๆ ให้ละเอียดก่อน เรื่องการชาร์จยิบย่อย จริงๆ แล้วเรามีตารางราคาเปรียบเทียบเลยด้วยซ้ำ ขอทางฝ่ายขายดูได้ แต่บริบทบ้านเราเอาละเอียดยิบมาพูดก็บอกว่าโจมตีคนอื่น คือผมว่าบางทีต้องการบุคคลที่สามมาอธิบายนะ เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่พูดรายละเอียดแล้วไม่กระเทือนค่ายอื่น แต่ผมก็ยอมรับว่าเรามีภาพว่าของเราแพงเคลือบอยู่ ซึ่งจะมองว่าดีก็ดีนะ แต่ในความเป็นจริงในค่ายใหญ่สามค่าย เราถูกสุด

เมื่อก่อนจะมี 10 ฟอนต์แห่งชาติที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ทำออกมาแจกให้ใช้ฟรี ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้ 10 ตัวนั้นกันอยู่?

 ของฟรีไม่มีในโลก (ตอบทันที) ของฟรีไม่มีในโลก…ไม่มี คุณคิดว่าเนคเทคเอาเงินมาจากไหน ภาษีใช่ไหม เนคเทคไม่ได้พิมพ์แบงก์เอง คล้ายๆ กับสติกเกอร์ Line ที่แจกฟรี ทุกอย่างมันมีคนทำ แล้วถ้าคุณอยากให้มันเวิร์ค คุณต้องเอาเขาออกมาจากการออกแบบฟอนต์เป็นงานอดิเรก คุณอยากให้ฟอนต์ถูกลง คุณอยากจะให้คนใช้เยอะขึ้น คุณต้องทำให้เกิดเป็นระบบอุตสาหกรรม 

คุณกล้าดีมาจากไหนที่จะบอกว่าคนที่ออกแบบตัวหนังสือไม่ควรรับเงิน ควรทำฟรีให้สาธารณะ นี่คือจิตสาธารณะ ทุกคนคือจิตอาสา? ที่บ้านพิมพ์แบงก์เองเหรอ หรือพ่อเป็นทักษิณ หรือยังไง แล้วพอไม่มีฟอนต์ใช้ก็บ่น แต่มึงไม่ทำให้เขาเกิดรายได้ เขาก็ไม่มีใจจะทำ เขาก็ต้องทำมาหากิน วันว่างๆ ค่อยมานั่งเลื่อนเมาส์ เสร็จแล้วอ่ะ พวกคุณเอาไปใช้กันนะ? คิดยังไงมันก็ตลก มันไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง ไม่ต้องเห็นด้วยกับผมก็ได้นะ ผมแค่สะท้อนให้ฟังว่ามันไม่สมเหตุสมผล 

หลายปีมานี้ที่ type foundry ไทยเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาจากการใช้บริการจากบริษัทขนาดใหญ่ เข้าใจถูกไหมครับว่าจะเหลือธุรกิจ SME ที่ยังไม่มีกำลังพอจะเข้ามาเลือกซื้อแบบตัวหนังสือ 

ความจริงแล้วในระบบของตลาดมีฟอนต์หลายราคานะ มีหลายคุณภาพ คุณต้องดูด้วยว่างบของคุณมีเท่าไหร่ ลักษณะกิจการและขนาดของกิจการเป็นอย่างไร ถ้ากิจการของคุณอยู่ในช่วง SME คุณอาจจะไม่มีกำลังเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ในการที่จะทำ customs typeface คุณอาจต้องลงมาดู retail คุณก็มาดูว่าใน retail มีระดับของราคาเท่าไร คุณอยากจะได้แบบตัวหนังสือที่หายากหรือเป็นที่นิยม ถ้าแบบที่เป็นที่นิยมคุณก็รู้ว่าคุณต้องไปที่ไหนบ้าง เขาก็มีสเกลราคาอยู่แล้วว่างานแบบนี้มีค่าใช้จ่ายเท่าไร 

