ไปช้าๆ เห็นใกล้ๆ เข้าใจลึกๆ ประเพณีการเดินทางที่เพิ่งสร้าง ปีที่ 10

สมการเวลา

กลางปี 2553 ผมเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับจักรยานทัวริ่งอย่างจริงจัง เมื่อมีโอกาสกลับมาคิดทบทวนถึงสาเหตุความสนใจ รวมถึงเงื่อนไขเวลาว่าทำไมจึงเป็นช่วงนั้น คำตอบคงมีหลายแบบ แต่หนึ่งในนั้นผมคิดว่ามันเป็นกลไกอัตโนมัติ เป็นความพยายามหาสมดุลให้ตัวเอง สมดุลทางจิตใจและความรู้สึกนึกคิด ไม่เช่นนั้นแล้วมีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะก่อเหตุวิวาทบาดถลุง ทั้งวิวาทกับตนเองและผู้อื่น

เมื่อได้จักรยานสำหรับเดินทางไกลคันแรกในช่วงปลายปีนั้น ผมกับมันทำความรู้จักกันโดยการป่ายปีนขึ้นเขาใหญ่ เส้นทางฝึกหัดสำหรับผู้เริ่มต้นปั่นจักรยานท่องเที่ยวทางไกล ถัดจากนั้นจึงเกิดทริปกรุงเทพฯ-หนองคาย
ปีแรกที่เราเริ่มประเพณีมีสมาชิก 4 คน ปีนี้เหลือสมาชิกรุ่นก่อตั้งร่วมทางเพียง 2 คน อีก 2 คนจำเป็นต้องงดเดินทาง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

สมาชิกอีก 10 กว่าคนของปีนี้ เป็นเพื่อนที่เราร่วมกันสร้างขึ้นระหว่างระยะทาง 10 ปี แน่นอนว่า ระหว่างเส้นทางนี้มีผู้ตกหล่นสูญหายอยู่บ้าง นับเป็นเรื่องธรรมดาของการเดินทางไกล แต่เมื่อบวกลบอย่างซื่อตรงก็ต้องนับว่าเรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพความสัมพันธ์

เมื่อใช้เวลาหายใจบนโลกได้สักพัก เราจะค้นพบว่าห้วงเวลา 1 ทศวรรษไม่เพียงพัดผ่านปานสายลม แต่เมื่อเปลี่ยนตัวเลขนำหน้าอายุจาก 4 เป็น 5 สายลมยิ่งกระพือแรงแปลงเป็นพายุ

มันไม่ใช่เวลายาวนานนักก็จริง แต่เพียงพอที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลง เส้นทางบางช่วงเราเคยผ่านมาแล้วหลายหน พิกัดปลายทางยังคงเป็นที่เดิม แต่ตัวเราเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับตัวเรา ณ ปัจจุบันบางแง่มุมก็ไม่เหมือนเดิม

ผมเคยได้ยินมิตรสหายอาวุโสอย่างน้อยสองคนเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัยและการเดินทางด้วยจักรยาน

คนแรกเปรยว่า – เสียดายที่เพิ่งเริ่มปั่นในวัยเกษียณ เรี่ยวแรงและเวลาที่จะอยู่บนอานจึงเหลืออีกไม่มาก

ชายวัย 60 กลางๆ อีกคนสนทนากับจักรยานทัวริ่งคันแรกด้วยน้ำเสียงเศร้าแต่ตื้นตัน – ทำไมเราเพิ่งรู้จักกัน

พลันเมื่อตระหนักว่าเวลาเป็นของแพง แต่การจะพูดต่อเป็นท่อนสร้อยอาขยานว่า ดังนั้นแล้วเมื่อคิดฝันอะไรให้รีบลงมือทำ…ในความเป็นจริงโจทย์สมการอาจไม่ได้แบนราบขนาดนั้น

มิตรรุ่นน้องผู้ทิ้งเงินเดือนวิศวกรโรงงานเหล็กชั้นนำของโลกเพื่อมาเป็นเจ้าของร้านจักรยาน เคยเล่าว่าก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ทุกๆ ปีจะมีนักจักรยานจากทั่วโลกหมุนเวียนกันมาใช้บริการที่ร้าน เขาสังเกตว่าในจำนวนนักจักรยานเหล่านั้น จะมีคนหนุ่มสาววัยเพิ่งจบไฮสคูลอยู่จำนวนหนึ่ง ปั่นจักรยานข้ามทวีปแรมเดือนแรมปี เพื่อทำความรู้จักโลกที่ไม่เคยเห็น ค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร อยากทำอะไร

สังคมต้นสังกัดคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ไม่ได้เร่งเร้าให้พวกเขาบ้าเรียนหนังสือในห้อง ระหว่างเรียนไฮสคูลพวกเขาถูกปลูกฝังให้ทำงานพาร์ทไทม์ เมื่อเรียนจบจึงมีเงินเก็บเพียงพอที่จะเลือกเดินทางไปดูโลกตามรูปแบบความพึงพอใจ คนหนุ่มสาวบางคนเลือกปั่นจักรยานจากยุโรปไปอิสตันบูล เลียบทะเลดำ ผ่านอาร์เมเนียเข้าอิหร่าน วกขึ้นทาจิกิสถาน วนลงเนปาลสนทนากับหิมาลัย แล้วค่อยไปพาราณสี เจดีย์ชเวดากอง ปั่นวงกลมเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ก่อนไหลไปดูปราสาทนครวัดนครธม จากนั้นค่อยตอบคำถามตัวเองว่าอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยสาขาใด เพื่อทำงานประกอบอาชีพอะไร

หากเบื่อหน่ายที่จะตั้งคำถามว่า สังคมแบบไหนจึงผลิตเงื่อนไขให้พลเมืองมีทางเลือกที่ดีเช่นนี้ ลองเปลี่ยนคำถามใหม่ก็ได้ว่า ระหว่างคนที่ก้มหน้าก้มตาทู่ซี้ทำงาน เพียงเพื่อหวังจะใช้ชีวิตหลังเกษียณตามความฝัน กับคนที่ทำงานด้วยความรักความถนัดตั้งแต่ต้น คนประเภทไหนมีแนวโน้มจะสร้างผลงานที่ดีกว่ากัน คนประเภทไหนน่าจะรู้จักความสุขกว่ากัน

แต่สุดท้ายเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะตั้งคำถามว่า ถ้าอยากได้สังคมที่มีกติกาเช่นนั้นบ้าง เราต้องทำอย่างไร

