โผล่อีก! โครงการผันน้ำ ‘โขง เลย ชี มูล’ กรมชลประทานเตรียมปรับแก้ EIA ชงเข้า คชก. ภาคประชาชนล่าชื่อคัดค้าน หวั่นซ้ำรอยโครงการผันน้ำยวม

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งที่ประชุม คชก. มีมติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ให้กรมชลประทานและ สทนช. ปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลในรายงาน EIA เพื่อส่งให้ คชก. พิจารณาอีกครั้ง 

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า โดยหลักการแล้วประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลรายงาน EIA เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อการตรวจสอบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ใช้เงินหลักล้านล้านบาท 

“ขณะนี้ภาคประชาชนเตรียมล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อยื่นคัดค้านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และเราไม่ต้องการให้มีการฉวยโอกาสเร่งรีบผลักดัน EIA โครงการนี้ให้ผ่านความเห็นชอบของ กก.วล. เหมือนโครงการผันน้ำยวม” 

เช่นเดียวกับ นายสิริศักดิ์ สะดวก ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ชาวบ้านคือคนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ชาวบ้านจะมีแต่เสียกับเสีย คือเสียพื้นที่ให้กับโครงการ และเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ยาก 

ทั้งนี้ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอใน 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น รวมระยะทาง 174 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผันน้ำจากแม่น้ำโขงได้ 1,894 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาในการพัฒนาโครงการทั้งหมด 9 ปี โดยแผนการพัฒนาโครงการทั้งระบบมี 5 ระยะ ประกอบด้วยการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงจะมีการสร้างเขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่มอีกด้วย 

ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล ได้แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการผันน้ำเนื่องจากกังวลต่อความไม่คุ้มค่าของโครงการและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่ผ่านมาเช่นกรณีโครงการโขงชีมูล เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการ สผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการขอคัดสำเนาเอกสารทางราชการ เป็นไปตามประกาศ สผ. และตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่ง สผ. ดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกโครงการ ส่วนกรณีขอคัดสำเนาในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และกรณีผู้ประสงค์ขอคัดสำเนาเป็นผู้มีรายได้น้อย สามารถแจ้งคำร้องขอในการยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือลดอัตราค่าธรรมเนียม ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า