ภาพถ่ายและเรื่องเล่าของ เริงฤทธิ์ คงเมือง เกิดอะไรขึ้นในวันที่เขื่อนแตกในลาว

เริงฤทธิ์ คงเมือง เป็นช่างภาพสารคดี วันที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศลาวแตก เขาและเพื่อนช่างภาพกลุ่ม 10FOTOS เดินทางไปที่นั่นด้วยเหตุผลด้านหนึ่งคือการเป็นช่างภาพอาชีพ อีกด้านคือการนำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่มนุษย์และคมเลนส์จะสามารถทำหน้าที่ได้

ความสูญเสียที่ยากจะประเมินค่า หลายพันครัวเรือนได้รับผลกระทบ บ้านที่เคยมีอยู่มลายสิ้นเพียงชั่วพริบตา ทรัพย์สินหายไปกับน้ำ ขณะที่หลายชีวิตจบลงใต้โคลนตม บ้างยังหาร่างไม่พบ แผ่นดินที่เคยอยู่อาศัยกลายเป็นสุสานเซ่นให้กับนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย

เริงฤทธิ์ เข้าไปยังหมู่บ้านท่าแสงจันและบ้านหินลาด ในเมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ประเทศลาว โดยมีชาวบ้านในพื้นที่พาเดินเท้าลุยโคลนลึกครึ่งขาไปยังบ้านของพวกเขา ‘บ้าน’ ที่เมื่อก่อนก็ยังอยู่ดีมีสุข

“ที่นี่เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมตั้งอยู่กลางหุบเขา มีแม่น้ำไหลผ่าน มองไปที่ภูเขาจะเห็นหน้าผา มีน้ำตกไหลลงมา หากจะเดินทางไปเมืองสะหนามไซก็จะมีถนนเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเวลาปกติที่นี่น่าจะสวยงามมาก”

บ้านท่าแสงจัน กับบ้านหินลาดอยู่ติดกัน อีกฟากของหมู่บ้านเป็นทุ่งนา มีต้นไม้น้อยใหญ่ปลูกสลับแซมกันไป นั่นคือปากคำของชาวบ้านผู้นำทาง แต่เพียงชั่วข้ามคืนของเหตุการณ์เขื่อนแตก น้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรก็ลบความทรงจำทุกอย่างทิ้งราวกับความฝันนั้นไม่มีค่าและไม่เคยมีอยู่จริง

“เราพยายามมองหามันก็ไม่เห็นเป็นทุ่งนา ไม่เห็นความเป็นหมู่บ้านแล้ว มีแต่ทรายและดินโคลนเต็มไปหมด ต้นหมาก ต้นมะพร้าว ต้นไม้น้อยใหญ่ ล้มระเนระนาดไปหมด เดินต่อไปสักพักถึงเห็นบ้านไม่กี่หลังที่เหลืออยู่ตรงโค้งน้ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเป็นโค้งทำให้น้ำไหลไม่แรงหากเทียบกับทางตรง จึงเห็นบ้านเรือนเหลืออยู่รวมกัน 2 หมู่บ้านไม่น่าจะเกิน 10 หลัง แล้วก็เหลือโบสถ์กับศาลาวัด ชาวบ้านบอกว่าวันนั้นพระหนีขึ้นหลังคาโบสถ์ บนนั้นพระไม่มีจีวรนุ่งห่มและต้องใช้ชุดของชาวบ้านแทน”

ย้อนเหตุการณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 มีการตรวจพบรอยร้าวบนตัวเขื่อนตั้งแต่เวลา 21.00 น. แต่ไม่สามารถซ่อมแซมได้เนื่องจากฝนตกหนักตลอดเวลา จึงมีการแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงให้ชาวบ้านเตรียมตัวอพยพ เช้ามืดของวันถัดมาเจ้าหน้าที่ตัดสินใจระบายน้ำออกมาเพื่อลดระดับน้ำในเขื่อน แต่เมื่อสถานการณ์ดูท่าควบคุมไม่ได้จึงมีการประกาศให้อพยพชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน และเย็นวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ก็มีการยืนยันว่าเขื่อนแตกแน่นอนแล้ว

แต่คำบอกเล่าของ ‘อานน’ ครูชาวลาวที่เล่าเรื่องคืนนั้นให้เริงฤทธิ์ฟังคือ การประกาศแจ้งเตือนเมื่อราว 18.00 น. เป็นเพียงการบอกให้เก็บของขึ้นที่สูง ระวังน้ำท่วม เขาจึงเก็บข้าวของขึ้นบนหลังตู้หรือเตียงเท่านั้น และเนื่องจากหมู่บ้านแถบนี้อยู่กับภาวะน้ำล้นตลิ่งยามหน้าฝนมาเนิ่นนาน จึงไม่ได้เตรียมการมากไปกว่านี้ กระทั่งมีการแจ้งเตือนว่าเขื่อนแตกในเวลาต่อมา ซึ่งกระชั้นเกินกว่าจะทำอะไรได้มากกว่ารักษาชีวิต

