ประภาพร ไม่มีนามสกุล: คนสองพรมแดนผู้อยู่เบื้องหลังซับไตเติลหนังชื่อ ‘มาร-ดา’

หาก ‘เชอร์รี่’ อยู่ที่เมียนมาร์ ชื่อของเธอจะถูกเรียกว่า ‘แชรี โซ’ พ่อของเธอตั้งให้มีความหมายถึงดอกเชอร์รี่อันงดงามโดยเฉพาะยามบานสะพรั่ง ส่วนชื่อหลังเป็นนามสกุลซึ่งใช้เหมือนกันกับพี่สาวอีก 2 คน หากอยู่ประเทศไทย ลุงของเธอตั้งชื่อให้ไพเราะไม่แพ้กันว่า ‘ประภาพร’ อันหมายถึง แสงสว่างที่งดงาม แต่ปัญหาอย่างเดียวของความงามในฝั่งไทยก็คือ ‘ประภาพร ไม่มีนามสกุล’

พ่อของเชอร์รี่เป็นคนมอญ แม่เป็นคนทวาย ทั้งคู่ไปทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วพบกันที่นั่น รักกันที่นั่น และทำให้ 24 ปีที่แล้ว เชอร์รี่ก็ได้เกิดบนแผ่นดินนั้นตามมาด้วย

ค่ำวันหนึ่ง เรานัดแนะกันผ่าน Facebook Messenger ด้วยข้อความภาษาไทย เธอส่ง Location มาให้ เราเช่ารถมอเตอร์ไซค์จากโรงแรมบึ่งไปหาถึงบ้านซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำทวายเพียง 5 นาทีเท่านั้น ที่นั่นเชอร์รี่นั่งรออยู่แล้ว เราพบหน้า ทักทาย พูดคุย ภาษาไทยของเธอชัดเป๊ะ นั่นเพราะนอกจากเกิดที่ไทยแล้ว เธอยังเรียนที่ประเทศไทยตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย แต่การเป็นเมียนมาร์บนแผ่นดินไทยในเวลานั้น บางจิตใจของเราไม่ได้กว้างอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในข้อเขียนนี้มีทั้ง ‘เมียนมาร์’ และ ‘พม่า’ หากเป็นการบรรยายเราใช้เมียนมาร์ตามถ้อยคำทางการ แต่หากอยู่ในเครื่องหมายคำพูดของบทสนทนา เราใช้ ‘พม่า’ เพราะเป็นถ้อยคำที่เราใช้สนทนาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการสนทนาครั้งนี้ด้วย

ประภาพร ไม่มีนามสกุล

“ประภาพร – ชื่อไท้ไทย แต่ไม่มีนามสกุล เวลาเช็คชื่อก็จะแปลกอยู่คนเดียวในห้องเรียน พอเห็นว่าเราไม่มีนามสกุลเขาก็จะรู้ว่าเราเป็นคนพม่า เขาจะมองเราในด้านลบ อ้าวลูกพม่านี่หว่า นี่คือตอนเด็กๆ ที่เราจำความได้ ก็ถูกล้อ เพราะไม่มีนามสกุล

“ตอนนั้นถ้าพูดถึงพม่า คนไทยจะไม่รู้จักเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือเรื่องท่องเที่ยวอะไรเลย รู้แค่ว่าถ้าพูดพม่าปุ๊บ ก็คือพม่าที่เคยมาตีอยุธยาบ้านเรานะ เรื่องนี้ฝังในใจหนูมาตั้งแต่เด็กๆ เลย

“เวลาครูขานชื่อก็จะบอกว่า เด็กหญิงประภาพร ไม่มีนามสกุล เวลาได้รับรางวัลหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็จะประกาศชื่อแบบนี้แหละ นางสาวประภาพร ไม่มีนามสกุล หรือไม่ก็นางสาวประภาพร ไม่ปรากฏนามสกุล พอพูดแบบนี้คนก็เริ่มสนใจเราแล้วว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่มีนามสกุล คนเริ่มรู้จักเราเยอะขึ้น แล้วก็มาถามว่า น้องเป็นคนที่ไหน ได้ภาษาอะไรบ้าง ในข้อเสียก็มีข้อดีคือ เราได้สองภาษา

