การประกอบสร้าง ‘รัฐ’ เมียนมาใหม่ บนเส้นทางขรุขระที่ไม่แน่นอนในอนาคต

นับตั้งแต่การรัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมียนมากลับเข้าสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังประเทศเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบลุ่มๆ ดอนๆ ได้เพียงทศวรรษเท่านั้น 

ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกองทัพเมียนมา (ตั๊ดมะด่อ) เริ่มส่งสัญญาณสั่นคลอนโดยเฉพาะเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถยึดครองพื้นที่และฐานที่มั่นสำคัญของตั๊ดมะด่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณทางเหนือของรัฐฉาน กองพันทหารราบเบาที่ 125 วางอาวุธทั้งกองพันในพื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง นายทหารระดับสูงของตั๊ดมะด่อสั่งยกธงขาว ขอชนแก้วยอมแพ้โดยศิโรราบต่อกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) 

นายทหารระดับสูงของตั๊ดมะด่อ 2 นาย ยอมจำนนต่อ MNDAA ด้วยการขอชนเหล้ากับแกนนำระดับสูงของ MNDAA ในพื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง ภาพถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 (ภาพ: https://twitter.com/Jason_Tower79/status/1743578066063142912/photo/1)

สถานการณ์การสู้รบและความเพลี่ยงพลํ้าของตั๊ดมะด่อในสงครามกลางเมืองครั้งนี้ นำมาสู่การคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลทหารเมียนมาพ่ายแพ้สูญเสียอำนาจ หรือเข้าสู่กระบวนการเจรจาปรองดอง ซึ่งตั๊ดมะด่อก็ไม่น่าไว้วางใจ

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยมีรัฐบาลพลเรือนปกครองอีกครั้งมีความเป็นไปได้ ทว่า รูปแบบการปกครองและการสถาปนารัฐเมียนมา อันมีพื้นฐานแบบสหพันธรัฐยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย เพราะปัจจัยทางการเมืองและอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นอนาคตที่ไม่แน่นอน อันจะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองต่อไป 

4 จุดเริ่มต้นในการสร้างชาติใหม่ หากรัฐบาลทหารพ่ายแพ้

ไม่มีใครปฏิเสธว่าการสร้างชาติใหม่ของเมียนมานั้นอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยความยากลำบากในการปฏิรูปทุกองคาพยพ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ในความพยามยามที่จะปฏิรูปในอนาคตผ่าน 4 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

  1. การปฏิรูปกองทัพ ตั๊ดมะด่อมีอำนาจและบทบาททางการเมืองยาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน ในปี 1962 ในมุมมองของนักวิเคราะห์เห็นว่า การจะปฏิรูปกองทัพได้สำเร็จนั้น จำเป็นต้องยุบตั๊ดมะด่อ และสถาปนากองทัพขึ้นมาใหม่ จากการคาดการณ์กำลังพลโดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ตั๊ดมะด่อมีกำลังพล 400,000 นาย และในปัจจุบันคาดว่าเหลือเพียง 200,000 นาย การจัดสรรกำลังเป็นไปเพื่อการยึดครองพื้นที่ เน้นกำลังพลจากท้องถิ่น เพื่อสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น ทำให้ตั๊ดมะด่อเป็นกองทัพที่มีโครงสร้างกระจัดกระจายตามพื้นที่ ไร้ความเป็นทหารอาชีพ

กองทัพเมียนมาโฉมใหม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อำนาจเข้ามา ผ่านการจัดตั้งกองบัญชาการที่มีขนาดเล็ก มีหน่วยขึ้นตรงไม่มาก เช่น กองบัญชาการกลาง ส่งกำลังบำรุง สรรพกำลัง โรงเรียนทหาร 

ในขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ หากเมียนมาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การสถาปนารัฐใหม่ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาและสงครามกลางเมืองได้ในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอว่า หลักนิยมทางทหารแบบอังกฤษ หรืออินเดีย ซึ่งรับเอามาจากอังกฤษอีกทอดหนึ่ง น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด คือ การสถาปนาหน่วยระดับกรม โดยอิงจากกองกำลังที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น กรมทหารอัสสัม (Assam Regiment) กรมทหารซิกข์ (Sikh Regiment) ของกองทัพบกอินเดีย เป็นต้น จัดกำลังในการแบ่งพื้นที่ปฎิบัติการในแต่ละภูมิภาค แต่ต้องอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาของกองบัญชาการกลาง มีการจ่ายเงินเดือน การส่งกำลังบำรุงจากส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งเป็นการบ้านใหญ่ของ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) ที่จะต้องทำการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรทางการเมือง 

  1. การยุบตั๊ดมะด่อทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีการให้ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์บางประการ หลังจากถูกปลดประจำการ เพราะจะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากทหารเก่าในกองทัพ ซึ่งอาจนำไปสู่การรัฐประหารและสงครามกลางเมืองอีกครั้ง
  1. รัฐบาลใหม่ จำเป็นต้องแปรรูป ‘วิสาหกิจกองทัพ’ โดยทันทีที่มีอำนาจการปกครอง การแปรรูปวิสาหกิจเช่นนี้เป็นการตัดแขนขาพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเครือข่ายคณาธิปไตยของตั๊ดมะด่อ ทั้งยังสามารถนำงบประมาณจากการแปรรูปวิสาหกิจเหล่านี้ มาดำเนินนโยบายจ่ายค่าตอบแทนการปลดประจำการและความมั่นคงอื่นได้ 
  1. ประชาคมโลกควรให้ความสนใจในการปลดอาวุธ ก่อนที่อาวุธเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดมืดและถึงมือพลเรือน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือความวุ่นวายจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

การสร้างความเป็นเอกภาพ งานหินในการออกแบบการปกครอง 

กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ ของเมียนมา (ภาพ: หนังสือ ‘Burma: Insurgency and the Politics of Ethnicity’ by Martin Smith)

เมียนมาประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์เป็นจำนวนมากที่มีอิสระในการปกครองตนเองและมีกองกำลังติดอาวุธ การสร้างรัฐใหม่จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการกวาดต้อนทุกกลุ่มชาติพันธ์ุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบของสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบของรัฐที่มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยให้อำนาจกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้รัฐบาลกลางอีกชั้นหนึ่ง 

สิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดการสถาปนารัฐใหม่ที่ราบรื่น คือ ‘ข้อตกลง’ ผ่าน ‘หลักการ’ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น รูปแบบการปกครองแบบใด การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบใด เป็นต้น 

การตีเส้นแบ่งอาณาเขตการปกครองก็เป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะกับรัฐฉาน ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ยกเว้นแต่รัฐยะไข่ รัฐคะยา ที่ใช้กรอบแนวคิดทางประวัติศาสตร์ในฐานะอาณาจักรอิสระแต่เก่าก่อนที่มีการตีเส้นแบ่งอย่างชัดเจน ส่วนชาวพม่า (Bamar) มีความชัดเจนในการตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มนํ้าอิระวดี

แม้ในปัจจุบันความวุ่นวายในสงครามกลางเมืองไม่ได้นำมาสู่การเจรจา พูดคุย เพื่อนำมาสู่ข้อตกลง มากไปกว่าการรบเพื่อล้มอำนาจทหาร แต่ในอนาคตสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากรัฐบาลทหารสิ้นอำนาจลงไป ทั้งยังรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การปฏิรูปกองทัพ ความเท่าเทียม เคารพความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่และงานหินของรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็เร็วเกินไปที่จะตัดสิน เพราะการทำสงครามกลางเมืองต่อต้านรัฐบาลทหารประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ทั่วเมียนมา แต่ก็ไม่ใช่ ‘ชัยชนะเด็ดขาด’ เสียทีเดียว นอนว่า ‘รัฐเสนานุภาพ’ ของตั๊ดมะด่อ ไม่ว่าจะหมดอำนาจสิ้นสุดลงเมื่อไร ก็หาใช่สิ่งที่จะถูกยอมรับให้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจได้อีกต่อไป 

อ้างอิง 

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า