ม้าบินมังกร

สุภาพบุรุษคนแรกมีชื่อเสียงในวงการว่า ‘คนม้าบิน’ ส่วนคนหลังผู้คนเรียกขานฉายาว่า ‘อาจารย์มังกร’ ทั้งคู่เป็นสมาชิกร่วมทริปประเพณีมายาวนาน จากสมัญญานามคงเดาได้ไม่ยากว่า สุภาพบุรุษทั้งสองคนคือนักจักรยานแข็งแรงชั้นหัวแถว

ปัญหาคือ ปีนี้ทั้งปีคนม้าบินไม่ได้ขึ้นอานจักรยานแม้แต่วันเดียว ส่วนอาจารย์มังกรเพิ่งผ่านการขึ้นเขียงเติมลูกโป่ง 2 ลูกใส่เส้นเลือดหัวใจ

สภาพวันแรกคนม้าบินจึงบ่นพึมพำตำหนิตนเองทั้งวันว่าอ่อนหัด ไม่มีเรี่ยวแรงปั่นได้เหมือนเดิม บางช่วงถึงกับต้องลงจากอานเพื่อจูงรถซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยกระทำ ส่วนอาจารย์มังกรเอาแต่ง่วงเหงาหาวนอนเนื่องจากฤทธิ์ยาที่กระทำกับหัวใจและเคมีในร่างกาย

จะบอกว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา…มันก็คงมีส่วนถูก แต่ต่อให้ไม่ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของถาวร ระหว่างใช้งานสังขารร่างกาย การฝึกฝนและดูแลล้วนมีผลต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า

ผมไม่เคยเห็นทั้งสองคนมีอาการเช่นนี้มาก่อน แต่ก็เอ่ยปากบอกมิตรรุ่นพี่ทั้งสองคนว่า ภายในไม่เกินสามสี่วันพวกพี่จะกลับมาบินได้เหมือนเดิม

ไม่รู้เอาความมั่นใจมาจากไหน แต่หลักฐานคือในการปั่นวันสุดท้าย คนม้าบินใช้เวลาบนอานจักรยานเพียง 4 ชั่วโมง เพื่อเร่งเอาตั๋วรถไฟไปเปลี่ยนที่สถานีจังหวัดหนองคาย ขณะที่คนอื่นๆ ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนอาจารย์มังกรปั่นลิ่วอยู่หัวขบวนตั้งแต่วันที่สองวันที่สามตามคำทำนาย

ปกติเมื่อถึงปลายทางเราจะใช้เวลาอ้อยอิ่งในตัวจังหวัดหนองคาย 2 คืน แต่ปีนี้ขยับวันเดินทางกลับเร็วขึ้น เหตุผลหนึ่งเนื่องจากหลายคนมีธุระ แต่เหตุผลประกอบสำคัญคือไม่สนุกที่จะอยู่ต่อ เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งบาดเจ็บต้องส่งตัวกลับตั้งแต่ครึ่งทางของทริป

เจ้าคุณเกียกกายและอุบัติเหตุลึกลับ

แนวคิดในการเดินทางในช่วงปีหลังๆ ของทริปประเพณีนี้ก็คือ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการปั่นวันละร้อยกว่ากิโลเมตรเหมือนช่วงสามสี่ปีแรก ที่ควรทำคือแบ่งระยะทางต่อวันให้สั้นลงเพื่อเดินทางให้ละเอียดขึ้น…ไปช้าๆ เห็นใกล้ๆ เข้าใจลึกๆ

บ่ายวันนั้นเราควรจะถึงที่พักบ้านผาฮองอย่างพร้อมเพรียงไม่เกินบ่ายสาม แผนคือทำกับข้าวอร่อยๆ ล้อมวงดื่มกินพูดคุยไม่เร่งรีบ เพื่อถอนแค้นเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีก่อน

บ้านผาฮองอยู่ห่างจากตัวอำเภอภูเรือ 11 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเลี้ยวซ้ายไปอำเภอท่าลี่ 6 ปีก่อนเราถึงตัวอำเภอภูเรือตอนมืด แต่ยังฝืนไปต่อเพราะเข้าใจว่าระยะทาง 11 กิโลเมตรไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง แทบทุกครั้งที่เราเผลอคิดว่าอะไรๆ จะง่าย มันก็มักไม่ได้ง่ายแบบนั้น

เราผ่านเส้นทางสายนี้ถึงจุดหมายในสภาพสะบักสะบอม ทั้งหนาวเหน็บ อิดโรย ทางขึ้นเขาเหยียดยาวคดโค้ง ไร้แสงไฟ พวกเราต่อแถวเลื้อยขึ้นเขาชัน แสงไฟหน้ารถจักรยานส่ายวูบซ้ายขวา มองจากระยะไกลเหมือนกิ้งกือเมายาฆ่าแมลง

พ่อใหญ่ผู้เป็นปรมาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาจักรยานถึงขั้นเอ่ยปากครวญครางระหว่างทางว่า – หรือจะเอาชีวิตมาทิ้งแถวนี้เสียแว้ว

ปีนี้ทุกอย่างเหมือนจะดี ถนนตัดใหม่ขยายเป็นสี่เลน ไหล่ทางกว้าง เส้นทางที่เคยเฉียบชัน ลึกลับ ดำมืด เมื่อเจอกันอีกครั้งในตอนฟ้าแจ้งตาสว่าง อะไรที่เคยยากก็กลายเป็นง่าย

ผมกับเพื่อนใหม่ชื่อ Hubert จอดรถหยุดรออยู่หน้าบ้านผาฮอง เพราะเดาว่าถ้าไม่ส่งสัญญาณเรียกกันน่าจะมีบางคนปั่นเลย

คุยสัพเพเหระเริ่มเมื่อยมือ จู่ๆ Hubert ขมวดคิ้ว เพ่งสายตาไปที่ทางโค้งลงเขาห่างจากจุดที่เรารอไม่เกิน 200 เมตร พูดเสียงเครียดว่า “มีคนล้ม” ขาดคำเราทั้งคู่ก็สับน่องพุ่งไปจุดเกิดเหตุโดยมี Hubert ปั่นนำหน้าราวกับขับมอเตอร์ไซค์

ผู้ประสบอุบัติเหตุคือป้าหนุ่ย ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ประสานงาน จัดการดูแลระบบเงินกองกลาง มิตรสหายหลายคนเพิ่งเอ่ยปากตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้ป้าหนุ่ยปั่นอย่างมีพลังวังชานำอยู่หน้าขบวนมาตลอดครึ่งทริป

