ภาษาบาลี โรตี-ถั่วต้ม ปากกา โสร่งบางกอก: ตามหานายพลอองซานในเรื่องเล่าระหว่างบรรทัดก่อนการลอบสังหาร

จะเอาประวัติศาสตร์อะไรในนิยาย?

แต่ก็นั่นแหละนะ แม้แต่ชาวพม่าเองก็ยังยกย่องนิยายเรื่อง Burmese Days ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีผลงานเป็นอมตะอย่าง 1984 และ Animal Farm ว่าเป็น ‘ไตรภาคคำพยากรณ์ของผู้หยั่งรู้’

ออร์เวลล์เคยใช้ชีวิตในพม่า 5 ปี เขาเป็นตำรวจกองกำลังจักรวรรดิในช่วงทศวรรษ 1920 (อังกฤษยึดพม่าเป็นอาณานิคมตั้งแต่ 1885) และภายหลังเขาลาออกตัดสินใจกลับไปเป็นนักเขียน ออร์เวลล์อาศัยสิ่งที่เขาได้สัมผัสคลุกคลีในพม่า ถ่ายทอดรายละเอียดของยุคสมัยได้อย่างสมจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจอย่างเป็นเผด็จการโดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชน การช่วงชิงอำนาจ ความทะเยอทะยาน ความผิดหวัง ความแตกต่างทางสถานะและทัศนคติของคนต่างชนชั้น Burmese Days ได้เล่าเรื่องราวหรืออาจจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาของพม่า ราวกับมีดวงตาที่มองเห็นอนาคตในยามนั้น 

ฉากทศวรรษถัดมาจาก Burmese Days แต่ยังอยู่ในยุคอาณานิคมเหมือนกัน

20 กรกฎาคม 1947 มีเรื่องน่าตื่นเต้น ตกใจในหนังสือพิมพ์ภาษาพม่าอย่าง Myanmar Alin และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่าง The Illustrated London NewsIndian Daily Mail NewspaperSunday Pictorial …

“Bandits Kill Six Cabinet Chiefs” — Sunday Pictorial, 20.07.1947. p. 3.

19 กรกฎาคม 1947 เวลา 10.37 น. กองกำลังติดอาวุธครบมือบุกเข้าไปอย่างอุกอาจ ในอาคารสำนักเลขาธิการ และกราดยิงคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น เป็นเหตุให้รัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาล 6 คน เจ้าหน้าที่อีก 2 คน ถึงแก่อสัญกรรม หนึ่งในนั้นรวมถึงนายพลอองซานด้วย

ฉากต่อมา 19 กรกฎาคม เวลา 10.37 น. ของทุกปี มีการเปิดไซเรน รถยนต์บนท้องถนนพม่าต่างบีบแตรเสียงดังสนั่น ผู้คนต่างยืนสงบนิ่ง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนายพลอองซาน ผู้นำเรียกร้องเอกราชของพม่า เหตุการณ์วันนั้นทำให้รัฐบาลพม่ากำหนดให้วันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันอาซานี (အာဇာနည်နေ့) หรือวันวีรบุรุษ และเป็นวันหยุดราชการ

ภาพที่เราจะเห็นในวันนี้ คือ ผู้นำรัฐบาลและทายาทของผู้เสียชีวิตจะเดินทางไปที่อนุสรณ์สถานวีรบุรุษซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระเจดีย์ชเวดากอง เพื่อวางพวงมาลาและคารวะดวงวิญญาณนายพลอองซานและเหล่าวีรบุรุษผู้จากไปในช่วงสายของวันนั้น

photo: www.myanmarlivenews.com

นายพลอองซาน บิดาของอองซานซูจี เป็นคนก่อตั้ง ตั๊ตมะด่อ (တပ်မ​တော်) หรือ กองทัพพม่า เขาเป็นทั้งบิดาแห่งกองทัพพม่า และเป็นบิดาแห่งการเรียกร้องเอกราชให้แก่พม่า และยังเป็นสถาปนิกผู้สร้างรัฐด้วยการทำข้อตกลง ‘สัญญาปางโหลง’ กับกลุ่มชาติพันธุ์ และเคยมีแนวคิดที่จะให้พม่ามีโมเดลกึ่งๆ ‘พหุรัฐ’ คือ เป็นรัฐเครือสหภาพ ให้สิทธิในการปกครองตนเองพอสมควรแก่กลุ่มชาติพันธุ์

แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกเมื่อนายพลอองซานถูกลอบสังหาร 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา อองซานและนักชาตินิยมในนาม ‘ขบวนการตะขิ่น’ (Thakhin Movement) ร่วมกันเรียกร้องเอกราชให้กับพม่า อองซานคือนักปฏิวัติและเป็นนายทหารในกองทัพเพื่อปลดปล่อยพม่า (BIA) ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิเลนินและลัทธิสตาลิน ที่กำลังแพร่หลายในหมู่นักปฏิวัติในเอเชีย ลาตินอเมริกา และพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเป็นข้อมูลที่นักวิชาการในยุคหลังวิเคราะห์วิจารณ์พื้นฐานแนวความคิดการต่อสู้กู้ชาติของอองซาน และในแบบเรียนประวัติศาสตร์ก็กล่าวไว้ในทำนองนั้น 

นายพลอองซานได้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติทันทีหลังจากเขาเสียชีวิตลง ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือ มีการประกอบสร้างเรื่องเล่า ตัวบท และสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก เรื่องเล่าของเขากลายเป็นความทรงจำร่วมของรัฐพม่า

เขาคือวีรบุรุษ ผู้นำเรียกร้องเอกราชและปลดแอกพม่า ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ผู้ประนีประนอมกับกลุ่มชาติพันธุ์ 

ทว่าเหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่นิรันดร์ เพราะบางช่วงเวลา เรื่องเล่าบางเรื่องถูกกดทับ และบางเรื่องถูกเลือกผลิตใช้ ช่วงที่พม่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร นำโดยนายพลเนวิน เรื่องเล่าว่าเขาคือผู้ก่อตั้งกองทัพสมัยใหม่โดดเด่นขึ้นมา และสถานะทางทหารของเขาได้ถูกนำมาใช้อ้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร ในขณะที่ในช่วงบรรยากาศแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า นำโดยพรรค NLD ของนางอองซานซูจี เรื่องเล่าของนายพลอองซานในฐานะผู้เรียกร้องเอกราช ผู้ปลดแอกพม่ากลับโดดเด่นขึ้นมามากกว่า  

แต่ถึงอย่างนั้น การทำความรู้จักนายพลอองซานในสังคมพม่า ยังมีอีกหลายเรื่องเล่าที่จะเข้าถึงตัวตนนายพลผู้นี้ได้อีกมากมาย และง่ายดาย ซึ่งยังคงผลิตซ้ำ และไหลเวียนอยู่ในสังคมพม่า ตั้งแต่ของใช้ใกล้ตัว ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงโรตีในร้านน้ำชา

ซึ่งจะเล่าเมื่อไหร่ก็ได้ …

1. เรื่องภาษาบาลี

Pali Manuscript – Burmese Buddhist Palm Leaf Kammavacca

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ นางอองซานซูจี บุตรีของนายพลอองซาน กระโดดลงมาใช้เฟซบุ๊คติดต่อสื่อสารกับประชาชน ก่อนหน้านี้เธอไม่มีบัญชีเฟซบุ๊คโดยบอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะใช้แต่ทีแรก เธอได้อาศัยเฟซบุ๊คเป็นพื้นที่เผยแพร่แนวทางของรัฐบาล และทำการไลฟ์พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาและการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ นอกจากประเด็นเรื่องโควิดแล้ว เธอยังโพสต์ในลักษณะที่เป็นการแสดงความห่วงใย การส่งกำลังใจ การขอบคุณ ไปจนถึงเรื่องเล่าทั่วไป 

2 พฤษภาคม 2020 เธอพักจากเรื่องโควิด-19 มาโพสต์เล่าเรื่องความทรงจำถึงพ่อของเธอ ย้อนไปตอนที่นายพลอองซานเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง วันหนึ่งในชั้นเรียนวิชาภาษาพม่า อาจารย์ประจำวิชาก็ให้นักศึกษาใหม่เขียนอักษรภาษาพม่าทั้งหมด 33 ตัวตามลำดับ อักษรภาษาพม่ามีการจัดลำดับวรรคตามภาษาบาลี มีวรรคที่เสียงซ้ำกันคือ วรรค ฏ ใหญ่ และ วรรค ต เล็ก

ปรากฏว่าอองซานเป็นนักศึกษาคนเดียวที่สามารถเขียนลำดับพยัญชนะวรรค ฏ ใหญ่ได้ถูกต้อง ปกติแล้ว พยัญชนะในวรรคนี้มักนิยมใช้สะกดคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ทำให้นักเรียนที่มาจากโรงเรียนสองภาษาของอังกฤษในสมัยนั้น มิทันระวังและให้ความละเอียดลออมากนักกับเรื่องนี้ แต่นายพลอองซานซึ่งจบการศึกษาขั้นพื้นฐานมาจากโรงเรียนวัดแบบพม่าโบราณ จึงมีความแม่นยำในเรื่องดังกล่าว ซูจีเล่าว่าวันนั้นพ่อของเธอเป็นคนเดียวที่สามารถเขียนลำดับพยัญชนะได้ถูกต้องเพราะว่ามาจากโรงเรียนวัดนี่แหละ ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่จบจากโรงเรียนฝรั่งในสมัยนั้น

