เด็ก ครู ผู้บริหาร ทุกคนพกกล่องข้าวมาโรงเรียน ที่เทศบาลคุ้มหนองคู

ภาพ: ณัฐกานต์ ตำสำสู

ระฆังบอกสัญญาณได้เวลากินข้าว เสียงจอแจเหมือนนกแตกรังค่อยดังขึ้นแถวโรงอาหารโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู ภาพที่เห็นไม่ใช่แค่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เดินเรียงแถวต่อเป็นแนว (เลื้อยคดเลี้ยวเป็นงูบ้าง) รอให้ขบวนก่อนหน้าเดินเข้าไปยังเก้าอี้ม้านั่งยาวเตรียมกิน (ลุย) มื้อกลางวัน มันไม่ใช่ภาพนั้น… แต่เป็นตะกร้าในมือเด็กๆ ต่างหากที่สะกิดใจเรา

แอบเดินไปมองใกล้ๆ สิ่งของในตะกร้าประกอบไปด้วย ‘ขวดน้ำ’ และ ‘กล่องใส่อาหาร’

พกขวดน้ำมากดดื่มพอเข้าใจ แต่พกกล่องอาหารมาด้วย นี่ไม่เคยเห็น!

“ทำไมทุกคนต้องถือตะกร้า พกขวดน้ำและกล่องใส่อาหารเหมือนกันหมด เอามาทำอะไรเหรอ?” – เราถามเด็กน้อยคนหนึ่งที่นำถาดหลุมไปรับอาหารจากป้าแม่บ้านเรียบร้อย กำลังนั่งรอเพื่อนที่ยืนต่อคิวรับอาหารและรอสวดมนต์ก่อนกินข้าวพร้อมกัน

“ขวดน้ำเอาไว้กดน้ำกินที่โรงเรียน กล่องใส่อาหารเอาไปซื้อขนมที่สหกรณ์” เธอตอบฉะฉานเสียงใส และอธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียนเพิ่งให้นักเรียนเอาขวดน้ำและกล่องอาหารมาซื้อของที่สหกรณ์ในเทอมนี้ และยังมีกติกาว่าห้ามนักเรียนนำภาชนะพลาสติกเข้าโรงเรียนด้วย

ไม่ทันได้สอบถามเพิ่มกว่านี้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ราว 250 คนก็เข้านั่งประจำที่ ยิ่งเก้าอี้ตัวยาวสำหรับรับประทานอาหารมีนักเรียนเข้าจับจองมากเท่าไร เสียงพูดคุยตามประสาเด็กวัยซนก็ดังมากขึ้นเท่านั้น

กำลังรอดูว่าพิธีกรรมต่อไปก่อนเริ่มรับประทานอาหารจะเริ่มอย่างไร ทันใดนั้น เสียงระฆังใสแต่ทุ้มกังวานก็ดังขึ้น จังหวะแรงกระเพื่อมดังยาวแต่ไม่ร้อนรน เมื่อคลื่นเสียงสั่นสะเทือนจนครบบีท ระฆังครั้งที่ 2 จึงค่อยดังอีกครั้ง ทันทีที่เสียงระฆังให้จังหวะครบสามครั้ง เสียงจอแจดั่งนกแตกรังก็ค่อยหรี่เสียงลงจนสงบ

สงบ… โดยไม่มีเสียงว้ากจากครูที่ดังกว่า มาขู่ให้เด็กกลัวเพราะต้องการให้เสียงพูดคุยสงบลง

พอเงียบ เงียบที่แปลว่าพร้อมจะทำกิจกรรมต่อไป เสียงนำสวดมนต์ก่อนกินข้าวก็ดังขึ้น จากนั้นจึงเป็นเวลาของเสียงช้อนส้อมกระทบจาน และเสียงพูดคุยของเด็กๆ จึงค่อยเริ่มเร่งดังขึ้นแทนที่อีกที มันไม่ถึงกับเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนโรงเรียนฝึกทหาร แต่การดำเนินไปของกิจกรรมดูไม่รุ่มร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่ตึงเครียด