คนที่ไปถึงแรกๆ ยกจักรยานที่ทับร่างออก ป้าหนุ่ยนอนหงายอยู่บนพงหญ้า ร่างกายไม่ปรากฏบาดแผลฉกรรจ์ เราค่อยๆ สอบถามอาการ ลองให้ขยับแขนขาช้าๆ เจ้าตัวมีสติจดจำทุกคนได้ แต่ระหว่างรอรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 เอาแต่พึมพำย้ำไปย้ำมาว่า…เหมือนกำลังนอนหลับฝันดีแล้วมีคนมาปลุก

นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เราประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนต้องนำส่งโรงพยาบาล ระหว่างพยุงขึ้นรถพยาบาลคนเจ็บมีอาการวิงเวียนบ้านหมุนจนอาเจียน นั่นยิ่งทำให้สีหน้าทุกคนตึงเครียด

รอยแตกของหมวกจักรยานทำให้พอนึกภาพได้ว่าตอนล้มศีรษะกระแทกแรง ร่องรอยแตกหักของตุ๊กตาเป็ดเหลืองเจ้าคุณเกียกกายที่ยึดประดับอยู่กับแฮนเดิลบาร์ ช่วยให้นึกภาพตามได้ว่าเกิดการกระแทกจากด้านหน้า แต่ที่ยังเป็นปริศนาคืออะไรเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ เนื่องจากเจ้าตัวสูญเสียความทรงจำวินาทีนั้นอย่างสิ้นเชิง

แม่ค้าผลไม้ข้างทางผู้เห็นเหตุการณ์ช่วยให้เบาะแสว่าจักรยานไม่ได้ถูกรถอื่นเฉี่ยวชน แต่เหมือนค่อยๆ เซลงข้างทางเอง บริเวณนั้นเป็นทางโค้งเกิดอุบัติเหตุบ่อย มีข้าวของตกหล่นจากอุบัติเหตุครั้งเก่าก่อนปรากฏเป็นซากอนุสรณ์ เราไม่อยากคิดไปถึงเรื่องที่อธิบายไม่ได้ เพราะเชื่อว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสาเหตุที่เราไม่ค่อยเจออุบัติเหตุรุนแรง เนื่องจากทุกคนช่วยกันย้ำเตือนความรอบคอบระมัดระวัง

ข่าวดีอยู่บ้างก็คือ หลังจากตรวจโดยละเอียดไม่พบสิ่งที่น่ากังวล ทว่าคนเจ็บต้องกลับบ้านก่อนเวลา และป้าหนุ่ยยืนยันให้เพื่อนทุกคนเดินทางต่อให้จบทริป

เจ้าของที่พักบ้านผาฮองชื่อเปิ้ล เป็นเพื่อนนักจักรยานของเรา นอกจากจัดเตรียมที่พัก ข้าวปลาอาหารต้อนรับอย่างดีแล้ว ยังช่วยเป็นธุระดูแลคนเจ็บตลอดหลายวัน คำว่า “เดินทางไกลต้องมีเพื่อน” คือสิ่งนี้

Hubert

Hubert เป็นสามีชาวฝรั่งเศสของมาดามวิ นักปั่นหน้าหวานแต่มีรสนิยมเดินทางโหดระห่ำ เหตุที่ต้องเขียนกำกับชื่อเป็นภาษานี้เนื่องจากวิให้ความรู้ว่า การถอดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยให้ตรงเสียงทำได้ยากมาก ใกล้เคียงที่สุดของชื่อนี้คืออูแบร์ (ซึ่งต่อไปเราจะเรียกเขาว่าอูแบร์)

ตอนที่วิแจ้งว่าจะชวนสามีปารีเซียงร่วมเดินทางไปกับพวกเรา คำถามแรกของผมคือ อูแบร์สามารถนอนกลางดินกลางทรายและกินอาหารท้องถิ่นได้ใช่ไหม วิตอบว่า อูแบร์กินเผ็ดได้มากกว่าวิ และชอบทดลองกินอาหารที่ไม่รู้จัก

ในวัย 60 กลางๆ อูแบร์สมเป็นอาร์ติสต์ นักออกแบบ และช่างภาพ รูปลักษณ์ เสื้อผ้า หน้า ผม แว่นตา ท่วงท่าการเคลื่อนไหวของเขาดูดีมีรสนิยมไปเสียทั้งหมด แต่นั่นไม่น่าสนใจเท่ากับเรื่องราวและการแสดงออกอื่นของเขาที่ค่อยๆ คลี่ออกมาให้เห็น

ตอนเริ่มต้นปั่นวันแรก อูแบร์สับรอบขาปั่นเร็วจี๋นำโด่งอยู่หัวขบวนตั้งแต่เช้าจนถึงจุดตั้งแคมป์ตอนเย็น พอถึงเช้าวันที่สองเมื่อผมเห็นเขายังทำแบบเดิม จึงเลียบเคียงเอ่ยถามกับวิว่าอูแบร์เคยปั่นจักรยานติดต่อกันสิบกว่าวันไหม เมื่อวิตอบว่าไม่เคย ครั้งนี้เป็นทริปแรก ผมจึงแนะนำว่าลองไปบอกให้เขาบริหารการใช้กำลังก็จะดี ปั่นเค้นแบบนี้ถึงวันที่สองวันที่สามจะเสี่ยงบาดเจ็บ พอเจ็บแล้วเดี๋ยวไม่สนุก

วันที่สาม วันที่สี่ วันที่ห้า จนกระทั่งถึงวันที่สิบ อูแบร์ยังปั่นด้วยวิธีเดียวกับวันแรก เหมือนเด็กปั่นจักรยานเล่นในสวนสาธารณะ ไม่มีอะไรยากลำบากแม้แต่นิด

“ควงขาหยั่งกะลูกสูบเครื่องยนต์” คนม้าบินผู้ไม่เคยยอมใครง่ายๆ ถึงขั้นเอ่ยปากกลั้วหัวเราะ แสดงความยอมรับนับถือ

วิเฉลยว่าอูแบร์โปรดปรานการว่ายน้ำ และชอบว่ายโต้คลื่นลมตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งนั่นแปลว่าขั้นต่ำสุดต้องมีระบบการหายใจที่ดีมาก ยังไม่นับความแข็งแรง ยืดหยุ่น ความทนทานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเคลื่อนไหว

