คำให้การคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา: หลักฐานใหม่จากปากคำพลทหารสองนาย

คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ที่แกมเบียฟ้องเมียนมาร์ต่อศาลโลก ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ไปถึงไหนแล้ว หลังจากเมียนมาร์ไปให้การที่ศาลโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2019

ดูจะเงียบๆ ไปสักพักหนึ่ง จู่ๆ ก็เกิดมีพยานปากเอกโผล่มาให้การเสียอย่างนั้น จริงเท็จอย่างไรยังไม่รู้แน่ ต้องว่ากันต่อ เหมือนกับคดีทั่วไปหรือประวัติศาสตร์ที่เมื่อมีหลักฐานผุดมาใหม่ ก็ต้องพิจารณากันเสียหน่อย ซึ่งน่าติดตามว่าสรุปแล้วกองทัพเมียนมาร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาจริงหรือไม่?

คำให้การสองพลทหาร

พลทหาร มโย วิน ทุน (မျိုးဝင်းထွန်း) วัย 33 ปี สังกัดกองร้อยเคลื่อนที่เร็วที่ 565 และ พลทหาร ส่อ หน่าย ทุน (​ဇော်နိုင်ထွန်း) วัย 30 ปี สังกัดกองร้อยเคลื่อนที่เร็วที่ 353 สวมชุดเครื่องแบบทหารนั่งอยู่หน้ากล้อง กำลังบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงถึงเรื่องที่พวกเขาได้รับคำสั่งให้สังหารชาวโรฮิงญาอย่างไร

“เราทำลายหมู่บ้านมุสลิมในต่องบูซา (​တောင်ဘူဇာ) ประมาณตีสอง พันเอก ตัน ไท่ก์ (ဗိုလ်မှူးကြီး သန်းထိုက်) รองผู้บังคับการหน่วยบัญชาการทหารที่ 15 (MCO-15) โทรศัพท์แจ้งมาที่เจ้าหน้าที่กองร้อยของเรา แล้วเราก็ระดมกำลังพล เตรียมอาวุธ และเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างในเวลาตีสาม พันเอก ตัน ไท่ก์ สั่งการให้เรายิงทุกอย่างที่เห็นและได้ยิน เราเลยยิงทุกอย่างทันทีที่บุกเข้าไปในหมู่บ้านต่องบูซา เราฝังร่างคนตายทั้งหมด 30 ศพ ไว้ในหลุมเดียวกัน ชายชาวมุสลิมถูกยิงที่หน้าผากและโดนถีบลงหลุมฝัง”

พลทหาร มโย วิน ทุน ให้การในคลิปวิดีโอรับสารภาพ

9 กันยายน 2020 NBC News เผยแพร่คลิปวิดีโอสารภาพของพลทหารเมียนมาร์สองนาย อันที่จริง ความคืบหน้าของข่าวนี้ถูกรายงานครั้งแรกโดย New York Times เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2020 ซึ่งระบุว่าเป็นรายงานหลักฐานใหม่ คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ในรายงานยังไม่เห็นคลิปวิดีโอ

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน ระบุว่า กองทัพอาระกัน (AA) ที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์ตราหน้าว่าเป็นกลุ่มกบฏก่อการร้ายในพื้นที่รัฐยะไข่หรืออาระกัน เป็นผู้บันทึกคลิปวิดีโอดังกล่าวไว้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ตามคำให้การของฟอร์ติฟายไรท์ยืนยันว่า ได้ทำการตรวจสอบแล้วและเห็นว่าคลิปวิดีโอมีความน่าเชื่อถือ

“เมื่อเราได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจกวาดล้างในหมู่บ้านของกะลา (แขก) เราก็เลยยิงสังหารทั้งหมู่บ้านตามคำสั่ง ไม่ได้สนใจเลยว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่”

พลทหาร ส่อ หน่าย ทุน

พลทหาร มโย วิน ทุน ให้การเป็นลำดับต่อมาว่า เขาถูกส่งไปปฏิบัติการจู่โจมหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในเมืองบูตีต่อง (ဘူးသီး​တောင်) เหตุเกิดเมื่อช่วงกลางดึกของเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายนายสั่งการให้เขาสังหารทุกคนที่พบ เพื่อให้แน่ใจว่าชาวโรฮิงญาจะถูกกำจัดแบบถอนรากถอนโคน

ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สิงหาคม 2017 ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน หนีออกจากเมียนมาร์เพื่อหลบหนีการปราบปรามอย่างโหดร้ายของกองทัพ ซึ่งมีคำถามใหญ่มากว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในพื้นที่ตรงนั้น คำตอบมีตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การยื้อแย่งช่วงชิงทรัพยากร จนถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ความต้องการพื้นที่คืนเพื่อจะเอาไปพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ถึงขั้นที่สหประชาชาติเรียกวิกฤติโรฮิงญาที่เกิดขึ้นว่า ‘การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม’ หรือ ‘กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ตามนิยามในตำรา’ (textbook case of ethnic cleansing) สหประชาชาติเคยนิยาม ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ เป็นครั้งแรกไว้เมื่อ ค.ศ. 1948 โดยระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) 5 ข้อที่กระทำโดยมีเจตนาทำลายชาติพันธุ์ สัญชาติ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา ประกอบด้วย

  1. สังหารสมาชิกของกลุ่มคนนั้นๆ
  2. สร้างความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง
  3. มีการกระทำการแบบคำนวณให้สภาพชีวิตของกลุ่มคนถูกทำลายทางกายโดยบางส่วนหรือโดยทั้งหมด ซึ่งมีการไตร่ตรองไว้ก่อน
  4. ออกมาตรการห้ามให้กลุ่มคนให้กำเนิด
  5. บีบบังคับให้มีการย้ายเด็กจากกลุ่มนั้นๆ

‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ หรือ genocide นั้นต้องมีเจตนาที่จะกำจัดกลุ่มคนนั้นๆ ทั้งกลุ่ม โดยถึงแม้ว่าจะพิสูจน์เจตนาไม่ได้ แต่อาชญากรรมเช่นนี้ก็ยังถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือเข้าข่ายการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ได้ แต่ไม่ถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการพยายามวางเกณฑ์ทางกฎหมายมาโดยตลอดว่าจะวัดเจตนากันอย่างไร ทำให้มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นในประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดสินว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือระบอบนาซี และอีกกรณีคืออดีตนายกเทศมนตรีทาบคอมมูน ในรวันดาที่ถูกตัดสินให้มีความผิด เพราะเขารับรู้หรือควรจะรับรู้ว่าการกระทำของเขาจะส่งผลให้เกิดการทำลายกลุ่มคนบางส่วนหรือทั้งหมด

แต่สรุปว่าทางการเมียนมาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยออกมาชี้แจงว่าปฏิบัติการทางทหารในปี 2017 มุ่งเป้าไปที่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่โจมตีด่านตำรวจเพียงเท่านั้น

ค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศ ปี 2015
photo: EU/ECHO/Pierre Prakash

คำฟ้องและคำให้การ

สิงหาคม 2019 เมียนมาร์ประกาศรับผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศอีกครั้ง แต่แผนการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีชาวโรฮิงญาคนไหนในจำนวนกว่า 3,000 คนที่ทางการเมียนมาร์อนุมัติให้กลับประเทศได้ ยอมเดินทางกลับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาอ้างเรื่องที่ยังไม่มีการเอาผิดกับผู้ก่อเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่าพวกเขาจะมีอิสระในการเดินทาง หรือจะได้รับสถานะพลเมืองเมียนมาร์หรือไม่

จากรายงานของหลายองค์กรที่กล่าวโทษว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นำมาสู่การที่ อาบูบาคาร์ มารี แทมบาโด (Abubacarr Marie Tambadou) อัยการสูงสุดและรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบีย ในนามขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีประเทศมุสลิม 57 ประเทศเป็นสมาชิก ยื่นฟ้องรัฐบาลเมียนมาร์ต่อศาลโลก (ICJ) ในข้อกล่าวหาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

อาบูบาคาร์ มารี แทมบาโด (Abubacarr Marie Tambadou)

ในคำฟ้องระบุว่ากองทัพเมียนมาร์ได้สังหาร ทำร้ายร่างกายและจิตใจ สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการทำลายล้าง ออกมาตรการคุมกำเนิด รวมทั้งบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาจำต้องอพยพย้ายถิ่น ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะตั้งใจทำลายชาวโรฮิงญาไม่ว่าจะทั้งกลุ่มหรือบางส่วน ทั้งยังมีคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาตรการชั่วคราวสั่งให้เมียนมาร์ยุติพฤติกรรมดังกล่าวโดยทันที

