ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

เลี้ยงลูกในโลกใหม่

พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

กล่าวนำ

การระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 ในปี พ.ศ. 2564 สร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณสุขและทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดมากกว่า 20,000 คนต่อวัน และผู้เสียชีวิตสูงสุดมากกว่า 200 คนต่อวัน มาตรฐานการกระจายวัคซีนที่ไม่ชัดเจน ประชาชนที่อยู่ไกลและไม่มีเส้นสายประสบปัญหาการเข้าถึงวัคซีนในเวลาที่รวดเร็ว นำไปสู่การเสียชีวิตที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่แรกของหลายครอบครัว

โรคระบาดเกิดขึ้นคู่ขนานกับการจับกุมเยาวชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ตามด้วยข่าวอุทกภัยหลายจังหวัดในตอนปลายปี พ.ศ. 2564 เรื่องราวทั้งหมดนี้เหมือนการฉายหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบ้านเมืองของเราและตลอดชีวิตที่ผู้เขียนเกิด เติบโต เรียนหนังสือ ทำงาน แล้วเกษียณอายุราชการ ปาฐกถานี้จะเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ตามด้วยทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพ ปิดท้ายด้วยข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดพัฒนาการของบ้านเมืองของเราจึงย่ำอยู่กับที่มาได้อย่างน้อยก็หนึ่งชั่วอายุคนคือช่วงอายุของตัวผู้เขียนเอง

คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือ เพราะเราเป็นรัฐราชการและเป็นรัฐรวมศูนย์

รัฐราชการและรัฐรวมศูนย์ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครอบครัวและการศึกษาเป็นหน่วยพื้นฐานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าโลกเข้าสู่ยุคไอทีเรียบร้อยแล้ว งานพัฒนาครอบครัวและการศึกษาจึงเป็นการทำงานแข่งกับเวลาก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกดิสรัปต์ (disrupted) ไปเสียทั้งหมดแล้วทุกคนเป็นผู้แพ้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ปกครองบ้านเมืองวันนี้หรือคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านกว้างไกล

ถ้าจะมีการพลีชีพ ควรเป็นคนสูงอายุที่พลีชีพเพื่อพวกเขา มิใช่ปล่อยคนรุ่นใหม่พลีชีพเพื่อพวกเรา แล้วจะว่าไปคนสูงอายุไม่จำเป็นต้องพลีชีพ แค่ลงจากเก้าอี้ก็พอ

1

เมื่อพอจำความได้

พวกเราพี่น้องเกิดในครอบครัวคนจีนแต้จิ๋ว ความทรงจำหนึ่งในวัยเด็กคือคุณแม่วุ่นวายกับชื่อจีนของพวกเรามากมาย คุณพ่อมีชื่อเป็นจีน สะกดได้หลายแบบ เรื่องนี้นำไปสู่ความยากลำบากของพวกเราเพราะเอกสารในที่ต่างๆ ไม่ตรงกัน ตัวสะกดและวรรณยุกต์ต่างกัน ชื่อพ่อแม่ที่อำเภอและที่โรงเรียนไม่เหมือนกัน จำได้ว่าได้ยินคุณแม่บ่นว่าทางการอยู่เรื่อยๆ กินเวลานานหลายปีกว่าจะเรียบร้อย

คุณแม่ของพวกเรามาจากโพ้นทะเลเช่นเดียวกับคุณพ่อ ท่านใช้ชื่อไทยตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ เวลานั้นผู้เขียนยังเล็กมาก จึงไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่าท่านมีชื่อไทยได้อย่างไร ใครทำให้ แล้วทำยากหรือไม่

ยังมีเรื่องชื่อจีนของพวกเรา ที่ผู้เขียนได้ยินเสมอคือคุณแม่จ่ายใต้โต๊ะหลายครั้ง และจ่ายมากกว่าหนึ่งแห่ง มีวันหนึ่งคุณแม่พาผู้เขียนไปที่อำเภอ ผู้เขียนจำได้ว่าก่อนที่คุณแม่จะลุกไป ท่านกำธนบัตรใบหนึ่งเพื่อเตรียมจ่าย ท่านพูดเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “เขาจะได้ทำให้เร็วๆ เป็นพิเศษ” 

เหตุการณ์ทำนองนี้จะวนกลับมาเมื่อผู้เขียนรับราชการที่ภาคเหนือตอนบน ท่านที่คุ้นเคยกับชื่อของชาติพันธุ์คงทราบดีว่ามีชาติพันธุ์เป็นร้อยที่ภาคเหนือตอนบน มีการออกเสียงชื่อสกุลที่แตกต่าง หลายคนมีชื่อเหมือนกันและนามสกุล ‘มาเยอะ’ เหมือนกันจนน่าแปลกใจ (การเล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับชาติพันธุ์เคยทำได้เมื่อสมัยก่อน ปัจจุบันเราทราบดีว่าทำมิได้และไม่ควรทำอีกต่อไปแล้ว วันนี้ลูกหลานของชาติพันธุ์เปลี่ยนชื่อนามสกุลหลายคนแล้ว และมีการศึกษาสูงบนเส้นทางเดียวกับลูกจีนวันนี้ แต่ดูเหมือนการกระทำของส่วนกลางหรือคนชั้นในต่อพวกเขายังเป็นเหมือนเดิม)

เวลาที่นั่งเขียนใบรับรองแพทย์เพื่อให้ชาติพันธุ์ได้ไปสมัครงาน ทำใบขับขี่ หรือแม้กระทั่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนขอบัตรประชาชน (ซึ่งต้องผ่านพิธีกรรมเพื่อพิสูจน์ความรักชาติอีกหลายขั้นตอน) หากพอมีเวลาผู้เขียนมักสอบถามความเป็นมาของชื่อพวกเขาเสมอ

จึงทราบว่าชื่อและนามสกุลเป็นของมีราคา

ชีวิตของพวกเขาเหมือนชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เราเป็นคนนอกและเราต้องจ่ายเพื่อเป็นคนใน เหตุการณ์ทำนองนี้ดำเนินมา ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ในช่วงชีวิตของประชาชนคนไทยจำนวนมาก มากบ้างน้อยบ้าง รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง เนียนบ้างไม่เนียนบ้าง และเต็มใจบ้างไม่เต็มใจบ้าง เป็นมาเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าสถานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจของเราอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากศูนย์กลางมากเท่าไร 

เรื่องนี้มีผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร? 

เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างน้อย 2 ข้อ 

ข้อแรก แทนที่คุณแม่จะมีเงินมาซื้อของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการให้แก่พวกเรา เช่น ดินน้ำมันราคาถูกๆ สักก้อน สีเทียนราคาถูกๆ สักกล่อง ท่านกลับต้องปันเงินไปให้ ‘ระบบราชการ’

ข้อสอง แทนที่เด็กๆ อย่างพวกเราจะได้สัมผัสคุณแม่อารมณ์ดีมากขึ้นอีกสักวันสองวัน แต่พวกเราพบว่าชีวิตของท่านดูคล้ายๆ จะยากลำบาก เพราะชื่อของคุณพ่อและชื่อของพวกเราอยู่เนืองๆ 

ผู้เขียนบรรยายเรื่องพัฒนาการเด็กบ่อยครั้ง สมัยแรกๆ บรรยายให้ข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนฟัง ก่อนที่จะบรรยายให้พ่อแม่ทั่วไปฟังในเวลาต่อมา แผ่นใสหรือสไลด์ที่หนึ่งของการบรรยายจะเป็นคำสำคัญ 3 คำนี้เสมอ คือ อีพิเจเนซิส เวลาวิกฤติ และหน้าที่ 

เรามาดูทีละคำ

คำที่ 1: อีพิเจเนซิส (epigenesis)

ผู้เขียนรู้จักคำนี้เป็นครั้งแรกตอนเป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้รู้จักชั่วโมงเรียนที่เรียกว่า บุ๊คคลับ (book club) แม้ว่าจะไม่น่าสนุกอะไรมากมายเหมือนที่เห็นในหนังฝรั่ง แต่ก็ยังประโยชน์ให้แก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือ Childhood and Society ของ อีริค อีริคสัน (Erik H. Erikson, 1902-1994) และได้รู้จักคำนี้เป็นครั้งแรก รายละเอียดมีปรากฏในหนังสือ แต่ที่ผู้เขียนนำมาบรรยายและขยายความ มี 3 ความหมาย

ความหมายที่ 1 พัฒนาการมีลักษณะเป็นลำดับชั้น 

เวลาบรรยายเรื่องพัฒนาการเด็ก ผู้เขียนใช้ภาพพีระมิดที่ซัคคาราประกอบคำบรรยายเสมอ (ดูภาพที่ 1) หากบรรยายด้วยชอล์กบนกระดานดำก็จะวาดรูปพีระมิดขั้นบันได (ดูภาพที่ 2) พีระมิดของโชเซอร์ที่ซัคคารา (Pyramid of Djoser in Saqqara) นี้ที่จริงมี 6 ชั้น แต่ 2 ชั้นแรกหากมองเผินๆ จะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ผู้เขียนใช้ประโยชน์จากการแบ่ง 5 ชั้น ในการบรรยายพัฒนาการ 5 ขั้นแรกของอีริคสัน

พีระมิดของโชเซอร์ที่ซัคคารา

พัฒนาการมีลักษณะเป็นลำดับชั้น หมายความว่า หากเราสร้างฐานแรกแข็งแรง ฐานต่อไปจะทำได้ง่ายขึ้นและมีความแข็งแรงเช่นกัน พัฒนาการเด็กมีลักษณะเดียวกัน หากเราทำขวบปีแรกให้ดี เราจะได้ทารกที่แข็งแรง ปีถัดๆ มาจะทำได้ไม่ยากและมีความแข็งแรงตามๆ กันไป 

เปรียบชั้นที่ 5 เป็นวัยรุ่น หากชั้นที่ 5 หรือวัยรุ่นพบอุปสรรคของชีวิต เช่น อกหัก หรือถูกไล่ออกจากโรงเรียน หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ วัยรุ่นที่มีพัฒนาการเป็นลำดับชั้นมาดีกว่าอาจจะเพียงเสียใจ ดื่มเหล้าสักสองแก้ว ออกนอกทางสักพักแล้วก็ตั้งตัวได้ใหม่ ในขณะที่วัยรุ่นที่มีฐานรากไม่แข็งแรง ตามด้วยชั้นถัดๆ มาไม่แข็งแรง ชีวิตอาจจะล่มลง กินเหล้าไม่เลิก เข้าหายาเสพติด กรีดข้อมือ หรือทำร้ายตัวเอง เหตุเพราะฐานของพัฒนาการไม่ดีพอ นี่คือความหมายที่ 1 พัฒนาการมีลักษณะเป็นลำดับชั้น

พัฒนาการเด็ก 5 ขั้นตอน

ความหมายที่ 2 เมื่อเราลงทุนกับฐานรากคือชั้นที่ 1 มาก เราจะลงทุนน้อยลงในชั้นต่อๆ มา

ทุนที่สำคัญคือเวลา หากเราให้เวลากับลูกมาก (คำสำคัญคือ “มีเวลาแปลว่ารัก”) เราจะลงทุนน้อยลงในเวลาต่อมา ชั้นที่ 1 คือวัยทารกขวบปีแรก (infant) ชั้นที่ 2 คือวัยเตาะแตะ (toddler) อายุ 2-3 ขวบ ชั้นที่ 3 คือวัยอนุบาล (preschool) อายุ 4-7 ขวบ ผู้เขียนจะวาดเส้นโค้งครอบคลุม 3 ชั้นแรก (ดูภาพที่ 3) เราจะเห็นกองทรายขนาดใหญ่กินเนื้อที่มากกว่าครึ่งของพื้นที่หรือปริมาตรทั้งหมดของพีระมิด พื้นที่หรือปริมาตรส่วนที่เหลือมีน้อยมาก 

สิ่งที่เราจะได้คือ เราได้เวลาคืนในวันหลัง

ทำไมเราถึงได้เวลาคืน? เพราะว่าเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน เขาจะเรียบร้อยดี ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่กวนประสาทเรา คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการแก้ไขปัญหา เดินทางไปพบครูประจำชั้นหรือครูปกครอง พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กหรือจิตแพทย์วัยรุ่น ไปโรงพักพบตำรวจ ไปพบทนาย ไปศาล ไปสถานบำบัดยาเสพติด หรือไปสถานพินิจฯ เมื่อเด็กเรียนจบ เขาไปทำงานและหาเงินด้วยตัวเอง ถึงตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาว่างมาก 

ผู้เขียนมักบรรยายต่อไปด้วยว่า เมื่อมีเวลาว่างเราสามีภรรยามีเวลาทำเรื่องส่วนตัวที่ชอบ จากเดิมไม่มีเวลาทำเพราะเลี้ยงลูกเล็ก มีเวลาไปเที่ยวพักผ่อนแดนไกล

สัดส่วนของเวลาในพัฒนาการเด็ก

จะเห็นว่านี่เป็นคำบรรยายวิชาการที่น่าจะใช้ได้กับเฉพาะชนชั้นกลางระดับกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูง ที่มีเวลาเหลือจากการทำงานมาดูแลลูกด้วยตัวเองตามสมควรตั้งแต่แรก เช้าไปทำงาน เย็นหรือค่ำได้กลับบ้านมาเล่นกับลูก และอ่านนิทานก่อนนอน แต่ปัญหาของชนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นล่าง (หากคำนี้ไม่สุภาพมากเกินไปอาจจะเลี่ยงไปใช้คำว่าชนชั้นแรงงาน) อย่างที่เห็นทั่วไป ในชนบทไทยผู้ชายทำงานตลอดวันได้ค่าแรงขั้นต่ำ ผู้หญิงอาจจะได้น้อยกว่านั้น แรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์อาจจะได้น้อยกว่านั้นอีก

ชนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นล่างอาจจะไม่ได้อ่านเพจเลี้ยงลูก (parenting) ไม่ได้อ่านนิตยสารหรือหนังสือเลี้ยงลูก เหตุผลคือพวกเขาต้องออกไปทำงาน เสร็จงานเมื่อ 5-6 โมงเย็นก็ปวดเนื้อตัวอย่างหนักเพราะแบกหาม ผู้เขียนรู้สึกเสมอว่าผู้เขียนเป็นชนชั้นกลาง ทำงานตรวจผู้ป่วยและเขียนหนังสือ จะมากเท่าไรก็เปรียบกับการก้มๆ เงยๆ ทำนา หรือก้มหน้าขุดดินเป็นหลุมๆ หรือแบกหามของหนักก่อสร้างกลางแดดทั้งวันมิได้

ยาที่ใช้แก้เคล็ดขัดยอกที่ชะงัดที่สุดมิใช่ยาแก้ปวด แต่เป็นเหล้าขาว 

ต๊อกเหล้าขาวกับเพื่อนร่วมงานหลังเสร็จงาน เหมือนพนักงานออฟฟิศแวะดื่มเบียร์กับเพื่อนร่วมงาน หรือชนชั้นบริหารแวะดื่มไวน์กับเพื่อนนักบริหาร เหล่านี้อ้างว่าเป็นกิจกรรมผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ แต่สำหรับชนชั้นแรงงานเป็นวิธีแก้ปวดเคล็ดขัดยอกหายเป็นปลิดทิ้งด้วยราคาที่ต่ำกว่าไปหาแพทย์ที่คลินิก และเสียเวลาน้อยกว่าไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐเป็นอันมาก 

ทุกครั้งที่มีการประณามผู้ดื่มสุราอย่างรุนแรง แม้ว่าผู้เขียนจะมีงานประจำคือรักษาโรคติดสุราเรื้อรัง แต่ไม่สบายใจเลยที่ได้ยิน ด้วยรู้ว่าภาวะติดสุรามาจากทั้ง 3 สาเหตุ คือพันธุกรรม จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยแรงกดดันด้านจิตใจและสิ่งแวดล้อมมากมาย

พ่อแม่ประเทศไทยจำนวนมากกว่ามากไม่มีเวลาจริงๆ มิใช่แกล้งไม่มีเวลา พวกเราต้องออกไปทำงาน ปากกัดตีนถีบ ช่วยเหลือตัวเองตลอดชีวิตโดยไม่มีสวัสดิการที่ดีพอนอกเหนือจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นอะไรที่ผู้เขียนบรรยายหรือเขียน รวมทั้งที่เพจเลี้ยงลูกและหนังสือเลี้ยงลูกต่างๆ เขียน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘เวลา’ จะพบปัญหา 2 ประการ

ประการที่ 1 กลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ที่สุดคือชนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นล่างไม่ได้อ่านหรือได้ยิน และประการที่ 2 คือถึงจะได้อ่านหรือได้ยินก็ไม่มีเวลาอยู่ดี 

ดังคำพูดที่เรามักจะรู้สึกอยู่เสมอเวลาได้ยินคำแนะนำประเภทพูดอย่างไรก็ถูก เช่น “ให้เวลา ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูกมากๆ” หรือ “กรุณาหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเสมอคือ “ถ้าทำได้ ก็ทำไปแล้ว” แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ทำไม่ได้

ลำพังเรื่องที่บรรยายมาเพียงเรื่องเดียวคือคำว่า epigenesis นี้ได้พาดพิงถึงข้อจำกัดของสังคมไทยหลายข้อ ได้แก่

