เมื่อลูกสนใจการเมืองและขอไปม็อบ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

“ทำไมปล่อยให้เขาหลอก” ลองพูดอะไรแบบนี้กับวัยรุ่นที่กำลังสนใจการเมือง เป็นได้ไม่ต้องไปต่อนะครับ

ก่อนที่เราจะไปต่อ ชวนคุณแม่คุณพ่อถอยกลับไปที่เรื่องยากๆ อื่นๆ ที่เคยผ่านมา

ลูกขอไม่กินยารักษาโรคสมาธิสั้นได้ไหม เขาบอกว่าเขาหายดีแล้ว?

ลูกขอเล่นเกมออนไลน์ ขอสมาร์ทโฟน ขอเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการเล่นเกม?

ลูกขอไปงานเลี้ยงบ้านเพื่อน มีบุหรี่ มีเหล้า ยาเสพติดหรือเปล่าไม่รู้ อาจจะกลับดึกหรือค้างคืนยังไม่แน่?

ลูกไม่อยากเรียนสาขาที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ ที่จริงแล้วเขาไม่อยากเรียนต่อแล้วด้วยซ้ำไป เขาต้องการพักการเรียนไปหาประสบการณ์ต่างประเทศ?

จะเห็นว่าคำถามสมัยเล็กๆ พ่อ ทำไมนั่นเป็นอย่างนั้น แม่ ทำไมนี่เป็นอย่างนี้ ที่พวกเราเคยเห็นว่าน่ารักน่าเอ็นดูหรือรู้สึกรำคาญที่ถามไม่เลิกกลายเป็นเรื่องขี้ผงไปเลยเมื่อเขามีคำถามที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปีที่เขาโตขึ้น ขอไม่กินยาสมาธิสั้น – ไม่ได้ ขอเล่นเกมออนไลน์ – ยังไม่ถึงเวลา ขอไปงานเลี้ยงบ้านเพื่อน – ไม่ให้ และบังคับเขาเรียนสาขาที่เขาไม่อยากเรียน ครอบครัวช่างมีเรื่องตึงเครียดเข้ามาหาทีละเรื่องๆ ได้ง่ายเหลือเกิน

วันนี้ ขอไปม็อบ มิใช่ม็อบธรรมดา เป็นม็อบการเมือง และบางเรื่องดูจะไม่เหมาะสมกับธรรมเนียมและวัฒนธรรมบ้านเราเอาเสียเลย มากกว่านี้คือเราเป็นห่วง จะถูกติดตาม ตำรวจมาถึงบ้าน ถูกจับกุม เอาแค่สามเรื่องแรกสนุกเสียที่ไหน มากกว่านี้คือถูกสั่งฟ้อง อาจจะถูกพิพากษาให้รับโทษ มหาวิทยาลัยอาจจะลงโทษซ้ำอีก อนาคตของลูกจะไปเหลืออะไร ร้ายที่สุดคือหายตัวไปเลย ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น

ความรักของเราทำเราสติแตกได้เลย อันนี้เรื่องจริง

ถามตัวเองอีกที เวลาพบวัยรุ่นที่เริ่มไม่ฟังเรา เถียงเรา แล้วสุดท้ายไม่สนใจเรา เดินออกจากบ้านไปเฉย นอกเหนือจากความเจ็บช้ำในใจที่เลี้ยงมันมา แล้วเราทำอะไรได้อีกบ้าง

ก. จับเขาขัง

ข. ตัดเงิน

ค. พาไปเข้าวัด

ง. พาไปพบจิตแพทย์

ค่อยๆ คิดไปทีละข้อ แล้วจะพบว่ามีสองคำตอบคือทำไม่ได้และไม่ได้ผลอะไร นอกจากสองข้อแล้วยังเสียหายต่อความสัมพันธ์ที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก ทั้งหมดนี้เรารักเขาน้อยลงหรือเปล่าแม้ว่าเขาทำแต่ละเรื่องน่าตัดหางปล่อยวัดหรือน่าฆ่าทิ้งเสียจริงๆ คำตอบคือ เปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นแม่ ใช่ไหมครับ

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นกรณีที่วัยรุ่นมีเรื่องบาดหมางกับพ่อแม่มาก่อนแล้วเป็นระยะๆ อะไรๆ ก็ไม่เรียบร้อยยังจะไปม็อบอีก แต่หลายบ้านพบว่าลูกที่เคยเชื่อฟังและครองตนมาดีๆ กลายเป็นอีกคนเพราะเรื่องการเมืองซะงั้น เขารับผิดชอบตนเองมาตลอดหลายปี ทั้งการเรียน การเล่น ดนตรีดี กีฬายอด บุหรี่ไม่มี เหล้าไม่ยุ่ง จู่ๆ เห็นดีเห็นงามกับม็อบนักศึกษาเวลานี้แล้วจะไปยืนถือป้ายให้ได้ทุกงาน ตัวเลือกยังเหมือนเดิม จับเขาขัง ตัดเงิน พาไปบวช พาไปพบจิตแพทย์ จะเห็นว่าเราไม่มีอำนาจมากขนาดนั้นอีกแล้ว และต่อให้มีอำนาจมากขนาดนั้น ก็เอาเขาไม่อยู่อยู่ดี

คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงด้วยใจจริง เป็นเรื่องเข้าใจได้ ส่วนเขาอายุเพิ่งจะ 18-19 หรือ 20-21 เรียนยังไม่จบเลย เสียประวัติขึ้นมาอนาคตทั้งชีวิตจะเป็นอย่างไร ยิ่งคิดสติยิ่งแตกนะครับ

“ทำไมปล่อยให้เขาหลอก” หลุดประโยคนี้ออกไปจนได้

เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาเวลานี้ แต่ที่จริงมีหลายเรื่องนอกเหนือจากเรื่องการเมืองที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่ไม่มีอำนาจอะไรจะจัดการลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายอายุ 15-18 หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 19-25 ได้มากนัก ดังที่ผมพูดเสมอเราเป็นขาลง อำนาจและเวลาของเราหมดแล้ว และโลกวันนี้ถึงเราจะตัดเงินตัดเน็ตก็แทบไม่เป็นผลอะไรเลย เขาฉลาดพอจะจัดการเองได้ แล้วเขาจะจดจำไว้ด้วยว่าพ่อแม่ทำอะไร

“ไม่ไหวมั้งคะ คุณหมอ เขาใช้อารมณ์มากเลย วัยนี้คิดหรือทำอะไรไปตามฮอร์โมนนะคะ”

นั่นแหละคือประเด็น วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีข้อที่เหนือกว่าพวกเราซึ่งอายุมากแล้วคืออารมณ์และฮอร์โมน เรื่องบางเรื่องหากไม่ใช้อารมณ์และฮอร์โมนจะไม่มีวันทำสำเร็จนั่นเป็นประการที่หนึ่ง และเรื่องดีๆ บางเรื่องถ้าไม่ใช่เพราะอารมณ์และฮอร์โมนเขาก็จะไม่ทำตั้งแต่แรก ความจริงคืออารมณ์และฮอร์โมนมิได้เป็นโทษหรือเป็นของไม่ดีในตัวของมันเอง มันเป็นของดีและมีประโยชน์สูง มันเพิ่มพลังความสดใหม่และจริงใจให้แก่คนรุ่นใหม่

“ขาดความรอบคอบนะคะ” อาจจะใช่

“เขายังไม่ทันคน” อาจจะไม่ใช่

“เขาไม่ฉลาดขนาดนั้นนะคะ” ไม่น่าจะใช่

วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นก็อาจจะไม่ปราดเปรื่องเท่าผู้ใหญ่บางคน แต่มิใช่ว่าจะไม่ฉลาดหรือไม่รอบคอบเสมอไป ที่แท้แล้วเขาฉลาดและรอบคอบภายใต้อิทธิพลของอารมณ์และฮอร์โมน

เขียนมายาว ลงรายละเอียด เพื่อชวนคุณพ่อคุณแม่ให้มาถึงตรงนี้ นั่นคือ

“เราทำอะไรไม่ได้” และ “ยอมรับเสียดีๆ ว่าเราทำอะไรไม่ได้” หากท่านไม่มาถึงจุดนี้ท่านก็จะแตกหักกับเขาจนได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเขาเลย ถ้าบ้านมิใช่ที่ปลอดภัยและดีที่สุดในโลกให้กลับมา จะให้เขาไปไหน?

ถ้าท่านยอมรับ ว่าที่จริงไม่ต้องอ่านต่อแล้วก็ได้ครับ ท่านจะรู้เองว่าควรทำอย่างไร แต่ละบ้านมีวิธีของตนเอง

แต่ถ้าจะอ่านต่อเพื่อทบทวนสักนิดก็ได้ ที่เราทำได้คือนั่งฟังจริงๆ และฟังอย่างตั้งใจ มิใช่แกล้งฟังพอเป็นพิธี อย่าขัดคอ อย่าซักฟอก อย่าพูดอะไรที่สื่อว่าเขาโง่และถูกหลอกใช้

“ทำไมลูกโง่อย่างนี้!” พูดตอนอนุบาลยังไม่ควรเลย ตอนนี้ยิ่งไม่ต้องพูด

ฟังจริงๆ จนกว่าเขาจะรับรู้ว่าพ่อแม่ฟังจริงๆ จากนั้นค่อยบอกเขาตรงๆ ว่าเราห่วงอะไร พูดได้ แต่พยายามรักษาน้ำเสียงไว้ บอกเขาได้ว่าเราไว้ใจเขา เพียงแต่อดเป็นห่วงมิได้ พูดได้ครับ จากนั้นบอกเขาว่าเราคาดหวังอะไร พูดได้อีกเช่นกัน พูดออกไปตรงๆ สั้นๆ อย่ายาวเกินไป เขาโตแล้ว

อย่างสั้นที่สุดมีเท่านี้ 1.ฟัง 2.บอกความคาดหวัง – จบ

ดีกว่านี้คือซักซ้อมข้อควรปฏิบัติเวลาไปม็อบถ้าทำเป็น ถ้าทำไม่ได้ข้ามไป

ข้อสุดท้าย ขอกอดเขาหนึ่งครั้ง แล้วบอกเขาว่า “แม่จะรอนะ”

“จะรอนะ” คือสายสัมพันธ์ (attachment)

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า