โรงเรียนลักปิดลัก เปิดสร้างความเสียหายมากเพียงไร

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เราจะเปิดเรียนด้วยรูปแบบเดิมมิได้ เพราะ 1. เด็กๆ จะติดเชื้อจำนวนมาก 2. ผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย การศึกษาไทยที่เป็นอยู่ไม่มีประโยชน์

เราจะปิดเรียนไปเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบเดิมมิได้ เพราะ 1. การเรียนออนไลน์เชิงอนุรักษ์เป็นโทษ 2. เด็กจะเกิดการถดถอยที่แก้ไขมิได้ในระยะยาว

วันนี้เราจะขยายความประการสุดท้ายนี้

การถดถอย หรือ regression หมายถึง การถดถอยของพัฒนาการ (developmental regression) พัฒนาการเปรียบเสมือนการสร้างนั่งร้าน ถ้าตอนล่างไม่แข็งแรง เร่งสร้างตอนบนจะอย่างไรก็ต้องทรุดและพังทลายลง ปัญหาคือเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างตอนล่างมีเวลาวิกฤติของตัวเอง จะต้องสร้างเมื่อเด็กคนนั้นอายุเท่านั้น หากล่วงเลยไปจะสร้างมิได้อีก

ก่อนการพังทลาย ย่อมมีการทรุดลงและถดถอย

นี่เป็นหลักการพื้นฐานของพัฒนาการ ฟรอยด์ อิริคสัน และ ไวก็อตสกี รู้ แต่ผู้บริหารการศึกษาประเทศไทยไม่รู้

การถดถอยมี 2 มิติ

1. การถดถอยสะสม (cumulative regression)

สมมุติ ด.ญ.สมหญิง จะอายุเท่าไรก็ตาม ควรได้เรียนรู้ 20 ทักษะ และพัฒนา 20 ประเด็นของจิตวิทยาพัฒนาการใน พ.ศ. 2563 คือปีโควิดที่ 1

สมมุติว่าสมหญิงทำได้เพียงอย่างละ 10 หัวข้อ สองอย่างรวมเป็น 20 หัวข้อ จากทั้งหมด 40 หัวข้อ

สมมุติต่ออีกว่า ในแต่ละหัวข้อสมหญิงทำได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น สมหญิงทำได้ 140 ส่วน จากทั้งหมด 400 ส่วน สรุป-เด็กหญิงขาดทุน 260 ส่วน

เราคิดว่าเดี๋ยวโควิดสงบ เปิดเทอมดีๆ แล้วมาสอนชดเชย 260 ส่วนนี้ก็ได้

คำตอบคือไม่ได้ เพราะทันทีที่เปิดเทอม เด็กหญิงจะได้ภารกิจด้านพัฒนาการอีก 400 ส่วนของ พ.ศ. 2564 คือปีโควิดที่ 2 มาเพิ่มเติม

บวกของเก่าที่ขาดทุนไว้ 260 ส่วน ดังนั้นเด็กหญิงมีงานต้องทำใน พ.ศ. 2564 รวมทั้งสิ้น 660 ส่วน

ประเด็นคือ 400 ส่วน ยังเอาตัวไม่รอด 660 ส่วน จะไปเหลืออะไร ไม่นับว่าฐานไม่ดีจะทำส่วนยอดได้อย่างไร และไม่นับว่าโควิด-19 จะไม่สงบใน พ.ศ. 2564 ค่อนข้างแน่ เพราะกว่าวัคซีน mRNA จะมาก็เกือบปลายปีแล้ว

มีประเด็นทักษะอะไรบ้าง มีประเด็นพัฒนาการอะไรบ้าง ที่ครูสมัยใหม่ควรรู้ และครูสมัยเก่าควรรู้บ้าง (ก็ยังดี)

เมื่อถึง พ.ศ. 2566 เด็กไทยเกือบทุกคนมีพัฒนาการหยุดอยู่ที่ พ.ศ. 2562 คือปีก่อนโควิด นั่นคือมีระดับพัฒนาการช้ากว่าอายุจริงประมาณ 3 ปี!

3 ปี!

