ไม่มี ‘เรือโรฮีนจา’ มีแต่ ‘เรือโรฮิงญา’ ที่มาและความหมายในประวัติศาสตร์อาระกัน 

ปี 2022 เป็นปีที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเสียชีวิตในทะเลมากที่สุดในรอบทศวรรษ 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เตือนว่าจำนวนผู้พยายามข้ามทะเลอันดามันที่เสี่ยงอันตรายในปี 2022 เพิ่มขึ้นอย่างมากราว 1,920 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่มีเพียง 287 คน ส่วนใหญ่ต้องการเดินทางไปชุมชนมุสลิมในอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย เฉพาะในเดือนธันวาคม 2022 เพียงเดือนเดียว มีรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตหรือสูญหายระหว่างการเดินทางทางทะเลแล้วไม่น้อยกว่า 200 คน 

ครอบครัวชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนชาวระไข่ ทางตอนใต้ของอาระกันหรือรัฐระไข่/ยะไข่ ในเมียนมา ยอมขายบ้านและที่ดิน แล้วนำไปซื้อเรือ เพื่อที่พวกเขาจะได้หลบหนีไปยังชุมชนชาวโรฮิงญาทางตอนเหนือของดินแดนอาระกัน ซึ่งมีชุมชนชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อดินแดนทางเหนือกลายเป็นดินแดนที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป พวกเขาหลายร้อยคนจึงลงเรือและออกทะเล เพื่อพยายามหลบหนีการประหัตประหาร 

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ดินแดนอาระกัน พ่อค้าทาสชาวโปรตุเกสเคยใช้เรือจากดินแดนอาระกันโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของเบงกอล และบรรทุกทาสจากที่นั่นหลายหมื่นคนกลับมาที่ดินแดนอาระกัน ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ทำให้ชาวโรฮิงญาเชื่อว่า เรือสามารถสร้างชุมชนและชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาได้ เรือในประวัติศาสตร์โรฮิงญาจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่พาหนะเพียงอย่างเดียว

เรือโรฮิงญามาถึงอาระกัน

การตั้งถิ่นฐานชุมชนค้าขายของชาวอินเดียถือกำเนิดขึ้นตามชายฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ทอดยาวไกลไปถึงทางตอนใต้ของเมียนมา ไกลถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย หลายชุมชนอยู่บนชายฝั่งอาระกัน และผู้ตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่มาจากแคว้นโอริสสาและเดคคาน ซึ่งได้นำวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาด้วย ก่อตัวเป็นรากฐานในอัตลักษณ์อันซับซ้อนของชาวอาระกัน การตั้งถิ่นฐานเหล่านี้พัฒนาขึ้นโดยแยกออกจากวัฒนธรรมของชาวเมียนมาซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันออก

อาณาจักรแรกในดินแดนอาระกันซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองธัญวดีทางตอนเหนือของรัฐระไข่ในปัจจุบัน เติบโตมาจากการตั้งถิ่นฐานของชาวอินดิกเหล่านี้ และเจริญรุ่งเรืองผ่านเครือข่ายการค้าเช่นเดียวกับอาณาจักรในดินแดนอาระกันอื่นๆ อาณาจักรธัญวดีเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าระหว่างอาณาจักรมอญโบราณ จีน เบงกอล อินเดีย และเปอร์เซียทางตะวันตก

ในภาษาโรฮิงญา มีคำว่า ‘ซัมมัน’ (samman) หมายถึง เรือประเภทหนึ่ง นักวิชาการชาวโรฮิงญาเสนอว่า อาจเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘สำปั้น’ หรือ ‘sampan’ ในภาษาจีนกวางตุ้งและภาษามลายู ซึ่งแปลว่า เรือประเภทหนึ่ง และยังหมายถึงเรือที่แล่นมาถึงอาระกันด้วยสายลมของเส้นทางการค้าในยุคนั้น

