WAY Dialogue 04: สื่อใหม่สไตล์ The MATTER

img_4036thematter
เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ กิจกรรมเริ่มต้นวันใหม่ของคนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่ใช่ลุกขึ้นไปล้างหน้าแปรงฟัน แต่อาจเป็นการเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์เพื่อเปิดดู ‘ข่าวสาร’ เพราะมนุษย์และข่าวสารข้อมูลเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ แต่เราปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าบางครั้งเราก็ไม่สามารถเชื่อถือคุณภาพสื่อใหญ่ในสังคมไทยได้

แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล คนรุ่นใหม่ที่หันมาทำสื่อออนไลน์น่าจับตาอย่าง The MATTER ที่กล้านำเสนอข่าวสารมีสาระชวนจั๊กจี้หัวใจชาวโซเชียล เบื้องหลังยอดแชร์และยอดไลค์ เราอยากพาคุณไปฟังว่าแบงค์มีความเชื่อ มีแรงจูงใจอะไรถึงกล้าผลิตสื่อที่มีการนำเสนอแตกต่างจากสื่อไทยหน้าเดิมๆ

เล่าความรู้สึกตอนที่คุณเริ่มอยากทำสื่อให้ฟังหน่อย

มีวันหนึ่งที่เราเชื่อว่าเราอยากเห็น เราว่าก็ต้องมีคนจำนวนหนึ่งอยากเห็น เหมือนวันแรกที่เราตั้งแซลมอน เรามาเดินร้านหนังสือ ไปหยุดอยู่หน้าแผงแล้วรู้สึกทำไมถึงมีแต่หนังสือฮาวทูสู่ความสำเร็จ ร้อยขั้นตอนสู่ความสำเร็จ ร้อยขั้นตอนสู่ความมั่งคั่ง ฯลฯ ทำไมไม่มีร้อยขั้นตอนสู่ความล้มเหลวบ้างวะ

วันเดียวกัน-เพื่อนคนเดียวกัน แชมป์ ทีปกร (วุฒิพิทยามงคล) อัพบล็อกลง exteen พอดีเลยครับ ร้อยขั้นตอนสู่ความล้มเหลว ตอนนั้นเราก็คิดว่าไม่มีใครทำ ก็เห็นๆ อยู่ว่าบนแผงไม่มีสักเล่ม เราก็คิดว่าทำไมหนังสือธุรกิจต้องมีหน้าตาประมาณนี้ เป็น text book ที่ดูขึงขัง เราทำธุรกิจเหมือนกันแต่เป็นอีกมุมมองหนึ่งคือเอา comic มาเล่าเรื่องดูสิว่าได้ผลไหม สิ่งนี้มันอยู่ในใจเรามาตลอดว่าจริงๆ ถ้าเรามั่นใจว่ามันควรจะมี ก็ลองทำให้มันมี หลังจากนั้นถ้ามันไม่ใช่จริงๆ ก็พักไปก่อน

อย่าง The MATTER มีคนที่ต้องการจริงๆ ประมาณหนึ่ง เขายังต้องการมุมมองๆ หนึ่งของข่าวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขาอยู่ เขาไม่ได้ต้องการจากสื่อใหญ่อย่างเดียวหรอก เพราะเอาเข้าจริงๆ สื่อใหญ่ตอนนี้ไว้ใจได้หรือเปล่า เราก็ตอบได้ครึ่งๆ กลางๆ เราก็มีมุมมองแบบ The MATTER ซึ่งเป็นทางเลือกแบบหนึ่งสำหรับคนอ่าน เราว่าดีมันก็ควรจะมีคนรับสิ คิดแค่นี้นะเพราะว่าเปิดมาแค่สี่เดือนยังพิสูจน์อะไรไม่ได้

