ไม่ก้าวล่วงความคิดของคนอื่นว่าเขาผิด นักวิชาการไม่ข้ามเส้น: ชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ที่ดี

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

วันนี้ เพนนี 4 ขวบ มาโรงเรียนช้ากว่าทุกครั้งเล็กน้อย พอวางกระเป๋า เธอรีบวิ่งไปมุมหนังสือเพื่อจะอ่านหนังสือเล่มโปรด ปรากฏว่าชมพู่นั่งอ่านหนังสือเล่มนั้นของเธออยู่ มิหนำซ้ำยังนั่งเก้าอี้สีแดงตัวโปรดของเธอ เป็นที่รู้กันว่าเพนนีออกจะบ๊อซซี่อยู่ก่อนแล้ว

“ลุกเดี๋ยวนี้ นี่เก้าอี้ของชั้น หนังสือของชั้น” เพนนีเสียงเขียว

ชมพู่เงยหน้าขึ้น “ชั้นมาก่อน”

เพนนีไม่ยอม แย่งหนังสือจากมือชมพู่ ชมพู่ไม่ยอมง่ายๆ ดึงหนังสือเอาไว้

ครูมองเพนนีอยู่ก่อนแล้ว (ครูที่รู้งานจะรู้จักเด็กๆ ทุกคน) จึงเข้าไปแตะตัวเพนนี “ชมพู่มาก่อนจ้ะ ถ้าเพนนีมาก่อน เพนนีก็จะได้เก้าอี้ตัวนี้และหนังสือเล่มนี้นะ” ครูพยายามเปลี่ยนมุมมองของเพนนี

เพนนีกระทืบเท้า ครูจึงจูงเพนนีไปที่เก้าอี้สีน้ำเงิน บอกเพนนีว่านั่งตรงนี้ หรือจะไปเลือกเล่มอื่นมาอ่านก็ได้ แต่ให้นั่งตัวนี้เพราะตัวนี้ว่าง เพนนียอมนั่งแต่สายตายังมองชมพู่ และไม่ยอมเลือกหนังสือเล่มใหม่อ่าน

พวกเพื่อนๆ เห็นท่าไม่ดี จึงพากันเข้าไปชวนชมพู่ออกไปเล่นกันดีกว่า พอชมพู่ลุกตามเพื่อนไป เพนนีก็ลุกไปคว้าหนังสือเล่มโปรดมากอด นั่งเก้าอี้สีแดงตัวโปรด แล้วเริ่มต้นร้องไห้

คิดว่าครูได้ทำอะไรไปบ้างครับ?

หลังจากโพสต์ข้อความนี้ขึ้นเพจ พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นตามมาหลากหลาย อ่านดูแล้วน่าสนใจเกินกว่าจะปล่อยผ่าน เพราะอะไร?

ลองอ่านดูก่อนนะครับ คัดมาเฉพาะคอมเมนต์แรกๆ จากเกือบร้อยคอมเมนต์ที่หลั่งไหลเข้ามาในเวลาไม่นาน แล้วจะเขียนปิดท้ายอีกทีหนึ่ง

ครูเป็นตัวอย่างให้เด็กซึมซับเรียนรู้ รู้จักอดทนรอคอย คิดยืดหยุ่นหาทางแก้ปัญหา และเรียนรู้สิทธิการใช้สิ่งของส่วนรวมร่วมกัน

ลูกสาวตอนนี้สี่ขวบกว่า เหมือนเพนนีเลยค่ะ อยากเล่นสิ่งนั้นคนเดียว ถ้าไปสนามเด็กเล่น แม่จะบอกให้คอย และตามคิว

เพื่อนๆ ในห้องน่ารักจัง มีชวนชมพู่ออกไปเล่น เหมือนเพื่อนๆ ในห้องจะรับรู้ได้ว่ากำลังจะมีพายุ

คิดว่า คุณครูมีส่วนช่วยให้เด็กเข้าใจในอารมณ์ตนเอง และเข้าใจกฎของการใช้ของในที่สาธารณะร่วมกัน ได้แก่

