ดาร์วิน ฟรอยด์ และความหลากหลาย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

นิตยสาร Scientific American Online ได้เผยแพร่บทความเรื่อง Darwin Was Wrong: Your Facial Expressions Do Not Reveal Your Emotions เขียนโดย ลิซา เฟลด์แมน บาเรตต์ (Lisa Feldman Barett) เมื่อ 27 เมษายน 2022 สร้างความฮือฮาระคนไม่พอใจให้แก่นักอ่านจำนวนหนึ่ง ชื่อเรื่องนี้แปลว่า “ดาร์วินผิด: สีหน้าของคุณมิได้เปิดเผยอารมณ์ของคุณ”

ข้อเขียนขึ้นต้นด้วยการบอกว่า ความเข้าใจเรื่องใบหน้าของคนเราบ่งบอกอารมณ์ได้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ยิ้มแปลว่าอารมณ์ดี บึ้งแปลว่ากำลังโกรธ ร้องไห้แปลว่าเสียใจ ที่แท้แล้วการแสดงอารมณ์ผ่านใบหน้าของคนเรามีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าที่ดาร์วินเขียนเอาไว้ ประมาณนี้ เป็นบทความขนาดยาวท่านที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้

ดาร์วินเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ The Expression of the Emotions in Man and Animals ปี 1872 นับเป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของเขา ซึ่งตีพิมพ์หลังจากหนังสือที่คนทั่วโลกรู้จัก On the Origin of Species ปี 1859 นานถึง 13 ปี

ครั้งที่ผมไปเรียนและทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปากคลองสาน จำได้ว่าปีแรกมีความคับข้องใจกับเนื้อหาที่เรียนเป็นอันมาก เหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตนเองทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนในแผนกอายุรกรรมอยู่ 2 ปีก่อนจะกลับไปเรียนต่อ

อายุรศาสตร์เป็นสาขาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ พยาธิสภาพของโรคต่างๆ เป็นเรื่องที่อธิบายได้โดยมีหลักฐาน มีงานวิจัยที่ดีจำนวนมากมายรองรับสิ่งที่เขียนไว้ในตำราแพทย์ อาจจะยากอยู่บ้างก็ตรงที่มนุษย์มีตัวแปรมาก ทำให้อะไรที่เขียนไว้ในตำราไม่เป็นไปตามตำราเสมอไป อายุรแพทย์ที่เชี่ยวชาญมักเป็นผู้ที่รู้และทำนายตัวแปรของผู้ป่วยแต่ละคนได้เร็วกว่าหรือแม่นยำกว่า แล้วตัดสินใจได้ถูกต้องเมื่อพบเหตุที่ไม่เป็นไปตามตำรามาตรฐาน

แต่จิตเวชศาสตร์มิใช่ หากอายุรศาสตร์มีตัวแปรมาก จิตเวชศาสตร์มีตัวแปรมากกว่าร้อยพันเท่า การเรียนจิตเวชศาสตร์ให้เข้าใจจำเป็นต้องล่วงรู้และเข้าใจตัวแปรเหล่านี้ แต่จะเข้าใจตัวแปรได้ต้องเข้าใจมาตรฐานกลางก่อน ปัญหาคือมาตรฐานกลางก็แปรปรวนอย่างหนักเหตุเพราะมาตรฐานกลางอยู่ในจิตใต้สำนึก (unconscious) ดีขึ้นมาอีกนิดหนึ่งคืออยู่ในสาขาจิตวิทยาซึ่งมีงานวิจัยรองรับแต่เป็นงานวิจัยด้านพฤติกรรมเสียมาก ดีขึ้นมาอีกมากเมื่อมีงานวิจัยด้านการแพทย์รองรับแต่ก็เป็นงานวิจัยที่มีความแปรปรวนสูงอยู่ดี

เอาแค่นิยามของโรค (เช่น โรคซึมเศร้า) และการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างก็มีปัญหามากในทุกงานวิจัยอยู่แล้ว ครั้นบริษัทยาเข้ามาถ่วงน้ำหนักงานวิจัยความแปรปรวนที่มีอยู่ก็เพิ่มขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

จำได้ว่าผมอ่านตำราจิตเวชศาสตร์เล่มสำคัญที่สุดเป็นหลักก่อนเสมอ แล้วจึงอ่านเล่มอื่นๆ เมื่อพบความแปรปรวน ในประดาเล่มอื่นๆ นั้นส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาซ้ำกับเล่มมาตรฐาน เว้นแต่เป็นตำราของสาขาอื่นจึงจะได้มุมมองที่แตกต่าง เล่มหนึ่งนั้นคือ The Expression of the Emotions in Man and Animals ของดาร์วินนี้เอง ปกแข็ง เล่มหนา เป็นฉบับพิมพ์ปี 1998  

ชาร์ลส์ ดาร์วิน 1809-1882 และซิกมันด์ ฟรอยด์ 1856-1939 เป็นบุรุษ 2 คนที่เปลี่ยนโลก เมื่อผมได้ไปเมือง โชว์สเบอรี (Shrewsbury) ที่อังกฤษได้เห็นรูปปั้นงามสง่าของดาร์วิน และเมื่อไปสาธารณรัฐเชกก็ตั้งใจดั้นด้นไปที่พริบอร์ (Příbor / Pribor) เมืองเกิดของฟรอยด์เพื่อดูบ้านของเขา เขาสองคนมีบางอย่างที่เหมือนกันและชวนให้ผู้คนเข้าใจผิดได้คล้ายๆ กัน ดังจะเล่าต่อไป