เสน่ห์น่าสนใจคือเขาสามารถรักษาสมดุลระหว่างการเป็นตัวของตัวเอง กับการเป็นส่วนหนึ่งของคณะ นอกจากกินง่ายอยู่ง่ายไม่สร้างภาระให้ใคร ยังจัดระเบียบการดำรงชีวิตเรียบร้อยรัดกุม ช่วยหยิบจับล้างจานชามของผู้อื่น รวมถึงปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่ตั้งแคมป์ พูดรวมๆ คือมาตรฐานความนิสัยดีสูงกว่าเสียงร่ำลือถึงนิสัยใจคอชาวฝรั่งเศสหลายขุม

วันที่เราไปถึงปลายทางจังหวัดหนองคายอูแบร์เดินมาบอกผมว่าอยากจะมอบวิสกี้ให้พวกเราสักขวด แทนคำขอบคุณที่ดูแลประคับประคองกันมาตลอดเส้นทาง

เมื่อมีสุราดีก็ต้องมีของแกล้ม ผมออกไปหาอาหารท้องถิ่นที่ว่ากันว่ามีเจ้าเดียวครองตลาดทั้งอำเภอเมือง มันคือ ‘โหย่ย’ หรือไส้กรอกเลือดปรุงผสมสมุนไพรนึ่งสุกสูตรชาวเวียด และอีกเมนูทีเด็ดที่เรียกว่า ‘เลือดแปลง’ ปรุงจากเลือดสดๆ ซึ่งเกิดมาผมไม่เคยกล้ากิน แค่อยากให้มิตรสหายได้ลิ้มลอง

อูแบร์เลิกดื่มมานานแล้ว แต่ร่วมจกเลือดแปลงด้วยท่าทีแซบอีหลีเดลิเชียส อย่างจริงจังจริงใจ

วิบอกว่าอูแบร์เที่ยวเมืองไทยมาตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน เคยเป็นช่างภาพนิตยสารเข้าไปถ่ายสารคดีในเขมรยุคกระสุนปืนใหญ่ยังเกลื่อนเมือง ควันสงครามเพิ่งสงบ ลุยเที่ยวอำเภอปาย กินอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือตั้งแต่ยุคที่การท่องเที่ยวไทยยังไม่รู้จักวิธีขายของ เพียงแต่เขาไม่ยอมเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาไทย

พวกเราฟังเรื่องราวของอูแบร์แล้วนึกไปถึงลาลูแบร์ (ซีมง เดอ ลา ลูแบร์) ผู้เขียนบันทึกความเป็นอยู่ของชาวสยามในยุคกรุงศรีอยุธยา ใจความประมาณว่า …ชาวสยามดำเนินชีวิตด้วยความเกียจคร้าน เมื่อพ้นจากงานราชการงานหลวง พวกเขาได้แต่นั่ง เอนหลัง กิน เล่น สูบยาแล้วนอนไปวันๆ

ช่วงสิบกว่าวันที่อูแบร์เดินทางกับพวกเรา บางห้วงเขาอาจนึกอยากเขียนบันทึกว่า…ชาวสยามนิยมเอ่ยถ้อยคำสนทนาไร้สาระ แล้วพากันหัวเราะครื้นเครงเป็นกิจวัตรตลอดวัน โดยหาเหตุหาผลไม่ได้

มารดาและบุตรี

มารดาเป็นหนึ่งในสี่สมาชิกผู้ก่อตั้งทริปประเพณีตั้งแต่ปีแรก ปั่นรอบประเทศมาแล้วหลายรอบ เบื่อขึ้นมาก็จูงรถออกจากมหานครขอนแจ่น ไปปั่นเตร็ดเตร่อยู่แถวจีนแถวเนปาล ตะกายหิมาลัยอยู่ตอนเหนือของอินเดีย ปั่นเดี่ยวตุหรัดตุเหร่อยู่เขตที่สูงเปรู โบลิเวีย ชิลี อาร์เจนตินา

ระหว่างทางกลับจากอเมริกาใต้เริ่มสังเกตว่า ร่างกายบังเกิดโรคาพยาธิ จนกระทั่งได้รับคำยืนยันจากหมอเมื่อถึงเมืองไทย

ประสาคนไม่พร่ำบ่นยี่หระ โรคภัยมาก็ปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต หันมาปลูกผักปลูกหญ้ากินเองที่บ้าน อะไรควรเลี่ยงก็เลี่ยง อะไรควรทำก็ทำ

รับมือเรื่องร้ายเงียบๆ ตามลำพัง

บุตรีใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากมารดาแนะนำว่าหากต้องการชีวิตที่มีอนาคต ก็ไม่ควรจมปลักอยู่ในประเทศที่มีคนบ้าพยายามหมุนเข็มนาฬิกาย้อนหลัง

เมื่อรับรู้สถานการณ์ของแม่ ลูกก็ละวางโอกาสการงาน ปรับรูปแบบทิศทางความคิดฝัน หันมาสบตาความจริง

ความจริงอันเรียบง่ายว่า อะไรคือสิ่งที่รักที่สุด

บินกลับมาอยู่บ้านได้ไม่กี่เดือน อภิมหามารดาก็ชวนบุตรีขี่จักรยาน ไม่ใช่ขี่ตามสวนสาธารณะหัวไร่ปลายนา แต่เป็นการปั่นจักรยานแบกสัมภาระอุปกรณ์ดำรงชีวิตข้ามภูเขาสูงทางภาคเหนือลูกแล้วลูกเล่า จากนั้นก็ไต่ลงมาสมทบกับเพื่อนแม่ที่จุดนัดหมายอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์

คำถามแรกที่บรรดาน้าๆ ไถ่ถามเมื่อพบหน้ามิตรใหม่ผู้มีศักดิ์เป็นหลานก็คือ สนุกไหมกับการปั่นทัวริ่งทริปแรก

หลานสาวตอบด้วยสำเนียงฉะฉานชัดถ้อยชัดคำ – เหนื่อยมากเลยค่ะ สงสัยอยู่ทุกวันว่าทำแบบนี้ทำไม รถราก็มีทำไมไม่ขับ

ภายหลังเสียงหัวเราะ หากใครนึกว่าถ้อยคำนี้เป็นสิ่งเดียวกับอาการร้องของอแง นับเป็นความเข้าใจผิดมหันต์

เมื่อร่างอยู่บนหลังอาน บุตรีปั่นด้วยจังหวะเรียบนิ่ง รอบขาสม่ำเสมอ ปั่นไม่เร็วแต่ไม่หยุด มือที่จับแฮนเดิลบาร์แทบไม่มีการเปลี่ยนท่าตั้งแต่เช้าจรดเย็น จังหวะท่วงทำนองนิ่งเนียนเช่นนี้ยิ่งสำแดงชัดตอนไต่ขึ้นเขา

