บันทึกจากอีกฟากฝั่ง: ได้ยินไหมเสียงสาละวิน

…แดดน้ำค้างพร่างพรมลงผืนดิน อุ่นไอดินดอกหญ้างามดูเขียวขจี

ผ่านลมฝนต้นหนาวมาทุกปี รอคนดีริมฝั่งท่าที่สาละวิน…

บทเพลงของนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลอยอยู่ในห้วงคำนึงขณะเรือรับจ้างแล่นตามสายน้ำที่ไหลลู่ลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยกำลังพาคณะสื่อมวลชนและเครือข่ายต่อต้านเขื่อนจากทั้งพื้นที่แม่น้ำโขงและลำปางกลับไปยังที่ทำการอุยานแห่งชาติสาละวิน เพื่อแยกย้ายกลับภูมิลำเนาที่แต่ละคนได้เดินจากมาเพียงชั่วคราวระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่อีกหลายพันคน กระทั่งเรือนหมื่น ไม่อาจหวนคืนภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นวันหยุดเขื่อนโลก ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักว่าเบื้องหลังการผันน้ำขึ้นมาเป็นพลังงานไฟฟ้าให้ทั้งโลกได้ใช้กันนั้น มีสิ่งใดบ้างที่สูญเสียไป มีกี่ชีวิตที่ล้มหายตายจาก กระทั่งมีกี่ครอบครัวที่ได้แต่มองบ้านของพวกเขาจมลงใต้น้ำในนามของการพัฒนา ในนามของการกักเก็บพลังงานเพื่อคนส่วนรวม

บนริมฝั่งชายหาดแม่น้ำสาละวินที่ไหลลงสู่ธิเบต ผ่านมณฑลยูนนานของจีนแล้วไหลขนานคู่กับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของพี่น้องชาวอุษาคเนย์ฝั่งตะวันออก และแม่น้ำแยงซีเกียงในบริเวณที่เรียกว่า ‘สามแม่น้ำไหลเคียง’ ที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ก่อนสายน้ำจะไหลข้ามพรมแดนของรัฐฉานลงสู่รัฐคะยาหรือคะเรนนี กลายเป็นเส้นพรมแดนธรรมชาติระหว่างรัฐกะเหรี่ยงและอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมยของประเทศไทย ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลที่มะละแหม่งของรัฐมอญ รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร

ธรรมชาติตลอดระยะทาง 2,800 กิโลเมตรนี้ยังไม่ถูกรบกวน แม้หลายสิบปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตลอดเวลา แต่ไม่อาจสำเร็จเนื่องจากปัญหาการสู้รบในพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่นับรวมผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชน

รายงานสถานการณ์เขื่อนสาละวินในพม่า ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salween Watch Coalition) ระบุข้อมูลโดยอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Myanmar Times เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2559 ว่า รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในรัฐบาลทหารของไทยได้เดินทางเยือนพม่า และหารือกับรัฐบาลพม่าในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานและพัฒนาโครงการเขื่อนเมืองโต๋นในรัฐฉาน ซึ่งจะมีกำลังผลิตเป็น 10 เท่าของเขื่อนภูมิพล โดยรายงานข่าวชิ้นนี้ยังระบุข้อมูลถึงปัจจุบันไว้ดังนี้

ข้อมูลเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในพม่าและพรมแดนไทย-พม่า

ชื่อโครงการ กำลังการผลิต ผู้ลงทุน สถานะโครงการ
เขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam Project) 1,360 MW กฝผ.อินเตอร์เนชั่นแนล และกระทรวงพลังงานพม่า EIA แล้วเสร็จ การศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
เขื่อนดา-กวิน (Dagwin Dam) 729MW กฝผ. ศึกษาความเป็นไปได้
เขื่อนเว่ยจี (Wei Gyi Dam) 4,540 MW กฝผ. ศึกษาความเป็นไปได้
เขื่อนวยาติ๊ด 4,500 MW China Datang Corporation MOU เพื่อศึกษาโครงการ

 

ในจำนวนเขื่อนทั้งสี่ เขื่อนที่น่าเป็นกังวล และนำมาสู่การรวมตัวของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อช่วงเช้าเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกเพื่อจัดกิจกรรมรวมตัวแปรรูปเป็นตัวอักษรว่า ‘NO DAM’ คือเขื่อนฮัตจีที่ผ่านขั้นตอน EIA ไปแล้ว โดยโครงการเขื่อนฮัตจีนั้นมีมูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทเป็นการลงทุนร่วมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) กับกระทรวงพลังงานของพม่า

