สุนทรียะตลาดล่าง พื้นที่และมูลค่ากราฟิกรถซิ่ง

เมื่อขับรถไปตามท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถ ปัญหาการจราจร รถติดเป็นชั่วโมง ฟังเพลงไม่รู้จบไปกี่อัลบั้มรถก็ไม่ขยับสักที ทำได้เพียงมองออกไปนอกกระจก แล้วอ่านสติกเกอร์ที่แปะอยู่ท้ายรถคันข้างหน้า

การอ่านสติกเกอร์ที่แปะตามรถเป็นสีสันอย่างหนึ่งบนท้องถนน บางทีก็ขำ บางทีก็งง หรือบางวลีก็ทำให้เรานึกหน้าคนขับได้โดยไม่ต้องรู้จักหรือเห็นหน้า ตัวอย่างเช่น ‘ไม่พูดมาก เจ็บคอ’ ‘สวยนั่งฟรี หุ่นดีครึ่งราคา’ ‘ผัวจนกินมาม่า ผัวชรากิน MK’ ‘แซงผมเลย ถ้าทำให้พี่ดีขึ้น’ ‘วัยรุ่นทำกิน’ ‘วัยรุ่นสร้างตัว’ ‘รถคันนี้สีอะไรก็ช่าง ตังค์กู’ ฯลฯ และเมื่อคำเหล่านี้ไปผนวกรวมกับฟอนต์และสีสันที่ฉูดฉาด ยิ่งทำให้ผู้อ่านได้อารมณ์มากยิ่งขึ้น

เมื่ออ่านจบแล้วก็จบไป ไม่มีใครสนใจว่าสติกเกอร์เหล่านั้นมาจากไหน ใครคิด ใครออกแบบ แต่สำหรับ สรัช สินธุประมา นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาตั้งคำถามมากกว่านั้น จนกลายมาเป็นบทความ ‘สติกเกอร์ซิ่ง’ กับความสร้างสรรค์และงานออกแบบบนท้องถนนไทย ซึ่งนำเสนอในงานประชุมวิชาการ หัวข้อ ‘เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ วันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วิธีการศึกษาของสรัชคือการเข้าไปทำงานในร้านป้ายแห่งหนึ่งที่จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นเวลาหนึ่งเดือน จนพบว่าอู่แต่งรถซิ่งและร้านป้ายต่างจังหวัด เป็นบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างที่เขาไม่คาดฝันมาก่อน

หลายคนมองว่านักบิดขาแว้นกับช่างป้ายขี้ก๊อป อยู่คนละขั้วกับคำว่าสร้างสรรค์ หรือกระทั่งว่าเป็น ‘รสนิยมต่ำ’ ‘ตลาดล่าง’

แต่จากการขลุกตัวอยู่ที่ร้านสีสันการป้ายเป็นเวลาหนึ่งเดือน ได้คลุกคลีกับ น้าสมาน จันทร์เทพ เจ้าของร้าน เฟิร์ส และ นัตตี้ ช่างประจำร้าน-และอีกบทบาทคือเด็กแว้น สิ่งที่สรัชต้องการถ่ายทอดคือการสลายอคติต่างๆ อย่างที่เขาบอกเราว่า

“เราไม่ได้บอกว่าเราไม่มีอคติเลย แต่เป้าหมายของเราคือเราพยายามเปิด แล้วเขียนให้เห็นว่ามันมีด้านอื่นของคนกลุ่มนี้ ที่คนส่วนใหญ่หรือสังคมไม่เคยเห็นมุมนี้มาก่อน”

Creative Thinking

ทำไมต้อง ‘สติกเกอร์ซิ่ง’

เริ่มต้นจริงๆ คือสนใจคนทำป้ายกลุ่มหนึ่ง เขาเคยเป็นช่างเขียนป้ายแบบใช้พู่กัน เขียนป้ายผ้าใบ แล้วสักช่วงปี 50-52 เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเข้ามาแทน เครื่องราคาถูกลงมาก ที่จริงมันมีมาก่อนแล้ว แต่ว่ามันเพิ่งมาราคาถูกมากๆ ช่วงปลายปี 47-49 เขาก็เลยเลิก พวกร้านป้ายแบบเดิมก็เลิกหมด เปลี่ยนมาใช้เป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท ที่น่าสนใจคือ เขาทำฟอนต์ใช้เองด้วย

ฟอนต์ที่มีตอนนั้นจะเป็นของบริษัท DB, PSL ซึ่งมีค่าลิขสิทธิ์อยู่ ร้านป้ายเหล่านี้โดนจับลิขสิทธิ์กันเยอะแยะ เพราะว่าไปก๊อปปี้ไฟล์มาใช้ๆ กัน ในที่สุดก็ทำฟอนต์ใช้เองเสียเลย เพราะในแง่ของต้นทุนความรู้ก็มีอยู่แล้ว เขาเขียนป้ายมาเป็น 10 ปี เขามีแบบตัวหนังสือของเขาที่สามารถทำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจว่ามันเกิดลักษณะเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร จากโลกของคนที่ใช้พู่กัน อยู่ดีๆ มาใช้คอมพิวเตอร์ มาทำฟอนต์ขาย บางตัวก็แจกฟรี จนพวกพวกธุรกิจใหญ่อย่าง MK, 7-Eleven ยังนำไปใช้