เพราะความแปรปรวนของการเรียนจิตเวชศาสตร์ดังที่ว่า เมื่อดาร์วินเขียนหนังสืออธิบายเรื่องอารมณ์ สีหน้า และการกำเนิดของสีหน้า ด้วยการลงรายละเอียดของกล้ามเนื้อใบหน้ากับต้นคอทีละมัด จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากและออกจะน่าเสียดายหากไม่อ่าน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีสีหน้าอย่างที่เห็นด้วยกล้ามเนื้อชิ้นไหน เพราะอะไรเด็กแอสเปอร์เกอร์จึงอ่านสีหน้าคนมิได้ และเราจะดูสีหน้าคนเสแสร้งหัวเราะได้อย่างไร  

เมื่ออ่านจบ เป็นเวลาเดียวกับที่หนังการ์ตูนสั้นของพิกซาร์เรื่อง Geri’s Game ปี 1997 ออกฉายพอดี และเป็นหนังปะหน้า Toy Story 2 ปี 1999 เป็นเวลาที่เทคโนโลยีการสร้างหนังและหนังการ์ตูนกำลังขึ้นสู่ยุคใหม่ เทคโนโลยีมอร์ฟฟิง (morphing) เพิ่งจะสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกใน Terminator 2 Judgement Day ปี 1991 และหนังการ์ตูนซีจีเริ่มมาแทนที่หนังการ์ตูนที่เขียนบนแผ่นเซล (cel) ซึ่งไม่สวยและไม่ลื่นไหลเอาเสียเลย

ปรากฏว่าหนังสั้น Geri’s Game นี้เป็นเรื่องแรกของพิกซาร์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสุดยอด กล้ามเนื้อใบหน้าของตาแก่สองคนที่เล่นหมากรุกกันนั้นสุดๆ ไม่นับหนังจบแบบหักมุมสุดๆ อีกเช่นกัน วันนี้ใครอยากดูหาดูได้ในดีวีดีชุด Disney’s Short Animation Collection, Volume 1 ส่วนจะมีสตรีมมิงหรือเปล่าไม่ทราบ เป็นอย่างที่บอกอหนุ่มพ่อหล่อว่าคือตัวเองยังไม่เคยดูหนังจากสตรีมมิง แถมด้วยว่าเลิกดูทีวีตั้งแต่วันรัฐประหาร พ.ศ. 2557

ความดีงามของ Geri’s Game นี้ถึงกับเอาไปเขียนลงคอลัมน์การ์ตูนที่รักของมติชนสุดสัปดาห์ ความยาว 2 ตอนจบเพราะอินมาก รวมเล่มไว้ใน การ์ตูนสุดที่รัก สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2544

บทความข้างต้นตั้งข้อสังเกตว่าดาร์วินเขียนเรื่อง essentialism กล่าวคือสีหน้าของคนเรามีความจำเพาะต่ออารมณ์ที่แสดงออก กล้ามเนื้อใบหน้ามาจากวิวัฒนาการ เป็นหนึ่งในหลักฐานว่าคนเราเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ความข้อนี้ของดาร์วินผิดแผกแตกต่างจากที่เขาเขียนมาก่อน นั่นคือชีวิตมีความหลากหลาย ชีวิตไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานกลาง

ฟรอยด์เขียนเรื่อง determinism กล่าวคือทุกพฤติกรรมของมนุษย์มีที่มา ที่มานั้นอยู่ในจิตใต้สำนึก มนุษย์มิได้เป็นตัวของตัวเอง ความบังเอิญไม่มีจริง (nothing accidentally ตามสำนวนที่ปรากฏใน Kung Fu Panda ปี 2008)  ความข้อนี้ชวนให้เข้าใจผิดว่าชีวิตมีหนทางเดียว ไม่มีความหลากหลาย และมนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี (free will)

หากอ่านตำราจิตวิเคราะห์ก็น่าจะชวนเข้าใจผิดได้ดังว่าจริงๆ แต่ถ้าดูผู้ป่วยบ่อยๆ เราจะรู้สึกได้ว่า (แน่นอน เพียงแค่รู้สึกหรือสัมผัสได้) คนเรามีความหลากหลายแน่ๆ กล้ามเนื้อใบหน้าอยู่ภายใต้กฎที่ดาร์วินอธิบายก็จริง แต่จิตใต้สำนึกเล่นตลกกับกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้สบายมากทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ในความเป็นจริงแล้ว (จริงหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คนเรามีเจตจำนงเสรีแน่นอน

คนไทยมีความหลากหลาย เรามิได้มีดีเอ็นเอเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีดีเอ็นเอเดียวที่เราควรคลั่งไคล้มากมายจนทำร้ายคนอื่น ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ก็มีความคิดหลากหลาย เป็นเรื่องอันตรายที่เราจะบังคับให้เขาเหลือเพียงความคิดเดียว เพราะหากฟรอยด์และดาร์วินถูก พวกเขาอาจจะผ่าเหล่า (แปลจาก reaction formation ของฟรอยด์ มิใช่ mutation ของดาร์วิน)

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า