PDPA กับ 2 ปีที่รอคอย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ส่งต้นฉบับนี้วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 หนึ่งวันก่อนที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งน่าจะนำมาซึ่งความโกลาหลพักใหญ่ว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้

เชื่อได้ว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นดีและถูกต้องเหมือนการบังคับใช้คาร์ซีต อย่างไรก็ตามการตีความและการบังคับใช้ควรแน่ใจว่าผู้มีอำนาจหน้าที่มีความเข้าใจเจตนารมณ์เพียงพอ

ขออนุญาตใช้เนื้อที่นี้บอกว่าตัวผมเองไม่สบายใจนักที่มีการนำรูปถ่ายของผมเองและชื่อนามสกุลของผมเองไปใช้ตามเพจต่างๆ โดยมิได้บอกกล่าว แม้ว่าในตอนเริ่มต้นจะเริ่มต้นด้วยเจตนาจะเผยแพร่ เนื้อหา (content) เพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี น่าดีใจ และผมเองก็เต็มใจ แต่ด้วยความที่เพจและเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่เปิดตามสมควรไม่ว่าเราจะตั้งกติกาอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการขายสินค้าหลากหลายประเภท

แม้จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็ก เช่น หนังสือนิทาน กองทราย สี ดินน้ำมัน บล็อกไม้ ไม้กวาด หรือตัวต่อ เหล่านี้ผมเคยเขียนถึงประโยชน์ซึ่งมีมากมาย แต่ไม่เคยแนะนำว่าควรใช้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เวลาอ้างถึงจึงควรอ้างถึงเนื้อหาที่เขียน แต่การลงรูป นพ.ประเสริฐไปด้วย หรือบอกว่า นพ.ประเสริฐแนะนำเช่นนี้ชวนเข้าใจผิดได้ 

เนื้อหาคือ content เป็นเรื่องหนึ่ง  

รูปถ่ายและชื่อ-นามสกุล เป็นข้อมูลส่วนบุคคล คือ personal data เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องรวมนิทานที่คุณหมอประเสริฐแนะนำตามร้านหนังสือก็เช่นกัน บางเล่มผมไม่เคยแนะนำนะครับ ตามเพจต่างๆ ยิ่งควรคัดกรองให้มากว่าเล่มไหนที่ผมไม่เคยแนะนำ อยากรู้จริงๆ ก็คงต้องทวนสอบเอากับข้อมูลชั้นต้นว่าคุณหมอประเสริฐแนะนำเล่มไหนแน่

ทั้งหมดนี้เป็นความไม่สบายใจส่วนตัวแต่ไม่เคยคิดจะบอกใคร เพราะเชื่อว่าอะไรในเพจหรือเฟซบุ๊กก็จะเลือนหายไปกับกาลเวลาเช่นกัน หากใครจะเข้าใจอะไรตัวผมผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ปล่อยไปเถอะ

จำได้ว่าเคยมีบริษัทรับสร้างบ้านแห่งหนึ่งทำคลิปโฆษณาโดยใช้คำบรรยายที่ผมเคยให้ไว้ในที่สาธารณะแห่งหนึ่ง พร้อมรูปตัวผมเองเดินไปเดินมาอย่างหล่อนานพอสมควร ก่อนที่จะตัดเข้าสู่ประเด็นว่าบ้านที่ดีย่อมสร้างครอบครัวที่ดีอะไรประมาณนั้น เป็นเพื่อนบรรณาธิการที่รักท่านหนึ่งเป็นฝ่ายทนไม่ได้แจ้งไปเป็นการส่วนตัวว่าทำมิได้ถ้าไม่ขออนุญาตคุณหมอ 

บุคคลที่นับถือท่านหนึ่งแจ้งผมว่าเมื่อคุณหมอไม่เคยว่าอะไร ใครๆ เขาก็จะเหมาเอาว่าทำได้

ผมไม่เคยทำอะไรกับเรื่องทำนองนี้ และยังคงยินดีที่ใครๆ จะเอาเนื้อหาที่ตนเองเขียนทุกวันไปเผยแพร่ต่อได้ครับ แต่การนำรูปถ่ายไปลงจะเป็นอีกกรณีหนึ่งและการนำชื่อนามสกุลไปการันตีอะไรบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลายเรื่องกำลังจะกลายเป็นความผิดอาญา เราทุกคนรวมทั้งตัวผมเองด้วยจึงควรระมัดระวังมากขึ้น

