SLAPP: เมื่อกฎหมายปิดปากขัดขวางสื่อ ประโยชน์สาธารณะจะเกิดขึ้นอย่างไร

เมื่อสื่อมวลชนถูกฟ้องร้องในฐานหมิ่นประมาท แม้ว่าประเด็นที่ถูกฟ้องร้องจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณชนก็ตาม เราจำเป็นหรือไม่ที่ควรมีการทบทวนกฎหมายเพื่อให้สื่อมีอิสระในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่คู่ขัดแย้งมักเป็นฝ่ายที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือกว่า 

15 กันยายน 2564 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ ‘แลกเปลี่ยนสถานการณ์การคุกคามสื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อมโดยการฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPP) ในประเทศไทย’ เพื่อร่วมพูดคุยและหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน ดำเนินรายการโดย จิราพร คูหากาญจน์ สื่อมวลชนสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) และ ภานุมาศ สงวนวงษ์ บรรณาธิการสำนักข่าวไทยนิวส์พิกซ์ (Thai News Pix) 

SLAPP กฎหมายปิดปากผู้พูด ปิดตาสาธารณะ

ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) อธิบายว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP ไม่ใช่สิ่งใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก โดยอ้างถึงสถิติจากรายงานเรื่อง SLAPPed but not silenced: Defending Human Rights in the face of legal risks ที่แสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้นที่แถบลาตินอเมริกามากที่สุดคือ 39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเอเชียแปซิฟิกเกิดขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคดีที่นำไปสู่การฟ้อง SLAPP มากที่สุดคือประเด็นเหมือง 

ถึงแม้นิยามของคดีที่มีรูปแบบเป็น SLAPP ในประเทศไทยจะยังไม่ชัดเจน แต่เสาวณีย์สรุปว่าเป็นการฟ้องร้องที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระงับหรือขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือเพื่อขัดขวางกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ฟ้องร้องคดี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงมักเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะชะงักงัน (chilling effect) กล่าวคือ ผู้ถูกฟ้องเกิดความกดดันและความกลัว เพราะถูกฟ้องด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่าสูง นำไปสู่การดำเนินคดีในชั้นศาลและเกิดความอ่อนล้าจากภาระในการดำเนินคดี

ข้อมูลจากสำนักแผนงานและงบประมาณ ระบุว่า ในปี 2563 คดีหมิ่นประมาททางอาญา มาตรา 326-333 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 565 คดี ซึ่ง SLAPP คือการใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือไม่ให้อีกฝ่ายแสดงสิทธิเสรีภาพ นอกจากความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทแล้ว ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือความผิดฐานบุกรุกก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน

สภาพปัญหาของ SLAPP กับการทำงานของสื่อ

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ให้ข้อสังเกตว่า ธรรมชาติของข่าวสิ่งแวดล้อมมักเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากผู้คนท้องถิ่น โดยมีคู่ขัดแย้งที่สถานะไม่เท่ากันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจ และอีกฝ่ายหนึ่งคือประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ยาก นักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงเปรียบเหมือนผู้มีหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล แม้ระยะหลังจะมีข่าวสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับผลกระทบของคนในเมืองเช่นกัน นักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงมีโอกาสคลุกคลีกับคนในพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกร่วมไปด้วย 

ปัจจุบันนักข่าวสิ่งแวดล้อมยังจำแนกแยกย่อยได้อีกหลายรูปแบบ เช่น แฟนเพจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่นักข่าวที่ลงพื้นที่มักมีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมากกว่า ฐิติพันธ์ยกตัวอย่างข่าวที่เกิดการฟ้องร้องแบบ SLAPP ต่อสื่อมวลชนโดยตรง ได้แก่ กรณีที่สำนักข่าว Nation ถูกฟ้องร้องโดยบริษัทไทยที่นำเสนอข่าวการลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งโจทก์ใช้วิธีฟ้องหลายจังหวัด 

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่ากรณีการถูกฟ้องร้อง สื่อมวลชนต้องอ้างได้ว่าตนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพราะเมื่ออีกฝ่ายอ้างว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่เป็นคู่ขัดแย้งที่มีความรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกล่าวหาว่ารับเงินจากฝ่ายตรงข้ามมาโจมตี สื่อจึงต้องบอกสังคมและศาลได้ว่ากำลังทำหน้าที่สื่อมวลชน ไม่ใช่คู่ขัดแย้งแต่อย่างไร 

สิ่งที่บ่งชี้ว่าสื่อได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในคดีต่างๆ คือหลักของการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน หากเนื้อหาของข่าวให้พื้นที่ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา และผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็สามารถนำจุดนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาลได้ว่า กระทำไปเพราะเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนและเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ถึงแม้อีกฝ่ายไม่ตอบรับในการให้ข่าว แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแล้วโดยไม่ได้จงใจกล่าวหาข้างเดียว 