“ที่นี่จะใช้ระฆังเป็นสัญญาณเตือนให้เด็กรู้ตัวและเงียบลง ไม่ใช้การตะโกนเพื่อบอกให้นักเรียนเงียบ เพราะถ้าครูใช้การตะโกนเพื่อบอกให้เงียบ ใช้ความกลัวเข้าขู่ มันย้อนแย้งใช่ไหม เพราะครูเป็นคนทำเสียงดังเสียเอง และการบังคับขู่เข็ญไม่ใช่วิธีการที่ดีหรอก

“เหมือนกับนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เทอมนี้เราไม่ให้เอาพลาสติกเข้ามาในโรงเรียน พวกแก้วกาแฟ ถุงใส่ผลไม้ ไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่เด็กๆ แต่ครูและผู้บริหารทุกคนในโรงเรียนก็ต้องพกอุปกรณ์ของตัวเองมาเช่นกัน สหกรณ์ของเราตั้งใจเป็นร้าน zero waste จะไม่มีขนมถุง แต่ต้องเอาภาชนะของตัวเองไปซื้อ

“ถ้าครูเอาแก้วกาแฟหรือซื้อของใส่ถุงเข้ามา เด็กๆ เขาตำหนิเราได้เลยนะ ‘ครูไม่ให้พวกหนูเอามา แต่ครูถือเข้ามาในโรงเรียนเอง’ (หัวเราะ) อันนี้หมายความว่าอยากให้เด็กทำอะไร ครูก็ต้องทำเป็นแบบนั้นด้วย ไม่ใช่การบังคับหรือแค่บอกให้พวกเขาทำ”

ครูอ้อม-ชุตินธร หัตถพนม รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูอธิบายให้ฟัง ทั้งเรื่องการใช้ระฆังแทนสัญญาณให้นักเรียนรู้ตัว และนโยบายการเป็นโรงเรียนที่ยึดหลัก zero waste ขยะเหลือศูนย์ หรือแนวคิดหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ขยะเหลือศูนย์หรือไม่มีขยะเลย

สิ่งที่เราสนใจไม่ใช่แค่เพราะมัน ‘ชิค’ ในการเป็นโรงเรียนปราศจากขยะและใช้ระฆังแทนการ ‘ว้าก’ แต่คือ ‘วิธีคิด’ ในการทำงาน ตีโจทย์ และการเป็น ‘มนุษย์’ ของโรงเรียนมากกว่าที่เราสนใจ

‘อยากให้เด็กทำอะไร ครูต้องฝึกก่อน’ คือวิธีคิด แต่การเป็นโรงเรียนสีเขียวและการลดอำนาจที่คุคั่งในโรงเรียน เป็นแค่ ‘outcome’ หรือผลผลิตเท่านั้น

 

สหกรณ์รักษ์โลก: จากโจทย์ชุมชนสู่ปัญหาระดับโลก

มันเป็นการตีโจทย์ร่วมกันระหว่างโรงเรียน -ทั้งระดับผู้บริหารและคณะครู- และโจทย์ชุมชนรอบข้าง ประสิทธิ์ สมศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู เกริ่นนำให้ฟังเช่นนั้น

“อธิบายก่อนว่าในการจัดการศึกษา เราแบ่งสัดส่วนว่า 70 เปอร์เซ็นต์เราต้องทำตามระเบียบโครงสร้างใหญ่ แต่อีก 30 เปอร์เซ็นต์เราจัดการศึกษาโดยยึดความต้องการของโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่น พอมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในปี 2542 โรงเรียนต้องกลับมาสำรวจกันใหม่ว่ายุทธศาสตร์หรือโจทย์ของเราคืออะไร โดยสำรวจความต้องการของคนในชุมชนด้วย ตอนนั้นมีหลายเรื่อง แต่หลักๆ คือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำมันทอดซ้ำ และปัญหาสังคมรอบๆ โรงเรียน

“หนึ่งใน 30 เปอร์เซ็นต์ หลักสูตรที่เราออกแบบเองได้เลยตั้งใจทำเรื่องนี้ การเป็นโรงเรียนสีเขียวเพื่อแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ชุมชน แต่การทำงานอย่างแข็งขันในเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องยกความดีความชอบให้กับครูในโรงเรียนที่เป็นคนจัดการสานต่อกันเรื่อยมา ตั้งแต่การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ทำสวนเกษตรปลอดสาร ธนาคารขยะ ถึงปัจจุบันคือการตั้งกติกาไม่ให้ครูและนักเรียนนำภาชนะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเข้ามาเลย เพิ่งเริ่มทำกันเทอมนี้เอง

