ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ดีอีเอส) โต้สื่อ-นักวิชาการ วอนอย่าเชื่อเฟคนิวส์ ยืนยันผันน้ำยวม 7.1 หมื่นล้านคุ้มค่า แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้จริง

วันนี้ (20 กันยายน 2564) เวลา 10.00 น. เว็บไซต์ Anti-Fake News Center Thailand – ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เผยแพร่บทความโดยมีสาระสำคัญว่า 

“ตามที่มีการนำเสนอข่าวสารในประเด็นเรื่อง โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ใช้เวลาสร้าง 4 ปี งบอาจจะบานปลาย และได้ประโยชน์ไม่คุ้มเสีย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

“โครงการผันน้ำยวม เป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูอีกครั้งทั้งจากภาคประชาชนและนักวิชาการหลายฝ่าย หลังการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้ลงมติ ‘เห็นชอบ’ ต่อรายงานเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป” 

เว็บไซต์ดังกล่าว ระบุถึงการบิดเบือนข้อมูล ‘โครงการน้ำยวม’ ใน 3 ประเด็นด้วยกันคือ หนึ่ง-ระยะเวลาการก่อสร้าง สอง-ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง และ สาม-ความคุ้มค่าของโครงการ

ประเด็นแรก บทความชิ้นนี้ได้กล่าวว่า “กรมชลประทาน ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการดําเนินการก่อสร้างไว้ 4 ปี เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงได้กําหนดระยะเวลาในการก่อสร้างไว้ 7 ปี ซึ่งหากอ้างอิงตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 3) จะพบว่า 7 ปี เป็นเพียงการประเมินระยะเวลาในการก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาเตรียมการไปด้วย โครงการนี้จะใช้เวลาอย่างต่ำ 9 ปี จึงจะเสร็จสิ้นพร้อมใช้”

ประเด็นที่สอง กรมชลประทานได้ชี้แจงในประเด็นที่ว่า งบ 70,000 ล้านบาทนั้น เป็นผลการคํานวณเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันค่าวัสดุก่อสร้างปรับราคาขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนี้ 

” ในการคํานวณค่าลงทุน ได้มีการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ ที่อัตราคิดลดร้อยละ 9 ในกรณีหากโครงการก่อสร้างล่าช้า 3 ปี พบว่า โครงการมีอัตราผลตอบแทน (EIRR) เท่ากับร้อยละ 11.43 ดังนั้น จากผลการวิเคราะห์โครงการโดยใช้ข้อมูล ณ ปีที่ศึกษา ซึ่งผ่านมา 3 ปีแล้ว ได้คิดครอบคลุมเผื่อราคาของวัสดุต่างๆ ในอนาคตไว้แล้ว และยังคงมีค่า EIRR มากกว่าเกณฑ์ความเหมาะสมที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กําหนดไว้สําหรับการลงทุนในโครงการภาครัฐ”

และประเด็นที่สาม จากข้อถกเถียงของสาธารณชนและนักวิชาการหลายฝ่ายที่มองว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่า และสิ่งที่ประเทศได้นั้นไม่คุ้มกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เว็บไซต์ดังกล่าวได้อ้างถึงคำชี้แจงของกรมชลประทานว่า 

“คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติให้กรมชลประทานดําเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บเขื่อนภูมิพลจริง เนื่องจากเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมในปัจจุบัน มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภาคประชาชน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการที่มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งโครงการฯ นี้จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้มากขึ้น ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและในภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศต่างๆ ไว้แล้วตามข้อเสนอแนะของคณะ คชก. ที่ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้การดําเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”

เว็บไซต์ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังพยายามชี้ให้เห็นว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการผันน้ำยวมทั้งจากประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการหลายฝ่ายนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’ แต่อย่างใด 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า