  • พ่อแม่ไม่มีเวลาจริงๆ เพราะไปทำงาน นำไปสู่เรื่องการจ้างงาน และการประกันค่าแรงขั้นต่ำตามที่เป็นจริงหรือมากพอที่แรงงานจะธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • พ่อแม่ไม่มีเงินจริงๆ หากไม่ไปทำงานทั้งสองคน นำไปสู่เรื่องรัฐสวัสดิการ
  • พ่อแม่หลายบ้านจากลูกไปทำงานในต่างจังหวัด เพราะไม่มีงานในท้องถิ่นจริงๆ นำไปสู่เรื่องการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริงและประชาธิปไตยส่วนท้องถิ่น
  • พ่อแม่หลายบ้านไม่มีเงินซื้อนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมาอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง นำไปสู่การพัฒนาระบบหนังสือแห่งชาติ
  • พ่อแม่หลายบ้านไม่มีปัญญาหรือโอกาสที่จะได้ใช้บริการห้องสมุดเพื่อขอยืมหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กครั้งละ 10-20 เล่ม นาน 2-4 สัปดาห์ เช่นในประเทศพัฒนาแล้ว นำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการห้องสมุดสาธารณะ
  • การจราจรในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทำพ่อแม่เสียเวลา 1-3 ชั่วโมง กว่าจะเดินทางถึงบ้านมาเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง นำไปสู่เรื่องปัญหาการจราจร ธุรกิจสร้าง-ซ่อมทางหลวงในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศตลอดทั้งปีหรือหลายปีติดต่อกันหรือทุก 3 ปี การพัฒนาระบบรถไฟ-รถรางถึงระดับตำบลทั่วประเทศ และการขนส่งสาธารณะของทุกจังหวัด
  • การไปพบแพทย์คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีราคาต่อการพบ 1 ครั้งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ นำไปสู่การกระจายอำนาจด้านบริการสาธารณสุขและการแบ่งส่วนบริการของวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ทำหน้าที่ส่วนแพทย์ เภสัชกรทำหน้าที่ส่วนเภสัชกร เป็นต้น
  • การไปโรงพยาบาลของรัฐเพื่อใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสียเวลาและค่ารถเป็นอันมาก นำไปสู่การพัฒนาระบบบริการ ‘ใกล้บ้านใกล้ใจและเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ ด้วยคุณภาพระดับสูงถึงปลายทางคือสถานีอนามัย (ซึ่งโดยส่วนตัวเป็นคำที่ให้ความหมาย ‘ใกล้บ้านใกล้ใจ’ มากกว่าคำว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)

เรื่องพัฒนาการเป็นลำดับชั้นหรือ epigenesis นี้ยังไม่จบ เรายังมีความหมายที่ 3

ความหมายที่ 3 ถ้าเราลงเงินกับพีระมิด 3 ชั้นแรก คือ 7 ขวบปีแรกมาก เราจะได้เงินคืนมาในวันหลัง

สำหรับความหมายนี้ผู้เขียนไม่สามารถพูดและไม่เคยพูดว่า ถ้าเราลงเงินกับการเลี้ยงลูกใน 0-7 ปีแรกมากแล้ว เราจะลงทุนน้อยลงในวันหลัง ความข้อนี้ไม่เป็นความจริงอีก เพราะที่แท้แล้วพ่อแม่ประเทศไทยลงทุนตลอดเวลา มิหนำซ้ำยังลงทุนไปกับเรื่องที่ไม่ตรงประเด็น (irrelevant) กับพัฒนาการ (development) และการเรียนรู้ (learning) เสียมาก เช่น ค่ารถและน้ำมัน ค่ารถโรงเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียนและเครื่องแบบประจำวัน รวมทั้งค่าเครื่องแบบกิจกรรมพิเศษอื่นๆ เช่น กีฬาสี ลูกเสือ เนตรนารี ค่าดูแลลูกหลังเลิกเรียนเมื่อพ่อแม่เดินทางมารับช้า ค่าเรียนพิเศษให้แก่ครูในตอนเย็นทั้งที่ตอนเช้าก็สอนอยู่แล้ว ค่าธรรมเนียมการเรียนห้องพิเศษที่มีชื่อเรียกต่างๆ ตั้งแต่ห้องคิงไปจนถึงห้องจีเนียสหรือกิ๊ฟเต็ดหรือเหรียญทอง ค่ากวดวิชาเต็มรูปแบบทั้งวิชาคณิตศาสตร์ อังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สังคมศึกษา ภาษาไทย เพื่อเข้าเรียนต่อชั้นประถม 1 มัธยม 1 มัธยม 3 หรือเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งหากจ่ายเต็มที่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 500,000-1,000,000 บาทต่อคน อีกทั้งค่าเรียนดนตรีและกีฬาที่ต้องจ่ายต่างหาก

เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายหลักที่ทุกบ้านต้องจ่ายเป็นประจำตลอดเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าหากนับจากชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยม 6 จะกินเวลา 15 ปี แล้วถ้ารวมเตรียมอนุบาลเข้าไปด้วยจะเท่ากับ 16 ปี

ดังนั้นเราไม่พูดว่าเราจ่ายน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป

แต่ผู้เขียนจะบรรยายต่อไปว่า ถ้าเราเลี้ยงลูกให้ดีในฐานแรกๆ เงินที่ไม่ควรเสียจะไหลคืนมาในภายหลัง ได้แก่ ค่ายาจิตเวช ค่ายาเสพติด ค่าความเสียหายเนื่องจากเมาแล้วขับ ค่าประกันตัว ไปจนถึงค่าทนาย เป็นต้น ดีที่สุดคือเมื่อเด็กเรียนจบปริญญาตรี เขาไปสมัครงานและมีเงินเดือนของตัวเอง ไม่กลับมาขอพ่อแม่อีก เพียงเท่านี้เงินที่เราลงทุนไปวันแรกก็จะเริ่มต้นไหลคืนมาบ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมักรู้สึกเสมอว่าผู้เขียนบรรยายแบบตีกินเสียมาก ด้วยรู้อยู่ว่ารายจ่ายของคนไทยนั้นมีมากมายรอบตัวเพราะเราจ่ายทุกอย่างรวมทั้งภาษี โดยที่ได้ยินมาว่าสัดส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มต่อรายได้ของคนยากจนสูงกว่าของชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

ตอนที่ได้รับเชิญมาบรรยายปาฐกถาในวันนี้ วางแผนว่าจะบรรยายเรื่องพัฒนาการเด็กดังที่เคยบรรยายให้พ่อแม่ทั่วไปฟังเสมอภายใต้หัวข้อ ‘บันได 7 ขั้น สู่ศตวรรษที่ 21’ (ดูภาพประกอบที่ 4) จากนั้นจะเชื่อมโยงอุปสรรคของทุกขั้นบันไดไปสู่ประเด็นทางสังคมและประชาธิปไตยตามข้อเขียน ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ทั้งนี้ได้รับโจทย์กำกับมาด้วยว่า ควรบรรยายให้ท่านผู้ฟังทราบถึงพัฒนาการทางความคิดของผู้เขียนตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาถึงปัจจุบัน 

บันได 7 ขั้น สู่ศตวรรษที่ 21 | ที่มา: ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2564). เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF (พิมพ์ครั้งที่ 15). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์.

ปรากฏว่าเมื่อนั่งลงเขียนร่างแรกของบทปาฐกถานี้ จึงพบว่าเพียงบรรยายเรื่อง epigenesis คำเดียวก็พาดพิงถึงเกือบทุกระบบที่ล้าหลังในประเทศ โดยที่ยังไปไม่ถึงคำศัพท์คำที่ 2 และ 3 และไม่ทันได้ขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ของ ‘บันได 7 ขั้น สู่ศตวรรษที่ 21’ เลย เราก็มีเรื่องต้องทำมากมายก่ายกองแล้ว 

เช่นนี้จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้เรื่องเหล่านี้จบในรุ่นเรา

2

เมื่อไปโรงเรียน

พวกเราพี่น้องเรียนโรงเรียนอนุบาลและประถมต้นที่ถนนพระราม 4 ก่อนจะย้ายมาที่หัวถนนสีลม พวกเราเดินทางจากบ้านไปกลับด้วยรถเมล์เป็นประจำ ชีวิตมิได้ลำบากอะไรเพราะมีผู้ใหญ่ลุกให้เราสองคนนั่งเสมอเมื่อโผล่หน้าขึ้นไปบนรถประจำทาง ภายในบริเวณโรงเรียนมีแผงขายหนังสือและนิตยสาร เวลานั้นนิตยสารที่มีจำหน่ายแล้ว ได้แก่ กองหน้าร่าเริง ตุ๊กตา หนูจ๋าเบบี้ และ วอลท์ ดิสนีย์ ภาคภาษาไทย ชื่อสุดท้ายนี้ราคาเล่มละ 2 บาท

บ้านเรามิได้มีเงินเหลือเฟือ แต่น่าจะเป็นเพราะคุณพ่อชอบอ่านนิทานจีนเรื่อง ไซอิ๋ว ให้พวกเราฟังก่อนนอน เวลานั้นท่านทำงานเป็นเซลส์แมนเดินทางต่างจังหวัด จึงมีเวลากลับบ้านมาอ่านให้พวกเราฟังไม่มากนัก แต่เพียงไม่มากนักนั้นเองก็น่าจะส่งผลให้พวกเรามักจะแบ่งเงินค่าขนมส่วนหนึ่งซื้อนิตยสารการ์ตูนเหล่านี้อ่าน บางท่านอาจจะจำได้ว่าหัวนิตยสารที่เอ่ยมามิได้มีเพียงการ์ตูน แต่มีสารคดีต่างๆ นานาร่วมด้วย

ก่อนที่ผู้เขียนจะจบชั้นประถม 3 เช้าวันหนึ่งคุณครูท่านหนึ่ง ซึ่งวันนี้ผู้เขียนจำชื่อมิได้แล้วแม้ใบหน้าก็เลือนราง ได้ยื่นนิตยสาร ชัยพฤกษ์ ให้ผู้เขียน 1 ฉบับ แล้วพูดว่า “ครูอ่านแล้วยกให้เธอ” จำได้ว่าหน้าปกเป็นรูปกล้วยไม้บนพื้นสีฟ้า (จะเห็นว่าการยื่นหนังสือให้เด็กเป็นความทรงจำน่าประทับใจ) นั่นทำให้ผู้เขียนได้พลิกอ่านนิตยสาร ชัยพฤกษ์  ตั้งแต่ก่อนจบประถมต้น ส่วนใหญ่คงจะดูรูป อ่านการ์ตูนหน้ากลาง และอ่านส่วนอื่นๆ บ้างเท่าที่อ่านได้

พวกเราย้ายมาเรียนประถมปลายที่โรงเรียนหนึ่งใกล้วัดไผ่เงินในระยะเดินถึง คุณแม่เปิดร้านขายของชำหน้าโรงเรียนนั้น พวกเราจึงมีภาระงานต้องช่วยแม่ขายของทุกเช้าก่อนที่จะข้ามถนนไปโรงเรียน แล้วรีบข้ามถนนกลับมาจากโรงเรียนช่วยขายของหน้าร้าน ก่อนที่จะได้ไปกวาดบ้านถูบ้านให้เสร็จ แล้วจึงเปิดกระเป๋าทำการบ้าน 

วันหนึ่งมีซิสเตอร์คาทอลิกมาเดินแจกนิตยสาร วีรธรรม ราคาฉบับละ 6 สลึง ในห้องเรียน หน้าปกเป็นรูปการ์ตูน แต๋งแต๋งผจญภัย เป็นการ์ตูนเบลเยียมจึงออกเสียงตามอย่างฝรั่งเศส วันนี้เด็กไทยน่าจะรู้จักในชื่อ ตินตินผจญภัย มากกว่า เป็นงานเขียนของ แอร์เช (Herge)

นิตยสาร วีรธรรม เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ มีการ์ตูนหน้ากลางหลายเรื่องที่ลงติดต่อกัน และมีสารคดีให้อ่านมากมายเท่าๆ กับนิตยสาร ชัยพฤกษ์ เป็นเพราะว่าครูหรือผู้ใหญ่ในสถานะเสมือนครูที่ทำให้พวกเรามีโอกาสได้พัฒนาด้วยการอ่านสิ่งละอันพันละน้อยนอกเหนือจากตำรา บางท่านอาจจะคิดในใจตอนนี้ว่าวันนี้เรายื่นหนังสือให้เด็ก เด็กก็ไม่อ่าน ผู้เขียนจะอธิบายว่าเพราะพวกเขาไม่มีคุณพ่ออ่านให้ฟังก่อนนอนเป็นปฐมและไม่มีคุณครูที่อ่านหนังสือให้ดูเป็นแบบอย่าง เมื่อขาดรากฐานที่ดีแล้วการอ่านต่อเนื่องจึงเกิดขึ้นได้ยาก ผู้เขียนขอเพิ่มเติมในขั้นตอนนี้ด้วยว่า คุณพ่อคุณแม่ของพวกเราไม่รู้ภาษาไทยเลยในตอนแรกๆ ท่านเรียนด้วยตนเองในภายหลังซึ่งจะเป็นอีกหลายปีต่อมา

พวกเราเรียนโรงเรียนคาทอลิก ผู้เขียนสวดมนต์แบบพุทธไม่เป็น ถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็น ที่จำได้แม่นคือเราถูกครูใหญ่ทวงค่าเล่าเรียนหน้าห้องเป็นประจำ ไม่มีปีไหนเลยที่เราจะมีค่าเล่าเรียนจ่ายโดยสงบสุข อย่างไรก็ตาม โรงเรียน 2 แห่งนี้ได้ปลูกฝังวินัยแบบคาทอลิกและความสามารถในการอ่านให้แก่พวกเราแต่เยาว์วัยด้วยเช่นกัน 

คุณพ่อมีนิทานภาษาจีนติดมือกลับบ้านตั้งแต่เราจำความได้ พอถึงเวลาที่เราไปเดินเที่ยวงานกาชาดหรืองานวชิราวุธซึ่งจัดทุกปีในจังหวัดพระนคร คุณแม่ให้พวกเราได้ซื้อหนังสือคนละ 1 เล่ม ในราคาลด 50 เปอร์เซ็นต์ ทุกปี ผู้เขียนจำได้แม่นเพราะพี่ชายเลือก สามก๊ก เป็นเล่มแรกๆ ของชีวิต ส่วนผู้เขียนกับน้องสาวเลือกหนังสือรวมขำขันปกแข็งกลับบ้าน เราทราบดีว่าคุณแม่ไม่มีเงินมากนัก แต่ท่านก็ยินดีเจียดเงินก้อนหนึ่งเพื่อให้พวกเราอ่านอย่างสม่ำเสมอ

จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนงอแงจะเอาหนังสือการ์ตูนฉบับรวมเล่มของนิตยสาร วีรธรรม เรื่อง บั๊ก แดนนี่ เสือบินผจญภัย ซึ่งเป็นการ์ตูนเบลเยียมเช่นเดียวกัน ฉบับรวมเล่มราคาเล่มละ 8 บาท คุณแม่พาผู้เขียนเดินจากบ้านใกล้วัดไผ่เงินไปซื้อถึงโรงพิมพ์วีรธรรมซึ่งตั้งอยู่ในซอยเซนต์หลุยส์บนถนนสาทร คือวันเวลาที่มีคลองสาทรกว้างใหญ่ไหลผ่านและมีต้นฉำฉาเรียงรายมากมายสองฟากตลิ่ง

เราอาจจะไม่มีเงินค่ารถ แต่เราพอมีเงินค่าหนังสือ ผู้เขียนทราบในภายหลังว่าลูกจีนแต้จิ๋วในกรุงเทพฯ หลายบ้านเติบโตมาคล้ายๆ เรา แล้วพวกเราก็เป็นกลุ่มที่เรียนเก่งที่สุด กระจายกันเข้าคณะแพทยศาสตร์ทุกสถาบันโดยมีชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย

ถัดจากคำแรก epigenesis เรามาดูคำที่ 2 เวลาวิกฤติ (critical period)

เวลาวิกฤติ หมายถึง ช่วงเวลาที่เราจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง หากเราปล่อยให้เวลานั้นล่วงเลย จะไม่สามารถหวนกลับมาทำได้อีก 

คือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานบางอย่าง เช่น ขวบปีแรกวัยทารก คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่อุ้ม กอด บอกรัก และให้นม โดยไม่มีคำว่ามากเกินไป ไม่ต้องห่วงเรื่องเด็กติดมือ เพราะเมื่อเด็กได้รับคุณแม่อิ่มแล้ว เขาจะเลื่อนพัฒนาการไปที่ชั้นต่อไปได้เอง 

แต่คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากไม่ทำ เพราะมัวแต่ไปทำงานหาเงิน ครั้นเรามีเงินแล้ว เด็กโตเป็นวัยรุ่นแล้ว สมมุติเขาเป็นวัยรุ่นไม่ฟังคำ ไม่เรียนหนังสือ เหลือขอ ใช้ยาเสพติด วิธีรักษาคืออุ้ม กอด บอกรัก และให้นมตามที่ควรจะทำในวัยทารกเพื่อเริ่มพัฒนาการพีระมิดชั้นที่ 1 ใหม่ แต่วัยรุ่นไม่ให้พ่อแม่เข้าใกล้ ไม่ให้อุ้ม ไม่ให้กอด ไม่ให้บอกรัก และไม่เอานม เขาจะเอาเพื่อนและเอาเหล้า นี่คือปัญหาของเวลาวิกฤติ

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนต้องออกไปหาเงิน เพราะการไม่มีเงินในประเทศนี้เป็นเรื่องน่ากลัว 

ผู้เขียนบรรยายให้คุณพ่อคุณแม่ฟังเช่นนี้ทุกครั้ง การไม่มีเงินเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ผู้เขียนมักหยุดตรงนี้ มิได้ขยายความต่อไปว่าเมื่อคุณไม่มีเงิน คุณจะกลายเป็นคนชั้นต่ำ ทำอะไรก็ผิดกฎหมาย วางหาบเร่แผงลอยก็ผิด ไม่ใส่หมวกกันน็อคก็ผิด แต่ถ้าคุณมีเงิน มีสถานะทางสังคมเช่นผู้เขียนขับรถเร็วบนทางหลวงชนบทไม่เคยถูกใบสั่งเลย อย่างมากแค่ถูกตักเตือน นั่นคือเหตุการณ์ก่อนที่โลกจะมีกล้องจับความเร็ว

นอกจากนี้ผู้เขียนมิได้พูดต่อไปว่าเราอยู่ในประเทศที่รัฐไม่เคยช่วยอะไรเราเป็นชิ้นเป็นอัน เราปากกัดตีนถีบกันทุกบ้านกว่าจะได้รถคันแรกและบ้านหลังแรก และที่จริงแล้วมีคนจำนวนมากทำงานให้ตายก็ไม่ได้รถคันแรกและไม่มีวันจะได้บ้านหลังแรก

ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ช่วงที่เด็กอายุ 2-7 ขวบ เด็กมีหน้าที่เล่น การเล่นพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และนิ้วมือสิบนิ้ว ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่ดีกว่า เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ และมี Executive Function (EF) ที่ดีกว่า 

EF คือความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำจนกว่าจะถึงเป้าหมาย [คำนิยามเป็นภาษาไทยโดย ปนัดดา ธนเศรษฐกร ใน ประเสริฐ (2564)]