  • รู้จักเคารพสิทธิในการมาถึงก่อนของคนอื่น และยอมรับ
  • การรู้จัก ร้องขอ ถาม และบอกว่าเราจะรอ หากเราต้องการใช้ของสิ่งนั้นต่อ หรือร่วมกับคนอื่น
  • การยืดหยุ่น ในการหาสิ่งสนุกอื่นๆ ทดแทน สิ่งที่เราอยากได้ในตอนนั้น
  • ของสาธารณะ เป็นของที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น เราควรรู้จักพอในระดับหนึ่ง และรู้จักที่จะแบ่งปันให้คนอื่นได้ใช้บ้าง

ถ้าเพนนีได้เตรียมความพร้อมมาในเรื่องเหล่านี้ เพนนีอาจจะเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ โดยไม่ร้องไห้ หลังจากที่เธอได้หนังสือและเก้าอี้โปรดของเธอแล้วค่ะ

เพนนีคล้ายลูกสาวคนโตของที่บ้านเลยค่ะ แต่คิดว่าคุณครูข้ามขั้นตอนไปนิดนึง คือ ต้องบอกให้เพนนีพูดขอเก้าอี้กับหนังสือนิทานจากชมพู่ดีๆ ก่อน ถ้าชมพู่ไม่ให้ค่อยสอนแบบที่ครูบอกว่า ชมพู่มาก่อน เพนนีต้องรอนะ

จากเหตุการณ์คิดว่าชมพู่อาจจะไม่ได้อยากอ่านหนังสือ หรือชอบเก้าอี้มากจนแบ่งเพื่อนไม่ได้ แต่อาจจะไม่ชอบที่เพนนีพูดจาไม่ดีมากกว่า ซึ่งถ้าเพนนีพูดขอดีๆ และชมพู่ให้ เรื่องก็อาจจะเป็นอีกแบบนึงก็ได้ค่ะ

เฉพาะคอมเมนต์นี้มีตอบกลับคุยกันอีกหลายรายการ ดังนี้

ขออนุญาตแสดงความเห็นต่างนะคะคุณแม่ คิดว่าครูทำถูกแล้ว ครูสอนให้เด็กรู้จักกฎกติกาของสังคม และวันหนึ่งเพนนีก็จะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่จึงต้องสอนแบบที่สังคมผู้ใหญ่เขาทำกันจริงๆ เพราะลองนึกดูว่าถ้าสมมุติว่า ชมพู่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว กำลังนั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดของเพนนีอยู่ในห้องสมุดสาธารณะ แล้ววันนี้เพนนีซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วเช่นกันมาห้องสมุดสายกว่าทุกวัน เห็นชมพู่นั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดของตัวเองที่เก้าอี้มุมโปรดของตัวเอง และถ้าเพนนีเดินเข้าไปหาชมพู่แล้วบอกว่าชมพู่ฉันขออ่านหนังสือที่เธอกำลังอ่านอยู่ และฉันขอนั่งที่ตรงนี้ได้ไหม คิดว่าชมพู่จะรู้สึกยังไง

”คือฉันมาก่อนอะ และกำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่น่ะ” จริงอยู่ว่าเพนนีสามารถถามได้ว่าขอฉันอ่านก่อนได้ไหม จะให้หรือไม่ให้เป็นสิทธิของชมพู่ แต่เมื่อเราโตขึ้น เราจะรู้ว่าเมื่อมีคนกำลังใช้ของสิ่งนั้นอยู่ เราควรจะต้องรอจนกว่าเขาจะใช้เสร็จ และครูกำลังสอนให้เพนนีเป็นผู้ใหญ่ค่ะ

โอ้ว เปิดมุมมองอีกแบบนึงเลยนะคะเนี่ย

การสอนตามที่ครูบอกก็ถูกต้องแล้วค่ะ แค่อยากให้สอนเรื่องการพูดจาเพิ่มเติมไปด้วยเท่านั้นเองค่ะ

สำหรับผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้มาขอเพราะเหตุผลอยากได้หรือแค่ชอบเหมือนเด็กๆ แต่เขาอาจจะมีเหตุผลความจำเป็นบางอย่างก็ได้ ที่เราพบเจอบ่อยๆ เช่น การขอแลกที่นั่งบนเครื่องบิน บนรถโดยสาร ที่ร้านอาหาร ซึ่งเราอาจจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ แต่การพูดจาขอ หรือบอกเหตุผลความต้องการดีๆ คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องสอนด้วยเช่นกันค่ะ