มงคลได้ยกตัวอย่างคดีระยองรีสอร์ท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคือ สยามโพสต์ ปัญหาที่ทำให้สื่อแพ้คดีคือ การพาดหัวข่าวโดยใช้คำว่า ‘ฮุบภูเขาทั้งลูก’ ทั้งที่พื้นที่ที่เกิดประเด็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งและไม่มีแหล่งข่าวใดเป็นผู้พูด จึงถูกฟ้องและคดียืดเยื้อเป็นเวลานาน อีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ สุภิญญา กลางณรงค์ ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท จาก บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของชินคอร์ปอเรชั่น, ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ซึ่งการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง มีผลต่อการวางเงินประกันในศาล ทนายอาจต้องช่วยเหลือในการประกัน จึงมีการระดมทุนจาก NGOs เพื่อประกันตัว นอกจากนี้การฟ้องแบบกลั่นแกล้งยังใช้วิธีการหว่านแหฟ้องทั่วประเทศ ทำให้ต้องวิ่งขึ้นศาลและวิ่งตามโรงพักหลายจังหวัดอีกด้วย

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีที่ วิรดา แซ่ลิ่ม ตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวถึงประสบการณ์การถูกคุกคามด้วย SLAPP เมื่อปี 2558 ขณะนั้นวิรดาเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมืองและผู้ดำเนินรายการนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส วันที่ 1 กันยายน 2558 รายการนักข่าวพลเมืองออกอากาศตอน ‘ค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับค่ายเยาวชนที่จัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 

ช่วงท้ายของรายการมีการสะท้อนปัญหาว่า ชุมชนได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ โดยบริษัทได้ยกถ้อยคำ “ลำน้ำในหมู่บ้านมีสารปนเปื้อน ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” ขึ้นมาแจ้งความดำเนินคดีกับเยาวชนผู้พูดอายุ 15 ปี ที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย ในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และฟ้องไทยพีบีเอสด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรียกร้องค่าเสียหาย 50 ล้านบาท และให้หยุดประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นเวลา 5 ปี วิรดาเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ดำเนินรายการ 

บทสรุปปรากฏว่า ในคดีเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีคำสั่งว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทางบริษัทดำเนินคดี ส่วนคดีไทยพีบีเอส ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและสั่งไม่รับฟ้อง มีการยื่นอุทธรณ์และไกล่เกลี่ยกัน โดยศาลชั้นต้นใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากได้รับหมายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 และยกฟ้องในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ขณะนั้นทีมทนายแนะนำให้สู้คดีเนื่องจากมีทรัพยากรที่จะสู้และอาจมีข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จนกระทั่งศาลยกฟ้องโดยพบว่าหลายหน่วยงานระบุตรงกันว่ามีการตรวจพบสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้ ศาลจึงยืนยันว่าจำเลยทำหน้าที่สื่อนำเสนอปัญหาโดยสุจริต ไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท

แต่หลังจากนั้นบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์และนำมาสู่การไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยทางไทยพีบีเอสเสนอให้มีการทำสกู๊ปเพื่อเปิดพื้นที่ให้บริษัทพูด หลังจากนั้นโจทก์จึงถอนฟ้องโดยระบุว่า “การลงพื้นที่สัมภาษณ์และนำเสนอข่าว ทำให้ทางกรรมการผู้ถือหุ้นของบริษัทได้เห็นความจริงใจในการแก้ไขข้อผิดพลาดของจำเลย และเห็นด้วยในการถอนฟ้อง” ไทยพีบีเอสจึงขอให้โจทก์ถอนฟ้องการแจ้งความดำเนินคดีเยาวชน และจบคดีลง

กล่าวได้ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อทั้งคนในชุมชนและสื่อ ทำให้เสียเงินและเสียเวลาในการต่อสู้คดี ในขณะที่สื่อมีทรัพยากรในการต่อสู้ แต่สำหรับชุมชน พวกเขามองว่าการลุกขึ้นสู้เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้การฟ้องร้องยังส่งผลต่อการทำงานของสื่อที่ต้องคัดกรองเนื้อหาอย่างเข้มงวดขึ้น จึงเรียกได้ว่า SLAPP เป็นเครื่องมือที่ได้ผล ทำให้สื่อติดอยู่กับนิยามความเป็นกลาง ซึ่งหมายถึงการให้พื้นที่แก่ทุกฝ่ายเท่ากันใน 1 เนื้อหา ในสังคมที่ทุกคนรู้กันดีว่าประชาชนมีอำนาจน้อยกว่าในการต่อรองกับรัฐและนายทุน ซึ่งวิรดามองว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะทั้งที่เป็นการรายงานประเด็นสาธารณะ แต่ต้องระมัดระวังการใช้คำ โดยรู้อยู่แก่ใจว่ากลไกทั้งหมดทำให้รัฐและทุนมีอำนาจมากกว่า ในมุมหนึ่ง ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชนในสังคมนั่นเอง

ในฐานะทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มองว่า SLAPP มีจุดประสงค์คือการฟ้องคดีเพื่อต้องการให้สื่อมวลชนหยุดการนำเสนอข่าวที่เป็นลบต่อผู้ฟ้อง โดยส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นประมาทเพราะดำเนินการได้ง่าย แจ้งความที่ใดก็ได้ เพียงอ้างว่าเปิดพบข้อความหมิ่นประมาทที่ใด เช่น คดีเหมืองทองคำ จังหวัดเลย แต่ชาวบ้านกลับถูกฟ้องที่แม่สอดหรือภูเก็ต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการฟ้องเช่นนี้เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต

ทิตศาสตร์อธิบายว่า การดำเนินคดีมี 2 รูปแบบ คือการฟ้องกับศาลโดยตรง และการฟ้องโดยการแจ้งความกับสถานีตำรวจ กรณีการแจ้งความจะทำให้การดำเนินคดีเป็นภาระด้านทุนทรัพย์และเวลาของผู้ถูกฟ้อง ซึ่งเมื่อแจ้งความในชั้นตำรวจอาจค้างอยู่ 1-2 ปี เมื่อตำรวจมีความเห็นให้สั่งฟ้องก็จะไปค้างที่อัยการ ต้องเดินทางไปรับทราบคำสั่งทุกๆ เดือน และอาจค้างอยู่ 1-2 ปีเช่นกัน และศาลเองมีโอกาสที่จะรับฟ้องสูง ฉะนั้น การจะดำเนินคดีไม่ว่ารูปแบบใดย่อมมีผลกระทบทั้งสิ้น

กฎหมายมีไว้เพื่อความยุติธรรม แต่ในเชิงปฏิบัติยังมีปัญหา 

เสาวณีย์อธิบายว่า แนวทางในการจัดการ SLAPP ในต่างประเทศมี 2 รูปแบบหลักคือ หนึ่ง-ไม่รับฟ้องตั้งแต่ต้น เช่น ไม่รับฟ้องคดีที่ใช้กระบวนการทางกฎหมายไม่เหมาะสม สอง-ไม่รับฟ้องคดีที่จำเลยพิสูจน์การกระทำของตนได้ว่า เป็นการใช้สิทธิอย่างเสรีภายใต้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ แต่ในบริบทของประเทศไทยต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้มีคดี SLAPP เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และทำอย่างไรให้ศาลเห็นประเด็นที่เป็นสาธารณะหรือเป็นการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่การปกป้องเพื่อตัวเองและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ซึ่งศาลน่าจะมีวิธีพิจารณาคดีโดยไม่ต้องให้เข้าสู่กระบวนการอย่างเต็มรูปแบบ 

ถึงแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องแบบ SLAPP แล้ว แต่เสาวณีย์เห็นว่า ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่ ได้แก่

  1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 

“ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่า (1) โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือ (2) โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์ฟ้องในเรื่องเดียวกันอีก”

ปัญหาของมาตรา 161/1 คือ หากผู้เสียหายฟ้องผ่านอัยการหรือตำรวจจะไม่สามารถใช้ช่องทางตามกระบวนการภายใต้มาตราดังกล่าวนี้ได้ เพราะประเด็นหลักของมาตรานี้คือ การใช้ดุลยพินิจของศาล แต่เนื่องจากการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้ง ไม่มีนิยามชัดเจน ผู้พิพากษาจึงไม่กล้าใช้ดุลยพินิจ เพราะมองในแง่ของความสมดุลแห่งสิทธิ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ชัดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ผลจึงกลายเป็นว่าแทบไม่มีการใช้มาตรา 161/1 อีกทั้งยังไม่ได้มีการปกป้องผู้ใช้งานมาตรานี้ด้วย จึงควรจะมีการกำหนดกรอบคำจำกัดความที่ชัดเจน ว่าอะไรคือการฟ้องโดยไม่สุจริต 

  1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165/2 

“ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายสำคัญเพื่อให้ศาลสั่งว่าคดีไม่มีมูล … หรือศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จำเป็นและสมควร” 

ปัญหาของมาตราดังกล่าวคือ ภาระยุ่งยากจะไปตกอยู่ที่จำเลยที่ต้องนำสืบพยานให้ศาลเห็น ซึ่งไม่ตอบโจทย์การลดภาระในชั้นศาล 

  1. พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ มาตรา 21 

“พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าหากพนักงานอัยการเห็นว่าการสั่งฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดมีอำนาจไม่ฟ้องได้” 