อาณาจักรอาระกันยุคที่สอง คือ เวสาลี ซึ่งมักถูกขนานนามว่าเป็นอาณาจักรอาระกันที่มีชาวอินเดียมากที่สุด และมีความเชื่อมโยงทางการค้าที่แน่นแฟ้นกับจีน อินเดีย และเปอร์เซีย มีฐานอยู่ในอาระกันตอนเหนือเช่นกัน กะลาสีเรือและช่างต่อเรือที่ให้บริการการเดินเรือมาจากบริเวณอาระกันตอนเหนือ และอาจเป็นบรรพบุรุษของชาวโรฮิงญาในปัจจุบันด้วย เมืองเวสาลีพัฒนาเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่ง ช่างต่อเรือแห่งเวสาลีสามารถต่อเรือไม้ที่แล่นไปยังสถานที่ห่างไกลในทะเลอาหรับ

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 และ 9 พ่อค้าชาวอาหรับเริ่มตั้งด่านการค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางเดินเรือ ไม่ต่างจากเส้นทางที่ชาวอินเดียรุ่นก่อนเคยใช้เมื่อหลายศตวรรษก่อน อิทธิพลของชาวอาหรับและชาวมุสลิมได้หยั่งรากในสถานที่ต่างๆ ตามแนวชายฝั่ง ตั้งแต่บังคลาเทศไปจนถึงอินโดนีเซีย ซึ่งภายหลังมีชาวมุสลิมจากเปอร์เซียและอินเดียเข้ามาเสริม

เรือโรฮิงญา กะลาสี และพ่อค้าเหล่านี้เดินทางเข้ามายังดินแดนอาระกัน ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘โรฮัง’ ตามรายงานบางฉบับกล่าวว่า พวกเขาได้แต่งงานกับชาวพื้นเมือง และตั้งถิ่นฐานถาวร ตำนานต้นกำเนิดของชาวโรฮิงญามีเรื่องราวเกี่ยวกับลูกเรือชาวอาหรับที่อับปาง และถูกพัดพามาเกยชายฝั่งของอาระกัน และต่อมาก่อตัวเป็นแกนกลางของชุมชน ที่เชื่อมโยงกันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ผสมผสานระหว่างเชื้อสายอาหรับ อินเดีย และทิเบต-เมียนมา 

คำว่า ‘โรฮิงญา’ มาจากคำว่า ‘โรฮัง’ กับคำว่า ‘ญา’ ซึ่งคำว่า ‘ญา’ ในภาษาโรฮิงญาและภาษาถิ่นอาระกันทางตอนเหนือ แปลว่า ชาว เป็นคำที่ผูกโยงระหว่างผู้คนและสถานที่ไว้ด้วยกัน ในแง่นี้ โรฮังญาหรือโรฮิงญา จึงแปลว่า ชาวโรฮัง เช่นเดียวกับในภาษาถิ่นอาระกันเหนือก็มีคำเรียกชาวจิตตะกองในบังคลาเทศและผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลว่า ‘สอระกันญา’ 

อาณาจักรอาระกันยุคที่สาม คือ อาณาจักรมรัคอู ซึ่งก็มีฐานอยู่ทางตอนเหนือของอาระกัน ได้พัฒนากองทัพเรือที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อใช้ควบคุมแนวชายฝั่งตั้งแต่จิตตะกองในบังคลาเทศ (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาระกัน) ไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี นอกจากนี้ยังควบคุมเส้นทางน้ำภายในที่สำคัญซึ่งเพิ่มความสามารถในการค้าขายระหว่างประเทศ ท่าเรือของอาณาจักรนี้มีพ่อค้าชาวมอญ ชาวอาหรับ ชาวอินเดีย ชาวโปรตุเกส และชาวดัตช์ แวะเวียนมา 

บันทึกของพ่อค้าชาวดัตช์ในยุคนั้นกล่าวว่า มรัคอูมีกองเรือค้าขายที่ไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้ พวกเขาสามารถต่อเรือเพื่อใช้บรรทุกสินค้าหลากหลายประเภท รวมทั้งช้างด้วย เรือจากดินแดนอาระกันเหล่านี้แข็งแรงมากจนสามารถบรรทุกช้างได้ถึง 14 เชือกในลำเดียว บันทึกพ่อค้าดัตซ์บอกเราเกี่ยวกับมรดกทางการเดินเรือในดินแดนอาระกัน