แน่นอนว่าในเวลาที่พูดถึงการเรียนภาษาบาลีที่สัมพันธ์กับภาษาพม่า เรื่องเล่าที่ว่านายพลอองซานได้บาลีก็ย่อมถูกนำมาเล่า จนโยงมาถึงการใช้เป็นตัวอย่างเรื่องการเขียนสะกดภาษาพม่าและคำยืมภาษาบาลีในพม่า

2. เรื่องโรตีและถั่วต้ม

ชายชาวพม่าคนหนึ่ง ทราบชื่อว่าคือ อู งเหว่ ยะ (ဦး​ငွေရ) เจ็บปวดหัวใจทุกครั้งเมื่อเห็นโรตีกับถั่วต้ม มันทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวของนายพลอองซาน วีรบุรุษของชาวพม่า

ครั้งหนึ่ง มีทหารมาร้องเรียกโหวกเหวกอยู่ที่หน้าบ้าน อู งเหว่ ยะ ทหารคนหนึ่งถามขอแบ่งอาหารเช้า เพราะเขาอดข้าวมาสามมื้อแล้ว เขาบอกว่าเดินเท้าผ่านมาทางนี้ เพื่อไปทำภารกิจกอบกู้เอกราชให้พม่า 

เขากำลังเตรียมอาหารเพื่อตักบาตร แต่ยังเตรียมอาหารไม่เสร็จ จึงแบ่งโรตี (โรตีนานหรือโรตีโอ่ง) กับถั่วต้มไปให้

วันหนึ่ง นายพลอองซานขึ้นกล่าวปราศรัยที่ลานพระเจดีย์ชเวดากอง มีภาพเผยแพร่ออกไป อู งเหว่ ยะ จึงจำได้ว่าทหารที่ขอแบ่งอาหารเช้าในวันนั้นคือนายพลอองซาน เขาถึงกับกล่าวว่า วันนั้นควรจะเลี้ยงอาหารที่ดีกว่าโรตีถั่วต้ม เพราะโรตีกับถั่วต้มเป็นเมนูอาหารพื้นๆ ราคาแสนถูก เป็นอาหารเช้าหลักของแขกกุลีอินเดียที่เข้ามาเป็นแรงงานในพม่าสมัยอาณานิคม  

เช่นเดียวกับที่ในพิพิธภัณฑ์นายพลอองซาน เมืองย่างกุ้ง มีการจัดแสดงวัตถุจำลองโรตีกับถั่วต้ม พร้อมกับกระดาษโน้ตเขียนด้วยลายมือพร้อมลายเซ็นอองซานว่า “จี่ … (ด่อขิ่นจี่ ภริยานายพลอองซาน) อยากกินโรตีกับถั่วต้ม ถ้าเป็นไปได้” 

ก็เลยรู้ว่าโรตีกับถั่วต้มที่ว่ากันว่าเป็นอาหารเช้าราคาถูกของแขกกุลีในยุคอาณานิคม นั้นเป็นอาหารจานโปรดของนายพลอองซานด้วย และปัจจุบันกลายเป็นอาหารเช้ายอดนิยมเมนูหนึ่งในร้านน้ำชาพม่า

3. เรื่องปากกา

4 มกราคม 1963 หนังสือพิมพ์ Myanmar Alin เล่าว่า แท้ที่จริงแล้วปากกาของนายพลอองซานด้ามนั้นต่างหาก ที่ทำให้พม่าได้รับเอกราช

เมื่อเดือนมกราคม 1940  ‘ขบวนการเราชาวพม่า’ จัดการประชุมที่เมืองมัณฑะเลย์ มีเจ้าหน้าที่จากพรรคแรงงานอังกฤษเดินทางเข้ามาในพม่าพร้อมกับนักบริหารอาณานิคมอังกฤษในพม่า ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษท่านนั้นต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของขบวนการเราชาวพม่าที่จัดขึ้นที่เมืองมัณฑะเลย์ เขาร้องขอให้ไปส่งเขาที่งานประชุมที่กำลังจัดขึ้น เมื่อถึงที่ประชุมเขาได้พบกับแกนนำขบวนการเราชาวพม่าและอองซาน ในการพบปะครั้งนั้น ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษได้พูดคุยกับอองซานและแอบล้วงถามแผนเตรียมการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ 