“ตอนเด็กจะมีเพื่อนอีก 2 คนที่ไม่มีนามสกุลเหมือนกัน บางคนก็ไม่กล้าเรียนต่อก็เพราะเรื่องแบบนี้ เพราะอายที่ตัวเองเป็นคนพม่า แต่หนูไม่อายเพราะพ่อแม่สอนประจำว่าเรียนก็คือเรียน ชื่อ-นามสกุลไม่สำคัญหรอก

“ที่ไม่อายเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด อาจจะมีน้อยใจในบางครั้งเวลาสมัครทุนการศึกษาไม่ได้ เพราะมีข้อมูลไม่ครบ เลขบัตรประจำตัวประชาชนก็ไม่เหมือนคนอื่น” ประภาพร ไม่มีนามสกุล เท้าความถึงวัยเยาว์ เป็นเรื่องสุขปนเศร้าที่เล่าไปยิ้มไป

ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล

ได้เปรียบกว่าคนอื่น

“ตอนเป็นเด็กก็ไปๆ มาๆ ตลอด ตอนนั้นไปตั้งแต่ยังไม่มีทางทิคี (htee khee – เส้นทางจากด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี มาที่เมืองทวาย) ต้องไปทางด่านเจดีย์สามองค์ ไกลมาก นั่งรถเมล์ไปทางเจดีย์สามองค์ จากนั้นก็จะมีรถข้ามมาที่เมืองเย่ รัฐมอญ จากเย่ก็มาทวาย ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน บางทีต้องนอนในป่า เมื่อก่อนเดินทางลำบากมาก รถ ถนน ก็ไม่ดีแบบทุกวันนี้”

ถึงวรรคนี้ของการสนทนา เรา – ซึ่งเพิ่งผ่านการเดินทางมาด้วยเส้นทางทิคีจินตนาการถึงการขับรถด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนถนนหินบด เกรดทางอย่างหยาบ ถนนลดเลี้ยวไปตามไหล่เขา ฝุ่นคลุ้งตลอดทาง ใครบางคนที่ร่วมคณะมากับเราบอกว่า หากเป็นฤดูฝนถนนจะกลายเป็นปลัก การเดินทางยากกว่าตอนนี้อีกไม่รู้กี่เท่าตัว ฉะนั้นหากบอกว่าถนนตอนนี้ดีในความหมายของเชอร์รี่ เราอาจต้องจินตนาการว่าก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร

เชอร์รี่ได้กลับบ้านแทบทุกปี กำแพงพรมแดนและระยะทางจึงไม่อาจขวางการเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม และภาษาของทั้งสองแผ่นดิน

“หนูได้เปรียบกว่าคนอื่นเพราะภาษาก็ได้ทั้งเขียนทั้งอ่าน (ไทย/เมียนมาร์) ปิดเทอมก็มาเรียนที่นี่ ไม่ได้มาอยู่บ้านเฉยๆ โรงเรียนอยู่ติดบ้านเลย” เธอชี้ไปที่อาคาร 4-5 หลังในระยะสายตา ที่นั่นคือโรงเรียน

“ครูก็สนิทกัน ถ้าเราอยากได้ภาษาก็ไปนั่งเรียนกับเขาด้วย

“เรียนเข้าใจนะ เพราะอยู่ที่บ้านพ่อกับแม่สอนภาษาพม่าอยู่แล้ว ก็ท่อง ก.เอ๋ย ก.ไก่ แบบภาษาพม่านั่นแหละ มีพื้นฐานอยู่แล้ว แม้ไม่ได้เรียนเต็มปีเหมือนเพื่อนที่นี่ พอกลับมาจึงเหมือนกับมาเรียนเพื่อให้เราซึมซับภาษาพม่า ให้อ่านได้ เขียนได้ ครูก็ให้เรียนเพราะสนิทกัน บ้านก็ใกล้ด้วย วิ่งไปวิ่งมาได้ เพราะที่พม่าไม่ได้มีระบบปิดกั้นอะไรแบบนั้น”