บ้านเราไม่ให้เล่น แต่ส่งไปเข้าเรียนเตรียมอนุบาลตั้งแต่ 3 ขวบ โดยที่กระบวนการหาโรงเรียนเริ่มก่อนหน้านั้น เช่น การสอบคัดเลือกเข้าอนุบาล 1 เริ่มกันที่ 2 ขวบครึ่ง มากกว่านี้คือการจองที่นั่งในโรงเรียนอนุบาลที่อ้างว่าเริ่มกันตั้งแต่ในครรภ์มารดา 

เราแข่งขันกันจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ดังที่ทราบว่าโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่ของบ้านเราเน้นการอ่าน เขียน เรียนเลข โดยปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ เกิดมาเร็วช้าต่างกัน และเด็กส่วนใหญ่จะอ่าน เขียน และบวกเลขได้เองเมื่อเล่นมากพอระหว่างอายุ 2-7 ขวบ เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดในการละเล่นแทบทุกชนิดอยู่ก่อนแล้ว 

ครั้นเมื่อเด็กอายุ 7 ขวบ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บวกเลขไม่เป็น หรือแม้กระทั่งขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (self control) อันเป็นปฐมบทของความสามารถระดับสูงของสมองที่เรียกว่า EF วิธีแก้ไขที่ควรจะเป็นคือกลับไปเล่นให้มากพอ แต่เวลาวิกฤติของการเล่นผ่านไปแล้ว เมื่อเด็กอายุ 8 ขวบ พัฒนาการจะเข้าสู่ระยะที่ ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget, 1896-1980) เรียกว่า concrete operation เด็กมีหน้าที่ทางจิตวิทยาพัฒนาการอื่นที่เขาสนใจจะทำมากกว่าการเล่น พูดง่ายๆ ว่าเด็กประถมมีงานอื่นต้องทำ และจะว่าไปการเรียนหนังสือหรือการเรียนรู้ที่แท้ควรเริ่มได้อย่างเข้มข้นเร็วที่สุดก็หลังจากนี้ นี่คือปฏิบัติการเชิงรูปธรรม

ประเด็นเวลาวิกฤตินี้พาเราไปสู่เรื่องการแบ่งชนชั้นที่สืบทอดให้แก่รุ่นต่อไป ขออธิบาย

เด็กจากบ้านที่รวยกว่าจับจองที่นั่งโรงเรียนที่มีชื่อเสียงกว่าหรือโรงเรียนทางเลือกที่แพงกว่าได้ ส่วนพ่อแม่ที่บ้านยากจนกว่าถูกกันออกไปเป็นประชากรอีกพวกหนึ่ง โรงเรียนที่มีชื่อเสียงกว่ามักให้คอนเน็คชั่นแก่เด็ก แม้ว่าวันนี้โรงเรียนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะผลิตเด็กที่คิดไม่เป็นและอยู่ไม่ได้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนทางเลือกชั้นดีที่ราคาแพงกว่ามักให้โอกาสเด็กเล่นมากกว่า มีการเรียนรู้ที่เรียกว่า โจทย์ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning หรือ PBL) มากกว่า ทำให้พัฒนาด้านสมองและจิตใจสมบูรณ์กว่า กับมี EF ที่ดีกว่า 

ความรวยนั้นนำมาซึ่งคอนเน็คชั่นที่มากกว่าด้วย เราจึงได้เห็นการสืบทอดความรวยให้แก่รุ่นต่อไป เด็กที่รวยกว่าย่อมจ่ายค่ากวดวิชาก่อนเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่าและได้ที่นั่งที่ดีกว่า ทำรายได้ได้มากกว่า และธำรงชนชั้นของตัวไว้ ดูด้วยตาเปล่าวันนี้ลูกของชนชั้นที่สูงกว่าสอบเข้าแพทย์ได้ในสัดส่วนที่มากกว่าลูกของชนชั้นอื่น 

เรื่องนี้นำเราไปสู่ประเด็นเชิงสังคมใหญ่ๆ อีก 3 เรื่อง

  • ถ้าเรามีสวัสดิการลางานหลังคลอดสำหรับพ่อแม่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ว่าเวลา 12 เดือนแรกของวัยทารก เป็นเวลาวิกฤติของการสร้างสิ่งที่เรียกว่า แม่ที่มีอยู่จริง และ ความไว้ใจ (trust) เช่น ลาได้ 1 ปี โดยรับเงินเดือนเต็มทั้งพ่อและแม่ ไปจนถึงสวัสดิการด้านหนังสือนิทานประกอบภาพฟรีสำหรับเด็กทุกคน เท่ากับเราได้ประกันให้เด็กไทยทุกคนที่ออกจากครรภ์มารดาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดต่อพัฒนาการในเวลาวิกฤติของขวบปีแรก
  • ถ้าพ่อแม่ไม่ต้องปากกัดตีนถีบเช่นทุกวันนี้ ย่อมมีเวลาอยู่บ้านเล่นกับลูกอายุ 2-3 ขวบ พาลูกอายุ 2-3 ขวบ ไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายในที่สาธารณะ มีเครื่องเล่นคุณภาพดีและพอเพียงในสวนสาธารณะทุกแห่ง มีสวนสาธารณะที่ดีและพอเพียงในทุกชุมชน เราจะส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และ EF ได้เต็มที่ในเวลาวิกฤติ นี่คือรากฐานของคุณภาพชีวิตของเด็กไทยที่พึงประสงค์ เรื่องนี้ต้องการกระจายอำนาจสู่ อบต. อย่างแท้จริง ทั้งอำนาจการบริหารและงบประมาณ
  • ถ้าโรงเรียนทางเลือกมีราคาแพงจนกระทั่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจับต้องมิได้ และมีงานวิจัยระยะยาวที่พิสูจน์ว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนทางเลือกมีตัวชี้วัดของอนาคตที่ดีกว่า กล่าวคือ การเล่นที่มากกว่าในชั้นอนุบาลและการเรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐาน เป็นเรื่องที่ดีกว่าการเรียนหนังสือ ท่อง จำ ติว สอบ อย่างที่เป็นอยู่ เราควรเปลี่ยนโรงเรียนของรัฐทุกแห่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เราควรทำได้ เพราะองค์ความรู้ของการสร้างการศึกษาสมัยใหม่อย่างที่โรงเรียนทางเลือกราคาแพงทำ เรามีอยู่ในมือหมดแล้ว มีปัญหาข้อเดียวคือกระทรวงศึกษาธิการไม่ทำ 

การปฏิรูปหรือกระจายอำนาจออกจากกระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเปิดทางให้การศึกษาสมัยใหม่ได้เริ่มต้นเสียที

สามเรื่องนี้เราไม่ทำ วนเวียนอยู่ที่เรื่องถ้าให้คุณพ่อลางานเลี้ยงลูก พ่อคนไทยก็จะไปเที่ยวเตร่กินเหล้า ให้หนังสือนิทานไปก็ไม่อ่าน ให้สวนสาธารณะและเครื่องเล่นไปก็ไม่ดูแล ให้งบประมาณส่วนท้องถิ่นไปก็ดีแต่สร้างถนน ทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็น ฯลฯ และสุดท้ายคือจะอย่างไรกระทรวงศึกษาธิการไทยก็จะไม่ยอมทำอะไรต่างไปจากที่เคยทำ 

สาเหตุใหญ่คือราชการมิได้มีหน้าที่รับใช้ประชาชนอยู่แล้วตั้งแต่แรก ความจริงก็คือเรารับใช้ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีมากกว่าอย่างอื่น

3

เมื่อถึงปฐมวัยและชั้นประถม

จากครรภ์มารดาเรามาถึงปฐมวัยและประถมต้น คือสองช่วงชั้นที่ไม่ควรมีการเรียนการสอน

ปฐมวัยคือชั้นอนุบาล เป็นวัยที่เด็กๆ ควรได้เล่น มากกว่าเล่นคืออ่านหนังสือและช่วยทำงานที่บ้าน เริ่มด้วยแม่อ่านให้ฟังแล้วเด็กๆ จะอ่านได้เอง เวลาในตอนเย็นและเสาร์อาทิตย์ควรหมดไปกับการอ่านหนังสืออะไรก็ได้ เล่นเสรีอะไรก็ได้ และทำงานบ้านหรืองานอาชีพของพ่อแม่

นี่คือวิธีสร้าง EF ที่ง่าย เป็นจริง และทำได้ที่บ้าน

‘อ่าน-เล่น-ทำงาน’ เป็นพื้นฐานของการก่อร่างสร้างตัวพัฒนาการเด็กที่ดี รวมไปถึงความสามารถที่จิตวิทยาพัฒนาการสมัยใหม่เรียกว่า EF คือความสามารถในการควบคุมตนเองไปสู่เป้าหมายที่กำหนด

คุณครูอนุบาลและคุณครูประถมไม่ควรมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ควรพาเด็กๆ ‘อ่าน-เล่น-ทำงาน’

การอ่าน ช่วยสร้างแม่ที่มีอยู่จริงและวงจรความจำใช้งานที่ดี วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่เรียกว่า working memory คือความจำพร้อมใช้ที่หน้างาน มิใช่ความจำใช้สอบที่ห้องสอบเพียงเพื่อไต่เต้าสถานะการศึกษาและสถานะทางสังคม สอบเสร็จก็ลืม

การเล่น สร้างความสามารถ EF ทุกด้านและพัฒนาการทุกมิติ ไม่ว่าจะใช้ตำราของอีริคสัน, เพียเจต์ หรือ ไวกอตสกี (Lev Vygotsky, 1896-1934) ก็เขียนตรงกัน 

ตามด้วย การทำงาน ซึ่งสร้างความสามารถ EF ระดับสูงขึ้น สร้างความสามารถที่จะอดทนความยากลำบากก่อนไปถึงเป้าหมายซึ่งเรียกว่า การประวิงความสุข (delay of gratification) รวมทั้งการคิดยืดหยุ่นและการคิดวิเคราะห์ (cognitive flexibility) ระดับสูงขึ้น เหล่านี้เป็นโครงร่างของการปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยและช่วงชั้นประถมที่ประเทศของเราจำเป็นต้องรีบทำ ก่อนที่จะปล่อยให้การเรียนการสอนเนื้อหาวิชาที่ไร้สาระและคร่ำครึทำลายคนรุ่นใหม่มากไปกว่านี้ 

อย่าลืมว่าการทำลายเด็กไทยเกิดขึ้นทุกวันในทุกห้องเรียนของทุกโรงเรียนบนพื้นที่ประเทศไทย โดยที่เราได้แต่นั่งดูมาช้านาน 

คุณแม่ของพวกเราไม่มีเงินมากนัก แต่ท่านเจียดเงินซื้อหนังสือนอกเวลาให้แก่พวกเราอย่างสม่ำเสมอ คำถามคือคุณแม่ที่ไม่มีเงินซื้อหนังสือวันนี้จะให้ทำอย่างไร หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กชั้นดี ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื้อเรื่องดีมาก เนื้อหาดีมาก สร้างสรรค์ด้วยงานเขียนและศิลปะชั้นยอด ได้นักแปลที่เยี่ยมยอดช่วยแปลอีกต่างหาก ราคาต่อเล่มวันนี้ไม่ต่ำกว่า 200 บาท 

เด็กแรกเกิดคนหนึ่งไปจนถึงอนุบาล 3 ควรมีให้พ่อแม่อ่านให้ฟังทุกคืนและเดินถือไปมาเพื่อเปิดอ่านเองปีละ 300-400 เล่มเป็นอย่างน้อย นั่นเท่ากับงบประมาณปีละ 60,000-80,000 บาทต่อคนเป็นอย่างน้อย ห้องสมุดที่ใช้การได้ก็มีน้อยมาก เช่นนี้เราจะพัฒนาเด็กไทยหลังจากหลุดจากครรภ์มารดาได้อย่างไร

เด็กประถมวันนี้เสียเวลาไปกับการเรียนวิชาที่ไร้คุณค่าและการกวดวิชาเพื่อแย่งที่นั่งเรียนที่ดีที่สุดของชั้นมัธยม การแก่งแย่งชิงดีนี้ทำไปในนามของความรักของพ่อแม่ ด้วยทุกคนรู้ว่าการได้ที่นั่งที่ดีกว่าในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงมากกว่า จะประกันที่นั่งที่ดีที่สุดในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากกว่า และสร้างรายได้กับคอนเน็คชั่นที่กว้างขวางกว่า กระบวนการตลอดเส้นทางนี้คือการศึกษาไทย 

ปัญหาคือเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ เด็กไทยจำนวนมากต้องหมดเวลาไปกับการเรียนหนังสือดังว่าผู้ชนะเสียสุขภาพจิต ความข้อนี้มีแต่จิตแพทย์ที่เห็น ผู้แพ้ถูกปัดตกท่อข้างทาง ไม่มีทั้ง EF และอนาคต เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการแย่งชิงเวลาต่อ 24 ชั่วโมงของเด็กๆ คืนมา เพื่อให้พวกเขาได้ ‘อ่าน-เล่น-ทำงาน’ 

อ่านมากขึ้นด้วย ‘นโยบายหนังสือแห่งชาติ’ ที่ช่วยให้พ่อแม่ทุกบ้านเข้าถึงหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมากกว่าที่เป็นอยู่ สำนักพิมพ์ ร้านขายหนังสือ ผู้เขียนหนังสือ และนักวาดภาพมีรายได้จากการขายที่มียอดพิมพ์สูงกว่าทุกวันนี้ หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็ก 1 เล่ม หรือหนังสือเด็กโต 1 เล่ม สามารถไปถึงทุกชุมชนด้วยยอดขายต่อเล่มเป็นหมื่นแสนฉบับ เป็น ‘หลักประกันหนังสือแห่งชาติ’ เหตุเพราะหนังสือเป็นสินค้าทางปัญญา และมีสถานะเช่นเดียวกับสุขภาพ มิเช่นนั้นคนรวยกว่าจะมือยาวกว่า คว้าหนังสือที่ดีกว่าไปอ่านแล้วอยู่รอดมากกว่า คนจนกว่าจะไม่มีหนังสืออ่านแล้วยากจนไปตลอดชีวิต นำมาสู่เหตุการณ์คนรวยกว่ายื่นมือออกไปคว้าวัคซีนโควิดที่ดีกว่าได้เร็วกว่าเพราะคอนเน็คชั่นที่มากกว่า ส่วนคนจนกว่าแม้วัคซีนเข็มแรกยังถูกเทแล้วเทอีกจนกว่าจะติดเชื้อโควิดสักวันแล้วตายไป

ผู้เขียนพูดเสมอว่าเราควรเปลี่ยนโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นโรงเรียนทางเลือกราคาถูก ด้วย ‘หลักประกันการศึกษาแห่งชาติ’ การเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่ยาก เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติรอบโรงเรียนให้เรียนรู้มากมาย มีงบประมาณมากมาย เรามีไอทีที่พร้อมจะลงทั่วทุกพื้นที่ ในหุบเขาและเกาะกลางทะเล และเรามีเทคโนโลยีการสร้างระบบการเรียนรู้แบบบูรณาการในศตวรรษที่ 21 อยู่แล้ว มิใช่เรื่องยากเกินกว่าที่ครูไทยจะเรียนรู้ได้ 

แต่เราทำมิได้ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ เราเป็นรัฐราชการและเราเป็นรัฐรวมศูนย์ สองอย่างนี้ทำลายประเทศไทยมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด แล้วมาเห็นชัดต่อหน้าคนทุกคนในยุคโควิดนี้

เรามาถึงคำที่ 3 หน้าที่ (function)

ในขณะที่พ่อแม่มีเวลาวิกฤติที่ต้องทำงานบางอย่างให้แก่ลูก เด็กก็มีหน้าที่ที่ต้องทำในแต่ละช่วงชั้นของพัฒนาการเช่นกัน หน้าที่เหล่านี้เป็นทั้ง epigenesis และ critical period ด้วย กล่าวคือ เด็กจำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ลุล่วงไปตามลำดับชั้น หากลุล่วงการทำหน้าที่ ชั้นต่อไปจึงจะง่ายและเป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น หากไม่ลุล่วง เด็กจะย่ำอยู่กับที่อีกนานและกระทบถึงพัฒนาการในลำดับชั้นต่อไปที่จะไม่เรียบร้อยตามๆ กันไปเป็นลูกโซ่ 

หน้าที่ของเด็กเป็นเวลาวิกฤติของจิตใจ กล่าวคือ เขาสนใจที่จะทำหน้าที่แต่ละเรื่องเฉพาะช่วงวัย เมื่อเวลาผ่านพ้นไป อายุเขามากขึ้นเข้าสู่ช่วงชั้นต่อไป เขาจะไม่สนใจทำหน้าที่นั้นอีก แต่จะหันไปสนใจเรื่องถัดไป ตัวอย่างเรื่องวัยรุ่นไม่เอาแม่แต่จะเอาเพื่อน ไม่เอานมแต่จะเอาเหล้า เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ที่บรรยายมาเป็นเวลาวิกฤติทางจิตวิทยาพัฒนาการ แต่ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่พบว่า พัฒนาการของ EF มีเวลาวิกฤติทางชีววิทยาด้วย กล่าวคือ เราจำเป็นต้องพัฒนาเนื้อสมองที่ดีเพื่อรองรับ EF ให้เรียบร้อยก่อนอายุประมาณ 15 ปี คือมัธยม 3 เพราะกระบวนการตัดแต่งสมอง (synaptic pruning) จะหยุดนิ่งที่เวลานั้น และกระบวนการพัฒนา EF จะยุติที่อายุประมาณ 25 ปี คือประมาณ 3 ปีหลังจบปริญญาตรี หลังจากนี้เราจะทำอะไรได้น้อยมากหรือทำไม่ได้อีกเลย 

หากทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญจริง และระบุในรัฐธรรมนูญ มิใช่ไม่ระบุหรือระบุเล่นๆ แต่ได้ผู้บริหารระดับสูงที่ไม่มีวิสัยทัศน์อะไรเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์เลยมาทำงาน เรามีคำอธิบายทั้งทางจิตวิทยาและชีววิทยาว่าเพราะอะไรคุณภาพประชากรของเราจึงลดลง เรียนเก่งไปก็ช่วยเหลือสังคมโดยรวมมิได้ เพราะเก่งไม่พอ เก่งผิดทิศผิดทาง และจริยธรรมบกพร่อง ไม่นับเรื่องทำงานเป็นทีมไม่ได้ เหตุเพราะเวลาวิกฤติของการทำงานเป็นทีมอยู่ที่ระดับประถมช่วงอายุ 7-12 ปี

