คุยแบบไม่มีสคริปท์ กับนักออกแบบกราฟิกที่ใช้ชีวิตเป็นไดอะแกรม

เรื่อง: ณขวัญ ศรีอรุฯ และ ชิน เอกก้านตรง
ภาพ: ชิน เอกก้านตรง

 

วันนั้นเป็นบ่ายอันร้อนระอุ เราเดินเข้าถนนแบริ่งจนถึงที่นัดหมายคือร้านกาแฟสีดำทะมึนสมชื่อ The Black Forest สั่ง เอสเปรซโซ่ ออน เดอะ ร็อค จิบคลายอุณหภูมิ เตรียมกล้องถ่ายรูป และสักพัก หญิงสาวตัวบางร่างเล็กก็เดินงุดๆ เข้ามากล่าวสวัสดี

เรากดปุ่ม REC เริ่มบทสนทนาจากการคุยกับเธอด้วยชื่อจริง – น้ำใส ศุภวงศ์ กราฟิกดีไซเนอร์แห่ง The Matter

คิดว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จักเธอ ทั้งที่ในการอ่านคอนเทนต์ออนไลน์ งานของเธอจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านเห็น (และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราคลิกหรือสไลด์ผ่าน) แต่ชื่อ Namsai Supavong จะปรากฏอยู่ ณ บรรทัดสุดท้ายเสมอ

เราเชื่อว่าคุณต้องเคยผ่านตางานของเธอแน่ๆ ในลายเส้นเรียบง่ายที่ลดทอนจนเหลือแค่รูปทรงที่จำเป็นและสีสันตัดกันฉึบฉับนั้น ถ้าเธอวาดภาพคน คนของเธอก็ไม่มีหน้าตาแสดงอารมณ์ object และลายเส้นของเธอไม่สำแดงตัวตนอันชัดเจน สมกับที่เธอบอกว่าเป็นคนขี้เขิน ไม่ชอบพูดเรื่องตัวเองลงเฟซบุ๊คเท่าไหร่ แต่งานกราฟิกหน้าตายของเธอกลับแน่นไปด้วยไอเดียและสัญลักษณ์ ที่บางครั้งก็ทะลวงสมองได้แหลมทะลุกะโหลกเรามากกว่าบทความทั้ง 1,000 คำ

แม้นี่เป็นการพบกันครั้งแรก แต่ตอนถอดเทป หลายครั้งนักสัมภาษณ์มือใหม่ก็พูดไม่ทันจบประโยค เรียบเรียงไวยากรณ์ยังไม่เสร็จดี แต่จั๊ก (หลังๆ เราเรียกกันด้วยชื่อเล่น) ก็เข้าใจว่าคำถามของเราคืออะไร

มันเป็นบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง ที่คนใน art department สามคนนั่งคุยกัน จากผู้ถูกสัมภาษณ์ บางช่วงบางตอนเธอโยนคำถามกลับมา บรรยากาศโดยรวมจึงเป็นคล้ายการสนทนา แลกเปลี่ยน กระทั่งปรับทุกข์ และแชร์ความสงสัยในอนาคตของตนเอง

 

1: ก่อนทำงาน

เราขุด google จนเจอคุณขึ้นไปพูดบนเวทีงาน Somewhere Thai ตอนนั้นคุณยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่เลย สงสัยว่าทำไมถึงมาสนใจงานออกแบบกราฟิก

โห ขุดลึกจริง (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าสนใจ กระตือรือร้นกับวงการนี้มากยิ่งกว่าตอนนี้อีก

คือตอนนั้นชอบเข้าบล็อก อย่างพวก exteen หรืออะไรอย่างนี้มั้ง ที่จะมีพวกศิลปินมาโชว์งานกัน ก็ชอบเข้าไปดู แล้วพอดีเห็นประชาสัมพันธ์งาน Somewhere Thai ก็เลยรู้สึกว่าอยากลองทำ ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากส่งประกวด ไม่เคยได้รางวัลอะไรเลย อยากลองส่งซักร้อยอันถ้าไม่ได้อะไรเลยจะไม่ส่งอีกแล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าทุกวันนี้ยังส่งไม่ถึงสิบอันเลย (หัวเราะ) อันนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นมันไม่มีอะไรให้ทำ ถ้าไม่มีโจทย์มันไม่รู้จะทำอะไรอ่ะ เพราะไม่ได้มีอินเนอร์ที่จะทำอะไรขนาดนั้น

งานของน้ำใสที่รวมอยู่ในโปรเจคท์ ‘Somewhere Thai: ฉันเป็นนนักออกแบบกราฟิกไทย’ เมื่อปี 2010 จัดโดย Practical Design Studio

ตอนนั้นก็ส่งไป แต่คิดว่าเขาอาจจะเลือกเพราะเห็นเป็นเด็กมั้ง เผื่อได้มุมมองที่แตกต่าง ตอนก่อนที่ตัวเองจะขึ้นไปพูดก็นั่งคิดว่า เรามาทำอะไรวะเนี่ย (หัวเราะ) คือทุกคนเขามาเหมือนกับมาแลกเปลี่ยนความคิดที่มีต่องานในหัวข้อความเป็นไทยใช่มั้ย แต่คือของเราตอนเขาโทรมาว่าจะให้พูด ก็ถามว่าให้พูดอะไร เขาก็บอกว่าให้พูดเกี่ยวกับงานของตัวเอง ก็เลยเตรียมไว้แค่ว่าอันนี้ทำอะไร แต่พอมาฟังแล้วเหมือนเป็นเวทีแบบแลกเปลี่ยนความคิดมากกว่า ก็รู้สึกว่าเราไม่เห็นจะมีอะไรไปแลกเปลี่ยนเลย หมายถึงว่ายังไม่มีมุมมองอะไรที่ตกผลึกขนาดนั้น แต่ว่าไปฟังก็สนุกดี

 

หลังจากนั้นก็เข้าเรียนที่มัณฑนศิลป์ ศิลปากร ได้ส่งประกวดอะไรอีกมั้ย

ตอนปีหนึ่งส่งพอร์ตไปที่ a day ว่าอยากทำภาพประกอบ แล้วเขาก็ติดต่อกลับมา ตอนปี 3 (หัวเราะ) ตอนนั้นส่งไปเป็นลิงค์ใน Tumblr แล้วตอนปีสามมีเพื่อนไปฝึกงานที่นั่น เขาก็คุ้ยๆ จนเจอ ซึ่งก็ดีเหมือนกันที่เขากลับมาเห็นตอนปีสาม เพราะผ่านไปสองปีก็มีงานในนั้นเยอะแล้ว เขาก็เลยให้เราวาดภาพประกอบคอลัมน์