ทำไมมั่นใจใน The MATTER

สิ่งที่เรามั่นใจคือมันไม่มีใครทำ อย่าง The MATTER เราคุยกับแชมป์ จริงๆ แผน The MATTER เคยคุยกันมานานมากแล้ว เพราะเรามี minimore ที่มันเป็นเว็บสำหรับการอัพคอนเทนต์เหมือนกับบล็อก ก่อนหน้านี้มันจะมี minimore feed ซึ่งเอาข่าวไปขึ้นหน้าเว็บ minimore นี่แหละ ก็ทำไปสักพักนึงก็รู้สึกมันเวิร์คเหมือนกันนะ การลองเอาข่าวที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันมาพลิกมุมมองใหม่ๆ เล่าด้วยวิธีใหม่ๆ ดู เลยคิดว่าไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ minimore แล้ว มันควรจะไปเป็นข่าวออนไลน์ดีไหม เราก็คุยกับแชมป์เหมือนกัน แชมป์ก็เห็นคล้ายๆ กันว่าไม่มีข่าวแบบที่เราอยากอ่านเลย มีแต่ข่าวอย่างที่เราเห็นน่ะครับ อย่างเฒ่าวัย 67 ปีจมน้ำตายเพราะเมาเหล้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นข่าวที่ไวรัลพอสมควร แล้วทำไมไม่มีข่าวไวรัลแบบอื่นๆ ที่เราอยากจะเปลี่ยนบ้าง ไอ้ความคิดแบบนี้เป็นความมั่นใจว่าไม่มี หรือมันมีแต่อยู่ในมุมไหนที่เราไม่รู้

img_3392natchanon

แล้วทำยังไงให้คนในโซเชียลต้องอ่านเว็บคุณ

ซื้อโพสต์สิครับ…พูดเล่น (หัวเราะ) คือเราคุยกันในทีมเสมอจริงๆ ว่าแบบไหนถึงจะเป็นรูปแบบที่คนจะถูกใจ เพราะข่าวที่เราเล่นมันเป็นข่าวที่ค่อนข้างซีเรียสอย่างการเลือกตั้งอเมริกา เรื่องคุก หรือล่าสุดเรื่องยาเสพติด ฯลฯ จริงๆ ก็จะมีบางองค์กรที่นำเสนอรูปแบบหนึ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับสื่อแบบเขาก็ได้ ถ้าเขาโพสต์แบบในสื่อของเขา เขาอาจจะทำได้สำเร็จ แต่ The MATTER มันไม่ได้ เพราะเราขึ้นหลังเสือไปแล้วนะ มันต้องหาแง่มุมใหม่ๆ แล้วก็วิธีการใหม่ๆ มานำเสนออยู่เสมอ เราก็เลยใช้การเดาเป็นส่วนใหญ่

เดา = สุ่ม?

การเดาในที่นี้ก็ไม่ใช่มั่วไปตลอดนะ เราพยายามที่จะคิดว่ารูปแบบนี้ มันเกิดรีแอคชั่นอะไรกับคนอ่าน เช่น คิดถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งแท็กให้เพื่อนมาอ่าน คิดถึงเจ้านายของเขาเลยแชร์เพื่อหลอกด่าเจ้านายของเขา แชร์เพื่อบอกว่า โอ้ ฉันเป็นคนดี แชร์เพื่อบอกว่ามึงเป็นคนชั่ว เราว่าทุกข่าวทุกคอนเทนต์มันเป็นเครื่องมือของการแชร์ของคน ไลค์ คอมเมนต์อะไรของเราก็มีหน้าที่ตอบสนอง need อะไรสักอย่างของคนอ่าน