ถึงจุดตั้งแคมป์จัดการตัวเองภายในระยะเวลารวดเร็ว กางเต็นท์ ทำอาหาร ซักผ้า ล้างภาชนะ เข้านอน ตื่นเช้าต้มกาแฟ เตรียมอาหาร เก็บเต็นท์เสร็จคนแรกๆ เคลียร์สถานที่กลับสู่สภาพเดิมราวกับเมื่อคืนไม่เคยมีใครมาพักค้างอ้างแรม

ระเบียบวิธีปฏิบัติทั้งหมดนี้ถอดแบบมาจากมารดาทุกดีเอ็นเอ

เวลามองภาพมารดาและบุตรีคู่นี้ปั่นเคียงกัน มันจึงมีทั้งข้อสงสัยและข้อไม่ควรสงสัย

ข้อสงสัยมีอยู่ว่า หรือทักษะการปั่นจักรยานทางไกล อาจถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม

ข้อไม่ควรสงสัยคือ เวลาต้องทำอะไรเพื่อผู้เป็นที่รัก มนุษย์มักรีดพลังความสามารถพิเศษออกมาได้เสมอ

ท่านกำลังเข้าสู่ตำบลหล่อโพด

ตลอดระยะเวลา 10 ปีของทริปประเพณี หากไม่มีเครือข่ายพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ตามเส้นทางในแผนเดินทาง เรามักขออาศัยสถานที่ราชการเป็นจุดกางเต็นท์ตั้งแคมป์

แรกๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้สักเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิ รู้สึกเป็นการรบกวนผู้คนโดยไม่จำเป็น มาเที่ยวทั้งทีก็น่าจะวางแผนจองที่พัก เรื่องค่าใช้จ่ายถ้าคิดจะเที่ยวก็ควรเตรียมเอาไว้บ้าง หรือกระทั่งพูดแบบไม่อาย นอนตามรีสอร์ทตามเกสต์เฮาส์สบายกว่าเป็นไหนๆ

แต่สถานการณ์จริงในหลายพิกัดตำบลอย่าว่าแต่รีสอร์ทหรือเกสต์เฮาส์ กระทั่งร้านค้าร้านอาหารให้ฝากท้องเติมเสบียงยังอัตคัด การออกนอกเส้นทางเพื่อไปหาที่พักหลายครั้งเป็นการตัดสินใจที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเพราะสิ้นเปลืองทั้งเวลาและพลังงาน เรื่องนี้จะเข้าใจง่ายขึ้นหากคำนวณอัตราเร็วของจักรยานบรรทุกสัมภาระพะรุงพะรังเคลื่อนที่ด้วยแรงน่องความเร็วเฉลี่ยไม่ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หากให้จัดลำดับหน่วยงานที่เราพึ่งพาได้เสมอมา อันดับหนึ่งคือที่ทำการ อบต. ถัดมาที่สองร่วมคือเทศบาลตำบลและหมวดการทาง ส่วนอุทยานแห่งชาติมีบทบาท หน้าที่ ระเบียบกติกา รับมือผู้มาเยือนชัดเจนอยู่แล้ว

แล้ววัดกับโรงเรียนล่ะ

ข้อนี้พวกเรามองตาโดยที่ไม่เคยเอ่ยคำเป็นข้อตกลงทางการ แต่รู้กันเองว่าหากไม่มีเงื่อนไขพิเศษเรามักหลีกเลี่ยงการตั้งแคมป์ในโรงเรียนและวัด

ที่แรกนั้นคือเกรงใจเด็กนักเรียน ส่วนที่หลังคือเกรงใจพระสงฆ์องค์เจ้า

แล้วทำไมจึงให้ อบต. เป็นอันดับหนึ่งพึ่งพาได้

ตอบจากประสบการณ์ตรง ทุกครั้งที่เข้าไปติดต่อขอใช้สถานที่ค้างแรมเราไม่เคยถูกปฏิเสธ อย่างมากสุดคือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่กล้าตัดสินใจ ต้องประสานงานไปยังนายก อบต. เพื่อขอคำสั่งชี้ขาด ซึ่งก็ไม่เคยมี อบต. ไหนผลักไสให้ไปที่อื่น

ตอบแบบพยายามคิดอ่านวิเคราะห์ มันคงเกี่ยวข้องกับความยึดโยงระหว่างอำนาจกับการสร้างความนิยมความยอมรับ ผู้มีหน้าที่ต้องใช้อำนาจหากไร้การยอมรับปลายทางก็คือหายนะ วิธีสร้างความยอมรับไม่มีอะไรตรงไปตรงกว่าการทำสิ่งถูกต้องเพื่อให้ได้คะแนนนิยม โดยมีความเอื้อเฟื้อดูแลทุกข์สุขเป็นหลักฐานรูปธรรม เรื่องแบบนี้ผู้มีอำนาจระดับตำบลสาธิตความเข้าใจด้วยการปฏิบัติให้เห็น

ปีนี้เราใช้บริการครบทั้งอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อุตรดิตถ์ อบต.ป่าแดง อำเภอชาติตระการ อบต.บ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย อบต.ปากตม อำเภอเชียงคาน และหมวดการทางผาตั้ง อำเภอสังคม

อาจจะเพราะพวกเราดูเป็นนักเดินทางซอมซ่อน่าเวทนา ผู้บังคับบัญชาสูงสุดทุกที่จึงอารีอารอบให้การต้อนรับอย่างกระตือรือร้น สั่งการให้เจ้าหน้าที่ต้อนรับขับสู้ จนเรารู้สึกเกรงใจ

“เอ่อ…แถวนี้พอจะหาซื้อเครื่องดื่มขมๆ เย็นๆ ได้ที่ไหนบ้างครับ” ใครสักคนในกลุ่มพวกเราเลียบๆ เคียงๆ ถามหาพิกัดร้านขายเครื่องดื่มคลายกล้ามเนื้อน่อง

“พี่จะเอาแบบเย็นธรรมดา หรือแบบเย็นเป็นวุ้น เดี๋ยวผมจัดการให้” ผู้ช่วยนายก อบต. หนุ่มขานรับแข็งขัน จากนั้นก็บึ่งปิคอัพออกไปจัดหามาให้ราวกับเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน

ที่พักหมวดการทางผาตั้ง อำเภอสังคม ก็เป็นจุดตั้งแคมป์ที่น่าประทับใจ นอกจากมุมมองชะง่อนผาริมแม่น้ำโขงสวยงามจนน้ำตารื้น อัธยาศัยไมตรีของเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาก็ควรค่าน่าจดจำ

แต่ที่ชนะเลิศในทัศนะส่วนตัวผมก็คือ อบต.บ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย คืนนั้นเรานั่งดื่มกินสนทนาพูดคุยเรื่องไม่เป็นสาระจนดึกดื่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินยิ้มเข้ามาพูดคุยทักทาย ถามไถ่ให้บริการเผื่อมีสิ่งใดตกหล่น ใครสักคนในกลุ่มพวกเราเอ่ยด้วยความเกรงใจปิดท้ายประโยคว่า ต้องรบกวนด้วยนะครับ

คำตอบโคตรเท่คือ – “ไม่มีอะไรรบกวนเลยครับ ที่นี่เป็น อบต.”