ตอนปีหนึ่งก็ไปฝึกงานที่นิตยสาร Computer Art Thailand ก็เลยรู้จักกับพี่แป้ง (ณัฐจรัส เองมหัสสกุล อดีตบรรณาธิการ) ก็ได้ทำงานกันมาเรื่อยๆ ปีสามก็ไปฝึก Dentsu เพราะตอน ม.ปลายสนใจโฆษณา พอไปฝึกปุ๊บ เลิก!! (หัวเราะ) คือเรารู้สึกว่าเสียดายทรัพยากร เพราะดูในบริษัทก็มีคนเก่งๆ เยอะใช่มั้ย มีแต่คนที่มีความสร้างสรรค์ แต่มันต้องมานั่งคิดอะไรที่… เช่นคิดว่าจะขายผงชูรสยังไง

 

กรอบมันชัดเจนมาก?

สมมุติไปออกกอง ทุกคนต้องเหนื่อยขนาดนั้นเพื่อขายผงชูรสเนี่ยนะ หรือเลิกดึก อดหลับอดนอน คือถ้าเราอดหลับอดนอนเพื่องานที่ดีกว่านั้น ก็อาจจะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลงนิดนึง คือพอคิดว่าเหนื่อยเพราะขายผงชูรสอ่ะ มันดูน่าหดหู่มากเลย (หัวเราะ) ก็เลยไม่ค่อยอยากทำ

 

แล้วตอนดูหนัง ฟรีแลนซ์ ของเต๋อนี่…

อินมาก

 

ไม่รู้สึกว่ามันน่าหดหู่เหรอ รีทัชมันต้องเหนื่อยขนาดนั้นเลยเหรอ

ก็คิดนะ… เลยรู้สึกว่า The Matter มันดูตอบโจทย์กว่า อย่างน้อยมันเหนื่อยแต่ก็ดูมีประโยชน์…นิดนึง (หัวเราะ)

 

แล้วจากนั้นล่ะ

พอฝึก Dentsu เสร็จ ก็ไปที่ TNOP ทุกวันนี้เวลามีรุ่นน้องถามก็จะแนะนำให้ไปฝึกที่นี่ตลอด ตอนเราส่งพอร์ตไปก็มั่นหน้าประมาณนึง ว่างานเราโอเคแล้วแหละ แต่พอไปสัมภาษณ์ ก็โดนคอมเมนต์เยอะมาก คอตกเลย แต่รู้สึกว่าเป็นคอมเมนต์ที่ดี คือ ก็เจ็บ… แต่ก็ดี รู้สึกว่าได้อะไรเยอะเหมือนกันจากที่ฝึกแค่เดือนครึ่ง

ยกตัวอย่าง ตอนก่อนไปฝึกงานเคยรู้สึกว่าการทำโลโก้เป็นอะไรที่ง่ายๆ มีเพื่อนมาให้ทำก็ทำคืนนึง เสร็จ แต่ความจริงแล้วมันมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก ทุกวันนี้ไม่สามารถรับจ๊อบโลโก้ได้อย่างสบายใจอีกแล้ว คือถ้ามีใครจ้างออกแบบโลโก้ ก็อยากส่งไปหาคนอื่น คือมันจะเห็นภาพว่าถ้าทำอย่างนี้ TNOP ต้องด่าอย่างงี้แน่นอน (หัวเราะ) แล้วจะรู้สึกว่าไม่ค่อยมั่นใจ

การฝึกงานที่นั่นเลยก็มีผลต่อการคิดของเรา ให้คิดนอกกรอบนิดนึง สอนเรื่องการไม่ตีความแบบขวานผ่าซาก

พอเรียนจบ ทำงานประจำที่แรกคือ The Matter?

ไม่ค่ะ เยอะมาก เปลี่ยนงานบ่อยมาก The Matter นี่ทำนานที่สุดแล้ว

 

แล้วงานประจำที่แรกคือที่ไหน

ตอนแรกเป็นที่ be<our<friend แต่ว่าเป็น contract แบบสี่เดือน ก็เป็นงานกราฟิกเลย แล้วก็ออกมาเป็น freelance ซึ่งก็ทำกับ Studio Dialogue ของพี่แป้ง ตอนนั้นทำนิทรรศการของ สสส. 

ส่วน The Matter เนี่ย จริงๆ ตอนแรกรู้จักกับพี่แบงค์ (ณัฐชนน มหาอิทธิดล) อยู่แล้ว เพราะเคยทำภาพประกอบให้ Giraffe พี่แบงค์ก็ทักมาว่ามีเพื่อนอยากทำ Editorial graphic ไหม แต่ตอนนั้นยังไม่รู้สึกอยากทำงานประจำ คือความจริงก็สนใจ แต่พอเป็นงานภาพประกอบที่จะต้องทำรูปเยอะๆๆ ยิ่งรู้สึกว่า จะต้องเบื่อแน่นอน ก็เลยบอกพี่แบงค์ไปว่าเดี๋ยวหาเพื่อนให้ แต่ทีนี้เพื่อนที่ติดต่อไปเขาจะลาบวชก่อนหนึ่งเดือน ก็เลยขอมาทำแทนเพื่อนก่อนเดือนหนึ่ง แต่พอทำไปแล้วก็ชอบ และพอเพื่อนสึกออกมาแล้วเห็นเนื้องาน เขาก็คิดว่าไม่เหมาะ เพราะเพื่อนจะไปทางสาย Motion Graphic มากกว่า เราก็เลยทำมาเรื่อยๆ

 

อยู่ Matter มานานแค่ไหนแล้ว

8 เดือนเอง

 

แต่ถ้าดูจากงานที่เคยทำตั้งแต่ be<our<friend, Studio Dialogue, จนมาถึง The Matter มันมีความเชื่อมโยงกันไหม

