แหมะเหง่อระอาว: ขอบคุณโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทำให้เรารักกัน

เมียนมาร์เรื่อง: ลิตา ลี้
ภาพ: มนตรี จันทวงศ์

ตอน 2

เมืองไจมะยอ, รัฐมอญ, เมียนมาร์

ฉันได้รับบรีฟจากรุ่นพี่ที่ออฟฟิศ ผู้เคยเดินทางมายังรัฐมอญเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วว่า “อาหารมอญอร่อยมาก อร่อยทุกอย่าง ห้ามพลาด” ฉะนั้น สิ่งที่ฉันเฝ้ารอในแต่ละวันคือ อาหารท้องถิ่น และมื้อนี้เป็นมื้อที่ฉันประทับจิตประทับใจจนถึงทุกวันนี้

‘Tea Leaf Salad’ แปลเป็นไทยให้ตรงที่สุดคือ ‘ยำใบชา’ โดยจุดเด่นของเมนูนี้คือความหลากหลายของท็อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ยำใบชาใส่มะเขือเทศ ยำใบชาใส่ไก่ฉีก ยำใบชาใส่เต้าหู้ หรือยำใบชาใส่เนื้อ

แน่นอนว่า ทุกครั้งที่มากินร้านอาหารท้องถิ่นซึ่งไม่มีป้ายภาษาอังกฤษอธิบาย แถมพนักงานที่เป็นลูกหลานเจ้าของร้านยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สิ่งที่ยากสุดคือการทำความเข้าใจเมนูแต่ละอย่าง เนื่องด้วยตัวเองมีข้อจำกัดเกี่ยวกับรสนิยมในการรับประทาน แต่ท้ายสุด ฉันก็ก้าวข้ามไปและได้สัมผัสอาหารหน้าตาน่ากิน น่าอวดโลกโซเชียลเป็นที่สุดได้สำเร็จ

“จะนอนหลับไหม พี่เคยกินกว่าจะหลับตีสองแน่ะ” นักข่าวผู้ชายที่เดินทางมาด้วยกันพูดขึ้นมาอย่างติดตลกหลังเห็นผลลัพธ์ของความอยากลองทุกเมนูจนล้นโต๊ะ

เมียนมาร์

หมู่บ้านอังแตง, เมืองเย, รัฐมอญ, เมียนมาร์

ใช้เวลาไม่นานฉันก็มาถึงยังหมู่บ้านอังแตง หมุดหมายสุดท้ายในการเดินทางมาสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่นี่เคยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขตเย แต่ด้วยความเข้มแข็งและความสามัคคีของชาวบ้านในหมู่บ้านอังแตง ท้ายสุดกลับกลายเป็นตัวอย่างที่ดีต่อชุมชนอื่นๆ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการฟื้นฟูป่าชายเลน ระบบนิเวศในหมู่บ้านตัวเองโดยหวังว่ามันจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และงดงามอีกครั้ง

ทั้งๆ ที่เมื่อกว่า 10-20 ปีที่แล้ว หมู่บ้านอังแตงเคยเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง มีการสู้รบระหว่างทหารมอญและทหารเมียนมาร์

“เมื่อก่อนตอนสู้รบ (กับพม่า) ยังมีเสียงปืนคอยบอกให้ระวัง แต่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีอะไรคอยเตือน เราต้องกังวลใจถึงความอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา” ชายชาวมอญคนหนึ่งกล่าวกับฉัน

แม้กลิ่นอายและความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวแทบไม่เหลือร่องรอยให้ฉันเห็น แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวมอญและชาวเมียนมาร์เป็นอะไรที่บาดลึกและแผลเป็นดังกล่าวยากจะลืมเลือน

เมียนมาร์

เจมจิ (ชื่อไลน์ของเขา ‘เจม จิราพัฒน์’ ซึ่งต่อจากนี้ฉันขอเรียกเขาด้วยชื่อนี้) วัย 19 ปี ล่ามภาษามอญ ไกด์ ตากล้อง และผู้ดูแลเราตลอดในพื้นที่นี้เล่าให้ฟังว่า การเป็นชาวมอญยังคงเป็นอะไรที่ยากลำบาก ทั้งยังได้รับสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ในประเทศแห่งนี้

หนึ่งเสียงของชาวเมียนมาร์ เท่ากับสองเสียงของมอญ

คือประโยคที่ฉันจำได้จนทุกวันนี้

แต่ความสงสัยมันคันยุบยิบอยู่ในใจอดไม่ได้ที่จะถามว่า “แล้วมีความเป็นไปได้ไหมว่าชาวมอญจะแต่งงานกับชาวเมียนมาร์” เจมจินิ่งเงียบนึกคิดสักพักก่อนตอบว่า ก็เป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้

