“เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” กลไกทางจิตเมื่อเราสูดดมฝุ่นควันโดยไม่สะทกสะท้านทุกๆ ปี

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ฝุ่นควันมาเยือนกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการวันที่ 14 ธันวาคม ด้วยตัวเลข AQI และ PM2.5 ที่น่าตกใจ สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แม้ว่าจะยังไม่สูงมากเท่ากับที่เชียงใหม่ เชียงรายและภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดประสบใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่แล้วที่ตัวเลข AQI ทะลุมาตรวัดหรือสูงกว่า 900 อยู่หลายวัน

ผมเขียนเรื่องฝุ่นควันตอนที่ 1 เผยแพร่บนเพจของตัวเองตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เวลานั้นฝุ่นควันยังปกคลุมเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนหนาแน่น ที่เชียงใหม่มองไม่เห็นดอยสุเทพ ที่เชียงรายมองไม่เห็นดอยนางนอน ที่ปายมองไม่เห็นเมือง ภาพหนึ่งในความทรงจำคือเพลิงไหม้ที่ห้วยทรายมาน บริเวณจุดชมงดงามวิวโค้งน้ำโขงระหว่างเชียงแสนและเชียงของ เป็นภาพที่สวยงามมากด้วยฝีมือคุณหมอท่านหนึ่งที่เชียงของ แต่ก็นำมาซึ่งความเศร้าด้วย

ตอนที่เขียนเรื่องฝุ่นควันใหม่ๆ มีความตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าจะเขียนจนกระทั่งควันจาง ท้องฟ้าแจ่มใส และผู้คนเลิกพูดถึง สำนักข่าวและเพจต่างๆ จะหยุดให้ข่าว นักวิชาการจะหยุดพูด พอฝุ่นจางก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เหตุที่ทำนายได้เพราะเป็นเช่นนี้มา 10 ปี เป็นอย่างน้อย ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เป็นในปีที่ 11 นั่นคือทุกคนจะหยุดพูดเมื่อฝุ่นหายไป

เหตุที่จำได้ว่าเป็น 10 ปี เพราะลูกคนเล็กจากจังหวัดเชียงรายไปเรียนที่ไกลเมื่อปี 2010 นึกดีใจว่าเขาออกจากพื้นที่ทันเวลา ระยะเวลา 10 ปีนี้นับเฉพาะที่ฝุ่นควันหนา แต่ที่จริงสถานการณ์เริ่มส่อเค้าว่าจะเกิดภัยพิบัติเริ่มมาตั้งแต่ปี 2007 เหตุที่จำได้เพราะนั่นเป็นปีที่ลูกคนโตจากไปเรียนที่ไกลเช่นกัน ก่อนหน้าปี 2007 ชาวบ้านทั้งเชียงรายเผาใบไม้หน้าบ้านกันเป็นธรรมดา ฟ้าหลัวทุกหน้าร้อน เมื่อฝนมาก็หายไป

ตอนที่เริ่มเขียนใหม่ๆ หาข้อมูลหรือข่าวมาเขียนง่าย เพราะมีให้อ่านทุกวันบนเฟซบุ๊ค ครั้นฝุ่นจางเริ่มไม่มีอะไรจะเขียน จึงสั่งหนังสือ 2 เล่มจากแอมะซอนมาอ่านแล้วเขียน  

เล่มแรกเป็นสถานการณ์ในอังกฤษ อ่านแล้วเข้าใจเรื่องพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่ามลพิษทางอากาศและสาเหตุ เล่มที่สองเป็นรวมงานวิจัยเรื่องผลกระทบของฝุ่นควันต่อสุขภาพจากจีน เล่มหลังนี้หนา ปกแข็ง แจกแจงผลกระทบต่อร่างกายทุกระบบพร้อมเอกสารอ้างอิงนับพันรายการ พูดง่ายๆ ว่าใครไม่เชื่อไปหาอ่านต่อเอง

นั่งอ่านและนั่งแปลหนังสือ 2 เล่มนี้เขียนเรื่องฝุ่นควันทุกคืนตอนดึกๆ หลังจากดูหนังจบแล้ว ง่วงเท่าไรก็ต้องอ่านและเขียน อันนี้เป็นวินัยในตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าบางคืนง่วงมากจนเขียนไม่ละเอียด เอาแค่คร่าวๆ ก็พอเพราะทำนายได้ว่าไม่มีใครอ่าน

แรงจูงใจที่เขียนมีข้อเดียวคือจะพูดเรื่องนี้ทุกวันจนกว่าควันจะมา

แล้วในที่สุดควันก็มา เสียงคนกรุงเทพฯ ที่โกรธแค้นดังกระหึ่มอีกรอบหนึ่ง หลังจากที่เคยเป็นเช่นนี้ไปแล้วเมื่อปลายปี 2562 อะไรทำนองนี้เป็นไปแบบที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและภาคเหนือตอนบนเป็น นั่นคือเราจะบ่นกันปีละครั้งจนกว่าควันจาง แล้วทุกอย่างจะเลือนหายไป

สาเหตุใหญ่ๆ ของฝุ่นควันเกิดจากการเผารายย่อย การเผารายใหญ่ การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม แต่โดยรวมๆ แล้วเราจะพูดถึงและโจมตีการเผารายย่อยมากที่สุด ได้แก่ เผาใบไม้ในบ้าน เผาป่าเอาเห็ด เผาที่นาเตรียมเพาะปลูก ชนชั้นกลางในเมืองจะโจมตีชาวบ้านและชาวนาผู้เผาเสมอๆ ในขณะที่มีการพูดถึงเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์รายใหญ่น้อยมาก คือเรื่องข้าวโพดและอ้อย ที่จริงแล้วรอบปีที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงเลยอย่างน่าแปลกใจ หรือว่าที่จริงประเทศเราเลิกปลูกอ้อยกับข้าวโพดกันแล้ว  