อย่าง Be<our<friend เนี่ย ไม่ค่อย content เลย คือเป็นกราฟิกมาก แต่ตอนที่ทำก็ทำภาพประกอบอยู่ดีอ่ะ เช่นทำผนังร้านอาหาร ส่วนที่ Studio Dialogue ก็เกี่ยวกับ content มากขึ้น ต้องอ่าน content แต่พอตีความออกมามันก็ไม่ใช่เป็นรูปขนาดนั้น

 

เวลาทำกับงานที่เน้น content นี่ อ่านทุกชิ้นไหม

อ่านค่ะ คือถ้าเกิดมี content ให้อ่าน ยังไงก็ต้องอ่าน แต่ว่าบางอันนักเขียนเขาก็เขียนไปด้วย แล้วเราก็ทำรูปไปด้วย จะได้เสร็จพอดีกันใช่มั้ย แต่บางทีเขาก็จะบรีฟมาว่าประมาณนี้ๆ ทำเสร็จก็ให้เขาเช็คว่าตรงมั้ย ซึ่งพอเวลา content ออกมาแล้ว บางทีเราก็ไปอ่านเช็คเองอีกรอบเหมือนกัน

 

แสดงว่าลักษณะการทำงานคงยืดหยุ่นมาก เช่น คุยออนไลน์กันตลอด ไม่ได้รอเสร็จแล้วส่งต่อ ไม่ได้เป็นสายพานเส้นตรง?

ใช่ค่ะ คือมันจะมีทั้งนักเขียนประจำกับคอลัมนิสต์ ในงานภาพประกอบของคอลัมนิสต์ เราจะรู้กำหนดเวลาอยู่แล้ว เช่นจะส่งมาคืนนี้ เราก็ทำแล้วลงวันพรุ่งนี้ แต่อย่างนักเขียนประจำ งานจะแรนด้อมกว่า บางทีก็อาจจะมี content งอกขึ้นมาเฉพาะกิจ ก็จะต้องสแตนด์บาย

คือจะชอบกว่าที่งานของคอลัมนิสต์มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ยิ่งถ้ามีเวลาก่อนลงซักคืนนึงจะยิ่งสบายใจ เพราะถ้าบรีฟส่งมาตอนเช้าแล้วงานต้องลงประมาณสี่โมง เราจะรู้สึกลนมาก จะทำงานแบบมือสั่น (หัวเราะ) คือเป็นบุญเป็นกรรมมาก ไม่แน่ใจว่าจะคิดออกได้ทันไหม แล้วถ้าเกิดคิดไม่ทันก็…ตามบุญตามกรรม

 

หลายๆ เรื่องไม่ใช่เรื่องที่จะคิดได้ง่ายๆ เลย ไม่ได้เป็นภาพชัดเจน ออกจะนามธรรมด้วยซ้ำ อยากรู้ว่าคิดจากอะไร

เอาจริงๆ สวดมนต์ทุกคืนเลย (หัวเราะ) ขอให้พรุ่งนี้คิดออกอะไรอย่างงี้

เวลาที่มีคนมาถามว่าคิดงานยังไงก็ตอบยาก คืออยู่ๆ มันก็ออกน่ะ ตอนเริ่มงานจะเอาคำไปเสิร์ชใน google ในบทความมี keyword อะไรบ้าง เราก็เอาไปเสิร์ชทั้งหมดเลย แล้วก็ดูว่าคนส่วนใหญ่เขาคิดถึงอะไรเวลานึกถึงคำนี้ บางทีเอามาใช้ได้เลย แต่บางทีรู้สึกว่ามันคลิเช่มากก็อาจจะเปลี่ยน บางทีเสิร์ชออกมาแล้วก็… ไม่น่าเชื่อ สัญลักษณ์นี้ก็ดีเหมือนกัน ก็เอามาใช้

 

ไดอะแกรมขั้นตอนการทำงานของน้ำใสที่ทำโดยน้ำใส

 

ถ้ามีคนถามว่าสไตล์งานตัวเองเรียกว่าแนวอะไร จะบอกว่า?

คือเพื่อนๆ หรือคนรู้จักเราเนี่ย จะบอกว่า เป็น vector เป็นสีๆ ซึ่งก็เป็นเหมือนเบสิคสไตล์ของคนที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ คือทุกคนที่เป็นกราฟิกก็จะมาเป็นสไตล์นี้ แต่จะแตกต่างกันในดีเทลนิดๆ หน่อยๆ

 

พอมันเป็นสไตล์ที่เรียกได้ว่าเป็นเบสิคของทุกคนที่ควรจะทำให้ได้ดี เคยรู้สึกว่าจะโดนไล่หลัง…

กลัว (ตอบทันที) รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นนักวาดภาพประกอบ เพราะนักวาดภาพประกอบมันมีสไตล์เป็นของตัวเอง แต่อย่างเราก็คงไม่กล้าพูดว่าสไตล์นี้เป็นของเรา แค่ทำบ่อยเพราะถนัดสุด แต่ถ้ามีสไตล์อื่นที่ตอบโจทย์คอนเทนต์กว่าก็จะเปลี่ยน คือเราทำงานเหมือนแก้โจทย์อะ ทำยังไงก็ได้ให้มันสื่อสาร ให้มันดูน่าเกลียดน้อยที่สุด ให้มันรอด แต่ตอนทำก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องวิจิตรอลังการ คือไม่ได้มุ่งสายนั้น แต่ก็มีบางทีที่อยากไปสายนั้นบ้าง แต่ก็ไปไม่ได้ มันขัดกับนิสัยและฝีมือที่มี ก็เลยรู้สึกว่าต้องคิดเยอะๆ จะได้แตกต่าง ไม่ใช่ทางวิจิตร ก็เลยต้องหากินอีกทางหนึ่งแทน

ภาพประกอบบทความ ‘ใฝ่เรียน แต่งบน้อย’ นักศึกษากำลังเป็นหนี้หนัก จากค่า Textbook แพงมหาโหด จาก thematter.co

แต่รู้สึกว่าส่วนที่เตะตาขึ้นมาก็คือการใช้สีนะ อาจจะเพราะผมโตมากับสี CMYK (แม่สีในงานสิ่งพิมพ์) ใช่ไหม แต่พอมายุคหลังที่โตมากับสี RGB (แม่สีในงานดิจิทัล) ก็จะคิดสีอีกแบบหนึ่ง?