เราจะจินตนาการไปก่อนว่าอยากให้คอนเทนต์นี้ส่งผลอะไรกับตัวคนอ่าน ซึ่งที่มักได้ผลก็อย่างเช่น ทำไมเราถึงรักผู้หญิงคนอื่นได้นอกจากแม่ หรือจำผู้หญิงที่คุณรักคนแรกได้ไหม เออ ต่อให้มันไม่ถูกแชร์ออกไปว่า เฮ้ยมึง กูจำพี่คนนี้ได้ มันจะรีแอคชั่นกับคน ซึ่งเราก็พยายามจะหลีกเหลี่ยง สิบวิธีนี่โน่น ห้าสถานที่ที่คุณต้องไปก่อนตาย ฯลฯ เพราะเอาเข้าจริงวงการสื่อมันก็มีการแข่งขันเรื่องนี้กันอยู่ เพราะฉะนั้น The MATTER จะหนีเรื่องนี้ แล้วหาอะไรใหม่ๆ มานำเสนอ ก็หวังว่าคนจะชอบและคนจะเห็นด้วยกับเรา

ทำหนังสือได้ = ทำเว็บได้?

อย่างแรกคือธรรมชาติของสิ่งพิมพ์กับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตไม่เหมือนกัน กระทั่งการเขียน การคิด และความเร่งรีบต่างกันมาก เราเคยตกหลุมความคิดของเราคือ ทำหนังสือได้ต้องทำเว็บได้สิ เราว่าทุกที่เป็นแบบนี้หมด แมกกาซีนที่ยอดพิมพ์ไม่ค่อยขึ้นแล้ว แอดไม่ค่อยเข้าแล้วก็ปรับธีมมาทำออนไลน์ เราก็รู้สึก…โหย กลับมาชิ้นใหญ่เลยนะ เราปรูฟแล้วรีบแชร์ไปเลย แต่มันไม่ได้ผล มันคนละธรรมชาติกัน มันคนละวิธีการคิด คนละนิสัยมากๆ เลยนะครับ อันนี้คือกับดักของธุรกิจ

แต่ถ้ากับดักของนักเขียนผมว่าเขาคิดว่าตัวเองอาจจะสามารถทำได้นะ เพราะว่าคนอ่านหนังสือที่แบบเขาซื้อหนังสือมา แล้วแบบพร้อมแล้วเว้ยที่อยากจะใช้เวลาอยู่กับมึง (หนังสือ) อ่ะ สามสิบนาทีต่อจากนี้ระหว่างฉันรอเพื่อนที่ร้านกาแฟ – มันไม่ใช่ มันคือการสไลด์ผ่านไปเรื่อยๆ รูปสวยก็หยุดดู เจอน้องคนนี้เอ็กซ์จังเลยก็หยุด มันเป็นสนามที่ทุกอย่างวิ่งเร็วมาก เพราะฉะนั้นธรรมชาติวิธีการหายใจคนละแบบ

หรืออย่างยีราฟ ก็มีการคิดแบบเฮ้ยเราเอาคอนเทนต์มาวนๆ ใช้มันจะได้คุ้มใช่ไหม แต่พบว่ามันไม่ได้ ต่อให้ก็อป text ที่เหมือนกันเลยเอามาวางในตัวยีราฟกับในตัวเฟซบุ๊คน่ะ มันไม่ได้นะ มันคนละรูปแบบกัน มันต้องแก้ อันนี้มันเป็นกับดัก

คนทำหนังสือเปลี่ยนมาทำออนไลน์ = เจ๊ง?

เราไม่เคยเชื่อว่าคนทำหนังสือเมื่อไม่มีหนังสือแล้วจะอยู่ไม่ได้หรืออยู่ไม่รอด เราไม่เคยเชื่อว่าคอนเทนต์มันเป็นเซอร์วิส มันจึงมีแซลมอนเฮาส์ขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรก เพราะเรารู้สึกว่าไอ้ตัวหนังสือที่มันนอนอยู่บนกระดาษก็น่าสงสารเหมือนกันนะ เพราะมันถูกอ่านเสร็จก็เอาขึ้นชั้น เลยคุยกับ วิชัย มาตกุล แกเป็นทั้งนักเขียนและครีเอทีฟ ชวนว่ามาทำภาพเคลื่อนไหวกันดีกว่า โดยเอาเพจของแซลมอนมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหว คอนเทนต์ที่ผลิตมาแล้วจะได้ไม่อยู่นิ่ง มันไปอยู่อีกสื่อหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีเสน่ห์อีกแบบหนึ่งก็ได้

