Entangled: ชีวิตวาฬกับการประมง เส้นขนานของสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ยังไม่พบจุดร่วม

ไม่บ่อยนักที่เราจะมีโอกาสได้เห็นมุมมองของฝั่งที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ทำลายธรรมชาติจากสารคดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ‘Entangled’ จึงถือว่าเป็นสารคดีที่น่าสนใจทั้งในแง่ของการถ่ายทอดมุมมองของคู่ตรงข้ามทั้งสองฝั่งและการนำเสนอข้อมูลทางสถิติ

Entangled สารคดีความยาวกว่า 1 ชั่วโมง โดย เดวิด เอเบล (David Abel) และ แอนดี โลบ (Andy Laub) เล่าเรื่องความพยายามในการอนุรักษ์วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Right Whale) ที่กำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ขณะเดียวกันการอนุรักษ์ด้วยการออกกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อประมงท้องถิ่นในรัฐเมน (Maine) สหรัฐอเมริกา ที่มีรายได้จากการทำประมงล็อบสเตอร์มูลค่ามหาศาล นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างอันคลาสสิกของความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของผู้คน 

(ข้อความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน)

สารคดีเริ่มต้นด้วยการพาเราไปดูมุมมองของนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ที่สะท้อนปัญหาภาวะใกล้สูญพันธุ์ของวาฬไรต์ ข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ ถูกนำเสนอออกมาทั้งในรูปของกราฟและภาพเคลื่อนไหวที่เข้าใจง่าย เราจะเห็นได้ว่าความทุกข์ทรมานที่วาฬไรต์ต้องเผชิญจากวิธีการทำประมงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพียงใด นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเป็นใยของผู้คนทั่วไปที่ผูกพันกับวาฬไรต์ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ สะท้อนให้เห็นว่ามากกว่าการอนุรักษ์เพื่อความหลากหลายทางชีววิทยาตามหลักการวิทยาศาสตร์ ความผูกพันทางใจและมุมมองเชิงจริยธรรมก็ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน

เมื่อสารคดีพาเรามาดูอีกฟากของการอนุรักษ์ จะเห็นได้ว่าชาวประมงท้องถิ่นไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายชีวิตของวาฬแต่อย่างใด แต่อุตสาหกรรมการประมงมีความสำคัญทั้งในฐานะรายได้ที่เข้ามาสู่ท้องถิ่นและรายได้ที่เลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวชาวประมง เมื่อพวกเขาทราบว่าวิธีการจับล็อบสเตอร์เป็นอันตรายกับชีวิตวาฬก็พยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้อยู่ร่วมกันให้ได้เช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการของเทคโนโลยีการประมง ข้อบังคับที่จะออกมาเป็นตัวบทกฎหมายจึงไม่อาจยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสทางรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตโดยตรง 

ความน่าสนใจนอกเหนือจากลำดับการเล่าเรื่องและจังหวะที่พอดี คือการที่ทำให้เราขบคิดหาเหตุผลในการทำความเข้าใจทั้งสองฝั่งตลอดเวลา เราอาจเกิดคำถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรจึงจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งตัวละครกลางที่ยังไม่ได้ออกเสียงมากนักในที่นี้คือฝ่ายรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหานั่นเอง และถึงแม้ว่าสารดคีจะถ่ายทอดเหตุผลของทั้งสองฝ่ายออกมาได้ชัดเจนเพียงไร สิ่งที่น่าเสียดายคือการขาดภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองฝั่ง เนื่องจากคำพูดที่ว่า “พวกคุณไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ” ของชาวประมง อาจทำให้เรารู้สึกเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน มากกว่าผู้ที่ต้องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพราะไม่ต้องการให้เกิดภาวะสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

‘Entangled’ ที่แปลได้ว่า ‘พัวพัน’ จึงเป็นชื่อที่เหมาะสมอย่างที่สุด นอกจากวาฬไรต์ที่ถูกรัดพันด้วยเชือกประมงจนมีบาดแผล มนุษย์เองก็ต้องพัวพันกับชีวิตของพวกมันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นแก่ขีวิตของพวกมันเอง หรือฝ่ายที่ต้องเสียสละจากการที่พวกมันได้รับการปกป้อง การถกเถียงจึงไม่อาจสิ้นสุดได้โดยง่ายและต้องหาทางออกต่อไปเพื่อให้มนุษย์และวาฬได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

สามารถลงทะเบียนเพื่อรับชมสารคดีฟรีจนถึง 30 สิงหาคม 2564 ได้ที่นี่ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยแท็ก Greenpeace Thailand พร้อมใส่แฮชแท็ก #Entangled และ #OceanDefenders การสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อ Entangled อาจชวนให้สังคมตั้งคำถามเพื่อหาทางออกกับกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วไปบนโลกใบนี้ได้เช่นกัน

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า