“อานนเป็นครูหนุ่มมีลูก 6 เดือน ตอนได้ยินประกาศตอน 6 โมงเย็นอานนก็เก็บของ แต่เป็นการเก็บแบบไม่รู้ว่าจะมีเขื่อนไหนแตก เขาไม่ได้บอกว่าเขื่อนจะแตก เขาบอกแต่เพียงว่าให้เตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม ให้เก็บของขึ้นที่สูง เท่านี้เองที่ชาวบ้านรู้ พอเก็บของเสร็จก็นอนกันตั้งแต่ทุ่มนึงเพราะเหนื่อยมากแล้ว ครอบครัวอื่นก็ทำแบบนี้เหมือนกัน บางครอบครัวก็นั่งดูทีวีอยู่ ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากกว่านี้ มีเพียงยกข้าวของขึ้นที่สูงกับเตรียมไฟฉายไว้เท่านั้น มาตื่นอีกครั้งก็เพราะรู้สึกว่าน้ำเปียกหลัง จึงเริ่มปลุกกันหนีเอาชีวิตรอด”

“เมียเอาคุถังคว่ำลงเพื่อใช้เป็นทุ่นลอยน้ำ น้องเมียก็เกาะไปกับเอวของพี่สาว อานนเอาลูกวัย 6 เดือนใส่ถังสีแล้วลอยไปด้วยกันทั้ง 4 คน นั่นคือทั้งหมดของครอบครัวอานน ออกไปจากบ้านอีกนิดเดียวคุถังที่เกาะลอยคอไปก็คว่ำอีก โชคดีที่ไปคว้าได้ถังฉีดยา จึงเกาะแล้วลอยคอต่อไปกระทั่งไปติดต้นไทร เลยเกาะไว้แล้วปีนขึ้นไปพักอยู่บนนั้นทั้งคืน ลูกก็กินนมอยู่บนนั้นกระทั่งเช้า กว่าหน่วยกู้ภัยจะมาถึงแล้วช่วยลงมาได้ก็ยุ่งยาก เพราะอาการเวียนหัวจากความเหนื่อยอ่อนที่ไม่ได้นอนทั้งคืน

“ในคืนนั้นพวกเขาทำได้เพียงนั่งดูแสงไฟที่ติดหัวชาวบ้านลอยผ่านหน้าไปทีละคนๆ ใครติดอยู่บนต้นไม้ก็ทั้งร้องไห้ทั้งเรียกหากันระงม บรรยากาศสุดโกลาหล บางคนเกาะขอนไม้ผุๆ ลอยพยุงตัวเองไปจนถึงฝั่ง บางคนเตรียมเรือไว้แต่สตาร์ทไม่ติด ก็กระโดดลงจากเรือแล้วจูงเรือวิ่งเลยก็มี

“บางครอบครัวไม่รู้จะออกไปอย่างไรก็ขึ้นไปบนขื่อบ้านแล้วกระทุ้งหลังคาออกจนสังกะสีบาดขาแล้วก็ขึ้นไปอยู่บนนั้นทั้งคืน ขณะที่บางคนสติแตก แม้จะอยู่บนหลังคาแล้วแต่ด้วยความแรงของน้ำก็คิดว่าบ้านจะไม่สามารถทรงตัวต้านน้ำได้ เลยกระโดดลงจากหลังคาแล้วพลัดหายไปต่อหน้า”

แทบไม่เหลืออะไรติดตัวเลย พูดให้ชัดกว่านั้นคือชาวบ้านนับพันมีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวเท่านั้นที่ห่อหุ้มชีวิตให้รอดจากเขื่อนแตก นี่คือคำบอกเล่าของเริงฤทธิ์ คงเมือง ซึ่งรับฟังชาวบ้านขณะลั่นไกชัตเตอร์

การเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยในวันที่ 26-29 กรกฎาคม และ 4-7 สิงหาคม 2561 ชาวบ้านที่เดินนำหน้าเขาชื่อว่าอ้ายเตี้ย ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์เป็นฉากๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น หลังมวลน้ำมหาศาลสงบลง ชาวบ้านบางคนเข้าไปยังพื้นที่ที่เคยอาศัย บ้างเดินวนอยู่แถวนั้น 2-3 วัน เพียงเพื่อจะหาว่าบ้านของตนเองเคยตั้งอยู่ตรงไหน บางคนที่ยังเหลือบ้านอยู่ต้องขุดทรายและโคลนตมออกจากบ้าน และระหว่างเล่าเรื่องคนอื่นอ้ายเตี้ยก็หยุดเล่าเพราะฉากต่อไปคือบ้านของตนเอง