“มีอยู่วันหนึ่งผมเดินไปซื้อผลไม้ข้างโรงเรียน ลืมว่าต้องเอากล่องไปใส่ แม่ค้าก็ดุผมขำๆ ว่า ‘เดี๋ยวครูมหา หรือไม่ก็เด็กๆ จะว่าเอาหรอกที่เอาถุงพลาสติกเข้าโรงเรียน’ จริงด้วย ผมเลยไม่กล้าเอาผลไม้เข้าโรงเรียนเลยเพราะกลัวเด็กๆ จะเห็น เลยต้องฝากแม่ค้าไว้ก่อน (หัวเราะ)”

ผู้อำนวยการประสิทธิ์เล่าที่มาให้เราฟัง ส่วน ครูมหา ที่เขาพูดถึง คือ ครูอังคาร ชัยสุวรรณ ครูที่เป็นตัวตั้งตัวตีดูแลงานเรื่องนี้ (และอีกหลายเรื่อง) พร้อมสำทับว่า หากเราอยากรู้ข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม ให้เดินไปสอบถามกับครูท่านนี้ได้

ครูมหา หรือ อังคารที่ผู้อำนวยการพูดถึง ขณะนี้กำลังถูกเรียกตัวจากครูอีกท่านเพื่อเตือนว่า ใกล้เวลาที่ครูต้องขึ้นรถไปขนซื้อของเข้าสหกรณ์แล้ว แต่แม้จะรีบร้อนอย่างไร ครูมหาก็ยังยืนอธิบายที่มาของ ‘สหกรณ์’ โรงเรียนปลอดบรรจุภัณฑ์ให้เราฟัง

สหกรณ์ที่ว่าเป็นเพิงเล็กๆ สี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเดินเท้า 3 คูณ 3 ก้าวก็ครบรอบพื้นที่ ผนังสองด้านตรงข้ามกันตั้งชั้นวางของสามชั้น แต่ละชั้นมีขนมแยกเป็นกล่องๆ วางเรียงอยู่ เวลาจะกินค่อยถ่ายขนมใส่มือหรือจานชามเพื่อแจกจ่ายกันอีกที ไม่ใช่ขนมถุงสำเร็จพร้อมขายเป็นห่อๆ นอกจากนั้นยังมีโดนัทที่ใส่ไว้ในกล่องใหญ่ ตู้ไอติมเป็นลังแบบตักแบ่ง เลยไปอีกนิดมีโต๊ะขายผลไม้ ซึ่งเดาเอาว่าน่าจะขนมาจากบ้านของครูคนใดคนหนึ่งเป็นแน่

เพราะสหกรณ์เป็นแบบนี้ นักเรียนจึงต้องเอากล่องใส่ขนมซื้อหากัน นั่นทำให้ตลอดทางเดินจากสหกรณ์เข้าตึกเรียน จะเห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยถือกล่องพร้อมขนมในมือ

“ก่อนหน้านี้เราทำสหกรณ์แบบนี้ไม่ได้ เพราะคนข้างนอกมาเช่าทำร้านค้า โรงเรียนเลยเข้าไปออกความเห็นมากไม่ได้ เราเข้าใจตรงจุดนี้ แต่ปีนี้เราเปลี่ยนระบบเป็นให้ครูที่โรงเรียนจัดการกันเองและปรับเป็น ‘สหกรณ์รักษ์โลก’ (ยิ้ม) เราจึงเริ่มทำนโยบาย zero waste ได้ ควบคู่ไปกับการจัดการด้านอื่นๆ

“เช่น เรามีนักรบสิ่งแวดล้อม ก็คือเด็กๆ จัดเวรกันดูเรื่องขยะและการนำถุงพลาสติกเข้ามาในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เด็กๆ แต่ครูก็ถูกนักรบสิ่งแวดล้อมเตือนได้”

ครูมหาสรุปภาพรวมให้เราฟังพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนักรบสิ่งแวดล้อมและกติกาไม่เอาบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้ามาในโรงเรียน ยังมีระบบคัดแยกเศษอาหารนำไปทำปุ๋ย และการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลด้วย

ครูอังคารอธิบายกับเราได้แค่นั้นก็ต้องโหนรถกระบะไปจัดการซื้อของเข้าสหกรณ์ต่อ สมแล้วที่ใครต่อใครพูดว่า ‘ครูไทย เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ จริงๆ