10 ธันวาคม 2019 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งปกติรับพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม ได้เปิดการสอบสวนเบื้องต้นในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาของเมียนมาร์ แต่เนื่องจากเมียนมาร์ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC ทำให้การดำเนินคดีค่อนข้างซับซ้อนและยากลำบาก

ในคำฟ้องหนา 46 หน้า ที่แกมเบียซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ยื่นฟ้องต่อ ICJ ได้อ้างหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ทางการเมียนมาร์มีส่วนรู้เห็นต่อการสังหารหมู่ รวมถึงการข่มขืนและทำลายชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

อองซานซูจี (​အောင်ဆန်းစုကြည်) ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางกฎหมายของเมียนมาร์ ในการต่อสู้คดีที่ศาลโลก พร้อมกับทนายความที่มีชื่อเสียงหลายคนร่วมทีม ที่ผ่านมาซูจีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมถึงเธอถูกริบรางวัลที่เคยได้รับไปแล้วหลายรางวัล จากการที่หลายองค์กรมองว่าเธอซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ละเลยกับปัญหาโรฮิงญาในประเทศ

อองซานซูจี ใช้เวลา 30 นาที ให้การและตั้งคำถามถึงคำฟ้องของรัฐบาลแกมเบียว่า “เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่แกมเบียนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล โดยบิดเบือนสถานการณ์ที่แท้จริงในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่ศาลจะพิจารณาประเมินสถานการณ์และได้รับข้อมูลจริงจากพื้นที่อย่างไร้อคติและแม่นยำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พฤติการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้น ไม่อาจจะตั้งมาจากข้อสมมุติฐานต่างๆ ได้เพียงเท่านั้น และภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งเมียนมาร์ ค.ศ. 2008 หากว่ามีการก่ออาชญากรรมสงครามเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยการกระทำของกองทัพเมียนมาร์ บุคคลเหล่านั้นจะต้องถูกตรวจสอบและลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย”

ในคำให้การของซูจีชี้ว่า ฝั่งคู่ความพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนสถานการณ์ อีกทั้งรัฐบาลแกมเบียไม่มีหลักฐานเพียงพอ พร้อมระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการดำเนินคดีต่อทหารที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว

11 เมษายน 2018 เฟซบุ๊คของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (ဗိုလ်ချုပ်မှူးကြီး မင်း​အောင်လှိုင်) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์ เปิดเผยผลคำตัดสินเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2018 ระบุว่า ทหาร 7 นาย ซึ่งประกอบด้วยนายทหาร 4 นาย และพลทหาร 3 นาย ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานวิสามัญฆาตกรรมชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน (အင်းဒင်ရွာ) ของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2017 และศาลทหารตัดสินลงโทษนายทหาร 4 นาย โดยไล่ออกจากราชการและจำคุก 4 ปี พร้อมกับใช้แรงงานหนัก

ส่วนทหารอีก 3 นาย ถูกลงโทษเท่ากัน แต่ให้จองจำในเรือนจำของนักโทษคดีอาญา และจับกุมนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน คือ วะ โลง (ဝလုံး) วัย 31 ปี และ จ่อ โซ อู (​ကျော်စိုးဦး) วัย 27 ปี ที่กำลังสืบสาวเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่หมู่บ้านอินดิน ฐานครอบครองเอกสารลับของทางราชการ ซึ่งมีโทษจำคุก 14 ปี หนึ่งเดือนภายหลังการจับกุมพวกเขา กองทัพเมียนมาร์ออกแถลงการณ์ยอมรับว่ามีทหารบางนายเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น แต่กองทัพยังคงยืนกรานข้ออ้างของพวกเขาว่า ชายชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ แต่กลับไม่ได้แสดงหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของกองทัพ

สิ่งที่เรียกว่า ‘หลักฐาน’

ดูเหมือนว่าความซับซ้อนและความยากลำบากของคดีนี้ คือ การพยายามสืบเสาะหาพยานหลักฐานของฝ่ายโจทย์ ซึ่งต้องนำขึ้นมาต่อสู้คดี

กุมภาพันธ์ 2018 องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยภาพถ่ายดาวเทียมจาก DigitalGlobe ซึ่งถ่ายเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 และ 5 กุมภาพันธ์ 2018 โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า หลายพื้นที่ในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ที่เป็นหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ถูกไถเกลี่ยดินจนราบเรียบ โดยใช้รถดันดินเข้าไถกลบซากหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาไปก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิตกว่า ฝ่ายเมียนมาร์กำลังทำลายหลักฐานของสถานที่เกิดเหตุการณ์การกระทำทารุณละเมิดสิทธิต่างๆ