ระหว่างที่อยู่ในร้านป้าย ไปขอฝึกงานกับเขา ทำโน่นทำนี่ตามที่เขาสั่ง แต่ก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าสิ่งที่เราสนใจจะอยู่พ้นออกไปนอกร้าน จนกระทั่งไปสนิทกับลูกน้องที่ร้าน เขาเป็นนักแต่งมอเตอร์ไซค์สองคน วันว่างๆ จะแต่งมอเตอร์ไซค์ ทำสี ทำโน่นทำนี่ เขาก็พาเราไปถ่ายรูปมอเตอร์ไซค์บ้าง ไปที่ร้านแต่งรถบ้าง เราเลยเริ่มเห็นถึงความเชื่อมโยง

ถึงจุดหนึ่งเราก็ขยายงานของเราออกไปจากร้านทำป้าย มันมีบางอย่างที่อยู่นอกร้าน ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอของบทความนี้ว่า มันมีความสร้างสรรค์อีกแบบที่อยู่บนท้องถนน มันอยู่ระหว่างที่เขาขับรถ ไม่ว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ขับกระบะส่งของ หรืออะไรก็ตามแต่ จนมาเป็นชิ้นงานที่ร้านป้าย ระหว่างทางเขาผ่านอะไรมาเยอะแยะ เห็นโน่นเห็นนี่ ไปสัมพันธ์กับคนที่ร้านแต่งรถ กับคนที่ขับรถผ่านกันสวนกัน สุดท้ายเขามาถึงร้าน มาสั่งทำสติกเกอร์พวกนี้

Creative Thinking
ตัวอย่างฟอนต์ เจเค จิ้ง โดย จิ้ง สติกเกอร์ จากอําเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

สติกเกอร์ซิ่งได้รับความนิยมจากอะไร

ถ้ามองในภาพใหญ่ระดับประเทศ จะพบว่าหลายรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิด ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่นโยบายที่มีส่วนทำให้เกิดนักออกแบบฟอนต์หน้าใหม่ผลิตฟอนต์จำนวนมากเข้าไปเพิ่มความหลากหลายของแบบอักษรในงานออกแบบไทยกลับเป็นโครงการ ‘รถคันแรก’ ในปี 2554-2555 ส่งผลให้มีร้านตัดสติกเกอร์เกิดขึ้นมากมาย กระทั่งมีเจ้าของร้านหลายรายผลิตฟอนต์ขึ้นใช้เองเพื่อทำสติกเกอร์แต่งรถ

แต่เดิมการตัดสติกเกอร์มีมานานแล้ว แล้วก็ใช้มือตัดเอา เขาก็เอางานสมัยก่อนที่ตัดมือให้ดู ก็ดูไม่ออกว่าเป็นมือตัดหรือเครื่องตัด เพียงแต่ว่าชิ้นมันจะใหญ่หน่อย แล้วก็รายละเอียดจะไม่เยอะมาก แต่ว่าเครื่องมันทำให้ตัดชิ้นเล็กได้ ถ้าสมัยก่อนที่เป็นมือตัด สติกเกอร์อาจจะต้องแบบเหลี่ยมๆ ง่ายๆ แล้วชิ้นต้องใหญ่ เขาเคยไปตั้งโต๊ะในงานกาชาด แล้วก็รับตัดสติกเกอร์ตามสั่ง อยากให้ตัดคำว่าอะไร อาจจะเป็นสีเดียว

งานสติกเกอร์เป็นงานที่กำไรดีมาก่อนแล้ว ต้นทุนในการซื้อสติกเกอร์ม้วนหนึ่งมาตัดได้กำไรค่อนข้างเยอะ เขาก็เลยมาทำ เป็นงานที่เขาสนใจมาก่อน จนมีเครื่องตัด ทำได้มากขึ้น เยอะขึ้น ละเอียดขึ้น

แต่ถามว่ารถคันแรกมันทำให้เกิดอะไรขึ้น เริ่มมาจากรถกระบะ ถ้าสังเกตดูรถกระบะที่เป็นตอนเดียวหรือสองตอน จะติดอยู่ตามข้างประตู เอียงๆ เฉียงๆ จากประตูคนขับ เฉียงไปที่ด้านหลัง บางทีก็จะติดแค่ชื่อรุ่นรถ หรือเป็นชื่อลูก สติกเกอร์พวกนี้ฮิตมากในช่วงนั้น ฮิตถึงขนาดว่าร้านรับตัดสร้างเนื้อสร้างตัวได้จากเวลาสองสามปีที่ตัดสติกเกอร์ติดข้างรถ

ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะทำให้มีร้านที่ตัดสติกเกอร์บูมขึ้นมาเป็นร้อยๆ แห่งในช่วงปี 55-56 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามันมีความสร้างสรรค์แบบหนึ่งอยู่ เราว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรที่คนจะไม่เห็น เพราะว่ามันถูกทำให้เชื่อมาตลอดว่าคนกลุ่มนี้เป็นแค่ปัญหาสังคม ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่

ทำไมสติกเกอร์ซิ่งถึงถูกมองว่าเป็นของ ‘รสนิยมต่ำ’

ช่วงนี้มีคนเรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า ‘ตลาดล่าง’ ซึ่งเป็นคำเรียกเหมารวมที่กว้างมาก คำว่าตลาดล่างของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่มีลักษณะการมองเหยียดมานานแล้วว่าเป็นเด็กแว้น ถ้าเป็นสมัยก่อนคำนี้ยังแย่อยู่ จนตอนนี้คำนี้ดีขึ้น ไม่ได้แย่มาก หลายคนมองว่าเด็กพวกนี้ไม่ทำอะไร แว้นไปวันๆ เอาชีวิตไปเสี่ยงตาย โดยไม่ก่อประโยชน์อะไร ในด้านหนึ่ง ร้านป้ายก็ถูกมองในแง่ลบ ถูกจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เด็กแว้นก็เหมือนกัน ไม่สร้างสรรค์ เป็นปัญหาสังคม แต่กลายเป็นว่าสองกลุ่มนี้ที่เราไปอยู่ด้วย เขาทำให้เราเห็นว่ามันมีอะไรที่เป็น original ขึ้นมาจากวิถีชีวิตของเขา และมีความสร้างสรรค์ในนั้น

Creative Thinking

อย่างเช่น เฟิร์ส เด็กแว้นที่ทำงานร้านสีสันการป้ายของ สมาน จันทร์เทพ ที่เราเข้าไปศึกษา เฟิร์สเริ่มต้นจากความชอบแต่งรถของเขา ทุกเย็นจะไปนั่งที่ร้าน เพื่อนก็บอกว่า เฮ้ย มึงตัดคำนี้ให้หน่อยสิ ซึ่งบางคำก็ไม่เข้าใจนะ มันก็มาถามว่า “เฮ้ยพี่ คำว่าวัยรุ่นยุค 90 มันคืออะไร” คือในหมู่เด็กแว้นเองก็มีรสนิยมของหลายระดับ จะมีเด็กแว้นที่บอกว่า “กูเป็นเด็ก 90 เว้ย แล้วมึงก็ตัดมาให้หน่อย” เฟิร์สก็มาถามว่าคืออะไร เราพยายามที่จะอธิบายว่าคือคนที่อยู่ในยุค 90 ไง เฟิร์สก็ไม่ค่อยเก็ท มันก็บอกว่า “งั้นผมก็ทำ วัยรุ่นยุค 61 ได้ไหมพี่” แล้วมันก็เป็นคนตัดสติกเกอร์เอง ใช้โปรแกรม หัดใช้โปรแกรม Corel Draw

ทุกวันนี้เฟิร์สเป็นลูกมือของช่างกราฟิกเบอร์หนึ่ง เพราะทำ Corel Draw ได้ ขึ้นแบบ ตัดสติกเกอร์ได้ ทั้งๆ ที่เรียนจบ ม.3 เรียกได้ว่าเป็นเด็กแว้นคนหนึ่ง แต่งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง แต่ด้วยความชอบแข่งมอเตอร์ไซค์และชุมชนของเขา ทำให้เขาหัดใช้งานโปรแกรมจนเป็น แล้วก็มีไอเดียในการออกแบบ ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจ เราก็ไปดูว่าถ้าลูกค้าสั่งแบบนี้ มันต้องใช้สีแบบไหน ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเลือกได้เลย มันก็ต้องมีความชำนาญบางอย่างจึงจะได้ชิ้นงานออกมา

Creative Thinking
สติกเกอร์พิมพ์อิงค์เจ็ท ออกแบบโดยเฟิร์สและสรัช

เวลาลูกค้ามาสั่งสติกเกอร์ การออกแบบจะขึ้นอยู่กับช่างออกแบบหรือช่างตัดอย่างเดียวเลยไหม

ปกติงานที่ลูกค้าสั่ง ถ้าเป็นงานอย่างอื่น อย่างงานป้ายไวนิลหมอลำ สติกเกอร์ร้านเสริมสวย ช่างจะเลือกตัวหนังสือให้เลย แต่ถ้าเป็นสติกเกอร์ติดรถเมื่อไหร่ ช่างจะให้ลูกค้าเลือก ลูกค้าจะมีโอกาสในการออกแบบงานของตัวเองมากกว่า สามารถเลือกได้ว่าจะเอาฟอนต์ตัวไหน สีประมาณไหน แล้วช่างก็จะแนะนำไปด้วย บางทีบางคนไม่แน่ใจว่าสติกเกอร์ควรใช้สีอะไร ถ้าเขาชอบสีน้ำเงินแล้วรถเขาสีเข้มก็จะมองไม่เห็น ช่างจะแนะนำว่าถ้าเอาสีนี้ก็ต้องรองพื้นก่อน เหมือนกับช่วยกันพัฒนาแบบ ว่าสติกเกอร์ควรเป็นอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้ามาแบบมึนๆ ในร้านก็จะมีของเยอะ มีสติกเกอร์แปะเต็มร้าน มีแบบฟอนต์มากมาย ลูกค้าต้องใช้เวลาคิดว่าเขาอยากได้แบบไหน แต่บางคนก็จะเข้ามาโดยมีแบบอยู่ในใจแล้ว