เพื่อไม่ให้เชื้อชาติของตัวเองถูกกลืนไปจนสิ้น เด็กมอญทุกคนจะต้องเรียนภาษามอญและประวัติศาสตร์มอญที่วัด โดยมีคุณครูเป็นหลวงพี่หรือหลวงพ่อ บ้างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยกลับมาสอนเด็กๆ ที่บ้านเกิดในช่วงปิดเทอม

หลังปี 2010 บรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศเริ่มเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะความพยายามอย่างหนึ่งที่ทางรัฐบาลเร่งผลักดันอย่างเร่งด่วน แม้ตัวเองจะมีขีดจำกัดและมีความสามารถไม่เพียงพอ คือการทำให้ประชาชนในเมียนมาร์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้ รัฐบาลจึงเริ่มกำหนดมาตรการส่งเสริมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

แผนพัฒนาไฟฟ้าและระบบสายส่ง ภายใต้แผนพลังงานระดับชาติ (National Electricity Plan / Electricity Master Plan) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เพื่อรองรับกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ 14 รัฐบาล โดยรัฐบาลเมียนมาร์เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาครอบครองโครงการผลิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลาง โดย ปี 2015 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 10 โรง รวมกำลังผลิตมากกว่า 7,000 เมกะวัตต์*

ผลพวงจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้หมู่บ้านอังแตงและอีกเจ็ดหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นพื้นที่สำคัญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมียนมาร์

เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในก่อสร้างประมาณ 900 ไร่ การเจรจาและกว้านซื้อที่ดินในตอนแรกนั้นชาวบ้านมีความสนใจกันอย่างยิ่ง พร้อมยินดีที่จะขายที่เมื่อได้ยินจำนวนเม็ดเงินมหาศาลที่เรียกเท่าไรอีกฝ่ายก็ดูยินดีไปหมด

ส้ม พี่สาวของเจมจิเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นทางบ้านของเธอก็เกือบขายที่ดินด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่เธอก็คัดค้านหัวชนฝาด้วยความหวงแหนพื้นที่ดังกล่าว

“ไม่รู้ว่าถ่านหินมันอันตราย”

คือคำตอบหลักๆ เมื่อฉันถามว่าทำไมถึงยอมขาย อีกประการคือขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ใช้สินประกอบกับไม่ว่าใครก็อยากมีไฟฟ้าใช้กันทั้งนั้น ทุกวันนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านอังแตงร่วมกันลงขันซื้อเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่จากเชื้อเพลิงน้ำมันมาใช้เอง และเพิ่งมีไฟฟ้าใช้กันเมื่อหกปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังสามารถใช้ไฟฟ้าได้แค่สองช่วง คือ ตั้งแต่ตี 4-6 โมงเช้า และ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม และค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 550 จ๊าต หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 13 บาท/หน่วย

แต่หากมีโรงไฟฟ้าเข้ามา พวกเขาจะจ่ายค่าไฟถูกลงกว่าไม่ใช่หรือ? ผู้ใหญ่ยิ้มให้ฉันบางๆ ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงยืนยันหนักแน่นว่า

ชาวบ้านอยากมีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่อยากได้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะผลกระทบมันมากมายมหาศาลกว่า เราคาดหวังว่าจะได้โรงไฟฟ้าจากทางรัฐบาล อีก 12 ปี ไฟฟ้าจะทั่วถึงทั้งประเทศ

ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง? สิ่งนี้ฉันไม่ต้องถามเพราะพวกเขาพาฉันไปสัมผัสเองด้วยสายตา

หมู่บ้านอังแตงตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาพะลึนริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของรัฐมอญ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธุ์มอญ นับถือศาสนาพุทธ ทั้งยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อย่างเหนียวแน่น เน้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนหมากและผลไม้ป่า

เมียนมาร์

ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่แห่งนี้ กล่าวคือ มีทั้งป่าไม้ ป่าชายเลนและติดทะเล ส่งผลให้หมู่บ้านอังแตงขึ้นชื่อในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะสวนหมากซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ชาวบ้านปลูกกันเป็นหลักจนเกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไม่ต่างกับระบบนิเวศป่าไม้ นอกจากนั้นวิธีการปลูกและการดูแลพืชดังกล่าวยังกลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อสร้าง ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจะหายไป สูญเสียการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำ ในพื้นที่โครงการที่มีลักษณะของการให้สัมปทาน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของชุมชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่และรอบนอกพื้นที่โครงการ

โดยเฉพาะส่วนพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่หาดเลน ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง เนื่องจากจำเป็นต้องก่อสร้างท่าเทียบเรือยาวออกไปในทะเล ยังไม่รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น น้ำเสีย การปนเปื้อนของสารพิษที่อาจกระจายไปในน้ำ ดิน และอากาศ