เห็นด้วยเหมือนกันค่ะคุณแม่ว่าควรสอนให้เด็กรู้จักที่จะบอกความต้องการของตัวเองอย่างสุภาพด้วย แต่จากในเหตุการณ์ที่ยกมาดังกล่าว น่าจะสอนให้รอดีกว่าที่จะสอนให้ขอหรือบอกความต้องการของตนเองเท่านั้น

ครูต้องการสอนเรื่องการเปลี่ยนมุมมองจากประโยคที่ว่า “ลุกเดี๋ยวนี้ นี่เก้าอี้ของชั้น หนังสือของชั้น” เพนนีเสียงเขียว เหมือนเพนนีเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เพนนีก็พูดขอเหมือนกัน แต่ขอเหมือนว่าหนังสือและเก้าอี้เป็นของฉัน ดังนั้นถ้าฉันขอแล้วฉันต้องได้ ”ครูมองเพนนีอยู่ก่อนแล้ว (ครูที่รู้งานจะรู้จักเด็กๆ ทุกคน) จึงเข้าไปแตะตัวเพนนี “ชมพู่มาก่อนจ้ะ ถ้าเพนนีมาก่อน เพนนีก็จะได้เก้าอี้ตัวนี้และหนังสือเล่มนี้นะ” ครูพยายามเปลี่ยนมุมมองของเพนนี

จากประโยคด้านบนนั่นหมายความว่าครูรู้จักเพนนีดี ดังนั้นในสถานการณ์นี้เหมือนครูจะรู้ว่าเพนนีมองอยู่แต่ในมุมของตัวเองว่า เป็นของของฉัน ดังนั้น จึงพูดขอดีๆ ไม่เป็น เพราะมีความรู้สึกว่าหนังสือและเก้าอี้เป็นของตัวเอง

เรื่องการประเมินสถานการณ์ว่าจะขอหรือจะรอก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กต้องได้เรียนรู้เช่นกันค่ะ การบอกให้เด็กแสดงความต้องการของตัวเองดีๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการสอนให้เด็กรอ ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการเปลี่ยนมุมมอง อีกอย่างการขออะไรจากคนอื่น เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็จะเรียนรู้ว่าในสถานการณ์ปกติที่ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน จะขอเฉยๆ ไม่ได้ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน เช่น การแลกเปลี่ยนที่นั่ง ก็ต้องมีการขอแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ขอหรือแลกเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้

หรือครูอาจจะแนะนำให้เพนนีไปหาหนังสือมาแลกเปลี่ยนกับชมพู่เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของชมพู่จากหนังสือที่เพนนีต้องการอีกที ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถในการต่อรองอีกที โอว งานสอนเด็กไม่ง่ายเลยนะคะเนี่ย

เห็นด้วยในกรณีที่จำเป็น (need) แต่กรณีเพนนีคือการอยากได้ (want) ถ้าครูให้ถามชมพู่แล้วมันเหมือนกับโยนความกดดันไปที่ชมพู่ เหมือนกับว่าถ้าชมพู่ไม่ need หนังสือเล่มนี้ ไม่ need ที่ต้องนั่งเก้าอี้นี้ ก็ยกให้เพนนีที่ want สิ ถ้าชมพู่ไม่ให้กลายเป็นว่าจะทำให้ชมพู่รู้สึกผิดรึเปล่า คือทั้งหนังสือเล่มนั้นและเก้าอี้ตัวนั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องได้สำหรับสองคนนั้น แต่คนที่มาก่อนย่อมมีสิทธิเลือกก่อน เหมือนกรณีคิวห้องน้ำ ทุกคนก็อยากเข้าเหมือนกันถ้าใครมาแซงคิวเราคงไม่พอใจ แต่ถ้ามีคนปวดมากๆ จะราดอยู่แล้วมาขอมาบอก อันนี้เรายินดีให้แซงเลยเพราะเขาจำเป็น ส่วนตัวคิดว่าคุณครูทำถูกแล้วในกรณีชมพู่เพนนีค่ะ