“ผมขอถามอะไรคุณสักอย่างได้ไหม ให้คิดเสียว่าเป็นคำถามจากเพื่อนที่คุ้นเคยกันก็แล้วกัน ตอนนี้พวกคุณกำลังพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ก็เลยอยากจะรู้ว่า คุณจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง”

“ข้อนี้ไม่มีอะไรยาก มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ตามวิธีธรรมชาติทั่วไปที่จะให้ได้มาซึ่งชัยชนะ”  

“วิธีนั้นของคุณ หมายถึงอย่างไร ผมยังไม่เข้าใจ”

 “สมมุติว่าปากกาในกระเป๋าเสื้อของคุณ มันเป็นปากกาของผม คุณแย่งปากกานั้นไปจากผมซึ่งๆ หน้า ผมพูดขอปากกาของผมคืนจากคุณ ผมพูดขอคืนดีๆ แต่คุณก็ไม่คืนปากกาให้ผม ทีนี้ ผมก็ต้องเปลี่ยนวิธีร้องขอ 

ขั้นต่อมา ผมก็ต้องข่มขู่ว่าจะให้หรือไม่ให้ ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงดุดัน แต่ถ้าคุณยังไม่คืนให้ ขั้นต่อมา ผมก็ต้องใช้กำลังแย่งปากกาคืนกลับมาให้ได้ ถึงตอนนั้น ผมกับคุณใช้กำลังแย่งปากกาในกระเป๋าเสื้อของคุณ

สุดท้ายผมได้ปากกาของผมคืนมา แต่ปรากฏว่า เสื้อของคุณขาด ถ้าคุณคืนปากกาให้ผมแต่ทีแรก เสื้อสวยๆ ของคุณก็จะไม่ขาด ส่วนผมก็ไม่ต้องเจ็บตัว”

เรื่องปากกานายพลเป็นเรื่องเล่าแนวคิดพื้นฐาน เข้าใจง่ายๆ ซึ่งยังไม่ต้องสาวไปไกลถึงลัทธิเลนินและลัทธิสตาลินอะไรเลย

เรื่องปากกานายพลเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่กำลังมองหาวิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กำลังต่อสู้อยู่ อย่างเช่น สันติภาพและประชาธิปไตย

4. เรื่องโสร่งบางกอก

19 กรกฎาคม 1947 เวลาเช้าตรู่ มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งใจฟังคำแถลงครั้งสุดท้ายที่หน้าบ้านของอูซอ นักการเมืองอาวุโส ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น อองซาน ในวัย 32 ปี ก็กำลังนั่งรถออกจากบ้าน มุ่งหน้าไปยังอาคารสำนักเลขาธิการซึ่งเป็นที่ประชุม

วันนั้นเขานุ่งโสร่งบางกอกสีเหลืองตามแบบชุดแต่งกายประจำชาติ แม้ว่าเป็นวันเสาร์คณะทำงานก็มาประชุม เพื่อเตรียมการสู่การประกาศเอกราช ในอีก 6 เดือนข้างหน้า  

กลุ่มเพชฌฆาตพร้อมอาวุธครบมือวิ่งขึ้นบันไดตรงสู่ห้องประชุม ลั่นกระสุน 13 นัดเจาะร่างอองซานและคนอื่นๆ เสียชีวิตคาที่บนพื้นห้อง โสร่งบางกอกสีเหลืองผืนนั้นเปื้อนเลือด

ย้อนกลับไปในแฟชั่นพม่าราวทศวรรษ 1930-60 ผู้ชายพม่าชนชั้นกลางถึงชนชั้นสูงนิยมนุ่งผ้าโสร่งชนิดหนึ่งสำหรับออกงานต่างๆ หรือสวมใส่เพื่อโชว์ให้โก้เก๋ตามกระแสนิยมจนกลายเป็นแฟชั่นของชายหนุ่มพม่าในยุคนั้น ผ้าโสร่งดังกล่าวเรียกกันว่า บางเก้าก์ปะโซ  (ဘန်​ကောက်ပုဆိုး) หรือ ‘โสร่งบางกอก’ ที่เรียกกันอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าเป็นผ้าที่แต่เดิมได้แบบมาหรือมีต้นทางจากทางบางกอกหรือกรุงเทพฯ มิใช่ผ้าแบบที่ทอในพม่า และมีราคาสูง ในพจนานุกรมพม่า-อังกฤษ (1993) เก็บคำ บางเก้าก์ (ဘန်​ကောက်) หรือ บางกอก โดยให้ความหมายว่า ผ้าไหมเหลือบสีที่ทอในเมืองบางกอก