เมียนมาร์ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และร้องขอหลักฐานการละเมิดต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธที่จะให้นักข่าวอิสระ ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชน และผู้สืบสวนของสหประชาชาติ เข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าว

อ่อง ทุน แต๊ะ (အောင်ထွန်းသက်) นักเศรษฐศาสตร์ ประธานคณะกรรมการขององค์กรเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนา (UEHRD) โต้แย้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำลายหลักฐานว่า หมู่บ้านต่างกำลังถูกปรับหน้าดิน เพื่อให้สะดวกกับการทำงานของรัฐบาลเรื่องการตั้งถิ่นฐานใหม่ให้แก่ผู้ลี้ภัย โดยต้องให้อยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นได้กับที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขา

อ่อง ทุน แต๊ะ

“เราไม่มีความประสงค์ที่จะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า หลักฐาน สิ่งที่เราตั้งใจ คือ ให้แน่ใจว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ สำหรับประชาชนที่จะเดินทางกลับ สามารถสร้างขึ้นได้โดยง่าย”

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2020 ผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่ไต่สวนอาชญากรรมระหว่างประเทศในเมียนมาร์ ได้ร้องขอให้เฟซบุ๊คมอบข้อมูลจากหน้าเพจและบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารเมียนมาร์ ซึ่งบริษัทได้ลบออกในปี 2018 หลังผู้นำการสอบสวนกล่าวว่าบริษัทไม่ยอมให้ข้อมูลหลักฐาน เฟซบุ๊คกล่าวว่าได้ลบบัญชีผู้ใช้งานไปทั้งหมด 18 บัญชี และหน้าเพจ 52 บัญชี ที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารเมียนมาร์ รวมถึงหน้าเพจของผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ยังคงรักษาข้อมูลไว้

กระทั่งเมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคำให้การของพลทหารสองนายออกมาอย่างที่เป็นข่าว แมทธิว สมิธ (Matthew Smith) ประธานองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทหารเมียนมาร์ออกมาแสดงตัวว่าก่ออาชญากรรมจริง

พยัม อัควัน (Payam Akhavan) ทนายความชาวแคนาดาที่เป็นตัวแทนบังคลาเทศในการฟ้องร้องรัฐบาลเมียนมาร์ต่อศาลโลก เปิดเผยว่า พลทหารสองนายนี้ปรากฏตัวใกล้กับด่านตรวจชายแดน พวกเขาขอร้องให้มีการคุ้มครอง และสารภาพเรื่องการสังหารหมู่ที่พวกเขามีส่วนกระทำผิด ก่อนหน้านี้กลุ่มกองกำลังอาระกัน (AA) เปิดเผยว่า ทหารสองรายที่ให้การสารภาพนี้เป็นพลทหารหนีทัพและไม่ได้ถูกฝ่าย AA จับเป็นเชลยศึก ทั้งทนายความชาวแคนาดาและฝั่ง AA ต่างก็อ้างว่าได้มีการส่งตัวทหารสองรายนี้ให้กับศาลโลกแล้ว เช่นเดียวกับที่ฟอร์ติฟายไรท์ก็ชี้แจงไปในทางเดียวกันว่า ทางรัฐบาลบังคลาเทศได้ให้ความช่วยเหลือและส่งพลทหารทั้งสองนายนี้ไปให้ศาลโลก

“รายงานนี้ไม่ถูกต้อง เราไม่มีบุคคลเหล่านี้ในการควบคุมของ ICC” โฆษกศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเฮก กล่าวว่า ศาลไม่ได้ควบคุมตัวทหารสองนาย