พื้นที่โครงการเขื่อนฮัตจีตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 47 กิโลเมตรไปตามลำน้ำสาละวิน จากบ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย กฝผ. ได้ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุออกมาว่าโครงการเขื่อนฮัตจีมีครัวเรือนที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนระดับสูงเพียงหนึ่งครัวเรือน และเสี่ยงปานกลาง 33 ครัวเรือน ในหมู่บ้านริมน้ำสาละวินสามแห่ง ได้แก่ บ้านสบเมย บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย และบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง

เพราะโครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐกะเหรี่ยง รายงานชิ้นนี้ยังระบุครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบจำนวนทั้งสิ้น 13 หมู่บ้าน และต้องอพยพออกจากพื้นที่ 21 ครัวเรือน ในขณะที่ผลการศึกษาของกลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง Karen River Watch ระบุว่าชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นหนีภัยสงครามมาตั้งบ้านเรือนอาศัยเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก

 

พอล เส่ง ทวา
พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ

พอล เส่ง ทวา ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง ให้สัมภาษณ์ผ่านล่าม พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงว่า การลงนามหยุดยิงที่กองกำลังต่างๆ ลงนามกับรัฐบาลพม่า ในด้านหนึ่งโลกเห็นกว่าพม่าเกิดสันติภาพแล้ว ทำให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ผลัดถิ่นถูกระงับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นการกดดันให้ชาวบ้านกลับสู่ถิ่นฐาน แต่ทหารพม่ากลับมีการเสริมกำลังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่กองพลที่ 7 ของ KNU ทหารพม่าได้เข้ามาและพยายามสร้างถนนเชื่อมค่ายทหารพม่าในจุดต่างๆ เพื่อจัดส่งอาหารและยุทโธปกรณ์ ทั้งที่ในข้อตกลงมีการลงนามหยุดยิงและห้ามขยายฐาน จึงเท่ากับผิดข้อตกลง ทำให้ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องหนีเข้าไปอาศัยในพื้นที่ป่าและเข้ามาที่ศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามอิตุท่า กลายเป็นผู้ผลัดถิ่นในแผ่นดินเกิดของตัวเอง

ขณะที่ ซอ โซ ขึ หัวหน้าศูนย์ผู้หนีภัยสงครามอิตุท่า ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ในศูนย์ตอนนี้ลำบากมาก เพราะถูกตัดขาดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรต่างประเทศมากว่าห้าเดือน ทำให้ไม่มีข้าวสารเพียงพอที่จะปันส่วนให้ทุกครัวเรือน ชาวบ้านวัยหนุ่มสาวต้องพยายามออกไปหางานรับจ้าง หรือเย็บใบตองตึงนำไปขายเพื่อแลกซื้อข้าวสารและสิ่งของจำเป็น แม้ก่อนหน้านี้จะมีพี่น้องกะเหรี่ยงจากฝั่งไทยส่งข้าวสารและของบริจาคมาที่ศูนย์ฯ แต่ต้องปันส่วนให้ครอบครัวที่มีแต่คนชรา เด็ก และคนพิการเท่านั้น ส่วนยารักษาโลกก็ขาดแคลนอย่างมาก จึงได้แต่คาดหวังว่านานาประเทศจะเข้าใจสถานการณ์จริงในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ว่าไม่ได้เป็นไปตามแผนสันติภาพอย่างที่รัฐบาลพม่าสร้างภาพไว้

นอกจากนี้ พล เส่ง ทวา ยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ในรัฐกะเหรี่ยงมีการตั้งพื้นที่สันติภาพ เปลี่ยนสนามรบให้เป็นพื้นที่สันติภาพ เหมือนที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าในช่วงปลายสงครามเย็น โดยรัฐกะเหรี่ยงมีวัตถุประสงค์ คือ หนึ่ง-สร้างสันติภาพที่ประชาชนต้องการ ไม่ใช่สันติภาพที่พม่าต้องการ