 

เสียงระฆังเตือนตัวเอง: ไม่ใช่แค่บอกให้ศิษย์ทำ แต่เป็นเครื่องมือเดียวกับครูด้วย

เย็นวันนั้นครูอ้อมชวนเราเข้าไปดูหนึ่งในวิธีทำงานกับคณะครู มันไม่ใช่การอบรม มันไม่ใช่การประชุมวิชาการว่าด้วยแนวการสอน ครูอ้อมบอกว่ามันไม่ใช่วงประชุมจริงจัง แต่คณะผู้บริหารและครูมากันครบคน ประชุมหลังเลิกเรียนที่ว่า คือการทำ snack meditation หรือ กินภาวนา

“การทำงานวิชาการกับครูคือเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือการหาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูวางความเครียดเพื่อดูแลใจของครู เพราะเราเชื่อว่าถ้าใจครูดี ห้องเรียนดีแน่นอน หนึ่งในนั้นคือการกลับมาสู่ตัวเอง เป็นชั่วโมงที่ชวนครูมาเจอกันโดยที่ไม่ต้องคุยกันเรื่องงานเลย แต่ชวนกันภาวนาเพื่ออยู่กับตัวเอง”

ครูอ้อมอธิบายอย่างนั้นและขยายความต่อว่า โจทย์หนึ่งที่ได้รับตั้งแต่เข้าทำงาน คือตัวเลขอุบัติเหตุที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักเรียน และการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างจริงจังในเด็กเล็ก เธอไม่ได้มีปัญหากับเทคโนโลยีเพราะเชื่อว่าทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 แยกขาดจากเทคโนโลยีไม่ได้ แต่งานวิจัยอีกด้านก็ชี้ว่า การใช้เทคโนโลยีในเด็กเล็กด้านหนึ่งเป็นโทษทางกายภาพ และทักษะพัฒนาทางสมอง

“ถ้าจะลดอุบัติเหตุต้องทำยังไง จะบอกให้เด็กเลิกเล่นมือถือทำยังไง เราไม่รู้ แต่สิ่งที่เราตีความคือเด็กๆ ขาดสมาธิ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ครูในโรงเรียนสะท้อนว่าเด็กขาดสมาธิขึ้นเรื่อยๆ แต่มันไม่ใช่สมาธิแบบที่จะจับเด็กไปนั่งสมาธิ แต่เป็นการรู้ตัวภายใน เราเห็นว่าทักษะของการรู้ตัวสำคัญ ทีนี้จะไปบอกให้เด็กมีสมาธินะ รู้ตัวนะ เราไม่คิดว่าจะทำได้ แต่เชื่อว่า ถ้าอยากให้เด็กเป็นแบบไหน ครูต้องเป็นแบบนั้นก่อน”

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการใช้ ‘ระฆัง’ บอกสัญญาณ

“ไม่ต้องตะโกน ไม่ต้องต่อว่า แค่ส่งสัญญาณเบาๆ มีนัยให้เขาแค่ ‘รู้ตัว’ ว่ามันเป็นสัญญาณให้เขาหยุดสักพัก” ครูอ้อมบอกอย่างนั้น

อย่างที่กล่าวไปว่า มันไม่ใช่เรื่อง ‘ระฆัง’ หรือการเป็น ‘โรงเรียนสีเขียว’ หากเป็นวิธีคิดในการทำงานศึกษา ที่ไม่ได้ตั้งโจทย์จากข้างบนแล้วสั่งการลงมาข้างล่าง ไม่ใช่ ‘ครูบอก’ ให้นักเรียนทำแต่ครูไม่ทำ นักเรียนยังฟีดแบคกลับไปที่ครูได้ ไม่ใช่การตะโกนบอกให้นักเรียนเงียบด้วยระดับเสียงที่ดังกว่า แต่แค่สร้างสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อให้เด็กๆ ระลึกได้ด้วยตัวเอง

มันอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นวิธีคิดที่ ‘เล็กน้อย’ แต่อาจส่งผลมหาศาล และถ้าเป็นไปได้ เราอยากเห็นโรงเรียนแบบนี้ โรงเรียนที่ไม่สั่ง แต่ทำให้ดู ร่วมทำด้วยกัน

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า