เราขาดความเชื่อมโยงระหว่างความผิดพลาดของพัฒนาการเด็กกับสภาพของบ้านเมืองเวลานี้ ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมโยงสองเรื่องนี้ให้ทุกท่านได้เห็น ด้วยความหวังว่าเมื่อเห็นแล้วจะมีนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถมาจัดการต่อไป

4

เมื่อเรียนมัธยมศึกษา

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 พวกเราแยกย้ายกันออกจากบ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมของรัฐซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลบ้าน ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคกิจสังคม 

พวกเราต้องออกจากบ้านตั้งแต่ฟ้ามืดเพื่อนั่งรถตุ๊กตุ๊กออกไปโลกภายนอก แล้วต่อรถเมล์ไปอีกไกล เป็นเช่นนี้ทุกเช้าเย็นคนละ 5 ปี รถเมล์สมัยนั้นไม่มีแอร์ ส่วนใหญ่เป็นรถเก่า ยามสายผู้คนเบียดเสียดโหนกันที่ประตู ภาพเหล่านี้เห็นเจนตาจนชาชิน 

ตอนเย็นกลับบ้านยิ่งสาหัส รถติดมากมายพอให้ขยับเขยื้อนไปทีละนิด หากวันไหนมีฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือมีการประท้วง รถจะติดไม่ขยับเลย ตัวผู้เขียนเองมักลงเดินกลับบ้านเสมอๆ 

ระยะทางจากเชิงสะพานพุทธถึงวัดไผ่เงินใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ได้เดินดูร้านค้าข้างทาง หลบท่อระบายน้ำ เดินหลบเสาไฟฟ้า ผ่านฟุตบาธแตกหัก เดินแซงรถยนต์คันแล้วคันเล่า ลุยน้ำที่เอ่อล้นเป็นช่วงๆ หรือไม่ระบายเป็นช่วงๆ เรื่องเหล่านี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2515-2519 ในกรุงเทพมหานคร

ผู้เขียนออกมาจากกรุงเทพมหานครได้เกือบ 40 ปีแล้ว นอกจากตึกสูงที่มีมากขึ้นแล้ว ทราบว่าโครงสร้างพื้นฐานมิได้เปลี่ยนไปมากนัก ทั้งการจราจร รถเมล์ ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้า ฟุตบาธ และที่จอดรถ เป็นไปได้อย่างไรที่เราปล่อยให้เวลาหนึ่งชั่วอายุคนผ่านไปโดยไม่มีอะไรดีขึ้นเท่าที่ควร

ตอนที่ยืนเบียดคนบนรถเมล์ ผู้เขียนยืนอ่านหนังสือเหมือนที่เราเห็นคนญี่ปุ่นทำบนรถไฟจนเจนตา มองลงไปเห็นรถเก๋งแต่ละคันมีคนนั่งคนเดียวหรือ 2 คน เวลานั้นมิได้รู้สึกอะไร ไม่รู้สึกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่รู้ว่าประเทศนี้ดีกว่านี้ได้ เรามีเงินขึ้นรถเมล์ได้ถือว่าน่าพอใจ การเดินกลับบ้านผ่านกลางกรุงเทพมหานครจากเชิงสะพานพุทธ ผ่านพาหุรัด ราชวงศ์ เยาวราช สี่พระยา สุริวงศ์ บางรัก สาทร ไปจนถึงปากทางถนนตก เป็นเรื่องสนุก มิได้มีความคิดต่อว่าผู้บริหารจังหวัดพระนครแต่อย่างใด 

จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเวลานั้นกรุงเทพฯ ปกครองด้วยระบอบอะไรอยู่ ที่โรงเรียนมีคนชื่อ พรหมินทร์, ธงชัย และ สมศักดิ์ เรียงกันมาปีต่อปีเลยทีเดียว จำได้ว่าเริ่มสร้างความปวดหัวแก่ครูบาอาจารย์แล้ว

หากมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศในช่วงปีหลังๆ นี้ ย่อมรู้ว่าประเทศที่เราเคยดูถูกสินค้าของเขา คือญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ล้วนแซงหน้าเราไปหมดแล้ว เป็นความจริงที่ว่าเมืองหลวงของพวกเขาแออัด เมืองหลวงในยุโรปหลายแห่งก็แออัด เช่น ลอนดอน ปารีส แต่ในภาพรวมแล้วโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำสะอาด ไฟฟ้า ไอที ขนส่งสาธารณะ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นสาธารณะ ห้องสมุดสาธารณะ พิพิธภัณฑ์สาธารณะ และการบริหารลำคลอง บ้านเมืองของพวกเขาทำได้ดีกว่าเรา 

เมื่อเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นจึงรู้ว่ากรุงเทพมหานครมิได้มีอิสระในการบริหารจริงตามที่อวดอ้าง แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชการและรัฐรวมศูนย์อยู่นั่นเอง ทราบว่าเมืองหลายเมืองในญี่ปุ่นและยุโรปเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ในฐานะแพทย์มีความรู้เพียงเท่านี้ นี่เป็นงานของผู้เชี่ยวชาญสาขาการเมืองการปกครองที่จะช่วยชี้และอธิบายให้ประชาชนคนไทยเข้าใจว่าเมืองอื่นๆ ในประเทศพัฒนาแล้วเขาเป็นอิสระอย่างไร มีการเชื่อมต่อหรือสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางอย่างไร พวกเขาทำได้อย่างไร

ถ้าบอกว่าได้พยายามอธิบายอยู่แล้ว แปลว่ายังไม่ดีพอ

โรงเรียนมัธยมที่ผู้เขียนเรียนมีนักเรียนหัวก้าวหน้ามาก ครูบางท่านถึงกับว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เวลานั้นมีการประท้วงนอกโรงเรียนรายวัน บรรยากาศในโรงเรียนก็ร้อนรุ่ม จำได้ว่ามีการเผาวรรณคดีในโรงเรียนด้วย ผู้เขียนเป็นเด็กเรียนเก่ง มารยาทดี ตอบปัญหาภาษาไทยชนะเลิศ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเป็นที่รักของครูบาอาจารย์ จึงเป็นฝ่ายขวา และออกจะรำคาญเวลาเพื่อนนักเรียนมัธยมด้วยกันทิ้งขยะลงพื้นบนตึกเรียนแล้วพูดว่าเรามีเสรีภาพ

ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้เขียนจำได้ว่าพี่ธงชัยเคยออกอาการหงุดหงิดที่เพื่อนคนหนึ่งพูดไทยคำฝรั่งคำในงานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จ — “เป็นคนไทยทำไมไม่พูดภาษาไทย” ถัดมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนังสืออนุสรณ์โรงเรียน เริ่มด้วยหนังสือหัวก้าวหน้าที่ชื่อว่า ศึก มีพี่ประชาเป็นสาราณียกร หนังสือปีถัดมาให้นักเรียนทุกห้องได้ยืนถ่ายรูปอย่างอิสระ ยกมือยกไม้เฮฮาได้โดยไม่ต้องนั่งหรือยืนแถวตรงโดยมีคุณครูประจำชั้นนั่งกลาง สร้างความไม่สบายใจให้ใครหลายคน จำได้ว่าผู้เขียนเห็นด้วยที่พี่ธงชัยหงุดหงิด ชอบการถ่ายรูปหนังสืออนุสรณ์แบบต่างคนต่างยืนเพราะมีชีวิตชีวาดี อย่างไรก็ตามเด็กดีย่อมเป็นฝ่ายขวา แล้วก็ถูกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สั่นคลอนเช่นเดียวกับหลายๆ คนเวลานั้น กว่าจะไปตาสว่างจริงๆ เป็นครั้งแรกก็เมื่อได้ไปเรียนแพทย์

ที่โรงเรียนมัธยมเวลานั้นมีชมรมต่างๆ มากมาย ตอนแรกๆ ก็เป็นชมรมวิชาการหลากหลายทั้งไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จนหลัง 14 ตุลาฯ จึงมีกลุ่มหัวก้าวหน้าและการเขียนโปสเตอร์ต่างๆ นานามากขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่านักเรียนทุกคนจะมากน้อยก็มีหนึ่งชมรมให้สังกัด นี่คือพัฒนาการทั่วไปของวัยรุ่น

วัยรุ่นมีหน้าที่ข้อหนึ่งนอกเหนือจากการค้นหาและตกตะกอนอัตลักษณ์แล้ว คือหาแก๊งเข้าสังกัด การเข้าชมรมหรือหาแก๊งสังกัดเป็นไปเพื่อรับใช้หน้าที่ค้นหาอัตลักษณ์อีกต่อหนึ่ง กล่าวคือเราจะดูดซับอัตลักษณ์ของหัวหน้าแก๊งและสมาชิกแก๊งเข้ามาหาเรา แล้วรวมกับอัตลักษณ์ของพ่อแม่กลายเป็นหนึ่งเดียวคนนี้ คนใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้นอะไรต่ออะไรที่เรียกว่าชมรมหรือแก๊งเป็นเรื่องชั่วคราวครั้งวัยรุ่นเท่านั้น

ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นสมาชิกแก๊งสูบบุหรี่หลายคน และจะว่าไปผู้เขียนเป็นที่รักของพวกเขามาก เพราะคอยติวสอบให้แก่พวกเขา วันนี้พวกเขาเป็นคนธรรมดา มิได้ชั่วช้าเพราะสูบบุหรี่แต่อย่างใด คนที่เคยเป็นขวา คนที่เคยเป็นซ้าย วันนี้สลับข้างกันหลายคน จะว่าไปก็สลับกันตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยกันแล้ว ท่านที่ออกค่ายอาสาตลอดชีวิตนักเรียนแพทย์วันนี้เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน ท่านที่เคยเป็นฝ่ายขวาเหมือนผู้เขียนได้ติดตามหัวหน้าแก๊งมาเป็นแพทย์ในต่างจังหวัด แต่บางทีอาจจะเป็นเพราะไม่มีที่จะไปเสียมากกว่า เพราะพวกเราที่ออกไปด้วยกันไม่มีคอนเน็คชั่น

ผู้เขียนไม่มีความคิดเรื่องการใช้คอนเน็คชั่นแม้เพื่อนจะช่วยหาให้ได้ ออกจากบ้านไปทำงานที่จังหวัดเชียงรายด้วยเหตุผลเดียวคือไม่มีใครแย่ง ไม่ต้องจับฉลาก และไม่ต้องฝากใคร ก็ไม่ถึงขั้นตกระกำลำบากเหมือนหมอเสม ว่าที่จริงเหมือนได้อยู่เมืองสวรรค์เสียมากกว่า ตัวเมืองเชียงรายวันนั้นทีวีมีช่องเดียว ตู้โทรศัพท์สาธารณะตู้เดียว ร้านขายของชำถนนสายกลางมีร้านเดียว และร้านรวงปิด 1 ทุ่ม เป็นเมืองที่อากาศดีมากๆ และไม่มีรถติดเลยเพราะมีจำนวนรถยนต์น้อยมาก

โรงเรียนมัธยมวันนี้ส่งเสริมการชิงดีชิงเด่นและการสร้างคอนเน็คชั่น ทำให้นักเรียนมัธยมไม่เป็นตัวของตัวเอง ผิดหลักพัฒนาการด้านการค้นหาอัตลักษณ์ เราจึงได้ผู้ใหญ่ไม่เป็นโล้เป็นพายที่ไม่มีอัตลักษณ์มีแต่คอนเน็คชั่นขึ้นมาบริหารบ้านเมืองเสียจนล้มเหลวเสมอมา

ความเป็นเด็กเรียนเก่งเสมอต้นเสมอปลายทำให้ต้องเอนทรานซ์เข้าหมอแบบไม่มีอะไรให้คิด เชื่อได้ว่าตอนที่ผู้เขียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 น่าจะไม่มีเป้าหมายของตัวเอง ที่ว่าเรียนเก่งต้องเป็นหมอ เป็นความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่และสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ไม่นานเสรีภาพเบิกบานชั่วขณะหนึ่ง โรงเรียนยกเลิกระบบห้องคิงห้องควีน ผู้เขียนจึงมีวาสนาไปอยู่รวมกับห้องเด็กที่เรียนไม่เก่ง เพื่อนๆ สวมเสื้อนักเรียนหลวมโพรกที่เรียกว่าเสื้อพ่อ ใส่รองเท้าแตะมาโรงเรียนบางวัน และสูบบุหรี่ ตีบิลเลียด กับอ่านหนังสือปกขาวเมื่อมีโอกาส

อันที่จริงผู้เขียนรู้จักหนังสือปกขาวเป็นครั้งแรกในชีวิตก็เพราะเพื่อนๆ พวกนี้เอามาแบ่งปันปนตอบแทนที่ผู้เขียนคอยเป็นติวเตอร์ให้แก่พวกเขา บทเรียนเรื่องการได้อยู่ร่วมกับเด็กเรียนไม่เก่งครั้งนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งของชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนเห็นเพื่อนๆ ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน พวกเขามีนิสัยแตกต่างจากพวกเรียนเก่ง พวกเขาสนุกสนาน เฮฮา และรู้จักแบ่งปัน พวกเขาจริงใจ ถ่อมตน มีน้ำใจ แม้ว่าจะขึ้นมึงกูและสบถทุกประโยค เด็กเรียนเก่งหลายคนหวงวิชา ชิงดีชิงเด่น ขี้อิจฉา และปัดแข้งปัดขา

เวลานั้นปรากฏการณ์เหล่านี้อาจจะไม่ชัดเจนนัก แต่ก็มากพอที่จะสัมผัสได้ เป็นที่เห็นกันว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นในระยะหลังๆ เด็กประถมรวมทั้งเด็กมัธยมวันนี้ต้องติว ต้องสู้ และจำเป็นต้องหวงวิชาเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการศึกษาออกไปให้มากที่สุด งบประมาณการติวเป็นหลักแสนและอาจจะถึงหนึ่งล้านเมื่อรวมค่าหอพัก ค่าเดินทาง และค่ากินอยู่ มีแต่ครอบครัวชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูงเท่านั้นที่สามารถลงทุนการศึกษากับลูกได้มากมายเพียงนั้นจนกว่าจะเป็นผู้ชนะ 

ผลที่ได้คือลูกคนรวย-รวยยิ่งขึ้น ลูกคนจน-จนมากขึ้น ช่องว่างนี้ถ่างจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการศึกษาไทย

เด็กประถมและเด็กมัธยมมีหน้าที่ทางจิตวิทยาคือการทำงานเป็นทีม เด็กมัธยมต้องหาแก๊งสังกัดอีกด้วย แทนที่เด็กประถมจะได้พัฒนาความสามารถในการทำงานเป็นทีมกลับต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาชนะเพื่อนฝูง เราจึงได้ผู้ใหญ่ที่ทำงานเป็นทีมไม่ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ หรือสถาบันใดๆ แม้แต่องค์กรอิสระก็มีลักษณะเป็นแท่งวิชาการที่แข็งตัวเป็นเทคโนแครตและมีวัฒนธรรมขุนนางครอบงำ 

เด็กมัธยมที่เรียนเก่งเข้าแก๊งเรียนเก่งได้ ไม่มีปัญหาอะไร เด็กมัธยมที่เรียนไม่เก่งจะเข้าแก๊งอะไร จิตวิทยาพัฒนาการบอกเราว่า พวกเขาจะเข้าแก๊งที่ตนเองแสดงความสามารถได้ คือมีเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) ได้รับการยอมรับและปรบมือ ดังนั้นหากเรากดดันเขาเข้าแก๊งเด็กเรียนเก่งเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดพื้นที่อื่นๆ ให้วัยรุ่นได้สำแดงเดช พวกเขาก็จะไปเลือกแก๊งกันเอาเอง อาจจะเป็นแก๊งสูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้ยาเสพติด ซิ่งรถเร็ว หรืออื่นใด 

ที่ยกตัวอย่างมานี้มิได้แปลว่าไม่ดี เป็นเพียงกระบวนการหาแก๊งเข้าสังกัดชั่วคราวเพื่อสร้างอัตลักษณ์เท่านั้น คล้ายๆ กับที่ผู้เขียนออกไปทำงานในชนบท จะว่ามีอุดมการณ์ก็ใช่ แต่จะว่าเพียงเพราะตามเพื่อนไปด้วยกันเป็นกลุ่มก็ใช่

ในที่สุดผู้เขียนก็เรียนจบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้วไปเรียนแพทย์ที่ศิริราช รู้สึกได้ว่าตนเองมีประสบการณ์ผ่านสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์และมีประวัติยาวนานติดต่อกัน 2 สถาบัน รวมเวลา 10 ปี ครั้งที่เรียนสวนกุหลาบนั้นตนเองรักสถาบันมากมายจนถึงกับเรียกได้ว่าคลั่งไคล้ ช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์ที่มหิดล 2 ปี ก่อนจะได้ข้ามฟากไปที่ศิริราชจริงๆ จึงพบว่าโลกกว้างใหญ่กว่าที่เรารู้จักมาก

สภาพแวดล้อมเวลานั้นช่วยให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น และโหยหาชนบทมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว 2 ปีแรกที่ศิริราชได้คลุกคลีกับสโมสรนักศึกษาแพทย์ซึ่งเวลานั้นถูกเรียกว่าพวกหัวก้าวหน้า ผู้เขียนมิใช่หัวก้าวหน้าอะไร เพียงแค่ตามๆ เขาไปเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ดังที่ว่า ไม่ได้ทำอะไรมากนักเพราะแม่ห้ามด้วยเกรงว่าจะเกิดอันตราย

แต่ด้วยสายตาและสติปัญญาเวลานั้น ก็พอมองเห็นว่าสังคมของเรามีชนชั้นจริงๆ และพอจะรู้บ้างว่ามีใครบางคนหรือบางกลุ่มต้องการธำรงโครงสร้างชนชั้นต่างๆ เอาไว้จริงๆ จากเด็กฝ่ายขวาเรียนเก่งกลายเป็นเด็กแม้จะไม่ซ้ายแต่ก็เริ่มมีคำถามในใจ แล้วจบลงด้วยการจัดกระเป๋าออกจากกรุงเทพฯ ทันทีที่เรียนจบ มิวายว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงจะห้ามไว้

