อากาศสะอาด: แก้ปัญหา PM2.5 ด้วยเครื่องมือทางกฎหมาย

คุณเคยจินตนาการถึงเมืองที่ปกคลุมด้วยควันพิษหรือไม่ เมืองที่อำพรางเท้าของคุณยามเดินบนฟุตบาธ รถจอดขวางถนนเพราะหมอกควันหนาหนักจนวิ่งไม่ได้ คอนเสิร์ตกลางแจ้งถูกยกเลิกเพราะไม่มีใครมองเห็นเวที อาชญากรอาศัยความเลวร้ายของทัศนวิสัยเพื่อก่อเหตุ 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในจินตนาการของภาพยนตร์แนวแฟนตาซีสะเทือนขวัญ แต่มันเกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1952 ช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังรุ่งเรือง

Great Smog of London

‘Great Smog of London’ คือปรากฏการณ์มลพิษทางอากาศครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตจากฝุ่นควันกว่าหมื่นราย สาเหตุหลักมาจากมลพิษอุตสาหกรรมบวกกับสภาพความกดอากาศต่ำ ซึ่งในระยะแรกมีการกล่าวถึงปัญหาฝุ่นควันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้จะเริ่มส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนก็ตาม จนกระทั่งปัญหาเริ่มหนักข้อขึ้น กลายเป็นวิกฤติที่เมืองทั้งเมืองตกอยู่ใต้ฝุ่นพิษหนาทึบเป็นเวลา 5 วัน โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000-12,000 คน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป

4 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1956 จึงมีกฎหมาย Clean Air Act ออกมา โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั่วเมือง จำกัดการเผาไหม้ของอุตสาหกรรมถ่านหิน และสนับสนุนให้ครัวเรือนใช้แหล่งพลังงานอื่น เช่น ก๊าซหุงต้ม แทนการเผาไหม้ จนสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นในที่สุด 

ถึงแม้จะไม่มีรายละเอียดการแก้ปัญหาปรากฏมากนักในแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายน่าจะเคร่งครัดและผู้คนให้ความร่วมมืออย่างดี เนื่องจากต้องหายใจเหมือนกัน และคงไม่มีอุตสาหกรรมใดได้ประโยชน์จากหมอกควันมากนัก 

เหตุการณ์หมอกฝุ่นครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ และทำให้โลกตระหนักถึงมลพิษในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

20 ปีแห่งการแก้ปัญหาของปักกิ่ง ประเทศจีน

ขยับเข้ามาสู่ช่วงเวลาที่ใกล้ตัวอีกนิด ประเทศจีนเคยประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะไม่รุนแรงเท่าลอนดอนแต่ก็ต้องใช้เวลาแก้ไขถึง 20 ปี! สาเหตุหลักมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเข้มข้นของปริมาณมลพิษในอากาศ ยิ่งเมืองขยายมากเท่าไรปริมาณสารพิษในอากาศก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นำมาซึ่งการขาดทุนด้านสาธารณสุขที่ไม่คุ้มกัน ปักกิ่งจึงเริ่มออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศตั้งแต่ ค.ศ. 1998 โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ

1998-2008

ในปี 1998 ปักกิ่งออกมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศที่พุ่งเป้าไปยังแหล่งกำเนิดมลพิษเป็นอย่างแรก เพื่อลดความเข้มข้นของสารมลพิษในอากาศอย่างเร่งด่วนก่อนจะถึงวันแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ โดยควบคุมอุตสาหกรรมถ่านหิน การปล่อยมลพิษของโรงงาน และการปล่อยฝุ่นละอองจากยานยนต์อย่างจริงจัง

2009-2012

ระยะนี้มาตรการควบคุมค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นการบูรณาการเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และขยายความรวมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ  

2013-2017

เริ่มให้ความสำคัญกับการควบคุม PM2.5 มากขึ้นเนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 กลายเป็นประเด็นที่สาธารณชนตื่นตัวอย่างมากในปี 2012 โดยจีนได้ยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศเพื่อให้จำกัด PM2.5 และสารมลพิษอื่นๆ อย่างรัดกุมมากขึ้น ต่อมากลางปี 2013 ปักกิ่งได้ออกมาตรการ Beijing Clean Air Action Plan 2013–2017 ที่มีมาตรการครอบคลุมเรื่องการควบคุมมลพิษ เศรษฐกิจ และสุขภาพ ซึ่งเน้นการควบคุมแหล่งมลพิษอย่างเข้มงวดเช่นเดิม