พอเรามีทีมภายในที่คิดเก่งๆ เราก็ทำแมกกาซีนต่อ เพราะมีบางอย่างที่เราสนใจ มันควรถูกกลั่นออกมา และอีกอย่างเมื่อเรามี outsource ที่นิ่งแล้ว มันเริ่มมีแหล่งข้อมูลไปป้อนทีมอื่นๆ มากขึ้น ก็เป็นที่มาของ The MATTER ว่าเราจะมีที่ปล่อยเยอะๆ ไง คอนเทนต์จะได้ลื่นไหลไปได้ และคอนเทนต์ก็วนอยู่ในอ่าวของเรา

ต้องทำงานแข่งกับความเร็วขนาดไหน

ความเร็วนี่มีหลายแบบ บางคนบอกว่าสองวันคือเร็ว บางคนบอกว่าหนึ่งอาทิตย์คือเร็ว The MATTER เก้าชั่วโมงคือเร็ว อย่างหนังสือพิมพ์น่าจะสองชั่วโมง เวลาเราหาข่าว เราก็ดูข่าวต่างประเทศนะ เราก็ไม่ได้เจาะแบบ exclusive จากใคร ก็อ่านตามฟีดเอาแล้วเอามาขยายความ แต่ถ้าเกินสิบสองชั่วโมงไปแล้วต้องสงสัยว่า มันช้าไปหรือเปล่า

ต่างจากเมื่อก่อนที่เราทำแมกกาซีน ต่างจากพ็อคเก็ตบุ๊ค ซึ่งจริงๆ เป็นธรรมชาติของแซลมอนเลย มันมีตั้งแต่หนังสือที่ต้องใช้เวลาทำสี่เดือน ไปจนถึงแมกกาซีนที่ใช้เวลาทำสิบวัน จนตอนนี้เป็นทุกวันที่ต้องมาอัพเดททุกอย่างภายในสี่ห้าชั่วโมง ก็มีความบ้า มีความคลั่งต่างกัน

จ้างฟรีแลนซ์เยอะเป็นข้อดีหรือเปล่า

ต้องดูว่าหน่วยไหนนะ จริงๆ แซลมอนมีประมาณ 5-6 หน่วย จะมีแซลมอนบุ๊คที่เรายอมรับว่าเราไม่สามารถจัดจ่ายเงินเดือนทุกตำแหน่งได้ตลอดปี เพราะงานหนังสือมีแค่ปีละสองครั้ง มีนาคมกับตุลาคม คำถามก็คือในช่วงที่เขาไม่มีงานจะทำอะไร หลังๆ เราก็เลยใช้คนข้างนอกแทน แต่ก็ได้ไอเดียใหม่ๆ ด้วย

The MATTER เราใช้คอลัมนิสต์ข้างนอกพอสมควร เพราะต้องการแหล่งข้อมูลจากข้างนอกมากกว่า แล้วอีกอย่างคือการทำงานแมกกาซีนมีเวลาให้รีเสิร์ชเยอะ 10-15 วัน ตอนเราทำแมกกาซีนจะมีการรีเสิร์ช กว่าจะจมดำดิ่งไปในกรุ๊ปหลักๆ สักเฮือกหนึ่ง มันใช้เวลาสักเดือนหนึ่ง แมกกาซีนก็ยังใช้คนเดิมๆ ได้ แต่อย่างเว็บมันใช้ไม่ได้