คุณครูทำถูกแล้วค่ะ และถ้าชมพู่อยากนั่งเก้าอี้ตัวนี้ อยากอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะเขามาก่อนเขาไม่อยากย้ายที่ ไม่อยากไปหาหนังสือเล่มใหม่ เขามีสิทธิปฏิเสธค่ะ และเหตุผลความจำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนั้น เราปฏิเสธได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติค่ะ ไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้สึกผิดเลย และเมื่อถูกปฏิเสธ คุณครูก็สอนเพนนีต่อได้ ปกติเลยค่ะ

ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งเพนนีอาจจะไม่ได้อยากมาสาย เพราะทุกทีก็มาเช้า แต่แม่อาจจะมีธุระเลยมาส่งช้า พอมาช้า เก้าอี้กับหนังสือก็มีเพื่อนใช้อยู่ พอขอเพื่อนก็ไม่ให้ ครูก็ดุอีก และอาจจะถูกเพื่อนมองว่าเป็นเด็กไม่ดี เพนนีต้องเจอเรื่องแย่ๆ หลายเรื่องติดกัน ทั้งแม่ ทั้งเพื่อน ทั้งครูคงเป็นวันที่แย่ที่สุด ทำได้แค่กอดหนังสือที่ชอบแล้วร้องไห้ ไม่เหลือใครที่จะกอบกู้ความรู้สึกของเพนนีขึ้นมาได้อีกแล้ว (ดราม่านิดนึง)

ในมุมของชมพู่ ถ้าชมพู่รู้ว่าเพื่อนชอบเก้าอี้กับหนังสือมาก และคิดว่าพอจะเสียสละให้เพนนีได้ เพนนีจะรู้สึกขอบคุณชมพู่ และครั้งหน้าถ้าเพนนีมาช้าอีกชมพูอาจจะไปนั่งเก้าอี้ตัวอื่นเพราะรู้ว่าเพนนีชอบเก้าอี้ตัวนี้ ทั้งคู่อาจจะกลายเป็นเพื่อนรักกันและรู้ว่าอีกฝ่ายนึงชอบหรือไม่ชอบอะไร ในเรื่องอื่นๆ เพนนีก็อาจจะเป็นฝ่ายแบ่งปันชมพู่บ้างก็ได้

ในเด็กๆ การขอเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เช่น เราไม่ชอบแอปเปิล ขอแลกกับองุ่นของเธอได้ไหม หรือเราอยากได้สีเขียว ขอแลกสีฟ้ากับเธอได้ไหม หรือเราอยากเล่นอันนี้ ขอเล่นบ้างได้ไหม เป็นต้น เมื่อมีการพูดขอดีๆ การแย่งกันก็จะหายไป มีการตอบรับ มีการปฏิเสธ เป็นเรื่องปกติ เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการสื่อสาร และสนทนากัน ครั้งต่อไปถ้าเจอเหตุการณ์เดิมๆ ก็จะรู้ว่าควรทำอย่างไร และการรอคอยก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องทำเมื่อคำขอถูกปฏิเสธ เป็นปกติที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เอง และความรู้สึกผิดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย ถ้าหากตัดขั้นตอนการขอออกไป โอกาสที่เด็กๆ จะได้แบ่งปันกันก็น้อยลงไปนะคะ

เรามองว่า หลังจากที่เด็กถูกปฏิเสธแล้ว การสอนให้เด็กเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ควรขอจะทำได้ง่ายขึ้นค่ะ สถานการณ์ตอบรับและปฏิเสธจะช่วยสอนว่าอะไรควรขอและอะไรควรแบ่งปัน อะไรไม่ควรขอและอะไรไม่ควรแบ่งปัน เด็กๆ จะเรียนรู้ว่าครั้งหน้าควรขอหรือรอ เรียนรู้จักการรักษาสิทธิของตัวเอง เรียนรู้ว่าจะปฏิเสธยังไง เมื่อโตขึ้นกระบวนการนี้จะช่วยให้เขาคิดได้ ไม่ต้องขอในทุกๆ ความต้องการนั้นๆ และไม่ต้องรู้สึกผิดเมื่อต้องปฏิเสธค่ะ