มีคนหนึ่งเข้ามาแล้วบอกว่า “ตัดสติกเกอร์ครับ เอาคำว่า ‘ในรถมีเด็ก’ แต่ว่า บ่แม่นเด็กน้อยนะครับ แต่ว่าเป็นเด็กแบบยังสาว” ช่างก็จะ อ๋อ ได้ครับๆ จะเลือกได้ว่าควรใช้ฟอนต์ประมาณไหน

ฟอนต์แต่ละตัวมีบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน คำบางคำเมื่อใช้ฟอนต์ต่างกัน อารมณ์ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดลูกค้าเลือกว่าอยากจะได้คำนี้ แต่เป็นฟอนต์อีกตัวหนึ่ง แค่นั้นก็เป็นการปรับแต่งตามความหมายของเขาแล้วว่า คำนี้เขาคิดว่าควรเป็นน้ำเสียงนี้ ลูกค้าบอกว่าคำนี้ตัวหนังสือเขาไม่ชอบ ไม่อยากได้แบบนี้ แค่นี้มันก็เป็นการสร้างความหมายในแบบของตัวเอง

บางทีลูกค้าก็เลือกสติกเกอร์เป็นคำซิ่งๆ แต่ไปเลือกฟอนต์ลูกทุ่ง ตัวลูกทุ่งแบบเลื้อยๆ ช่างก็จะเลิกคิ้วนิดหน่อย แต่ก็ทำให้ พอตัดออกมาแล้ว ติดแล้วก็ เออ เข้าท่า ช่างเองก็มองว่าเข้าท่า เลือกฟอนต์แบบนี้ก็เข้าท่าดี ถ้าให้ช่างเลือกช่างก็คงไม่ทำแบบนั้น แต่ลูกค้าคิดว่าได้ มันก็เป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ยิ่งมีคำเยอะ ฟอนต์เยอะ ผลที่จะรวมกันก็ยิ่งเยอะขึ้น

เวลาช่างออกแบบสติกเกอร์ จะออกแบบจากอะไร

งานนี้พยายามพูดถึงความสร้างสรรค์ เวลาที่เราพูดว่าคนพวกนี้ไม่สร้างสรรค์ มักมาจากฐานคิดที่ว่าความสร้างสรรค์ถูกใช้กับ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ (creative thinking) คือต้องเกิดจากความคิดที่สร้างสรรค์ แต่จากที่เราเห็น บางทีมันไม่ได้เกิดจากการที่เราคิด นั่งคิดอยู่ในร้านกาแฟฮิปๆ ที่บอกว่าคนจะสร้างสรรค์ได้ต้องมีพื้นที่ มีบรรยากาศของความสร้างสรรค์

แต่อันนี้ พอตื่นเช้ามา ก็แว้นมาเปิดร้าน อยู่กับเครื่องพิมพ์ ว่างๆ ก็ไปหยิบเครื่องมือมาแคะๆ มอเตอร์ไซค์ เอามาทำสีเล่น คือการที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับมอเตอร์ไซค์ กับสิ่งของ ทำให้เขารู้ว่าจะคิดกับมันอย่างไร แล้วจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่เริ่มมาทำร้าน น้าสมานที่เป็นเจ้าของร้านแกก็ใช้เครื่องตัดสติกเกอร์ แล้วรู้สึกว่ามันเอามาร่างแบบผ้าได้ แกเลยเอาผ้าดิบมาพับให้พอดีกับเครื่อง ให้เครื่องร่างตัวหนังสือให้ แทนที่จะร่างเอง แต่ว่าเทคนิคนี้คนอื่นลอกไปทำไม่ได้ มันต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัสดุอย่างมาก เรื่องของผิวสัมผัส ความยืดหยุ่น แรงเสียดทาน เป็นเรื่องที่เรียนรู้จากการทำงานช่าง จากการที่อยู่กับมันทุกวันจนรู้ว่าทำอะไรได้แค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ๆ จะคิดแล้วก็ทำได้ มันเกิดจากการคิดไปด้วย แล้วก็ทำไปด้วยทั้งสองอย่าง