ผู้เขียนไปเป็นแพทย์ฝึกหัดในจังหวัดที่ไม่มีโครงสร้างของแพทยศาสตร์ศึกษาเลย ไม่มีแพทย์ประจำบ้าน ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง และไม่มีอาจารย์แพทย์ มีเพียงรุ่นพี่ที่ทำงานมาคนละสิบยี่สิบปีจำนวน 10 คน กับแพทย์ใช้ทุนปี 1 อีก 4 คน จากนั้นจึงมาถึงพวกเราแพทย์ฝึกหัด 6 คน เป็นวันเวลาที่ผู้เขียนได้ออกจากกะลาที่ครอบไว้ ได้เห็นชาวบ้านตัวเป็นๆ ที่มิใช่คนกรุงเทพฯ เห็นความใสซื่อของคนชนบทตามที่เป็นจริง ความสบายและเรียบง่าย จิตใจดีงามพร้อมให้อภัย และความไม่อยากได้อะไรนอกจากมีกินมีใช้

พวกเขาเป็นแบบนี้กันจริงๆ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะยังเป็นอยู่นี่แหละจึงได้พอใจกับความยากจนและชีวิตที่ขัดสน อีกทั้งมีความอดทนอย่างเหลือเชื่อ หากจะมีอะไรที่ร้ายกาจเกิดขึ้นก็เพราะบุญทำกรรมแต่ง มากกว่าจะคิดว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีฝีมือ

เพียงปีแรกของการเป็นแพทย์ฝึกหัดและอีก 2 ปี เมื่อเป็นแพทย์ใช้ทุน ก็พอมองเห็นว่าราชการทำร้ายพวกเขาอย่างไร แย่งชิงทรัพยากรของพวกเขาอย่างไร และกล่อมประสาทพวกเขาอย่างไรให้เชื่อว่าชีวิตที่เป็นอยู่เรียกว่าดีแล้ว รวมทั้งความเป็นแพทย์ในระบบราชการของเรามีอำนาจล้นฟ้ามากเพียงใดทั้งๆ ที่เป็นเพียงแพทย์ใช้ทุน เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่อยู่เหนือกว่า กดพวกเขาให้จมอยู่ในปลักโคลนของสิ่งที่เรียกว่าเป็นคนดี มีน้ำใจ รู้จักประหยัด และพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ จงเชื่อในสุภาษิตต่างๆ ทำดีได้ดี หรือความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น จงเชื่อในกฎแห่งกรรม ทำบุญไว้เยอะๆ ก็ดีแล้ว ขาดเหลืออะไรก็คอยรับบริจาค จะมีผู้ใจบุญหรือราชการเอามาให้ 

เพียง 3 ปีของชีวิตแพทย์ในต่างจังหวัดก็รู้แล้วว่า ทำดีในสังคมไทยมิได้แปลว่าต้องได้ดี ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จมิได้อยู่ที่นั่น และธรรมะจะไม่ชนะอธรรม ราชการกล่อมประสาทให้ชาวบ้านพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ พอใจในผักสวนครัวรั้วกินได้ หรือนอนเถียงนาอากาศดี คนทางเหนือเราเรียกว่าห้างนา ปิดท้ายด้วยหากขาดเหลืออะไร เราจะวิ่งหรือถีบจักรยานเพื่อรับบริจาคให้ทุกครั้งไป

มีความพยายามที่จะวาดภาพชนบทให้มีแต่ท้องนาเขียวขจีของเดือนสิงหาคมและธารน้ำใสไหลเย็นแสนโรแมนติก โดยมิได้พูดถึงมด แมลง ตะขาบ แมงป่อง และงูพิษทุกหนแห่ง รวมถึงน้ำแห้ง ดินแล้ง และอากาศเป็นพิษเพราะฝุ่นควัน

เพราะเป็นหมอ จึงผ่อนรถสำเร็จและสร้างบ้านเสร็จก่อนเกษียณอายุราชการ นี่มิใช่งานที่คนไทยทุกคนทำได้ ที่จริงแล้วคนส่วนใหญ่ทำมิได้ ส่วนที่ทำได้ก็สังเวยทั้งชีวิตกว่าจะได้ นี่คือเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ต้องการให้จบที่รุ่นเรา เพราะพวกเขาตาสว่างแล้วว่าไม่จำเป็นต้องทน มีประเทศที่ดีกว่านี้บนโลก และประเทศของเรามีทรัพยากรอีกทั้งอยู่ในวิสัยที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาคาดหวังว่าเราควรทำและทำได้ 

หากทำไม่ได้ พวกเขาพร้อมจะจากประเทศนี้ไปเป็นพลเมืองของโลก รถ 1 คัน บ้าน 1 หลัง มิควรเป็นเรื่องที่ต้องสังเวยทั้งชีวิต และละทิ้งความฝันส่วนตัวเพื่อหามา

เราจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและบริหารบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจำเป็นต้องสลายรัฐราชการและรัฐรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ เลือกตั้งแล้วเลือกตั้งอีก รวมทั้งการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ที่เราจำเป็นต้องเอ็กเซอร์ไซส์แล้วเอ็กเซอร์ไซส์อีกจนกว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ไม่ควรมีการปฏิวัติอีกแล้ว และเราควรมีกลไกที่ใช้ลงโทษผู้ที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตย

5

เมื่อเป็นหมอ

ผู้เขียนเริ่มชีวิตแพทย์โดยเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลในตำนานของ อาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว (พ.ศ. 2454-2554) 

ความข้อนี้สำคัญ เรื่องเล่าของอาจารย์เสมยังวนเวียนอยู่ในชั้นบรรยากาศเมืองเชียงราย ความขัดสนและความอุทิศตนของท่านเป็นที่กล่าวขวัญ ผู้เขียนได้เขียนคำนำให้แก่หนังสือการ์ตูน หมอเสม คนดี 4 แผ่นดิน ที่เล่าเรื่องของท่าน ตอนที่ประทับใจคือเมื่อมีคนให้หม้อท่านไปเชียงรายเพื่อเก็บกระดูกกลับมาด้วย อย่าว่าแต่ยุคอาจารย์เสมเลย เชียงรายในปีที่ผู้เขียนไปนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากต้นไม้ใบหญ้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจริงๆ เมื่อครั้งออกไปจากกรุงเทพฯ

เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าเสมอคือ เรื่องเด็กทารกหายใจหอบมาหาผู้เขียนกลางดึกคืนหนึ่งในฤดูหนาว แม่อุ้มมาจากอำเภอเชียงของซึ่งห่างจากตัวเมือง 120 กิโลเมตร เชียงของเวลานั้นขับรถส่วนตัวใช้เวลา 3 ชั่วโมง ผู้เขียนไม่ทราบพวกเขาอยู่กันอย่างไรและเดินทางอย่างไร เวลานั้นผู้เขียนอาบน้ำจากตุ่ม ไม่มีเงินซื้อเครื่องทำน้ำร้อน ความหนาวในซิตี้เซ็นเตอร์ว่าทารุณแล้ว ความหนาวที่เชียงของจะมากมายเพียงไร

เวลาพูดเรื่องความหนาวเราจะคุ้นเคยภาพการบริจาคผ้าห่ม แล้วผู้เขียนก็พบภาพการบริจาคนั้นทุกปีจนชินตา ด้วยสมองที่พอจะมีก็คิดออกได้เองว่าเราจะบริจาคกันแบบนี้ไปถึงเมื่อไร ทำไมเราไม่ทำให้ชาวบ้านไม่หนาว มิใช่ทำให้เขามีผ้าห่ม แต่ทำให้เขาไม่หนาว สองประการนี้ต่างกัน ต้องการวิธีคิดและวิธีทำงานคนละแบบ 

เวลานั้นเราติดกับดักการบริจาคกันมาก ถัดมาก็ติดกับดักเรื่องสอนให้ชาวบ้านจับปลา ต่อมาก็ติดกับดักเรื่องความพอเพียง สุดท้ายเราวิ่งเพื่อบริจาคเงินให้โรงพยาบาลซึ่งมีเงินอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นน้ำท่วมปาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายท่านจะพูดว่าเราไม่มีเงิน ผู้เขียนจะพูดคำเดิมเสมอว่าเรามี เราใช้จ่ายอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง และเงินของประเทศอยู่ที่ไหนเป็นอีกกรณีหนึ่ง

แม่ของเด็กที่หอบลูกมาตอนตี 2 นั้นไม่มีเงิน ผู้เขียนเป็นแพทย์ฝึกหัดจึงเซ็นฟรีไม่ได้ ต้องรอจนเป็นแพทย์ใช้ทุนจึงทำได้ จำได้ว่าบัตรสุขภาพราคา 500 บาท เกิดขึ้นแล้ว และจำได้ว่าเป็นที่ซุบซิบกันว่าคนรวยได้บัตรสงเคราะห์กับบัตรสุขภาพ ส่วนคนจนไม่ได้ สารภาพว่าสติปัญญาผู้เขียนเวลานั้นไม่รู้ทางออกจากปัญหานี้เหมือนกัน 

ผู้เขียนชอบขับรถไปตามถนนเส้นเล็กของจังหวัดเชียงรายตั้งแต่หนุ่มๆ เลือกสักเส้นหนึ่งเพื่อเลี้ยวออกจากไฮเวย์เราจะหลุดไปที่อีกโลกหนึ่งเสมอ เห็นบ้านชาวบ้านสองข้างทาง เห็นความยากจนและสกปรก จึงอินกับเรื่องทารกจากเชียงของนี้เป็นพิเศษ

เวลานั้นผู้เขียนต้องออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งมีคุณกับผู้เขียนมาก คือช่วยพาเราไปที่ดินแดนซึ่งไม่เคยมีใครไปมาก่อน เวลาเห็นหลังคาบ้านชาวเขาสักคนบนดอย หรือหลังคาบ้านชาวบ้านสักหลังในถนนลูกรังเส้นเล็กสักเส้น ในใจจะคิดเรื่องเขาเดินทางไปหาเราที่โรงพยาบาลได้อย่างไรเสมอ ตื่นกี่โมง หารถที่ไหนออกไปถนนใหญ่ 

ผู้เขียนมักนึกถึงวัยเด็กที่มีขนส่งสาธารณะชื่อว่ารถสองแถวพาออกจากวัดไผ่เงินไปบางรัก แต่ที่นี่ไม่มีรถสองแถว แล้วอย่างไรต่อ รอรถเมล์นานไหม รถเมล์พัดลมวิ่งช้าแค่ไหน ถึงสถานีขนส่งในตัวเมืองแล้วอย่างไรต่อ ต่อรถเข้าอำเภอเมืองอย่างไร ถึงสถานีขนส่งในอำเภอเมืองแล้วจะไปถึงโอพีดีโรงพยาบาลได้อย่างไร ทำบัตรนานไหม รอผู้เขียนออกตรวจนานไหม แล้วสุดท้ายคือผู้เขียนตรวจ 2 นาที จะด่าไหม 

เรื่องเหล่านี้วนเวียนในใจเสมอและชวนให้รู้สึกเสมอว่าไม่น่ามาเป็นหมอเลย เราทำบาปพอๆ กับทำดีควบคู่กันไปตลอดเวลา เราตรวจได้ดีเท่าที่จะดีได้ แต่เราก็ด่าเมื่อเหนื่อยได้เช่นกันทั้งที่ผู้ป่วยมิได้ทำอะไรผิด เวลาผู้เขียนตรวจผู้ป่วยช้าเกินไป บ่าย 3 โมงของผู้เขียนมิใช่เรื่องใหญ่ แต่ผู้เขียนไม่รู้ว่าหลายคนกลับบ้านไม่ได้ พวกเขาต้องนอนเรือนพักญาติ หรือริมฟุตบาธหน้าโรงพยาบาล 

เป็นยุคสมัยที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโรงแรม มีบ้างก็ราคาสำหรับเซลส์แมน มิใช่สำหรับชาวบ้าน ผู้เขียนเคยเดินขึ้นไปเรือนพักญาติบางครั้ง เราเป็นคนนอก หมอหนุ่มจากกรุงเทพฯ จะไปเข้าใจภาพที่เห็นได้อย่างไร นอกเหนือจากความหดหู่

แล้วสวรรค์ก็มาโปรด ผู้เขียนได้ยินคำว่า ‘สามสิบบาทรักษาทุกโรค’ ครั้งแรกจากไหนจำไม่ได้แล้ว แต่ที่อ่านอย่างตั้งใจคือบทความที่ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (พ.ศ. 2495-2551) เขียนลงหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ครั้งหนึ่ง มันยอดมาก เวลานั้นไม่รู้จักคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย รู้อยู่อย่างเดียวว่ามันดีมาก ส่วนเงินมาจากไหนไม่เคยห่วงเลย เพราะรู้แก่ใจนานแล้วว่าราชการมีเงิน 

เรามีเงิน ไม่ว่าจะเป็นที่ศาลากลางจังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ เราแค่ไม่เห็นหัวชาวบ้านเท่านั้นเอง ครั้นได้ยินเสียงต่อต้านคุณหมอสงวน รวมทั้งเสียงด่าทอคุณหญิงสุดารัตน์กับคุณหมอสุรพงษ์อย่างลามกหยาบคาย โดยเฉพาะจากวิชาชีพเดียวกันในแชทรูมของกลุ่มแพทย์เวลานั้นก็รู้สึกเสียใจเป็นอันมาก เป็นครั้งแรกๆ ที่ตนเองรู้สึกได้ว่าไม่ควรมาเป็นแพทย์เลยทั้งที่ภูมิใจในวิชาชีพมาตลอด

‘ใกล้บ้านใกล้ใจ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ เรื่องนี้ถูกต้อง ชาวบ้านได้ไปหาหมอใกล้บ้านฟรี ด้วยงบประมาณที่คำนวณมาตามจริงแล้วรัฐจ่าย ส่วนเราเป็นหมอได้ทำงานสุดฝีมือตามจริยธรรมที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องกังวลว่าชาวบ้านมีจ่ายหรือไม่ นี่เป็นเรื่องดีมากที่สุดของระบบสาธารณสุข คือ Brave New World ที่ควรจะเป็นมากๆ ชวนให้นึกถึงตอนคุณแม่พาผู้เขียนเดินทางจากบ้านไปรอคิวที่โรงพยาบาลเด็กครึ่งวันเพื่อตรวจไข้หวัดใหญ่ ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ชั้นประถม 4 ความทุกข์ไม่ได้ครึ่งหนึ่งของคนเชียงของ 

ส่วนเรื่องหมอทำงานหนัก ผู้เขียนยิ่งรู้สึกประหลาดใจหนักเข้าไปอีก เราเรียนมาเพื่อทำงาน เรารับเงินเดือนด้วย จบปุ๊บได้ตั้ง 3,000 กว่าบาท ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วเยอะมาก สมัยเรียนก็เรียนฟรีด้วยภาษีประชาชน ทำงานก็ได้เงิน แล้วจะพูดทำไมว่างานหนัก เรื่องงานหนักแล้วไม่มีคุณภาพเรามาเถียงกันวันหลังได้ ที่จริงเรื่องนี้ผู้เขียนมีคำตอบส่วนตัวคือกระทรวงสาธารณสุขบริหารระบบไม่ได้เรื่องเลย พวกเรางานหนักเพราะพวกผู้ใหญ่ในกระทรวงไม่ทำงานหรือทำงานไม่เป็นมากกว่าอย่างอื่น การที่เราซึ่งประจันหน้ากับชาวบ้านที่ด่านหน้ามีหน้าที่ทำงานอย่างดีที่สุดเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว และเราควรหันไปแก้ไขกระทรวงฯ มิใช่มาไล่เบี้ยเอากับชาวบ้าน

เมื่อผู้เขียนอายุ 50 ปี ผู้เขียนตรวจผู้ป่วยจิตเวชวันละ 100-180 คนต่อวัน ต่ำกว่า 100 ไม่เคยปรากฏ มากกว่า 200 นานๆ ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนตรวจหมดทุกวันโดยไม่ยอมให้คนเชียงของ เวียงแก่น ขุนตาล แม่ฟ้าหลวง หรือดอยหลวงต้องหาที่นอนในตัวเมือง ท่านคำนวณได้ว่าเหลือเวลาให้ผู้ป่วยคนละกี่นาที เรื่องคุณภาพก็ดีเท่าที่จะดีได้โดยที่ไม่เคยอวดอ้างว่าดี ตรวจเร็วเท่านี้ไม่ถูกผู้ป่วยด่าก็แปลก 

วันหนึ่งจะมีผู้ป่วยแสดงความไม่พอใจสองสามคน ตลอดชีวิตเคยถูกตบโต๊ะใส่ 2 คน และเคยถูกผู้ป่วยร้องเรียนถึงผู้อำนวยการ 1 ครั้ง ในใจคิดเสมอว่าถูกฟ้องวันไหนก็วันนั้น แต่วันนี้จะตรวจให้เร็วที่สุดและดีที่สุดเพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้าน หลายครั้งที่ถามผู้ป่วยว่าครั้งต่อไปพบเจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อรับยาเดิมจะดีกว่าไหม ทุกคนว่าอยากพบหมอ เรื่องจำกัดจำนวนผู้ป่วยต่อวันจึงทำไม่ลง เรื่องส่งยาทางไปรษณีย์ไม่เคยคิด เหตุหนึ่งเพราะเป็นหมอรุ่นเก่า เราต้องตรวจ อีกเหตุหนึ่งเพราะไม่ตรวจก็ไม่รู้จะประเมินอย่างไร จิตแพทย์ทำงานด้วยการตรวจสภาพจิต ซึ่งจำเป็นต้องเห็นสีหน้าท่าทางและฟังกระแสคำพูด (speech) วิชาชีพนี้มิได้วินิจฉัยจากอาการหรือคำบอกเล่า

เรื่องทั้งหมดจะกลับมาที่เราเสมอเพราะว่าเราเป็นวิชาชีพ เรียนมาเพื่อการนี้ เราตื่นเช้ามาตรวจผู้ป่วย ตรวจไปทำไม เพื่อให้ผู้ป่วยหายดี หรือเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่กับตัวโรคได้อย่างสมดุล หรือเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาแล้วกลับบ้านได้ก่อนตะวันตกดิน เหล่านี้สิทธิ์ขาดอยู่ที่เรา จริยธรรมวิชาชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เหตุเพราะเราเป็นวิชาชีพที่มีอำนาจเหนือผู้รับบริการของเรามาก 