ใช้คนเดิมๆ ไม่ได้แล้วทำยังไง

The MATTER ก็จะแบ่งฝ่ายเป็นคนๆ เลย คนนี้ด้านวิทยาศาสตร์ คนนี้ด้านโอตาคุ คนนี้ด้านสังคม คนนี้ทำแนวสนุกๆ อย่างเดียว เราต้องคิดอย่างนี้ เพราะมันต้องการเครื่องจักรในการประมวลผลด้านนี้เท่านั้น สมมุติว่าเราสนใจเหตุการณ์นี้ จะให้คนสนใจเรื่องโอตาคุมาอินเรื่องนี้เพื่อจะให้เขียนทุกอย่างออกไปภายในเย็นนี้มันไม่ได้ เราต้องการคลังสมองจากข้างนอก ความหลากหลายด้วย เพราะเป็นเว็บที่ต้องมีความหลากหลายพอสมควร สองอย่างหลักๆ เลย และอีกอย่างคือเรื่องเงิน เพราะว่าเราอยู่ไม่ได้หรอกโดยที่เราไม่มีรายได้เข้ามา ส่วนมากก็ปรับตัวเพราะสิ่งนี้แหละ

The MATTER อยู่ได้อย่างไร?

คือทุกคนถามเราแบบนี้ The MATTER หาเงินยังไง เราก็บอกเราไม่รู้ เพราะเอาจริงๆ สี่เดือนยังไม่ใช่ช่วงที่เอามาคิดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าโลกนี้มันไม่มีข่าวที่เราอยากจะอ่านเราก็ต้องทำ แต่ก็ไม่ใช่การทำเพื่ออุดมคติอย่างเดียว มันมีน้องๆ ที่นั่งอยู่ มีน้องพนักงานที่นั่งงมกราฟิกถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน เราก็ต้องคิดถึงเขา

ช่วง 6-10 เดือนหลังจากนี้ ต้องมาคิดถึงการขยับขยายของการหาเงินมากขึ้น อันนี้ตรงไปตรงมานะ เราทำสื่อเพื่อจะเลี้ยงปากท้อง มันไม่ใช่ความรักแค่ของเราคนเดียว มันคือของทุกคนในกอง เราอยากให้น้องๆ มีชีวิตที่ดี อยากให้น้องๆ หลุดพ้นจากการทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เรารู้ว่ารายได้มันไม่เยอะ เราพยายามทำให้เขาอยู่ในชุมชนครีเอทีฟ ขยายสื่อของเราออกไป ขยายความรับผิดชอบของเราออกไป อาจจะเปิด creative lab หรือโปรดักชั่นที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้เพื่อตอบสนองต่อองค์กรของเรา

img_4090thematter

ถ้าอย่างนั้นขอคำตอบแบบหล่อๆ ได้ไหมว่า The MATTER เกิดมาเพื่ออะไร

ถ้าให้ตอบแบบนุ่มๆ คือ The MATTER ต้องฉลาดกว่านี้ให้มากๆ แล้วเป็นสื่อที่พึ่งพาได้ของคน มันคงไม่ได้เป็นสื่อที่เอาไว้แซะคนอื่นอย่างเดียว หรือคิดข้อมูลตลกๆ ขึ้นมาแล้วให้คนกดแชร์ – คงไม่ใช่

หลังๆ เราพยายามจะชวนน้องๆ คิดว่าทำยังไงให้คอนเทนต์ที่เราเขียนมีประโยชน์กับคนมากที่สุด คือไม่ใช่คิดคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อขวางโลกเท่านั้น เราไม่ได้เขียนคอนเทนต์เพื่อแฮชแท็กแบบคนขวางโลกอย่างเดียว แต่เรามีคำถามบางอย่างที่โยนให้สังคมซุกซ่อนอยู่เสมอในการทำ The MATTER หรือแซลมอน คือเราอยากให้ประเด็นพวกนี้มันถูกพูดถึงบ่อยๆ พูดถึงเยอะๆ ในสิ่งที่พูดถึงได้ยากกว่านี้ ในสิ่งที่เราต้องห้ามปรามกันว่าถ้าออกไปแล้วจะโดนสอยหรือเปล่า