การได้เรียนคู่ขนานกันทั้งไทย-เมียนมาร์ ห้องเรียนทั้ง 2 ห้องต่างกันอย่างไร เราถาม

“ที่ไทยจะมีระเบียบแบบแผนเยอะกว่า ชุดนักเรียน รองเท้า ต้องเป๊ะ เข้าเรียนตรงเวลา แต่ก็อย่างว่า หมู่บ้านหนูชนบทค่ะ บางทีเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีครบกันทุกคน ก็จะเห็นหลากหลายสไตล์

“โรงเรียนนี้น่าสงสารมาก (ชี้ไปที่โรงเรียนข้างบ้าน) ตอนอยู่ ป.4 กั้นห้องเรียนไว้ 3 ห้อง ตอนนี้โรงเรียนเก่า พัง ก็เลยรวมเป็นห้องเดียวแล้ว แยกห้องด้วยการหันหลังชนกัน แล้วเก้าอี้ตั้งแต่เราเรียนอยู่ที่มีการสลักชื่อตัวเองเอาไว้ก็ยังอยู่จนถึงตอนนี้” เก้าอี้ตัวนั้นมีชื่อ แชรี โซ เป็นภาษาเมียนมาร์ มันถูกสลักไว้เมื่อราว 15 ปีที่แล้ว

ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล

พม่าที่มาตีบ้านเรา

“ห้องเรียนในพม่าก็มีการสอนเรื่องประวัติศาสตร์การเสียกรุง แต่อธิบายว่าเป็นการสู้รบกันทั้ง 2 ประเทศ ไม่ได้มองในเชิงความแค้นเยอะเกินไป แต่ตอนเป็นเด็ก (อยู่ประเทศไทย) เราจะได้ยินเรื่องนี้แบบแค้นๆ หน่อย (พม่า) ตีบ้านเราไง!

เธอเน้นเสียงจริงจัง มันเป็นการขีดเส้นใต้ที่ถ้อยคำและจบด้วยอัศเจรีย์ กระนั้นพูดจบก็หัวเราะร่วน ราวกับเรื่องขำขื่นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรให้ต้องซีเรียสสักเท่าไร

“ตอนโตขึ้นเริ่มเรียนวิชาอาเซียน คนในห้องก็เริ่มรู้จักพม่าเยอะขึ้น จำได้ว่าเรียนวิชานี้ครั้งแรกครูถามว่า นักเรียนรู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศพม่าบ้าง หนูยกมือตอบ เจดีย์ชเวดากองอยู่คนเดียว ขณะที่เพื่อนเราบอกว่า เขามาตีบ้านเราไงสมัยอยุธยา เราก็นั่งอึ้งอยู่คนเดียว” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนเรียนอยู่ชั้น ป.4 เชอร์รี่บอกว่าเธอรู้มาตลอดว่านักเรียนไทยท่องกันมาแบบนี้ แต่ในฐานะของคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของแผ่นดินคู่กรณี เชอร์รี่มีคำอธิบายให้เพื่อนๆ อีกแบบ

“ไม่ใช่หรอก ก็ตีกันทั้งคู่ ไม่ใช่มาตีอยู่ฝ่ายเดียว” คำอธิบายของเธอมีนัยอีกประการก็คือ ความผูกพันกับทั้ง 2 ประเทศ มันทำให้เธอรักคนทั้ง 2 ชาติเท่าๆ กัน

“เวลาดูกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล จะดูไม่ได้เลยว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ต้องแข่งกัน ถ้าดูกับคนพม่า เวลาพม่าว่าไทยนี่ก็โกรธ พอดูกับคนไทยเขาว่าพม่า เราก็โกรธ เอาจริงๆ ก็รักทั้ง 2 ประเทศ ผูกพันกับทั้งไทยและพม่า

“ตอนหลังๆ อาจารย์เริ่มเปิดคลิปวิดีโอว่าพม่าสวยยังไง ที่ท่องเที่ยวอะไรบ้าง คนก็เริ่มถามว่า พม่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ มีรูปดาราพม่าให้ดู เพื่อนก็บอก ดาราพม่าก็สวยเหมือนกันนี่นา