“แกก็ไปเจอแค่ฐานบันไดบ้านของตัวเอง พอได้เห็นแบบนั้นจากที่อธิบายเล่าเหตุการณ์มาตลอดทางก็นิ่งเงียบไปเลย เลิกเล่าเหลือเพียงน้ำตาคลอ เดินอ้อมวนไปมาเพื่อหาของที่เหลือแล้วก็ไปเจอแค่เสื้อยืดตัวเดียว เขาดึงเอาเสื้อยืดจมโคลนมาล้างน้ำเก็บไว้”

แม้นี่ไม่ใช่เรื่องของโชค แต่ในร้ายก็พอมีดีอยู่บ้าง เพราะครอบครัวของอ้ายเตี้ยยังมีชีวิตรอดทุกคน

ชาวบ้านหลายคนบอกกับเริงฤทธิ์ว่า นอกจากการแจ้งเตือนที่มีปัญหาแล้ว พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีการสร้างเขื่อนที่นี่ คำยืนยันเช่นนี้ไม่ได้มาจากคนเดียว แต่การพูดคุยระหว่างทางกับหลายชีวิตยืนยันตรงกัน ระหว่างมือลั่นชัตเตอร์ หูรับฟังเรื่องราว หัวใจบันทึกความรู้สึก

“ตอนบันทึกภาพมันรู้สึกทดท้อเหมือนกันนะ เพราะแต่เดิมเขาก็คงมีความสุขกัน ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนที่นี่ ชาวบ้านหินลาดกับบ้านท่าแสงจันบอกแบบนี้ พอไปศูนย์พักพิงที่สะหนามไซ ชาวบ้านก็พูดในทำนองเดียวกัน คือไม่รู้เลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ชาวบ้านพูดแบบนี้ก็แสดงว่า 6 หมู่บ้านตลอดลำน้ำที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกก็ไม่น่าจะมีใครรู้เรื่องเลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนในช่วงก่อนหน้านี้”

“ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างของการละเมิดสิทธิชาวบ้านจากนโยบายรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิตั้งแต่ต้นอันเนื่องมาจากการปิดหูปิดตาชาวบ้านเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ผมก็ไม่อยากพูดอะไรมากกว่านี้เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศเขา”

นี่คือเรื่องเล่าของเริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพสารคดี ส่วนที่เหลือต่อจากนี้เป็นภาพจากการบันทึกระหว่างเข้าไปสำรวจและนำสิ่งของเล็กน้อยไปช่วยเพื่อนที่ประสบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต

อ้ายเตี้ย ชาวบ้านผู้ประสบภัยเขื่อนแตกบ้านท่าแสงจัน กลับเข้าพื้นที่เกิดเหตุเพื่อเก็บข้าวของที่ถูกน้ำพัดกระจัดกระจาย
ที่ศูนย์พักพิงฯ บ้านโคกก่อง สะหนามไซ สองพ่อลูกช่วยกันแบกข้าวของบริจาคกับเต็นท์พัก ในขณะฝนที่ตกต่อเนื่องและน้ำที่เริ่มเข้าท่วมที่พักกำลังกลายเป็นปัญหาใหม่
ผู้ประสบภัยสองแม่ลูกนั่งเหม่อขณะนึ่งข้าวเหนียว หลังเหตุร้ายผ่านไปไม่นานมีผู้ประสบภัยบางรายมีความเครียดอย่างหนักจนต้องเข้าพบจิตแพทย์
ที่ค่ายผู้พักพิงเด็กหญิงสีหน้าเศร้าสร้อยหลังต้องออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมหนักมาอาศัยในศูนย์ฯ ที่ค่อนข้างแออัด
เด็กๆ ช่วยกันรองน้ำฝนที่หยดลงมาจากอาคารโรงเรียนบ้านตะม้อหยอด ที่อาศัยชั่วคราวของผู้ประสบภัยหลายสิบครอบครัว
แม่หญิงเชื้อสายเวียดนาม เข้าเก็บรื้อข้าวของในร้านของชำที่เต็มไปด้วยโคลนตม
ผู้ประสบภัยทุกเพศวัยออกันรอรับของบริจาคที่สะหนามไซ อัตตะปือ ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของแทบทุกคนคือเสื้อผ้าที่ติดตัวคนละหนึ่งชุด
ญาติผู้เสียชีวิตเข้าไหว้สักการะศพที่ถูกค้นพบใหม่แทบทุกวัน โดยในจำนวนนั้นมีเด็กชายวัยแปดขวบที่ถูกน้ำพัดจนเรือคว่ำ ขณะที่เด็กนั่งอยู่กับตักแม่และสายน้ำได้กระชากชีวิตของเด็กชายไปต่อหน้าต่อตาของผู้เป็นแม่
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้ประสบภัยและข้าวของยังชีพเข้าพื้นที่ต้นน้ำเซเปียนซึ่งการสัญจรทางบกถูกตัดขาด

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า