แต่จริงๆ สีก็เป็นเรื่องที่ปวดหัวมากเลย พอเวลาเริ่มหน้ากระดาษใหม่โล่งๆ แล้วต้องเลือกสี จะรู้สึกไม่มีความสุข (หัวเราะ) แต่ปกติจะมี palette ที่ค้างไว้แล้วตั้งแต่อาร์ตเวิร์คที่ผ่านมา ก็จะจิ้มๆ มาใช้ แต่บางทีก็เบื่อที่ใช้สีนี้อีกแล้ว กลัวคนจับได้ว่าซ้ำ

 

ทำ The Matter มาตั้งแต่ที่ฟอร์มทีมขึ้นมาเลยใช่ไหม

อ๋อ ไม่ค่ะ มีพี่กราฟิกอีกคนนึงก่อนหน้านี้เดือนนึง

 

มีช่วงส่งต่องานไหม คือคนแต่ละคนก็มีลายเซ็นที่ไม่เหมือนกัน

คือยุคก่อนพี่เขาจะเป็นคอลลาจ จะไม่ใช่ภาพประกอบแบบเวคเตอร์ และพี่แชมป์กับพี่แบงค์ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสไตล์ คือทำยังไงก็ได้ให้สื่อสาร และตอนหนูมาเขาก็ออกไปแล้ว ก็เลยไม่ได้คุยอะไรมาก

ตอนแจกงานว่าจะเป็นคุณหรืออีกคนทำ ใครเป็นคนแจก

หนูเป็นคนแจกดูตามความถนัด คุยกันในไลน์ว่ามีงานไรบ้างแล้วก็แบ่งกันไป

 

คุยไลน์นี่เป็นที่ประชุมเลยใช่ไหม

ใช่ ก่อนหน้านี้ไม่ได้เล่นไลน์เลย ไม่มีเน็ตมือถือด้วยซ้ำ คือเราก็ติดเฟซบุ๊ค แต่เลือกไม่ใช้อินเทอร์เน็ตในมือถือเพราะกลัวว่าตัวเองจะเล่นตลอดเวลา…แต่ตอนนี้ติดแล้วเรียบร้อย

 

ดูจากปริมาณงานที่ปล่อยออกมากับช่วงเวลาเนี่ย แปลว่าชั่วโมงทำงานมันยืดหยุ่นใช่ไหม

ก็ค่อนข้าง

 

เพราะการอยู่ในไลน์นี่เท่ากับคุยตอนสามทุ่มก็ได้?

โห ตีสองเลย (หัวเราะ) คือจริงๆ ก็เป็นนิสัยเสียของตัวเองด้วย เพราะหนูทำงานได้โปรดักทีฟมากในตอนกลางคืน คือทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเย็นทำได้แค่ชิ้นเดียว แต่ตอนกลางคืนทำไปสามชิ้น ก็จะรู้สึกว่าบางทีเอาของตอนเช้าวันรุ่งขึ้นมาทำตอนกลางคืนให้เสร็จก่อนเพื่อที่จะได้ตื่นสาย แล้วพอทำเสร็จปุ๊บก็ต้องส่งให้พี่แชมป์ดู ก็จะส่งไปตีสองตีสาม คือจริงๆ ก็รอให้เขามาตอบตอนเช้าแหละ แต่บางทีพี่แชมป์ (ทีปกร) ก็ยังอยู่ (หัวเราะ)

 

แล้วต้องเข้าออฟฟิศตลอดมั้ย หรือว่าทำที่ไหนก็ได้

คือส่วนใหญ่ตอนแรกๆ ก็เข้าทุกวัน แต่ตอนนี้เริ่มแบบว่าไม่เข้าวันศุกร์ เพราะว่าขี้เกียจเดินทาง คือวันศุกร์มันก็เหมือน pre วันหยุด (หัวเราะ) ก็อาจจะตื่นสายนิดนึงเพราะว่าไม่ต้องเผื่อเวลาเดินทางไปออฟฟิศ แต่ก็นั่งหน้าคอมแหละ เหมือนว่านั่งหน้าคอมที่บ้านหรือที่ออฟฟิศก็คล้ายๆ กัน แต่ถ้าไม่เข้าก็ไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้น แค่บางทีถ้าไม่เห็นหน้าแล้วจะไม่รู้ว่างานไหนคืองานด่วน แล้วพอส่งไปแล้วอีกคนยังไม่อ่านจะมีความร้อนรนว่าเขาจะอยู่หน้าคอมรึเปล่า แต่ถ้าไม่มีอะไรส่วนใหญ่ก็เข้าออฟฟิศ ยกเว้นว่าไม่พร้อมจริงๆ  

 

ในแง่ของการทำงาน คิดว่าต้อง brainstorm กัน หรือทำคนเดียว

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะทำคนเดียว แต่ถ้าเป็นสกู๊ปใหญ่ๆ ทีมก็จะคุยกันตั้งแต่ตอนประชุมเลยว่ามันจะออกมาแนวไหน งานอีกประเภทคือพวกที่เป็นอัลบั้ม (ภาพชุด) ที่จะเชิงคอนเซ็ปต์หน่อย ก็จะช่วยคิดระหว่างนักเขียนกับคนทำกราฟิก เพราะมันต้องลิงค์กัน บางที่พี่ที่ทำข้อมูลก็ต้องมาคุยว่าข้อมูลแบบนี้จะนำเสนอประมาณไหนดี แต่บทความทั่วๆ ไปส่วนใหญ่จะทำคนเดียวมากกว่า

Topic ที่ทำเห็นว่าหลากหลาย มีอันไหนที่รู้สึกถนัดหรือไม่ชอบเป็นพิเศษมั้ย  

มีเยอะ เดี๋ยวขอคิดก่อน (หัวเราะ) คือหนูไม่ได้ชอบวาดรูปใช่มั้ย ไม่ได้มีงานอดิเรกเป็นการวาดรูป ความสนุกเลยอยู่ที่ตอนคิด ฉะนั้นคอนเทนต์ที่จะไม่ชอบคือคอนเทนต์ที่อ่านปุ๊บแล้วรู้เลยว่ามันต้องวาดรูปนี้แน่ๆ หรือบางทีมันวาดยาก จะหนีไปวาดอย่างอื่นแทนก็ไม่ได้ เช่น ต้องวาดครอบครัวแน่นอนเรื่องนี้ คือเห็นภาพแล้วยังไงก็ต้องมีครอบครัว มีคนเยอะๆ ต้องวาดซีนยากๆ แน่นอน จะรู้สึกว่าไม่ค่อยอยากวาด