นอกจากเรื่องเล่าของอาจารย์เสม มาที่เรื่องเล่าของอาจารย์ป๋วย มีบันทึกเขียนว่าจอมพลสฤษดิ์จะสร้างตึกให้อาจารย์ป๋วยและครอบครัวอยู่อย่างสบายแทนเรือนไม้เล็กๆ ที่อาศัยอยู่ หลังจากเซ้าซี้อยู่หลายครั้ง อาจารย์ตอบว่า “เมียผมเขาไม่ชอบอยู่ ถ้าท่านสร้างตึกให้ก็จะเข้าอยู่ไม่ได้” แล้วผู้เขียนก็ไม่รับอะไรจากใครจริงๆ หลังจากพยายามฝึกรับสมุดปากกาและกระดาษทิชชูในช่วงแรกๆ ของการเป็นแพทย์ประจำบ้านตามอย่างคนอื่นๆ เราอยากเป็นเหมือนคนอื่นและพยายามที่จะทำตัวเหมือนคนอื่น แต่สุดท้ายไปไม่ไหว

ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต ขอให้ผู้เขียนช่วยดูแลบัญชียาโรงพยาบาลเพราะการเงินของโรงพยาบาลดิ่งเหว ตนเองจึงได้รู้ว่าบริษัทยาให้ของกำนัลพวกเราเยอะมาก ทั้งส่วนตัวและผ่านห้องพักแพทย์ บางบริษัทมีแคมเปญสะสมไวแอลยาแลกทีวี เครื่องเสียง และเครื่องกรองน้ำได้อีกด้วย ไม่นับเรื่องเที่ยวต่างประเทศทั้งครอบครัว เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนไม่เคยทำเพราะอาจารย์ป๋วยโดยแท้ ผลที่ได้รับคือการเป็นคนนอก นั่นนำไปสู่คำที่ผู้เขียนพูดกับพ่อแม่เด็กหรือผู้ป่วยเสมอๆ นั่นคือ “ทุกทางเลือกเรามีราคาต้องจ่าย” จะจ่ายหรือไม่จ่ายก็อยู่ที่เรา ที่สำคัญคือเมื่อทำแล้วก็ต้องรับผิดรับชอบผลของการกระทำ

งานหนักเกินไป ผู้ป่วยล้น คนทำงานไม่พอ เหล่านี้เป็นความรับผิดชอบและความรับผิดรับชอบของกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น หากจะมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลสักคนหนึ่งที่ธำรงตนอยู่ได้ หรือแพทย์ผู้น้อยสักคนหนึ่งที่ธำรงตนอยู่ได้ จะมากหรือน้อยก็มีราคาส่วนตัวต้องจ่าย ความไร้ประสิทธิภาพของกระทรวงฯ อย่างสั้นที่สุดมี 3 เรื่อง และเพื่อคืนความยุติธรรมแก่กระทรวงสาธารณสุข ผู้เขียนควรบอกว่าตัวเองคาดเดาว่าทุกกระทรวงก็น่าจะประมาณนี้ 

เรื่องที่ 1 ข้าราชการระดับสูงมิได้ทำงานรับใช้ประชาชน พวกเขารับใช้ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรี 

มีตัวอย่างมากมาย ขอเล่าเรื่องเดียว เวลาผู้ใหญ่จากส่วนกลางมาดูงาน พวกเราไม่เป็นอันได้ทำงานทำการ ต้องเตรียมการต้อนรับ จองร้านอาหารหรู ทำไวน์ลิสต์ ทิ้งผู้ป่วยไปต้อนรับที่สนามบิน แล้วก็ทิ้งงานประจำขึ้นห้องประชุม 

พยาบาลอายุไม่มาก หน้าตาดี อาจจะถูกเกณฑ์ก่อน พนักงานธุรการอายุไม่มาก หน้าตาดี ถูกเกณฑ์ไปด้วย มีครั้งหนึ่งที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านหนึ่งชี้ผู้เขียนเป็นส่วนตัวว่าให้ไปต้อนรับ เพราะท่านมาตรวจงานเรื่องยาเสพติดด้วย ผู้เขียนตอบผู้อำนวยการว่าไม่ไป ทำเอาพี่ที่เคารพคนหนึ่งต้องรีบลากตัวออกจากห้องว่าไปพูดแบบนั้นได้อย่างไร ผู้เขียนตอบว่าทำไมจะไม่ได้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีหน้าที่รับผิดรับชอบผู้ป่วยที่โอพีดีด้วย โดยออกแบบระบบและอำนวยความสะดวกให้แพทย์ด่านหน้าสามารถออกตรวจผู้ป่วยที่โอพีดีเร็วที่สุดและดีที่สุด ไม่ใช่มาเรียกแพทย์จากโอพีดีไปต้อนรับผู้ใหญ่ 

ถ้าผู้ใหญ่จากส่วนกลางจะดูงานยาเสพติดตามที่เป็นจริง มิใช่การเสกสรรปั้นแต่งพรีเซนเตชั่น ท่านควรไปหาแพทย์ที่รับผิดชอบถึงที่ทำงานของเขา นี่กลับมาเรียกให้ทิ้งผู้ป่วยไปยืนเข้าแถวต้อนรับ แต่พวกเราบางคนก็ยินดีทิ้งงานประจำไปต้อนรับจริงๆ ด้วย 

เรื่องที่ 2 ข้าราชการส่วนใหญ่คาดหวังที่จะมีคอนเน็คชั่นที่ดีเพื่อเลื่อนระดับสูงขึ้น เข้าสู่วงในของชนชั้นปกครองมากขึ้น และได้ทรัพยากรมากขึ้น 

นั่นทำให้ข้าราชการที่มีพื้นเพมาจากชาวบ้านหลายคนลืมอดีตของตน

ตอนที่ผู้เขียนเรียนจบจิตเวชศาสตร์กลับมาเชียงรายปีแรก เราเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชคนเดียวจึงมีคนเชิญไปบรรยายนั่นนี่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งผู้เขียนพูดว่าไม่ไป เพราะเป็นวันที่ออกตรวจผู้ป่วยนอก จะให้ทิ้งผู้ป่วยไปได้อย่างไร 

ส่วนราชการที่เชิญมา ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานใดสมัยนั้นก็มักทำตัวคล้ายๆ กัน คือเชิญให้เสร็จๆ โดยไม่ใส่ใจว่าวิทยากรจะไปได้หรือไม่ได้ ไม่ใส่ใจว่าใครจะมาฟัง ไม่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดประชุมที่แท้ มีแต่หลักการและเหตุผลในจดหมายเชิญประชุมที่คัดลอกต่อๆ กันมา ได้ใช้งบประมาณแล้วคือเสร็จแล้ว จัดประชุมกินกาแฟแล้วสังสรรค์ก็เรียบร้อย 

พอตอบว่าไม่ไป ปรากฏว่าถูกรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านหนึ่งเรียกขึ้นพบทันทีและออกคำสั่งให้ไป ไม่เรียกว่าเรารับใช้ส่วนกลางมากกว่าประชาชนแล้วจะเรียกว่าอะไร เมื่อเก้าอี้ตัวใหญ่ขึ้น ตัวตนก็เปลี่ยนไปทุกๆ คน มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้อยคนมากที่เป็นแบบอย่างได้ 

ผู้เขียนไม่เคยใช้รถโรงพยาบาลไปไหนเลย เหตุหนึ่งเพราะเสียเวลาทำงานมากที่ต้องมายืนรอคนครบกัน เสียเวลามากขึ้นไปอีกเมื่องานเสร็จหลายๆ คนจะแวะซื้อของตามทางก่อนกลับโรงพยาบาล เคยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านหนึ่งทำประจำ มากกว่านี้คือหลายคนก็เลยเถิดใช้รถพยาบาลไปในเรื่องส่วนตัวหรือกึ่งส่วนตัว เช่น รับส่งสนามบิน เป็นต้น 

การขับรถเองบริหารเวลาได้ดีกว่ามากๆ เป็นเวลา 20 ปีที่ผู้เขียนขับรถไปกลับระหว่างโรงพยาบาลกับเรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายทุกสัปดาห์เพื่อไปตรวจผู้ป่วยโรคจิตเภทในเรือนจำ ไม่ว่าจะเรียกรถโรงพยาบาลหรือรถจากเรือนจำ สถานการณ์ไม่แตกต่างกัน การยืนรอรถทำให้เสียเวลาทำงานมาก ขับรถไปเอง ตรวจเสร็จรีบสตาร์ทกลับโรงพยาบาล เราบริหารเวลาได้ดีกว่ากันมาก อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าเราเป็นแพทย์ เรามีเงินเติมน้ำมันเอง

แล้วก็มาถึงปี พ.ศ. 2557 มีปรากฏในภาพถ่ายว่าแพทย์พยาบาลจำนวนมากไปเป่านกหวีด แล้วกำหมัดขวาทุบหน้าอกเบื้องซ้ายแบบ ‘คลิงกอน’ เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เวลานั้นหลายคนทำเพื่อเก้าอี้มากกว่าอย่างอื่น ไม่มีหรอกที่เชื่อว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สติปัญญาระดับนี้แล้วอะไรจะไร้เดียงสาปานนั้น แล้วพวกเขาก็ได้เก้าอี้จริงๆ 

อาจารย์แพทย์จิตเวชที่รามาธิบดีท่านหนึ่งเคยพูดว่า วันนี้เราควรเปลี่ยนชื่อกรมสุขภาพจิตเป็นกรมสุขภาพจิตและการเมือง กรมเป็นบันไดของการไต่เต้าเข้าสู่ศูนย์กลางและขึ้นข้างบนของหลายคน พวกเขาได้ทำและพูดเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าทำลงไปได้ ผู้เขียนบอกคนข้างเคียงเสมอว่าสมัยที่ทุกคนเป็นแพทย์ประจำบ้าน หรือสมัยที่พวกเขายังไม่ขึ้นตำแหน่งบริหาร พวกเขามิใช่เป็นแบบนี้ แรงดึงดูดของรัฐรวมศูนย์มีพลานุภาพมากมายจริง เพื่อให้ความยุติธรรมแก่กรมสุขภาพจิต เชื่อว่ากรมหรือกระทรวงอื่นก็ไม่ต่างกัน 

ปิดท้ายด้วยเรื่องเล็กๆ คือการประชุม ยุคโควิดทำให้การประชุมราชการหายไปจากโลกเสียที ซึ่งทำให้โรงแรมต่างๆ เดือดร้อนกันมาก อันนี้น่าเห็นใจและน่าสงสาร แต่เราประหยัดงบประชุมราชการไร้สาระเพื่อการท่องเที่ยวไปได้มากด้วย

เรื่องที่ 3 เวลาประชุมราชการ พวกเราไม่มีเป้าหมายอะไรจริงๆ เป็นเพียงการประชุมกินกาแฟพักผ่อนจากงานประจำให้เสร็จเท่านั้น

เรื่องที่หนึ่ง ในการประชุมประจำเดือนของโรงพยาบาล เราต้องผ่านวาระแจ้งให้ทราบก่อนเริ่มประชุมว่าใครจะมาจังหวัดและเตรียมการต้อนรับอย่างไร จากนั้นเป็นวาระทบทวนรายงานการประชุมซึ่งเราต้องใช้ช่วยกันแก้ไขตัวสะกดและสำนวน จากนั้นเป็นเรื่องแจ้งให้ทราบตามวาระ ซึ่งร้อยละ 90 ไม่มีอะไรเกี่ยวกับประชาชน ต่อมาจึงเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมเดือนที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เราจะดีเบตพองามกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปเหมือนเดิม 

แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องเสนอพิจารณาซึ่งไม่มีเรื่องคนไข้แออัด ไม่มีเรื่องคนไข้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเรื่องคนไข้ร้องเรียนเท่าใดนัก เพราะตอนนี้เลย 5 โมงเย็นไปแล้ว จากนั้นปิดประชุม เราประชุมแบบนี้เดือนต่อเดือน ปีต่อปี คุยเรื่องเดิมๆ สามสี่สิบปีโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเป็นชิ้นเป็นอัน เช่น เรื่องการแก้ปัญหาผู้ป่วยแออัดที่ตึกผู้ป่วยนอก เราประชุมนับสิบๆ ครั้ง ทำเวิร์คช็อปปีเว้นปี นอกสถานที่ก็หลายครั้ง รับเหมาก่อสร้างตึกผู้ป่วยนอกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

ผลลัพธ์เหมือนเดิมคือ ประชาชนยังคงแออัดอยู่เช่นเดิม

การประชุมที่สาธารณสุขจังหวัดก็ไม่ต่างกันนัก แพทย์หัวหน้าแผนกที่โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ ไม่มีอิสระในการบริหารงานอย่างใด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถบริหารงานเพื่อดูแลประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้ดั่งใจเหมือนๆ กัน จะทำอะไรก็ติดขัดนโยบายจากส่วนกลางไปเสียทั้งหมด การทำงานชุมชนเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคไม่เคยทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียที เพราะทั้งเวลาและงบประมาณถูกส่วนกลางเบียดบังไปเสียมาก 

แต่ที่เบียดบังมากที่สุดคือ กรอบความคิดที่ตายตัว

เรื่องที่สอง ว่าด้วยเวิร์คช็อปนอกสถานที่ เราต้องนั่งรอประธานเปิดประชุมซึ่งไม่เคยรู้เรื่องงานที่จัด อธิบดีแต่ละคนพูดหรืออ่านพาวเวอร์พอยท์ที่นักวิชาการเอาของเก่าขึ้นมาย้อมสีให้พูดใหม่เสมอๆ พอรับราชการไปนานๆ ตาไม่บอดก็ต้องเห็นว่าแต่ละท่านพูดของคนเก่าและท่านไม่รู้เรื่องที่พูด ตามหลักการแล้วปัญหาสาธารณสุขทุกเรื่องเป็นของส่วนท้องถิ่น เป็นไปไม่ได้ที่คนจากส่วนกลางจะรู้เรื่อง แต่อาจจะมีอีกเหตุผลหนึ่งคือเพราะใจท่านมิได้อยู่ที่งาน ใจท่านอยู่ที่เก้าอี้ตัวต่อไป

สำหรับพวกเราคนทำงาน พวกเราเชี่ยวชาญแบ่งกลุ่มย่อย ประชุมกลุ่มย่อย 1 วัน สังสรรค์ 1 คืน แล้วประชุมกลุ่มย่อยอีกครึ่งวัน ส่งตัวแทนพรีเซนต์ตอนบ่าย 3 วิทยากรดำเนินการสรุปแล้วปิดประชุม ผู้เชี่ยวชาญการประชุมทั้งหลายน่าจะคล่องกับวิธีการพวกนี้และหลายคนก็ทำไปหัวเราะไป เพราะเรารู้ๆ กันอยู่ว่าตนเองทำอะไรกัน เราทำกันตั้งแต่ยุคแผ่นใสมาจนถึงยุคพาวเวอร์พอยท์

ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เหตุเกิดในยุคโควิดนี้เอง มีงบอบรมเด็กชาวเขาให้มีความประหยัด 40,000 บาทตกลงมา หน่วยงานที่รับเงินไปใช้วิทยากร 5 คน เดินทางไป 5 หมู่บ้านบนดอย เพื่อบรรยายวิชากินอยู่พอเพียงดอยละ 1 วัน งานนี้เสร็จใน 5 วัน 

ผู้เขียนไปเห็นภาพผลงานที่นำมาแสดงนิทรรศการ เป็นเด็กๆ นักเรียนบนดอยมานั่งฟังวิทยากรเปิดฟลิปชาร์ตบรรยาย ตามด้วยนำร้องเพลงเชิดชูค่านิยม 12 ประการ ต่อด้วยกิจกรรมสันทนาการ ทำเช่นนี้ทุกวันรวม 5 วัน วิทยากรสนุกสนานและทำงานกันเต็มที่ เมื่อผู้เขียนสัมภาษณ์หัวหน้าวิทยากรว่าทำไปทำไม คำตอบคือถ้าเราไม่เอา คนอื่นก็เอาไป

ยังมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเวลานั้นเข้ามาที่โรงพยาบาลทั้งสองระบบพร้อมกันคือ ระบบ ISO และระบบ HA นั่นคือประมาณปี พ.ศ. 2535 จำได้ว่าเป็นเวลาที่พวกเราไม่รู้จักคำว่าคุณภาพคืออะไร ไม่รู้จักคำว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจ เข็มมุ่ง หรือการบริหารความเสี่ยง เป็นวันเวลาที่เราไม่รู้จักคำว่าความเสี่ยงเชิงระบบ เราเป็นแพทย์ทำงานตามตำราแพทย์ เรื่องก็ควรจบง่ายๆ เท่านั้น เมื่อผู้ป่วยตายก็คือตาย ไม่มีคำถามอะไรเชิงระบบ หากมีคำถามเชิงวิชาการ เราก็มีการชันสูตรทางพยาธิวิทยาหลังการตายอยู่แล้ว 

เวลานั้นไม่มีใครที่รู้ว่าการตายของผู้ป่วยคนหนึ่งในห้องผ่าตัด อาจจะเกิดจากความหละหลวมของระบบทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางคือกระทรวงสาธารณสุข ผ่านผู้บริหารและกรรมการบริหารโรงพยาบาล ลงมาจนถึงการบริหารห้องผ่าตัด ก่อนจะไปถึงทีมผ่าตัดและหมอผ่าตัด ทีมพยาบาลและทีมเตรียมเครื่องมือปลอดเชื้อ ห้องอบเครื่องมือปลอดเชื้อ รวมทั้งเส้นทางการเข็นผู้ป่วยติดเชื้อไขว้กับผู้ป่วยปลอดเชื้อ พูดสั้นๆ ว่า “เพราะโรงพยาบาลไร้คุณภาพ ผู้ป่วยจึงตาย” แม้ว่าแพทย์จะทำงานได้ดีเพียงใดก็ตาม ผู้ป่วยก็ต้องตาย ความไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจเรื่องนี้นำไปสู่วิกฤตการณ์การปลุกปั่นให้เกิดภาวะหวาดระแวงหมู่ กลัวการฟ้องร้องขนานใหญ่ นายแพทย์ทั่วประเทศจะทำงานลำบากมากและถูกฟ้อง 