รูปประกอบวันนี้ส่งมาร่วมสนุกกับ WAY เป็นการประเดิม PDPA ซึ่งเชื่อได้ว่า WAY ก็จะปวดหัวกับเรื่องนี้ไปพักใหญ่ รูปนี้มีส่วนที่เห็นชัดเฉพาะมุมซ้ายบนคือสายไฟฟ้า ฮาฮาฮา สายไฟฟ้ากลุ่มนี้อยู่มาตั้งแต่ลูกสองคนของผมเรียนโรงเรียนแห่งนี้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน มันยังอยู่

ส่วนที่เหลือของรูปผมปล่อยเบลอทั้งหมดชวนปวดหัวเป็นอันมากถ้าดูนานๆ 

ที่อยากสื่อสารมากที่สุดคือเด็กๆ ตัวกะเปี๊ยกที่นั่งรอบน “พื้นฟุตบาธข้างรั้วโรงเรียนตรงหัวมุมถนน” เด็กๆ นั่งเมาท์ กินขนม และส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก เป็นความสุขวัยเยาว์ น้อยคนรอพ่อแม่เวียนรถมารับ แต่หลายคนรอรถโรงเรียนรับจ้างสาธารณะมารับ รูปนี้ถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา คือเปิดเทอมใหม่ไม่นาน

ที่อยากสื่อสารคือ 2 ปีโควิดผ่านไป อะไรๆ ก็เหมือนเดิม

เป็น 2 ปีที่สูญเปล่า เด็กเล็กถดถอย เด็กโตถดถอยยิ่งกว่า เด็กมัธยมและนักศึกษาฆ่าตัวตายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้กุมนโยบายการศึกษามิได้ทำอะไรเลย เรียนเหมือนเดิม สอบเหมือนเดิม ด้วยหลักสูตรเดิม กฎระเบียบเหมือนเดิม และเด็กๆ ของเราล้าหลังไปยิ่งกว่าเดิม

ผมเขียนลงเพจต้อนรับวันเปิดเทอมสัปดาห์แรกคือ คุ้มมั้ยที่เรายังจะพาลูกไปโรงเรียน ติดรถไปตอนเช้า ติดรถกลับตอนเย็น ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแม้แต่น้อย

ของแถม ดูรูปต่อนะครับ มีพระยืนอยู่ ใส่หน้ากากสีดำ ไม่ทราบเหมือนกันว่าปล่อยเบลอเท่านี้เพียงพอหรือเปล่า เพราะจะว่าไปสำหรับคนรู้จักพระ 3 รูปนี้ย่อมรู้ว่าพวกท่านมายืนตรงนี้ตอนเลิกโรงเรียน ณ วันใดวันหนึ่ง ต่อไปจะเผยแพร่รูปพระเดินตามห้าง นั่งร้านกาแฟ เซลฟีในสวน ไม่รู้เหมือนกันจะทำได้มั้ย น่าจะไม่ได้ PDPA น่าจะไม่ยอม

เห็นรถยนต์ 2 คันซึ่งท่านที่เชี่ยวชาญจะระบุยี่ห้อและรุ่นได้ เรื่องห้ามเห็นป้ายทะเบียนนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เราระมัดระวังอยู่แล้วว่าต้องทำตั้งแต่ก่อนจะใช้ PDPA 

ถ้าภาพนี้ชัดจะเห็นที่มุมขวาล่างตรงที่ปีโป้สีส้มวางอยู่มีกองสายไฟม้วนใหญ่ทิ้งไว้ระเกะระกะ อันนี้ก็นานมากแล้วเหมือนกัน สะท้อนถึงการทำงานรวมศูนย์ที่ส่วนกลางทำให้ชาวบ้านตรงนั้นทำอะไรมิได้กับเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า เรื่องหน้าบ้านเราที่จังหวัดหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใหญ่ที่ศูนย์กลาง มิได้แก้ไขง่ายๆ ด้วยการเดินไปยื่นใบร้องเรียนที่สำนักงานฯ เพราะไปยื่นหลายรอบแล้ว

ภาพนี้มิได้แต่งสีหรือแสงใดๆ ถ่ายด้วยไอโฟน 11 ขณะรถจอดติดไฟแดง ถึงจะไม่ปล่อยมัวบ่ายวันนั้นก็มัวด้วยฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งทำร้ายประชาชนและเด็กเล็กบ้านเรามานานเกือบ 20 ปีแล้ว

คือ 2 ปีโควิดที่มีคนตาย และทุกประการหยุดนิ่ง

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า