Creative Thinking

การแต่งมอเตอร์ไซค์ก็เหมือนกัน การอยู่กับมอเตอร์ไซค์ อยู่กับอะไหล่ทุกวัน ทำให้เขามีไอเดียว่า ถ้าเป็นสติกเกอร์ มันควรจะใส่อะไรบ้าง ควรจะใส่อย่างไร ซึ่งเราคิดว่าลำพังการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็ดูๆ การออกแบบมันทำไม่ได้ ต้องอยู่กับสิ่งพวกนั้น ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน

จากคนเขียนป้ายเปลี่ยนมาทำฟอนต์ และทำสติกเกอร์ เขาไปเอาความรู้หรือไปศึกษาจากไหน

มีเว็บไซต์ f0nt.com เป็นเว็บบอร์ด เขาก็จะมาคุยกันว่าอันนี้ทำอย่างไร มีคลิปสอนการใช้โปรแกรม แต่สุดท้ายแล้ว พวกแอดมินพวกนี้ก็บอกว่าพวกน้าๆ พวกนี้ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงชุมชนของ f0nt.com ด้วย เพราะว่าเขามีความรู้ มีต้นทุนบางอย่างในการทำตัวหนังสือ ที่เขานำมาแจกจ่าย เข้ามาเองเลย คือเขาเจอในเฟซบุ๊คช่วงปี 52 แล้วเขาก็แนะนำต่อๆ กันมา

มีช่างเขียนป้ายที่ไม่สามารถก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านจากเขียนป้ายมือเป็นใช้เครื่องพิมพ์บ้างไหม

ผมสัมภาษณ์มา 4-6 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ปรับได้ แต่ว่าก็จะมีบางคนที่เกือบจะปรับไม่ได้ เช่น พี่จิ้ง ที่ทำสติกเกอร์ ตอนแรกแกบอกว่าแกแอนตี้เทคโนโลยี แกไม่ยอมใช้เครื่องพิมพ์ แล้วในช่วงนั้นที่มันเข้ามาแล้ว แกก็ใช้คำว่า ‘เคว้ง’ อยู่หนึ่งปี ไม่มีงานเลย งานป้ายไม่มี แต่สุดท้ายก็มาลงเอยกับสติกเกอร์ แกมองว่าการตัดสติกเกอร์มีการใช้ทักษะช่างเยอะกว่า ยังต้องแงะ แกะ เกลา ใช้ฝีมือมากกว่าการใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทล้วนๆ

สติกเกอร์แบบที่เป็นพิมพ์แกก็จะไม่ค่อยทำ จะเน้นทำสติกเกอร์แบบตัดแปะ เพราะรู้สึกว่ายังได้ใช้สกิลช่าง อันนี้ก็เป็นเคสหนึ่งที่เกือบจะไม่รอดแล้ว บังเอิญแค่ว่าแกหาทางของตัวเองเจอว่ามาทำสติกเกอร์ดีกว่า แต่ถ้าถามว่าคนที่ปรับตัวไม่ได้มีไหม คิดว่ามี แต่เท่าที่คุยกับน้าๆ หลายคน ตอนที่เขารวมกลุ่มกัน ก็จะมีชื่อกลุ่มต่างๆ เต็มไปหมด เช่น วัสโวยวาย จิ้งสติกเกอร์ หม่องชวาลศิลป์ ทุกคนจะมีชื่อในวงการของตัวเอง ซึ่งจะมีบางคนที่จะยกย่องแกเป็นอาจารย์ อย่างอาจารย์หม่องชวาลศิลป์ ที่อยู่ที่ชลบุรี

เวลาที่ช่างยกย่องกันสมัยที่ยังเขียนป้ายด้วยมือกันอยู่จะมีสองด้านคือ ในแง่ของความพลิ้วหรือความสวยงามของตัวหนังสือ ลายฝีแปรงของเขา เขียนได้สวย เขียนได้คม แต่ว่าอีกด้านหนึ่งที่คนจะพูดถึง คนจะชมคือ น้าคนนี้แก D.I.Y เก่งมาก มันเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของช่างเขียนป้ายพวกนี้ว่า คนที่ขยันหรือเข้าใจ หยิบจับอะไรมาดัดแปลง ทำให้มันเป็นเครื่องมือใหม่ วิธีใหม่ๆ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

แม้ว่าจะมีคนที่ล้มหายตายจากไป แต่ว่าหลักๆ เชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติของคนเขียนป้ายว่าต้องปรับตัวเก่ง พร้อมที่จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วเขาก็จะภาคภูมิใจมากกับเทคนิคที่ตัวเองคิด

ชุมชนคนทำป้ายเชื่อมโยงกันอย่างไร

เขาไม่ได้เป็นชุมชนมากขนาดนั้น เจอกันในเฟซบุ๊คช่วงปี 52 ก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร จนน้าสมานทำฟอนต์ตัวแรกตอนปี 56 แต่ถามว่ากลุ่มนี้เป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว คือก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่างๆ บางคนก็ไม่เคยเจอกัน จนถึงทุกวันนี้จะ 10 ปีแล้ว แต่บางคนก็กลายเป็นสนิทกันไปเลย เช่น พี่คนหนึ่งที่สุพรรณบุรี ชื่อ วัดโวยวาย ก็จะสนิทกับพี่จิ้ง เพราะว่าอยู่ใกล้ๆ กัน สุพรรณกับกาญจนบุรี เขาก็พัฒนาเครือข่ายขึ้นมา อาจจะเป็นแบบโบราณ ใช้โทรศัพท์ เครือข่ายสังคมออนไลน์อาจเป็นแค่ตัวกระตุ้นหรือประตูที่นำเขาไปสู่อะไรบางอย่าง