โสร่งบางกอกมีเนื้อผ้าเป็นเส้นฝอยฟู มองดูเหมือนขนอ่อนๆ เหลือบระยับ แลดูสวยงาม แปลกตา เนื้อผ้ามีลักษณะละเอียด เป็นเงา มีสีเหลือบ เฉดสีของผ้าบางกอกที่นิยมกันมากในพม่าเป็นโทนสีพาสเทล ปัจจุบันแฟชั่นผ้าบางกอกเลือนหายไปจากสังคมพม่า ไม่เป็นที่นิยมสวมใส่เพราะราคาสูง  

เมื่อพูดถึงแฟชั่นของชายพม่ายุคปลายอาณานิคมที่นิยมโสร่งบางกอก ก็จะมีเรื่องเล่าว่านายพลอองซานบิดาแห่งเอกราชพม่า นิยมนุ่งโสร่งบางกอก ตามแฟชั่นชายพม่ายุคนั้น และวันที่นายพลอองซานถูกลอบสังหาร ก็ยังนุ่งโสร่งบางกอกสีเหลือง  

เรื่องเล่าของนายพลอองซานมีอยู่รอบตัวชาวพม่า ไม่ว่าจะเป็นในภาษา ในวัตถุปลายตา ในอาหาร อย่างที่ยกมาเล่า แล้วจะเอาเขาออกไปจากใจได้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของเรื่องเล่าจากตัวตนนายพลผู้นี้ คงหนีไม่พ้น ใครฆ่านายพลอองซานกันแน่ และทำไม

ตั้น มิ้นท์ อู (Thant Myint-U / သန့်မြင့်ဦး) เขียนหนังสือชื่อ The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma (2008) พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ความรับรู้เดิมเชื่อว่า อูซอ หนึ่งในคณะตรีทศมิตร เพื่อนรุ่นพี่ที่อิจฉาอองซานเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เป็นผู้บงการสังหารอองซาน  

เขาเขียนไว้ว่า อูซอยอมรับว่าเป็นผู้บงการเรื่องนี้จริง แต่มีทหารอังกฤษสมคบคิดและรู้เห็นอยู่เบื้องหลังด้วย เพราะพวกเขาได้ประเมินและลงความเห็นกันว่า อองซานมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์พรรคแรงงานในกรุงลอนดอน จึงต้องการให้เขาตาย  

ต้องอย่าลืมด้วยว่าเจ้าอาณานิคม ในฐานะนักแสวงหาผลประโยชน์ ลงทุนไปตั้งเท่าไหร่ในพม่า อย่างเคสบ่อน้ำมันที่บริเวณภาคกลางนั่น ไหนจะเหมืองแร่และอัญมณีอีก … ก็เหมือนอย่างที่ออร์เวลล์เคยบอกไว้นั่นแหละ

รายงานการสอบสวนคดีระบุว่า มีการขนอาวุธจากคลังแสงของอังกฤษมาให้คนของอูซอ และอูซอก็จ่ายเงินให้ทหารอังกฤษ แต่เหตุใดทหารอังกฤษกลับรายงานว่าอาวุธถูกขโมยไป

ในที่สุด อูซอถูกจับและได้รับโทษแขวนคอ คำถามที่ยังถามมาถึงปัจจุบันคือ ทำไมนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของอังกฤษ อ่านรายงานแล้วเก็บเรื่องเข้าแฟ้มลับไว้ และอูนุ (หนึ่งในคณะตรีทศมิตร) ผู้มารับตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ แทนอองซาน ที่เชื่อกันว่าก็รับรู้เรื่องนี้ดี แต่ไฉนไม่บอกความจริงทั้งหมดให้ชาวพม่ารับรู้ 

เมื่อเรื่องเล่าระหว่างบรรทัดหล่นหายไป…

มันทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องเล่าปากกาในหนังสือพิมพ์พม่า ที่เล่าฉากปะทะคารมกันระหว่างตัวแทนพรรคแรงงานอังกฤษและนายพลอองซานในครั้งโน้น ที่ล้วงถามแผนการของนายพลอองซาน แต่ฉากนี้ไม่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่ากระแสหลักหรือในหน้าประวัติศาสตร์พม่า  

จริงๆ แล้วปากกาด้ามนั้นทำให้พม่าได้รับเอกราช หรือว่าเป็นปากกาที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเขาเองกันแน่ …

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า