มันต้องหล่อหลอมองค์กร ปลูกฝังแนวคิดคนทำงานกันมาแบบไหน เจ้าหน้าที่ระดับเวรยามรักษาความปลอดภัยจึงสามารถเอ่ยถ้อยคำรวบรัด โอ่อ่า สง่าผ่าเผยได้เพียงนี้

ร่องรอยความเสียหาย

ปลายปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกแรกกระหน่ำหนักบีบคั้นชีวิตและสภาพจิตตั้งแต่มีนาคม ร่องรอยความเสียหายปรากฏชัดเจน แม้สถานการณ์ตอนนั้นอยู่ในช่วงคลายตัวเนื่องจากยังไม่เจอการแพร่ระบาดระลอกสอง แต่ย่านท่องเที่ยวเงียบเหงาชวนหดหู่ คนค้าขายเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากแสดงอาการชัดว่ายังไม่สามารถทรงตัวได้

พื้นฐานวิธีการเอาตัวรอดคือ ลดต้นทุน ลดการจ้างงาน ลดราคาที่พัก เพิ่มความเอาใจใส่ลูกค้า

เรามาถึงตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย ในเวลาเกือบเย็นอากาศเริ่มหนาว ทางเลือกมีสองอย่าง หนึ่ง ติดต่อขอพักกับ อบต.โคกงาม ซึ่งเช็คข้อมูลแล้วตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ สถานที่กว้างขวางโอ่อ่า กับอีกทางคือ จากตัวอำเภอด่านซ้ายก่อนถึงตัวตำบลโคกงาม มีป้ายรีสอร์ทภูผาหมอกวัลเลย์ บนป้ายมีกราฟิกลายเส้นจักรยาน ท่าทางเป็นมิตร

ทีมม้าเร็วสำรวจสถานที่แจ้งว่า ค่ากางเต็นท์หลังละ 100 บาท แต่วิวหลักหมื่น คุณภาพตรงปก

ที่นี่เป็นจุดพักที่น่าประทับใจ นอกจากมุมมองจุดกางเต็นท์จะงดงาม มุมมองกว้างขวาง พนักงานดูแลสถานที่วัยคุณลุงคุณป้าแสดงความเอาใจใส่ ดูแลรายละเอียด จัดเตรียมอาหาร เปิดห้องน้ำให้ใช้งานเพิ่ม ให้บริการด้วยอัธยาศัยและมารยาทชั้นดีไม่มีล้นพร่อง

หากเข้าใจไม่ผิด คืนนั้นน่าจะมีคณะเราพักอยู่ในรีสอร์ทเพียงกลุ่มเดียว

รุ่งเช้า ตอนที่เราเคลื่อนขบวนออกจากรีสอร์ท คุณลุงคุณป้าพนักงานออกมายืนส่งยกมือไหว้พวกเราราวกับลูกค้าผู้มีบุญคุณรายใหญ่

แม้จะรู้สึกหดหู่อยู่ลึกๆ แต่ผมอยากจดจำว่าทั้งหมดนี้เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติพื้นฐานของคนที่นี่

ที่พักน่าจดจำอีกแห่งหนึ่งคือ ปากชมริมโรงรีสอร์ท เลยอำเภอเชียงคานไปไม่ไกล เช็คข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้รับการพูดถึงในแง่ดีว่าสะอาดสะอ้าน วิวสวย ราคาไม่แพง และเป็นมิตรกับนักจักรยาน

เมื่อไปถึงสถานที่จริงก็ตรงตามรีวิวเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสภาพความเงียบสงัดของย่านท่องเที่ยวริมโขง รีสอร์ทลดสเกลการให้บริการ ไม่มีแผนกครัว เจ้าของเป็นคนหนุ่มสาวลูกยังเล็กออกมาให้บริการด้วยตัวเอง เมื่อได้รับแจ้งว่าไม่คิดค่ากางเต็นท์ แถมเปิดห้องน้ำให้อาบน้ำอาบท่าฟรี เราจึงอุดหนุนด้วยการเปิดห้องพักจำนวน 3 ห้อง โดยจ่ายค่าบริการก่อนเข้าพัก

คนหนุ่มเจ้าของรีสอร์ทแนะนำร้านอาหารสองสามแห่งให้พวกเราฝากท้องมื้อค่ำ ก่อนจูงมือลูกเมียกลับบ้านพักที่อยู่อีกแห่ง คืนนี้ที่รีสอร์ทจึงมีแต่ผู้เข้าพัก ไม่มีพนักงาน

นี่คือจิ๊กซอว์หนึ่งของบรรยากาศวันหยุดยาวคาบเกี่ยวระหว่างวันที่ 5 ถึง 10 ธันวาคม 2563 ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสให้ผู้คนเดินทางออกจากบ้านเพื่อจับจ่ายท่องเที่ยว ราว 9 เดือนหลังล็อคดาวน์ควบคุมการระบาดระลอกแรก

ช่วงท้ายๆ ของการเดินทาง ข่าวการระบาดระลอกสองก็เริ่มคลี่คลุมพื้นที่ข่าวสาร

ความสุขสัมพัทธ์

เราผ่านค่ำคืนเหน็บหนาวที่ภูผาหมอกวัลเลย์ด้วยการงัดเอาเครื่องกันหนาวทุกชิ้นในกระเป๋าออกมาใช้งาน แดดแรกของวันเปลี่ยนสีท้องฟ้าทึมทึบหลังเหลี่ยมเขาด้านซ้ายกลายเป็นแสงสีทองเรื่อเรือง สิ่งที่ควรทำคือรูดซิปเปิดประตูเต็นท์อย่างระมัดระวัง หากไม่อยากสะดุ้งด้วยอุณหภูมิน้ำค้างที่เกาะเคลือบอยู่ทั่วฟลายชีท