ปัญหาคือ แท้จริงแล้วเจตนารมณ์ของมาตรา 21 คือการปรับใช้เฉพาะกับกรณีความผิดแบบประมาท ผู้เยาว์ หรือครอบครัว เช่น พ่อขับรถประมาท ทำให้ลูกและภรรยาเสียชีวิต ซึ่งหากสั่งฟ้องพ่ออีก ถือว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะพ่อได้รับความทุกข์ทรมานในการสูญเสียแล้ว แต่ในกรณีสื่อหรือสิ่งแวดล้อมยังไม่มีการขยายนิยามประโยชน์สาธารณะที่จะให้อัยการได้ใช้เป็นเครื่องมืออย่างแท้จริง

มงคลเสนอแนะเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอ่อนล้าจากการเสียเวลาและทุนทรัพย์จากการเข้าสู่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ปัจจุบันศาลมีข้อพิจารณาคือ หากศาลทราบว่ามีการฟ้องซ้ำ ศาลสามารถรวบรวมเป็นคดีเดียวได้ โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องไปทุกที่ที่มีการแจ้งความฟ้อง แต่ระเบียบดังกล่าวไม่ได้เป็นกฎของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและอัยการ หลายคนจึงไม่ทราบว่าสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ว่า “ได้สอบถามผู้แจ้งความว่ามีการแจ้งที่อื่นแล้วหรือไม่” เนื่องจากการแจ้งความซ้ำนอกจากสร้างปัญหาให้กับผู้ถูกแจ้งแล้ว ยังสร้างความสิ้นเปลืองเรื่องงบประมาณการดำเนินการของตำรวจและทางอัยการด้วย 

กฎหมายต้องจำกัดความชัดเจน สื่อควรทำหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ

สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา เสาวณีย์มองว่าประเด็นสำคัญคือ การทำให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่มีโทษทางอาญา ในกรณีที่สื่อออกมาสื่อสารในสิ่งที่ควรพูด ความผิดที่ใช้กับโทษทางอาญาจึงไม่ควรนำมาใช้กับความผิดฐานนี้ ส่วนมงคลเสนอว่า วิธีการที่นำไปต่อสู้ในชั้นศาลได้คือ การแสดงให้ศาลเห็นว่าสื่อทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจในฐานะสื่อมวลชน ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย และสื่อควรเปิดช่องทางในการเข้าถึงองค์กรภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจมากขึ้นในเชิงของการช่วยเหลือผลักดันซึ่งกันและกัน เนื่องจากภาคธุรกิจที่ต้องการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมอาจช่วยในการเจรจากับภาคธุรกิจที่ไม่สนใจการรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นได้ว่ามีคู่แข่งที่มีแนวคิดดีกว่า นอกจากนี้ คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีควรใช้บทลงโทษเป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะแทนการปรับและการจำคุก เพราะจะไม่เป็นภาระกับผู้ที่ไม่มีอำนาจเมื่อถูกฟ้อง

ด้านฐิติพันธ์มีข้อเสนอแนะ 3 ประการคือ หนึ่ง-สื่อควรสำรวจการทำงานของตนเองโดยระวังเรื่องอคติ รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันการฟ้อง SLAPP ที่ดีที่สุด สอง-จากประสบการณ์ของสื่อมวลชนรุ่นพี่ บางครั้งอาจต้องยอม ‘ไต่เส้นลวด’ กล่าวคือ การนำเสนอข่าวที่สื่อส่วนใหญ่ไม่กล้านำเสนอ ด้วยความบริสุทธิ์ใจและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้อง SLAPP สาม-เมื่อสื่อพร้อมใจกันนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ เช่น กรณียิงเสือดำในเขตอนุรักษ์ ทำให้ความเสี่ยงน้อยลง ต่างจากการนำเสนอเพียงไม่กี่เจ้า เช่น การลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า

สำหรับวิรดามองว่า นักข่าวต้องยืนหยัดเพื่อการปกป้องสิทธิของประชาชน โดยมีคำถามว่า การนิยามความเป็นกลางและหน้าที่ความเป็นสื่อควรถูกทำให้กว้างขวางมากขึ้นหรือไม่ หัวใจในการทำหน้าที่สื่อที่ดีต่อสังคม คือการตรวจสอบผู้มีอำนาจ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเกิดความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย เนื่องจากบริบทของโครงสร้างสังคมไทยต่างจากสังคมประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา สื่อจึงต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่ลืมว่ารัฐต้องมีหน้าที่สนับสนุนสื่อให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน

สุดท้าย ทิตศาสตร์เสนอว่า ควรมีกฎหมายป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้งที่กำหนดแนวปฏิบัติชัดเจน โดยตำรวจ ศาล หรืออัยการ สามารถนำไปใช้ได้ หรือควรมีกฎหมายในเชิงลงโทษ หากศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องไม่สุจริต ต้องสั่งให้โจทก์ชำระเงินให้ฝ่ายที่ถูกฟ้อง เป็นต้น 

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า