ทำไม The MATTER กล้าที่จะพูด

คือในความกล้ามันมีความแปลก คนอ่านก็ชอบ มันวี้ดว้ายโน่นนี่ เอาเข้าจริงๆ เราก็สงสารทีมเหมือนกันนะว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เขาไม่กล้าคบเรา เขาจะหาว่าเราทำอะไรไม่ค่อยคิด จริงๆ ไม่นะ ถ้าคุณทำสินค้าหรือบริการมาเพื่ออยู่กับคน The MATTER อยู่ข้างคน อยู่ข้างผู้บริโภค อยู่ข้างลูกค้า ถ้าคุณทำสายการบินแล้วสายการบินคุณห่วย ก็ทำเรื่องนี้มันผิดหรือ เราก็เลยทำยังไงก็ได้ให้แบรนด์เราแข็งแรงพอที่จะพูดเรื่องนี้ได้อย่างเสรี เพราะว่าเราไม่โกหก คอนเทนต์ที่มันไม่ปรุงแต่งก็ยังอยู่ในโลกนี้ได้

แสดงว่ามีผู้ใหญ่เกาเหลากับคุณ?

ผมเจอบ่อยมาก เราทำคอนเทนต์ออกไป – ถูกแชร์ ภายในสามชั่วโมงหลังจากนั้น เราจะเจอผู้ใหญ่จากองค์กรที่ว่านั้นโทรมาว่า เฮ้ย ทำอย่างนี้ไม่เห็นดีเลยมาคุยกันหน่อยสิ  ทุกวันนี้ผมเรียกตัวเองว่าเป็น ‘เคลียร์เอทีฟไดเรคเตอร์’ ผมต้องไปเคลียร์กับคนอื่น…ซึ่งมันอะไรวะ ก็ทุกอย่างมันออกมาจากเหตุผลที่ว่า หนึ่ง-ผมเป็นผู้บริโภคคุณ สอง-ผมเป็นประชากรในโลกของคุณ คุณต้องพึ่งพาเราสิ

เอาเข้าจริงพอไปคุยกับเขาเขาก็เข้าใจนะ มันก็จะเป็นภาพที่ซ้ำไปซ้อนมา เป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก เพราะคนก็ตำหนิติติงไปแล้วเขาก็ไม่อยากแก้ มันเลยแก้ได้ยาก จากเรื่องแบบนี้เราคิดว่าทำยังไงเราถึงจะพูดสิ่งเหล่านี้ได้อย่าง ‘ชอบธรรม’ ชอบธรรมในที่นี้คือเราก็ชอบด้วยนะ

The MATTER จะอยู่แค่ในโลกออนไลน์?

ในแต่ละวันคอนเทนต์ The MATTER มันออกมาหลายคอนเทนต์ เราก็เกิดอาการเสียดายว่ามันจะถูก curated ให้ออกมาเป็นสื่อหนึ่งได้ เอาจริงๆ เป็นการอยากพิสูจน์ว่ามันมีความแข็งแรงของมันอยู่ คอนเทนต์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในสื่อนะ มันสามารถเคลื่อนไหวได้ คือเราว่าไม่ใช่แค่อยู่ในสิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะเป็นสื่อ

แล้วคำว่าสื่อใหม่เราก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือสื่อใหม่ อะไรมันใหม่ มันใหม่จากคนที่มองด้วยสายตาเก่าๆ ของเราหรือเปล่า ใหม่สุดของเราคืออะไร ใหม่สุดของเด็กสมัยนี้คืออะไร เราไม่รู้เลยว่าอะไรใหม่หรือว่าเก่าแล้วในตอนนี้ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องหาตัวกลางที่มันไปได้ไกลที่สุด นี่แหละคือคอนเทนต์ เราทำคอนเทนต์ของเราให้มันไปอยู่ตรงไหนก็ได้ เราจึงพยายามทำตรงนี้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า