ภาพประกอบบทความ ‘พ่อแม่ก็แก่เฒ่า หนุ่มสาว Gen Y เลี้ยงดูผู้สูงอายุอย่างซึมเศร้า’ จาก thematter.co

ซึ่งถ้าเป็นสไตล์นี้จะให้น้องอีกคนทำ ตอนนี้ดีที่มีน้องอีกคนมาช่วย เขาจะถนัดมากพวกที่เป็นเน้นบรรยากาศ ส่วนคอนเทนต์ที่อ่านแล้วชอบคือแบบที่ทำให้รู้สึกว่า อันนี้สบาย ใช้สัญลักษณ์แทนได้ อันนี้วาดนิดเดียวก็เอาอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นของพี่หนุ่ม (โตมร ศุขปรีชา) จะวาดน้อยหน่อย

 

แล้วการคลุกคลีกับคอนเทนต์ เคยมีที่เราไม่เห็นด้วย แล้วมีปัญหามั้ย

ส่วนใหญ่จะช่างมัน เพราะว่าหนูไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมการณ์อะไรที่ชัดเจนขนาดนั้นอยู่แล้ว คือจะรับๆ มา ไม่เห็นด้วยก็มีบ้างแต่ไม่ได้รู้สึกว่าไม่อยากทำ ไม่ได้ถึงขั้นแอนตี้ แต่อ่านแล้วก็…นิดนึง อาจรู้สึกว่าไม่ชอบ แต่ไม่ถึงขั้นจะไม่ทำ  

แล้วก็รู้สึกว่าเนื้อหาใน The Matter เป็นสายที่สอดคล้องกับเราตั้งแต่แรก เพราะอาจจะยังไม่เคยเจอคอนเทนต์ที่แอนตี้ขนาดนั้น เฉพาะในของ The Matter นะ

 

คิดว่าพระเอกในงาน Editorial Design ใน online content คืออะไร

คอนเทนต์

 

วันก่อนได้ไปคุยกับเด็กนิเทศ จุฬาฯ มา มีคนหนึ่งเขาเล่าว่า เวลาไล่อ่านฟีดส์ บางทีแค่เห็นชื่อพี่หนุ่ม (โตมร) ก็คลิกเข้าไปอ่านแล้ว โดยไม่ได้สนใจด้วยว่ามันคือบทความอะไร คือรู้สึกว่าในเคสนี้ ชื่ออาจเป็นพระเอกยิ่งกว่าคอนเทนต์อีก เลยสงสัยว่า บทบาทของกราฟิก เป็นอะไรใน online content

เอาจริงๆ เรื่องนี้ก็คิดบ่อยเหมือนกัน อย่างเวลาที่คอนเทนต์มันไม่ไป ก็แอบรู้สึกผิด ไม่แน่ใจว่าเพราะรูปไม่ดึงดูดหรือเปล่า เพราะเราอ่านแล้วรู้สึกว่า โห… คอนเทนต์นี้ดี อีกอย่างที่ประกอบกัน คือ รู้สึกว่าเฮด (คำพาดหัว) ก็สำคัญมาก ซึ่งพี่แชมป์ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องเฮดมาก คือบางทีแค่เปลี่ยนเฮด มันก็ไปได้

ภาพประกอบ ทีแรกก็คิดว่าถ้าสื่อสารได้ก็พอแล้ว แต่พอดูไปเรื่อยๆ บางทีรู้สึกว่าเราก็คลิก แต่บางรูปก็ดูไม่รู้เรื่องเลยแต่มันสวยอ่ะ เราก็คลิก บางทีก็เลยต้องคิดว่าจะเอาให้มันสวยหรือจะเอาให้มันสื่อสารดี เพราะบางทีสื่อสารแล้วมันก็ไม่ค่อยสวย

แต่สุดท้ายก็ไม่แน่ใจว่ารูปมีผลต่อคอนเทนต์ขนาดนั้นไหม เพราะบางชิ้นก็เผามาก แต่มันก็ไป

 

จริงๆ เรื่องสื่อสารมันยังเป็นวิทยาศาสตร์อยู่นะ แต่ถ้าข้ามมาเรื่องรสนิยมล่ะ… เคยมีปัญหาเรื่องนี้ไหม

มี (ตอบทันที) คือจริงๆ ไม่ได้รู้สึกมั่นใจในรสนิยมตัวเองขนาดนั้นอยู่แล้ว คือบางทีใช้สีที่รู้สึกว่าสวยแล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจว่าที่คิดว่าสวยแล้วเนี่ย มันสวยรึยัง เช่นเราชอบแล้ว แต่พอส่งไปให้ approve พี่แชมป์ก็อาจจะยังไม่ชอบ ก็จะรู้สึกว่า เออ หรือว่ามันยังไม่สวย

 

ซึ่งความชอบนี่ไม่ค่อยมีเหตุผลด้วยนะ

ใช่ มันยากมากเลยอะ คือหนูไม่รู้ว่ามันจะมีมั้ยคนที่มั่นใจ มันต้องมีแหละ แต่ว่ามันต้องทำยังไงถึงจะมั่นใจกับรสนิยมตัวเองได้ขนาดนั้น บางทีไม่มีความมั่นใจพอที่จะเถียงให้ชนะเลยด้วยซ้ำ

 

หรือบางทีต้อง ‘แสดง’ ว่าเรามั่นใจ แล้วก็จะมั่นใจไปเองรึเปล่า

ก็อาจจะ คือถ้าเกิดไปเจอคนที่มั่นใจกว่ามากๆ เราก็พร้อมจะคล้อยตามได้

ปกติส่งมากสุดกี่ดราฟท์

ส่วนใหญ่รอบเดียว แต่อาจจะมีแก้บ้างเป็นดีเทลนิดๆ หน่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้แก้อะไร ก็เลยเป็นจุดที่ชอบทำงานที่นี่มาก เพราะว่าปกติพวกกราฟิกสตูดิโอ แก้ยับเลย พวกงานจ๊อบนี่แก้ระนาวเลย คือจริงๆ ตอนทำก็รู้สึกว่าอยากเอาใจเขาอยู่แล้วด้วยซ้ำ ถ้ามันเป็นงานที่มีคนมาจ้าง ยังไงก็รู้สึกว่าก็อยากทำให้เขาพอใจอยู่ดี อย่างบางจ๊อบ ถ้าแอดเฟรนด์กับคนจ้างไปแล้ว เราก็จะไปส่องดู ว่าเขาชอบแชร์งานประมาณไหน น่าจะชอบแนวไหน