ในเหตุการณ์นี้เพนนีถูกปฏิเสธแล้วจากชมพู่ แต่เพนนีก็ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่าทำไมถึงถูกปฏิเสธ ทำไมควรขอทำไมไม่ควรขอ เพนนียังมองชมพู่และไม่ยอมเลือกหนังสือเล่มใหม่อ่าน เพราะเพนนียังเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ ประมาณว่าหนังสือนั่นของฉัน! เพนนียังไม่เข้าใจว่า นั่นไม่ใช่หนังสือของเพนนี ดังนั้นครูจึงพยายามเปลี่ยนมุมมองของเพนนี ทั้งมุมมองเรื่องเวลาด้วยค่ะ ใครก็ตามที่มาก่อนควรได้ก่อน เปรียบหมือนการเข้าแถวเรียงคิวรอใช้บริการอะไรซักอย่าง

ที่จริงแล้วในสถานการณ์แบบนี้ ที่มีเด็กคนหนึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นของสาธารณะ มันไม่ใช่สถานการณ์ที่จะสอนให้เด็กควรจะเดินเข้าไปขอหรือไม่ควรขอ คิดว่าเราควรสอนเด็กตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า เมื่อเห็นสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรเข้าไปขอตั้งแต่แรกไม่ว่าจะด้วยการขอแบบสุภาพก็ตาม แต่สิ่งแรกที่ควรจะสอน คือ สอนให้รอ เพราะเขากำลังใช้อยู่ ไม่ต้องรอให้ถูกปฏิเสธก่อน เป็นเหมือนการบอกให้เด็กรอคิว ชมพู่อ่านเสร็จ ต่อไปก็เป็นคราวของเพนนี

เด็ก 4 ขวบไม่สามารถเข้าใจได้เองอยู่แล้ว นั่นแหละจึงเป็นสิ่งที่คุณครูต้องสอน ว่าเพนนีทำไม่ถูก การขอไม่ใช่พูดว่า “ให้ลุก นี่ของชั้น” แต่ต้องพูดขอดีๆ เช่น “ชมพู่อ่านจบหรือยัง เราขออ่านต่อได้ไหม นี่เป็นเล่มโปรดเราเลยนะ” เป็นต้น

แต่กรณีนี้ เราสงสารและเห็นใจเพนนีจริงๆ เธอคงจะไม่ได้อยากมาสายหรอก เพราะทุกทีก็มาเช้า ส่วนชมพู่ก็สามารถไปเล่นกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ ได้ แสดงว่าน่าจะแบ่งปันได้ เรามองว่าครูสามารถลดการบาดเจ็บทางจิตใจเพนนีได้ พร้อมกับสอนไปด้วย เธอบาดเจ็บที่มาสายไปแล้ว ยังบาดเจ็บเรื่องของรักอีก น่าเห็นใจเหมือนกัน ถ้าเราเป็นครูที่รู้ว่าเพนนีชอบเก้าอี้และหนังสือ และรู้ว่าถ้าเพนนีมาต้องเป็นเรื่องแน่ เราอาจเตรียมชมพู่ก่อน โดยการชวนชมพู่ไปเล่นกับเพื่อนก่อนที่เพนนีมา ถ้าชมพู่ไม่ไป เมื่อเพนนีมาก็เตรียมเพนนีก่อนได้ว่า ครูรู้ว่าเธออยากได้หนังสือและเก้าอี้ตัวนั้นมาก แต่ชมพู่มาก่อน ลองขอชมพู่ดีๆ ชมพู่อาจจะให้ก็ได้ แต่ถ้าชมพู่ไม่ให้ก็ต้องรอนะจ๊ะ สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยลดการบาดเจ็บทางใจที่จะเกิดขึ้นได้

เด็กๆ มักมีสิ่งที่ตัวเองชอบมากๆ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด ของเล่นชิ้นโปรด เสื้อตัวโปรด หนังสือเล่มโปรด ซึ่งเพนนีก็มีหนังสือเล่มโปรดกับเก้าอี้ตัวโปรด แน่นอนว่าใครมาจับของโปรดของเขา เขาก็ทำใจยอมรับได้ยาก การสอนก็ยากขึ้นไปอีก บางทีก็ต้องเห็นใจพวกเขาบ้าง ถ้าแบ่งได้ก็ควรแบ่งให้ค่ะ สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