อีก 2 เรื่องก็แทบไม่มีใครพูดถึงเลยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจราจร ทั้งที่หากอ่านงานวิจัยจากอังกฤษและจีนพบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่โตมาก ทำคนตายนับแสนต่อปีโดยไม่รู้ตัว สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกครั้งที่มีคนพูดถึงจะมีใครบางคนออกมาบอกว่าโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้มาตรฐานและมิใช่สาเหตุของฝุ่นควันแล้วเรื่องก็จบไป

ปีที่ผ่านมาผมไปชลบุรีและระยอง 2 ครั้ง กลางปี 1 ครั้ง ปลายปี 1 ครั้ง ฝุ่นควันมัวมากทั้งสองครั้ง ยืนที่ชายทะเลก็ยังมืดมัว เปิดแอพฯ ดูค่า AQI น่าตกใจ 

โดยสรุป ชาวบ้านและชาวนาดูเหมือนจะเป็นจำเลยมากที่สุด

“ไม่เผาไม่ได้หรือ” เราไปถามชาวนา

“พวกคุณหยุดใช้รถยนต์กับหยุดเปิดแอร์ได้ไหม” เขาตอบกลับมา

บทสนทนานี้มิใช่การหาเรื่องกัน แต่เป็นบทสนทนาที่จริงมากและน้อยคนจะยอมรับหรือยอมเข้าใจ เราขอให้เขาหยุดใช้ชีวิต เขาก็ขอให้เราหยุดใช้ชีวิตเช่นกัน 

สำหรับเรื่องสุขภาพ ผมเขียนทุกวันหลายเดือนมาก เขียนไปๆ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่าอะไรจะขนาดนั้น ถ้างานวิจัยจากอังกฤษและจีนเป็นความจริง จำนวนคนตายที่รายงานมากเท่านั้นจริงๆ ทำไมเรามองไปรอบข้างไม่เห็นใครตายสักคน นี่คือเรื่องสำคัญที่ช่วยให้กลไกทางจิตประเภท “เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” ทำงานได้ทุกปี พอควันจางเรื่องจึงสงบได้ทุกครั้งเพราะเรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา แต่พอควันมาเราก็สลบอีกทุกทีไป กลายเป็นมหกรรมบ่นฝุ่นควันระดับชาติประจำปีที่ดูตลกดี มันตลกเพราะเราทำกันแบบนี้ได้ทุกปีจริงๆ ด้วย

อะไรต่อไปนี้จริงและเยอะมากด้วย ได้แก่ ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หอบหืด ปอดอักเสบ และมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองขาดเลือด เหล่านี้เป็นเรื่องจริงและทำคนตายก่อนกำหนดนับล้านคนทั่วโลกจริง หมายถึงพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศจริงๆ  

พออ่านแล้วกลไกทางจิต “เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” ก็ทำงานทันที ผมเชื่อว่าชายไทยวัยกลางคนและหญิงไทยสูงอายุจำนวนมากตายเพราะมลพิษทางอากาศเป็นความจริง และเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วด้วย

เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา เป็นแฟนตาซี เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตที่อยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะมันอยู่ในจิตใต้สำนึกเราจึงต้องไม่รู้ว่ามันอยู่ แล้วเราก็สูดดมฝุ่นควันค่าฮาร์ซาดัสสีม่วงเข้มกันได้โดยไม่สะทกสะท้านทุกปีๆ 

ผมรับราชการมานานพอที่จะพูดได้ว่ากลไกราชการแก้ปัญหานี้ไม่ได้แน่ เราพร้อมจะพยักหน้าว่าทำได้ทุกเรื่องทั้งที่ในความเป็นจริงเราทำมิได้ แต่เพื่อให้รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงหรืออธิบดีสบายใจ เราจะพูดว่าทำได้ทุกที พอสุดท้ายทำไม่ได้เราก็เพียงพูดว่า “เหอ ทำไมอย่างนั้นล่ะ” แล้วเรื่องจะจบไป เพราะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตัวเองไม่มีปัญญา ท่านทั้งสามก็พร้อมจะกลบความล้มเหลวที่เกิดขึ้นประจำปีด้วยการไม่สืบสาวเอาความและเลิกพูดจนกว่าจะถึงปีต่อไป 

เราเรียกกลไกทางจิตนี้ว่า undoing กล่าวคือกระทำอะไรบางอย่าง เช่น ‘เลิกพูด’ แล้วเรื่องนั้นจะปลาสนาการหายไปได้เอง หรือ ‘ทำป้ายคัทเอาต์ตัวเองพูดเท่ๆ’ สักป้าย แล้วฝุ่นควันจะปลาสนาการหายไป

ให้กำลังใจคนกรุงเทพฯ ทุกท่าน อีกไม่นานเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและภาคเหนือตอนบนก็จะพบชะตากรรมเดียวกันเป็นปีที่ 14 แม้ว่าสภาลมหายใจเชียงใหม่ได้พยายามทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปีและริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ กับวิธีการใหม่ๆ ได้จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงปีแรกเท่านั้น  หากการกระจายอำนาจจัดการไม่เป็นจริง ทำนายได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้น่าจะไม่ดีดังที่คาดหมาย 

แล้วทุกอย่างจะกลับไปที่เดิมในปีที่ 15 

 

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า