กว่า 20 ปีที่ใช้กระบวนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความถี่และความรุนแรงของปัญหาลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2017 ปริมาณ PM2.5 ต่อปีได้ลดลงถึง 35.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและการบังคับใช้มาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องนั่นเอง 

เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย นักแสดงนำเรื่องมลพิษทางอากาศมีอยู่ 2 จังหวัดที่คนจดจำเสมอคือ กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ (แต่ทุกจังหวัดก็ประสบปัญหาฝุ่นควันไม่ต่างกัน) แม้จะมีการถกเถียงถึงที่มาของแหล่งกำเนิดฝุ่นแต่ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไร ต่างก็ประสบกับความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลความรู้ (ขาดเครื่องตรวจวัด มีแต่เสียบ่อย) การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน (หน้ากาก เครื่องฟอกอากาศ) ไปจนถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งนักแสดงที่มีบทบาทเด่นอีกหนึ่งคือ ‘รัฐบาล’ ก็มีภาพจำว่าแก้ปัญหาไม่ได้เสียที เพราะน้ำหนักความสำคัญที่จัดสรรให้กับปัญหายังไม่มากเท่าการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะต้องหายใจด้วยอากาศเหมือนกันก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ‘เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย’ หรือ Thailand Clean Air Network จึงพยายามผลักดันให้ ‘สิทธิของประชาชนที่จะหายใจอากาศสะอาด’ (Right to Breath Clean Air) เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเครือข่ายอากาศสะอาดเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพที่ทำงานเชิงจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ที่พยายามใช้ความรู้หลากหลายด้านเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา สิ่งสำคัญที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง การทำงานของหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และกฎหมายที่ล้าสมัย   

กลไกทางกฎหมาย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เครือข่ายฯ คิดค้นขึ้น ภายใต้ชื่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ’ หรือ ‘ร่างกฎหมายอากาศสะอาด’ 

ร่างกฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นจากหลักการสำคัญที่ว่ารัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิในชีวิตและสุขภาพของประชาชน มีบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ที่รัฐต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่ภาคส่วนอื่นๆ มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งโดยหลักการแล้ว หมอกควัน ฝุ่นพิษ หรือมลพิษทางอากาศนั้นกำลังคุกคามและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลที่ทุกคนพึงมี และสิทธิเด็กที่เด็กทุกคนบนโลกต้องได้รับการคุ้มครองจากภัยต่างๆ พูดง่ายๆ คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด แต่รัฐไทยยังไม่มีการรับรองสิทธินั้นอย่างชัดเจน

photo: เพจ Thailand Can เครือข่ายอากาศสะอาด

กฎหมายไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวและตายตัว เพราะเรามีส่วนร่วมในกระบวนการที่ทำให้เกิดกฎหมายได้ โดยร่างกฎหมายอากาศสะอาดต้องการ 10,000 รายชื่อเพื่อผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้กลายเป็นกฎหมายที่ใช้ได้จริง ซึ่งหาก ‘ร่าง’ กลายเป็น ‘กฎหมาย’ แล้ว รัฐไม่สามารถละเลยหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดได้ บวกกับการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่กฎหมายเดิมทำให้อำนาจกระจัดกระจายให้มีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจเต็ม เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เราคงไม่ต้องรอให้ปัญหามลพิษทางอากาศหนักเท่ากรุงลอนดอนเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว หรือต้องใช้เวลากว่า 20 ปีเพื่อแก้ปัญหา ทุกคนสามารถลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อให้สิทธิในการหายใจของคนไทยทุกคนได้รับการรับรอง นำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

อ้างอิง
  • สามารถศึกษารายละเอียดของร่างกฎหมายและวิธีการลงชื่อได้ที่ https://thailandcan.org/
  • สมุดปกขาวอากาศสะอาด โดย เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย
  • United Nations Environment Programme (2019), A Review of 20 Years’ Air Pollution Control in Beijing Report
  • Great Smog of London by Julia Martinez (2019)

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า