คัมภีร์สู่ความขี้เกียจอย่างมีศิลปะ

หลังลุ่มหลงงมงายอยู่ในโลกการ์ตูนดาร์คไซด์ ‘เมื่อก่อนก็ยังดีๆ อยู่หรอก’ ของ โจ้-ศิลา บัวเพชร นักวาดการ์ตูนดังเงียบ และพาไปหลงทางในเมืองจีนกับ ‘บันทึกลับเซินเจิ้น’ มาเป็นเวลาพักใหญ่ เด็กชายหัวเกรียนวัย 9 ขวบ ก็เพิ่งกระจ่างแก่ใจว่า บนโลกใบนี้ยังมีหนังสือการ์ตูนดีๆ ให้เลือกอ่านอีกมากมาย รอเพียงการถูกค้นพบ

จบจากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เด็กชายวัยเกรียนผู้คลั่งไคล้การ์ตูนเกรียนๆ ก็ได้ค้นพบการ์ตูนเล่มหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ ด้วยชื่อปก ‘#ทีมขี้เกียจ’ ที่ช่างเย้ายวนถูกจริต

ราวกับถูกดูดเข้าสู่จักรวาลใหม่ เพียงแค่เปิดหน้าแรก ยังไม่ทันพ้นปกหน้าใน เด็กน้อยก็ขำเป็นวรรคเป็นเวร กับคำโปรยตัวโตๆ ที่เขียนไว้อย่างเท่ว่า “Just Do It … Later.”

อาการที่เกิดขึ้นขณะเปิดอ่าน/หลังอ่าน คือ ระบบการหายใจผิดจังหวะ ตาเบิกโพลง กรามค้าง น้ำตาเล็ด หัวร่อตัวงอท้องคัดท้องแข็ง แม้ระดับอาการอาจไม่รุนแรงเทียบเท่ากับตอนอ่านการ์ตูนของโจ้-ศิลา แต่ก็ให้อารมณ์ยียวนไม่น้อยหน้ากัน

ถ้าเปรียบลายเส้นของโจ้-ศิลา เป็นตัวแทนของด้านมืด ลายเส้นของการ์ตูนเล่มนี้ก็ดูจะเป็นด้านสว่างขึ้นมาทันที

#ทีมขี้เกียจ เป็นการ์ตูนสี่ช่อง หนึ่งแก๊กจบในหน้าเดียว ตัวละครหลักคือน้องขี้เกียจกับแมวเย้ ลายเส้นดูง่ายสะอาดตา ออกไปในแนวสดใสน่ารัก สลับกับบทความขนาดสั้นสอดแทรกเป็นจังหวะ พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม อ่านเพลินตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย

ปกหลังบรรยายสรรพคุณของการ์ตูนเล่มนี้ไว้ว่า นี่คือ “คู่มือการขี้เกียจให้เกิดประโยชน์จาก ทีปกร วุฒิพิทยามงคล มนุษย์ผู้นั่งแยกประเภทความขี้เกียจในตัว เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และฝึกฝนให้รู้ทัน เพื่อให้เกิดหนทางไปสู่ความขี้เกียจได้อย่างสบายใจ”

ว่ากันว่า ผู้เขียนมักบอกกับคนรอบข้างเสมอๆ ว่า เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจแบบสุดๆ แต่เอาเข้าจริงแทนที่เขาจะใช้ความขี้เกียจเป็นข้ออ้างให้ตัวเองนั่งทอดหุ่ยเผาเวลา สุดท้ายแล้วเขากลับมานั่งพินิจพิเคราะห์แก่นสารของความขี้เกียจ แล้วใช้เป็นวัตถุดิบถ่ายทอดความขี้เกียจนั้นออกมาจนเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มหนากว่า 160 หน้า

จะว่าไป คนเราควรได้รับอนุญาตให้เกียจได้บ้างเป็นบางเวลา แต่ใครบางคนบอกไว้ว่า ความจนมันน่ากลัวยิ่งกว่า จนบางครั้งเราไม่อาจอนุญาตให้ตัวเองขี้เกียจได้นานเกินไป

ดังเช่น ชินธิป เอกก้านตรง นักวาดภาพประกอบที่เกือบจะดังอีกรายหนึ่ง ได้สะท้อนถึงภาวะอันน่าหดหู่นี้จากประสบการณ์ส่วนตัวไว้ว่า

“เป็นประจำเลย รับงานมาเยอะๆ แล้วก็แบบ ไม่อยากทำแล้วโว้ย เหนื่อย แต่ก็ทิ้งไม่ได้ กลัวไม่มีงานเข้าอีก ก็เลยต้องก้มหน้าก้มตาทำไปฮะ ความจนมันน่ากลัว กลัวคือในแง่วินัย ถ้าส่งช้าหรือทิ้งงาน กลัวมันจะเสียเครดิตตัวเอง กลัวเค้าไม่มาจ้างอีก ต่อให้ไม่อยากทำงานแค่ไหน แต่เราก็ใช้พลังของวินัยกับเดดไลน์มาปั่นให้เราทำงานได้อยู่ดี” ชินธิปบอกความลับในใจผ่านบทสัมภาษณ์ใน SALMON LAB

สำหรับเด็กชายวัยเกรียนผู้ได้รับถ่ายทอดยีนขี้เกียจมาจากบิดาอย่างเต็มสายเลือด การ์ตูนเล่มนี้จึงเป็นเสมือนคัมภีร์สู่ความขี้เกียจอย่างมีศิลปะ เพื่อก้าวสู่การเป็นเอตทัคคะแห่งมนุษย์ขี้เกียจโดยสมบูรณ์

บิดาของเด็กน้อยเพียรพร่ำสอนอยู่เสมอว่า จงใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายที่สุด สมถะที่สุด แม้บางครั้งพรมแดนของความเรียบง่ายอาจดูคล้ายจะคาบเกี่ยวกับความขี้เกียจอยู่บ้างก็ตาม

เช้าวันหนึ่งเด็กชายวัยเกรียนตื่นขึ้นมา และถามผู้เป็นพ่อด้วยความสงสัยว่า

“ทำไมตื่นนอนแล้ว เราไม่ต้องพับผ้าห่มกันล่ะพ่อ”

“จะพับทำไม ในเมื่ออีกไม่นานก็ค่ำแล้ว”

“เอ้อ แปลกจริง ทำไมวันนี้พ่อตื่นเช้าจัง ปกติตื่นสายโด่ง”

“ก็นี่วันหยุดไง และไฟเริ่มลนก้นแล้ว ต้องรีบปั่นต้นฉบับชิ้นนี้นี่แหละลูกเอ๊ย”

“————-”

 

#ทีมขี้เกียจ
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียน/วาด
สำนักพิมพ์ แซลมอน

 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า