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราก็เปิด teaser หนังเรื่อง From Bangkok to Mandalay ถึงคนไม่คิดถึง ให้เพื่อนดู แชร์วิดีโอให้เพื่อนดูบ้าง เพื่อนก็ถามว่า ที่พม่าสวยขนาดนั้นเชียวเหรอ เชอร์รี่พาไปบ้านเธอหน่อยสิ เริ่มมี feedback แบบนี้กลับมา จากที่เมื่อก่อนพอพูดเรื่องพม่าปั๊บจะมองในแง่ลบ”

หลังเข้ามหาวิทยาลัย เชอร์รี่ไม่ได้กลับไปเรียนที่เมียนมาร์อีก แต่ก็ฝึกปรือตัวเองจากการฟังเพลงเมียนมาร์ ร้องคาราโอเกะตามเพลงนั้นๆ ดูหนัง และติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดจนรับรู้เทรนด์ของแผ่นดินแม่อยู่เสมอ

ตามหานามสกุล

สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม คือสาขาที่เลือกเรียน โดยมีเหตุผลสำคัญคือการคิดว่าระบบขนส่งจะทำให้เธอได้ใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ทั้ง 2 ประเทศ ได้อยู่ทั้ง 2 บ้านเท่าๆ กัน

“ตอนที่เลือกเรียน ใครๆ ก็พูดถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย แต่ยังไม่เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร ถึงอย่างนั้นก็คิดว่าโลจิสติกส์น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็เลยเลือกเรียน”

การเรียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความลำบากที่สุดคือวันที่ต้องไปฝึกงาน เมื่อ ‘ประภาพร’ ถูกปฏิเสธการรับเข้าฝึกงานเพียงเพราะเธอ ‘ไม่มีนามสกุล’

“น้องทั้ง 2 คน (เพื่อน)  ผ่านนะคะ ยกเว้นน้องอีก 1 คน ลืมใส่นามสกุล เดี๋ยวไปกรอกมาให้ครบก็สามารถฝึกงานได้เลย” ใครสักคนจากบริษัทที่เป็นเป้าหมายเข้าฝึกงานโทรศัพท์แจ้งเธอด้วยความเข้าใจผิดว่ามันเป็นความหลงลืมกรอกข้อมูลบางช่อง

“อ๋อ หนูไม่มีนามสกุลค่ะ ยังไม่ได้รับสัญชาติ” เธอตอบคนที่ปลายสาย

“ขอโทษด้วยนะคะ เช่นนั้นทางเรารับเข้าฝึกงานไม่ได้ค่ะ” ใครคนเดิมบอกกับเธอ และมันทำให้ผู้หญิงที่ยิ้มตลอดการพูดคุยของวันนี้ต้องเสียน้ำตาในวันนั้น

ประภาพร ทวงถามนามสกุลกับกระทรวงมหาดไทยแทบจะทันทีที่วางสาย นามสกุลซึ่งมีความหมายเดียวกับสัญชาติไทย ซึ่งเธอมีสิทธิเต็มที่จะได้รับตามหลักการเกิดในดินแดนนี้ ทั้งที่ผ่านมากว่า 20 ปี เธอยื่นหลักฐานครบถ้วนและพยายามที่จะทวงถามมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้า กระทั่งส่งผลอันหนักหน่วงในวันดังกล่าว

“ชีวิตหนูพังเลยนะ ถ้าไม่ได้ฝึกงานพร้อมเพื่อนก็ต้องรออีกเทอมนึง

“หนูไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนะ แล้วหลักฐานต่างๆ ครบหมด เหลือแค่อนุมัติให้หนูเท่านั้น” เธอเล่าบทสนทนาในวันนั้นกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยให้ฟังอีกรอบ หลังจากนั้นเกือบ 1 เดือน ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ผ่านทางโทรศัพท์ว่า

“ให้มาที่อำเภอได้แล้ว เดี๋ยวรอถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเลย” เธอยิ้มและเล่าต่อ “ดีใจที่สุดในชีวิต เหมือนชีวิตเรากำลังจะเปลี่ยนแล้ว เรากำลังจะมีนามสกุลแล้วนะ

“จริงๆ แล้วนามสกุลนี้คิดมาเยอะนะ คิดมาเรื่อยๆ เคยคิดนามสกุล หงสาวดี ด้วย (หัวเราะ) เพราะหงสาวดีเป็นสัญลักษณ์ของมอญ แล้วมอญก็เป็นบ้านเกิดของพ่อ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้”