 

ถ้าเซอร์วิสมากๆ เราจะรู้สึกว่างานที่มีชื่อเราอยู่มันลดคุณภาพลงไหม

ตอนที่งานเข้ามาเราก็อยากให้งานนี้เป็นพอร์ตได้ แต่ระหว่างทำ ถ้างานมันเลยจุดที่เราแฮปปี้แล้ว ก็ให้ลูกค้าเลยร้อยเปอร์เซ็น แก้ตามเลย ไม่ไฟต์แล้ว แต่ก็แค่ไม่เอาไปลงพอร์ตเท่านั้นเอง

 

ก่อนจะมาเราก็ถามคนในกองฯว่า อยากถามอะไรไหม คืออยากได้คำถามจากคนในสายงานอื่นด้วย แต่ทุกคนถามสั้นๆ อย่างเดียว ว่า จะไวไปไหน คุณเคยรู้สึกว่างานไวเกินไปมั้ย

รู้สึก (หัวเราะ) บางทีรู้สึกว่ารูปนี้จะดีได้กว่านี้แน่นอนถ้าขอเวลาอีกหนึ่งชั่วโมง แค่หนึ่งชั่วโมงพอ… แต่ว่าแค่หนึ่งชั่วโมงเนี่ย มันก็ไม่ใช่เวลาไพรม์ไทม์แล้วอ่ะ

คือต้องเลือกระหว่างให้รูปมันดร็อปนิดนึงเพื่อให้คอนเทนต์มันไป เพราะยังไงก็ต้องเลือกให้คอนเทนต์มันไปอยู่แล้วใช่มั้ย ก็จะเสียดายนิดนึงที่ว่ารูปนี้มันไม่สามารถไปสุดได้

 

งานมันออกทุกวันอย่างนี้ มีวันหยุดไหม แบบหยุดเลย ปิดโทรศัพท์

ไม่มี (หัวเราะ) แต่มีวันที่ไม่ใช่ the Matter แต่ก็ทำงานอื่นอยู่ดี คือวันที่ไม่ทำ The Matter เลยอ่ะ มีบ้าง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ละกัน (หัวเราะ) แต่คือ 10 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ไปทำงานอื่นอยู่ดี ทุกวันนี้ก็เลยไม่มีวันไหนซักวันที่ไม่ได้เปิดคอม

 

ล่าสุดที่เห็นว่าเอางานที่ทำใน The Matter มาทำเป็น Infographic เรียงกันเป็นปฏิทิน อันนั้นทำด้วยอารมณ์ไหน?

คือหนูจะมีวิธีโกงในการทำรูปอยู่ คือการใช้ element ซ้ำๆ ซึ่งบางทีมันจำไม่ได้ว่าเราเซฟในโฟลเดอร์ไหน

 

ปฏิทินงานในเดือนธันวาคม

 

แสดงว่าตั้งใจทำไว้ดูเอง?

ตอนแรกทำไว้ดูเองด้วย แต่ก็อยากรู้ว่าวันๆ นึงทำไปเท่าไหร่ ทำไปกี่ชิ้น ดูไปดูมาก็..ภูมิใจจัง อวดโลกดีกว่า

ทุกวันนี้เวลาเปิดโปรแกรมมา จะกลัวภาวะหน้าจอว่างมาก แต่ถ้าเกิดมันมี element ที่ตั้งต้นไว้มันจะอุ่นใจ พอทุกครั้งที่จะทำงานก็จะเอาชาร์ตอันนี้มาเปิดเรียงแล้วนั่งดูว่าอะไรที่เราจะเอามาใช้ซ้ำได้บ้าง

 

รู้แล้วถ้าโกรธกันนี่จะทำไง ต้องแอบไปฟอร์แมตเครื่อง (หัวเราะ)

โห ร้องไห้เลยอ่ะ ร้องไห้หลายวันด้วย (หัวเราะ) ทุกวันนี้กลัวคอมเจ๊งมากที่สุดแล้ว

 

เคยเห็นน้ำใสทำไดอะแกรมบันทึกกิจวัตรตอนที่ไปฝึกงานด้วย ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

ที่ทำไดอะแกรมพวกนี้ก็เป็นความหมกมุ่นส่วนตัวน่ะ ชอบเก็บข้อมูลเอาไว้ดู แบบว่าเขียนแล้วมันเขินๆ แต่พอทำเป็นกราฟิกแข็งๆ มันไม่เขินดี

ไดอะแกรมบันทึกกิจวัตรตอนฝึกงาน

มันเกี่ยวมั้ยกับที่ชอบวาดคนไม่มีหน้า ไม่ค่อยชอบแสดงอารมณ์รึเปล่า

เกี่ยว อีกอย่างเวลาวาดหน้าแล้วมันมีคาแรคเตอร์ด้วย กลัวจะไปเหมือนกับงานคนอื่น

 

2: ชีวิต ความสับสน และความไม่แน่นอน

 

อย่างนี้ถ้าไม่ชอบวาดแสดงอารมณ์ในงาน ตัวจริงเป็นคนเก็บอารมณ์แบบนี้ไหม

เก็บๆ เป็น introvert แบบสุดปรอทเลย

 

เล่นกีฬาไหม

น้อยมาก แต่ว่ามีตีปิงปอง ที่ออฟฟิศมีโต๊ะปิงปอง ชอบเล่นปิงปอง

 

เล่นเก่งมั้ย

จะบอกว่าเก่งก็ดูโม้มาก (หัวเราะ) ก็โอเค ตีได้ ก็ตบได้ตบเป็น

 

เล่นกับใครบ้างที่ออฟฟิศ

โห ที่ออฟฟิศมีคนเล่นปิงปองเยอะมาก บางทีไปออฟฟิศแล้วแทบไม่ได้ทำงานเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอกว่ารู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ตอนกลางคืนใช่ไหม เพราะฉะนั้นเวลาไปออฟฟิศเนี่ยก็จะเหมือนไปเล่น เล่นบอร์ดเกม เล่นปิงปอง อ๋อใช่ The Matter นี่ชอบเล่นบอร์ดเกมมาก