เพนนีควรได้เรียนรู้ว่า ถ้าเธออยากอ่านหนังสือเล่มโปรด เธอต้องมาเร็วเหมือนทุกวัน เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ของเพนนีอย่างที่เพนนีเข้าใจมาตลอด (เนื่องจากมาเช้าตลอดและได้อ่านก่อน เลยอาจจะเข้าใจไปว่าหนังสือเป็นของตนเอง วันนี้เพนนีได้บทเรียนแล้ว ว่าหนังสือนี้ไม่ใช่ของเธอ)

ไม่มีใครสามารถจะมาเตรียมการอะไรให้เพนนีได้ตลอดทุกครั้งในวันที่เพนนีมาสาย ถ้าวันนี้ครูเตรียมการจัดแจงทุกอย่างเพื่อลดการบาดเจ็บทางใจให้เพนนี ในครั้งต่อๆ ไปครูก็ต้องเตรียมการอีก และถ้าหากในครั้งนั้น ครูไม่อยู่ในเหตุการณ์ใครจะช่วยเตรียมการให้เพนนี

จะไม่ต้องมีใครมาเตรียมอะไรเลยถ้าเพนนีเรียนรู้ที่จะเข้าใจกฎกติกา และวันนี้ครูสอนบทเรียนนี้ให้เพนนีแล้ว การที่ครูยังไม่ได้สอนอะไรเพนนีให้พูดจาสุภาพเวลาขอคนอื่น เมื่อเห็นเพนนีเดินเข้ามา ครูอาจจะรอดูว่าเพนนีจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร อยากจะให้เพนนีได้ลองคิดและทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเองก่อน ก่อนที่ครูจะชี้นำ

แต่ครูมองอยู่ก่อนแล้ว และท้ายที่สุดครูเข้าชาร์จก่อนที่จะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน เด็กทุกคนมีของรัก ของโปรด แต่พวกเขาก็ต้องได้เรียนรู้ว่า ของสาธารณะไม่ว่าจะโปรดปรานเพียงใด ก็ต้องแบ่งให้คนอื่นใช้ และครูสอนให้เพนนีแบ่งปันให้คนอื่นใช้ด้วยการรอ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าชมพู่จะยอมให้หนังสือหรือสามารถไปเล่นกับคนอื่นได้ ประเด็นคือเพนนีไม่มีความยึดหยุ่น ถ้าทุกคนยอมปรับตามเพนนี เพนนีก็จะออกจากการเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางได้ยากนะคะ จากการบรรยายลักษณะของเพนนีในเนื้อเรื่องนี้ บางทีวิธีการนี้อาจจะเหมาะกับเพนนีก็ได้นะคะ เราอาจจะเป็นคุณแม่สายโหด

การขอไม่ใช่พูดว่า “ให้ลุก นี่ของชั้น” แต่ต้องพูดขอดีๆ เช่น “ชมพู่อ่านจบหรือยัง เราขออ่านต่อได้ไหม นี่เป็นเล่มโปรดเราเลยนะ” เป็นต้น ชมพู่อาจจะใจดีให้เพนนีทันที หรืออาจจะตอบกลับมาว่า ยังอ่านไม่จบเธอรอก่อนนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กด้วยแล้วสังเกตไหมคะ บางทีเด็กไม่ได้ชอบไม่ได้อยากได้อะไรมากมายหรอก แต่ถ้าเห็นเด็กอีกคนอยากได้ ก็จะอยากได้ไม่ยอมปล่อย ยิ่งเพนนีขอ ชมพู่อาจจะยิ่งกำไว้แน่น ถ้าเพื่อนไม่มาชวนไปเล่น

แล้วลองนึกภาพถ้าเพนนีโตขึ้นนะคะ “ชมพู่อ่านจบหรือยัง เราขออ่านต่อได้ไหม นี่เป็นเล่มโปรดเราเลยนะ” ชมพู่อาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนแบบมีคนรออ่านต่อ นี่ฉันต้องรีบๆ อ่านหรือเปล่านะ การกระทำของเพนนีแม้จะพูดดีๆ แต่อาจจะทำให้ชมพู่รู้สึกอึดอัดได้นะคะ แค่ลองนึกว่าถ้าเราเป็นชมพู่แล้วเพนนีมาพูดกับเราแบบนี้เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าชมพู่ใจดีให้เพนนี เพนนีจะไม่ได้เรียนรู้และแก้ไขอะไรเลย

