เริ่มที่ ‘ป้อม’ จบที่ ‘ประวิตร’ รองนายกฯ ควบ 2 ประธาน คกก.สิ่งแวดล้อม ก่อนอนุมัติโครงการผันน้ำยวม 71,000 ล้านบาท

หลังจากเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 19/2564 คณะกรรมการได้ลงมติ ‘เห็นชอบ’ ต่อรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป

ต่อมาเมื่อวานนี้ (15 กันยายน 2564) ในการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ก็ได้ลงมติเห็นชอบต่อรายงานเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว

โดยขั้นตอนการพิจารณาโครงการผันน้ำยวมนั้นถือว่ารวดเร็วกว่าปกติ รวมทั้งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามต่อกระบวนการพิจารณาโครงการนี้

เริ่มที่ ‘ป้อม’ จบที่ ‘ประวิตร’

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ว่า  

“เรื่องการพัฒนาและเรื่องการอนุรักษ์นั้น ต้องมีการถ่วงดุลกัน หากมีการพัฒนามากเกินไป ก็จะทำให้การอนุรักษ์นิเวศในเรื่องของป่า ของน้ำ ของทรัพยากรมันสูญเสียไป แต่หากเราอนุรักษ์มากเกินไป ก็จะทำให้การพัฒนาด้อยลง ดังนั้น สองด้านนี้จึงต้องถ่วงดุลกันไว้

“แต่ตอนนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งสองด้าน การถ่วงดุลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” 

เนื่องจาก ‘โครงการผันน้ำยวม’ เริ่มต้นจากการที่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธาน ได้มีคำสั่งให้กรมชลประทานไปศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตามกระบวนการแล้ว เมื่อการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้น รายงานฉบับนี้จะถูกส่งไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ตรวจสอบความครบถ้วนของรายงาน จากนั้นรายงานจะถูกส่งต่อไปยัง คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาพิจารณาว่า โครงการที่จะทำนั้นมีผลกระทบอย่างไร มีมาตรการบรรเทาและป้องกันหรือไม่ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร

หากรายงานไม่ผ่านการพิจารณาของ คชก. ก็จะถูกตีกลับไปยังกรมชลประทานแก้ไขรายงานเพื่อส่งกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง และเมื่อรายงานฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของ คชก. ถัดไปคือการส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งก็มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเช่นกัน

สถานะของโครงการผันน้ำยวมปัจจุบัน ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วันที่ 15 กันยายน 2564  

“ข้อสังเกตคือ พลเอกประวิตรคือผู้ที่ชงตั้งแต่แรกว่า โครงการนี้ควรทำ เมื่อมีการพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ท่านก็คงไม่คัดค้าน เพราะท่านคือผู้ที่สั่งให้กรมชลประทานไปศึกษาผลกระทบเอง นั่นหมายความว่า ไม่มีการถ่วงดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์แต่อย่างใด ไม่ต่างอะไรจากการ ‘ชงเองกินเอง’ คนหนึ่งคนอนุมัติทุกอย่างไม่ได้” ผศ.ดร.สิตางศุ์ ทิ้งท้าย

#EIAร้านลาบ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการพบช่องโหว่มากมาย อาทิ เมื่อปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยฯ ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธไม่เข้าร่วม ด้วยเหตุผลว่า วงประชุมจัดขึ้นในฤดูฝน ทำให้สภาพถนนลูกรังบนภูเขาเป็นอันตรายและไม่เอื้อต่อการเดินทาง อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ 

นอกจากนั้น วงประชุมยังไม่มีรายละเอียดเวลาในกำหนดการ ว่าใครจะเป็นผู้มาชี้แจงข้อมูล ซึ่งชาวบ้านเกรงว่า การประชุมดังกล่าวอาจดำเนินไปในลักษณะเดิม นั่นคือ เมื่อชาวบ้านต้องการตั้งคำถาม ผู้จัดประชุมกลับกล่าวว่า ‘ไม่มีเวลาเพียงพอให้ถามและบางคำถามก็ไม่มีคำตอบ’ 

ทว่าในเอกสารรายงาน EIA กลับมีการนำรูป ชื่อ และข้อมูลของบุคคลจำนวนหนึ่งมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ คล้ายว่าการประชุมครั้งนั้นมีชาวบ้านเข้าร่วมและทำความเข้าใจต่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ในทางกลับกัน บุคคลที่ถูกอ้างถึงในรายงาน ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า เป็นเพียงการนัดพบที่ร้านกาแฟ หรือรับประทานอาหารในร้านลาบ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ตนไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #EIAร้านลาบ

สำหรับโครงการผันน้ำยวม ถือเป็นอภิมหาโปรเจ็คต์ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งใช้เวลาดำเนินการยาวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยากที่จะประเมิน ซึ่งโดยปกติแล้ว การสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องมีกระบวนการพิจารณาที่ละเอียด รัดกุม โปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า