 

ทุกวันนี้ถือว่าโอเคกับเส้นทางนี้รึยังหรือยังอยู่ในช่วงทดลอง

ก็… สับสนอาทิตย์ละสามวัน บางวันก็นอนหลับ โอเคแฮปปี้กับชีวิตที่เป็นอยู่ แต่บางวันก็นอนไม่หลับสับสนอยู่ดี คือไม่เสถียรเลย

 

ทำไม

คือบางวันคิดงานไม่ออกเลย แบบรู้สึกว่าวันนี้สมองตื้อมาก ก็จะ…ไม่อยากทำแล้ว แต่พอคิดออกปุ๊บ มันก็หาย ก็… อุ้ย ดีจังเลย เลยไม่รู้ว่าความคิดไหนกันแน่ที่มันไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบอ่ะ คือความรู้สึกที่แฮปปี้มากก็ชั่ววูบอยู่ดี ความรู้สึกที่เคว้งคว้างมันก็ชั่ววูบอยู่ดี ด้วยเหตุผลจากที่คิดงานออกหรือไม่ออก แต่ยังไม่เคยมีสภาพกลางๆ เลย มีแต่สภาพที่ขึ้นสุดลงสุด

 

มีความเบื่อรูปแบบของงานที่ตัวเองทำไหม

ตลอดเวลา

 

แต่คือมันกลายเป็นภาพลักษณ์ไปแล้ว คืออย่างพวกเรารู้สึกเลยว่างานนี้เป็นคุณทำ งานนี้เป็นคนอื่นทำ

จริงเหรอ แต่ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะไม่รู้นะเช่นแบบพี่นักเขียนบางคน สมมุติว่าเข้าเพจของ WAY หรือ Momentum พอเห็นเป็นสไตล์ vector กราฟิกเขาก็จะแซวๆ เราว่า ‘ฝิ่นป่ะเนี่ย’ (หัวเราะ) แต่หนูก็ดูออกว่าคนที่วาดมือแบบนี้เป็นงานใคร เป็นมือแบบ WAY หรือมือแบบ Momentum

เริ่มปวดหลังรึยัง

เริ่มแล้ว (หัวเราะ) คิดว่าไม่พ้น office syndrome แน่ๆ ยังไงก็ต้องเป็น ถ้าเกิดทำงานที่บ้านใช่ป่ะ คือลุกจากเตียงมาก็ลงมานั่งหน้าคอมเลย แล้วก็ทำไรไปเรื่อยๆ บางทีก็กินข้าวไม่ตรงเวลา รู้สึกว่า ไม่น่าจะจบสวยแน่นอน (หัวเราะ) คือทำไปก็รู้ว่ามันแย่มาก แต่มันไม่สามารถบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ถูกได้

 

ช่วงนี้ พี่เอ๋ นิ้วกลม อินกับการวิ่งมาราธอน (#จนกว่าเราจะเบื่อ) เขาก็บอกว่าตั้งแต่มีเป้าหมายเรื่องวิ่ง ก็คาดหวังกับงานน้อยลง คือยังมีเป้าหมายอยู่ มุ่งความสำเร็จอยู่ แต่ปล่อยวางมากขึ้น

คงตามวัยแน่เลย รอคอยอยู่เหมือนกันให้ถึงวัยที่เอาอย่างอื่นมาแบ่งเปอร์เซ็นต์เรื่องงานออกไปจากชีวิตบ้าง

 

มีไอดอลมั้ย

โห มันเยอะมากเลย คือช่วงไหนดูของใครก็จะชอบเป็นคนๆ ไป เช่นพอดูซีรีส์ Abstract ของ Netflix ตอนของ Christoph Niemann ก็ชอบมาก อินมาก เข้าไปนั่งดูงานเว็บเขา หรือดูหนัง Twenty Century Woman จบ (ผู้กำกับคือ Mike Mills ทำงานกราฟิกด้วย) ก็ไปดูเว็บเขา แล้วก็ชอบอีก คือมันเยอะมากเลยตอบยากว่าจะให้ใครเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ ยังไม่อยากตัดสิน อย่างช่วงสองสามวันนี้งานพี่เต๋อออกมาติดๆ กัน ก็แบบ โห แต่ก็ชอบเขาอยู่แล้ว แต่ว่าพอไปเจอคนอื่นก็จะลืมที่เคยชอบไปแป๊บนึง อย่างตอนที่ชอบ Christoph ก็จะลืมคนอื่นแป๊บนึง แล้วพอเจออีกคนความชอบมันก็จะนำขึ้นมา ขึ้นๆ ลงๆ

 

คิดว่าตัวเองเนิร์ดมั้ย

ไลฟ์สไตล์ก็เนิร์ดนะ แต่รู้สึกว่าคนเนิร์ดคือคนที่มีความรู้เรื่องอะไรซักอย่างที่ลึก แต่คิดว่าตัวเองยังไม่ลึกกับเรื่องไหนขนาดนั้น

 

อ่านงานพี่ประชา (สุวีรานนท์) บ้างมั้ย

ไม่ค่อย มันยากอ่ะ เคยอ่านเล่ม Design+Culture แต่ว่ายังไม่จบ คือก็อยากเป็นคนที่อ่าน บางทีก็ฝืนๆ ใจอ่านจะได้มีความรู้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีความสุขขนาดนั้นกับการอ่าน

 

แล้วหนังสือของ คัดสรรดีมาก ล่ะ

อ่านไม่จบ (หัวเราะ) อ่าน สันติวิธี อยู่ ยังไม่จบเลย อ่านมาเป็นปีแล้ว คือมันไม่สามารถอ่านต่อเนื่องได้อ่ะ มันต้องอ่านตอนที่สมองว่างมากจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้มันไม่ว่างอ่ะ ถ้าเกิดว่างก็อยากอ่านอะไรที่ผ่อนคลาย

 

แล้วผ่อนคลายตัวเองด้วยอะไรบ้าง

พวก fiction วรรณกรรม อะไรงี้

 

ชอบใครเป็นพิเศษ

เหมือนที่ถามว่าชอบกราฟิกคนไหนเป็นพิเศษอ่ะ ก็จะชอบเป็นช่วงๆ ถ้าอ่านคนไหนก็จะชอบคนนั้น