2. ความถดถอยรวมหมู่ (collective regression)

ปัญหาที่เป็นแกนกลางของการถดถอยรวมหมู่ คือ เรื่องอัตลักษณ์ – identity

ทบทวน – เด็กนักเรียนทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลาย พัฒนาหลากหลายทักษะและหลากหลายประเด็นของจิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อเดินทางไปสู่เรื่องใหญ่ตอนวัยรุ่นคือ มีอัตลักษณ์

ปรากฏว่าทุกคนไปไม่ถึง หรือไปถึงช้ามากกว่าอายุจริง อย่างน้อยก็ 3 ปี เพราะมัวแต่ลักปิดลักเปิดโรงเรียน แล้วเรียนออนไลน์เชิงอนุรักษ์

อัตลักษณ์ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดอะไร?

1. ความอดทนต่อความเครียดต่ำ

2. เหวี่ยงวีนง่าย

3. ลงไม้ลงมือง่าย

ที่สำคัญคือ ข้อที่ 4. ไร้ความสามารถในการหาฉันทาคติ จะไปหาได้อย่างไร เพราะต่างคนต่างก็ลูกผีลูกคน ไม่มีใครมีอัตลักษณ์หรือพัฒนาการเตรียมความพร้อมที่จะมีอัตลักษณ์ดีๆ ได้สักคน เมื่อตนเองเป็นใครก็ไม่รู้ก็ จะเอาอะไรก็ไม่รู้ไปรวมกับตัวอะไรก็ไม่รู้ เรื่องจะวนกลับไปที่ข้อ 1-3 คือ ความอดทนต่อความเครียดต่ำ เหวี่ยงวีนง่าย และลงไม้ลงมือได้ง่าย

ปรากฏการณ์รวมหมู่จะมีลักษณะดังนี้ เด็กคนหนึ่งถดถอย ถดถอย 3 เซนติเมตรต่อวัน แต่ถ้าเด็กหลายคนถดถอยพร้อมกัน ถดถอยได้ 30 เซนติเมตรต่อวัน มิหนำซ้ำตีกันไประหว่างทางที่ไหลลง แตกออกเป็นก๊กๆ แต่ละก๊กแพร่พันธุ์เชื้อชั่วออกไปได้เรื่อยๆ เหมือนซอมบี้

ก๊กหนึ่งจะมองอีกก๊กหนึ่งเหมารวม หมดความสามารถเห็นเพื่อนๆ เป็นรายบุคคล มึงไม่เหมือนกู มึงตาย เพราะไม่มีใครที่เป็นปัจเจกบุคคลที่มีอัตลักษณ์ 

ความถดถอยมีหลายดีกรี ดีกรีมากที่สุดคือ ถดถอยไปที่ระดับหมดความไว้ใจเพื่อนมนุษย์ และถ้ายังถอยลงไปอีกคือ หมดความไว้ใจพ่อแม่ ถึงขั้นตอนนี้คือ นั่งร้านพังทลาย

หากไม่เข้าใจ ดูหิมะถล่ม เวลาหิมะถล่มจะกวาดทุกอย่างหายไป และจะไม่มีวันหยุดจนกว่าจะถึงก้นหุบเหว

ก๊กมีวิธีอะไรในการซ่อมแซมอัตลักษณ์? 

ง่ายมาก ส่วนใหญ่ด้วยการสร้างพิธีกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอีก พิธีกรรมคือวิธีสร้างอัตลักษณ์รวมหมู่ที่ง่าย ใส่เครื่องแบบ ตัดผม เข้าแถวหน้าเสาธง ร้องเพลงเชียร์สถาบัน ฯลฯ

ปล่อยครูสอนออนไลน์ที่บ้านก็สุ่มเสี่ยง ครูจะสูญเสียอัตลักษณ์ ครูจึงต้องแต่งตัวเรียบร้อยมาตั้งเครื่องสอนออนไลน์ที่โรงเรียน และอย่าลืมเคารพธงชาติออนไลน์พร้อมนักเรียนที่บ้าน

นั่นทำให้ก๊กอ่อนไหวต่อความแตกต่างของรายบุคคลมากขึ้นไปอีก เช่น ใครๆ ก็หมอบกราบ ทำไมนักเรียนคนนี้ยืนเฉยๆ มึงไม่เหมือนกู มึงตาย

ฟรอยด์เรียกทั้งหมดนี้ว่า The narcissism of minor differences

ด.ช.สมชาย จำเป็นต้องทำตัวสมชาย มิเช่นนั้นไม่รอด

หากอ่านทั้งหมดนี้แล้วยังนึกภาพไม่ออก แปลว่ายังเขียนไม่ดีพอครับ ไว้แก้ตัวใหม่ เพราะเราน่าจะมีเวลาให้แก้ตัวกันอีกนานมาก

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า