เช้าวันนี้เราไม่ต้องใช้เตาสนามเพื่อต้มกาแฟ คุณลุงคุณป้าพนักงานรีสอร์ทเตรียมกาต้มน้ำร้อนพร้อมอาหารเช้าไว้เสร็จสรรพ

ยกแก้วกาแฟขึ้นมาจิบแกล้มอากาศป่าเขายามเช้า ทอดสายตาไปจุดที่สันเขาชนกับขอบฟ้า พลันบังเกิดเสียงทักจากด้านหลัง

“บักหล่า เจ้าอย่ายืนบังแดดเช้าของข้อย”

เจ้าของเสียงคือป้าหน่องอภิมหามารดาผู้พ่วงพาบุตรีมาสัมผัสโลกความสุขของแม่ ผมหัวเราะแทบลำสักกาแฟ

“เอื้อยพูดจาราวกับชาวกรีก เคยได้ยินบ่ จักรพรรดิกรีกไปเจอนักปรัชญานอนแอะแสะอยู่ในถังข้างทางเดิน บังเกิดความเวทนา จึงเอ่ยถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม นักปรัชญาตอบว่ามี…คือท่านช่วยขยับไปให้ห่างร่องแข้งข้าหน่อย อย่ามาเที่ยวยืนบังแดดอุ่นของกู”

“ไดโอจินิสพูดกับอเล็กซานเดอร์มหาราช” ป้าหน่องทวนความรู้ในฐานะอดีตครูบาอาจารย์ แล้วหัวเราะคิกคัก

ไม่ต้องถึงขั้นละทิ้งทุกสิ่งแล้วใช้ชีวิตแบบลัทธิ Cynic แต่การเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานช่วยให้เข้าใจความสุขความพึงพอใจของมนุษย์ว่า ส่วนใหญ่แล้วความสุขเป็นสิ่งสัมพัทธ์ กล่าวคือมันไม่ได้สุขสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง แต่แปรผันขึ้นลงตามองค์ประกอบแวดล้อม ณ จุดที่เราอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ปั่นจักรยานกลางแดดร้อนๆ ความสุขจะลดขนาดเหลือขีดสมถะแค่การได้หยุดพักใต้ร่มไม้ใหญ่จิบน้ำสักสองสามอึก ซึ่งเราจะไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกนี้ หากเดินทางด้วยวิธีอื่น

หลายปีก่อน ผมเคยภาคภูมิใจว่าการพกยางในจักรยานเสือหมอบเส้นเล็กๆ พร้อมแหวนรัดหัวก๊อกน้ำ เป็นสิ่งช่วยให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้นลิบลับ เพราะถึงเวลาคับขันไม่ต้องไปตักน้ำรดโถส้วมขึ้นมาอาบ แต่ปีนี้คนม้าบิน แฮนดีแมนผู้เป็นเอตทัคคะเชิงช่าง วิวัฒนาการไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มหัวฝักบัวอาบน้ำเข้ากับสายยาง หัวฝักบัวตามร้านขายทุกอย่าง 20 บาท เลือกชนิดที่มีมุ้งลวดเพิ่มฟองอากาศนุ่มนวลในฝอยน้ำ ช่วยให้การอาบน้ำตามห้องส้วมสถานที่ราชการลักซ์ชัวรีขึ้นมาทันตาเห็น

อีกตัวอย่างที่ชัดคือความสุขของ คุณพี่กฤช เหลือลมัย

ตั้งแต่ปั่นทริปประเพณีด้วยกันมา เชฟกฤชออกปากว่าปีนี้เป็นปีที่ได้ทำอาหารมากวันที่สุด สาสมความตั้งใจที่สู้อุตส่าห์แบกอุปกรณ์ทำครัวปุเลงๆ ไปกับจักรยาน

ไม่มีใครสงสัยว่าเชฟกฤชมีความสุขกับการทำอาหารหรือไม่ เพราะทุกอย่างมันกลมกลืนเป็นธรรมชาติไปเสียทั้งหมด ตั้งแต่การสังเกตสังกาภูมิประเทศ สายตาและความรู้ในการจำแนกแยกแยะพืชพันธุ์ข้างทางว่าอันไหนใช้ทำอะไรกินได้ จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ จัดการวัตถุดิบที่เก็บได้ตามรายทางธรรมชาติ ผนวกเข้ากับวัตถุดิบท้องถิ่นที่แวะซื้อตามตลาดร้านชาวบ้าน

นอกเหนือจากความรู้ ความช่างคิด ช่างทดลอง ในทัศนะผมแล้วพรที่เชฟกฤชได้รับจากเทพเจ้าแห่งการครัวโดยแท้คือสิ่งที่เรียกว่ารายละเอียดรสมือ คือต่อให้รู้จักทุกวัตถุดิบ อ่านตำราเป็นร้อยเล่ม เข้าใจไวยากรณ์ของเครื่องเครา แต่ถ้าขาดรสมือขาดความพอเหมาะพอเจาะ ผลลัพธ์อย่างมากก็แค่พอกินได้ แต่จะไม่ถึงขั้นอร่อย

ทุกเมนูที่เรามีโอกาสลิ้มลองตลอดทริป ไม่มีจานไหนไม่อร่อย

เรื่องแบบนี้ถ้าเอ่ยปากชมมากๆ ท่านเชฟก็มักจะทำท่าหัวเราะเจ้าเล่ห์หึหึ ตอบว่า “บางเมนูโผมก็เพิ่งเคยทำครั้งแรกในชีวิตเหมือนกันแหละคร้าบ อาศัยโม้ๆ เพิ่มเข้าไปให้มันอร่อยขึ้น บางเมนูทำเสร็จดูคนกินแล้วก็ลุ้นอยู่ว่าคืนนี้เขาจะขรี้แตกกันไหม”

มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าเพื่อนอีกหลายคนก็น่าจะสังเกตเห็นเหมือนกัน นั่นคือหลังจากปรุงอาหารจัดวางสำรับสวยงามเสร็จสรรพ ท่านเชฟไพร่เทวดามักจะไม่ค่อยกินจริงจัง อย่างมากก็ตอดๆ เล็มๆ แต่จะรอดูทุกคนกินกันจนอิ่มหนำถ้วนหน้า เริ่มเก็บจานชามไปล้าง ถึงตอนนั้นท่านเชฟจึงค่อยๆ คดข้าวใส่จานตัวเองแล้วกวาดกับข้าวเหลือๆ จับโน่นมาผสมนี่ กินปิดท้ายพลางส่งเสียงฮึมฮัมแสดงความสุข

ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของการเสียสละ อุทิศตนเพื่อผู้อื่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นวิธีเสพสุขรูปแบบหนึ่ง สุขแบบสัมพัทธ์

โดยลำพัง

เราเดินทางถึงจังหวัดหนองคายในวันและเดือนเดียวกันกับวันที่แม่ผมตายเมื่อ 3 ปีก่อน

ทุกครั้งที่การเดินทางเข้าใกล้จุดหมายปลายทาง ผมมักเกิดอาการนิ่งเงียบ พูดจากับผู้อื่นน้อยลง ต้องการอยู่ตามลำพัง อาการนี้เกิดขึ้นและจู่โจมอย่างเงียบงัน ปีแรกๆ ยังไม่ทันตระหนักรู้ตัวด้วยซ้ำ

วันที่เราถึงอำเภอปากชม หลังจากจัดการสัมภาระเข้าที่พักปากชมริมโขงรีสอร์ทเรียบร้อยแล้ว ผมเดินออกมาหามุมนั่งเงียบๆ ต่อหน้าโค้งแม่น้ำโขงช่วงก่อนตะวันตกดิน ระหว่างนาทีที่ฟ้าเปลี่ยนสี ผิวน้ำโขงคดโค้งอาบกลืนแสงสุดท้าย ภาพจำวัยเยาว์ก็ผุดขึ้นจากตะกอนเบื้องลึก

ความรู้สมัยใหม่บอกว่า ความเจ็บปวดในวัยเยาว์จะช่วยให้เราเกิดแรงขับดันพิเศษ แต่ไม่เคยมีใครบอกว่า แรงขับดันพิเศษที่ได้มานั้นคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับความเจ็บปวดในช่วงชีวิตที่ยังไม่โตเต็มวัย

ห้วงเวลาที่ผืนน้ำโขงและแผ่นฟ้าที่แผ่คลุมสองประเทศเปลี่ยนสีจากเงินยวงเป็นส้มประกายสุกปลั่ง กระทั่งเริ่มมืดคล้ำเหลือเพียงแสงสีม่วงหม่น หากเป็นเมื่อ 10-20 ปีก่อนผมคงพลุ่งพล่านทุรนทุรายเรียกร้องให้ใครสักคนเดินเข้ามาดูภาพนี้ด้วยกัน จากนั้นก็คาดหวังว่าเมื่ออยู่ในเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน มองเห็นภาพเดียวกัน แล้วจะต้องรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน

ต้องใช้ชีวิตพักใหญ่จึงสามารถบอกตนเองอย่างซื่อตรงต่อถ้อยคำทุกพยางค์ว่า สาระสำคัญส่วนใหญ่ของชีวิตเป็นเรื่องโดยลำพัง เกิดลำพัง ตายลำพัง ทุกข์สุขนั้นเกี่ยวพันกับผู้อื่นแน่ แต่วิธีแบกรับจัดการล้วนเป็นเรื่องโดยลำพัง

มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คนปั่นจักรยานทางไกลและชอบไต่ขึ้นภูเขารับรู้เป็นกฎพื้นฐาน นั่นก็คือ เส้นทางป่ายปีนขึ้นเขาสูงชันนั้นฝืนแรงโน้มถ่วงอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ภูเขาบางลูกต้องรีดเค้นกำลังขา กำหนดวิธีหายใจ สังเกตเสียงเต้นของหัวใจไม่ให้ออกแรงเกินกำลัง พร้อมๆ กับกระตุ้น หลอกล่อ ปลอบประโลมจิตใจตนเองและเพื่อนร่วมทางครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะไปถึง และไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึง

นั่นเป็นเพียงการเอาชนะแรงโน้มถ่วงและปลุกปลอบจิตใจไม่ให้ยอมแพ้ง่ายๆ แต่อันตรายที่สุดของการปั่นข้ามภูเขาอยู่ที่ช่วงขาลง เหตุร้ายแรงและความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะไหลลงจากที่สูง

กฎข้อนี้เป็นจริงทุกกรณี ไม่ว่าจะใช้กับเอเวอเรสต์หรือเนินดินในสวนหย่อม ไม่ว่าจะใช้กับภูเขาตรงตามตัวอักษรหรือขุนเขาในเชิงความเปรียบ

เรื่องเหล่านี้พอจะบอกเล่าให้ฟังได้ แต่ปฏิบัติแทนไม่ได้ ทุกคนต่างต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง

คนวัย 50 เป็นวัยที่ต้องเริ่มหันหลังกลับไปมองเส้นทางที่ผ่านมา ไม่ใช่เพื่อหาเรื่องสรรเสริญเยินยอสร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเอง แต่เพื่อดูให้เห็นชัดว่ามีใครเดินตามหลังขึ้นมาบ้าง พวกเขาได้ประโยชน์จากรอยทางที่เราผ่านมาก่อนมากน้อยประการใด อย่างไรก็ดี อย่าได้เที่ยวไปทึกทักว่าคนข้างหลังจะต้องเดินตามรอยตีนเราเสมอไป ไม่มีใครสลักสำคัญขนาดนั้น

หันกลับมามองทางเบื้องหน้าจะพบว่ายังมีภูเขาให้ปีนป่าย รูปแบบวิธีไต่ขึ้นเขาย่อมไม่เหมือนตอนเป็นหนุ่มสาวหรอก แต่น่าสนุกกว่าหันหลังกลับแล้วยอมไหลลงที่ต่ำแน่ๆ

แม้ว่าจะต้องไปต่อโดยลำพัง

Author

อธิคม คุณาวุฒิ
เริ่มต้นชีวิตคนทำหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รับหน้าที่บรรณาธิการครั้งแรกปี 2543 ปี 2549 ก่อตั้งนิตยสาร WAY รับหน้าที่บริหารจัดการควบคุมทิศทางองค์กรเป็นงานหลัก ให้คำปรึกษาหารือ ปัดเป่าทุกข์โศก แก้ไขปัญหาชีวิต อกหัก รักคุด ให้พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เป็นงานอดิเรก มีงานเขียนรวมเล่มออกมาแล้ว 8 เล่ม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ เป็นผลงานเล่มล่าสุดเมื่อปี 2559

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า