เห็นด้วยค่ะ ถ้าเอาหนังสือในห้องสมุดคือห้องน้ำในที่สาธารณะ เหมือนต่อคิวเข้าห้องน้ำ ถ้าทุกคนไม่ไหว แย่งกันเข้าห้องน้ำก็คงตบตีกันยาว หนังสือก็เสมือนส้วม ต้องรอต่อคิวอะค่ะ ใครลัดคิวไม่โอเคแน่นอน ครูก็คงต้องช่วยสะท้อนอารมณ์ให้หนูเพนนีรู้ตัวว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ โมโห เสียใจ ขัดใจ ไม่ได้อย่างใจ ตอนนี้อารมณ์คงท่วมท้น สอนอะไรเป็นเหตุเป็นผลหนูเพนนีน่าจะไม่ฟังนะคะ กำลังขึ้น

ผมจะบอกเพนนีว่าได้มุมแดงแล้ว ถือว่าเป็นเจ้ามือ หรือมวยหลัก 555 เวลาเล่นพนันภาษานักพนันคงเข้าใจดี อิอิ

จากตรงนี้ไป ผมเขียนเองนะครับ ขออภัยบรรณาธิการด้วย รอบนี้ตีกินสบาย

ที่ให้อ่านเพื่ออยากให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชนเรียนรู้ร่วมกัน’ ภาษาอังกฤษอาจจะใช้คำว่า learning community ชุมชนเรียนรู้ร่วมกันนี้คือสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้นทำเพจและเขียนเรื่องวิธีเลี้ยงลูก ด้วยเหตุผล 2 ข้อที่สำคัญมาก

1. นักวิชาการ เช่นผม รู้แค่วิชาการ ดังนั้นอย่าข้ามเส้น เราเขียน ‘เรื่องที่ควรทำ’ แล้วหยุด

2. คุณพ่อคุณแม่คือผู้มีประสบการณ์ตรง ในบริบทของตนเอง ท่านทำ ‘เรื่องที่ต้องทำ’ ภายใต้บริบทของตนเอง เช่น แต่ละบ้านยากดีมีจนไม่เท่ากันอย่าเอามาเปรียบเทียบกัน เป็นต้น

ประเด็นคือเราไม่ก้าวล่วงความคิดของคนอื่นว่าเขาผิด เราเพียงเล่าประสบการณ์ของเราคือดีที่สุด อาจจะตามด้วยความคิดของเรา แต่เราไม่ว่าความคิดของเขาผิด เท่านี้เองครับ

ชุมชนเรียนรู้ร่วมกันควรเกิดที่พื้นที่สักแห่งหนึ่ง ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียชุดหนึ่ง ครั้นมาเกิดบนพื้นที่ออนไลน์ก็มีข้อดีข้อเสียอีกชุดหนึ่งเช่นกัน บนโพสต์จริงๆ มีอิโมติคอนหัวเราะยิ้มแฉ่งแทรกเป็นระยะๆ เพื่อลดโทนคำพูดของตนเองลง มันยอดมาก

ถัดจากความคิดเห็น 5 ชุดแรกและหลายชุดย่อยนี้แล้ว ยังมีตามมาอีกเยอะมาก จะเห็นว่าผม ในฐานะนักวิชาการเจ้าของพื้นที่ ไม่เข้าไปยุ่งเลย ไม่แม้กระทั่งคันปากอยากจะพูด เพราะพวกท่านทำกันดีอยู่แล้วนั่นเอง

ลองตั้งใจอ่านนะครับ จากหนังสือ 1 เล่มและเด็ก 2 คน ถูกลากไปเรื่องที่นั่งบนเครื่องบิน และส้วมสาธารณะได้อย่างไร ปิดท้ายด้วยเวทีมวย

เมื่อท่านอ่านจบ ท่านอาจจะสรุปอะไรไม่ได้ แต่เชื่อเถอะครับว่าท่านเปลี่ยนไปแล้ว เหมือนเจ้าของความคิดเห็นที่เข้ามาแชร์กันทุกๆ คน พวกท่านเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มากก็น้อย

ตัวผมเองก็เปลี่ยนไปด้วยคิดไม่ถึงว่าจะมีความคิดเห็นหลากหลายเกินกว่าที่ผมจะคิดออกมากเพียงนี้ นี่คือชุมชนเรียนรู้ร่วมกันที่ดี

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า