ผมว่ากลไกตอนนี้มันได้ถูกก่อตั้งไปแล้ว ระบบการตลาดมันทำให้เกิดขึ้น เมื่อสัก 10 ปีที่แล้วคุณไม่มีทางเลือกเลยนะ ทุกวันนี้คุณมีทางเลือก แล้วไม่ใช่ทางเลือกเดิมๆ ด้วย มีทางเลือกใหม่ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็น เป็นสิ่งที่ คัดสรร ดีมาก สนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะมันเป็นความมั่นคงในระยะยาว แน่ใจได้เลยว่าคุณจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา contribute งานดีๆ ให้คุณได้ใช้ คุณไม่สามารถสร้างกราฟิกดีไซน์ที่ดีได้โดยไม่มีฟอนต์ที่ดี คุณจะทำได้อย่างไรในเมื่อตัวหนังสือเป็นครึ่งหนึ่งของงานออกแบบ  

ใครคือลูกค้าของ คัดสรร ดีมาก

ลูกค้าของ คัดสรร ดีมาก เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความฉลาดและมองเห็นว่าสิ่งที่เราทำสามารถทำให้ธุรกิจของเขามีลักษณะเฉพาะได้อย่างไร เข้ากับบริบทของสังคมที่มีการสื่อสารผ่านภาพพจน์และประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างไร เป็นบริษัทที่เข้าใจวัฒนธรรมที่ปะปนกันของภาษาต่างๆ ในการสื่อสาร ให้ค่าในเรื่องของรายละเอียดในการสื่อสาร เขาจึงมองเห็นว่าสำเนียงของใจความส่งผ่านมากับแบบตัวอักษร นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ทางการลงทุนระยะยาว เล็งเห็นว่าสิ่งที่เราทำสามารถสนองให้ได้ในเรื่อง custom font (ฟอนต์สั่งทำ) สำหรับองค์กร ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ใช้กับ retail font (ฟอนต์ขายปลีก) ซึ่งไม่เหมาะสมกับการลงทุน ไม่สัมพันธ์กับขนาดกิจการ บริษัทที่ตั้งคำถามกับตนเองว่าเราวางตำแหน่งไว้ตรงไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ส่วนตำแหน่งของเราในตลาด อันนี้ผมว่าคำตอบมีความชัดเจนมากและสามารถอ่านได้จากการที่เราพิมพ์สเปคซิเมน (ตัวอย่าง) เป็นเล่มที่พรีเมียม ซึ่งบ้านเราไม่มีค่ายใดลงทุนพิมพ์ type specimen ลงกระดาษมากว่า 20 ปีแล้ว แต่เราทำ หรือการที่เราจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมเท่าที่เราทำได้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้อ่านออกไปได้หลายอย่าง ถึงแม้เราจะไม่ใช่มผู้นำตลาดในเรื่องของ retail font ก็ตาม เรามองว่าการตีความเรื่องผู้นำตลาดอาจจะไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับยอดขายเสมอไป แต่น่าจะยึดโยงอยู่กับการมีอยู่ของเราว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง แน่นอนเรื่องยอดขาย retail ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าสามารถเป็นที่หนึ่งในทางตัวเลข (หัวเราะ) ส่วนของ custom font เพื่อองค์กรเราเป็นเบอร์หนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนผมอาจจะไม่ค่อยสะดวกใจที่จะพูดในลักษณะนี้ แต่วันนี้ผมมองหลายอย่างเปลี่ยนไปเหมือนกัน ผมมองว่าเราต้องยอมรับอย่างภูมิใจก่อน

เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY #89 กันยายน 2558

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

Author

ชิน เอกก้านตรง
กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีลายเส้นมักน้อย แต่บรรจุความหมายในปริมาณตรงข้ามลายเส้น ‘Shhhh’ เป็นอีกนามหนึ่งที่เขาใช้ผลิตงานศิลปะ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการออกเสียงให้ถูกต้อง แหล่งวัตถุดิบในการทำงานของเขามาจากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย เพลงอินดี้พ็อพ เพลงสตริงคอมโบไทยยุคอิเล็กโทนครองเมือง และบาร์หลายแห่งในพระนครยามค่ำคืน (ศิลปกรรม WAY ถึงปี 2560)

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า