“ประชาชนต้องการอยู่โดยปราศจากความกลัว เราเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่ทนทรมานจากความไม่สงบมานานหลายทศวรรษ เราร่วมฟื้นฟู และทำความเข้าใจปัญหา กำหนดอนาคตของตนเองได้ มีอำนาจในการจัดการตนเอง มีสิทธิมีเสียง ไม่ใช่ชีวิตที่ควบคุมโดยรัฐบาลพม่าที่จะมาสร้างเขื่อน”

สอง-เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และเพื่อความหลากหลายทางชีวิภาพ เพราะป่าในรัฐกะเหรี่ยงลุ่มน้ำสาละวินยังมีเสืออีกมาก เป็น 1 ในพื้นที่ทั้ง 3 แห่งของพม่าที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์เหล่านี้ต่างอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศ โดยไม่มีพรมแดนเรื่องรัฐชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพอลยังกล่าวต่อว่า ยังจำกรณีเสือโดนยิงที่กอกะเร็กได้ ต่อมาภายหลังทราบว่าเป็นเสือที่ข้ามมาจากผืนป่าตะวันตกของไทย

สาม-การอยู่รอดทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากชาวบ้านยังนับถือผี และเชื่อบรรพบุรุษ เคารพในธรรมชาติ ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชาวกะเหรี่ยง เป็นเรื่องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต หากเสียผืนป่าไปก็เท่ากับสูญเสียอัตลักษณ์ เพราะเขตสันติภาพสาละวินเป็นพื้นที่พิเศษ มีธรรมนูญของตนเอง ปกครองตนเอง เลือกตั้งผู้แทนเข้าสภาของตนเอง

“หากรัฐบาลพม่าสามารถสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ เราก็สร้างเขตวัฒนธรรมพิเศษได้เช่นเดียวกัน” พอล เส่ง ทวา กล่าว

หน่อ เทอ เลอ ปวย ตัวแทนเยาวชน Karen Student Network Group กล่าวต่อหน้าเยาวชนและชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมเป็นตัวอักษรคำว่า ‘NO DAM’ ณ ริมฝั่งสาละวินในบรรยากาศของขุนเขาโอบล้อม ที่เสียงกึกก้องของเยาวชนคนหนึ่งอาจได้ออกไปไกลกว่าแค่พื้นที่ไกลห่างจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคุ้นเคยว่า

“การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้อพยพในศูนย์ฯ อิตุท่าและชาวบ้านตลอดแม่น้ำสาละวิน โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของคนกะเหรี่ยง วันนี้จึงเป็นวันที่เราจะรวมพลังร่วมมือต่อสู้เพื่อพี่น้อง เพราะยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องหลบซ่อน ยังคงมีการยิงปะทะ ทำให้ชาวบ้านต้องหนีเข้าไปอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การสร้างเขื่อนของพม่า ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อส่งกำลังทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่ เช่น ในพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจี ทหารพม่าเข้ามาขับไล่ชาวบ้านจนต้องมาที่อิตุท่า จนบัดนี้ยังไม่สามารถกลับไปบ้านเดิมได้ เขื่อนจึงเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างทุนกับรัฐบาลพม่า ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพ”

เสียงสะท้อนของเยาวชนคนหนึ่งจบลง ก่อนตามด้วยเสียงตะโกนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ณ ริมฝั่งสาละวินที่ตะโกนเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า

โข่ เลาะ โกล๊ะ บวา เส่อ เบล”

ให้สาละวินไหลเป็นอิสระ

“ที เต่อ เมอ เปอ เตอ ซะลอ”

เราไม่ต้องการเขื่อน

ว่าวที่ถูกทำขึ้นจากพลาสติกสีขาวมีข้อความคำว่า ‘NO DAM’ ในมือของเด็กน้อยที่วิ่งไปบนชายหาด ลอยขึ้นสูงสู่ท้องฟ้า พ้นยอดเขาระหว่างสองพรมแดนที่เราได้แต่หวังว่าคนภายนอกจะได้ยินเสียงตะโกนของพวกเขา เสียงร่ำร้องจากสาละวิน

 …เจ้าเห็นไหมนั่นไง เรือของโคลน ล่องสายชลหากินเลี้ยงชีวา

ได้ยินไหมนั่นไงลมพัดมา ฉันคอยเธออยู่ฝั่งท่า…ที่สาละวิน


หมายเหตุ: ในส่วนของคำพูดของชาวกะเหรี่ยง อาศัยการแปลจากสำนักข่าวชายขอบเป็นหลัก เพื่อให้เนื้อความเป็นไปอย่างถูกต้อง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า