เมียนมาร์

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจากเจ็ดหมู่บ้านรวมถึงหมู่บ้านอังแตงด้วยจึงพากันสรุปจุดยืนคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2014 และอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2016 โดยรวมตัวกันชุมนุมมากกว่า 6,000 คน พร้อมทั้งส่งจดหมายไปยังประธานาธิบดี มุขมนตรีแห่งรัฐมอญ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (MIC)

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2016 มี เมียน ทัน (Mi Myint Than) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเย ได้ตั้งคำถามต่อกรณีดังกล่าวกับ อู ออง ทัน อู (U Aung Than Oo) ปลัดกระทรวงพลังงานไฟฟ้า และได้ข้อสรุปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวจะถูกระงับการสำรวจ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชน

นอกจากชาวบ้านจะต่อสู้เพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว อีกด้านหนึ่งพวกเขาหันกลับมาฟื้นฟูและอนุรักษ์เขตป่าชายเลนของหมู่บ้านที่รกร้างและไม่ได้รับความสนใจมากว่า 20 ปี

ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของหมู่บ้านอังแตงซึ่งเป็นที่หมายมั่นของนักลงทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลายเป็นเขตป่าชุมชนอย่างสมบูรณ์ พร้อมได้รับโฉนดจากรัฐบาลเมียนมาร์มาเรียบร้อย

25 เมษายนที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาทำกันมาตลอดสามปีก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างสำเร็จ ชาวอังแตงนำข้อมูลสำรวจทั้งหมดที่ผ่านมาเกี่ยวกับป่าชายเลนของตนตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม พร้อมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เปิดตัว หนังสือเกี่ยวกับป่าชายเลน ของหมู่บ้าน ประสบการณ์การฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลนในเขตพะลึน โดยเชิญสื่อมวลชนจากรัฐมอญ เมียนมาร์ รวมถึงจากประเทศไทยอย่างฉันมาเข้าร่วม

เมียนมาร์

ส้มเล่าให้ฉันฟังอย่างภาคภูมิใจว่า หนังลือเล่มนี้ชาวบ้านลงมือทำเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่เก็บข้อมูลซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักเรียน เขียนเรียบเรียง ออกแบบรูปเล่ม วางเลย์เอาท์ จนถึงขั้นตอนพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มโดยเหล่ากลุ่มผู้นำชุมชน

ทำไมต้องเป็นหนังสือพูดถึงป่าชายเลน?

“การทำหนังสือก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้รับทราบ ที่มาที่ไปของหมู่บ้านตัวเอง ให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษาถึงธรรมชาติและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง” เจ้าอาวาสตอบข้อสงสัยของฉัน

ด้วยความเข้มแข็งของชาวบ้านที่ร่วมมือกันต่อสู้กับอุตสาหกรรมถ่านหิน ปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่บ้านเกิดของตนเอง จากการร่วมมือสำรวจ ศึกษาและฟื้นฟูป่าชายเลนโดยได้รับความรู้ ความช่วยเหลือ ทั้งจากนักวิชาการเมียนมาร์ ไทย และรัฐบาลเมียนมาร์ ส่งผลให้หมู่บ้านอังแตงกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่หลายพื้นที่และหลายชุมชนที่ร่วมประสบการณ์ในลักษณะใกล้เคียงเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ในการต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของตัวเอง เช่น หมู่บ้านเกาะเกรียงมัว เมืองทวาย ทั้งยังได้รับรางวัลดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Excellence Award for Environmental Conservation) จาก เอ ซาน มุขมนตรีจากรัฐสภามอญ

เมียนมาร์

“ขอบคุณถ่านหินด้วยซ้ำไปที่ทำให้เรา (ชาวอังแตง) กลับมาสามัคคีจับมือกันอีกครั้ง ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดจะฟื้นฟูเลยด้วยซ้ำ”

ชายชาวมอญคนหนึ่งกล่าวติดตลกกับฉันพร้อมกับกล่าวคำลาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม

“รอบหน้ามาอีกนะ”

ฉันยิ้มและโอบกอดความรักและความห่วงใยที่ได้จากทุกคนตลอดการเดินทางสำรวจในพื้นที่แห่งนี้ แต่ฉันขอไม่เอ่ยปากสัญญาเพราะกลัวเหลือเกินว่ามันจะไม่มีวันเป็นจริง

 

*อ้างอิงจาก (ร่าง) รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย
*แหมะเหง่อระอาว เป็นภาษามอญ แปลว่า สวัสดี

อ่านตอนที่ 1 แหมะเหง่อระอาว: ครั้งหนึ่ง ความหวัง

 

Author

WAY

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า