เวลานั้นผู้เขียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพสถานบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ 4 ปี มีความตั้งใจว่าจะได้เข้าไปช่วยวางระบบหลักประกันและระบบคุณภาพโรงพยาบาลให้เชื่อมเข้าหากันเป็นหนึ่ง แต่ที่ไหนได้เวลาของการประชุมประจำเดือนเกือบทั้งหมดหมดไปกับวาระทบทวนรายงานการประชุม แจ้งให้ทราบ เรื่องเสนอพิจารณา และพิจารณาคดีร้องเรียนจากทั่วประเทศเป็นรายๆ ไป โดยที่มีการบล็อกโหวตแทบทุกครั้ง เหตุที่ทราบเพราะประธานที่ประชุมเวลานั้นและอาจารย์ท่านหนึ่งได้ขอให้ผมลงคะแนนให้ถูกทาง

ฟากหนึ่งเป็นฝ่ายวิชาชีพที่มีจำนวนเกินครึ่งขององค์ประชุม อีกฟากหนึ่งเป็นฝ่ายเอ็นจีโอสายสุขภาพที่มีจำนวนน้อยกว่ามาก เราเสียเวลา พลังงาน และอารมณ์ในการเอาชนะคะคานกันนาน 4 ปี ผู้เขียนไม่ทราบว่าวันนี้ยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แต่เวลานั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสียเวลาชีวิตมาก และเสียใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าบางส่วนของเอ็นจีโอได้ขึ้นเวทีเป่านกหวีดและขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บางท่านเป็นวุฒิสมาชิกในวันนี้และลงมติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปเมื่อไม่นานนี้

ความสั่นคลอนในเวลานั้น เป็นเรื่องราวของอาจารย์ป๋วยที่ช่วยผู้เขียนเอาไว้ได้มากอีกเช่นกัน และจำไม่ได้พอๆ กับไม่มีความรู้เชิงเทคนิคว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรเช่นเคย แต่พอทราบมาว่าครั้งหนึ่งอาจารย์ป๋วยเคยถูกขอโดยผู้มีอำนาจให้กระทำการบางอย่างที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการเงินของประเทศแล้วท่านปฏิเสธ ผู้เขียนชอบเรื่องนี้และใช้เรื่องนี้เป็นฐานในการเขียนเสมอว่า วิชาชีพหรือมืออาชีพควรทำงานอย่างไร นั่นคือทำสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่มีใครเป็นพวก ดังที่เกิดแก่ตนเองทั้ง 3 เรื่อง คือเรื่องการรับของกำนัลจากบริษัทยา การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเชิงระบบ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

ความมั่นคงหรือ integrity แบบอาจารย์ป๋วยนี้ยังคงจำเป็นและน่าจะจำเป็นมากยิ่งขึ้นในยุคสมัยที่ตรรกะวิบัติและความไร้ยางอายแผ่ไปทุกองค์กรเช่นเวลานี้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ดี การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลก็ดี จะไม่สามารถพัฒนาไปต่อได้หากบ้านเมืองไม่มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย มากกว่านี้คือไม่มีการกระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณไปที่ส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่มีการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกไปจนกว่าประเทศชาติจะมีวุฒิภาวะเรื่องสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางส่วนเสียเวลาและงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรับใช้เก้าอี้ของตนเอง และการไต่ลำดับชั้นบริหาร รับใช้และดูแลปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับใช้นโยบายส่วนกลางมากกว่าที่จะรับใช้ประชาชนในท้องถิ่นของตน บางท่านพยายามอย่างที่สุดที่จะฝืนธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในขณะที่จำนวนหนึ่งทำไปด้วยเจตนา มีระบบการดูแลต้อนรับและคู่มือจัดงานเลี้ยงภาคกลางคืนอย่างเป็นระบบ เจ้าหน้าที่พยาบาลและบุคลากรระดับล่างเสียเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวเข้ามาดูแลผู้หลักผู้ใหญ่เพื่องานเลี้ยงต้อนรับนี้มากยิ่งกว่ามาก ธรรมเนียมเหล่านี้จะหมดไปเมื่อบ้านเมืองพัฒนาไปมากกว่านี้และผู้ใหญ่เองเลิกมีความต้องการเรื่องเหล่านี้

บรรยายถึงตรงนี้ เรื่องยังคงเกี่ยวข้องกับเวลาวิกฤติ 3 ขวบปีแรกของเด็กเล็ก นั่นคือ พ่อแม่ควรอยู่บ้านเลี้ยงและเล่นกับลูกด้วยตัวเอง มากกว่าออกจากบ้านไปดูแลท่านที่มาดูงานจากส่วนกลาง

พ้นวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่และวัยกลางคน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดของประเทศที่ใช้เป็นตาข่ายรองรับสำหรับคนวัยทำงานทั้งประเทศ และอาจจะเป็นระบบเดียวที่ตั้งมั่นและเป็นจริง ได้แต่หวังว่าจะไม่มีใครคิดทำลายหรือทำลายลงได้

6

เมื่อเกษียณอายุราชการ

จากระบบการศึกษาถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามาถึงช่วงสุดท้ายคือเชิงตะกอน 

เมื่อผู้บริหารระดับสูงถึงเชิงตะกอนก็ควรเดินขึ้นเชิงตะกอนแต่โดยดี ไม่ยึดติดเก้าอี้แล้วคอยแต่จะเบียดบังมิให้คนรุ่นหลังคือเจเนอเรชั่นวายหรือแซดได้ทำงานอย่างเต็มที่

ผู้เขียนตั้งใจเกษียณก่อนเวลาเมื่ออายุ 55 ปีตั้งแต่แรก ด้วยเห็นว่าควรหลีกทางให้รุ่นน้องได้ขึ้นตำแหน่งบริหาร ว่าที่จริงผู้เขียนได้ลาออกจากหัวหน้าแผนกครั้งหนึ่งเพื่อการนี้แต่ไม่เป็นผล ครั้นมีเหตุจำเป็นต้องกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอีกก็รั้งไว้เพียงเพื่อสะสางปัญหาและรอเวลา กว่าจะได้ลาออกจากราชการจริงก็เมื่ออายุ 57 ปี แต่เพราะเกิดเดือนพฤศจิกายนเท่ากับได้เวลาคืนมาถึง 4 ปี

ในระบบราชการเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง หลายครั้งในที่ประชุมราชการก็เหมือนที่ประชุมรัฐสภาเวลาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือพูดให้ตายก็ไม่รู้เรื่องกัน แต่ละคนตั้งธงบางประการไว้ในใจและไม่มีใครเปิดใจรับฟังใคร เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา เราก็เป็นคนหนึ่งในนั้นด้วย ปิยบุตรมีธงของตัว แต่คำอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาครั้งที่เราขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เหลวไหลเหลือกำลัง ผู้เขียนนั่งฟังเหมือนกลับไปนั่งในที่ประชุมราชการ แต่ละคนไม่รู้เอาตรรกะอะไรมาพูด 

การศึกษาที่คับแคบของเราสร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบขึ้นมาครองบ้านเมืองรุ่นต่อรุ่น

การศึกษาที่เน้นการท่อง จำ ติว สอบ และสอบปรนัย ทำให้สมองติด (fixation) ที่พัฒนาการวิธีคิดเชิงรูปธรรม (concrete operation) ประมาณอายุ 12 ปี แล้วไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปที่วิธีคิดเชิงนามธรรม (abstract operation) คนสูงอายุวันนี้ไม่สามารถนำคำศัพท์ที่มีความหมายอันจับต้องไม่ได้เข้ามาคำนวณ เช่น รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง กระจายอำนาจ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค เป็นต้น

น้ำและอากาศเป็นพิษเป็นปัญหาใหญ่ของสภาพแวดล้อมที่กดทับคนไทยทุกคนวันนี้ จะว่านี่เป็นปัญหาของคนทั่วโลกก็ใช่ แต่มิใช่คำแก้ตัวของรัฐบาลใดๆ ว่ามิใช่ความรับผิดชอบของท่าน น้ำและอากาศเป็นพิษเป็นความรับผิดชอบกับรับผิดรับชอบของรัฐบาลใดๆ เสมอ 

ผู้เขียนพูดเฉพาะสิ่งที่เห็นด้วยตาอีกเช่นกัน นั่นคือน้ำโขงแห้งลงมาก ฤดูน้ำหลากสั้นลงมาก แม้จะอาศัยอยู่ในตัวเมืองแต่ก็มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฝนทิ้งช่วงมากขึ้นทุกปี ไม่มีอีกแล้วที่ฝนจะตก 7 วัน 7 คืน จนกระทั่งพื้นถนนเป็นตะไคร่ปกคลุม หลายปีมาแล้วที่ฝนตกติดต่อกันอย่างมากก็ 3 วัน พอให้พื้นถนนมีสีเขียวเล็กน้อย แล้วแดดจะแผดเผาในวันที่ 4

ฝุ่นควัน PM2.5 ปกคลุมภาคเหนือมาตั้งแต่ปี 2550 นับถึงวันนี้เป็นปีที่ 16 ค่า AQI ในช่วง 4 ปีหลังนี้สูงลอยถึงระดับสีม่วงหรือฮาร์ซาดัสต่อเนื่องยาวนานหลายวัน เฉพาะที่เชียงใหม่และแม่สายบางช่วงนานเกิน 2 สัปดาห์ ทัศนวิสัยเวลาขับรถมืดมน มืดหม่น และหดหู่อย่างร้ายกาจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินแต่เสียงก่นด่าชาวนาที่เผาตอซังข้าว ชาวเขาที่ทำไร่เลื่อนลอย ชาวบ้านที่เผาหาของป่า เสียงที่พูดถึงเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวหรือเกษตรกรรมพันธสัญญาไม่เคยดังพอ ชาวนา ชาวเขา และชาวบ้านเป็นผู้ผิดเสมอ

สิ่งที่รัฐโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทำเสมอคือ (1) ตั้งคัตเอาท์ห้ามเผาป่า (2) ประกาศไม่ออกกลางแจ้ง (3) ฉีดน้ำขึ้นท้องฟ้าแล้วออกข่าว จะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีสติปัญญาก็ไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมราชการอีกเช่นกัน 

เรื่องตั้งคัตเอาท์ มีเสียงร่ำลือทุกๆ ปี และผู้เขียนจะช่วยร่ำลือต่อในที่นี้ว่าเป็นไปเพื่อการใช้งบประมาณมากกว่าอย่างอื่น ไม่นับเรื่องติดป้ายไปก็เท่านั้น ใครๆ ก็เผา มีวิวาทะที่เชียงใหม่ในปีหนึ่งว่าใครกันแน่ที่เผาอีกต่างหาก คัตเอาท์ล่าสุดที่ผู้เขียนจำได้คือรูปผู้ว่าราชการจังหวัดขนาดใหญ่พร้อมอักษรตัวโตว่า “จะไม่มีควันถ้าไม่มีใครจุดไฟ” เชื่อได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่คิดคำคมนี้ขึ้นมา และเป็นไปได้ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไม่รู้อะไรด้วยจนกระทั่งคัตเอาท์ขึ้นกลางเมืองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งท่านก็อาจจะไม่มีเวลาอ่านคำคมของตัวเองอยู่ดี

เรื่องประกาศงดกิจกรรมกลางแจ้งนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนการทำงานเป็นวันๆ ประเด็นคือราชการมักคิดว่าเมื่อเราทำงานแล้วคือเสร็จแล้ว รายงานผลผลิตว่าตั้งป้ายกี่ป้าย ออกประกาศกี่ครั้ง ใช้งบประมาณไปเท่าไรคือเสร็จ ส่วนเรื่องผลลัพธ์เป็นหน้าที่ของประชาชน ถ้าไม่ดูแลตัวเองก็เป็นความผิดของประชาชน 

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับการจัดการบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด เบาหวาน วัณโรค มาจนถึงโควิด-19 กล่าวคือประชาชนผิดเสมอ ทั้งที่หน้าที่เป็นของรัฐ

กลับไปที่เรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยตายในเขตโรงพยาบาล การทวนสอบกระบวนการจำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอโดยไม่มีเงื่อนไข ตอนที่ทำงานคุณภาพใหม่ๆ เราจะพบถ้อยคำประเภท “เราทำดีที่สุดแล้ว” ซึ่งเป็นความจริง แต่นั่นมิได้ลบความจริงว่าผู้ป่วยตายในเขตโรงพยาบาล ดังนั้นจะอย่างไรก็ต้องทวนสอบกระบวนการกันใหม่ว่ายังมีอะไรที่บกพร่อง และมีอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมกับการพัฒนาเชิงระบบ

เรื่องฉีดน้ำไล่ฝุ่นขึ้นกลางอากาศ คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเห็นด้วยตาทุกปีว่าฝนไม่สามารถชะฝุ่นควันออกได้ทันใจหรือชะงัด ฝนตก 2 วัน 2 คืน ไม่เพียงพอที่จะทำให้ฟ้าใส จนถึงวันที่ 3 จึงเห็นท้องฟ้าสีฟ้ารำไรและปุยเมฆบ้าง แสงอาทิตย์สาดถึงพื้นดินเป็นครั้งแรก และถ้าท่านเคยใช้ชีวิตในหมอกหนาสัก 14 วัน ท่านจะแทบตั้งแท่นบูชาพระอาทิตย์กันเลยทีเดียว 

ฝนที่หนักหนาและนานพอจึงไล่ฝุ่นควันได้ เวลาภรรยาและผู้เขียนขับรถผ่านการฉีดน้ำจะเอารถเข้าไปล้างเสมอเพื่อมิให้เสียดายน้ำมากจนเกินไป เมื่อพิธีฉีดน้ำเสร็จสิ้น ท่านผู้ว่าฯ ก็กลับ นักข่าวก็กลับด้วย แล้วอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊คในเวลาต่อมาว่าทำงานแล้ว เป็นเช่นนี้มาทุกปี

อย่างสั้นที่สุด ฝุ่นควันมาจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โรงงานอุตสาหกรรม มาตรฐานเครื่องยนต์ น้ำมัน การจราจร การก่อสร้าง และฝุ่นควันข้ามแดน ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ในครัวเรือนมีประเด็นแต่มิใช่ทุกพื้นที่ จำเป็นต้องมีงานวิจัยว่าพื้นที่ใดเกิดจากอะไร แล้วผลการวิจัยนั้นควรนำไปสู่ปฏิบัติการ ซึ่งจะทำได้เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่ดี ประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจ 

บวกกับเสรีภาพทางวิชาการ และความมั่นคงในจริยธรรมของสื่อ

ฝุ่นควันทำอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช ทุกระบบของร่างกาย ด้วยทุกกลไกทางพยาธิสรีรวิทยา ที่ยืนยันแน่นอนคือ (1) ทารกน้ำหนักตัวน้อยและคลอดก่อนกำหนด (2) โรคภูมิแพ้และหอบหืดในเด็ก (3) มะเร็งปอดในผู้ใหญ่ (4) โรคหลอดเลือดหัวใจในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ เหล่านี้ทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง จำนวนตัวเลขที่ลดลงนั้นอยู่ระหว่าง 2-4 ปี แล้วแต่การใช้สูตรคำนวณและพื้นที่ พูดง่ายๆ ว่าทุกท่านที่จะถึงแก่กรรมในวันพรุ่งนี้ ท่านควรมีอายุยืนกว่านี้สัก 3 ปี

แต่ว่าอายุยืนที่มากเกินไปนำไปสู่สังคมผู้สูงอายุที่ไร้คุณภาพหากมิได้เตรียมตัวดีพอ นำไปสู่ประโยคท้ายๆ ของอาจารย์ป๋วย คือหนทางสู่เชิงตะกอนควรมีเกียรติ ศักดิ์ศรี เงิน และตายอย่างสงบ 

เงินเป็นเรื่องที่มีนักวิชาการคำนวณให้ดูหลายรอบแล้วว่าเราควรจัดการระบบบำนาญแห่งชาติอย่างไร ส่วนเรื่องตายอย่างสงบมีนักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขพยายามทำงานมานานแล้วว่าการแพทย์ควรจัดการจุดสิ้นสุดของชีวิตอย่างไร ทั้ง 2 ประการดูเหมือนมีหนทางอีกยาวไกล เพราะชาวบ้านของเราเป็นคนมักน้อยจริงๆ พวกเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรที่เกินเลยจากรัฐ ไปสถานที่ราชการถูกเหยียด ไปโรงพยาบาลถูกด่า ฝนแล้ง น้ำท่วม ไม่มีผลผลิต ปิดเมืองเพราะโควิด-19 ไม่มีอะไรจะกิน พวกเขาทนได้ทั้งนั้นอย่างไม่น่าเชื่อสายตา พวกเขาพอใจกับเบี้ยผู้สูงอายุเท่าที่ให้จริงๆ 

การผลักต่อไปให้ถึงระบบหลักประกันผู้สูงอายุจะพบอุปสรรคคล้ายๆ กับครั้งที่เราเปลี่ยนบัตรสงเคราะห์เป็น 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งที่เราควรทำคือทำให้ประชาชนทราบว่านี่เป็นสิทธิของท่าน ท่านมีสิทธิเรียกร้อง และรัฐสามารถทำได้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม จารีต ความเชื่อด้านศาสนา และความกตัญญูกตเวที เหล่านี้ทำให้ความพยายามที่จะสร้างกฎหมายและกระบวนการยุติการรักษาเพื่อการตายอย่างสงบเป็นไปอย่างเชื่องช้า คล้ายคลึงกับเรื่องการทำแท้งเสรีและการสมรสข้ามเพศ

ผู้สูงอายุมี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 คือไม่มีเงินมากพอและไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้มากพอ กลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยและสุขภาพทั้งกายใจจากรัฐอย่างดีที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประเภทที่ 2 คือมีสถานะและตำแหน่งงานในสังคม แต่ไม่ยินยอมปลดระวางตัวเอง ทั้งที่ไม่มีความสามารถมากพอจะบริหารองค์กรในศตวรรษที่ 21 แล้ว อย่าว่าแต่ไม่มีสมองที่ดีพอที่จะมีจินตภาพถึงโลกใหม่ แค่รับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นแซดหรือเด็กรุ่นอัลฟ่ายังทำมิได้เลย 