เครือข่ายของช่างป้ายทั่วประเทศ ถามว่าเป็นเป็นชุมชน สมาคม ขนาดนั้นไหม ก็ไม่ จะมีพวกกลุ่มความสนใจทั่วๆ ไปในเฟซบุ๊ค เหมือนกลุ่มคนเลี้ยงงู กลุ่มคนเลี้ยงปลา มีกลุ่มในเฟซบุ๊คที่จะคุยกันในเรื่องเทคนิคต่างๆ การคิดราคา การใช้เครื่องแกะสลัก แต่ก็เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ

เมื่อช่างออกแบบฟอนต์มาแล้ว เขาขายอย่างไร

ตอนแรกแกขายตัวละร้อย (ราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับฟอนต์ลิขสิทธิ์ทั่วไป – กองบรรณาธิการ) แล้วเอาไปทำอะไรได้ จะเอาไปก๊อปใช้กี่เครื่องในร้านก็ได้ ซื้อขายกันแบบคนกับคน อย่างพี่จะซื้อไปใช้ที่ร้าน มีคอมพิวเตอร์ห้าเครื่อง ก็ลงไปเลย ตอนหลังค่อยขึ้นราคาเป็น 300 บาท แล้วเซ็ตเป็นราคามาตรฐานของวงการ ตอนนี้ ใครทำขายก็จะขายอยู่ที่ 300 บาท แต่ราคาก็ยังถูกมากอยู่ดี

คนเขาพูดกันว่า โหย ซื้อฟอนต์น้าสมาน ทำงานอาทิตย์หนึ่งก็คืนทุนแล้ว เรารู้สึกว่า ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการตอบโต้กับฟอนต์ของบริษัทลิขสิทธิ์ที่แพงมาก สำหรับในความคิดของเขา ว่ามันไม่ค่อยมีเหตุผลว่าฟอนต์จะต้องมีราคาแพงขนาดนั้น ฉะนั้นพอเขาทำเอง เขาก็รู้ว่ามันควรที่จะราคาเท่านี้ แล้วก็เป็นการช่วยเหลือเพื่อนๆ ร้านป้ายด้วยกัน

ฟอนต์ดิจิตอลทั้งหมดเติบโตมาจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ จนกระทั่งมาเป็นเว็บไซต์ มันจะมีข้อเรียกร้องมาตรฐานของฟอนต์อยู่ ต้องมีภาษาไทย ภาษาอังกฤษที่ดีมาก ในขณะที่ฟอนต์ลูกทุ่งแบบที่ร้านตัดสติกเกอร์ใช้ บางทีภาษาอังกฤษไม่ต้องมีอะไรมาก แค่ให้มีๆ ไป เพราะใช้น้อย แล้วก็ยังมีเรื่องมาตรฐานอีกเยอะ อย่างเช่นว่า การทำให้มันชัด ทั้งใหญ่และเล็ก พอมันเป็น pixel ที่เล็กมากๆ จะทำอย่างไรให้มันชัดบนหน้าจอ ซึ่งร้านป้ายไม่มีฟอนต์ตัวไหนที่เอาไปใช้กับหน้าจอ ทุกตัวเอาไปตัดสติกเกอร์ หรือเอาไปพิมพ์หมด ซึ่งความละเอียดสูงกว่าเยอะ ไม่ต้องสนใจเรื่องพวกนี้เลย

แล้วก็ช่องไฟของตัวอักษร ฟอนต์มาตรฐานคำนึงถึงการจัดช่องไฟให้สวยงาม ลงตัว สามารถจัดวางโดยไม่ทับกัน แต่ฟอนต์ร้านสติกเกอร์แบบนี้ทำมาเพื่อให้ทับกันด้วยซ้ำ ฉะนั้นจึงไม่ต้องสนใจเลยเรื่องช่องไฟ มันต้องทับกันถึงจะเท่ คือมาตรฐานของการใช้งานคนละระบบกันเลย แล้วพวกช่างก็จะชอบพูดกันว่า ฟอนต์ตัวนี้ไม่มาตรฐานนะ เพราะใช้กับร้านป้ายไม่ต้องมาตรฐาน

ในวงการนักออกแบบกราฟิกมีคำพูดหนึ่งที่ว่า “คุณเป็นนักออกแบบนะ ไม่ใช่ช่างตัดสติกเกอร์” คิดอย่างไรกับประโยคนี้