“ตอนแรกจะใช้ ‘วรสกุล’ แต่มันซ้ำ เพราะนามสกุลทั่วประเทศมันมีเยอะ ก็เลยค้นหาใน google หาความหมายด้วย ต้องคิดเยอะเพราะเราจะเป็นต้นตระกูลคนแรกที่ได้ใช้นามสกุลนี้ ต้องพยายามหาที่ไม่ซ้ำกับคนอื่นอีก สุดท้ายได้ ‘ปรียาภัทรวรสกุล’ ซึ่งยาวมากเลย”

ถัดจากวินาทีนั้น ประภาพร ไม่มีนามสกุล ก็เปลี่ยนเป็น ประภาพร ปรียาภัทรวรสกุล

ในห้วงวินาทีเดียวกันเธอก็ได้ฝึกงานในบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่มีแรงงานชาวเมียนมาร์กว่า 5,000 ชีวิต ที่นั่นเธอได้ใช้ความสามารถด้านภาษาเพื่อแก้ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างคนงาน หัวหน้า เจ้านาย เธอเป็นขวัญใจของพี่ๆ ชาวเมียนมาร์ หลายคนต้องมาระบายปัญหาในการทำงานให้ฟัง และบางครั้งก็ถูกร้องขอให้ช่วยสื่อสารกับเจ้านายให้ที แน่นอนว่าเธอยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล

จากติ่งหนังสู่นักแปล

ขณะอยู่ปี 2 มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับตอนที่หนัง From Bangkok to Mandalay ถึงคนไม่คิดถึง กำลังจะเข้าฉาย เชอร์รี่บอกว่าตนเองเป็นติ่งของหนังเรื่องนี้ และคอยคอมเมนต์และแชร์ในแฟนเพจตลอดเวลาโดยใช้ภาษาเมียนมาร์สลับภาษาไทย และนั่นทำให้ไปสะกิดความสนใจ editor ของหนังเรื่องนี้ นำมาสู่การพูดคุยเพื่อขอเธอเข้าไปช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ

“เขาบอกว่ามาช่วยพี่แปลเวลาที่ดารามาได้ไหม แล้วก็มาเป็นแอดมินแฟนเพจด้วย

“ก็ตัดสินใจแบบไม่ต้องคิดเลย เพราะชอบตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว มันมีคำว่า Bangkok ซึ่งหมายถึงประเทศไทย มีคำว่า Mandalay ซึ่งหมายถึงประเทศพม่า

“ตั้งแต่เด็กแล้วถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับ 2 ประเทศนี้เราจะสนใจเป็นพิเศษ แล้วก็อยากช่วยด้วยตอนนั้น ไม่ปฏิเสธเลย ‘ทำค่ะ พี่มีอะไรให้ช่วยบอกได้เลยค่ะ ให้ช่วยแปลอะไรก็ได้’ ก็ช่วยแปลนิดๆ หน่อยๆ เพราะตอนนั้นหนังก็เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ยังไม่ได้ช่วยอะไรมาก

“ถัดจากนั้นพี่ๆ ก็แนะนำให้รู้จักกับพี่แนท (ชาติชาย เกษนัส – ผู้กำกับภาพยนตร์ From Bangkok to Mandalay) ใจดีมาก สอนงานทุกอย่าง แล้วก็ได้ไปแปลสารคดี โยเดีย ที่(คิด)ไม่ถึง season 2 (ออกอากาศทางไทยพีบีเอส) แล้วเป็นสารคดีที่ชอบมาก เพราะมันเปลี่ยนมุมมองต่อพม่า ไม่ได้คิดแค่ว่าเขามาตีบ้านเรานะ แล้วเราก็เป็นแฟนคลับของสารคดีตั้งแต่ season 1 ก็เลยดีใจมากที่ได้แปล season 2″

หลังเข้าไปขลุกอยู่กับหนังและสารคดีไทย-เมียนมาร์อยู่สักพัก โปรเจ็คต์ใหญ่อีกงานก็ตามมา กับหนังผีที่ชื่อว่า มาร-ดา