เรื่องนี้ไปพ้นเรื่องของจิตใจและความฉลาด แต่เป็นเรื่องของเนื้อสมองและวงจรประสาทของคนสองรุ่นที่เติบโตมาภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน 

คนแก่โตมากับทีวีธรรมดา ในขณะที่เด็กแซดโตมากับโลกดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมีสาย ส่วนเด็กอัลฟ่าเกิดมาเมื่อปี 2010 ซึ่งไอแพดและไอจีถือกำเนิด พวกเขาเติบโตมากับไวไฟและสมาร์ทโฟนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลทางชีววิทยาของเนื้อสมอง คนแก่ในตำแหน่งบริหารวันนี้ไม่มีวันบริหารงานได้อีกต่อไปแล้ว ทำได้เพียงแค่บอกเล่าประสบการณ์ ให้ข้อคิดและไฟฝันแก่คนรุ่นใหม่ เปิดทางคนรุ่นใหม่ๆ ได้แสดงออกและทำงาน 

ถ้าจะมีอะไรที่เราควรทำคือพลีชีพเพื่อเขา มิใช่ให้เขาพลีชีพเพื่อเรา ประโยคนี้เป็นสำนวน หมายถึงลงจากเก้าอี้เสียดีๆ แทบจะทุกกระทรวงทบวงกรม แล้วให้คนรุ่นใหม่อายุไม่มากขึ้นตำแหน่งบริหารแทน

แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดูคับขัน แต่จะว่าไปคนแก่ต้องตายหมดก่อนอย่างแน่นอน แต่ที่เราต้องพยายามทำอะไรในวันนี้ ก็เพื่อมิให้ชีวิตของเด็กๆ ต้องถูกทำลายมากไปกว่าที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ เด็กหลายคนเข้าคุกโดยที่กระบวนการไม่สิ้นสุด เด็กสาวบางคนถูกละเมิดโดยไม่มีใครรู้เห็น เรื่องเช่นนี้ยอมรับมิได้

รัฐรวมศูนย์และรัฐราชการมาถึงสุดทางแล้ว วิกฤตการณ์โควิดรอบนี้ควรช่วยให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งส่วนราชการเองรู้ตัวว่า ประเทศชาติของเราจะเดินหน้าด้วยรัฐราชการและรัฐรวมศูนย์เช่นนี้ต่อไปอีกไม่ได้

7

ทางออกจากความรุนแรงทางการเมืองและอนาคต

ครอบครัวสมัยใหม่และการศึกษาสมัยใหม่คือทางออก

เราควรพัฒนาครอบครัวไทยให้ใส่ใจพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นมากกว่าที่เป็น ซึ่งทำได้ด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาช่วยเหลือพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก และเราควรพัฒนาการศึกษาไทยให้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 แทนการส่งมอบความรู้ที่ตายตัวและใช้การไม่ได้

รากฐานของครอบครัวคือ จิตวิเคราะห์ (psychoanalysis)

รากฐานของทักษะศตวรรษที่ 21 คือ Executive Function (EF)

ทักษะศตวรรษที่ 21 มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้พื้นฐาน 4 เรื่อง ซึ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง ปัญหารอบด้านในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้ไม่พ้นเรื่องโควิด-19 ความยากจน ฝุ่นควัน PM2.5 และความเห็นต่างทางการเมือง 

การยกตัวอย่างให้เห็นจริงในเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 จึงทำได้ง่าย เพราะหันไปทางไหนก็พบ เรื่องทั้งหมดจะไปจบลงที่ประเด็นโลกร้อน และร้อนมากเสียจนหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการจะเอาไม่อยู่

ทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที หากลูกหลานของเรามีทักษะ 3 ประการนี้ดี เขาจะรับมือเรื่องรอบตัวทั้ง 4 เรื่องได้ดี

ทักษะศตวรรษที่ 21 มิได้อยู่ลอยๆ ทักษะศตวรรษที่ 21 ที่ดีพัฒนามาจาก EF ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนประกอบที่เรียกว่า คิดยืดหยุ่น (cognitive flexibility) ในทำนองเดียวกัน EF ก็มิได้อยู่ลอยๆ แต่พัฒนามาจากครอบครัวที่เลี้ยงเด็กมาในแนวทางพัฒนา EF

มีความเชื่อมโยงจากครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบดั้งเดิมสู่ความรุนแรงทางการเมืองวันนี้ อยู่ที่เราจะเห็นความเชื่อมโยงนี้มากน้อยเพียงไร และเมื่อเห็นแล้วเราควรพัฒนาครอบครัวไทยสมัยใหม่เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่เด็กไทยทุกคนสามารถพัฒนา EF และทักษะศตวรรษที่ 21 ได้

ครอบครัวดั้งเดิมเป็นอย่างไร?

ครอบครัวดั้งเดิม หมายถึง ครอบครัวในศตวรรษที่ 20 ที่อบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นเด็กดี มีวินัย ถือความสัตย์ และเรียนเก่ง โดยนิยามเด็กดีไว้ตายตัว นิยามวินัยไว้ตายตัว นิยามความสัตย์ตามใจฉันและพรรคพวกของฉัน และเชื่อว่าถ้าลูกเรียนเก่งจะได้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่ดีกว่า มีคอนเน็คชั่นที่ดีกว่า มีงานที่ดีกว่า ตามด้วยมีฐานะและสถานะทางสังคมที่ดีกว่า 

ครอบครัวดั้งเดิมคาดหวังเช่นนี้มิใช่เรื่องผิดในตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำไปในนามของความรักและคาดหวังเห็นลูกมีความสุขความเจริญ พ่อแม่ทุกๆ คนเป็นเช่นนี้

ที่อยากให้ลูกรับราชการและเป็นเจ้าคนนายคนนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่ามิใช่ส่วนใหญ่ พ่อแม่ดั้งเดิมจำนวนมากก็มิได้ต้องการอะไรมากขนาดนั้น พูดสั้นๆ คือขอให้ลูกไม่ยากจนก็เพียงพอ แต่ว่าพวกที่ได้เป็นข้าราชการและเจ้าคนนายคน (เช่น ผู้เขียน เป็นต้น) ก็ก่อปัญหาวันนี้ไม่น้อยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งที่พื้นเพมาจากลูกหลานชาวบ้านกันแท้ๆ

ยุคไวไฟและไอทีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อตอนปลายศตวรรษที่ 20 ไม่เพียงกระทบระบบการศึกษา แต่กระทบระบบครอบครัวด้วย

ครอบครัวดั้งเดิมหมดเวลาไปกับการให้การศึกษาลูกหลานในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมมาก เด็กๆ ใช้เวลา 15 ปี จากอนุบาล 1 ถึงมัธยม 6 ไปเรียนหนังสือที่ตายตัว ท่อง จำ ติว และสอบ พ่อแม่หลายบ้านหมดเวลาไปกับการทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบ เก็บหอมรอมริบ เพื่อให้มีเงินเหลือมาส่งลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เราอยู่กันมาแบบนี้นานมาก นานจนกระทั่งเกิดความเสียหายในวันนี้

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคไวไฟและไอที เด็กๆ จำเป็นต้องมีสมองที่มีความสามารถ EF ที่จะคิดยืดหยุ่นในทุกเรื่องจึงจะรับมือโลกสมัยใหม่ได้ แต่ EF มิได้มาจากการเรียนหนังสือมากๆ 

EF ได้มาจากการอ่านหนังสือมากๆ แต่หนังสือบ้านเราราคาแพง EF ได้มาจากการเล่นมากๆ แต่เด็กอนุบาลและประถมบ้านเรามีเวลาเหลือให้เล่นน้อยมาก และ EF ได้มาจากการทำงาน แต่การศึกษาและค่านิยมบ้านเราไม่ให้เด็กทำงาน ให้เรียนอย่างเดียว

ครอบครัวสมัยใหม่วันนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบการศึกษา เอาเด็กออกจากระบบการศึกษาคับแคบมาทำโฮมสคูลเมื่อไรก็ได้ จะได้จัดเวลาการอ่าน การเล่น และการทำงาน รวมทั้งการเรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐานจากที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนเลย โรงเรียนตายมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ส่วนใหญ่ของเราทำมิได้ เพราะทั้งสองคนต้องออกไปทำงานตั้งแต่หลังลาคลอดได้ 3 เดือน พ่อแม่จึงไม่สามารถอ่านหนังสือให้ทารกฟังเต็มเม็ดเต็มหน่วย เล่นกับลูกมากๆ ช่วงเด็กเล็ก หรือฝึกลูกทำงานเมื่อเป็นเด็กโต 

ตัวปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจของสังคมไทยนั้นเองที่คอยขัดขวางมิให้ครอบครัวดั้งเดิมของเราพัฒนาไปเป็นครอบครัวสมัยใหม่ เหตุเพราะติดขัดที่ไม่มีทั้งเงินและเวลา ไม่สามารถส่งลูกไปโรงเรียนทางเลือก (อุปสรรคคือเงิน) และไม่สามารถจัดโฮมสคูลด้วยตัวเอง (อุปสรรคคือเวลา)

นั่นทำให้ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากที่ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ห้ามด้วยความห่วงใย ส่วนหนึ่งเพราะยังติดกรอบและระเบียบของระบบการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะไม่กล้าเนื่องจากระบบการศึกษาของเราเป็นระบบสร้างความกลัว และอีกส่วนหนึ่งไม่สามารถคิดออกนอกกรอบได้ เพราะ EF ยังพัฒนาไม่ถึงระดับ 

คำกล่าวของรัฐบาลว่าผู้ประท้วงมีแค่สองสามร้อยคนก็เกินจริงไปมาก แต่ที่น่าจะจริงคือรัฐบาลที่ชาญฉลาดมักทำให้ครอบครัวยากจนเอาไว้และทำให้การศึกษาคับแคบเข้าไว้ เพราะนั่นเท่ากับตัดกำลัง EF ส่วนที่ว่าด้วยการคิดนอกกรอบทิ้งไปตั้งแต่ต้นมือ

เราจึงต้องการครอบครัวสมัยใหม่จำนวนมากกว่านี้ ครอบครัวที่รู้ว่าการเรียนเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อลูกหลาน การเรียนเก่งมิใช่เรื่องไม่ดีในตัวเอง แต่การรู้รอบด้าน มีจิตใจประชาธิปไตย และคิดนอกกรอบได้คือ EF จะสำคัญต่อพัฒนาการทักษะศตวรรษที่ 21 มากกว่า 

แล้วช่วยให้สังคมของเราหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ดีกว่า

EF เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด แล้วพัฒนามาจากการศึกษาที่เปิดกว้าง ไม่เน้นความรู้ตายตัว เน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อแก้โจทย์ปัญหารอบด้าน 

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อมโยงจากการศึกษาที่คับแคบไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองวันนี้ อยู่ที่เราจะเห็นความเชื่อมโยงนี้มากน้อยเพียงไร และเมื่อเห็นแล้วเราควร ‘ปฏิรูปหรือล้มล้าง’ การศึกษาแบบคับแคบที่เป็นอยู่ได้หรือยัง เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่คนไทยทุกคนสามารถพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง 

รวมทั้งความเห็นต่างทางการเมือง

การศึกษาที่คับแคบตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้สร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบในวันนี้ (คือคนรุ่นเดียวกับผู้เขียน) กล่าวคือเรารู้เท่าที่ตำราบอก แล้วไม่ค่อยจะรู้อะไรมากไปกว่านั้น เมื่อโลกยุคใหม่มาถึงพร้อมไวไฟและไอที เรารู้มากขึ้นมาก แต่ก็รู้ได้เท่าที่กูเกิลบอกและไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้นสักเท่าไรอยู่ดี

เราผู้สูงอายุถูกล้อเลียนว่ารู้เท่าที่ส่งไลน์กันอยู่เสมอ

เพราะอะไรเรารู้เท่าที่กูเกิลบอก? 

เพราะเราตั้งคำถามไม่เป็น ยกตัวอย่าง เราตั้งคำถามไม่เป็นว่าวัคซีนสูตรไขว้ดีจริงเพราะอะไร เป็นต้น เมื่อตั้งคำถามไม่เป็นเสียแล้ว เราก็ไปไหนต่อไม่ค่อยจะได้ นอกจากเชื่อว่ามันน่าจะดีแล้วทำตามนั้น เหตุเพราะทฤษฎีว่าน่าจะดีและไม่มีทฤษฎีไหนบอกว่ามันจะไม่ดี ดังนั้นมันคงจะดีเพราะว่ามันน่าจะดี

แต่เยาวชนวันนี้มิได้พอใจเท่านี้ แม้ว่าการศึกษาที่พวกเขาเติบโตมาจะคับแคบเช่นเดิม แต่อย่างน้อยพวกเขาก็โตมากับเน็ต ได้แก่ อินเทอร์เน็ตมีสาย เกมออฟไลน์ แชทรูม และเสิร์ชเอนจิ้นรุ่นแรกๆ ก่อนจะมาถึงยุคเน็ตไร้สาย ไวไฟทุกพื้นที่ เกมออนไลน์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ อีกทั้งกูเกิลซึ่งพาพวกเขาไปพบทุกสิ่งทุกอย่างในทุกที่ทั่วโลก

ประเด็นก็มิใช่ว่าเขารู้มากแล้วจะดีกว่า

ประเด็นอยู่ที่เนื้อสมองของพวกเขา วงจรประสาท จุดเชื่อมต่อประสาท แขนงประสาท และเซลล์ประสาท (plasticity, neural circuits, synapses, dendrites & axons & neurons) เติบโตมากับสภาพแวดล้อมของตอนปลายศตวรรษที่ 20 และตอนต้นของศตวรรษที่ 21 การแพทย์ด้านสมองสมัยใหม่รู้แล้วว่าสมองของคนเราพัฒนาไปตามประสบการณ์และการกระทำเสมอ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีเนื้อสมองที่แตกต่างจากคนสูงอายุวันนี้ เรื่องนี้เป็นชีววิทยา

ดังที่มีคำพูดว่า เยาวชนวันนี้มีสมองดิจิทัล ในขณะที่คนสูงอายุยังเป็นสมองอนาล็อก

เยาวชนมีสมอง 4.0 ในขณะที่คนสูงอายุมีสมอง 1.0 

พวกเขาจึงมีวิธีคิดที่แตกต่าง และแตกต่างมากมายเสียจนการศึกษาที่คับแคบเอาพวกเขาไม่อยู่ แม้ว่าการศึกษาคับแคบยังคงพยายามอย่างมากที่จะไม่ให้เขาตั้งคำถามมากจนเกินไปในทุกเรื่องๆ ขอให้เชื่อหลักสูตรแกนกลางและคำเฉลยข้อสอบที่ให้ แต่ก็ไม่สามารถกล่อมพวกเขาให้เป็นผ้าพับไว้ในตู้อีกต่อไป พวกเขาเห็นประเทศอื่น เห็นโลกอื่น เห็นอนาคตแบบอื่น และเริ่มตั้งคำถาม 

เมื่อเด็กถามพ่อแม่ พ่อแม่ควรตอบ ตอบผิดๆ ถูกๆ ยังไม่เป็นไรเลย ขอเพียงตอบ เด็กก็ชื่นใจและรักพ่อแม่แล้ว 

เมื่อเด็กถามครู ครูควรตอบ การศึกษาสมัยใหม่มิได้คาดหวังให้ครูเก่งทุกเรื่อง ตอบได้ทุกอย่าง การศึกษาสมัยใหม่ครูจะตอบไม่รู้ก็ได้ ไม่เป็นไรเลย แต่ครูควรเปิดใจกว้างรับฟังคำถามและเปิดทางไปจนถึงอำนวยความสะดวกให้นักเรียนออกไปค้นหาคำตอบ เพียงเท่านี้ก็ ‘ได้ใจ’

เมื่อเยาวชนถามรัฐใดๆ รัฐควรตอบ และเมื่อเยาวชนไม่พอใจคำตอบ รัฐควรเปิดทางเจรจา มีแต่การเจรจาต่อรองในระบอบประชาธิปไตยที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยพัฒนาและประเทศชาติเดินหน้า การเจรจาที่เปิดกว้างย่อมต้องมีทางออกแน่ๆ เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าอาจไม่ถูกใจคนทุกคน แต่การถูกใจคนส่วนใหญ่ในแต่ละช่วงเวลาเป็นเรื่องทำได้

แต่ละช่วงเวลานั้นเราเรียกว่า ‘การเลือกตั้ง’

การปิดกั้นมิให้ถาม รังแต่จะนำไปสู่ความรุนแรง การปิดกั้นมิให้เลือกตั้งอย่างยุติธรรม เท่ากับปิดกั้นซ้ำสองให้บ้านเมืองไม่มีทางออก การศึกษาที่คับแคบสร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบจำนวนมากวันนี้จึงเป็นประเด็น

บทปิดท้าย

เมื่อคนรุ่นใหม่พูด ผู้ใหญ่วันนี้ควรฟัง นี่คือทักษะเรียนรู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 เพียงทำเท่านี้ประเทศจึงจะมีทางออกและเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งอนาคตและประเทศเป็นของพวกเขา จะอย่างไรคนสูงอายุวันนี้ต้องจากไปก่อนพวกเขาแน่นอน เราควรเตรียมการจากไปอย่างดีที่สุดมากกว่าจากไปอย่างนองเลือดและสร้างความรุนแรงเพราะปิดกั้นความคิดของผู้คน

จำนวนครอบครัวสมัยใหม่ไม่มากพอและการศึกษาที่เปิดกว้างไม่มากพอเป็นบ่อเกิดของผู้ใหญ่ที่ความคิดอ่านไม่มากพอในวันนี้ หากเราไม่สามารถแก้ไขผู้ใหญ่วันนี้ได้ เราจำเป็นต้องสร้างใหม่ ซึ่งทำได้ในเวลาเพียง 9-15 ปี ด้วยครอบครัวสมัยใหม่และการศึกษาสมัยใหม่ ก่อนที่กระบวนการตัดแต่งสมองจะสิ้นสุด 

การจะสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาช่วยเหลือพ่อแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกได้ และกว่าที่เราจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ไปในทางที่ถูกที่ควรได้ เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจที่ดี

การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 โดย นายแพทย์​ประเสริฐ​ ผลิต​ผลการ​พิมพ์

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า