มรัคอูเป็นอาณาจักรลูกผสมระหว่างมุสลิมและพุทธ กษัตริย์ชาวพุทธรับเอาบรรดาศักดิ์ของมุสลิมมาใช้ และจำลองเหรียญและราชสำนักของสุลต่านมุสลิมแห่งเปอร์เซียและเบงกอล อุปถัมภ์นักวิชาการมุสลิม อิทธิพลของอิสลามส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางของชาวโรฮิงญาด้วยก็ได้ อีกทั้งมรัคอูยังเปิดรับผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานหน้าใหม่จากเบงกอลและเปอร์เซีย

เรือโรฮิงญา มรดกที่ซับซ้อนของยุคการค้าทางทะเล

ในยุคอาณานิคม ดินแดนอาระกันตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษเฉกเช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนอื่นของเมียนมาและอินเดีย ท่าเรือในดินแดนอาระกันถูกใช้เป็นที่บริการการค้าข้าว ไม้ซุง และเพชรพลอย โดยมีท่าเรืออัคยับเป็นท่าเรือที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาท่าเรือบนดินแดนอาณานิคมเมียนมาของอังกฤษ มีการออกแบบเรือที่มีความร่วมสมัยมากขึ้นในช่วงยุคอาณานิคม 

ปัจจุบัน มรดกภูมิปัญญาแห่งการต่อเรือนี้ยังคงอยู่ในหมู่ชาวโรฮิงญา ช่างต่อเรือจากดินแดนอาระกันเป็นที่ต้องการมากในเบงกอล เนื่องจากฝีมือและทักษะในการต่อเรือของพวกเขา เรือประมงและเรือสินค้าหลายลำที่แล่นไปตามชายฝั่งนอกเมืองค็อกซ์บาซาร์ในบังคลาเทศก็ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือของช่างต่อเรือชาวโรฮิงญา

ความสำคัญของเรือในวัฒนธรรมชาวโรฮิงญาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การค้าทางทะเลเท่านั้น การดำรงชีวิตและการคมนาคมยังอาศัยประเพณีการต่อเรือ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาระกันมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมและคลื่นสูง และเส้นทางน้ำในแผ่นดินก็เป็นเส้นทางหลักดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในข้อเท็จจริงที่ว่า เรือหลายลำที่ชาวโรฮิงญายังคงใช้นั้นเป็นทั้งเรือโดยสารส่วนตัวและเรือลำเลียงขนส่งขนาดใหญ่ เช่น เรือฟาชินดารี และเรือคูเบตา 

เรือในภาษาโรฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นเรือซัมมัน เรือฟาชินดารี เรือคูเบตา หรือ เรือที่เป็นคำยืมจากภาษาเบงกาลีอย่าง เรือนอก่า ล้วนมีความหมายอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับชาวโรฮิงญา โดยอีกนัยหนึ่ง เรือของพวกเขายังหมายถึง ‘อิสรภาพ’ หรือ Azadi 

ชาวโรฮิงญาเดินทางข้ามทะเลอันดามันอย่างทุลักทะเล ด้วยเรือไม้ที่ง่อนแง่น บางครั้งก็เต็มใจ บางครั้งเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญาเสาะแสวงหาสถานที่สักแห่งบนโลกที่พวกเขาจะได้มีตัวตนและได้รับการต้อนรับ แต่บ่อยครั้งเช่นกันที่ความน่าสะพรึงกลัวของการพลัดถิ่นคอยตามติดพวกเขา และเรือของพวกเขาอาจมิได้บรรทุกด้วยความหวังอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นความสิ้นหวัง และจบลงด้วยการเกยตื้น ถูกขาย ถูกจับ หรือเลวร้ายไปกว่านั้น อาจพบว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตรายจากแนวทางเดิมซึ่งเชื่อมโยงชะตากรรมของพวกเขากับกระแสน้ำของทะเลและความผันผวนของโอกาส

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า