 

ล่าสุดอ่านอะไรอยู่

ถ้าอินๆ ล่าสุดเลยก็คือเล่มใหม่ของวีรพร (นิติประภา) ที่ชื่อความทรงจำยาวๆ น่ะ (พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ — เราก็จำไม่ได้ ต้องกูเกิลดูเหมือนกัน)

 

พักถ่ายรูปกันหน่อยดีกว่า

(S: ช่วยคิดท่าหน่อย  K: เขินกล้องมั้ย) เขินๆ คือถ้าคอนเทนต์นี้อยู่ใน The Matter เนี่ย รูปปกจะไม่ใช้รูปหนูขึ้นแน่นอน (K: แต่เราจะใช้นะ 55) เพราะมันไม่ดึงดูดคนให้คลิกเข้ามาดูเลย

 

จากวันนั้นที่เป็นเด็กมัธยมส่งงานไปประกวด ถึงวันนี้ที่มาทำงานกราฟิกเต็มตัวแล้ว มองมันเปลี่ยนไปไหม

รู้สึกว่ากระตือรือร้นน้อยลงนิดนึงกับการทำงาน คือยิ่งเห็นเด็กฝึกงานยิ่งรู้เลยว่าทำไมเขาถึงขยันมาทำงานจัง ตังค์ก็ไม่ได้ คือตอนฝึกงานเราก็คิดเหมือนกันว่าอยากไปฝึกนู่นนี่ๆ เงินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่คือตอนนี้ทำมาสองปีมันก็แทบจะลืมไปแล้วอ่ะ ทุกวันนี้มันทำแล้วก็คิดว่าก็ทำไปให้มันเสร็จๆ เป็นหน้าที่ อาจจะเพราะเหนื่อย แล้วก็ขี้เกียจ (หัวเราะ) หมายถึงว่าอาจจะขยันทำหลายๆ ชิ้นแต่ว่าบางทีความรู้สึกต่องานมัน โอ้ย ขี้เกียจวาดเยอะจังเลย ซึ่งก็รู้สึกผิด ว่าทั้งๆ ที่มันเป็นงานที่เราเลือกที่จะทำเอง แต่ทำไมต้องขี้เกียจวาดเยอะด้วย ไม่เหมือนตอนมัธยม อย่างน้อยในห้องเรียนเนี่ยก็วาด ทุกคนที่มาเรียนด้านนี้ก็เคยวาดเล่นลงสมุดกันทั้งนั้น…แต่ทุกวันนี้มันไม่เกิดขึ้นอ่ะ มันหายไปนานมากเลย คือมันไม่ได้แบบเห็นนั่นเห็นนี่แล้วก็อยากวาด ไม่มีอีกแล้ว มีแต่สเก็ตช์งาน

 

อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ไหม

โหย ก็เยอะนะ อยากทำโปรดักส์ แต่ไม่ใช่แค่เอาลายของเราไปใส่ ถ้าเกิดเป็นศิลปินเอาลายเขาไปใส่ในโปรดักส์มันก็คืองานเขาแล้วใช่มั้ย แต่ว่าถ้าเอากราฟิกหนูไปใส่มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรขนาดนั้น เลยรู้สึกว่าแค่อยากทำโปรดักส์ที่ใช้กระบวนการคิดแบบกราฟิก

 

ยังไง?

(นิ่งคิด) คือหนูไปเรียนทำรองเท้ามา ซึ่งรองเท้าที่ทำออกมาเนี่ยรู้สึกว่ามันเป็นกราฟิกมากเลย คือเรารู้สึกว่าคนที่ทำกราฟิกแล้วมาทำ มันก็จะไม่ใช่การแสดงออกด้วยวัสดุ แต่จะแสดงออกด้วยรูปทรงด้วยฟอร์ม อย่างอันนี้ รู้สึกว่ามันเหมือนสับปะรด

รองเท้าของน้ำใส

ทำภาพให้คนอื่นมาเยอะแยะแล้ว ส่วนตัวแล้วมีเรื่องอะไรอยากเล่าไหม

จริงๆ ตอนเด็กๆ ชอบเขียนนะ เด็กๆ คือตอน ม.ต้นอ่ะ แล้วก็ไม่ได้เขียนอีกเลย ตอนเด็กๆ เขียนแล้วมันไม่เขินใช่มั้ย พอ ม.ปลายก็เริ่มเขินแล้ว ก็เลยไม่เขียนแล้ว แต่ก็รู้สึกว่างานเขียนก็มีความสนใจอยู่ลึกๆ แต่ยังไม่มีเมสเซจอะไรที่อยากจะพูด เป็นปัญหามากเลย รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีคอนเทนต์ที่จะพูด ถ้ามีก็เป็นเรื่องตัวเอง ก็พวกอินโฟกราฟิกที่ทำเป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น ไม่มีคอนเทนต์ที่แบบว่าอยากจะพูดประเด็นนี้ให้สังคมรู้ ไม่มีเลย (หัวเราะ) ก็รู้สึกละอายใจนะแต่ว่ามันไม่มีอ่ะ

 

เห็น The Matter ชอบทำข่าวเรื่อง AI บ่อยๆ คิดว่า AI จะทำงานแบบเราๆ แทนได้มั้ย

ได้แน่เลยอ่ะ (หัวเราะ) หมายถึงว่า มันก็มีโปรแกรม convert รูปเป็นกราฟิกนู่นนี่ใช่มั้ย แล้วยิ่งแบบเป็นสำนักข่าวอย่างนี้มันต้องการความเร็วมาก บางทีมากกว่าความสวยด้วยซ้ำ (K: มัน detect แล้วว่าบทความชิ้นนี้มีคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง หารูปออกมา แล้วจัดองค์ประกอบแบบคณิตศาสตร์) ใช่ เขาต้องทำวิธีนี้แน่ๆ เพราะว่ากระบวนการทุกวันนี้ที่ทำอยู่มันก็จะคล้ายๆ หุ่นยนต์เข้าไปทุกที

เราลองทำไดอะแกรมการสัมภาษณ์ครั้งนี้ดูบ้าง

วันหลังมาตีปิงปองกันดีกว่าครับ สำนักงาน WAY ยินดีต้อนรับ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า