กองทัพเมียนมาร์จะว่าอย่างไร

9 กันยายน 2020 พลตรี ส่อ มิน ทุน (ဇော်မင်းထွန်း) โฆษกกองทัพเมียนมาร์ ออกมายอมรับว่า พลทหารสองนายดังกล่าวเป็นพลทหารของกองทัพเมียนมาร์ สังกัดกองร้อยเคลื่อนที่เร็ว (ခမရ) จริง พลทหาร มโย วิน ทุน ปฏิบัติงานในกองทัพตั้งแต่เมษายน 2016 ถึงพฤษภาคม 2020 ส่วนพลทหาร ส่อ หน่าย ทุน เข้าปฏิบัติงานตั้งแต่มีนาคม 2016 ถึง มิถุนายน 2020 แต่ทั้งสองนายไม่ได้เป็นทหารหนีทัพตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา โฆษกกองทัพเมียนมาร์กล่าวว่า พลทหารทั้งสองนายถูกกองทัพฝ่าย AA จับตัวไป พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าคำให้การตามที่เป็นข่าว เป็นการข่มขู่เพื่อสร้างหลักฐานคลิปวิดีโอขึ้นมาหรือไม่ และยังกล่าวว่าคลิปวิดีโอถูกสร้างโดยฝ่าย AA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งขัดกับที่ฟอร์ติฟายไรท์ระบุว่าทำเมื่อกรกฎาคม 2020

พลตรี ส่อ มิน ทุน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่า ทหารทั้งสองนายสารภาพเพราะโดนข่มขู่หรือไม่ รวมทั้งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ทหารคู่นี้ถูกฝ่าย AA จับตัวมาหรือยอมจำนนเองภายหลังละทิ้งกองทัพ แต่เชื่อกันว่าตอนนี้อยู่ในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ที่ตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนว่ากองทัพเมียนมาร์กระทำผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อต้านชาวโรฮิงญาหรือไม่

12 กันยายน 2020 พลตรี ส่อ มิน ทุน โฆษกกองทัพเมียนมาร์ แถลงขอให้ ICC ส่งมอบทหารสองนายดังกล่าวที่ถูกควบคุมที่ศาลโลกให้กองทัพเมียนมาร์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมกับกล่าวยืนยันว่าพลทหารสองนายถูกส่งไปประจำในพื้นที่ความไม่สงบในเขตหม่องตอทางเหนือของรัฐยะไข่ และถูกกองทัพกบฏ AA ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาร์จับตัวไป พวกเขาไม่ใช่ทหารหนีทัพ

สเต็ป แวสเซน (Step Vaessen) ผู้สื่อข่าว Al Jazeera มองว่า ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาร์พยายามให้การปฏิเสธเกี่ยวกับอาชญากรรมนี้มาโดยตลอด แล้วการที่จู่ๆ มีทหารสองนายโผล่มาสารภาพในครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าอย่างใหญ่หลวงแล้วสำหรับคดีนี้

อย่างที่ทราบกันดีว่า การอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดปกติของชาวโรฮิงญาในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในประชาคมโลก วิกฤติโรฮิงญามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อระบบประชาคมโลก พฤติกรรมของรัฐชาติและองค์กรที่มิใช่รัฐอื่นๆ ที่มีต่อเรื่องนี้ ต่างสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดสัจนิยม เสรีนิยม ภารกิจนิยม พหุนิยม หรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ได้เข้ามาโลดแล่นบนกระดานแก้ไขปัญหาโรฮิงญาบนเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนั้น แรงกดดันจากปรากฏการณ์อพยพย้ายถิ่นที่เต็มไปด้วยปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูดอันซับซ้อนได้กระตุ้นให้รัฐต่างๆ ก้าวเข้ามาพัวพันหรือแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาโรฮิงญาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สรุปว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงไหม

  • อองซานซูจี — คู่ความยังให้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนสถานการณ์
  • แกมเบีย — มันเป็นพฤติการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • กองทัพเมียนมาร์ — ปฏิบัติการทางทหารมุ่งเป้าไปที่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา และกลุ่มกบฏในรัฐยะไข่
  • พลทหารสองราย — นายสั่ง
  • AA —ไม่ให้การ
  • ICC — ปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมพยานบุคคลปากเอก

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาสอบสวนคดีของ ICC ที่ยังไม่สิ้นสุดได้โดยง่ายและยิ่งดูซับซ้อนซ่อนเงื่อน อีรุงตุงนัง เมียนมาร์ยังคงต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

สู่อ้อมกอดมหาสมุทร

ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีชาวโรฮิงญาอีกเป็นเรือนแสนที่ยังค้างเติ่งอยู่ในค่ายลี้ภัยฝั่งบังคลาเทศ และอีกไม่น้อยที่พยายามลอยเรือหลบหนีออกมาสู่อ้อมกอดแห่งมหาสมุทร

เรือบรรทุกชาวโรฮิงญาเกือบ 300 ชีวิต แล่นมาขึ้นฝั่งที่เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย หลังจากลอยเคว้งอยู่ในท้องทะเลนาน 6 เดือน เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 กันยายน 2020

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า