“แปลหนังทั้งเรื่องเป็นภาษาไทย แล้วก็ช่วยเป็นแอดมินเพจ ประสานงาน ดูแลดาราที่มาโปรโมตหนังที่ไทยด้วย ในช่วงนี้แหละที่คนเริ่มรู้จักเราเยอะเพราะเห็นหน้าเราในเกือบทุกสื่อ อย่างข้างบ้านนี้ก็วิ่งมาบอกคนในบ้านว่า ‘เชอร์รี่ออกทีวี’ ตอนนั้นเราไปแปลให้ที่ย่างกุ้ง อย่างที่บอกว่าที่นี่บ้านนอกหน่อย เขาก็จะตื่นเต้นมาก ‘เห็นเชอร์รี่ออกทีวีด้วย’ พ่อแม่เราก็งง ‘ไปออกตอนไหนวะ’ (หัวเราะ)”

หนังเรื่อง มาร-ดา เข้าโรง และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเมียนมาร์ กระแสดีถึงขั้นต้องจองตั๋วล่วงหน้า 3 วัน กระนั้นเชอร์รี่ในฐานะคนทำซับไตเติลก็ยังเข้าไปดูถึง 5 รอบ โดย 2 รอบในนั้นเป็นการดูในโรงหนังที่ทวาย

“ความสนุกของการทำซับไตเติลก็คือ เราได้รู้เรื่องนี้ก่อนใคร (หัวเราะ) มันต้องคิดคำพูดที่เป็นธรรมชาติ อย่างเช่นคำอุทาน ‘อัมมะเล!’ เราก็แปลว่า ‘โอ้! แม่เจ้า!’ อะไรแบบนี้ คิดว่าตรงนั้นสนุกดี เพราะหนึ่งคำมีหลายความหมาย”

สำหรับหนังเรื่อง มาร-ดา คนทั่วไปอาจตื่นเต้นกับฉากหลอนที่ชวนขนหัวลุก แต่สำหรับเชอร์รี่แล้ว เธอตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ด้านล่างสุดของจอ

“ดูครั้งแรกนี่ตื่นเต้นสุดๆ เลย คิดในใจว่าที่เราแปลไว้มันจะเข้ากันเหรอ ก็นั่งอ่านตาม ตื่นเต้นเพราะคนอื่นเขากำลังอ่านคำที่เราแปลอยู่”

ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล

ทวายที่ไม่เหมือนเดิม

พ้นจากการคุยเรื่องชีวิตส่วนตัวและบทบาทบนแผ่นฟิล์ม เราชวนคุยเรื่องเมืองทวายซึ่งอยู่ห่างจากด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรีเพียง 160 กิโลเมตร ทว่ากว่าจะเป็นที่รู้จักก็เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปีนี้เอง

“ทวายเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนจะตื่นเต้นมากถ้ามีฝรั่งมาเดินในเมืองทวายสักคน อย่าว่าแต่คนไทยไม่รู้จักเลย ขนาดคนในเมืองย่างกุ้งก็ยังไม่รู้จักทวาย มาเริ่มรู้จักหลังๆ ที่เห็นว่าทะเลที่ทวายสวยนี่แหละ แล้วก็ช่วงหนึ่งที่เริ่มมีการพูดคุยเรื่องท่าเรือน้ำลึกทวาย”

เราถามต่อทันควันว่า “อยากให้มีไหม” คำถามนี้มีความหมายทั้งท่าเรือน้ำลึก เขื่อน และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็คต์ที่กำลังเกิดขึ้น

“ไม่อยาก” เธอพูดและนิ่ง ก่อนขยายความต่อ

“มีได้ แต่ขอให้มีผลดีกับที่บ้านตัวเอง ถ้าจะมาทำจริงๆ เขาจะมีงานทำจริงไหม แล้วทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ต้องไม่ทำลายเยอะเกินไป เราอยากให้พัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากกว่า เพราะที่นี่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ คนส่วนใหญ่อยากมาเที่ยวที่นี่เพราะอากาศ ต้นไม้ ไม่อยากให้ทำลายสิ่งที่มีอยู่ไปมากกว่านี้”

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า