บาดแผลโขง-ชี-มูล: 22 ปี ปัญหาเขื่อนลุ่มน้ำชี บ่ไปไสมาไส

ร้อยเอ็ด – 26 กันยายน 2560 ตัวแทนชาวบ้านชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด กว่า 100 คน เดินทางเข้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ถึง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-เขื่อนพนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี เพื่อให้เปิดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ อย่างเร่งด่วน

นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 35/2558 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่องแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างได้ติดตามการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่จนถึงวันนี้กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

นายจันทา จันทราทอง ชาวบ้านดอนแก้ว ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่า สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบริหารจัดการน้ำล้มเหลว ทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรมานานกว่าสองเดือนแล้ว การเรียกร้องของชาวบ้านก็ทำตามโครงสร้างที่มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 แต่โครงสร้างที่ว่ากลับไม่ทำงาน ตัวแทนชาวบ้านจึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือและทวงสัญญาถีงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องเป็นสิทธิของชาวบ้านเพราะเป็นปัญหานี้เรื้อรังมายาวนาน ซึ่งตนมองว่าปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 38/2558 แม้ที่ผ่านมามีการดำเนินประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ซึ่งในที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมาอีกสี่ชุด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอื่นใดหลังจากนั้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ มองว่ารัฐจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเวลาได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ประกอบกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีโดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธรต้องเจอปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนานกว่าสองเดือนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ จึงต้องยื่นหนังสือเพื่อให้มีการเปิดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ อย่างเร่งด่วน และหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางกลุ่มชาวบ้านจะเดินทางเข้าไปเยี่ยมท่านรัฐมนตรีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเร็ววันนี้

หลังยื่นหนังสือซึ่งมีนายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้มารับ ได้มีการเปิดห้องประชุมเพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดขึ้นไปนำเสนอข้อมูลแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดมีข้อสรุปสองแนวทางคือ จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และจะให้ชลประทานเปิดประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ภายใน 15 วัน

สำหรับปัญหานี้นับเป็นบาดแผลของโครงการโขง-ชี-มูล ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 ที่ผ่านมามีการเรียกร้องเพื่อให้แก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน ก่อนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขครั้งแรกในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะกรรมการอีกหลายชุดเรื่อยมาแทบทุกรัฐบาลแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหา

สำหรับพื้นที่ที่ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวยื่นหนังสือในวันนี้ได้พบความผิดปกติหลังจากมีการสร้างเขื่อนในพื้นที่แล้วทำให้เกิดน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2545 จากเดิมบริเวณลุ่มน้ำชีจะมีน้ำท่วมเพียง 1-2 สัปดาห์ ชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำสระหัวข้าว’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ปุ๋ยธรรมชาติพัดพาตะกอนมากับน้ำแล้วมาเกาะกับต้นข้าวทำให้เกิดการหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้สมบูรณ์เจริญเติบโต แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนแล้วพื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญน้ำท่วมนานถึง 2-3 เดือน และสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรมากว่าทศวรรษแล้ว

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า