ประโยคนี้น่าสนใจ ถ้าเรามองว่างานออกแบบในกระบวนการทางความคิด คนที่เรียนมาทางสายออกแบบต้องมีทฤษฎี อ่านงานมามากมายเพื่อให้มีทฤษฎีในการคิดแล้วทำชิ้นงานใหม่ๆ แต่สำหรับพวกช่าง น่าสนใจว่าเขาก็เรียกตัวเองว่าคนทำป้าย คนทำฟอนต์ เป็น ‘ช่างกราฟิก’ เข้าทำงานแทบจะเหมือนกับนักออกแบบกราฟิก คือใช้โปรแกรมการทำงานเหมือนกัน แต่โดยเนื้องาน ยังไงช่างก็ยังเป็นช่าง คือความเชี่ยวชาญของเขาอยู่ที่กระบวนการการผลิตมากกว่างานออกแบบ

Creative Thinking

ช่างต้องเข้าใจก่อนว่าสติกเกอร์แต่ละชนิดเป็นอย่างไร จะผลิตงานออกมาให้ได้แบบนี้ต้องทำอย่างไร ต้องดูวัสดุ เลือกของอย่างไร ซึ่งนักออกแบบไม่ต้องสนใจ สมมุติพิมพ์ไวนิล เวลาเลือกสี ช่างกราฟิกเงยหน้าไปดูตารางสีที่แปะบนฝาผนัง แล้วก็เลือกว่าจะเอาสีนี้ๆ แล้วก็กรอกเป็นค่า RGB เข้าไปในเครื่อง กลับกัน ถ้าเป็นนักออกแบบกราฟิกทำคือเลือกสีจากหน้าจอก่อน สีจะมาจากคอนเซ็ปต์หรือมู้ดอะไรว่าไป มาจากเรฟฯ (reference – แบบอ้างอิง) แล้วค่อยไปคุมตอนท้ายว่า พิมพ์ออกมาให้เหมือนอย่างนี้นะ อย่าให้เพี้ยน แต่อย่างที่ช่างทำคือไม่เพี้ยนแน่นอน เพราะว่ามันมาจากตารางเครื่องพิมพ์ของเขาแล้วก็กลับเข้าไปในงานออกแบบ คือวิธีคิดมันต่างกัน

งานของเขาเป็นงานช่างมากกว่า เขาถึงเรียกตัวเองว่าช่างกราฟิก ความซับซ้อนของงานออกแบบน้อยกว่าอยู่แล้ว สมมุติร้านป้ายเสริมสวย ป้าชอบสีฟ้าก็ต้องสีฟ้า งานตามสั่งง่ายๆ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความสร้างสรรค์อยู่ในนั้นเลย อย่างที่บอกว่าความสร้างสรรค์ไปอยู่ตรงกระบวนการการผลิต ความคิดสร้างสรรค์จะไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ออกแบบไปถึงการผลิต แม้ว่าเขาจะให้เวลากับการออกแบบน้อยกว่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีความคิดสร้างสรรค์

เป็นไปได้ไหมที่คนในวงการการออกแบบกับคนที่ทำงานร้านป้ายจะแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

คิดว่ายัง เราอาจจะเป็นเฟรนด์กันในเฟซบุ๊ค นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่ยังไม่เห็นแกคุยกันจริงจัง น้าสมานเล่าให้ฟังว่าช่วงหลังหลังมานี่ มีพวกมหาวิทยาลัยอยากเชิญแกไปพูดและบรรยายให้นักศึกษาฟังเรื่องการออกแบบฟอนต์ แกไม่เคยไปเลย แกจะใช้เหตุผลของแกคือ ผมมันมวยวัด เขาจะบอกว่า เป็นเกียรติมากนะที่เชิญ แต่ผมมันมวยวัด ไม่อยากจะไปอะไรแบบนี้

ผมคิดว่าในแง่หนึ่งเป็นเรื่องบรรยากาศของงานสร้างสรรค์ที่กีดกันแก เราคิดว่าคนที่อยู่ในบรรยากาศการทำงานแบบหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆ ให้เข้ามาอยู่หรือแลกเปลี่ยนในบรรยากาศของนักออกแบบอีกกลุ่มหนึ่ง มันจะรู้สึกขัดเขิน เอาแค่คนธรรมดาอย่างเราที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบ เดินเข้าไปใน TCDC ครั้งแรก ก็รู้สึกวางตัวไม่ถูก เราต้องไปนั่งตรงไหน เราเสียบปลั๊กตรงนี้ได้หรือเปล่า ร้านกาแฟก็เหมือนกัน คนที่ใช้เป็นคือคนที่มีวิถีชีวิตแบบนี้อยู่แล้วจะสบาย มีที่ให้นั่ง มีกาแฟกิน มีปลั๊กให้เสียบ ทุกอย่างราบรื่นไปหมด สำหรับคนที่อยู่ในอีกบรรยากาศหนึ่ง ถ้าต้องข้ามมา มันจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ

แต่เรื่องนี้เราคิดว่ามันจะคลี่คลายได้ในอนาคต ถ้าเกิดงานสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งได้รับความสำคัญและได้รับการสนับสนุน ทำให้บรรยากาศแบบนั้นมันรู้สึกว่ามีที่ทางของตัวเองมากขึ้น จากฝั่งนี้ก็พร้อมที่จะข้ามไป คนฝั่งโน้นก็พร้อมที่จะข้ามมา การแลกเปลี่ยนถึงจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันก็เริ่มแล้ว อย่างในเว็บ f0nt.com ในเว็บบอร์ด พวกเขาก็คุยกันเหมือนคนกลุ่มเดียวกัน ในเว็บบอร์ดไม่ต้องเจอหน้าเจอตา ทุกคนเป็นเพียงแค่อวตาร คุยกันเป็นเรื่องปกติ พวกนักออกแบบมือสมัครเล่นก็คุยกับพวกน้าๆ ร้านป้ายเป็นเพื่อนกันปกติ ก็แปลว่าการแลกเปลี่ยนการได้เกิดขึ้นแล้ว

สติกเกอร์ซิ่ง ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของช่างกราฟิกได้อย่างไร

มีงานมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งที่สนใจเรื่องการออกแบบ หรือที่เรียกว่า Design Anthropology ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องการออกแบบพื้นที่ เครื่องใช้ สิ่งที่จะมีผลต่อการใช้ชีวิต สังคม การรวมตัวของคน แต่มักมองข้ามคนทำงานออกแบบ คือจะไปสนใจแบบว่าเก้าอี้แบบนี้ โต๊ะกลมๆ ทำให้คนนั่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร หรือการที่เราเข้าใจการนั่งของคนจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ เช่น คนมักจะชอบถูกขโมยของเวลานั่ง ก็ออกแบบว่าทำอย่างไรให้มันมีที่แขวนของ คือเข้าใจพฤติกรรมคนเพื่อที่จะออกแบบพื้นที่หรือว่าของใช้ให้มันสอดคล้องหรือแก้ปัญหาได้

ยังมีงานน้อยชิ้นที่สนใจตัวนักออกแบบ นักออกแบบที่นั่งอยู่หน้าคอม พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งในแง่นี้งานเราก็พยายามที่จะเข้าใจว่าวัฒนธรรมการแต่งรถซิ่ง มันทำอะไรกับนักออกแบบบ้าง อย่างเช่นเรื่องการออกแบบฟอนต์ มันก็มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างลูกค้ากับช่าง ที่ทำให้เห็นว่าการเลือกฟอนต์มันก็มาจากคนขับรถด้วย

Creative Thinking

ส่วนตัวสรัชทำงานออกแบบอยู่แล้ว หลังจากทำงานชิ้นนี้มันส่งผลต่อการทำงานออกแบบบ้างไหม

ส่งผลครับ ตอนนั้นรับงานมาอีกชิ้นหนึ่ง เซนส์เรื่องสีเพี้ยนไปเลย คนถามว่าทำไมใช้สีจี๊ดจ๊าดจัง เราก็บอกว่าไม่นะ นี่ดรอปแล้วนะ ถ้าเทียบกับงานที่เราทำที่ร้านสีสันการป้าย นี่ดรอปลงมาเยอะ แต่สีก็ยังสดใสมาก ตอนที่เราเพิ่งไปแรกๆ ก็สงสัยนะว่าทำไมสีมันต้องแบบนั้น แต่พอเวลาผ่านไป แค่อาทิตย์แรกที่เรานั่งทำงานในร้าน ก็รู้สึกว่า มันต้องสีแบบนี้แหละ พอไปอยู่ที่นั่นก็รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของมัน ป้ายที่จะไปอยู่ตามร้านต่างๆ ต้องสีแบบนี้ สิ้นความสงสัยโดยสิ้นเชิงว่าทำไมถึงต้องสีสด ก็แปลกดี คือพอเราไปอยู่ในบริบทนั้นแล้วมันเหมาะสมดี

ในแง่การทำงานเชิงมานุษยวิทยา หลังจากเข้าไปฝังตัวในสนาม มันเปลี่ยนอะไรในตัวเองไหม

อันนี้ก็เป็นปัญหาคลาสสิกของงานมานุษยวิทยาว่าเรามีตัวเองอยู่แค่ไหนในงาน เราว่าเราก็คุยกับเขาอย่างเปิดเผย คุยกับเขาว่าอย่างงานที่เราทำมันเป็นอีกแบบหนึ่งเลยนะ ก็แลกเปลี่ยนกันคุยกันได้ แล้วเราก็ไปด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้ เพราะว่าเป้าหมายสุดท้ายจริงๆ ของงานคือจะพูดอะไรที่สลายอคติของคนอีกต่อหนึ่ง เราไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอคติเลย แต่เป้าหมายคือเราพยายามเปิด แล้วเขียนให้เห็นว่ามันมีด้านอื่นของคนกลุ่มนี้ที่คนส่วนใหญ่หรือว่าสังคมไม่เคยเห็นมุมนี้มาก่อน

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

Author

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า